The Trump Factor: บทเรียนด้านการต่างประเทศแบบทรัมป์ๆ จากสหรัฐอเมริกาถึงไทย

ผ่านมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มีนาคม 2019 ที่ได้ทำให้รัฐบาลทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถเปลี่ยนสถานะจากรัฐบาลคณะรัฐประหารมาสู่การเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ‘ที่ชอบธรรม’ ตามการกดดัน และเรียกร้องจากนานาประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปในระยะเวลากว่า 5 ปี ไทยกลับมาเป็นที่ยอมรับในสายตาประชาคมโลกอีกครั้ง มีการเผยให้เห็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย และเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างสามารถเข้ามาอภิปรายภายในรัฐสภาตามกระบวนการได้มากขึ้น แต่แล้วปรากฏการณ์การวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ก็นำมาสู่การระดมตั้งคำถามจากประชาคมโลกต่อกระบวนการดังกล่าวนั้นอีกครั้ง ว่าจะสามารถเดินต่อไปได้ หรือถูกจำกัดเส้นทางเอาไว้ให้อยู่แค่จุดจุดนั้น

ถ้าหากจะว่ากันจากมิติของการต่างประเทศ หรือนโยบายต่างประเทศในฐานะปัจจัยภายนอกแล้ว มีประเด็นความเป็นไปได้ที่น่าสนใจอยู่ชุดหนึ่ง ที่พอจะนำมาเป็นเหตุผลใช้อธิบายสภาพการณ์ภายในไทยปัจจุบันนี้ได้ คือ The Trump Factor หรือผลกระทบทางอ้อมที่สืบเนื่องมาจากการปรากฏตัวของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จากพรรครีพับลิกัน คนปัจจุบัน ซึ่งได้รับการโจษขานมาจากเวทีการเมืองระหว่างประเทศแล้วว่าการมาของทรัมป์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดแค่สงครามการค้า แต่ยังนำมาซึ่งความแตกแยก กระบวนการพัฒนาและกรอบความร่วมมือชุดต่างๆ บนเวทีระหว่างประเทศ (ไม่ว่าจะ EU, NATO หรือแม้แต่ WTO เองก็ตาม) เกิดภาวะสะดุดชะงักงันขึ้นอีกด้วย

เมื่อหันกลับมามองยังไทย และความเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกาที่อาจส่งผลกระทบต่อไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นและเข้าใจได้มากขึ้นถึงรูปแบบทัศนคติ และแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ ซึ่งมีลักษณะที่เรียกกันในหมู่นักนโยบายต่างประเทศว่า ‘การทูตแบบยื่นหมูยื่นแมว’ (transactional diplomacy) โดยจะเป็นการเน้นหนักไปทางการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนซึ่งกันและกันระหว่างคู่ภาคีของการเจรจา การกดดันคู่เจรจาด้วยเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลได้ผลเสียต่อคู่เจรจา เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ระยะสั้นของชาติ (และตัวของทรัมป์เองในบางมิติ) ที่มองเห็น จับต้องได้ในระยะเวลารวดเร็ว โดยที่ทรัมป์จะไม่ให้ความสนใจถึงผลกระทบเชิงโครงสร้าง หรือระบบในระยะยาวเท่าใดนัก ขอแค่ผลที่ได้รับนั้นตัวเขามีความพึงพอใจ และสามารถนำไปอวดเป็นผลงานได้ก็เกินพอ

ในไทยนั้นหลังจากเสร็จศึกการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายในช่วงกลางปี 2019 ได้ไม่นาน ก็มีการปรากฏให้เห็นถึงข้อตกลงการค้าอาวุธสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยขึ้นตามมา ทั้งแผนการจัดซื้อรถหุ้มเกราะ Stryker จำนวนมากกว่า 60 คัน มูลค่ากว่า 170,000,000 ดอลลาร์ และเฮลิคอปเตอร์ BOEING AH-6i อีกเกือบ 10 ลำ มูลค่ากว่า 120,000,000 ดอลลาร์ ตีเป็นเงินไทยได้มูลค่าเกือบ 10,000,000,000 บาท โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและระดับบริหารของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ อย่าง ไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีประจำกระทรวง และนักการทูตภายในสังกัด ออกมาให้ความเห็นรับรอง ‘กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย’ หลังเลือกตั้งว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางที่ก้าวหน้ามากขึ้น (ซึ่งถือว่าค่อนข้างขัดกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และท่าทีของนักวิชาการต่างชาติที่มีข้อสังเกตต่อทั้งผลเลือกตั้ง และระบบการเมืองภายในไทยขณะนั้นมาก)

