25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2015-2016 (2)

part2

25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2015-2016 ตอน 1

25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวของปี 2015-2016 อันดับ 6-10

dollars-1

6. ชาวสหรัฐกว่า 1.5 ล้านคน มีเงินใช้วันละ 2 ดอลลาร์ต่อวัน

หนึ่งในหลักฐานจำนวนมากที่ แคธรีน เจ. อีดินและ เอช. ลุค เชเฟอร์ นักวิจัยสายสังคมวิทยาใช้ในการรายงานข้อเท็จจริงชิ้นนี้คือ ข้อมูลจากสำมะโนประชากร โดยเฉพาะด้านรายได้ และโครงการความช่วยเหลือด้านโภชนาการสหรัฐ ที่ชี้ว่า ประชากรกว่า 1.5 ล้านคน และกว่า 3 ล้านคนในจำนวนนั้นคือประชากรเด็ก มีเงินใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตราว 2 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน

รายงานดังกล่าวชี้ไปที่รากของปัญหาว่า อาจเกิดจากนโยบายปฏิรูปสวัสดิการตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ในปี 1996 ที่นับแต่นั้น ทำให้นโยบายสาธารณะให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้ที่มีงานทำในสัดส่วนที่สูงกว่า

ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งคู่ชี้ว่าต้องพุ่งเป้าไปที่การรับรองสวิสดิการจากรัฐ ทั้งเพื่อการประกันว่า ต้องมีการสร้างโอกาสในการเข้าถึงงาน ตั้งแต่ระดับฐานรากสู่ระดับบน โดยเฉพาะการรับประกันว่างานดังกล่าวต้องเป็นไปด้วยความปลอดภัย รับประกันชั่วโมงการทำงาน รวมทั้งต้องมีการประกันเรื่องสวัสดิการ ที่แม้ว่าคุณจะตกงาน แต่ลูกๆ ของคุณต้องได้รับการคุ้มครองจากสวัสดิการรัฐ

 

ที่มา: commons.wikimedia.org ภาพโดย KEI จาก ja.wikipedia
ที่มา: commons.wikimedia.org ภาพโดย KEI จาก ja.wikipedia

7. วิกฤติฟุกุชิมะยังดำเนินต่อไป

ห้าปีหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ตามด้วยสึนามิ จนทำให้เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเสียหายอย่างหนัก ดาห์ร จาเมล ผู้สื่อข่าวจาก Truthout รายงานว่า บริษัท TEPCO (Tokyo Electric Power Co.) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบกรณีที่มีการปล่อยของเสียปริมาณมหาศาลสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

ของเสียที่ว่าไม่ใช่ของเสียธรรมดา เพราะเป็นน้ำที่มีการปนเปื้อนกัมมันตรังสี แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะปิดระบบปฏิบัติการลงหลังเกิดเหตุ แต่ปฏิกิริยาฟิชชั่นยังก่อให้เกิดความร้อนและต้องผ่านกระบวนการลดความร้อน ซึ่งกระบวนการลดความร้อนนี่เองเป็นสาเหตุของน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีนับแสนตันที่ปล่อยออกมา รายงานของจาเมลพบว่า TEPCO ไม่มีแผนรับมือหรือการจัดการของเสียเหล่านี้ก่อนปล่อยสู่ทะเล

งานศึกษาโดยสถาบัน Woods Hole Oceanographic Institution ในรัฐแมสซาชูเสตต์ส สหรัฐ พบการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีในน้ำทะเลสูงขึ้นร้อยละ 50 ในเขตน่านน้ำที่ห่างออกไป 1,600 ไมล์ทางตะวันตกของซานฟรานซิสโก แม้การปนเปื้อนจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่รัฐบาลสหรัฐกำหนดว่าเป็นอันตราย แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับตั้งคำถามถึงมาตรฐานที่เคยยอมรับได้ว่าปลอดภัย จะยังคงปลอดภัยอยู่หรือไม่

