ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรยากาศของวงการหนังไทยอวลๆ ไปด้วยความกระเสือกกระสนที่จะอยู่รอด คนดูหนังสูญสิ้นศรัทธาที่จะควักเงินในกระเป๋า (ที่กระเสือกกระสนยิ่งกว่า) เพื่อจ่ายค่าตั๋วหนังที่สร้างโดยคนไทย
แน่นอนว่าคนในวงการเองก็ตระหนักรู้ในเรื่องนี้กันเป็นอย่างดี จึงเร่งทำการบ้านกันอย่างหนัก หวังไล่ตามตลาดให้ทัน มีเพียงค่ายหนังใหญ่ไม่กี่่ค่าย (หรือเเทบจะเป็นค่ายเดียวค่ายเดิมแล้วด้วยซ้ำ) ที่คนดูลงความเห็นกันว่าพอจะฝากผีฝากไข้ได้
แต่นานาจิตตัง ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ยุคสมัยเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน คนดูกลุ่มเดิมเติบโตขึ้นกว่าพล็อตหนังที่ค่ายเสาหลักทำ และเรื่องราวในรูปแบบเดิมไม่สามารถเติมเต็มคนเจเนอเรชันใหม่ได้อีกต่อไป
แม้คุณภาพในการผลิตจะผ่านการเคี่ยวกร่ำมาอย่างหนัก แต่ก็ไม่อาจตามทันรสนิยมของคนดูได้ กระทั่งในแง่ของบทภาพยนตร์หรือประเด็นที่ผู้ผลิตเลือกนำเสนอ รวมถึงกระบวนการผลิตที่ยังอิงอยู่กับการมุ่งเป้าไปของค่ายหนังเพื่อแตะเพดานกำไร
ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วว่า ภาพยนตร์ก็เป็นสินค้า เพราะว่ามันมีการลงทุน มีการขาย มีการเอากำไรกลับคืน แต่ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์เองก็เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง เป็นศิลปะแบบหนึ่ง และมีสเปกตรัมอันกว้างขวาง บางทีกระบวนการผลิตโดยใช้แกนว่าต้องทะลุยอดรายได้อาจไปบั่นทอนการจุติของสิ่งใหม่ที่รอการบ่มเกิดขึ้นมาก็เป็นได้
ผู้ชมสายวิจารณ์จึงหันไปตั้งความหวังกับหนังนอกกระแสจ้อยกระจิดที่คนทำหนังใช้ความทะยานอยากเป็นเเรงเคลื่อนในการสร้าง เรียงรายกันไปแตะ พิง อัง รางวัลกันอยู่บริเวณรอบนอกประเทศ หากแต่เมื่อหันหน้ามาชวนคุยกันเรื่องรายได้ก็นับว่าดิ่งลงเหวกันเลยทีเดียว เหตุเพราะกลุ่มคนดูเองถูกหนังฟอร์มยักษ์ที่มีรอบถี่ยิบอยู่ในโรงภาพยนตร์ ครอบงำรสนิยมเสียจนกระทั่งเบียดบังอย่างอื่นไป
แต่ท่ามกลางความเหี่ยวเฉาของการร่วงหล่นทางรายได้ ในโค้งสุดท้ายของปีนี้ ความสำเร็จของหนังไทยที่ไซส์ไม่ได้ใหญ่มาก เรียงแถวกันออกมากระหยิ่มยิ้มย่อง รับทั้งทรัพย์และคำวิจารณ์ในเชิงบวกกันหลายเรื่องติดต่อกัน จนเห็นเส้นกราฟพุ่งขึ้นเป็นแนวตั้ง
