Syrian Civil War: หมากบนกระดานสงครามซีเรีย

ข่าวคราวซีเรียเงียบหายไปจากสื่อกระแสหลักนานหลายเดือน นับตั้งแต่ความโล่งอกโล่งใจอันเกิดจากการถล่มฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มไอซิสอย่างรอกเกาะฮ์ (Raqqa) ในซีเรียได้สำเร็จ แต่ความโล่งใจดังกล่าวอาจปนแทรกเข้ามาอยู่บ้างกับความกังวลว่า การถล่มพื้นที่ยึดครองของไอซิสอาจนำไปสู่การแตกตัวและกลับบ้านของนักรบที่ส่วนใหญ่แล้วมีพื้นเพกระจายกันไปแทบจะทั่วทั้งโลก ส่วนนักรบไอซิสที่เป็นคนท้องถิ่นนั้นนับเป็นสัดส่วนน้อยเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่นักรบต่างชาติเหล่านี้จะพกพา ‘ชุดความคิด’ ยุทธวิธี ความรู้ และเครือข่าย กลับไปปฏิบัติการที่บ้านตน จนอาจเสมือนกับว่า ไอซิสกำลังแปลงเปลี่ยนกลายสภาพจากกลุ่มก่อการร้ายที่ยึดครองพื้นที่ได้และสถาปนาเขตอำนาจปกครองของตน ไปเป็นเครือข่ายการก่อการร้ายในขอบเขตระดับโลกที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ (global loosely movement) แต่ละหน่วยมีอิสระในตนเองมาก (autonomous cells) และไร้ซึ่งโครงสร้างบังคับบัญชาอย่างเป็นทางการระหว่างหน่วย

ผสมกับแนวโน้มที่เป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ ของกระแสการก่อการร้ายแบบฉายเดี่ยว (lone wolfs) โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ก็ทำให้ภาพความหวาดวิตกลักษณะนี้อาจเป็นตัวแปรโน้มนำให้ความกังวลสนใจของโลกยักย้ายจากซีเรียออกไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความรุนแรงและการสูญเสียในซีเรียก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยเหตุการณ์รุนแรงระลอกใหญ่รอบล่าสุดก่อตัวขึ้นที่เขตโกตา (Ghouta) ตะวันออกติดกับกรุงดามัสกัส (Damascus) จนทำให้ภาพรวมของสถานการณ์นับตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 2011 ถึงกลางเดือนมีนาคมปีนี้มีผู้ถูกสังหารไปในสงครามกลางเมืองไปแล้วราว 465,000 ชีวิต บาดเจ็บมากกว่า 1 ล้านคน และประชาชนอีกมากกว่า 12 ล้านคน (ซึ่งเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของประชากรซีเรียก่อนสงคราม) ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น

ภาพ: aljazeera.com

ภาพรวมโดยสังเขปของแนวรบที่ซีเรียวันนี้

สงครามกลางเมือง (civil war) ในซีเรียวันนี้ ดังที่ทราบกันดีว่าเต็มไปด้วยความชุลมุนวุ่นวาย หลายฝ่ายสหบาทา ซ้ำยังมีการแทรกแซงผสมโรงเข้ามาจากรัฐและกลุ่มติดอาวุธภายนอก กระทั่งทำให้อีกโฉมหน้าหนึ่งมีลักษณะของสงครามตัวแทน (proxy war) หรือกระทั่งมองเป็นสงครามเย็นระลอกใหม่ (new cold war) ที่ก่อตัวขึ้นมาค่อนข้างชัดแต่เงียบๆ ก็ย่อมได้

