‘คิดผิด-คิดใหม่’ เปิดอกแบบแมนๆ กับ แมน-ปกรณ์ อารีกุล

ในม็อบพันธมิตรปี 49 แมน-ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหว กล่าวว่าเขาเคยสนับสนุน และเคยโดดเรียนเพื่อเข้าร่วมขบวนเมืองไทยรายสัปดาห์กับสนธิ ลิ้มทองกุล

19 กันยายน 2549 หลังล้มรัฐบาลทักษิณด้วยการรัฐประหาร ปกรณ์รู้สึกได้ว่า แม้จะเป็นชัยชนะ แต่การฉีกรัฐธรรมนูญและขึ้นครองอำนาจของทหาร ไม่ได้รับประกันว่าการคอร์รัปชันจะหายไป อะไรที่ทักษิณเคยทำ ไม่ได้แปลว่าทหารจะไม่ทำ และนั่นทำให้เขารู้สึกอกหัก

หลังจากนั้นเขายังเข้าร่วมชุมนุมกับม็อบพันธมิตรอีกครั้งในปี 51 หากไม่ใช่เพื่อเป็นการขับไล่ผีทักษิณ แต่เพราะเชื่อว่าการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนย่อมทำได้ และสุดท้ายเขาต้องอกหักอีกครั้ง เมื่อพบว่าเนื้อหาของการชุมนุมเต็มไปด้วย hate speech และการเรียกร้องอ้อนวอนให้ทหารออกมายึดอำนาจรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เขาจึงตัดสินใจหันหลังให้ม็อบพันธมิตรนับแต่นั้น ก่อนจะมีการยุบพรรคพลังประชาชนในเวลาต่อมา

การเข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรของแมน ปรณ์ ถูกตั้งคำถามจากเพื่อนพ้องนักกิจกรรมในอีกหลายปีต่อมา แต่เขายืนยันว่า จุดยืนของเขาไม่เคยเปลี่ยน การชุมนุมเป็นสิทธิที่ทำได้ นั่นคือคำอธิบายแบบย่นย่อ แน่นอน… มันย่นย่อหากเทียบกับเส้นทางการเติบโตทางความคิดทางการเมืองของเขาตลอด 11 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยาวพอที่จะสื่อสารได้ว่า ปัจจุบันเขาคิดอย่างไรกับวันครบรอบ 19 กันยายน อีกครั้งในวันนี้


ภาพ: โกวิท โพธิสาร

ชีวิตทางการเมืองของคุณเริ่มต้นที่จุดไหน

ตอนที่มีรายการ ‘เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร’ มาที่นครศรีธรรมราช ตอนนั้นผมน่าจะประมาณ ม.5 ก็โดดเรียนไปร่วมด้วย ความคิดทางการเมืองของผมตอนนั้น ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เราเป็นคนใต้ที่มีมีรสนิยมไปทางพรรคประชาธิปัตย์ ตื่นตัวทางการเมืองแบบประชาธิปัตย์นิยม พอมีข่าวว่าคุณทักษิณทุจริตเชิงนโยบาย หรืออะไรที่คุณสนธิ (สนธิ ลิ้มทองกุล) พูดมา เราก็เชื่อหมด พอมีรัฐประหารปี 19 กันยา 49 แวบแรกเราโอเคนะ เราคิดว่าถ้าทักษิณออกไปได้ เราก็จะชนะ แต่มันกลายเป็นว่าแค่ปีเดียวที่ คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เข้ามาบริหาร ทหารไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น

จุดไหนที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น

มี 2-3 เรื่องใหญ่ๆ อย่างแรกคือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการที่รัฐควรเก็บไว้เพื่อให้ประชาชน หรือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ และนี่ก็คือหนึ่งในเรื่องที่ภาคประชาชนออกมาไล่ทักษิณ 