เริ่มตั้งแต่พระเอกของปีอย่างหนังเรื่อง ‘สัปเหร่อ’ (2023, ธิติ ศรีนวล) ที่เข้าฉายต้นเดือนตุลาคม ทำรายได้ถล่มทลายกว่า 600 ล้านบาท ตามมาติดๆ ในปลายเดือนเดียวกันกับหนังที่สร้างจากเรื่องสยองขวัญออนไลน์อย่าง ‘ธี่หยด’ (2023, คุ้ย ทวีวัฒน์) ก็ทำรายได้เปิดตัว 39 ล้านบาท ในวันเดียว ด้วยเวลาอันใกล้เคียงกันนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นก้อนมวลเดียวกันว่า หรือนี่จะเป็นช่วงขาขึ้นของวงการภาพยนตร์ไทย อะเกนแอนด์อะเกน
และล่าสุดกับความแรงต่อเนื่องของหนังขวัญใจทั้งเด็กช่างและไม่ช่าง อย่างเรื่อง ‘4 kings 2’ (2023, พุฒิพงศ์ นาคทอง) ที่มาแรงจนโกยเงิน 200 ล้าน ภายใน 2 สัปดาห์
เป็นเรื่องสามัญเหมือนการเข้าร้านอาหาร ที่เมื่อเห็นว่าร้านไหนมีคนรอคิวเยอะ คนจะยิ่งเยอะเพิ่มอีกเท่าทวีคูณ
ปรากฏการณ์ต่อเนื่องนี้สะกิดไหล่คนไทยและเทศให้หันกลับมาย้อนมองหนังไทยเล็กๆ กันอีกครั้ง อะเกนแอนด์อะเกน
แต่ก่อนที่จะมายิ้มรับทรัพย์กันเยี่ยงนี้ในปลายปี ย้อนกลับไปตอนออกตัวในช่วงต้นปี เรียกได้ว่าหนังไทยเจอวิบากกรรมกับปัญหาเรื้อรังเดิมๆ ที่สิงสู่วงการมาช้านาน ไม่ว่าจะพยายามแก้ไขกี่ครั้งก็เหมือนวนอยู่ในอ่าง
ภายใต้โลกทุนนิยม คนต้องได้ดูหนังดีย์?
คงจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเท่าไรนัก หากเย็นวันศุกร์หลังเลิกงาน คุณตั้งใจจะไปหาหนังอุณหภูมิห้องสักเรื่องดู แต่บังเอิญหนังเรื่องนั้นดันชนโครมเข้ากับหนังซูเปอร์ฮีโร่ร้อนฉ่า คุณอาจต้องคอตกกลับบ้าน หรือไม่ก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปดูหนังร้อนฉ่าแทน เมื่อไปที่โรงแล้วเจอว่าหนังฮีโร่กินรวบรอบหนังไปหมดแล้ว ส่วนรอบหนังของคุณตีบตันอยู่รอบดึกที่สุด ไม่ก็เช้าสุดๆ แน่ล่ะ ที่นี่มันโลกทุนนิยม รอบหนังมันก็อ้างอิงอยู่กับ ‘อุปสงค์-อุปทาน’ นั้นแหละ
และเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้เอง โรงหนังที่มารยาทเหมือนร้านสะดวกซื้อหยั่งกับแกะ ทำการแตะตัดขาหนังไทยเรื่อง ‘ขุนพันธ์ 3’ ที่กำลังมีกระเเสในช่วงเวลานั้น และเพิ่มรอบ ลดแลกแจกแถมให้กับหนัง ‘ทิดน้อย’ ที่ฉายมานานนม แต่ยอดรายได้ก็ยังแทบไม่ขยับ เหตุเพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สภาพการณ์ทุกอย่างเอื้อให้เกิดการผูกขาด จนชาวเน็ตแห่กันเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์กับการกระทำดังกล่าว และโรงหนังก็ไม่มีการเทคแอ็กชันใดๆ จนสมาคมผู้กำกับไทยส่งจดหมายเปิดผนึก เรื่อง การจัดโรงและรอบฉายภาพยนตร์ไทยที่ไม่เป็นธรรม เพื่อเรียกร้องให้หนังไทยทุกเรื่องมีพื้นที่ฉายอย่างสมศักดิ์ศรี เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในวิกฤตการณ์ครั้งนี้
