ความหวังยังมี 13 ปีชายแดนใต้

เรื่อง : อาทิตย์ เคนมี
ภาพ : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ / อาทิตย์ เคนมี

 

หากนับเหตุการณ์ปล้นปืนกว่า 400 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็น ‘วันเสียงปืนแตก’ ของความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงวันนี้ล่วงมา 13 ปีเต็ม มีผู้เสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 6,700 คน บาดเจ็บอีกกว่า 12,000 คน ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายขบวนการ กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งไทยพุทธและมลายูมุสลิม

แม้สถานการณ์ความรุนแรงยังไม่ยุติและยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่รู้จุดสิ้นสุด แต่ในท่ามกลางการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานก็ได้ปรากฏร่องรอยของความหวังและเส้นทางสันติภาพที่เริ่มมองเห็นเค้าลาง

ความฝันถึงสันติภาพของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอยเพียงแค่ในจินตนาการ แต่ปรากฏเป็นรูปธรรมใน ‘กระบวนการพูดคุยสันติภาพ’ ที่สามารถนำคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายเข้ามานั่งร่วมโต๊ะเจรจากันอย่างเป็นทางการ

เส้นทางสู่สันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคประชาสังคมชายแดนใต้ที่ถักทอกันเป็นเครือข่าย เพื่อหนุนเสริมให้กระบวนการนี้เดินไปข้างหน้าและนำไปสู่ทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน

ในฐานะของสื่อมวลชนอาวุโสและประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน คือผู้มีบทบาทสำคัญในการหลอมรวมเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อให้เสียงของประชาชนดังไปถึงโต๊ะเจรจา

 

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

‘สื่อเฝ้าระวัง’ กับความรุนแรงในรอบทศวรรษ

ย้อนกลับไปถึงจุดพลิกผันที่ทำให้บรรยากาศชายแดนใต้ปะทุขึ้นเมื่อปี 2547 ขณะนั้นมูฮำมัดอายุบในฐานะผู้สื่อข่าวภูมิภาค สังกัดหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ทำหน้าที่รายงานข่าวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสื่อทุกสำนักที่ต่างก็ให้ความสำคัญต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ทว่าเหตุการณ์ความไม่สงบยังคงดำเนินไปไม่เว้นแต่ละวัน และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเต็มไปด้วยความสับสนคลุมเครือ ขณะเดียวกัน สภาพการณ์ในการรายงานข่าวของสื่อมวลชนเกือบทุกแขนงในช่วงเวลานั้นยังเต็มไปด้วยข้อจำกัด ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้อย่างรอบด้าน

จนกระทั่งปลายปี 2548 ‘ศูนย์ข่าวอิศรา’ ภายใต้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้น โดยมีพันธกิจสำคัญคือการถ่วงดุลข้อมูลข่าวสาร สืบเสาะหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เพื่อสื่อสารให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง และเปิดมุมมองใหม่ๆ ที่มีต่อปัญหาชายแดนใต้

ศูนย์ข่าวอิศรา ณ ขณะนั้นเป็นเสมือนศูนย์กลางในการรายงานสถานการณ์ภาคใต้ที่เผยให้เห็นข้อเท็จจริงในมิติต่างๆ ทำให้ผู้คนได้รับรู้ข้อมูลอีกด้านที่ถูกมองข้าม ทั้งในด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความแตกต่าง รวมถึงความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนในพื้นที่ถูกกระทำ เรียกได้ว่าเป็นความก้าวหน้าของวงการสื่อในยุคนั้น

“ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนกระแสหลักมักจะรายงานข่าวเชิงปรากฏการณ์ ความรุนแรง และตัวเลขคนเจ็บ คนตาย แต่ในความเป็นจริงยังมีอีกหลายด้านที่คนนอกพื้นที่ไม่เข้าใจ ศูนย์ข่าวอิศราจึงพยายามเปิดพื้นที่ให้คนได้ส่งเสียงมากขึ้น” มูฮำมัดอายุบ กล่าว