ลินดา เพนต์ซ กุนเทอร์ คอลัมนิสต์จากเว็บไซต์สิ่งแวดล้อม Ecologist เสนอข่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นให้การรับรองว่าพื้นที่แถบฟุกุชิมะนั้นปลอดภัย “รัฐบาลปรับตัวเลขมาตรฐานความปลอดภัยในการสัมผัสกัมมันตรังสีขึ้นไป 20 เท่า” และกล่าวถึงความเป็นไปได้ของแผนการในการส่งผู้อพยพกลับบ้านที่อาจเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2017

 

credit: epa.eu

8. มูลเหตุของสงครามซีเรีย

ถึงวันนี้ ใครที่เพิ่งตามข่าวสงครามกลางเมืองซีเรียอาจจับต้นชนปลายไม่เจอว่า สาเหตุของสงครามมาจากไหนกันแน่ เมื่อเดือนกันยายน 2015 มนาร์ มูฮาเวซ บรรณาธิการสาวของ MintPress News สื่ออิสระจากรัฐมินนิโซตา สหรัฐ ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุของสงครามนั้นมาจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจมากกว่าการเมืองหรือศาสนา

ย้อนไปเมื่อปี 2011-2012 หลังจากที่ประธานาธิบดีบาซาร์ อัล-อัสซาด ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับตุรกีในการก่อสร้างท่อส่งก๊าซจากกาตาร์ไปยังตุรกี โดยแนวท่อพาดผ่านซีเรีย ตุรกีและประเทศพันธมิตรจึงกลายเป็นผู้เปิดสงครามกลางเมืองซีเรียไปโดยปริยาย
นอกจากนั้น ต้นทางของแนวท่อส่งก๊าซนั้นมาจากรัสเซียตรงเข้ายุโรป พื้นที่ตะวันออกกลางที่เราเห็นความขัดแย้งระหว่างความเชื่อทางศาสนาอิสลาม ลึกลงไปใต้ดิน มีความพยายามเปิดเส้นทางส่งก๊าซและน้ำมันสำหรับผู้ค้ารายใหญ่ที่ได้สัมปทาน

จากเอกสารลับที่เผยแพร่โดย WikiLeaks มูฮาเวซรายงานว่า การแทรกแซงในซีเรียเกิดขึ้นก่อนหน้าความขัดแย้งที่นำไปสู่อาหรับสปริงในปี 2011 ไม่ต่ำกว่าห้าปี เอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐในปี 2006 ระบุแผนการที่จะนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีอัสซาด เอกสารดังกล่าวยังระบุถึงพันธมิตรของสหรัฐ อันประกอบไปด้วย ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี กาตาร์ และอียิปต์ ที่สนับสนุนการแบ่งแยกซีเรียด้วยฐานความขัดแย้งระหว่างซุนนีและชีอะฮ์

การรายงานข่าวสงครามกลางเมืองและผู้อพยพกว่าสี่ล้านคนตั้งแต่ปี 2013 มักจะนำเสนอในแง่ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยซึ่งถูกเบี่ยงประเด็นด้วยความขัดแย้งระหว่างสองนิกายทรงอิทธิพลในประเทศ ในการรายงานจึงมีทั้งกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ต่อต้านรัฐบาล ต่อต้าน IS และกลุ่มนักสู้ไม่ทราบฝ่าย แต่มักละเลยที่จะให้ข้อมูลประเด็นผลประโยชน์ที่เกิดจากสัมปทานก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน

 

pills-1

9. บรรษัทยากับการเมืองเรื่องสุขภาพ

บรรษัทยาคืออีกกลุ่มผู้สนับสนุนระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รายงานใน Truthout อ้างอิงข้อมูลจาก Center for Responsive Politics (CRP) พบว่า บรรษัทยาจัดสรรงบประมาณเพื่อบริจาคในช่วงหาเสียง ในปี 2012 อยู่ที่ 51 ล้านดอลลาร์ ปี 2014 อยู่ที่เกือบ 32 ล้านดอลลาร์

ข้อมูลในเดือนกันยายน 2015 ชี้ให้เห็นว่า บรรษัทยาทุ่มงบไปแล้ว 10 ล้านดอลลาร์สำหรับแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีประจำปี 2016