ด้าน ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับหนังเรื่อง ขุนพันธ์ 3 ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า
“รู้สึกเป็นเกียรติไหมครับ รู้สึกชนะหรือเปล่า ภูมิใจใช่ไหม เล่าให้ญาติหรือคนที่รักฟังแล้วรู้สึกดีจริงไหม เกมนี้มันห่วยและสะเหล่อมาก ในฐานะคนทำหนัง ผมเสียใจและอายแทนพวกคุณจริงๆ เราเดินลงจากเวทีคนละความรู้สึกแน่ๆ ขอยกวงการนี้ให้พวกคุณไปเลยครับ เดินหน้าก็ยาก จะทำให้ถอยหลังทำไม อย่าอ้างเกมธุรกิจ #RIPหนังไทย”
เสื่อมเสียแบบใดย์
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน กองเซนเซอร์กับคนทำหนังก็ยังคงเป็นปรปักษ์ต่อกันมาเสมอ ไม่ว่าความคิดของผู้คนจะเดินก้าวไปข้างหน้ามากแค่ไหน แต่แนวคิดเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีของไทยยังคงยื้อยุด ฉุดกระฉากสิทธิเสรีภาพในการสร้างสรรค์และการชมภาพยนตร์ ให้ถูกแช่แข็งอยู่กับดุลยพินิจของคนเพียงไม่กี่คน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2007 ที่ ‘แสงศตวรรษ’ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ถูกกองเซนเซอร์พิจารณาให้ตัดฉากในหนังออก เพราะชี้ว่ามีฉากที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์ ซึ่งอภิชาติพงศ์ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้น และไม่ยอมอ่อนข้อให้หนังฉายในไทยด้วย หลายฝ่ายออกมาช่วยต่อต้านและเรียกร้องให้พิจารณากฎหมายเซนเซอร์ใหม่ โดยเปิดให้คนทั่วไปลงชื่อสนับสนุนด้วย
ผ่านไปกว่า 16 ปี อภิชาติพงศ์ได้พาภาพยนตร์ของเขาเองออกไปโลดเเล่นอยู่บนเวทีโลก ขนานกันกับที่ประเทศไทยในปี 2023 ยังคงมีฉากของ ‘หุ่นพยนต์’ ภาพยนตร์สยองขวัญของไทยในปี 2023 ที่เกือบไม่ได้ฉาย และได้รับเรตมา 2 รูปแบบ คือ 1) ฉ.20- ห้ามผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ดูเด็ดขาด และ 2) แบบที่เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ปลุกพยนต์’ และหลังยื่นเรื่องให้กองเซนเซอร์พิจารณาใหม่ ได้เรต น.18+ ซึ่งจะต้องตรวจบัตรประชาชนหน้าโรง (ย้ำว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 2023) โดยต้องเฉือน ท่อน เสี้ยว ที่คนทำก่อบ่มขึ้นมาและคนดูควรจะมีสิทธิ์ได้แตะสัมผัสปัญหาบางสิ่งในสังคมที่ตัวหนังมีจุดประสงค์ให้ผู้ชมตระหนัก และเข้าใจถึงการมีอยู่ของมัน ด้วยเหตุผลเดียวกันกับหนังของอภิชาติพงศ์ ในปี 2007 ว่า ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ และเกียรติภูมิของประเทศไทย’
แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า โลกได้เคลื่อนขยับไปมากโข ชาวโซเชียลมีเดียกำลังจับตาคุณอยู่ กระแสต่อต้านดุลยพินิจที่ลักลั่นก็ได้ปักหมุดว่า ฉันจะไม่ยอมเป็นเหยื่อของคุณอีกต่อไป
ไม่ตบไม่ตี ไม่ดีขึ้นเลย
ก่อนจะสิ้นสุดเดือนมีนาคมที่ร้อนระอุ ในเดือนเดียวกันกับที่เกิด 2 เรื่องด้านบน คนในวงการหนังและชาวเน็ตลุกขึ้นมาจระเข้ฟาดหางใส่ส่วนกลางหรือก็คือ ‘เวทีสุพรรณหงส์’ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นรางวัลแห่งชาติ ที่ออกกฎกติกามาเอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนค่ายหนังใหญ่ ไม่ยี่หระต่อคนทำหนังตัวเล็กตัวน้อย โดยการใช้เกณฑ์คัดเลือกหนังบนเงื่อนไขว่า ‘จะต้องเป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายอย่างน้อย 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช หรือต้องมีคนดูตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป’ ซึ่งพอสาวไปสาวมาก็พบว่า กติกาในการคัดเลือกที่เป็นชนวนเหตุของเรื่องนั้นเกิดขึ้นมาในสมัยที่ นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ (อดีต สส. 3 สมัย ใน 3 พรรค ทั้งชาติพัฒนา ไทยรักไทย และรวมใจไทยชาติพัฒนา) นั่งเป็นประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
โดยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติมีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการใช้กฏที่ว่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 แต่แล้วก็ถูกคัดค้านจนต้องยกเลิกไป และเหตุที่เรื่องกฎกติกานี้แดงขึ้นมา มาจากการที่ ศราวุธ แก้วน้ำเย็น ผู้กำกับศิลป์ ภาพยนตร์เรื่อง ‘เวลา’ (Anatomy of Time) ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
“…….หงส์มีหลักเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่งตั้งในปีนี้ว่า ภาพยนตร์ที่จะเข้าคัดเลือกต้องมีการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ให้ครบ 5 ภูมิภาคของประเทศไทย แต่ภาพยนตร์เรื่อง Anatomy of Time ไม่ได้ไปฉายให้ครบทุกภาคของประเทศ ก็เลยไม่ผ่านเกณฑ์การตัดสิน
“นี่หรอครับ เพียงแค่เราทำหนังโดยทุนต่ำ และไม่มีปัญญาหาเงินหรือไปขอโรงภาพยนตร์ยักษใหญ่ เข้าฉายให้ครบทุกภาคในประเทศบ้านเกิด แต่เราเข้าฉายไปทั่วโลกและคนในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเรา ก็ให้รางวัลมาหลายที่ ? ผิดด้วยหรอที่เราฉายไม่ครบทุกภาค ? แต่เราก็ฉายในสตรีมมิ่งอันดับต้นของโลก? ผิดด้วยหรอที่เราถูกโรงหนังขนาดใหญ่ของประเทศตัดรอบฉาย ?”
