สุขสันต์วันครบรอบอภิวัฒน์สยาม: เมื่อ 24 มิถุนาเวียนบรรจบ ครบรอบใหม่

อภิวัฒน์สยาม
เรื่อง: พชรกฤษณ์ โตอิ้ม / วาทิตยา บุพศิริ / เวชะรดา มะเวชะ
ภาพ: วาทิตยา บุพศิริ / เวชะรดา มะเวชะ

 

อดีตที่พ้นไปจากความทรงจำ: การอภิวัฒน์สยาม 2475

ครั้นเอ่ยถึง ‘การอภิวัฒน์สยาม’ หลายคนอาจไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้จัก

หมุดหมายสำคัญพร่าเลือนตามกาลเวลา จากเหตุการณ์พลิกประวัติศาสตร์ไทยกลายเป็นเรื่องที่ไม่เคยอยู่ในความทรงจำใครหลายคน

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยกลุ่มผู้ก่อการนามว่า ‘คณะราษฎร (People’s Party)’ ได้ประกาศเปลี่ยนการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และร่วมสถาปนาอำนาจรูปแบบใหม่ที่ก่อให้เกิดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary System) ขึ้นมาแทน

สมาชิกคนสำคัญในการก่อตั้งคณะราษฎรต่างร่วมมีบทบาทสำคัญทางการเมืองไทยในอีกหลายปีให้หลัง ทั้ง พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2, หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ แปลก ขีตตะสังคะ) นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 และรวมไปถึงหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ คณะราษฎรมีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงทางการเมืองและสังคมของประเทศไทยเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี จนกระทั่งมาหมดบทบาทอย่างสิ้นเชิงในปลายปี พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหารของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของ พลโทผิน ชุณหะวัณ

คำว่า ‘อภิวัฒน์สยาม’

คำศัพท์ว่า ‘อภิวัฒน์’ ตั้งขึ้นมาโดย ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ณ ขณะนั้น

คำว่า ‘อภิวัฒน์’ บัญญัติขึ้นจากคำว่า ‘revolution’ แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วคำว่า ‘revolution’ สามารถแปลได้ว่า ‘การปฏิวัติ’ แต่การนิยามคำศัพท์ในครั้งนั้นกลับไม่เลือกใช้คำว่า ‘ปฏิวัติ’ แทนความหมายสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แต่ปรีดีเลือกใช้คำว่า ‘อภิวัฒน์’ เพื่อสื่อเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สยามมีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าระบอบเก่านั่นเอง (อ้างอิงจาก 85 ปี การอภิวัฒน์ 2475: ทัศนะทางประวัติศาสตร์กฎหมาย โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล)

กระแสอภิวัฒน์: เปลี่ยนสยามให้กลายเป็น ‘สยามใหม่’

การพัฒนาของสยามนับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2490 หรือตลอดช่วงที่คณะราษฎรยังมีบทบาทและสามารถกำหนดทิศทางการบริหารประเทศได้ ทางคณะราษฎรวางแนวทางหลัก 6 ประการเพื่อแสดงเป้าหมายของการอภิวัฒน์ 2475 ไว้ดังนี้

ประการแรก หลักเอกราช: จักต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชทางการเมือง เอกราชในทางศาล รวมไปถึงเอกราชในทางเศรษฐกิจ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
ประการที่สอง หลักความปลอดภัย: จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
ประการที่สาม หลักเศรษฐกิจ: จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงสร้างเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
ประการที่สี่ หลักเสมอภาค: จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน
ประการที่ห้า หลักเสรีภาพ: จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระเมื่อเสรีภาพไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
ประการที่หก หลักการศึกษา: จะให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างทั่วถึง

ประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่ขาดวิ่น

นอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ การอภิวัฒน์ของคณะราษฎรยังมีความเกี่ยวข้องกับสถานที่หลายแห่ง ทั้งโดยความตั้งใจทิ้งร่องรอย เรื่องเล่า ไว้มากมาย มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถูกบรรจุอยู่ในตำราเรียนหรือหนังสือกระแสหลัก เวลาผ่าน ‘การอภิวัฒน์สยาม’ และ ‘คณะราษฎร’ กลายเป็นความทรงจำที่ขาดวิ่น

