ผลการศึกษาโดยทีมจาก Community Catalyst องค์กรไม่แสวงผลกำไรในบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตส์ ร่วมกับกลุ่มศึกษาสาธารณประโยชน์สหรัฐ (U.S. Public Interest Research Group: U.S. PIRG) เปิดเผยว่า ผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ และอาการป่วยเรื้อรังอื่นๆ กำลังถูกบีบให้เสียค่ายาเกินจำเป็นตั้งแต่ 10-30 เท่า จากข้อตกลงไม่แข่งขันทางการค้า หรือ Pay-for-delay ระหว่างบรรษัทยารายใหญ่กับบริษัทยาชื่อสามัญรายย่อย
นั่นก็คือ ยาชื่อสามัญที่มีราคาสมเหตุสมผลจะถูกกักไว้ด้วยข้อตกลงดังกล่าว ทำให้มีเพียงยาของบรรษัทใหญ่ๆ รายเดียวเท่านั้นที่สามารถวางขายได้ในราคาเกินเอื้อมของผู้ป่วยส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะต้องแบกรับภาระค่ายาไปเต็มๆ
+ เบรคยาชื่อสามัญ
รายงานเรื่อง ‘Top Twenty Pay-for-Delay Drugs: How Drug Industry Payoffs Delay Generics, Inflate Prices and Hurt Consumers’ โดย Community Catalyst และ U.S. PIRG
ศาลฎีกาสหรัฐอยู่ระหว่างพิจารณาว่า ข้อตกลงไม่แข่งขันทางการค้า (Pay-for-delay) ผิดกฎหมายต้านการค้าแบบผูกขาดหรือไม่ เนื่องจากเป็นวิธีที่บรรษัทยาจ่ายเงินให้กับบริษัทยาชื่อสามัญรายย่อย เพื่อให้วางจำหน่ายยาชื่อสามัญ ที่ปกติมีราคาถูกกว่ายาชนิดเดียวกันที่ใช้ชื่อทางการค้าของบรรษัทยายักษ์ใหญ่นั้นๆ ล่าช้ากว่ากำหนด
ขณะนี้ มียาชื่อสามัญ 20 ตัว ถูกบรรษัทยาเบรคไว้เฉลี่ย 5-9 ปี ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ติดข้อตกลง Pay-for-delay ผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือก และจำเป็นต้องซื้อยาที่ใช้ชื่อทางการค้าอื่นๆ ซึ่งมีราคาสูงกว่ายาชื่อสามัญนับ 10 เท่า
+ ยอดของภูเขาน้ำแข็ง
“ยา 20 ชนิดนี้ เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น” เวลส์ วิลคินสัน ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงคดีใบสั่งยาจาก Community Catalyst กล่าว
เพราะรายงานอีกฉบับของคณะกรรมการสหภาพการค้า (Federal Trade Commission: FTC) ให้ข้อมูลว่า จากข้อตกลงดังกล่าว จะส่งผลให้ยาชื่อสามัญกว่า 140 ชนิดวางจำหน่ายช้ากว่ากำหนด
ลอรา อีเธอร์ตัน นักวิเคราะห์นโยบายสุขภาพ U.S. PIRG มองว่า การกระทำของบรรษัทยาที่ทำการติดสินบนเพื่อลดคู่แข่งทางการค้าในตลาดยาถือว่าอุกอาจมาก เพราะผลกระทบจะตกอยู่ที่ผู้บริโภคเต็มๆ
“ผู้บริโภคต้องเสียค่ายาในราคาสูงเกินจำเป็น และเรื่องนี้ควรยุติได้แล้ว” ลอรา กล่าว
+ ผลักภาระให้ผู้บริโภค
มองในภาพรวม ความเสียหายมหาศาลที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอยู่ที่ราว 98,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในกรณีที่ยาชื่อสามัญ 20 ตัวต้องวางจำหน่ายล่าช้าจากกำหนด
แคเรน วิงเคลอร์ หนึ่งในผู้ป่วยจากภาวะเส้นเลือดตีบ เคยใช้ยา Provigil ในราคา 500 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (จ่ายร่วมกับประกันสุขภาพ) เพราะข้อตกลง Pay-for-delay สามารถดึงยาชื่อสามัญตัวนี้ไว้ได้ 6 ปี หลังจากเดือนตุลาคม 2012 ยาชื่อสามัญสามารถวางจำหน่ายได้ ทำให้ค่ายาที่แคเร็นต้องเสียลดลงเหลือ 16 เหรียญสหรัฐทุกๆ 3 เดือน หรือไม่เกิน 6 เหรียญสหรัฐต่อเดือน
ชื่อยา |
ราคาช่วงติด Pay-for-delay (เหรียญ/เดือน) |
ราคาหลัง Pay-for-delay (เหรียญ/เดือน) |
ลดลง (เท่า) |
Lipitor
ลดคอเลสเตอรอล |
205 |
18 |
11 |
Lamictal
รักษาการนอนผิดปกติ |
465 |
14 |
33 |
Cipro
ยาปฏิชีวนะ |
346 |
23 |
15 |
ในปี 2012 Pfizer สามารถทำยอดขายเฉพาะ Lipitor ไป 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ Bayer ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทยาชื่อสามัญ Cipro นานถึง 7 ปี นอกจากนี้ คนไข้ที่มีปัญหาหลอดเลือดตีบ ต้องเสียค่ายา Provigil เกือบ 1,200 เหรียญสหรัฐต่อเดือน เพราะบริษัท Cephalon ตกลงจ่ายให้บริษัทยาชื่อสามัญ 4 แห่งมากกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้สามารถขายยาชื่อการค้าของตนเองได้ถึงปี 2012
ขณะนี้มียาอีกอย่างน้อย 5 ตัว ที่ติดข้อตกลงไม่เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภคเช่นนี้อยู่ อาทิ Aggrenox ยาป้องกันหลอดเลือดในสมอง, Niaspan ยาลดคอเลสเตอรอล, AndroGel ฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนสังเคราะห์, Nuvigil รักษาอาการหลับผิดปกติ และ Nexium รักษาอาการจุกเสียดและกรดไหลย้อน
ที่มา: commondreams.org