จากนั้นพลวัตแห่งการด่าและการแข็งข้อของคนในวงการ ก็ได้เคลื่อนตัวตอกอัดเงื่อนไขให้กลับมาอยู่ในร่องในรอยที่เป็นธรรมกับคนสร้างสรรค์งาน
‘ภาพยนตร์ไทยที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 60 นาที เข้าฉายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยเป็นการฉายในภาพยนตร์ หรือสถานที่อื่นใดที่มีการจัดฉายภาพยนตร์ในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย และมีระยะเวลาการฉายไม่น้อยกว่า 7 วัน’ คือเงื่อนไขใหม่ที่ชาวเราไปตบไปตีเพื่อได้มา
หรือหนังไทยกำลังจะกลับชาติมาเกิดใหม่
หลังจากที่หัวทิ่มหัวตำ หกคะเมนตีลังกากันมาตอนต้นปี ถึงคราที่วงการหนังไทยจะได้อมยิ้มนั่งมองเเสงรำไรจากปลายขอบฟ้ากันบ้าง เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่หนังค่ายกระจิริดอย่าง ‘สัปเหร่อ’ (2023, ธิติ ศรีนวล) ประสบความสำเร็จในแง่ของรายได้เป็นอย่างสูง ได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวก และยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่ได้รับผลตอบรับในเชิงบวกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตามกันมาเป็นคลื่นซัดเข้าสู่สนามของการถูกมองเห็น ทำให้บรรยากาศของวงการคึกคักขึ้นมากในรอบหลายปี อย่างน้อยที่สุดหนังไทยก็ได้ปลดล็อกตัวเองออกจากคำครหาว่า ‘หนังไทยมีแต่พลอตเดิมๆ ไม่หนังผีก็หนังตลก’
ที่สำคัญไปกว่านั้น คือการที่คนดูเกิดความมั่นใจในหนังไทย มีความภูมิใจนิดๆ ที่จะตีตั๋วเข้าไปดูหนัง ไม่ถูกตัดสัมพันธ์ก่อนที่จะได้คุยกันเสียอีก เป็นประกายเล็กๆ ขึ้นมาว่า คนดูค่อยๆ ย่องออกจากรสนิยมกระแสหลักที่ถูกครอบงำมานาน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้โผล่พรวดขึ้นมากลางวงอย่างบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่ถูกบรรจงสร้าง เก็บเล็กผสมน้อยของคนทำงานจนก่อเกิดเป็นภาพใหญ่ และมีหลายองค์ประกอบที่ค่อยๆ รวมร่างกันมาบรรจบเพื่อผลักให้เกิดความเคลื่อนไหวนี้
ประการแรก: การมาถึงของแพลตฟอร์มแบบใหม่แบบสับ ทำให้ระบบนิเวศหมุนเวียนมากขึ้น
ก่อนหน้านี้เราอยู่อย่างหวาดผวากันมานาน จากวงจรที่อำมหิตสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ อยู่กันอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ในสภาวะที่โรงหนังก็รัดเข็มขัด หนังจำนวนมากถูกกลืน จม หาย คนดูถูก shape ด้วยหนังที่มีอยู่ไม่กี่ค่าย พอลองเปิดใจก็เจอหนังดร็อป พอบ่อยๆ เข้าคนก็เริ่มเข็ด กระโดดกลับไปสู่ความคุ้นชิน คนทำก็ไม่กล้าไปหาสิ่งใหม่ เพราะไม่ชัวร์ หากหล่นลงมามันเจ็บหนัก จึงเฮโลกันไปหาอันที่เชื่อว่าจะขายได้ในตลาด ไม่มีใครกล้าแตกแถว เพราะเห็นตัวอย่างแล้วศพไม่ค่อยจะสวยสักเท่าไร หนังอาร์ตหนังกล่องก็อยู่ในซอกหลืบ ไกลห่างจากผู้ชมเหลือเกิน
