เปลี่ยนกลยุทธจากการชุมนุมโดยสงบเป็นขัดขืนอย่างสันติ ขณะเดียวกันก็เลือกเปิดโปงภารกิจเอฟบีไอเพื่อแสดงจุดยืนว่าประชาชนมีอำนาจ และสามารถตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจในสังคมได้เช่นเดียวกัน
เรื่อง: พัชรา ไชยฤทธิ์
ภาพ: Documentary Club
หลังจากที่โลกรู้จักกับ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน และความกล้าหาญของเขาผ่านสารคดี Citizenfour ไปได้ไม่นาน ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 1971 ก็พาเราย้อนเวลากลับไปรู้จักคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เปิดโปงการทำงานของสำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ ที่คุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองสหรัฐตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม
สิ่งที่พวกเขาทำสร้างปรากฏการณ์ให้ชาวอเมริกันรุ่นใหม่ในยุคสายลมแสงแดด ที่ถูกเรียกขานว่า ‘บุปผาชน’ กล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้นชนิดพลิกฝ่ามือ
ในช่วงปี 1971 ที่ทางการสหรัฐกำลังติดพันกับสงครามเวียดนามอยู่นั้น พลเมืองหนุ่มสาวทั้งหลายก็ออกมาเดินขบวนประท้วงอย่างสันติ แสดงความเห็นต่างไปจากรัฐบาล พวกเขาทราบว่าเอฟบีไอกำลังสอดแนมชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา การร่วมชุมนุมประท้วงเริ่มเป็นที่หวาดระแวง ผู้ชุมนุมต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แต่ในวิกฤติเช่นนี้ก็มีกลุ่มคนหนุ่มสาวแปดคนคิดหาวิธีโต้กลับเอฟบีไอ
สิ่งที่พวกเขาทำคือเปลี่ยนกลยุทธจากการชุมนุมโดยสงบเป็นขัดขืนอย่างสันติ โดยการวางแผนขโมยเอกสารจากสำนักงานเอฟบีไอ ซึ่งสมัยนั้นตั้งสาขาย่อยกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนว่าประชาชนมีอำนาจในมือ และสามารถตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจในสังคมได้เช่นเดียวกัน
เมื่อแผนการเริ่มขึ้น พวกเขาค้นพบความจริงที่เอฟบีไอปฏิบัติต่อพลเมืองสหรัฐ พวกเขาส่งเรื่องที่พบไปยังหนังสือพิมพ์และสำนักข่าวต่างๆ ทั่วสหรัฐ หลายแห่งส่งข้อมูลกลับไปยังเอฟบีไอ แต่สำนักข่าววอชิงตันโพสต์ (Washington Post) ตัดสินใจนำเสนอข่าวที่ได้จากการขโมยของพลเมืองโต้กลับทั้งแปดคน หลังจากข่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดกระแสประชาชนตื่นตัว กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออกมากขึ้น แม้จะยังมีความกังวลว่าจะถูกสอดแนมอยู่บ้าง
กลุ่มพลเมืองโต้กลับทั้งแปด เป็นเพียงกลุ่มคนธรรมดา เป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีครอบครัว และการงานในเมืองเล็กๆ แตกต่างจากสโนว์เดน ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งบอกว่า พลเมืองยังคงทำหน้าที่ของพลเมืองเพื่อตอบโต้และตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐอย่างแท้จริง ซึ่งเราทุกคนสามารถเป็นเช่นนั้นได้ในฐานะพลเมืองของรัฐ
การขโมยข้อมูลเอฟบีไอในครั้งนี้ ทำให้นโยบายของรัฐ แฟ้มลับที่เราไม่เคยรู้ รวมถึงแผนปฏิบัติการต่างๆ ของหน่วยงานอย่างเอฟบีไอผุดขึ้นสู่สาธารณะ ความน่าตกใจอยู่ที่สิ่งที่เอฟบีไอทำ ซึ่งถือว่าเกินขอบเขตหน้าที่ที่ควรทำ ทั้งวัตถุประสงค์ในการสอดแนมประชาชน การใช้สื่อปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวงว่าจะถูกจับตามอง แม้แต่การสร้างเรื่องจนทำให้สามีภรรยาคู่หนึ่งเลิกกัน จากข้อมูลที่ได้จากหนัง มันไม่ใช่การปกป้องคุ้มครองหรือทำเพื่อประชาชน แต่เป็นการคุมความประพฤติประชาชนให้อยู่ในอาณัติต่างหาก
มองย้อนกลับมาที่สังคมปัจจุบัน เราควรตั้งคำถามกับสิ่งที่สังคมเรากำลังเป็นอยู่หรือไม่ และเราควรลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหรือเปล่า
ใช่แล้ว เราควรกล้าในสิ่งที่ถูก ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่าจะมีใครสักคนกล้าพอ เพราะกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ถูกกำหนดมาก็เป็นเสียอย่างนี้ บอกตามตรงเลยว่า ฉันก็รักชีวิตตัวเองเหมือนกันนะ…
—————————————–
‘1971 : ฉีกเอฟบีไอ’ สารคดีเปิดโปงแผนลับของรัฐในการสอดแนมประชาชน จนหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐ ต้องถูกสอบสวนในสภาเป็นครั้งแรก กลุ่มคนทั้งแปดไม่เคยถูกจับ และไม่เคยเปิดเผยตัวจริงต่อสาธารณชนมาก่อน
…จนกระทั่งบัดนี้
ผลงานร่วมอำนวยการสร้างโดย ลอรา พอยทราส ผู้กำกับ Citizenfour กำกับโดย โจแฮนนา แฮมิลตัน