รูปแบบการทำงานของศูนย์ข่าวอิศราในยุคบุกเบิก เป็นการประสานกันระหว่างทีมข่าวจากส่วนกลางที่ลงมาฝังตัวในพื้นที่ และทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการร่วมกับมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ซึ่งเป็นเหมือนกุนซือใหญ่ของทีม เนื่องจากเชี่ยวชาญพื้นที่และภาษามลายู นับจากนั้นมาจึงเป็นการวางบรรทัดฐานใหม่ของคนทำสื่อท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อน และยังเปิดโอกาสให้นักข่าวจากสำนักต่างๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ชีวิตชายแดนใต้

ปัจจุบันศูนย์ข่าวอิศราถูกยกระดับขึ้นเป็น ‘ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา’ ขณะเดียวกัน คณะทำงานชุดบุกเบิกก็ได้ขยายฐานที่มั่นออกไปเป็น ‘ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้’ (Deep South Watch) เพื่อทำงานข่าวเชิงลึก โดยมีมูฮำมัดอายุบเป็นบรรณาธิการอาวุโส ทำงานร่วมกับนักวิชาการ แพทย์ ครู และเครือข่ายในพื้นที่

“ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้พยายามทำงานเชิงความรู้ ใช้ข้อมูลทางวิชาการไปอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อจะบอกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงแต่ละครั้ง ไม่ใช่มีแค่คนไทยพุทธเท่านั้นที่สูญเสีย แต่ยังมีคนมุสลิม มีผู้บริสุทธิ์คนอื่นๆ รวมทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายขบวนการเองก็สูญเสียด้วยเช่นกัน”

สิ่งหนึ่งที่มูฮำมัดอายุบต้องการชี้ให้เห็นก็คือ ไม่เพียงแค่สำนักข่าวอิศรากับศูนย์เฝ้าระวังฯ เท่านั้นที่เกาะติดปัญหาภาคใต้ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา ยังส่งผลให้เกิดพัฒนาการของสื่อท้องถิ่นที่ขยายตัวขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งในเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งสามารถทำงานสื่อสารอย่างมืออาชีพไม่แพ้สื่อกระแสหลัก

หลักในการทำหน้าที่สื่อของเราคือ การสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาภาคใต้โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้งานการเมืองในการแก้ปัญหา นี่คือสิ่งที่เราผลักดันมาตลอด”

ขอพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้บริสุทธิ์

อีกด้านหนึ่งของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและความรุนแรงกว่า 1 ทศวรรษ ได้ส่งผลให้องค์กรภาคประชาสังคม หรือ Civil Society Organization (CSO) เติบโตเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ กลุ่มนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวรณรงค์ และเครือข่ายเอ็นจีโอด้านต่างๆ ล้วนเห็นพ้องกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนในพื้นที่ต้องลุกขึ้นมาพูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อมีส่วนร่วมในการหาทางออก

ราวปี 2552 ผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ รวมตัวกันในนาม ‘สภาประชาสังคมชายแดนใต้’

ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ‘กระบวนการพูดคุยสันติภาพ’ เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในสมัยรัฐบาลชุดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐในนาม ‘มาราปาตานี’ ขณะที่มาเลเซียอาสาเป็นตัวกลางในการเปิดพื้นที่พูดคุย

ปี 2558 มูฮำมัดอายุบได้รับเลือกเป็นประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เขาเชื่อมั่นว่าเวทีพูดคุยบนโต๊ะสันติภาพ คือก้าวย่างสำคัญที่จะนำไปสู่ทางออก

การรวมตัวของภาคประชาสังคมเกิดขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศการพูดคุย การรับฟังปัญหาของคนในพื้นที่ การเรียกร้องความเป็นธรรม และหาทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง ฟังเสียงจากคนข้างล่าง และผลักขึ้นไปสู่คนข้างบน เพื่อนำไปเป็นข้อเสนอทั้งแก่รัฐและผู้เห็นต่างจากรัฐ

