อ่านการเลือกตั้งผ่านหนังไทย ‘ผู้แทนนอกสภา’ (2526) เลือกคนตายดีกว่าให้คนชั่วเข้าสภา

การเมืองเรื่องหนังไทย

การเมืองในหนังไทยมีสถานะเป็นของแสลงมาหลายปีแล้วครับ ในแง่หนึ่งคงเพราะ ‘ความกลัว’ ที่ไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะผ่านเซ็นเซอร์หรือเปล่า เพราะลำพังทุกวันนี้ก็มีปัญหากับกองเซ็นเซอร์ (ที่ทำงานซ้อนทับกับระบบเรทติ้งอีกทีหนึ่ง) กันอยู่ทุกปีจนคนทำเองเบื่อหน่าย อีกแง่หนึ่งคือ “พี่ไม่สนใจการเมืองแล้ว” เพราะพูดถึงการเมืองทีไร ก็มีความรู้สึกว่าเป็น ‘ของหนัก’ ที่ไม่เหมาะจะทำให้บันเทิงได้

วิธีคิดข้างต้นนี้ตรงข้ามกับเมืองนอกครับ ไม่เฉพาะแค่ในอเมริกาและยุโรปเท่านั้น แต่ญี่ปุ่นและเกาหลีเองก็ทำหนังรวมทั้งซีรีส์ที่มีประเด็นทางการเมืองเข้มข้นออกมาต่อเนื่อง แถมยังบันเทิงซะด้วย เราถึงมีโอกาสได้ดูซีรีส์การเมืองเข้มข้นอย่าง House of Cards, Designate Survivor ไปจนถึง Stranger และ Kingdom ที่แม้เป็นซีรีส์ผีแต่กลับเดินเรื่องด้วยความขัดแย้งทางการเมืองในราชสำนักอันเข้มข้น

บ้านเรานั้นถ้าจะนับหนังการเมืองจริงๆ จังๆ ก็คงต้องย้อนกลับไปกว่า 30-40 ปีที่แล้ว ในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คนทำหนังหลายคนลุกมาทำหนังการเมืองเพื่อเฉลิมฉลองเสรีภาพทางความคิด วิพากษ์ตัวระบบและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างถึงอกถึงใจคนดู ซ้ำยังบันเทิงกลายเป็นหนังที่ได้ทั้งเงินและกล่องด้วย อาทิ เขาชื่อกานต์, ตลาดพรหมจารีย์, เทพธิดาโรงแรม ฯลฯ

แม้ในช่วงหลังที่เกิดกระแส ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คนทำหนังก็ยังใช้หนังเล่า ‘ความรู้สึกทางการเมือง’ ของตัวเองออกมาผ่านหนังอย่าง ทองพูน โคกโพธิ์ ราษฎรเต็มขั้น, ชีวิตบัดซบ, เมืองในหมอก, สัตว์มนุษย์, ครูบ้านนอก ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีเนื้อหาหนัก เข้มข้นถึงเลือดถึงเนื้อ และพูดถึงการนำเสนอแนวคิดทางการเมืองสุดโต่ง โดยเฉพาะแนวทางการเมืองซ้ายจัด ถกกันถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมระดับรากหญ้า หันไปให้ความสำคัญถึงปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น

ทว่าหนังที่ถูกจัดว่าเป็นหนังการเมืองแท้ๆ ของยุคนั้นมีอยู่ไม่มาก อาทิ ผู้แทนมาแล้ว, สงครามปาก แต่หนังที่ถือเป็นหมุดหมายของหนังการเมืองไทยจริงๆ เห็นจะเป็นเรื่อง ผู้แทนนอกสภา

ผู้แทนนอกสภา

ผู้แทนนอกสภา (2526)