โดยสามารถจำแนกอย่างง่ายๆ ออกเป็นสองคู่เผชิญหน้าหลัก คือ อเมริกากับรัสเซียในระดับโลก และอิหร่านกับกลุ่มรัฐริมอ่าว (The Gulf States) นำโดยซาอุดีอาระเบีย ในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งคละคลุ้งด้วยกลิ่นคาวข้อกล่าวหาของการใช้อาวุธเคมีหลายครั้งด้วยกัน ล่าสุดคือรายงานจากกลไกไต่สวนข้อเท็จจริงร่วมของสหประชาชาติ (UN Joint Investigation Mechanism) ที่แสดงการค้นพบว่า รัฐบาลซีเรียเป็นผู้กระทำการโจมตีต่อประชาชนด้วยแก๊สซารินในอิดลิบ (Idlib)

นับตั้งแต่ ค.ศ. 2012 มีความพยายามของรัฐภายนอกบางส่วน รวมถึงสหประชาชาติ ที่จะผลักดันการเจรจาสันติภาพ (peace talks) ระหว่างรัฐบาล บาชารฺ อัล-อัสซาด ของซีเรีย กับบรรดากลุ่มต่อต้าน แต่แรงผลักของสันติภาพก็คืบหน้าไปได้น้อยกว่าพัฒนาการปะทะทางการทหาร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบทบาทของมหาอำนาจภายนอกที่ขัดแย้งกันเอง หรือแข่งกันมีอิทธิพลต่อการกำหนดผลลัพธ์ของสถานการณ์

เช่นล่าสุดที่รัสเซียพยายามจัดวงพูดคุยขึ้นที่โซชี (Sochi) ในช่วงมกราคมที่ผ่านมา แต่แนวร่วมฝ่ายต่อต้านจำนวนมากคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมเวทีนี้ เพราะนอกจากจะพิจารณาว่ารัสเซียมิใช่คนกลาง หากแต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้างของรัฐบาลอัสซาด และยังระแวงว่าบทบาทของรัสเซียอาจสะท้อนความพยายามลดกลไกอำนาจของสหประชาชาติในการเป็นตัวกลางจัดการความขัดแย้ง และย้ายกระบวนการออกจากกรอบเวทีขององค์การดังกล่าว ซึ่งรัสเซียดูเหมือนจะสูญเสียความชอบธรรมไปพอสมควรกับการเล่นบทบาท ‘ตัดเกม/ทำลายเกม’ หลายครั้งในตลอดช่วงที่ผ่านมา

ปัจจุบัน ฉากแห่งการเผชิญหน้าสู้รบในสงครามกลางเมืองซีเรียดำเนินไปในสองพื้นที่ใหญ่ ได้แก่ ภูมิภาคอัฟริน (Afrin) กับเขตโกตาตะวันออก (Eastern Ghouta) อันเป็นพื้นที่ชนบทชานเมืองฝั่งตะวันกออกของกรุงดามัสกัส

อัฟริน (Afrin)

ตัวแสดงหลัก

  • ตุรกี
  • กองทัพซีเรียเสรี (Free Syrian Army: FSA)
  • หน่วยป้องกันประชาชนชาวเคิร์ด (Yekîneyên Parastina Gel: YPG)
  • ไอซิส (The Islamic State of Iraq and al-Sham: ISIS)
  • กองกำลังของรัฐบาลซีเรีย

สำหรับภูมิภาคอัฟริน ในวันนี้เสมือนกับปรากฏการณ์แนวรบสงครามใหม่ โดยมีคู่เผชิญหน้าที่สำคัญคือ ตุรกีกับกองทัพ FSA ฝ่ายหนึ่งติดพันสู้รบอยู่กับหน่วยป้องกันประชาชนชาวเคิร์ด YPG ที่จับมืออยู่กับกลุ่มติดอาวุธสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย โดยมีอเมริกาเป็นตัวแปรอยู่ห่างๆ

สำหรับตุรกีนั้นมองว่ากองกำลังชาวเคิร์ด YPG เป็นฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มเคิร์ดที่ก่อวินาศกรรมหลายครั้งในตุรกี จึงตัดสินใจประกาศปฏิบัติการทางการทหารทั้งทางบกและทางอากาศโจมตีข้ามพรมแดนมายังฝั่งซีเรียในชื่อที่เรียกว่า ‘ปฏิบัติการช่อมะกอก’ (Olive Branch Operation)