“หน้าที่ของ CSO ประการหนึ่งคือ การประคองให้การพูดคุยดำเนินต่อไปได้ เพราะนี่คือประตูบานเดียวที่ยังเปิดอยู่ จะเห็นว่าทุกประเทศที่มีความขัดแย้งถึงตาย สุดท้ายก็จบลงด้วยการพูดคุย แล้วทำไมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำไม่ได้”

มูฮำมัดอายุบย้ำว่า บทบาทของ CSO ไม่ได้อยู่ทั้งฝ่ายรัฐและไม่ได้อยู่ข้างฝ่ายผู้ถือปืน หากงานของภาคประชาสังคมคือ เปิดพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชน สร้างพื้นที่กลางที่สามารถเชื่อมได้กับทุกฝ่าย เมื่อมีพื้นที่กลางเกิดขึ้น ประชาชนก็จะกล้าบอกเล่าในสิ่งที่ตนเองต้องการได้

“CSO โดยตัวของมันเองไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อต้องการอำนาจรัฐ แต่เราเคลื่อนไหวเพื่อจะบอกว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการคืออะไร และเพื่อจะบอกว่าอัตลักษณ์ของเรา พื้นที่ของเรา ความเห็นของเรา จะต้องได้รับการยอมรับ นี่คือสิ่งที่ CSO กำลังทำ

ในเมื่อฝ่ายรัฐบาลบอกว่า กระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นนั้นต้องการรับฟังข้อเสนอจากประชาชน ฝ่ายมาราปาตานีก็บอกว่าต้องฟังเสียงประชาชน ฉะนั้น นี่คือจังหวะก้าวที่สำคัญของภาคประชาชน เพราะทุกฝ่ายต่างก็อ้างประชาชน แต่โจทย์ก็คือ เมื่อประชาชนส่งเสียงออกไปแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะยอมฟังไหม นี่ต่างหากที่เรากังวล”

ถามว่าคนในพื้นที่อยากได้อะไร มูฮำมัดอายุบยกตัวอย่างข้อเสนอของภาคประชาสังคมในช่วง 3 ปีให้หลังที่ค่อนข้างเด่นชัดว่า สิ่งที่ประชาชนพยายามส่งสัญญาณออกไปก็คือ ข้อเรียกร้องให้มี ‘พื้นที่ปลอดภัย’ และชีวิตของผู้บริสุทธิ์จะต้องถูกละเว้น

เขาย้ำอีกครั้งว่า ผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ มลายูมุสลิม หรือใครก็ตาม ควรจะต้องถูกละเว้นจากการเอาชีวิต แม้ขณะนี้จะยังไม่เห็นผลตอบรับเท่าที่ควร แต่เห็นได้ว่าเสียงของประชาชนเริ่มดังมากขึ้น และมีข้อเสนอที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งจากกลุ่มสตรี กลุ่มผู้นำศาสนา กลุ่มครู กลุ่มประมงพื้นบ้าน และผู้คนอีกหลากหลายกลุ่ม

เสียงสะท้อนของประชาชน

ที่ผ่านมาสภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้ร่วมกับ 16 องค์กรเครือข่าย สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ในช่วงปี 2559 โดยผลสำรวจ 2 ครั้ง จากแบบสอบถามกว่า 3,000 ชุด พบว่า ประชาชนไม่ต่ำกว่าครึ่งมีความหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

“ผมไม่เกี่ยงว่าใครจะมีความคิดเห็นเอนเอียงไปทางรัฐ หรือเอียงไปทางผู้เห็นต่าง หรือจะอยู่ตรงกลาง แต่หน้าที่ของ CSO มีอยู่เรื่องเดียวคือ ต้องทำข้อเสนอของประชาชนออกไปสู่ทั้งสองฝ่ายให้ได้ว่าประชาชนอยากได้อะไร ด้วยการฟังเสียงของประชาชนให้มากที่สุด หลากหลายที่สุด เพราะผมเชื่อว่าเสียงที่หลากหลาย หรือเสียงที่รัฐไม่ค่อยอยากจะฟัง มันจะทำเป็นข้อเสนอรูปธรรมและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง”