ครั้งหนึ่งการสร้างสำนึกต่อพื้นที่เหล่านั้นเคยเกิดขึ้นในยุคสมัยที่พวกเขามีอำนาจ บางหลักฐานดำรงอยู่ตามสถานที่สำคัญไม่มากก็น้อย กระบวนการอภิวัฒน์สยามไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงแค่พื้นที่ทางการเมืองเท่านั้น หากกระแสอภิวัฒน์ยังส่งผลกระทบไปยังมิติต่างๆ ของสังคมไทยอย่างมหาศาล ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรม รวมถึงด้านวัฒนธรรม

การครบรอบครั้งนี้ ย่างเข้าสู่ปีที่ 86 หลังจากวันแรกที่มีการอภิวัฒน์สยาม

การปะติดปะต่อความทรงจำผ่านเรื่องเล่า ผู้คน และสถานที่ ขึ้นมาใหม่อีกครั้งคือสิ่งที่จำเป็น

อย่างน้อยก็รู้ได้ว่ามรดกของกระบวนการอภิวัฒน์สยามยังหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบันหรือไม่

 

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ยามอรุณรุ่ง ณ ลานบรมรูปทรงม้า

อภิวัฒน์สยาม

ความทรงจำชุดที่ 1

อภิสิทธิ์ ประธรรมโย อายุ 21 ปี อาชีพ พนักงานห้าง

เคยได้ยินคำว่าอภิวัฒน์สยามไหมครับ

ไม่ครับ

รู้จักการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไหมครับ พอเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม

พอรู้ครับ ในความเข้าใจของผมคือ จอมพล ป. ใช่ไหมครับ แกเป็นคนที่มีแนวคิดที่ว่าอะไรที่เป็นต่างประเทศ ก็เข้ามาปรับใช้ในเมืองไทย แล้วอะไรที่เป็นวัฒนธรรมเดิมที่ดูล้าสมัยก็ปรับเปลี่ยนซะ

เคยทราบถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่
เหมือนเคยได้ยินเรื่องของคณะราษฎรครับ ยังไงดีล่ะ ต้องนึกก่อน (ยืนนึก) เหมือนกับว่ากลุ่มนักเรียนนอกกลุ่มหนึ่ง ตั้งตนเป็นกลุ่มคณะราษฎรจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมคิดว่าเขาเป็นนักเรียนนอกแล้วอยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างประเทศนอกเขามี แต่ของเราไม่มี ก็ควรที่จะมาปรับใช้

ความทรงจำของตัวเองกับพื้นที่ตรงนี้เป็นมายังไง
จริงๆ ย้อนไปสองสามเดือนก่อน งานอุ่นไอรักครับ มันทำให้เราได้ย้อนอดีต เรื่องราวประวัติศาสตร์ในสิ่งที่อาจจะไม่ใช่ยุคของเรา อย่างการแต่งกาย การกินอาหารในยุค ร.5 ครับ

พอทราบถึงความสำคัญของเรื่องสถานที่ตรงนี้หรือไม่
ถามว่าสำคัญยังไง อันนี้ก็ตอบยากนิดนึง
มันเหมือนกับเป็นศูนย์รวมของคนไทยครับ ก็คือเป็นหัวใจหลักของคนไทยเลย อาจจะเป็นเพราะว่าสังคมเรา หรือว่าคนไทยจะผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ครับ เหมือนตรงนี้เป็นแลนด์มาร์คและเป็นสัญลักษณ์หลักด้วย

ความทรงจำส่วนที่ 2

นฤมล ปิณฑะสุต อายุ 49 ปี อาชีพ พนักงานรักษาความสะอาด กทม.

แนะนำตัวเองหน่อยครับ
ชื่อ นฤมล ปิณฑะสุต กวาดถนนเส้นนี้ แยกสวนมิสกวัน ก็กวาดอยู่ตรงนี้ร่วม 10 ปีได้แล้วค่ะ

เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา
ตั้งแต่มีนายกฯ คนนี้เข้ามาคุม ก็บ้านเมืองสงบมากขึ้น ก็ดีค่ะดี มันก็…ตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงนะ ตอนนี้ทุกอย่างก็ดำเนินไปเรื่อยๆ

เคยมีความทรงจำร่วม หรือว่าเคยมีความผูกพันร่วมกับพื้นที่นี้ไหม
อืม ความทรงจำเหรอ ก็อย่างสมัยก่อนมันก็จะมีงานกาชาด แต่ตอนนี้มันก็ไม่มีแล้ว มันก็น่าจะมีนะ พูดถึงน่ะ แล้วก็พวกงานอย่างงานรับปริญญา คือมันเคยเป็นแบบเขาต้องมารับที่นี่ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงแล้ว หลายอย่างดูแบบแปลกๆ ไป