ส่วนฝั่ง YPG นั้นเอาเข้าจริงแล้วเข้มแข็งขึ้นมาได้จากการสนับสนุนทางการทหารจากอเมริกา ซึ่งอาศัยพวกเขาเป็นกำลังรบทางบกสำคัญในการเผชิญหน้ากับกลุ่มไอซิส ดังนั้นในห้วงเวลาที่ไอซิสยังดำรงอยู่ อเมริกาจึงดูเข้าข้าง YPG เป็นพิเศษ แต่เมื่อไอซิสได้ถูกสลายไปแล้ว อเมริกาย่อมได้ประโยชน์มากกว่า หากไม่ไปงัดข้อกับตุรกีโดยตรง และเลือกที่จะเล่นบทเป็นกลาง สะท้อนจากท่าทีของ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกา ที่เพิ่งโดน โดนัลด์ ทรัมป์ ปลดไปไม่นานมานี้ กล่าวคือ ในช่วงปลายเดือนมกราคมปีนี้ เร็กซ์เคยแสดงทัศนะต่อแนวรบที่อัฟรินไปในเชิงเห็นใจความกังวลของตุรกีซึ่งมีสิทธิชอบธรรมในการจะปกป้องตนเองจากกลุ่มก่อการร้าย แต่ก็เรียกร้องให้คู่ขัดแย้งมีความยับยั้งชั่งใจในการสู้รบกัน พร้อมกับสนับสนุนการหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ

กลุ่ม YPG นั้นมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การสร้างและรักษาความเป็นอิสระและมั่นคงของชุมชนชาวเคิร์ดในซีเรียตอนเหนือ ซึ่งนอกจากต่อสู้กับกลุ่มไอซิส เดิมก่อนหน้านั้นยังเคยรบกับรัฐบาลซีเรียของ บาชารฺ อัล-อัสซาด จนกองทัพรัฐบาลล่าถอยออกไป กระทั่งวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิม ผลพวงจากการที่ YPG รบกับไอซิสภายใต้การสนับสนุนของอเมริกานั้น ทำให้พวกเขาสามารถยึดกุมอิทธิพลเหนือพื้นที่ตอนเหนือของซีเรียได้ในแนวกว้าง ครอบคลุมภูมิภาคยูเฟรติส (Euphrates) ญะซีระฮฺ (Jazira) และอัฟริน และกำลังพยายามผลักดันพื้นที่เหล่านี้เป็นเขตปกครองตนเองในชื่อ ‘สหพันธรัฐประชาธิปไตยแห่งซีเรียเหนือ’ (Democratic Federation of Northern Syria) ซึ่งดูทรงแล้วมีลักษณะเป็นเขตปกครองอิสระภายใต้กรอบของรัฐซีเรียมากกว่าจะเป็นประเทศเอกราชในตัวเอง

สำหรับรัฐบาลซีเรีย ดูจะไม่พอใจมากกับการที่ตุรกีรุกล้ำอำนาจอธิปไตยเข้ามา และยังร่วมมือกับกองทัพ FSA อันเป็นคู่ปฏิปักษ์ของรัฐบาลซีเรียที่อ่อนกำลังลงในระยะหลัง และอัสซาดเองก็ย่อมมีสิทธิกังวลว่า การแทรกแซงเข้ามาของตุรกีอาจปลุกให้กองกำลังนี้ฟื้นขึ้นมาแผลงฤทธิ์ได้อีก ขณะที่รูปแบบของ ‘สหพันธรัฐประชาธิปไตยแห่งซีเรียเหนือ’ (ภายใต้รัฐธรรมนูญซีเรีย) ของกลุ่มชาวเคิร์ด ก็ดูจะเป็นตัวแบบการจัดระเบียบปกครองใหม่หลังความขัดแย้งที่อัสซาดยอมรับได้ เป็นไปได้จริง และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของซีเรียอันประกอบด้วยความหลากหลาย รัฐบาลซีเรียที่เคยสู้รบกับ YPG ในอดีต วันนี้จึงอยู่ในสถานะ ‘พันธมิตรอย่างหลวมๆ’ ระหว่างกันบนหมากกระดานอำนาจแถบซีเรียตอนเหนือ