แต่ทุกอย่างมีวาระของมัน ไอ้ที่เคยชัวร์ก็เริ่มไม่ค่อยจะชัวร์แล้ว หลายฝ่ายค่อยๆ ดิ้นออกจากจุดเดิม คนดูก็กระหายสิ่งใหม่ๆ คนทำก็เริ่มมีนิมิตหมายอื่นๆ ความเป็นไปได้ที่จะทำ ไม่ได้ถูกจองจำอยู่กับวิธีการเดิมๆ หรือการโปรโมทแบบเดิม อย่าง ‘จักรวาลไทบ้าน’ เองก็เริ่มจากการหยิบเอาความจริงดิบๆ ของความเป็นอีสานชนบทมานำเสนอ เล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา ในคราแรกผู้คนคงไม่ได้เห็นพ้องต้องกันในรสชาติแบบนี้บนจอภาพยนตร์ แต่เห็นที่บ้านเฮาแน่ๆ อาจใช้เวลาสักหน่อยในการหยอดภาพความดิบ (แต่ก็ละเมียดในการสร้างขึ้นเรื่อยๆ) ให้คนคุ้นชิน
ดังนั้นจึงมาสุกงอมกันตรงนี้พอดี ตรงที่คนทำพัฒนาตัวเองขึ้นมา และคนดูเคยชินกับลักษณะหนังที่หลากหลายมากขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกัน การมาถึงของสื่อใหม่ก็ช่วยขับเน้นให้คนทำงานกล้าที่จะแตกต่างหลากหลายมากขึ้น เพราะไม่ได้ถูกจองจำอยู่ที่รายได้จากการฉายโรงภาพยนตร์
ไม่แน่ใจว่าจริงเท็จแค่ไหน ที่การมาถึงของ ‘ออริจินัลเน็ตฟลิกซ์’ เร้าความกล้าให้คนทำงานมุ่งสู่ความใหม่มากขึ้น อาจเพราะหากหล่นลงมา ศพอาจจะดูดีกว่าเดิม เราจึงได้เห็นซีรีส์หนังไทยที่พล็อตแปลกใหม่ โลดแล่นอยู่บนจอสตรีมมิง จะดีจะบ้งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็ได้รสชาติใหม่ๆ และคงจะเป็นเรื่องสามัญที่เมื่อใครคนใดคนหนึ่งก้าวขาออกจากแถว คนอื่นๆ จะเริ่มก้าวออกตามมา รสชาติใหม่ๆ ของคนที่ทำหนังสตรีมมิ่งคงจะเร้าให้คนทำหนังโรงอยากปรุงรสเถิดเทิงตามกันมาไม่มากก็น้อย
การเห็นหนัง GDH ไม่ว่าจะเป็น ‘เธอกับฉันกับฉัน’ (2023, วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์; แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์) ‘เพื่อนไม่สนิท’ (2023, อัตตา เหมวดี) เงียบเหงายิ่งกว่า ‘ธี่หยด’ (2023, คุ้ย ทวีวัฒน์) และ ‘4 KINGS 2’ (2023, พุฒิพงศ์ นาคทอง) อาจเป็นสัญญาณว่าระบบนิเวศหนังไทยกำลังหมุนเวียน GDH อาจต้องทำการบ้านหนักขึ้น เพราะคนดูกำลังไปต่อ และการโปรโมทหนังไม่ได้อาศัยอยู่บนจอสาธารณะอีกต่อไป แต่ไปช่วงชิงพื้นที่บน Tiktok, Facebook, Instagram, X (Twitter) etc. บนจอเล็กจิ๋วส่วนตัว
ประการที่สอง: การล่มสลายของความเงียบงัน
อีกหนึ่งหมุดหมายที่น่าปักไว้ของวงการหนังไทย ที่ไม่ได้เริ่มขึ้นในช่วงปีนี้ แต่มีโมเมนตัมต่อเนื่องมาสักพักใหญ่แล้ว คือการที่คนทำหนังมีน้ำเสียงเป็นของตัวเอง และไม่เซนเซอร์ประเด็นที่เคยเงียบงัน ออกมาเรียงตัวอย่างสวยงามในปีนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ‘Red Life’ (2023, เอกลักญ กรรณศรณ์) ที่ว่าด้วยเรื่องของคนชายขอบที่อาศัยอยู่ในย่านวงเวียน 24 ถือเป็นความกล้าฉีกกรอบออกไปเล่าในหัวข้อที่ยังไม่ค่อยถูกเล่าถึงเท่าไรนักสำหรับหนังกระเเสหลัก และไม่ประนีประนอมที่จะพาคนดูไปแตะสัมผัสความกักขฬะของเมือง