ผู้แทนนอกสภา สร้างโดย สุรสีห์ ผาธรรม ผู้กำกับที่เพิ่งโด่งดังจากผลงานเรื่อง ครูบ้านนอก ซึ่งทำเงินถล่มทลายและเปิดมิติใหม่ของการทำหนังไทยที่ชูประเด็นมากกว่าดาราดัง จนนำมาสู่โอกาสในการสร้างผู้แทนนอกสภาขึ้น ที่ยังเป็นหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่ได้รับการสนับสนุนเต็มตัวจากพรรคการเมือง ซึ่งก็คือ พรรคกิจสังคม ร่วมก่อตั้งโดย คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ และ บุญชู โรจนสเถียร ที่ต้องการทำหนังเพื่อโฆษณาพรรค

“คุณบุญชู (โรจนสเถียร) บอกผมว่า อยากให้ทำหนังโฆษณาสั้นๆ ไม่เกินสิบนาที ทางคณะกรรมการพรรคตัดสินใจจะทำหนังโฆษณาพรรค และกำลังคัดเลือกผู้กำกับ ซึ่งผู้กำกับที่เก่งๆ ก็มีหลายคน แต่คนที่จะสามารถทำให้เข้ากับนโยบายพรรคที่ว่า ‘เงินผัน ประกันราคาพืชผล คนจนรักษาฟรี’ ซึ่งเป็นชนบทๆ หน่อย ต้องเป็นคุณสุรสีห์

“โอ้ รู้สึกเป็นเกียรตินะ จริงๆ ตอนนั้นก็ไม่อยากทำ เพราะความคิดของเราในตอนนั้นปฏิเสธแนวทางกับรัฐสภา เพราะคิดว่ารัฐสภาแก้ปัญหาของชาติไม่ได้ แต่ว่ามันเป็นเกียรติยศของคนทำหนังที่ได้ทำงานกับพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เป็นหัวหน้าพรรค

“ท่านก็เอานโยบายมาให้อ่าน เราก็อ่าน ก็ศึกษา พอวันนึงคิดตกก็เลยไปหาท่าน บอกว่าท่านครับ ไหนๆ จะทำทั้งที ผมว่าถ้าทำเป็นหนังโฆษณาสั้นๆ มันก็ได้แค่นั้น จะให้มันซึมซับถึงหัวจิตหัวใจคนดูคงไม่ได้ แต่ถ้าหนังยาวนะท่าน ถ้า ‘ถึง’ มันก็เปลี่ยนทัศนคติคนได้ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์อะไรหรอก แต่ก็เชื่อว่าหนังเปลี่ยนทัศนคติคนได้ นวนิยายเปลี่ยนทัศนคติคนได้” (สุรสีห์ ผาธรรม, สัมภาษณ์ 2552)

ผู้แทนนอกสภา เล่าเรื่องของ บุญไชย คงมั่น (สรพงษ์ ชาตรี) ที่ลงสมัครเป็นผู้แทนในอำเภอสมมุติชื่อ สนธยาธานี ทางจังหวัดภาคอีสาน โดยไม่มีทุนรอนอะไรนัก นอกจากรถกระบะหาเสียงเก่าๆ หนึ่งคัน และความจริงใจพร้อมช่วยเหลือชาวบ้านด้วยตัวเอง บุญไชยค่อยๆ ซื้อใจชาวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเขาก็ต้องเผชิญความท้าทายจากผู้แทนหน้าเก่า ที่มีทั้งอำนาจบารมีและกำลังทรัพย์ในการซื้อเสียง

ผู้แทนนอกสภา

หนังแทบจะตามติดชีวิตของบุญไชยในการลงพื้นที่หาเสียง รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยให้แก่ชาวบ้าน หนังจึงมีทั้งฉากปราศรัยเล็กๆ ฉากฉายหนังกลางแปลงหาเสียง ตามธรรมเนียมสมัยก่อนที่เวลาผู้แทนหาเสียงตามต่างอำเภอ มักจะจัดจ้างหน่วยหนังกลางแปลงไปฉายเพื่อดึงชาวบ้านมาร่วมกันเยอะๆ พอฉายไปครึ่งเรื่องก็หยุด เพื่อให้ผู้สมัครได้ขึ้นปราศรัยหาเสียงจากชาวบ้าน