ถ้าถามความทรงจำ นึกถึงตอนที่องค์รัชกาลที่ 9 ท่านยังอยู่ นึกถึงตอนที่ท่านยืนโบกมือตรงนั้นน่ะ (มองไปทางพระที่นั่งอนันตสมาคม) คือตอนนั้นก็ยังไม่ได้ทำงานตรงนี้หรอก แต่ว่า เรารู้สึกว่าเราอยากมีส่วนร่วม แต่ตอนนั้นยังไม่ได้กวาดถนนนะ ยังทำงานอยู่อีกที่หนึ่ง แต่ได้มาทำงานตรงนี้รู้สึกดีใจ ได้รับใช้ท่าน แล้วก็เหมือนได้รับใช้ท่านรัชกาลที่ 5 กับพระองค์ท่านทุกพระองค์

แล้วเคยได้ยินเกี่ยวกับคำว่า อภิวัฒน์สยามไหมครับ
ไม่เคย

แล้วเคยได้ยินเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไหมครับ
ไม่เคยได้ยิน

พอทราบเรื่องหมุดคณะราษฎรไหมครับ แล้วปกติช่วงวันที่ 24 มิถุนายนมีเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เคยเห็นมีนักข่าวมาทุกปีนะ ถ้าจำไม่ผิด จะมีพวกนักข่าวแล้วก็พวกนักศึกษา มาดูหมุดอันนี้ (หมุดคณะราษฎร) แต่ทีนี้ไม่แน่ใจว่า เขาเปลี่ยนแล้วรึยัง ก็เห็นจะมีทุกปีเลยนะ ที่เห็นอยู่จากที่ยืนดูห่างๆ ตอนกวาด มีคนเขามาถ่าย มาดูด้วยอะไรอย่างนี้

เหมือนกับว่ามาทุกปี เราก็ไม่แน่ใจว่าเขามาทำอะไร แต่มาเยอะ พวกนักข่าวพวกนักศึกษา แล้วก็ถ่ายรูปกัน แต่ถ้ามันเปลี่ยนก็คิดว่าคนทำเขาก็คงเสียใจนะที่เปลี่ยนใหม่ จริงๆ ไม่น่าจะเปลี่ยนใหม่ แต่น่าจะใช้อันเดิม แต่ปรับปรุงให้มันดีขึ้น

ความทรงจำส่วนที่ 3

บันทึกอื่นๆ

สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์
สถานที่นี้เกิดการปฏิวัติครั้งแรกของประเทศไทยและก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

ครั้งนั้นหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) รองจเรทหารบก เป็นผู้อ่านประกาศแถลงการณ์ฉบับแรกของคณะราษฎร โดยมีใจความว่า

ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำเพราะประเทศเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูเป็นแม่นมั่น

อนุสรณ์ที่สำคัญของการอภิวัฒน์สยามคือ หมุดคณะราษฎร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปักอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้านหน้าสนามเสือป่าพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่ปัจจุบันหมุดคณะราษฎรได้ถูกเปลี่ยนใหม่ เป็นหมุดข้อความแบบใหม่ ที่เขียนว่า

ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาสุขสันต์หน้าใสเพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง

แทนหมุดเก่าที่คณะราษฎรเคยปักไว้

ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ

 

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482
ความหมายอันเลื่อนไหลของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อภิวัฒน์สยาม

ความทรงจำชุดที่ 1

ลักขณา แสงเอก (ป้าเล็ก) อายุ 65 แม่ค้าขายกุ้ยช่าย หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

ป้าเล็กคิดว่าพื้นที่ตรงนี้สำคัญยังไงบ้าง
สำคัญตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษเลย เพราะว่าป้าเกิดตรงนี้ โตตรงนี้

ตอนนี้ตึกว่างหลายตึกเลย ไม่มีใครใช้ สมัยป้าเด็กๆ ตึกตรงนี้เป็นตึกอนุรักษ์ มันสวย คนโบร่ำโบราณ คนต่างจังหวัดเขาก็อยากมาดูอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แต่พอมาตอนนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนหมด คนก็เปลี่ยน ตอนนี้หากินลำบากมาก