เรื่องที่สองคือ เรื่องที่ดินเขายายเที่ยงของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวน เลยทำให้รู้สึกว่าทหารก็คอร์รัปชันได้ เรื่องที่สามคือ รัฐธรรมนูญปี 50 ที่มีการร่างและทำประชามติ ซึ่งกำหนดให้มีสัดส่วน สว. สรรหาครึ่งหนึ่ง แต่ผมมองว่า สว. ควรมาจากประชาชนทั้งหมด ไม่ควรมี สว.สรรหา และคิดว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร ทำลายประชาธิปไตย ไม่น่าจะทำอะไรให้ดีขึ้น ตอนนั้นผมอายุ 18 ปี นั่นคือการโหวตครั้งแรกในชีวิต คือโหวตโน ไม่รับรัฐธรรมนูญ

คืออะไรที่คุณบอกว่าทักษิณทำ มันไม่ดี คุณประท้วง แต่พอรัฐประหารแล้วทหารขึ้นมา คุณก็ทำอย่างที่ทักษิณทำนั่นแหละ มันไม่ได้หมายความว่า เมื่อทหารรัฐประหารขึ้นมา เขาจะไม่ทำอย่างที่นักการเมืองทำ

ตอนม็อบพันธมิตรบุกยึดทำเนียบรัฐบาลปี 2551 คุณได้ไปร่วมกับเขาด้วยเหตุผลอะไร

เอาจริงๆ ไม่ได้เห็นด้วยนะ มันเป็นความรู้สึกของเด็กเพิ่งขึ้นมหาวิทยาลัยมากกว่า วันที่ 26 สิงหาคม 2551 เขายึดทำเนียบกัน ผมก็ไปด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นด้วยกับการยึดทำเนียบ แต่แค่อยากเห็นว่าเขายึดทำเนียบกันได้จริงๆ เหรอ

พูดด้วยความเคารพ ตอนนั้นผมไม่ได้ชอบรัฐบาลคุณสมัคร (สมัคร สุนทรเวช) ผมไม่ชอบที่เขาพูดในสภาว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีคนตายแค่คนเดียว นั่นคือการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ผมรู้สึกว่าทำไมคนเดือนตุลาฯ ในพรรคพลังประชาชนถึงยอมอยู่กับผู้นำพรรคคนนี้ ผมจึงคิดว่าพันธมิตรออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านคุณทักษิณ ผ่านนอมินีก็คือคุณสมัคร เป็นเหตุผลที่คนออกมาชุมนุมได้ ผมก็เข้าไปร่วม แล้วผมไปขายหนังสือในม็อบด้วย ดีกว่าชุมนุมเฉยๆ (หัวเราะ)

แต่พออยู่ในม็อบ 24 ชั่วโมง มันเต็มไปด้วย hate speech ไม่ได้มีข้อเสนอ แล้วบางคน… บางคนนะ ก็เชิญทหารขึ้นมาพูด ประมาณว่าทหารต้องออกมาได้แล้ว ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว สุดท้ายจะมีการเรียกทหารออกมา มันไม่ถูก เลยตัดสินใจเดินออกมาโดยที่ขณะนั้นยังไม่จบการชุมนุม จำได้ว่า วันที่เราเดินออกจากม็อบ คือวันที่เขาไปยึดสนามบินสุวรรณภูมิวันแรก 

พอกลับออกมา ผมไม่ได้ลงทะเบียนเรียนต่อ ดร็อปไป 8 เดือน ตอนนั้นมีคำถามเยอะมาก ทั้งต่อการเมืองภาพใหญ่และอุดมคติของการเป็นนักศึกษาต่อระบบทุน ผมรู้สึกว่า ทักษิณไม่ใช่ทุนสามานย์อยู่คนเดียว มันมีอย่างอื่นด้วย แต่ทุกคนพุ่งเป้าไปที่ทักษิณ ตอนนั้นผมหยุดเรียนแล้วออกเดินทาง

ผมออกค่ายอาสา ขึ้นเหนือล่องใต้แล้วไปอีสาน ทำให้ได้ทำงานกับนักเคลื่อนไหวที่เป็นชาวบ้าน ทำงานเรื่องปากท้อง แรงงาน สวัสดิการ การต้านเขื่อน ทำให้ได้รู้ว่าทำไมคนจึงรักทักษิณ ซึ่งก่อนหน้านั้นเราไม่เคยรู้เลย