ระหว่างการหาเสียงในปี 2014 Pfizer คือบริษัทยาที่บริจาคเงินระหว่างการหาเสียงอันดับหนึ่ง อยู่ที่ 1.5 ล้านดอลลาร์ ตามด้วย Amgen 1.3 ล้านดอลลาร์ และ McKesson 1.1 ล้านดอลลาร์

ข้อมูลในปี 2014 พบสัดส่วนระหว่างเงินบริจาคให้พรรคการเมืองต่อการจ้างล็อบบียิสต์ อยู่ที่ 1:7 นั่นคือ ทุก 1 ดอลลาร์ที่บริจาคให้พรรคการเมือง บรรษัทยาจะลงทุนกับล็อบบียิสต์ 7 ดอลลาร์ โดยงบสำหรับล็อบบียิสต์ของบรรษัทยาเมื่อปี 2014 อยู่ที่ 229 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากปี 2009 ที่พุ่งสูงถึง 273 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากเป็นปีที่กฎหมายประกันสุขภาพ (The Patient Protection and Affordable Care Act: PPACA) หรือที่รู้จักกันในนามโอบามาแคร์ ผ่านวุฒิสภา

อิทธิพลของกลุ่มล็อบบียิสต์บรรษัทยาส่งผลในหลายระดับ ทั้งต่อนโยบายสุขภาพในประเทศ ไปจนถึงงานกดดันด้านการค้าระหว่างประเทศ อาทิ อำนาจในการยับยั้งการต่อรองราคายาในโครงการ Medicare (ประกันสุขภาพสำหรับประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี) หรือกดดันประเทศที่มีประสิทธิภาพในการผลิตยาชื่อสามัญ (generic drugs) อย่างอินเดียให้ควบคุมและแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเข้มงวดขึ้น เพราะอินเดียอนุญาตให้ผู้ผลิตสามารถผลิตยาชื่อสามัญจำเป็นต่างๆ อาทิ ยาต้านไวรัส HIV/AIDS ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ส่งออกไปยังประเทศด้อยพัฒนาเพื่อการเข้าถึงยาอย่างเป็นธรรม ขณะที่ในสหรัฐ สิทธิบัตรจะให้ความคุ้มครองยาต้นแบบ (original drugs) นั้นๆ เป็นเวลา 20 ปี

 

ที่มา: commons.wikimedia.org photo by Barry Bahler / U.S. Department of Homeland Security (DHS)
ที่มา: commons.wikimedia.org ภาพโดย Barry Bahler / U.S. Department of Homeland Security (DHS)

10. กฎหมายสอดส่องอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีใครสังเกตเห็น

18 ธันวาคม 2015 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ลงนามรับรองร่างรัฐบัญญัติความมั่นคงไซเบอร์ (Cybersecurity Information Sharing Act: CISA) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาความปลอดภัยไซเบอร์ของสหรัฐ และป้องกันภัยคุกคามบนโลกออนไลน์

กฎหมายให้อำนาจในการก่อตั้งระบบเพื่อส่งต่อข้อมูลผู้ใช้บริการไปยังกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ (Department of Homeland Security: DHS) ซึ่งสามารถส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานราชการอื่นๆ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม รวมถึงสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency: NSA) กระทรวงพลังงาน กระทรวงยุติธรรม รวมถึงสำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation: FBI)

ร่าง CISA ผ่านการรับรองจากวุฒิสมาชิก 74 ต่อ 21 เสียงในเดือนตุลาคม 2015

มากไปกว่านั้น แอนดี กรีนเบิร์ก ผู้สื่อข่าว Wired รายงานว่า CISA เป็นเหมือนการให้อำนาจประธานาธิบดีในการตั้งเว็บท่า (portals) สำหรับหน่วยงานอย่าง FBI และสำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ เพื่อที่ผู้ให้บริการจะส่งข้อมูลต้องสงสัยสู่หน่วยงานเหล่านี้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ

 


ที่มา: projectcensored.org

 

โปรดติดตาม 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2015-2016 (3) เร็วๆ นี้

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า