ขายมากี่ปีแล้วครับ
ขายมาประมาณ 15 ปีแล้ว

15 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างครับ
โอ้โห เยอะมาก เยอะจนบอกไม่ถูก

จากป้าเป็นคนพื้นที่เป็นคนดั้งเดิม แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปหมด จะตอบยังไงดีล่ะว่ามันเปลี่ยน การปกครอง การอะไรทุกอย่าง มันไม่เหมือนเดิม เราอยู่รากหญ้า เวลาเขาเปลี่ยนแปลงอะไรนี่เราลำบากนะ เขามาไล่ แล้วเราคนจนเราทำอะไรล่ะ เขามาไล่เราก็ต้องดื้อ หนีบ้างอะไรบ้างอย่างนี้ เวลามีม็อบพวกป้าก็ต้องหนีเข้าไปข้างใน เขาประท้วงเขาก็ไม่ให้ออกข้างนอก

พอทราบประวัติที่มาของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไหม
ป้าไม่ค่อยรู้หรอกนะ ตรงนี้ ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่มาป้าก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง พ่อแม่ป้าเขาก็เป็นคนไม่มีการศึกษา เขาก็จะ เออ กูอยู่ของกูตรงนี้นะ แต่ประวัติอะไรเขาก็ไม่ได้เล่าให้ป้าฟัง

แต่ป้าทันสมัย 14 ตุลา นะ ที่เขาประท้วงกัน มีคนตายตรงนี้เยอะมาก แบบน่ากลัว

มันมีการยิงกัน มันมีอะไรหมด เพราะว่าป้าขายของอยู่ตรงนี้ แล้วมันก็จะมีการยิงกันตั้งแต่ปี 2516 สมัยนั้นรุนแรงมากเลยนะ จากตั้งแต่ราชดำเนินตรงนู้น อันนั้นแหละที่เป็นที่ประท้วงใหญ่ที่สุด ตอนนั้นก็อายุประมาณ 20 กว่าแล้วล่ะ

ป้าพอทราบคำว่า อภิวัฒน์สยามไหมครับ
ไม่ทราบ คือเราไม่สนใจ พอมีเรื่องอะไรมาเราก็จะกลัว กลัวอย่างเดียว มันเข็ด เข็ดตั้งแต่ 14 ตุลา ป้าเห็นหมดเลยนะ คนตาย โดนอะไร มันก็เลยฝังใจ พอเราเจอปัญหาแบบนี้เราไม่ยุ่งดีกว่า

ความทรงจำชุดที่ 2

ประเสริฐ ทองมั่ง อายุ 79 อาชีพค้าขาย

คิดว่าที่นี่มีความสำคัญยังไง
ก็อนุสาวรีย์นี่เขาสร้างเป็นที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้วเขาก็ฝังปืนใหญ่ไว้ 75 กระบอก แล้วก็มีการปรับปรุงเรื่อยมา ต่อมาก็เป็นที่ชุมนุมต่างๆ ใครมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับอะไรก็มาใช้ที่นี่ เป็นสถานที่ชุมนุมความคิดเห็นกัน

ประชาธิปไตยน่ะ ก็ไม่มีใครห้ามนะ บางครั้งก็มีเรื่องมีราวใหญ่โต ตอนนี้ที่เห็นก็เลยต้องป้องกันไว้หน่อย กทม. ก็เลยเอาต้นไม้มาใส่ไว้เต็มเลย ล้อมตัวอนุสาวรีย์หมด

เคยมีเรื่องเล่าหรือความผูกพันในพื้นที่ตรงนี้ยังไงบ้าง
พื้นที่ตรงนี้ก็ ปี 2516 เคยอยู่แถวนี้ ประมาณ 14 ตุลา ลุงก็ป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ เพราะหลานอยู่ในธรรมศาสตร์สองคน เรียนรามฯ แต่ไปอยู่ในธรรมศาสตร์สองคน วันที่ 13 เย็น ลุงก็ต้องมาตาม

วันที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 คุณลุงทำอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่ผมจะเดินตามแถว ก็คือเอาไงก็เอา เราก็เป็นห่วงหลาน เกิดอะไรก็เกิด มากับเพื่อนสองสามคน ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตรงเฉลิมไทยนี่ แล้วค่อยเข้าไปในธรรมศาสตร์ พอสว่างก็ได้กลับบ้าน พอเจอหลานสองคนก็กลับบ้าน (หัวเราะ)

ตลอดระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงมา เกิดอะไรขึ้นบ้าง
ไอ้การเปลี่ยนแปลงจะมองให้ชัดเจนมันไม่ได้หรอก เพราะใครขึ้นมาปกครองเขาก็มีความคิดเห็นของเขา ก็มีรัฐสภา มีคณะรัฐมนตรี เขาต้องทำตามที่ประชุมรัฐมนตรี มันไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง มันไม่ใช่เผด็จการ เขาก็เลยถูกใจคนบ้าง ไม่ถูกใจคนบ้าง บางเรื่องก็ถูกใจ บางเรื่องก็ไม่ถูกใจ มันก็เลยขัดแย้งกันตลอดมา

ความทรงจำชุดที่ 3

บันทึกอื่นๆ

กล่าวถึงประชาธิปไตยครั้งใด ก็พลันนึกถึงอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่กลางถนนราชดำเนินทุกครั้ง

อนุเสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นสมัยของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาได้แล้วเจ็ดปี

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสร้างขึ้นมาเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยของกลุ่มคณะราษฎร แต่ตลอดสายธารประวัติศาสตร์นับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยามเป็นต้นมา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญของการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง เช่น การชุมนุมของประชาชนและนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา การชุมนุมของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติปี พ.ศ. 2553 และการชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ พ.ศ. 2556 เป็นต้น

กลายเป็นว่า ความหมายของอนุสาวรีย์แห่งนี้ที่ผู้สร้างอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือเป็นอนุสาวรีย์ที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตอนนี้กลับกลายไปเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมแทน

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484
อาคารศาลฎีเก่า กลายเป็น อาคารศาลฎีกาใหม่

อภิวัฒน์สยาม

ความทรงจำชุดที่ 1

ทองสุข สุดสวาษดิ์ อายุ 65 ปี และ สมบูรณ์ สุดสวาษดิ์ อายุ 68 อาชีพค้าขาย

ช่วงที่ยังมีศาลเก่าอยู่ ตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง
สมบูรณ์: สมัยก่อนคนมันพลุกพล่านนะ ที่ศาล หลายคนก็มาศาลบ้าง ตำรวจก็มาบ้าง แล้วก็มีคนขายของกันรอบๆ ศาลนี่แหละ

ศาลฯ เก่ามันสำคัญยังไงกับเรา
สมบูรณ์: ศาลอันเก่า นี่ก็ว่าดีนะ เพราะว่าคนมาง่าย คือไม่ต้องสองต่อสามต่อ ไม่ต้องไปถึงรัชดา ถ้ามาที่นี่อยู่ที่นี่หมดนะ รถเมล์ทุกสายผ่านน่ะ มีศาลฎีกา ศาลแขวง ศาลเด็ก อยู่ที่นี่หมดนะ คือคนต่างจังหวัดมาที่นี่บางทีมาไม่ถูกแล้วก็มาถามน่ะ “ถ้าจะไปศาลไปยังไง” เราไม่รู้เหมือนกันนะว่าจะไปยังไง บอกไม่ถูก

รูปลักษณ์ศาลฯ เก่าเป็นยังไงครับ
สมบูรณ์: ข้างหน้านี่เขาไม่ทุบนะ เพราะว่ากรมศิลป์ฯ เขาไม่ยอมไม่ใช่เหรอ (ชี้ไปด้านศาลฎีกา) คือจะคงทรงเดิมหมดเลย คือไม่ได้ทุบ จะทุบแต่ข้างหลัง

แล้วก็ทุบแล้วทำ กว่าจะเป็นแบบนี้ได้ทุบตั้งสามหนนะ แต่พอสร้างไม่เหมือนก็ทุบทำใหม่ไปเรื่อยๆ พอดีมีคนงานเข้ามาบอก มีช่างที่ทำก่อสร้างข้างในออกมากินข้าว แล้วเขาก็เล่าให้ฟังเป็นแบบนี้

คิดว่าทำไมต้องทุบครับ
ทองสุข: ไม่ทราบเหมือนกัน

สมบูรณ์: เห็นเขาจะสร้างใหม่เป็นกระทรวง แต่เมื่อก่อนอยู่นี่หมดเลยนะ ศาลแขวง ศาลพระนคร ศาลเด็กศาลอะไร