อนาคตของความรุนแรง/สันติภาพในแถบอัฟรินพันอยู่กับความสลับซับซ้อนอีรุงตุงนังและยากจะหาจุดสมดุลลงตัวของสหสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างตัวแสดงอันหลากหลายมากกว่าที่กล่าวมานี้ เช่น แม้กลุ่มกองกำลังชาวเคิร์ดกับรัฐบาลซีเรียจะมีประโยชน์ในการยืนอยู่ข้างเดียวกัน แต่เคิร์ดเองก็ยังคงรับการช่วยเหลือทางการเงินและการทหารจากอเมริกา ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลซีเรีย ขณะที่รัสเซียเองอาจไม่เห็นด้วยกับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลซีเรียกับกองกำลังชาวเคิร์ด เพราะจะทำให้การสานสัมพันธ์กับตุรกีเพื่อวางแกนของมหาอำนาจผู้จัดการระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลางขึ้นใหม่ (รัสเซีย-อิหร่าน-ตุรกี) มีความยุ่งยากลำบากมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

โกตาตะวันออก (Eastern Ghouta)

ตัวแสดงหลัก

  • อะฮฺรอร อัล-ชาม (Ahrar al-Sham) องค์กรร่ม/องค์กรแม่ข่ายที่เคยร่วมจัดตั้ง: อัล-ญับฮะตุน อัล-อิสลามียะฮฺ (Islamic Front) และ จาญิช อัล-ฟะตะฮฺ (Army of Conquest)
  • ญับฮะตุน ฟะเตะฮฺ อัล-ชาม (Jabhat Fateh al-Sham) องค์กรร่ม/องค์กรแม่ข่ายที่เคยร่วมจัดตั้ง: ฮายัต ตะฮฺรีร อัล-ชาม (Hayat Tahrir al-Sham)
  • ฟียฺลัค อัล-เราะฮฺมัน (al-Rahman Legion)

แนวรบที่โกตาตะวันออกติดกับดามัสกัสทวีความร้อนระอุขึ้นมาในช่วงมีนาคม 2018 รัฐบาลซีเรียปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มใส่ฝ่ายต่อต้าน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 รายภายในวันเดียว และเป็นความสูญเสียที่รุนแรงที่สุดในรอบสามปีของเขตพื้นที่นี้ ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่เดิมเป็นหลักหมื่นคน เป็นฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้านหลายพันชีวิต และจากข้อมูลของสหประชาชาติ คาดการณ์กันว่า ในปัจจุบันมีประชากรอยู่ในพื้นที่นั้นราว 393,000 คน ซึ่งประกอบเพิ่มเข้ามาจากบรรดาผู้พลัดถิ่นไร้ที่อยู่จากทั่วประเทศ

การโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงรอบนี้สะท้อนชัดว่ารัฐบาลซีเรียประสงค์จะ ‘ปิดเกมการรบ’ อันติดพันยืดเยื้อกับกองกำลังที่ขนาบเมืองหลวงซึ่งดำเนินมานับตั้งแต่ ค.ศ. 2013 และยึดเอาพื้นที่คืนกลับมาสู่อำนาจการปกครองของรัฐบาลอย่างสมบูรณ์ โดย บาชารฺ อัล-อัสซาด พร้อมจะแบกรับต้นทุนที่ต้องจ่ายในเกมนี้เท่าไหร่ก็ได้ รวมถึงการถูกกดดัน ประณาม และกระทั่งความเสี่ยงของการที่ประชาคมนานาชาติอาจพยายามใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการต่อเขา