และหนังบนสตรีมมิ่งที่เลือกเส้นทางที่ขยายฐานคนดูออกไปจากการจองจำอยู่ในโรงภาพยนตร์อย่าง ‘Doi Boy’ (2023, นนทวัฒน์ นำเบญจพล) ที่พูดถึงประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองที่มีผู้ถูกบังคับให้สูญหายอย่างตรงไปตรงมา ‘ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง’ (2023, ปฏิภาณ บุณฑริก) ที่ไปแตะเรื่องของการถูกกดทับของผู้หญิงในศาสนามุสลิม รวมไปถึงการสื่อสารถึงโครงการ ‘เขื่อนหินกั้นคลื่น’ ที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึง ซึ่งเป็นงานต่อเนื่องตั้งแต่เขาทำสารคดีเรื่อง ‘น้ำตานางเงือก’ (2012, ปฏิภาณ บุณฑริก) ที่ได้มีการสัมภาษณ์ พีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา แต่ต่อมาพีระก็เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร โดยชนวนสังหารนั้นคาดว่ามาจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องการทำโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าข้ามทะเลสาบสงขลาระหว่างแหลมสนอ่อน
และ ‘อานนท์เป็นนักเรียนตัวอย่าง’ (2023, สรยศ ประภาพันธ์) เป็นหนังที่เฝ้าสังเกตการณ์ถึงชัยชนะและความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของนักเรียนหัวกะทิผู้เป็นตัวละครนำ ผู้กำกับเลือกแสดงจุดยืนวิพากษ์ลักษณะเผด็จการในสังคมไทย และได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริงของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’
หนังทั้ง 4 เรื่อง มีจุดร่วมที่สว่างไสว คือการที่คนทำได้หยิบยกเอาเรื่องที่คนไม่กล้าพูด มาตีแผ่อย่างเถรตรง
ประการที่สาม: หรือ ‘สัปเหร่อ’ คือฝันไป
เราอาจจะโห่ร้องได้อย่างไม่เต็มปากนัก หลังจากคลื่นความสำเร็จอันโหมกระหน่ำของหนังไทยหลายเรื่องก่อนหน้า เมื่อตื่นมาเจอว่าหนังเรื่อง ‘อานนท์เป็นนักเรียนตัวอย่าง’ (2023, สรยศ ประภาพันธ์) หนังที่มีที่ทางอยู่บนเวทีนานาชาติ ที่ใช้เสียงหัวเราะในการจิกกัดอำนาจและวิพากษ์สังคมการเมืองไทย แต่ก็มิได้นำพาเมื่อรายได้ของหนังกลับสวนทางกับคำวิจารณ์ในเชิงบวกโดยสิ้นเชิง การตัดรอบหนังก็แสนหฤโหด แน่นอนว่าปัญหาเรื้อรังเดิมๆ ก็ยังคงจะมีอยู่ ต้องค่อยๆ เรียกร้องให้แก้ปัญหากันไปแต่สิ่งสำคัญที่เราได้คืนกลับมาคือ ความหลากหลายของฌอง (genre) หนัง ทำให้หวนนึกถึงยุคทองของหนังไทยช่วงปี 2540 ที่มีน้ำเสียงและรสชาติที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่คนดู เพียงแต่ขาดความต่อเนื่องของคลื่นลูกใหม่ๆ ทั้งที่จริงๆ คนที่ทำหนังดีๆ มีเยอะมาก (วัดได้จากเทศกาลหนังนักศึกษา) เพียงแต่ไม่มีพื้นที่รองรับเพียงพออย่างถูกที่ถูกทาง ดังนั้นจึงคาดเดาได้ยากว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ก็ถือเป็นความหวังให้กับปีถัดๆ ไปได้อยู่ไม่มากก็น้อย
ที่มา:
- ดราม่าลดโรง ลดรอบ ขุนพันธ์ 3 เบื้องลึกขัดแย้ง ที่ยาก Happy Ending?
- สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติยอมถอย หลังคนวงการภาพยนตร์ร่วม #แบนสุพรรณหงส์
- ชวนคุยหนังไทย “Solids by the Seashore” ความสัมพันธ์ คลื่นทะเล และการทลายเขื่อนหินในใจ