มูฮำมัดอายุบเล่าว่า หากเป็นเมื่อก่อนนี้คนสามจังหวัดชายแดนใต้คงไม่มีใครกล้าปริปากเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมเท่าไรนัก ทว่าสถานการณ์ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมากและพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ โดยประชาชนเริ่มตระหนักถึงการมีส่วนร่วมและการแสดงพลังพลเมือง ดังเห็นได้จากผลการลงประชามติ ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ซึ่งสะท้อนได้ว่าคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้หวงแหนสิทธิของตนเอง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องศาสนา วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ภาคใต้เปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนไม่ค่อยมีใครกล้าเรียกร้องให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาที่สองของราชการ ไม่กล้าพูดเรื่องเขตปกครองพิเศษ ไม่กล้าพูดเรื่องคนเห็นต่างจากรัฐ ไม่กล้าแม้กระทั่งระบุชื่อขบวนการ แต่วันนี้เปลี่ยนไปเยอะ คำบางคำอย่างเช่น ‘ปาตานี’ ตอนนี้พูดกันเต็มไปหมดในพื้นที่สามจังหวัด มีข้อถกเถียงที่เป็นเหตุเป็นผล ยิ่งถ้ามีพื้นที่แลกเปลี่ยนมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศและภูมิคุ้มกันให้คนในพื้นที่มากขึ้น”

การขยายตัวของภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งและเติบโตขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สะท้อนได้จากการออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อการที่กระทำต่อเด็กและผู้บริสุทธิ์ เพื่อแสดงให้รู้ว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของฝ่ายขบวนการ

ขณะที่ฝ่ายรัฐเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน หากจะใช้ยุทธการปิดล้อมตรวจค้นก็ต้องให้ความยุติธรรมแก่ผู้ถูกจับกุม เพราะทุกสายตาของภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างก็คอยจับตาการทำงานของเจ้าหน้าที่

หนึ่งเสียงของประชาชนที่แสดงออก จึงเป็นเสียงที่ฝ่ายรัฐไม่ควรละเลย เพราะหากมองภาพรวมทั้งประเทศ ประชากรกว่า 3 ล้านคนในพื้นที่ชายแดนใต้อาจถือเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย แต่หากมองเฉพาะสามจังหวัดภาคใต้ พวกเขาคือคนกลุ่มใหญ่ที่รัฐไทยต้องเปิดใจรับฟัง

“ข้อเสนอในระยะเร่งด่วนในเวทีประชาสังคมคือ ข้อเรียกร้องเรื่องความยุติธรรม ความปลอดภัย ผู้บริสุทธิ์จะต้องไม่ถูกกระทำ รัฐต้องระมัดระวังเรื่องการละเมิดสิทธิ์ แต่ถ้าถามว่าความต้องการของชาวบ้านคืออะไร ประเด็นเศรษฐกิจก็ยังเป็นประเด็นหลักอยู่ ชาวบ้านอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น

“ถ้าให้ผมตีความ ข้อเรียกร้องเรื่องความยุติธรรมก็คือคำถามที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องความปลอดภัยก็คือ คำถามที่มีต่อขบวนการ”

เปิดประตูสู่สันติภาพ

บทเรียนจากความขัดแย้งในหลายประเทศทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การหาข้อยุติด้วยแนวทางสันติวิธีคือทางออกที่เป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย ซึ่งทุกประเทศล้วนจบลงที่การพูดคุย

มูฮำมัดอายุบชี้ให้เห็นว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาการต่อสู้โดยการใช้อาวุธของทั้งสองฝ่ายได้เดินมาจนเกือบสุดทาง และมีการใช้ความรุนแรงมาแล้วแทบทุกวิธีการ แต่ข้อเรียกร้องก็ยังไม่บรรลุผลและไม่สามารถไปไกลมากกว่านี้ได้อีกแล้ว ฉะนั้น หนทางเดียวที่น่าจะเป็นไปได้คือ การเผชิญหน้าบนโต๊ะพูดคุย