ในทางกลับกัน ก็สะท้อนว่าอัสซาดและมหาอำนาจที่สนับสนุนอย่างรัสเซียคงประเมินแบบแผนตลอดหลายปีที่ผ่านมา และมั่นใจมากถึงความอ่อนแอของกลไกระหว่างประเทศที่จะบังคับ/กำกับเงื่อนไขของสถานการณ์สู้รบให้อยู่ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ

หากย้อนกลับไปพิจารณาตั้งแต่แรกเริ่มการเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในซีเรียเมื่อ ค.ศ. 2011 ประชาชนในแถบโกตาตะวันออกคือกลุ่มแรกๆ ที่ลุกฮือขึ้นมาขับไล่ บาชารฺ อัล-อัสซาด และกลายสภาพเป็นเขตอิทธิพลแรกๆ ของฝ่ายต่อต้าน (หากนับพิจารณาทุกกลุ่ม) เมื่อสถานการณ์แปรผันไปสู่ภาวะสงครามกลางเมือง และยืนหยัดเผชิญหน้ากับฝ่ายรัฐบาลมาได้อย่างยืดเยื้อกระทั่งทุกวันนี้ที่รัฐบาลซีเรียสามารถยึดคืนพื้นที่หลายแห่งกลับมาได้ แม้อัสซาดจะเปิดการโจมตีขนานใหญ่ใน ค.ศ. 2013 (อันเป็นอีกครั้งที่มีข้อกล่าวหาต่อรัฐบาลซีเรียว่าใช้แก๊สซาริน) หรือการพุ่งเป้าโจมตีต่อสถานที่สำคัญอย่างโรงพยาบาล โรงเรียน และโกดังสินค้า ตลอดช่วงสองสามปีมานี้ก็ตาม

หากพิจารณาแผนที่ของสงครามกลางเมืองซีเรียในปัจจุบันประกอบด้วย จะพบว่าโกตาตะวันออกเป็นเหมือนกับรอยด่างวงเล็กๆ อยู่ตรงกลาง ถูกโอบล้อมด้วยพื้นที่ที่รัฐบาลซีเรียยึดคืน/รักษาเขตอำนาจเอาไว้ได้ พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นราวกับหนามยอกอก และข้อค้านแย้งอันมีชีวิตต่อโวหารของอัสซาดที่ประกาศว่ารัฐบาลซีเรียได้รับชัยชนะแล้วในสงคราม

กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลซีเรียที่ตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่โกตาตะวันออกปัจจุบัน มีอยู่สามกลุ่มหลัก ดังนี้

ภาพ: โกตาตะวันออก / news.sky.com

1. อะฮฺรอร อัล-ชาม (Ahrar al-Sham)

เป็นกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านที่ใหญ่ที่สุด ภายหลังการอ่อนกำลังลงของกองทัพซีเรียเสรี FSA โดยประมาณการกันเมื่อกลางปี 2017 ว่าน่าจะมีสมาชิกอยู่ราว 18,000-20,000 คน กลุ่มนี้มีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด และเปลี่ยนแปลงการปกครองในกรอบกฎหมายชารีอะฮฺตามแบบของความเป็นรัฐอิสลาม อะฮฺรอร อัล-ชามเป็นตัวแสดงที่พยายามเล่นบทบาทนำ และเป็น ‘Broker’ ระหว่างบรรดากลุ่มที่มีแนวความคิดคล้ายกัน ผ่านการสร้างองค์กรร่ม/องค์กรแม่ข่าย (umbrella organization) ขึ้นมาสองกรอบ

หนึ่งคือแนวร่วมที่ชื่อว่า อัล-ญับฮะตุน อัล-อิสลามียะฮฺ (Islamic Front) ซึ่งสลายไปโดยพฤตินัยในช่วงราวๆ ปลายปี 2014 – ต้นปี 2015 ซึ่งน่าจะมาจากการสูญเสียผู้นำระดับสูงหลายสิบคนหลังโดนระเบิดถล่มที่เมืองอิดลิบเมื่อกันยายน 2014

