พื้นที่กักกันเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด เป็นพื้นที่เดียวกันที่ผู้ใหญ่ใช้อำนาจนิยมกดปราบ สร้างวงล้อแห่งความรุนแรงให้หมุนไปเรื่อยๆ แต่ ‘ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก’ กลับไปองค์กรที่ลุกขึ้นมาป่าวประกาศยืนยันการทลายระบบอำนาจนิยม โอบรับเยาวชนผู้ที่กระทำความผิด ด้วยความเชื่อที่หนักแน่นว่า ‘คนเ-ี้ย ไม่ได้ born to be’
วงเสวนา ‘เมื่อคุก (เด็ก) คือบ้านแห่งโอกาสของผู้ทำผิดกฎหมาย ใครได้ ใครเสีย’ ส่วนหนึ่งของเวที 20 ปี ‘ฝ่าอำนาจนิยม สู่อำนาจร่วม’ บ้านกาญจนาภิเษก 1 องค์กร 2 วัฒนธรรม มีการพูดถึงกันตั้งแต่เริ่มต้นการสนทนาว่า ทุกคนคงรู้กันอยู่ในใจแล้วว่าการฝ่าอำนาจนิยมและใช้อำนาจร่วม ใครจะเป็นคนได้ และใครที่เป็นคนเสีย แต่ท้ายที่สุดยังคงต้องมีการตั้งวงพูดคุยกัน เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะที่มีวิสัยทัศน์มากพอที่จะเปลี่ยนคุกเด็กให้กลายเป็นบ้านแห่งโอกาสให้ได้ทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่บ้านกาญจนาฯ เพียงเท่านั้น
ร่วมพูดคุยโดย สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) นักเขียนและสื่อมวลชนจากรายการ ‘พื้นที่ชีวิต’ ธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิชนะใจ และ ทิชา ณ นคร (ป้ามล) ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาฯ ผู้ขับเคลื่อนด้วยพลัง ‘จงดื้อรั้นให้นานพอ’ ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เสียงคัดค้านดังเซ็งแซ่ เหตุใดต้องโอบรับ ‘ไอ้เด็กพวกนั้น’
ในฐานะคนอยู่เบื้องหลังการก่อกำเนิดบ้านกาญจนาฯ ธวัชชัยเปิดประเด็นด้วยการเล่าเท้าความถึงความตั้งใจที่จะสร้างบ้านกาญจนาฯ ของคนเป็นแม่อย่าง คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร แต่งบประมาณมีอยู่ไม่เพียงพอ ตัวเองที่ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน กระทรวงยุติธรรม จึงได้นำเรื่องนี้หารือกับ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (รองปลัดกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น) กระทั่งสมชายได้เป็นปลัดกระทรวง ก็ได้รับไปเสนอกับรัฐบาลต่อ จึงได้เริ่มทำบ้านกาญจนาฯ และดึงตัวป้ามลเข้ามาช่วย
“ตอนเชิญป้ามลมาร่วมทำงานด้วยกันตอนแรกๆ ป้ามลปลดทุกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์เชิงอำนาจ จนเจ้าหน้าที่ลงชื่อกันถอดถอนป้ามลออกจากตำแหน่ง ซึ่งต้องขอโทษจริงๆ ที่เมื่อพอผมนำเรียนกับทางกรมแล้วก็ไม่ได้มีผลให้ป้ามลต้องออก ผมก็เลยฉีกทิ้งไปทั้งหมด และป้ามลพูดกับผมว่าที่นี่ต้องเป็นที่พึ่งพิงให้กับเด็กที่ก้าวพลาด”
หลักการอย่างหนึ่งที่ต้องยึดไว้ให้มั่นคือ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สำคัญสูงสุด’ และจะไม่ใช้ความรุนแรงในทุกมิติ
ความรู้สึกในฐานะคนที่เข้าไปสัมผัสบ้านกาญจนาฯ
สราวุธ เริ่มต้นจากการอธิบายมุมมองก่อนหน้าที่จะเข้าไปสัมผัสทัศนะของบ้านกาญจนาฯ ได้เปรียบเทียบว่าตัวเองเสมือนเป็นตัวแทนสายตาคนกรุงผู้ไม่เข้าใจความเหลื่อมล้ำว่า เด็กที่ติดคุกคือผลผลิตจากสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำ คิดเพียงว่าเด็กติดคุกก็คือคนไม่ดี