ประเด็นเรื่องความพยายามในการตัดสิทธิ Generalized System Preference (GSP) กับสินค้าไทยเกือบ 600 รายการ ภายหลังจากที่สหรัฐเล็งเห็นว่าการค้าขายกับไทยนั้นเริ่มทำให้ตนเองเสียเปรียบ จนนำมาสู่การประกาศใช้มาตรการทางด้านการค้าและภาษีศุลกากรสินค้า โดยรัฐบาลสหรัฐก็เป็นตัวบ่งชี้อีกชุดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติ และวิธีการคิดแบบ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่หากรู้สึกว่าฝ่ายตนเองเสียเปรียบ หรืออยู่ในจุดที่รู้สึกว่าไม่คุ้มค่าต่อราคาที่ตนเองต้องจ่ายไปเมื่อใด ก็พร้อมที่จะงัดเอามาตรการตอบโต้ (retaliatory action) ออกมาใช้โดยหวังผลให้สภาพการณ์เหล่านั้นยุติลงภายในระยะเวลาอันสั้น และมีดอกผลปรากฏให้เห็นอย่างรวดเร็วตามมาตรการที่ได้นำออกมาใช้ (เรื่องการตัดสิทธิ GSP นั้นแม้ว่าจะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เรื่องของความคาบเกี่ยวในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในปัญหาแรงงานไทย แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่ามาตรการกดดันชุดนี้มาจากเกมของทรัมป์)

จุดนี้ถ้ามองในภาพที่กว้างขึ้นจะสังเกตได้ชัดเจนว่า ไม่ได้มีแต่ประเทศไทยแห่งเดียวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการทูตแบบยื่นหมูยื่นแมวของทรัมป์ เพราะจากกรณีศึกษาเรื่องการเจรจาลับระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) ประธานาธิบดียูเครน ทรัมป์ได้พยายามติดต่อไหว้วานให้เซเลนสกี ดำเนินเรื่องอำนวยความสะดวกในการค้นหาขุดคุ้ยประเด็นอื้อฉาวเกี่ยวกับ โจ ไบเดน (Joe Biden) และ ฮันเตอร์ ไบเดน (Hunter Biden) มาให้แก่ทรัมป์ใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมืองในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในปลายปี 2020 นี้ โดยมีการใช้ประเด็นเรื่องเงินช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านความมั่นคงที่สหรัฐอเมริกามีแผนจะส่งมอบให้กับทางยูเครน (มูลค่ากว่า 400,000,000 ดอลลาร์) เป็นตัวประกันในการข่มขู่กดดันประธานาธิบดีเซเลนสกี

รวมไปถึงอีกกรณีคือ การที่ทรัมป์ข่มขู่รัฐบาลอังกฤษของ บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) เรื่องนโยบายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี 5G ที่ทางอังกฤษได้แสดงออกถึงท่าทีที่เปิดกว้างและต้อนรับต่อการเข้ามาของบริษัท Huawei ซึ่งถูกมองว่าเป็นศัตรูทางด้านความมั่นคงและงานด้านการข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา ทำให้ทรัมป์ได้เลือกที่จะนำเอาประเด็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-อังกฤษหลังถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) แล้วมาเป็นตัวประกันในการบีบให้อังกฤษถอยห่างออกมาจากการเข้าไปขยายกรอบความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลของจีนมากไปกว่าที่เป็นอยู่ โดยอ้างว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษอาจมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างกันในเรื่องทางกลาโหม และงานด้านการข่าวกรองได้

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นทำให้เห็นได้ว่าการเล่นเกมการทูตแบบทรัมป์ ในปัจจุบันนั้นกำลังทำให้มาตรฐานและวัตรปฏิบัติของประชาคมระหว่างประเทศเปลี่ยนรูปแบบไป ทุกๆ ครั้งที่ทรัมป์สั่งการใดๆ ก็ตามในเกมแบบยื่นหมูยื่นแมวนี้ แม้จะได้รับผลการตอบรับ หรือการแก้ไขที่รวดเร็ว และทันใจในระยะเวลาอันสั้น แต่ผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอนเลยก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางแนวคิด และกรอบภูมิทัศน์ภายในประเด็นด้านการต่างประเทศ และนโยบายต่างประเทศของประเทศหรือรัฐคู่เจรจาของสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่เคยมีทัศนะต่อสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นมหาอำนาจระดับโลก มีอำนาจในการกดดันประเทศหรือพันธมิตรทั่วโลกอย่างเด็ดขาดให้ปฏิบัติตามมาตรฐานและบรรทัดฐานของประชาคมระหว่างประเทศ ที่สหรัฐเป็นผู้ก่อตั้งอย่างจริงจัง ก็จะเปลี่ยนมามีมุมมองและทัศนะต่อสหรัฐในฐานะที่เป็นมหาอำนาจที่ไม่ได้น่ากลัว หรือน่าเกรงขาม เป็นผู้ก่อตั้งบรรทัดฐานระหว่างประเทศ (international rule-maker) อีกต่อไป