อีกกรอบหนึ่งเป็นลักษณะของศูนย์บัญชาการรบร่วม คือ จาญิช อัล-ฟะตะฮฺ (Army of Conquest) แต่ก็สลายตัวลงไปในท้ายที่สุดเช่นกัน ภายหลังการปะทะกันเองภายในระหว่างสองกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ อะฮฺรอร อัล-ชาม กับ ญับฮะตุน ฟะเตะฮฺ อัล-ชาม (Jabhat Fateh al-Sham) ซึ่งแปลงกลายมาจากญับฮะตุนนุศเราะฮฺ (al-Nusra) นั่นเอง

2. ญับฮะตุน ฟะเตะฮฺ อัล-ชาม (Jabhat Fateh al-Sham)

เป็นกลุ่มที่ทำการ ‘rebranding’ ตัวเองใหม่มาจากกลุ่มญับฮะตุนนุศเราะฮฺ หรือที่นิยมเรียกกันว่า อัล-นุศเราะฮฺ ฟรอนท์ (al-Nusra Front) เดิมทีพวกเขาเป็นสาขาของอัลกออิดะฮฺที่ปฏิบัติการในสงครามกลางเมืองซีเรียมาตั้งแต่ ค.ศ. 2012 การสนับสนุนของอัลกออิดะฮฺเป็นไปโดยเล็งเห็นว่าสภาพปั่นป่วนหรือสุญญากาศทางอำนาจในห้วงของสงครามกลางเมืองเป็นบริบทชั้นเลิศของการใช้เป็นแหล่งกบดานและดึงดูดสรรหา (recruit) สมาชิกใหม่ รวมถึงขยายเขตอิทธิพลของตนได้กว้างขึ้น

ต่อมาญับฮะตุนนุศเราะฮฺ ก็ได้ประกาศแยกตัวไม่เกี่ยวข้องกับอัลกออิดะฮฺ พร้อมเปลี่ยนชื่อแปลงโฉมตัวเองใหม่มาเป็นกลุ่มญับฮะตุน ฟะเตะฮฺ อัล-ชาม ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจำกัดเป้าหมายและขอบเขตปฏิบัติการให้เฉพาะที่การปลดปล่อยดินแดนซีเรีย ด้วยเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์คือ แบรนด์ของ ‘อัล-นุศเราะฮฺ ฟรอนท์’ และการผูกโยงตนเองอยู่กับอัลกออิดะฮฺ จะเท่ากับการถูกขึ้นบัญชีจากหลายประเทศเป็น ‘กลุ่มก่อการร้าย’

แต่กระนั้น เป้าหมายในการต่อสู้ของกลุ่มก็ยังคงดำเนินการตามเดิม คือโค่นล้มระบอบอัสซาด แล้วสถาปนารัฐในแบบอิสลามขึ้นมา ตามแนวคิดของอัลกออิดะฮฺ และแปรเปลี่ยนวิธีการสนับสนุนจากอัลกออิดะฮฺจากทางตรงเป็นทางอ้อม ด้วยการร่วมกับกลุ่มติดอาวุธอีกสี่กลุ่ม จัดตั้งองค์กรร่ม/องค์กรแม่ข่ายขึ้นมาในชื่อ ‘ฮายัต ตะฮฺรีร อัล-ชาม’ (Hayat Tahrir al-Sham) เป็นตัวรับการสนับสนุนจากอัลกออิดะฮฺแทน

