25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2015-2016 (1)
25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2015-2016 (2)
25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2015-2016 (3)
25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวของปี 2015-2016 อันดับ 16-20
16. ความโปร่งใสของรัฐบาลสหรัฐ
Freedom of Information Act (FOIA) ถูกตราในปี 1966 สมัยประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าร้องขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลทำงานอย่างโปร่งใสมากขึ้น โดยยกเว้นข้อมูลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง และละเมิดความเป็นส่วนตัว
หลังได้รับการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ให้สัญญาถึงการบริหารงานของรัฐว่าจะมีความโปร่งใสมากขึ้น แต่คำพูดนั้นก็ไม่เป็นจริง เพราะการร้องขอข้อมูลตาม FOIA ในปีงบประมาณ 2015 ทุกๆ หกกรณีจะมีหนึ่งกรณีที่ไม่มีคำตอบให้กับประชาชน และข้อมูลชุดที่ ‘ถูกปิด’ นั้นคิดเป็น 77 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่มีการร้องขอข้อมูลทั้งหมด
ข้อมูลดำมืดที่ประชาชนเข้าไม่ถึงเหล่านี้มาจากสามส่วนคือ การเซ็นเซอร์ การปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูล และส่วนที่สามคือ ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสามารถใช้ดุลพินิจส่วนตัวพิจารณาให้ข้อมูลตามการร้องขอได้ตามความเหมาะสม
17. ระบบการแพทย์สำหรับผู้อพยพในเรือนจำสหรัฐ
บทความของ ฟรีด เวสเลอร์ เขียนไว้ใน The Nation เมื่อต้นปี 2016 ว่า ตั้งแต่ปี 1998 – 2014 นักโทษผู้อพยพอย่างน้อย 137 ราย เสียชีวิตในเรือนจำเอกชนของ Corrections Corporation of America และ Management and Training Corporation ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาของ Federal Bureau of Prisons (BOP)
The Nation รวบรวมรายงาน 17 ชิ้นจากแพทย์ 6 ชิ้นจากจิตแพทย์ ใน 25 กรณี จนพบว่า การดูแลทางการแพทย์ที่ไม่เหมาะสม ความช่วยเหลือล่าช้า หน่วยพยาบาลไม่มีทักษะวิเคราะห์โรค ของเรือนจำเอกชน เป็นสาเหตุที่ทำให้นักโทษ 103 ราย เสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ เช่น เอดส์ มะเร็ง โรคตับ โรคหัวใจ หรือแม้แต่โรคทางจิตเวช
ต่างจากเรือนจำที่ดำเนินการโดยรัฐบาลและศูนย์ผู้อพยพ เรือนจำเอกชนไม่มีมาตรฐานการดูแลนักโทษอย่างเท่าเทียม เพราะเรือนจำเหล่านี้มีสัญญาทำงานภายใต้ระบบรัฐ และต้องจำกัดงบประมาณเพราะเป็นรูปแบบธุรกิจเอกชน
40 เปอร์เซ็นต์ของนักโทษต้องโทษด้วยข้อหา ‘เป็นผู้อพยพ’ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 คดีเหล่านี้ไม่ค่อยมีการฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ริเริ่มเรือนจำเอกชน เพื่อลดภาระและงบประมาณของภาครัฐ
18. พลังสตรีเพื่อความยุติธรรมทางสังคม
ขบวนการสตรีในโลกยกระดับการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวในประเด็นหลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่เรื่อง LGBTQ เกษตรกรชนพื้นเมือง ไปจนถึง ‘Black Lives Matter’ และมุ่งไปสู่การแสวงหาความยุติธรรมทางสังคมมากขึ้น
รูชา ชิตนิส กล่าวไว้ใน YES! Magazine ถึงการนำเสนอการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) โดยใช้พลังของกลุ่มสตรีเป็นธงนำขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ สตรีทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างจุดที่มีความแตกต่างให้เป็นรูปเป็นร่าง ชิตนิสอ้างถึงความเรียงของเฟมินิสต์เลสเบียนผิวดำ ออเดร ลอร์เด ที่ว่า ‘การกดขี่นั้นไม่มีลำดับขั้น’ ชิตนิสสรุปว่า ทุกวันนี้ กลุ่มสตรีต่างๆ กำลังเชื่อมปัญหาด้านทุนนิยม ความรุนแรง การลิดรอนสิทธิมนุษยชน และการทำลายโลกเข้าหากัน
ตัวอย่างเช่น National Domestic Workers Alliance (NDWA) กลุ่มสตรีที่เฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี ซึ่งรวมตัวกันต่อต้านพฤติกรรมรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือที่อินเดีย ดายามานี บาร์ลา (Dayamani Barla) นักข่าวชนเผ่าจากรัฐฌารขัณฑ์ (Jharkhand) นำขบวนต่อต้านกลุ่มโรงงานเหล็ก ArcelorMittal ซึ่งเข้ามายึดที่ทำกินของคนพื้นเมืองเพื่อทำเหมือง
19. พี่กันกับเส้นทางลักลอบขนขยะพิษ