นัยหนึ่งที่รัฐหรือประเทศต่างๆ จะเกรงกลัวต่อสหรัฐอเมริกาในยุคของทรัมป์นั้น อาจจะเป็นเพียงแค่ความเกรง และหวาดระแวงต่อความไม่แน่นอน และความไม่ยึดมั่นในกฎกติกาของเขา แต่ภายใต้ความไม่แน่นอนและความแหกกฎเหล่านั้น มันก็ได้เปิดความเป็นไปได้ชุดใหม่ และสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่เหล่ารัฐที่มีขนาดและอำนาจเล็กกว่า นั่นก็คือ การค้นพบว่าการจะต่อรอง หรือ การเข้าหาทรัมป์นั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด หากนับจากประวัติการบริหารงานในทำเนียบขาวในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ของทรัมป์ โดยเฉพาะกับประเด็นเรื่องการทูตแบบยื่นหมูยื่นแมวนี้ รัฐที่เป็นเผด็จการ รัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ หรือแม้แต่รัฐที่มีแนวโน้มของการจะแตกแถว แหกกฎบรรทัดฐานระหว่างประเทศ จะสามารถลอยตัวเหนือสถานการณ์กันง่ายขึ้น

เพราะรัฐเหล่านี้ได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงแล้วว่าการจะเข้าหาหรือการจะทำให้ทรัมป์อ่อนข้อ หรือโอนอ่อนผ่อนปรนมาตรการกดดันชุดใดชุดหนึ่งลงนั้น แค่ยื่นมือไปรับข้อเสนอทางการค้า หรือหันไปเสนอผลประโยชน์บางชุดให้แก่ทรัมป์โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องแก้ไขที่ตัวปัญหาหลักโดยตรงก็ได้ อย่างกรณีที่ไทยถูกนักวิชาการและสื่อต่างประเทศรุมซัดทอดกันอย่างหนักเรื่องระบบการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2019 นั้นมีปัญหา ก็ไม่ได้กระทบอะไรกับความสัมพันธ์ทางทหารและการกลาโหมที่ไทยกับสหรัฐอเมริกากำลังพยายามฟื้นคืนมาแต่อย่างใด เพราะทางการไทยยอมตัดสินใจยื่นประเคนเงินให้รัฐบาลของทรัมป์ แล้วตกลงซื้ออาวุธจากสหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้หันไปกดดันไทยทางด้านอื่นแทน เช่น ด้านพาณิชย์ด้วยการตัดสิทธิ GSP กับทางไทย จากปัญหาด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการขาดดุลการค้ากับไทย)

ทรัมป์ได้ทำให้เห็นว่าในสภาวะของสงครามการค้าที่สหรัฐอเมริกากำลังรบกับทางจีน และวิธีคิดในการดำเนินนโยบายทางการทูตของตนเองนั้น มันเปิดช่องว่างอย่างง่ายดายให้แก่ประเทศเล็กประเทศน้อย และรัฐอื่นๆ ในประชาคมระหว่างประเทศนั้นสามารถหาเรื่องเบี่ยงประเด็น และอาศัยโอกาสนั้นๆ ในการแหกกฎกติกาตามสหรัฐอเมริกาอย่างเถรตรงได้ และยิ่งกระบวนการการตัดสินใจทางด้านนโยบายต่างประเทศภายในสหรัฐในปัจจุบันนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในโครงสร้างการบริหารจัดการแบบเดิม หรือแบบรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เนื่องจากทรัมป์ได้พยายามลดและจำกัดขั้นตอนของระบบบริหารราชการภายในทำเนียบขาวลง การตัดสินใจทางนโยบายชุดต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านการทูตและความมั่นคงจึงไม่จำเป็นต้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศ หรือแม้แต่สภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเคยเป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบายมาก่อน ดังจะเห็นได้จากกรณีการสั่งการโดยตรงจากประธานาธิบดีในการปลดนักการทูตภายในกระทรวงการต่างประเทศที่ทำงานได้ไม่ถูกใจ หรือเป็นปรปักษ์กับทรัมป์ เช่น มารี โยวาโนวิช (Marie Yovanovitch อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำยูเครน) ที่ทรัมป์สั่งการตรงจากทำเนียบขาวด้วยตัวเอง ขนาดที่ว่า ไมค์ ปอมเปโอ ในฐานะรัฐมนตรีประจำกระทรวงก็ยังไม่สามารถขัดคำสั่งได้ หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ การจับคู่ทำงานร่วมกันระหว่าง ทรัมป์ และ จอห์น โบลตัน (John Bolton) อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาโดยไม่ผ่านคณะกรรมาธิการชุดที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า กระบวนการการกำหนดนโยบาย และการตัดสินใจภายในสหรัฐอเมริกาปัจจุบันนั้นถูกขมวดรวมให้อยู่ที่ตัวทรัมป์ เป็นศูนย์กลางแต่เพียงผู้เดียวมาตลอด