อย่างไรก็ตาม ตะฮฺรีร อัล-ชามดูเหมือนจะมีชื่ออยู่ไม่กี่เดือน ก็ปรากฏข่าวว่ากลุ่มที่เข้าร่วมได้แยกตัวออกมาด้วยเหตุผลของความขัดแย้งภายใน ปัจจุบันญับฮะตุน ฟะเตะฮฺ อัล-ชาม เผชิญหน้าอยู่กับอะฮฺรอร อัล-ชาม ทั้งสองกลุ่มนี้มีขีดอำนาจค่อนข้างมากในสงครามกลางเมืองซีเรีย และแม้เหมือนจะมีเป้าหมายคล้ายกันคือ สถาปนารัฐอิสลาม แต่เห็นไม่ตรงกันในรายละเอียดและแย่งชิงการนำ พร้อมกันนั้น ในเชิง ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ กลุ่มแรกรับการสนับสนุนหลักมาจากอัลกออิดะฮฺ ส่วนกลุ่มหลังเชื่อมโยงกับรัฐริมอ่าวและตุรกี

ภาพ: โกตาตะวันออก / jamuna.tv

3. ฟียฺลัค อัล-เราะฮฺมัน (al-Rahman Legion)

เป็นกลุ่มติดอาวุธในเครือข่ายของกองทัพซีเรียเสรี FSA แม้จะมีแนวคิดอิงกับศาสนาอิสลาม แต่ก็ต่างออกไปจากอะฮฺรอร์ อัล-ชาม และญับฮะตุน ฟะเตะฮฺ อัล-ชาม ตรงที่มิได้วางเป้าหมายไว้ที่การวางการปกครองแบบรัฐอิสลามขึ้นใหม่ จุดขายของพวกเขาคือ การประกาศตนเป็นกลุ่มต่อสู้กับรัฐบาลอัสซาดที่ยืนหยัดอยู่ในแถบดามัสกัสมาอย่างยาวนานที่สุด รวมทั้งได้รับการสนับสนุนและยอมรับในระดับสูงจากผู้คนในท้องถิ่น แม้ว่าจะปรากฏผู้นำระดับสูงของกลุ่มเข้าร่วมในกระบวนการเจรจาสันติภาพที่เจนีวาในปี 2017 และลงนามเข้าร่วมในการกำหนดโกตาตะวันออกเป็นเขตพื้นที่ลดระดับความรุนแรง (de-escalation area) อันเป็นกรอบความตกลงที่มีรัสเซีย อิหร่าน และตุรกีเป็นตัวกลาง แต่ภายหลังจากนั้นก็ยังมีรายงานของการปะทะเผชิญหน้ากับกองกำลังฝ่ายรัฐบาลซีเรียอยู่เรื่อยๆ

ความสัมพันธ์ของฟียฺลัค อัล-เราะฮฺมันกับกลุ่มหลักกลุ่มอื่นในพื้นที่เดียวกันนั้น สะท้อนให้เห็นภาพกว้างว่าด้วยแนวทางทำความเข้าใจจุดยืนของตัวแสดงแทบทุกฝ่ายในสงครามกลางเมืองซีเรียอย่างมาก กล่าวคือ ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร

กลางปี 2016 พวกเขาปะทะกับกลุ่มญับฮะตุน ฟะเตะฮฺ อัล-ชาม (อัล-นุศเราะฮฺ ฟรอนท์) ต่อมาช่วงเดือนเมษา 2017 ปะทะกับกลุ่มจาญิช อัล-อิสลาม โดยได้รับการสนับสนุนจากตะฮฺรีร อัล-ชาม องค์กรร่ม/องค์กรแม่ข่ายของสองสามกลุ่มที่มีญับฮะตุน ฟะเตะฮฺ อัล-ชามเป็นผู้เล่นสำคัญ ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ฟียฺลัค อัล-เราะฮฺมันเข้าสู้รบกับอะฮฺรอร อัล-ชาม ในคราวนี้ตะฮฺรีร อัล-ชาม เลือกอยู่ข้างตรงข้ามพวกเขา (แต่สุดท้าย กับอะฮฺรอร อัล-ชาม กับตะฮฺรีร อัล-ชาม ก็แตกแยกกันในที่สุด ฝ่ายหลังสลายตัวเป็นกลุ่มต่างๆ ในสภาพเดิมก่อนหน้าจะร่วมสร้างองค์กรร่วมกัน) และวันนี้ฟียฺลัค อัล-เราะฮฺมัน กำลังรบเคียงข้างไปกับอะฮฺรอร อัล-ชาม เผชิญหน้ารัฐบาลซีเรีย

นอกจากนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ พวกเขามิได้มีเอกภาพเป็นเนื้อเดียวกัน หากแต่องค์กรเคลื่อนไปโดยมีปัจจัยของพลวัตและความขัดแย้งภายในเป็นแรงขับสำคัญ ปรากฏการณ์ที่สมาชิกละทิ้งไปอยู่กลุ่มอื่น หรือกระทั่งกลับเข้ามาใหม่พบเห็นได้อยู่เสมอ

การทำความเข้าใจเนื้อแท้ของสงครามกลางเมืองซีเรีย ในบางห้วงเวลาแล้ว จึงอาจจำเป็นต้องก้าวข้าม ‘ชื่อที่แปะเอาไว้’ ของกลุ่ม หรือ ‘อุดมการณ์ที่ประกาศโฆษณาไว้’ ของกลุ่ม แล้วพิจารณาสภาพจริงของปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในเชิงยุทธศาสตร์ อันจะช่วยให้เห็นถึงเนื้อในของปัญหาได้ตรงไปตรงมาขึ้น

จากนัยสำคัญที่กล่าวมานี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่โกตาตะวันออกจะตกเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่อัสซาดจำเป็นต้องพิชิตให้ได้ เช่นเดียวกับอิดลิบ และการหาทางออกในกรณีพื้นที่ตอนเหนือ (Northern Syria) ในห้วงเวลาที่รัฐบาลสามารถปิดเกมที่ฮอมส์ (Homs) และอเล็ปโป (Aleppo) ไปได้แล้ว

การโจมตีทางอากาศรอบล่าสุดในเดือนนี้ น่าจะถูกคิดคำนวณในภาพดังกล่าว เพียงแต่ยกระดับความรุนแรง และโหดร้ายมากขึ้นมากกว่าการโจมตีที่ผ่านมา โดยไม่แยแสต่อต้นทุนใดใดที่จะต้องจ่าย

ทั้งแรงกดดันจากนานาชาติ หรือกระทั่งชีวิตของพลเรือนที่อาจไม่เกี่ยวข้อง และถูกห้ามเว้นจากการตกเป็นเป้าของการปะทะสู้รบตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ความสูญเสียของทั้งชีวิตผู้คน สภาพบ้านเมือง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธแค้น เกลียดชัง เศร้า และหมดหวังในจิตใจของผู้คนจำนวนมากอันตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง เป็นชุดของปัจจัยอันมีน้ำหนักมากพอจะคาดการณ์ได้ว่า แม้หากรัฐบาลของอัสซาดยึดพื้นที่กลับมาอยู่ใต้อำนาจไว้ได้ทั้งหมด แต่นั่นก็ด้วยเพียงกำลังทหาร ซึ่งต้องไม่ลืมบรรดาชาติภายนอกที่เข้ามาเสริมแรงกลุ่มติดอาวุธกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้แผลงฤทธิ์เดชขึ้นมาใหม่ได้ทุกเมื่อ ดังที่ทำมาตลอดหลายปีอันพังพินาศ

ขณะเดียวกันนั้น โจทย์ที่อาจจะสำคัญกว่ามิติการทหารดังกล่าว อันเป็นโจทย์ที่อาจหล่อเลี้ยงความรุนแรงให้ทำงานต่อไป ก็คือการสถาปนาความชอบธรรมของรัฐในการปกครอง และการวางรากฐานระเบียบทางการเมืองใหม่ที่คนในสังคมจะยึดถือเพื่ออยู่ร่วมกัน

Author

อาทิตย์ ทองอินทร์
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาการก่อการร้ายและการเมืองในตะวันออกกลาง รวมถึงมีความสนใจบทบาทนโยบายต่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลต่อการเมืองในโลกอิสลาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า