นอกจากนั้นยังให้เห็น ‘กลโกง’ ทางการเลือกตั้งอย่าง การแจก ‘ไม้ซิ่ว’ ให้ชาวบ้าน ไม้เล็กๆ เพื่อนำเข้าคูหาด้วย และบอกให้ชาวบ้านเทียบไม้ซิ่วเข้ากับบัตร ถ้าตรงกับเบอร์ไหนก็ให้กาเข้าเบอร์นั้น เพื่อจะได้กาเบอร์ตนเยอะๆ หรือการฝ่ายตรงข้ามจ้องเล่นงานบุญไชยด้วยวิธีการต่างๆ นานา ตั้งแต่ ทำเครื่องเสียงพัง ส่งคนไปป่วนระหว่างปราศรัย หรือแม้กระทั่งส่งนักเลงไปคุกคามถึงบ้านบุญไชยในยามวิกาล

‘การเลือกตั้งสกปรก’ ในหนังมาถึงขีดสุดเมื่อคะแนนนิยมของบุญไชยดูท่าจะแซงหน้าผู้แทนหน้าเก่า จนถึงวันปราศรัยใหญ่ในเมือง บุญไชยขึ้นเวทีพูดอย่างกล้าหาญว่าจะต้องรื้อระบบราชการ ปราบคอร์รัปชัน ท่ามกลางผู้ฟังนับพัน แต่มีเพียงคนดูที่ได้เห็นว่าบนหลังคาตึกสูงตรงข้ามเวทีหาเสียงนั้น มีมือปืนคอยจ้องจะสังหารผู้แทนหน้าใหม่คนนี้อยู่

แต่ดวงของบุญไชยยังไม่ถึงฆาต ทว่าหนังก็ไม่ปล่อยให้คนดูวางใจได้นาน คืนสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งหรือที่เรียกกันว่าคืนหมาหอน บุญไชยขับรถกลับบ้านไปตามทุ่งนาตามลำพัง สุดท้ายกลับถูกมือปืนยิงเสียชีวิตในคูนานั้นเอง

ข่าวการตายของบุญไชย ผู้แทนขวัญใจชาวบ้านสะพือพัดไปทั่วหมู่บ้าน ผู้คนต่างแห่แหนหลั่งไหลมาเลือกตั้งกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน ผู้แทนหน้าเก่ายิ้มปริ่มเพราะคิดว่าเมื่อขจัดบุญไชยไปแล้ว อย่างไรตนก็ได้เป็นผู้แทนอีกสมัยตามแผน

ทว่าผู้แทนที่ชาวบ้านแห่แหนไปเลือกกันนั้น กลับเป็นบุญไชย ‘ผู้แทนที่ตายแล้ว’  มากกว่าจะเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ คะแนนคนตายชนะคนเป็นถล่มทลาย เป็นการลุกฮือขึ้นตามแบบประชาธิปไตยที่แท้

น่าสนใจว่าวิธีคิดเรื่อง ‘ผู้แทนตายแล้ว’ นี้มีความละม้ายคล้ายแนวคิด ‘ตายสิบเกิดแสน’ ซึ่งเป็นแนวคิดฝ่ายซ้ายที่ชูเพื่อปลุกให้ผู้คนลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงสังคมในช่วงพีคทางการเมืองไทยราวปี 2518-2519 และยังเป็นแนวคิดเดียวกันกับหนังเรื่อง ครูบ้านนอก เมื่อจุดจบของพระเอก ผู้เป็นตัวแทนคนน้ำดีที่ต้องมาตายลงเพราะระบบและคนชั่ว ชาวบ้านก็ใช้ ‘เสียง’ ของตนตอบโต้อำนาจมืดแทน

