เมื่อความเหลื่อมล้ำถึงจุดสุกงอม: เงื่อนไขเศรษฐกิจและปากท้อง สู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม 2475

เมื่อ 91 ปีที่แล้ว เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นจุดพลิกผันสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เพียงเป็นการปฏิวัติภายใต้มิติทางการเมืองเท่านั้น หากยังเป็นการปฏิวัติภายใต้มิติทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ในวันที่สังคมไทยกำลังประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างชนชั้นที่ปรากฏเด่นชัด ล้วนเป็นเหตุที่นำไปสู่การทำลายความชอบธรรมของชนชั้นนำในยุคนั้น จนกระทั่งถึงวันปฏิวัติ 2475 

ในวันนี้เราจึงชวนย้อนดูประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสยาม มิติทางเศรษฐกิจของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การอภิวัฒน์สยาม 2475 จากความพยายามที่ทำให้ ‘คนเท่ากัน’ มาถึงปัจจุบันที่สังคมไทยยังคงอยู่ในวังวนปัญหาความเหลื่อมล้ำ

รอยปริร้าวของความเหลื่อมล้ำในสยาม

ย้อนกลับไปช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สังคมไทยยังคงดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยอาศัยการส่งออกสินค้าทางการเกษตรเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการค้าข้าว เครื่องเทศ หรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ กับประเทศคู่ค้าแบบผูกขาด การค้าทั้งในและต่างประเทศล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมของราชสำนัก ซึ่งสร้างอำนาจและความมั่งคั่งให้กับชนชั้นนำสยามเป็นอย่างมาก จนกระทั่งการเข้ามาของ ‘สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง’

ในสมัยรัชกาลที่ 4 สยามได้ทำสนธิสัญญาการค้ากับอังกฤษ โดยสนธิสัญญาเบาว์ริ่งได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการค้า การส่งออก ระบบจัดเก็บภาษี รวมไปถึงฐานะทางการคลัง ในรูปแบบการค้าเสรีมากขึ้น ทำให้ไม่ถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มประเทศคู่ค้าเดิม แต่ได้ขยายออกไปยังประเทศตะวันตก ส่งผลให้ธุรกิจการค้าของสยามเฟื่องฟู มีการเกิดขึ้นของ ‘ชนชั้นพ่อค้านายทุน’ รวมไปถึงเกิดการขยายตัวของการเพาะปลูกข้าวมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ 

แม้ว่าสนธิสัญญาเบาว์ริ่งจะทำให้ธุรกิจการค้าโดยรวมเฟื่องฟู แต่กลับส่งผลกระทบต่อราชสำนักโดยตรงคือ อำนาจและความมั่งคั่งที่ลดลงของพระคลังข้างที่ เนื่องด้วยเงื่อนไขของสนธิสัญญาที่เปลี่ยนแปลงระบบการจัดเก็บภาษีแบบผูกขาดแต่เดิม ทำให้สยามไม่สามารถจัดเก็บอากรระหว่างประเทศได้

เมื่อราชสำนักขาดรายได้จากการจัดเก็บอากรระหว่างประเทศ จึงคิดหาวิธีรวบอำนาจจากขุนนางชั้นผู้ใหญ่ โดยเปลี่ยนให้รัฐเป็นผู้จัดเก็บภาษีนายอากรแทน รวมไปถึงการที่ชนชั้นนำไทยไปจับจองที่ดินด้วยความต้องการที่ดินมากขึ้นอันเนื่องมาจากธุรกิจค้าข้าวเฟื่องฟู จนเกิดการกระจุกตัวของการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในยุคนั้น ทำให้ที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศตกไปอยู่กับชนชั้นนำไทยก่อนที่จะขยายอิทธิพลตนเองกลายมาเป็นเจ้าที่ดินในภายหลัง อันเป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย

กล่าวคือ สนธิสัญญาเบาว์ริ่งได้เชื่อมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสยามเข้าด้วยกันผ่านการเปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก ส่งผลให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของสยามเปลี่ยนไปอย่างไม่อาจหวนกลับคืน

ทว่าในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจเช่นนี้กลับกลายเป็นปัญหาของระบบเศรษฐกิจไทยเนื่องด้วยการเพาะปลูกข้าวที่ขยายตัวจนกลายเป็นสินค้าส่งออกหลัก ทำให้รัฐจำเป็นต้องพึ่งรายได้จากการส่งออกข้าวเพียงอย่างเดียว ประกอบกับราคาข้าวที่ต้องอิงกับตลาดโลก จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 2470 สยามประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดการขาดแคลนข้าวทั่วประเทศจากภัยธรรมชาติ รวมไปถึงราคาข้าวที่ต่ำลงถึง 2 ใน 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเงินคงคลังของรัฐบาลที่ขาดดุลงบประมาณจนเข้าขั้นวิกฤต