ต่อมาผมจึงเริ่มได้เข้าวงการของนักกิจกรรม ซึ่งขณะนั้นนักศึกษา นักกิจกรรม เริ่มแบ่งเป็น 2 ขั้วแล้ว พอผมบอกว่าผมเคยไปชุมนุมมานะ มันจึงเริ่มเกิดการแลกเปลี่ยนกัน เขารู้สึกว่าเราเรียกทหารออกมา ผมก็บอกว่าตอนนั้นมันเป็นช่วงที่เราเริ่มต้นในการเรียนรู้ ตอนนั้นผมเป็นแค่เด็กปี 1 คนหนึ่ง หลังจากนั้นท่าทีของทั้งคู่ก็เริ่มเปลี่ยนไป เริ่มแลกเปลี่ยนเนื้อหากัน

8 เดือนเต็มๆ ที่ผมเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ไปอีสาน ต่อต้านทุนนิยมเต็มรูปแบบ ไม่เข้าร้านสะดวกซื้อ ไม่กินเหล้าโรง กินแต่เหล้าต้ม แต่วันหนึ่งก็รู้สึกว่าต้องกลับไปเรียน อยู่กับความเป็นจริง และค่อยๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ

หลังจาก 8 เดือนที่ดร็อปไป ทำไมจึงกลับมาเรียน

เริ่มมีความคิดว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องอยู่ในจุดที่เราทำอะไรได้ แต่มาตอนหลังถึงได้รู้ว่าคิดผิด (หัวเราะ) แล้วก็เริ่มเข้ามาอยู่ในสโมสรนิสิต จุดเปลี่ยนอีกครั้งคือ ตอนประชุมกับ สนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) มีคนเสนอให้ผมเป็นกรรมการบริหารฝ่ายข้อมูล

ตอนที่เข้าไปครั้งแรก คนก็จะแบบ… มึงไปชุมนุมทำไมวะ (หัวเราะ) เป็นรอยด่างพร้อย ถูกตั้งคำถาม ผมก็อธิบายจนเพื่อนๆ พอจะเข้าใจ ตอนหลัง สนนท. เข้าร่วมการชุมนุม นปช. เราก็ร่วมด้วย แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้สู้เพื่อทักษิณนะ ตอนนั้นรู้สึกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร

ผมรู้สึกว่าไม่ว่ารัฐบาลไหน ไม่ว่าใครก็ชุมนุมได้ การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อรู้สึกแบบนั้น ใครก็ชุมนุมได้ คนเสื้อแดงก็ชุมนุมได้ เหมือนตอนที่พันธมิตรชุมนุมไล่คุณสมัคร อย่างแม่ผมบอกว่า “ลูกน่ะ แต่ก่อนเป็นพันธมิตร ตอนหลังมาเป็นนปช. เปลี่ยนจุดยืน โลเล” แต่ผมบอกกับตัวเองว่าเราไม่ได้เปลี่ยน เราก็อยู่บนการเมืองภาคประชาชน การเมืองบนถนนที่ชุมนุมกับทุกอำนาจรัฐ สมัยพันธมิตรมันก็เป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้ในการชุมนุมทางการเมือง พอเรียนรู้แล้วว่า การชุมนุมแบบนี้สุดท้ายมันเรียกทหารออกมา มันไม่ถูก 

ทีนี้ตอนปี 53 ที่รัฐล้อมปราบ เราเสียใจมากกับเหตุการณ์นี้ คิดว่ามันไม่ควรจะมีเหตุการณ์แบบนี้อีกแล้ว กับการที่รัฐใช้อำนาจสั่งให้ทหารออกมา แล้วใช้กระสุนยิงทุกสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ สุดท้ายมีคนตาย โอเคว่ามีคนตายทั้งสองฝ่าย แต่คนที่ต้องรับผิดชอบคือรัฐ บางคนอาจจะบอกว่า แกนนำเสื้อแดงพาคนไปตาย แต่ความจริงคือปืนมันอยู่ในมือของรัฐ

หลังจากเหตุกาณ์พฤษภา 53 ถ้าให้พูดอย่างถึงที่สุดคือ เรารู้สึกว่าการเมืองเสื้อสี ทำให้ประชาชนอ่อนแอ มันแยกคนออกจากกัน แต่ถ้าต้องเลือก เราเลือกเป็นคนเสื้อแดงก็ได้ นี่คือเหตุการณ์หลังปี 53 ซึ่งน่าจะคล้ายๆ กับความรู้สึกของคนรุ่นใหม่หลายคน คือการสั่งให้ทหารออกมายิงคนกลางเมือง มันเกินกว่าที่ใครจะยอมรับได้