ทองสุข: แล้วข้างหลังก็เป็นกรมอัยการ แล้วทุกอย่างก็อยู่ที่นี่หมดเลย

พอรู้จักกลุ่มคนที่ชื่อ ‘คณะราษฎร’ หรือไม่
ทองสุข: คณะราษฎรเราก็เคยได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ประวัติมันไม่ค่อยได้อ่าน พวกเคยไปติดเกาะตะรุเตาอะไรนั่นน่ะ

ทองสุข: (หัวเราะ) อ้อ นั่นมันสมัยเก่าแล้ว เก่ามาก รุ่นนั้นเราไม่ทัน
ทองสุข: ประวัติเราไม่ค่อยรู้ เพราะว่าเราอ่านไม่เคยเจอ รู้แต่ว่าไปติดเกาะตะรุเตา แต่รายละเอียดอื่นเราไม่รู้นะ

ความทรงจำชุดที่ 2

อุรชา เรืองอักษร อายุ 45 ขายของหน้าศาลหลักเมืองและขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

อยู่ตรงนี้มานานหรือยังครับ
ก็อยู่มาประมาณ 10 ปี

มันเปลี่ยนไปยังไงบ้างครับ
ก็เปลี่ยนไป แต่ก่อนคนเยอะแยะ ผู้คนเดินเยอะ พอศาลทุบไปผู้คนก็หายไปกันหมด แต่ไม่เป็นไรหรอก คิดว่าศาลเสร็จเดี๋ยวพนักงานเขาก็ย้ายกลับมาเหมือนเดิม

ที่นี่มีความสำคัญยังไงบ้าง
มันเป็นที่คุมขังด้วย แล้วเวลาใครมาขึ้นศาลเขาก็มาขึ้นที่นี่กัน

การที่เขาเปลี่ยนแปลงเป็นศาลใหม่ พอทราบไหมว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง
ผมก็ไม่รู้ครับ ศาลเก่าคนมันพลุกพล่านไง คนเขาก็มาจากที่อื่นเขาก็มาขึ้นศาล มาประกันตัว อะไรอย่างนี้

ศาลใหม่กับศาลเก่าต่างกันตรงไหนบ้าง
ไม่รู้สิ ศาลใหม่มันยังไม่เปิดเลย … แต่ศาลเก่ามันก็ทรุดโทรมไง เขาก็เลยมาซ่อมแซม

มันส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้างไหมครับ ตัวศาลใหม่
ไม่ครับ เพราะว่าพนักงานเขาก็กลับมาที่เขา ช่วงนี้พนักงานศาลเขาย้ายไปหมด คนน้อยลง

คนน้อยลง เศรษฐกิจไม่ดี พอศาลอยู่ก็พอขับรถขับราได้ เขามีพนักงานเยอะเขาก็จ้างไปนู่นไปนี่ได้ แต่นี่คนไม่มี เหลืออัยการที่เดียวเอง

รู้จักคำว่า ‘อภิวัฒน์สยาม’ หรือไม่
ไม่ครับ … คือผมไม่สนใจเรื่องการเมืองเลย เขาบอกให้หลบเราก็หลบ เราไม่ไปยุ่งยากกับเขา ต่างคนต่างอยู่ เขาบอกจะมีการเลือกตั้งใหม่แล้วชวนผมไปเดินผมก็ไม่เดิน เราไม่ยุ่งกับเขา ต่างคนต่างอยู่ เขาบอกไม่ให้เดินเราก็ไม่เดิน เขาบอกให้หลบเราก็หลบ เรามันหาเช้ากินค่ำ

ความทรงจำชุดที่ 3

บันทึกอื่นๆ

กลุ่มอาคารศาลฎีกาเก่าเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2482 ก่อนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีเป้าหมายเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2481

เมื่อกลับไปศึกษาประวัติของกลุ่มอาคารศาลฎีกา ตลอดจนพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งในเชิงการเมือง การปกครอง และคุณค่าเชิงสถาปัตยกรรม พบว่ากลุ่มอาคารศาลฎีกานี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์แทนการได้รับเอกราชทางการศาลคืนโดยสมบูรณ์เท่านั้น หากแต่ยังมีนัยสำคัญที่บ่งบอกถึงการเคลื่อนย้ายของอำนาจทางการเมืองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