คำพูดจากปากป้ามลที่บอกกับสราวุธเมื่อก้าวเข้าไปทำรายการสัมภาษณ์กับเด็กในบ้านกาญจนาฯ ที่ว่า “สังคมนี้มันผลิตผู้แพ้” ฉายภาพให้เห็นว่าเป็นเรื่องของระบบ เป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคมที่กำหนดสภาพแวดล้อมให้คนคนหนึ่งจำเป็นต้องเอาตัวรอด และสภาพแวดล้อมแบบนั้นก็ย่อมมีโอกาสที่คนจะก้าวพลาดไป
เมื่อเริ่มพินิจพิเคราะห์ได้ว่าสิ่งที่เคยรับรู้มันไม่ใช่ทั้งหมด ทำให้เปลี่ยนแปลงการรับรู้ของตัวเองใหม่ว่า แท้จริงแล้วปัญหาคือการอยู่ภายใต้สังคมที่อุดมไปด้วยอำนาจนิยมที่อำนาจนั้นกระทำกับคนทุกคน
การเดินทาง 20 ปีบ้านกาญจนาฯ ที่คนคลั่งอำนาจนิยมร้อนรน
เมื่อสถานที่กักขังอิสรภาพเยาวชนที่ควรจะเป็นพื้นที่ใช้สอยอำนาจอย่างเต็มที่ (ตามกรอบวิธีคิดของเหล่าอำนาจนิยม) การมองคนเท่ากัน ให้คุณค่ากับศักดิ์ความเป็นมนุษย์ และสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ย่อมส่งผลดีต่อทั้งตัวเด็ก และทัศนะต่อคนที่เคยกระทำความผิด
แต่หากถามว่าใครกันที่เสียประโยชน์ วงเสวนานี้ตอบอย่างตรงกันว่า คนที่จะเสียย่อมเป็นคนที่คลั่งอำนาจนิยมแน่นอน ป้ามลได้ขยายความเพิ่มเติมโดยเล่าถึงกรณีที่มีเด็กจากสถานพินิจฯ โดนเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย เมื่อทราบเรื่องป้ามลได้เชิญพ่อแม่ของเด็กเข้ามาหารือ และท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่คนนั้นได้เขียนใบลาออกไป
แต่ต่อมาเพื่อนๆ เจ้าหน้าที่สายฮาร์ดคอร์กลับเดินดาหน้าเข้ามาพูดกับตัวเองว่าจะต้องรับผิดชอบที่ทำให้เพื่อนของเขาต้องออกจากงานไป ต้องไปตามเขากลับมา เพราะการกระทำเช่นนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่คนอื่นสูญเสียอำนาจปกครอง และ ‘เด็กจะเหลิงได้ใจ’
“ป้าก็ไม่เห็นว่าทำแบบนี้เด็กจะเหลิงตรงไหน กลับกันก็ในเมื่อเขาโดนทำร้าย และเราเข้าไปช่วยเขา เขาจะเห็นว่ากฎแม่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อกฎกติกามันศักดิ์สิทธิ์ มันง่ายที่จะชวนให้เด็กเขาเคารพ” ป้ามลกล่าว
ธวัชชัยกล่าวเสริมต่อว่า คนที่ยึดติดในอำนาจย่อมเสียประโยชน์อยู่แล้ว เพราะกระบวนการตัดสินใจของบ้านกาญจณาฯ ทุกสิ่งอย่างมาจากการตัดสินใจร่วมกัน ไม่ใช่การตัดสินใจทำอะไรเชิงอำนาจ
นอกจากนี้ สราวุธยังได้ยกตัวอย่างกรณีของน้องอ๊อฟ ที่ได้แชร์ประสบการณ์การก้าวพลาดของตัวเอง และการเปลี่ยนตัวเองท่ามกลางการโอบรับของคนที่บ้านกาญจนาฯ ซึ่งวิธีการของบ้านกาญจนาฯ ที่สืบสาวไปถึงต้นตอสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กคนหนึ่งต้องก้าวพลาด ทำให้พ่อแม่ของน้องอ๊อฟก็ตระหนักรู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง และเปลี่ยนแปลงวิถีครอบครัวไปโดยสิ้นเชิง ในกรณีนี้แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุด แต่กลับสะท้อนปัญหาใหญ่ของสังคมออกมาได้อย่างชัดเจน
บ้านกาญจนาฯ ทำได้ แต่สเกลอัปไม่ได้
“พวกผู้ใหญ่ฉ้อฉลมีราคาที่ต้องจ่าย การจะทำได้แบบบ้านกาญจนาฯ ต้องใช้อำนาจร่วม ซึ่งก็คืออำนาจในแนวราบ ผู้ใหญ่ที่ฉ้อฉลในประเทศนี้เขาจะหวงอำนาจเอาไว้ เพราะอำนาจเหล่านี้มันปกป้องเขา” ป้ามลกล่าว
เบื้องหลังของการใช้อำนาจปกป้องตัวเอง คือปัญหาที่ซ่อนเร้นภายใต้ระบบที่ไม่โปร่งใส ห้ามตรวจสอบ คนเหล่านี้เลยต้องใช้อำนาจนิยมเพื่อปิดปากคนทุกคน การแก้ปัญหาจึงต้องอาศัยความกล้าหาญของใครบางคนมาทำลายมันลง