คิดอย่างไรกับการถูกเสียดสีเรื่องจุดยืน

ก็มีน้อยใจบ้าง (หัวเราะ) คือผมรู้สึกว่า คนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน อาจจะมีคนที่ไม่ได้โตมากับสิ่งแวดล้อมที่นับถือนายหัวชวน ว่าเป็นสัญลักษณ์ของนักการเมืองที่ดี ตั้งแต่ผมเกิดจนช่วงอายุ 16-17 ผมอยู่กับสิ่งแวดล้อมแบบนี้ โอเคว่า วันหนึ่งที่เราเจอกับข้อมูลอีกชุดหนึ่ง เราก็ต้องมีช่วงเวลาที่ต้องทำความเข้าใจมัน เมื่อเราเข้าใจแล้ว เราก็ต้องเปลี่ยน

เพื่อนที่เป็นเสื้อแดงเข้มข้นเลยนะ บอกว่า ตอนปี 48-49 ตอนที่การเมืองมันร้อนแรงขนาดนั้นแล้วคุณไม่ไล่ทักษิณ คุณเป็นคนไม่มีหัวใจ แต่หลังปี 49 กับปี 53 ถ้าคุณยังเป็นเสื้อเหลืองอยู่ ถ้าคุณยังคิดว่าทักษิณเป็นปัญหาเดียวของการเมืองอยู่ คุณก็ไม่ได้ถอดบทเรียนอะไรเลย

ถ้าไม่มีม็อบ กปปส. ปี 2557 ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 สมมุตินะ… พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงน้อยลง และอาจจะน้อยจนถึงขั้นจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

ถ้าแคมเปญของ กปปส. หรือแคมเปญของคนเสื้อแดงที่ผิดหวังจากพรรคเพื่อไทยในการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในขณะนั้น คือร่วมกันสั่งสอนนักการเมืองว่า ประชาชนเป็นเจ้าของนักการเมือง ไม่ใช่นักการเมืองเป็นเจ้าของประชาชน แล้วร่วมกันไม่เลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ ผมคิดว่ามีผลให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนน้อยลง และอาจไม่มีความชอบธรรมมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ดีไม่ดี คุณอภิสิทธิ์อาจได้เป็นนายกฯ ซึ่งจะเท่กว่าก็ได้

มีคำพูดว่า ถ้าทหารไม่ทำรัฐประหาร 2557 บ้านเมืองจะฉิบหาย ประเทศจะล้มลลายจากโครงการจำนำข้าว?

เราก็ไปฟ้อง ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ให้ปูติดคุกก็ได้ คุณต้องคิดแบบนี้นะว่า การที่คุณเห็น กปปส. ไปปิดธนาคาร ไม่ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์กู้เงินมาจ่ายหนี้ชาวนา ทำให้ชาวนาฆ่าตัวตาย ผมถามว่า กปปส. จะรับผิดชอบชีวิตชาวนายังไง เอาง่ายๆ ถ้าคุณเลิกชุมนุมตั้งแต่พฤษภาคม คนเหล่านั้นอาจจะไม่ตาย

ถามว่าส่วนที่เหลือจะยังไง ผมสนับสนุนให้ไปฟ้องศาล ไปฟ้อง ป.ป.ช. ปูอาจจะติดคุก หรืออาจจะหนีอย่างที่หนีทุกวันนี้ก็ได้ ผลก็ออกมาเหมือนกัน

ถ้าไม่มีม็อบพันธมิตรปี 2549 ล่ะ

หูย… อันนี้ยากมากเลย ผมคิดว่าการมีม็อบพันธมิตร 49 ดีนะ แต่รัฐประหารปี 49 ไม่ดี การเสนอให้ใช้มาตรา 7 หรือให้มีนายกฯ พระราชทาน อันนี้ไม่ดี คุณจะไล่ทักษิณ คุณก็บอกไปสิว่าทักษิณไม่ดียังไง แล้วให้ทุกอย่างมันจัดการตามแนวทางประชาธิปไตย

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า