ทรัมป์อาจจะสร้างผลเสียต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และบรรทัดฐานภายในประชาคมระหว่างประเทศจากการบริหารงานด้วยวิธีดังที่ได้อภิปรายไว้ข้างต้น แต่ทรัมป์นั้นก็ได้เปิดช่องว่างและโอกาสสำคัญให้แก่ผู้นำประเทศที่มีแนวทางและวิธีคิดคล้ายๆ กับตนไปในเวลาเดียวกัน รัฐหรือผู้นำประเทศอื่นๆ ที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม หรือฝ่ายขวาจะสามารถใช้ประโยชน์จากช่องว่างชุดนี้ในการหลีกเลี่ยง เบี่ยงประเด็นของบรรทัดฐานระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น เพราะการจะเข้าหาและรับมือกับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันนั้น มีความซับซ้อนน้อยลงมาก (โดยเฉพาะหากทรัมป์ยังได้รับเลือกตั้งให้กลับมาเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 ในปี 2021 ที่จะถึงนี้) ขอแค่มีข้อแลกเปลี่ยนมายื่นให้กับทรัมป์ ปัญหาที่กำลังปรากฏอยู่ก็พร้อมที่จะถูกซุกเอาไว้ใต้พรมในทันใด

เมื่อบวกกับข้อได้เปรียบด้านตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทยในปัจจุบัน ซึ่งสามารถใช้เป็นศูนย์กลางและหมุดหมายทางยุทธศาสตร์ให้แก่นโยบาย Free and Open Indo-Pacific (FOIP) ของทรัมป์ ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรับมือกับการขยายอิทธิพลของจีนจากกรณีการขยายตัวผ่านยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ที่ปัจจุบันนี้แทบจะยึดหัวเมืองในแถบรอบๆ ชายแดนประเทศจีนได้เกือบหมดแล้ว (ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ปากีสถาน) ไทยยังคงมีความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาอยู่เช่นเดิม และยังมีแต้มต่อในการสร้างข้อต่อรองกับสหรัฐอเมริกาได้อยู่ตลอดเวลาในอนาคต

อาจกล่าวได้ว่าสภาพการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองโลกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง รวมถึงวิธีการเดินเกมทางการทูตแบบทรัมป์ในปัจจุบันนั้น ยังคงเปิดโอกาสให้ไทย และรัฐบาลปัจจุบันสามารถพาตนเองให้ผ่านพ้นไปจากสภาพเงื่อนไขและการกดดันจากระเบียบ บรรทัดฐานของประชาคมระหว่างประเทศไปได้อย่างไม่ยากลำบากนัก เพราะแม้แต่ผู้นำหรือผู้สร้างกฎบรรทัดฐานเองก็ยังแหกกฎได้ เหตุใดรัฐเล็ก หรือมหาอำนาจขนาดกลาง และภูมิภาคจะไม่สามารถตีตัวออกห่างจากบรรทัดฐานดังกล่าวได้บ้าง ทรัมป์ได้สร้างเงื่อนไขที่แม้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาคมระหว่างประเทศในระยะยาว แต่จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อรัฐและรัฐบาลภายในประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกับเขา

ไทยในปัจจุบันนี้มีทั้งแต้มต่อในเรื่องการเอนเอียงไปหาจีน ทั้งการมีผู้นำรัฐบาลเป็นคนที่มีพื้นเพมาจากกองทัพ (เรียกกันในแวดวงนโยบายต่างประเทศว่า Strongman’s Rule) แล้วยังมีเงื่อนไขในเรื่องมาตรฐานการเจรจาทางการทูตแบบใหม่ที่ทรัมป์นำมาใช้อีก ทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่หลักประกันว่าไทยจะไม่ถูกกดดัน หรือถูกบีบคั้นจากสหรัฐอเมริกาอีก แต่อย่างน้อยสภาพเงื่อนไขและปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศเหล่านี้ ก็เพียงพอที่จะช่วยให้ไทยนำมาใช้เป็นกลไกพื้นฐาน ในการวางแผนรับมือกับนโยบายที่ไม่เป็นมิตรจากสหรัฐอเมริกาในอนาคตได้

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า