ในอดีตเวลามีข้อเสนอเรื่องการพูดคุย คนกรุงเทพฯ ก็จะบอกว่าไม่ได้ จะไปคุยกับโจรทำไม ผมถามว่าแล้วทำไมประเทศอื่นเขาถึงทำได้ มันสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังไม่มีความเข้าใจเรื่องภาคใต้ดีพอ เพราะคิดว่าปัญหาภาคใต้เป็นแค่อาชญากรรมธรรมดา”

“คำถามของผมคือ ถ้าคุณคิดว่าปัญหาเรื่องภาคใต้แก้ได้ง่าย ทำไมต้องมีหน่วยงานพิเศษอยู่ในภาคใต้เต็มไปหมด ฝ่ายขบวนการเองก็เหมือนกัน เขาใช้ทุกวิธีการแล้วในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช แต่ก็ยังทำได้แค่นี้ ฉะนั้น การพูดคุยคือทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่มีอย่างอื่น”

สำหรับประเทศไทย มูฮำมัดอายุบมองว่า แนวโน้มสันติภาพมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากคนในสังคมมีความเข้าใจในกระบวนการดังกล่าว แต่ทุกวันนี้แม้กระทั่งคำว่า การพูดคุย-การเจรจา-สันติภาพ-สันติสุข ก็ยังเป็นข้อถกเถียงของหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งกังวลต่อภาพลักษณ์และการแทรกแซงจากต่างประเทศ

“มาเลเซียทุ่มเทให้กับเรื่องนี้มาก จากเดิมเรามองว่ามาเลเซียเป็นหอกข้างแคร่ ฉะนั้น ไม่เคยมียุคไหนที่เรามาได้ไกลขนาดนี้ และยังมีกระบวนการที่ทั่วโลกยอมรับ กระทั่งเจ้าหน้าที่ทูตต่างประเทศก็ยังมองว่าไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้วตลอด 3 ปีที่ผ่านมา อาจจะล้มบ้าง ไม่ล้มบ้าง แต่อย่างน้อยก็มีข้อตกลงบางอย่างร่วมกัน ต่างประเทศก็เฝ้ามองเราอยู่ ถ้าใครถอนตัวจากโต๊ะพูดคุยเมื่อไหร่ คุณเสร็จแน่”

กับคำถามที่หลายคนอาจสงสัยว่า การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้จะผิดฝาผิดตัวหรือไม่ มูฮำมัดอายุบอธิบายว่า โดยกระบวนการปกติของการพูดคุยย่อมมีฝ่ายขบวนการบางส่วนที่อาจไม่เห็นด้วยและไม่เข้าร่วม แต่ประเด็นสำคัญคือ ขณะนี้แกนนำหลักของทุกกลุ่มขบวนการล้วนตบเท้าเข้าสู่เวทีพูดคุยอย่างเป็นทางการแล้ว ฉะนั้น คำถามที่ประชาชนควรให้ความสนใจมากกว่านั้นคือ ทั้งสองฝ่ายจะทำอย่างไรจึงจะเกิดความยุติธรรมและความปลอดภัยกับคนในพื้นที่ เพื่อให้สถานการณ์ภาคใต้สงบลง

“ตอนนี้มันเลยคำถามที่ว่า คู่เจรจาเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม เมื่อก่อนชาวบ้านอาจจะมีข้อสงสัยได้ว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่หลังจากฮาซัน ตอยิบ (แกนนำบีอาร์เอ็น) ลงนามแสดงเจตจำนงเข้าร่วมกระบวนการพูดคุย หลังจากนั้นก็ไม่มีคำถามว่าตัวจริงหรือตัวปลอม มีแต่คำถามว่าเขาจะเดินหน้าต่อหรือเปล่า จะเอาจริงไหม เพราะประชาชนอยากเห็นกระบวนการพูดคุยเดินไปข้างหน้า