“ป้าไม่ได้บอกว่าตัวเองกล้า หรือบ้าได้ขนาดนั้นนะ แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็ยอมรับได้ว่าเราพร้อมจ่าย ไม่ว่ากับใครก็ตาม”
นอกจากนี้ป้ามลยังได้พูดถึงในบางเวทีที่ได้ไปพูดคุย มีคนลุกขึ้นมาแล้วพูดว่า “มันเรื่องบ้าอะไรที่ผมต้องมาฟังคุณบอกว่าไอ้เด็กเ-ี้ยพวกนี้มันยังมีด้านดีอยู่ คุณรู้ไหมว่าลูกผมถูกมันฆ่า”
ป้ามลอธิบายว่า เข้าใจเสมอว่าการเป็นผู้สูญเสียมันแสนเจ็บปวด แต่ก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่าการที่เด็กหนึ่งคนเติบโตมาฆ่าคนได้ อะไรเป็นองค์ประกอบ เด็กไม่ได้เอาปืนเอามีดออกมาจากท้องแม่ แต่ระบบนิเวศทางสังคมต่างหากที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นมีความชอบธรรมและเด็กๆ ก็กล้าที่จะใช้มัน สิ่งนี้คือ ‘โรงงานผลิตผู้แพ้’
ตราบใดที่เรายังมีโรงงานผลิตผู้แพ้ เราต้องยอมรับว่าน้ำตาของเหยื่อยังต้องไหลอีกหลายครั้ง และเราต้องยอมรับว่าเมื่อเหยื่อมายืนอยู่ต่อหน้าเรา เราต้องเข้าใจความสูญเสียของเหยื่อ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เป็นเหตุผลที่เพียงพอให้เราเกลียดชังเด็กเหล่านี้ที่ก่อเหตุ และเราต้องยอมรับว่าเมื่อเราเกิดมาในประเทศที่ไม่แข็งแรงพอ ราคาที่เราต้องจ่ายมันเยอะมาก และมันคงเยอะต่อไปจนกว่าประเทศนี้จะมีการเมืองที่ดีกว่านี้
นโยบายสาธารณะที่เหมาะสม จะทำให้เด็กเติบโตโดยไม่ต้องผ่านโรงงานผลิตผู้แพ้
หากนับความสำเร็จระดับปัจเจกที่บ้านกาญจนาฯ จะมีให้เห็นเยอะมาก แต่สุดท้ายเราต้องการนโยบายสาธารณะที่มีวิสัยทัศน์
“ความสำเร็จระดับปัจเจกบางทีมันเป็นมายาคติที่บอกให้เราปลื้มกับสิ่งที่เราทำ แต่ตราบใดก็ตามที่นโยบายสาธารณะมันยังเฮงซวย เราจะต้องตามล่าความสำเร็จระดับปัจเจกจนชั่วชีวิตจะหาไม่” ป้ามลกล่าว
ธวัชชัยกล่าวสำทับว่า “ขณะนี้องค์ความรู้ถึงพร้อมแล้ว แต่รัฐบาลและคนที่มีอำนาจหน้ายังคงไม่กล้าหาญพอ และผมไม่ได้เป็นผู้ที่กล้า เพียงแต่ผมเป็นคนที่ไม่มีอนาคตมาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว เลยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง จึงพร้อมที่จะบอกกับรัฐมนตรีหลายๆ ท่านว่าให้ย้ายตัวเองออกไปเลย”
สื่อและคนที่ได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ต้องทำอะไร
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทัศนะและความล้มเหลวบางอย่างของสังคม คือ ‘นโยบายสาธารณะ’ และต้องเป็นนโยบายสาธารณะที่ดี มีวิสัยทัศน์ แต่ท้ายที่สุดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานกับปัจเจก และการพึ่งพาบุคคลระดับปัจเจกก็ยังสำคัญ แต่ต้องมีนโยบายที่ดีด้วย นี่คือมุมมองจากป้ามลที่ต่อสู้กับอำนาจนิยมมาโดยตลอด
บนเวทีเสวนากล่าวสรุปบทเรียนที่สื่อได้สร้างบาดแผลให้กับเด็กอีกด้วยว่า เรื่องราวของเด็กบ้านกาญจนาฯ อยู่ในสื่อเยอะมาก และมันจะอยูตลอดไป ซึ่งถ้าเรื่องราวของเขาอยู่ในสื่อนาน เด็กคนนั้นก็จะยิ่งเจ็บปวดนาน สิ่งที่ต้องรับมือคือ ต้อง empower เด็กๆ ให้เพียงพอที่จะรับมือร่องรอยและเรื่องราวที่เขาต้องเผชิญ
“คนเ-ี้ย ไม่ได้เ-ี้ยมาตั้งแต่เกิด ไม่ได้ born to be” ป้ามลเน้นย้ำทิ้งท้าย