แต่ละปี ประชากรสหรัฐจะสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ราว 3.14 ล้านตัน (ข้อมูลจาก US Environmental Protection Agency) โดย 40 เปอร์เซ็นต์ของขยะชนิดนี้ทางการแจ้งว่าจะถูกรถบรรทุกจำนวน 50,000 คันขนไปเพื่อรีไซเคิล
แต่การศึกษาของ BAN (Basel Action Network) องค์กรเอกชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านเรื่องการค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นพิษ พบว่า ขยะเกือบ 1 ใน 3 ถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นประเทศที่เทคโนโลยีรีไซเคิลยังไม่ก้าวหน้า สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมและบั่นทอนสุขภาพคนทำงาน หลายๆ คนเป็นเด็ก
“ทุกคนมีสิทธิ์รับรู้ว่าขยะเหล่านี้จะเดินทางไปไหน” จิม พัคเก็ตต์ (Jim Puckett) ผู้อำนวยการบริหาร BAN ยืนยัน พร้อมเผยว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ปี 2015 BAN ติดตั้งจีพีเอสไว้กับชิ้นส่วนขยะคอมพิวเตอร์ 200 ชิ้น ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังแหล่งพักขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีหลายจุดรอบอเมริกา ก่อนจะพบคำตอบในเดือนมีนาคม 2016 ว่า 65 ชิ้นจากทั้งหมด 200 ชิ้น (หรือประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์) ถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา มากกว่าจะนำไปรีไซเคิลในประเทศตามที่อ้างไว้ และพบว่าปลายทางของขยะพิษเหล่านี้คือ จีน ไต้หวัน ปากีสถาน เม็กซิโก กัมพูชา เคนยา และไทย โดยเฉพาะที่ฮ่องกง พื้นที่ใกล้ชายแดนจีนถือเป็นกราวด์ซีโร่ของขยะพิษเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์อุดมไปด้วยพิษ เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม อย่างไรก็ตาม สหรัฐเข้มงวดการส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์แค่หนึ่งชนิด คือ จอโทรทัศน์ แม้ว่าหลายๆ รัฐจะห้ามทิ้งขยะชนิดนี้ลงพื้นและมีระบบรีไซเคิลทันสมัย แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายระดับประเทศมาบังคับพร้อมบทลงโทษที่ชัดเจน
20.เรียบร้อยโรงเรียนวอลมาร์ท
มกราคม 2016 มูลนิธิครอบครัววอลตัน (Walton Family Foundation: WFF) ผู้ก่อตั้งห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างวอลมาร์ท (Walmart) เจ้าของทรัพย์สินกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์ ประกาศแผนห้าปีในการสนับสนุนและสร้างโรงเรียนประเภท Charter school (โรงเรียนที่คิดหลักสูตรเอง เน้นความมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง นักเรียนมีอิสระในการเลือกเรียน มีตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงจบมัธยมปลาย) ใน 13 เมืองของสหรัฐ ด้วยเม็ดเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งโครงการดังกล่าว WFF ทำมากว่า 20 ปีแล้ว จนเรียกได้ว่า 1 ใน 4 ของ Charter School ในสหรัฐได้รับเงินสนับสนุนจากครอบครัววอลตัน ที่ถูกปลูกฝังมาตลอดเรื่องเสรีภาพทางการศึกษา
ย้อนกลับไปในปี 1980 สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน มีรายงานชิ้นสำคัญที่ถือเป็นหมุดหมายตอนนั้นคือ การตีพิมพ์เอกสาร A Nation at Risk: The Imperative for Educational Reform เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ และ จอห์น วอลตัน (John Walton) ได้อ่านเอกสารฉบับนั้น และสั่งให้พิมพ์พร้อมแจกจ่ายแก่สมาชิกทุกคนในครอบครัว รวมถึง แซม วอลตัน ผู้พ่อ และผู้ก่อตั้งวอลมาร์ท
เมื่ออ่านจบ แซม วอลตัน จึงประกาศว่า “อยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ” และ WFF จึงเริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้น
แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกลับทฤษฎีของ มิลตัน ฟรีดแมน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1976 ที่เสนอว่าโรงเรียนประถมและมัธยม ต้องถูกปฏิรูป และวิธีการเดียวที่ทำได้คือ แปรรูปให้เป็นของเอกชน บริหารโรงเรียนแบบธุรกิจ นักเรียนคือลูกค้า โรงเรียนต้องให้ในสิ่งที่เด็กๆ ต้องการภายใต้ค่าเทอมที่ย่อมเยา
Charter School ภายใต้การกุมบังเหียนของห้างวอลมาร์ทจึงแผ่ขยายไปเรื่อยๆ ด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล
ที่มา: projectcensored.org
โปรดติดตาม 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2015-2016 (5) เร็วๆ นี้