ความสั่นคลอนของอำนาจภายใต้ความเหลื่อมล้ำที่คืบคลาน

“เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ (พระเจ้าอยู่หัว) ทรงได้รับมรดกน่าเศร้า เพราะพระราชวงศ์ตกต่ำ ราษฎรหมดความเคารพเชื่อถือ สมบัติเกือบหมดพระคลัง รัฐบาลฉ้อฉล การบริหารราชการยุ่งเหยิง” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวเอาไว้เมื่อรัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์ ที่แสดงให้เห็นถึงวิกฤตเงินคงคลังของราชสำนัก ณ เวลานั้น

วิกฤตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหากับเงินคงคลังของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่เงินคงคลังเริ่มตึงตัวอีกครั้ง ทำให้ราชสำนักพยายามแก้ปัญหาโดยตัดสินใจตัดทอนงบประมาณของราชสำนักที่จัดสรรให้แก่กรม กระทรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กรมพระคลังข้างที่ รวมไปถึงการปลดข้าราชการและทหารชั้นผู้น้อยจำนวนมาก สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากแก่เหล่าข้าราชการและทหาร

แม้ว่ารัฐจะพยายามลดงบประมาณรายจ่ายลงมาก็ตาม แต่นั่นก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของราชสำนักที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้เข้าคลังขึ้นอีก โดยจุดเปลี่ยนสำคัญคือ การที่รัฐบาลจัดเก็บภาษีจำนวนมากและอัตราสูง อย่างเช่น ‘ภาษีรัชชูปการ’ หรือภาษีที่เรียกเก็บจากชนชั้นล่างที่ไม่ต้องการถูกเกณฑ์แรงงาน โดยจัดเก็บ 6 บาทจากทุกๆ คนเท่ากัน ยกเว้นพระราชวงศ์ ทหาร กับ ‘ภาษีที่ดิน’ ที่เรียกเก็บจากเหล่าชาวนาผู้เช่าที่ดินหลวง นอกจากนี้ยังมีอากรค่านา อากรค่าสวน ซึ่งการจัดเก็บภาษีเหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นชาวนา ชนชั้นพ่อค้านายทุน กับชนชั้นนำ ทำให้ช่องว่างยิ่งห่างกันออกไปอย่างต่อเนื่อง จากการผูกขาดกรรมสิทธิ์ที่ดินของชนชั้นนำที่บีบบังคับให้ชนชั้นล่างต้องเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษีอันไม่เป็นธรรม

การแก้ปัญหาวิกฤตทางการคลังดังกล่าวมิได้เป็นหนทางออกของปัญหา แต่กลับเป็นการ ‘ทำนาบนหลังคน’ โดยการสูบรายได้จากราษฎรทั้งในเมืองหลวงและหัวเมืองต่างๆ ทั้งชนชั้นล่างอย่างชาวนา และชนชั้นกลางอย่างพ่อค้านายทุน เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่ชนชั้นนำ ด้วยข้ออ้างในการปกป้องประเทศและงานส่วนพระมหากษัตริย์ มากกว่าจะใช้เพื่อการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างแท้จริงและการพัฒนาเศรษฐกิจใระยะยาว จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอันสุกงอมที่รอวันปะทุ

ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการแก้ไข การปลดข้าราชการและทหารชั้นผู้น้อย การจัดเก็บภาษีเกินกว่าความจำเป็น รวมไปถึงการใช้จ่ายงบประมาณผิดจุด ทั้งหมดนี้ได้สร้างความเหลื่อมล้ำอันไม่อาจประนีประนอมได้ ก่อเกิดเป็นความไม่พอใจของประชาชนที่สั่นคลอนอำนาจของชนชั้นนำเป็นอย่างมาก ซึ่งถึงแม้ว่าชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางจะไม่ได้มีบทบาทในการปฏิวัติสยาม แต่การปฏิวัติทั้งหมดนี้ได้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่ชนชั้นล่างและชนชั้นกลางได้ช่วยกันทำลายความชอบธรรมของชนชั้นสูงไปเกือบหมดสิ้นแล้ว จนนำไปสู่การอภิวัฒน์สยามในปี 2475 ในที่สุด

อภิวัฒน์สยาม 2475 การปฏิวัติที่มาพร้อมความหวัง

“การตกต่ำทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากินซึ่งราษฏรได้รู้อยู่กันทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฏรดังที่รัฐบาลประเทศอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังคน”

ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของปัญหาทางเศรษฐกิจ อันเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของสังคมไทย ณ ขณะนั้น โดยมีความคาดหวังว่า ‘คณะราษฎร’ จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาทาง

เศรษฐกิจได้ จะเห็นได้จาก ‘หลัก 6 ประการ’ ของคณะราษฎรในหลักที่ 3 ระบุไว้ว่า จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยราษฎรใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 

เจตนารมณ์สำคัญของคณะราษฎรคือ การทำให้ ‘คนเท่ากัน’ โดยมุ่งลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจ ‘ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ’ เปลี่ยนแปลงระบบภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม การยกเลิกภาษีรัชชูปการ ยกเลิกภาษีอากรค่านา รวมไปถึงภาษีที่ดินอื่นๆ 

‘สมุดปกเหลือง’ นโยบายเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกป้ายสี

แม้ว่าคณะราษฎรจะมีความพยายามแก้ปัญหาปากท้องท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจอันตกต่ำ ทว่าคณะราษฏรเองกลับมีเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง นโยบายการเงินการคลังแบบอนุรักษนิยมที่มุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงความเห็นที่แตกต่างของคณะราษฎรในเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ จนกระทั่งมาสู่จุดแตกหักทางนโยบายอย่าง ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ’ 

เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า ‘สมุดปกเหลือง’ นำเสนอโดยปรีดี พนมยงค์ ที่เสนอให้รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของราษฎร หวังขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย มีเนื้อหาสำคัญในการปฏิรูปที่ดิน ให้รัฐมาเป็นเจ้าของที่ดินมาบริหารจัดการทางเศรษฐกิจเอง มุ่งเน้นให้เกิดกระจายรายได้และความเป็นธรรมในทรัพย์สิน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะเป็นการทำลายระบบถือครองที่ดินของชนชั้นนำ ซึ่งจะทำให้ชนชั้นนำเสียประโยชน์เป็นอย่างมากจากนโยบายกระจายความมั่งคั่งนี้

ความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายอำนาจเก่า เนื่องจากมองว่าเป็นนโยบายที่มีลักษณะอันเป็นคอมมิวนิสต์แบบรัสเซียและอาจจะทำลายเสรีภาพของราษฎรโดยบังคับกดขี่ประชาชนเหมือนทาส เป็นเหตุให้ปรีดี พนมยงค์ ถูกบังคับให้ลี้ภัยไปต่างประเทศ จนนโยบายนี้ไม่ถูกรื้อกลับมาฟื้นฟูอีกเลย

แม้ว่านโยบายทางเศรษฐกิจของคณะราษฎรต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยด้วยความพยายามในการปฏิรูปที่ดิน เปลี่ยนแปลงระบบภาษี ทลายข้อจำกัดในสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายดังกล่าวก็ได้สร้างรอยร้าวอย่างต่อเนื่องระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเดิมกับกลุ่มชนชั้นนำใหม่ที่ทำให้เกิดช่องว่างแต่ละชนชั้น จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ความเหลื่อมล้ำที่ฝังลึกในสังคมไทย

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำในไทย จะเห็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมได้กลายเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การอภิวัฒน์สยาม 2475 โดยมีวิกฤตเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งให้ความเหลื่อมล้ำปรากฏเด่นชัดขึ้นมา สู่ความพยายามของคณะราษฎรที่มุ่งจะขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อโต้กลับอำนาจคืนระหว่างกลุ่มขั้วอำนาจต่างๆ ในสังคมไทย 

จวบถึงปัจจุบัน เจตนารมณ์ ‘คนเท่ากัน’ ของคณะราษฎรก็ยังคงไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย มิหนำซ้ำความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจยังดูท่าจะถอยหลังกลับไปสู่จุดเดิม

91 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่อภิวัฒน์สยาม 2475 ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้ก็ยังคงอยู่ มิได้จางหายไปจากสังคมไทย ชนชั้นนำไม่ยอมสูญเสียอำนาจและความมั่งคั่งที่ตนมี และยังคงมีอำนาจเหนือตลาด รวมถึงการผูกขาดต่างๆ นานาภายใต้กลุ่มผลประโยชน์ เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำในไทยแล้วก็ยิ่งสะท้อนถึงพลวัตความเหลื่อมล้ำและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เคยถูกแก้ไขอย่างจริงจัง ทำให้คนรุ่นปัจจุบันต้องย้อนมาตั้งคำถามว่า “ความเหลื่อมล้ำอันบิดเบี้ยวนี้จะคงอยู่ในสังคมไทยไปอีกนานเท่าไร?”

ศิรวิชญ์ สมสอาง
นักศึกษาฝึกงานที่ผ่านทางมา ผู้เขียนมากกว่าพูดและชื่นชอบการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า