ในครูบ้านนอกคือการเดินขบวนประท้วงขับไล่พวกทำไม้เถื่อนด้วยตัวเอง ขณะที่ในผู้แทนนอกสภา ชาวบ้านเลือกจะโหวตให้คนตายมากกว่าคนเป็น ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า ‘ผู้แทนนอกสภา’ นำเสนอแนวคิดนี้ได้ทรงพลังกว่า ทั้งอธิบายพลังของการโหวต 1 คน 1 เสียงเท่ากัน ตามแนวทางประชาธิปไตยได้อย่างลงตัว

น่าสนใจตรงที่ ‘ผู้แทนนอกสภา’ เลือกฉายในวันที่ 9 เมษายน 2526 ก่อนหน้าการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศในวันที่ 18 เมษายน 2526 และผลของการเลือกตั้งก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างที่คนพูดกันว่า “ชีวิตจริงยิ่งกว่าหนัง” เห็นจะเป็นจริงก็คราวนั้น

พรรคชาติไทย ที่มี พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่หนึ่ง โดยได้ที่นั่งไปทั้งสิ้น 110 ที่นั่ง รองลงไปคือ พรรคกิจสังคม ที่มี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคได้ 99 ที่นั่ง และ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี นายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค ได้ 56 ที่นั่ง ไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาจากทั้งหมด 324 เสียง

กลับกลายเป็นว่า พรรคกิจสังคม, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชากรไทย ตกลงกันที่จะสนับสนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ขณะที่ พรรคชาติไทย รวมกับพรรคการเมืองอื่นๆ เป็นฝ่ายค้าน

ผู้แทนนอกสภา

#เลือก…ดีกว่าเลือกมึง

ตัดภาพมาปัจจุบัน บรรยากาศการเลือกตั้งเริ่มเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย วันเลือกตั้งล่วงหน้าก็คึกคักกันทุกเขต มีความตื่นตัวทั่วทุกหัวระแหง และเฝ้ารอการเลือกตั้งที่ว่างเว้นไปยาวนานถึง 8 ปี (สำหรับการเลือกตั้งปี 2557 ถูกตัดสินให้เป็น ‘การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ’)

ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่ผู้เขียนได้ดูใน ผู้แทนนอกสภา จะกลับมาเห็นเป็นจริงเอาในยุคนี้

นั่นคือการติดแฮชแท็ก #เลือกหมาดีกว่าเลือกลุง และ #จับปากกาฆ่าเผด็จการ เต็มไปหมดทั่วโซเชียลทางเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นแฮชแท็กที่แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน

ท่ามกลางการเปิดเวทีดีเบตอย่างดุเดือดตลอดรอบสองเดือนที่ผ่านมา เห็นทั้งท่าทีและเป้าหมายชัดเจนของแต่ละฝ่าย ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ด้วยข้อมูลที่แบออกตรงหน้า ทุกคำโฆษณาทุกนโยบายชวนเชื่อ ล้วนถูกตรวจสอบโดยประชาชนแท้ๆ ผ่านทางเพจและ account ส่วนตัว มีการแพร่หลายไปในโลกโซเชียล โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับสื่อหลักแต่อย่างใด

บรรยากาศเช่นนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงพลังของการอยากรู้ความจริง พลังของความต้องการการเปลี่ยนแปลง และพลังของความต้องการเลือกตั้ง ที่ประชาชนอยากมีสิทธิตัดสินอนาคตประเทศด้วยมือตัวเอง

1 สิทธิ 1 เสียง ในมือ คือหนทางที่ประชาชนต้องการ คือการต่อสู้ภายใต้กรอบและกติกาของประชาธิปไตย แม้เราต่างรู้ดีว่าบนเวทีนี้ มีกติกา ‘ตุกติก’ มากมายรอน็อคผู้ท้าชิงอยู่

24 มีนาคมนี้คงได้รู้ว่า คนทั้งประเทศจะได้ดู ‘หนังเรื่องใหม่’ หรืออยากทนดู ‘หนังม้วนเดิม’ กันอีกรอบ

ภาพยนตร์เรื่อง ผู้แทนนอกสภา เพิ่งจัดฉายไปในโปรแกรม ‘ภาพยนตร์เลือกตั้ง 2562’ ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า