“ต้องยอมรับว่าธรรมชาติของการพูดคุย เป็นไปไม่ได้ที่การพูดคุยโดยไม่มีการเซ็นสัญญาแล้วสถานการณ์จะยุติ นี่เป็นประสบการณ์จากทั่วโลก ฉะนั้น จึงเป็นที่มาว่าภาคประชาสังคมจะต้องหนุนเสริม เพื่อให้เกิดข้อตกลงเป็นบันทึกความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายให้ได้ ซึ่งในรอบ 3 ปีมีข้อเสนอจากภาคประชาสังคมเยอะมาก เพราะในเมื่อทั้งสองต่างก็อ้างเสียงของประชาชน”

กับบทบาทของประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เขายืนยันว่า CSO ไม่ใช่ตัวแปรที่จะสามารถคุมกองกำลังของฝ่ายผู้เห็นต่างได้ และไม่ได้เป็นตัวแปรที่จะบอกให้รัฐหยุดยิงได้ แต่ CSO มีหน้าที่ทำข้อเสนอ ค้ำจุนโต๊ะเจรจา สร้างบรรยากาศ รับฟังผู้ที่เห็นต่าง ฉะนั้น หากรัฐจะยุติเรื่องนี้ ต้องฟังเสียงของประชาชน ขณะเดียวกัน ประชาชนเองต้องตื่นตัวในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ร่วมกันสร้างเครือข่ายที่มีพลังเข้มแข็งในการต่อรอง

“ถ้าภาคประชาสังคมไม่หนุนเสริมหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ เวทีการพูดคุยมันจะล้ม แต่ถ้าเมื่อไหร่ CSO หนุนเสริม 60 เปอร์เซ็นต์จากงานวิจัยพบว่า การพูดคุยจะเดินต่อไปข้างหน้าได้ เราเชื่อว่าปัญหาใต้มีทางออกเดียวเท่านั้นคือการพูดคุย ไม่มีทางอื่น ถ้าคิดจะใช้กำลังห้ำหั่นกัน ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ตรงกลางจะยิ่งสูญเสียมากขึ้น

ผมไม่เคยเชื่อในทฤษฎีที่ว่า ถ้าใช้กำลังกดฝ่ายหนึ่งแล้วทุกอย่างจะจบ มันเป็นไปไม่ได้ ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่า รัฐบาลไทยทำมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งตั้งหน่วยงานพิเศษ ใช้ทรัพยากรแทบทุกอย่างในการแก้ปัญหาภาคใต้ ฝ่ายขบวนการ BRN ก็ใช้วิธีการก่อเหตุทุกรูปแบบแล้ว แต่ก็ยังไม่มีฝ่ายใดเอาชนะกันได้ ฉะนั้น แสดงว่าการพูดคุยเท่านั้นที่จะทำให้ทุกอย่างจบ”

อีกนานแค่ไหนจึงจะเห็นปลายทางของสันติภาพ? – เป็นคำถามที่ทุกคนต่างใคร่รู้

“บางประเทศใช้เวลา 10-15 ปี บางประเทศก็ 20 ปี สำหรับภาคใต้แค่เริ่มต้นมาได้ 3 ปีก็ถือว่าเก่งแล้ว ผมอาจจะมองโลกในแง่ดีก็ได้ แต่ผมคิดว่าเป็นแนวโน้มที่ดีมาก เพราะยุทธศาสตร์การพูดคุยเป็นสิ่งที่ทุกคนคนเห็นด้วย โลกเห็นด้วย องค์กรระหว่างประเทศเห็นด้วย”

บนความขัดแย้งและความรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนาน จนไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะยุติลงเมื่อใด แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ประชาชนตื่นตัว เข้มแข็ง และลุกขึ้นมาช่วยกันแก้ปัญหา

ไม่ว่าอีก 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี ประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้ก็ยังคงเฝ้ารอที่จะเห็นความสงบสุขบังเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง ตราบใดที่ยังมีความหวังและไม่สิ้นศรัทธาต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพไปเสียก่อน

 

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า