กลุ่มอาคารศาลฎีกาสร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และมีลักษณะคล้ายงานสถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฎร เพราะการออกแบบนั้นนำเสนอความเรียบง่ายของรูปแบบสมัยใหม่ ที่ช่วยถ่ายทอดแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกันภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี

กลุ่มอาคารศาลฎีกาเก่าประกอบด้วยอาคารหลายหลัง แต่ที่มีความสำคัญที่สุดคือกลุ่มอาคารรูปตัววี ที่มีอาคารหลักสามหลัง โดยมี พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) สถาปนิกกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ

ปัจจุบันศาลฎีกาเก่านั้นได้ถูกรื้อถอนไปหลายส่วน และมีการดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งการก่อสร้างอาคารใหม่แห่งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ศาลฎีกาจะมีอาคารเป็นของตัวเอง และเป็นอาคารของศาลฎีกาอย่างแท้จริง ซึ่งก่อนหน้านี้อาคารที่ใช้เป็นศาลฎีกาเคยเป็นที่ทำการของอาคารศาลแพ่งมาก่อน เสมือนว่าศาลฎีกายืมอาคารอื่นๆ มาทำการ

 

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492
ไม่มีศาลาเฉลิมไทยในปัจจุบัน

อภิวัฒน์สยาม

ความทรงจำชุดที่ 1

สมบูรณ์ พวงไชโย อายุ 74 ปี อาชีพค้าขาย

เคยเข้าไปดูหนังในศาลาเฉลิมไทยบ้างไหม
เคย ก็สมัยก่อนเด็กๆ เป็นวัยรุ่นยังขายตั๋วหน้าโรงหนังอยู่เลย คือหนังเรื่องไหนคนเยอะ สมมุติตั๋วขาย 10 บาท เอามาขาย 15 มันก็ได้กำไรแล้ว เพราะเราไปจองตั๋วมาขาย มันก็ดีนะ วิถีชีวิตที่มันอยู่ไปเรื่อยๆ ก็สนุกดี

แต่มาถึงตอนนี้แล้ว มันไม่สนุก ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว มันเปลี่ยนแปลงไปหมด อีกหน่อยต่อไปแถบนี้จะไม่มีบ้านเหลือแล้ว เขาจะทำเป็นสวนสาธารณะหมด

ที่นี่มันเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างครับ
โรงหนังเฉลิมไทย ตอนนั้นเขารื้อไป รู้สึกว่าตอนนั้นก็รัฐบาลนี่แหละ รื้อเพื่อที่จะทำเป็นประตูต้อนรับแขกเมือง ว่าง่ายๆ ทำเป็นลานพลับพลา ที่ประทับ เขารื้อไปก็ทำเป็นที่ประทับเพื่อให้มันสวยงาม แขกเมืองมาก็มอบกุญแจประตูบ้าน (กุญแจเมือง) ว่าอย่างนั้นเถอะ

คิดถึงโรงหนังบ้างไหม
คิดถึงไหม … พวกภาพเก่าๆ เราก็คิดถึงนะ

แล้วคิดยังไงกับการที่เขา ทุบ/รื้อ ไปครับ
การที่ทุบไปมันก็ดีอย่างหนึ่ง และมันก็เสียอย่างหนึ่ง เรื่องการค้าขายอะไรพวกนี้ โรงหนังมันก็เก่าแก่ คนอยากจะอนุรักษ์ไว้ก็สลายไปหมด ดูอย่างเฉลิมกรุงเวลานี้ เขาก็ยังอนุรักษ์ไว้ได้ มันเป็นประวัติศาสตร์เก่าแก่ อย่างตึกนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เมื่อก่อนก็มีคนอยู่ มีคนเข้าไปขายของอะไรในนั้น ตอนหลังเขาก็ยึดกลับคืนหมด ทำเป็นนิทรรศน์รัตนโกสินทร์

เคยได้ยินคำว่า ‘อภิวัฒน์สยาม’ ไหม
เราเป็นคนโบราณ ไม่ค่อยเข้าใจหรอกนะ (หัวเราะ) ไม่ว่ามันจะหมายความยังไง…ก็ไม่เคย ไม่เคยได้ยินเท่าไหร่

เคยได้ยินเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไหมครับ
การเปลี่ยนแปลงน่ะเหรอ ในประวัติศาสตร์มันก็ต้องมีอยู่แล้วน่ะนะ การเปลี่ยนแปลง 2475 …คือ ในหลวงท่าน ไม่อยากจะมีอำนาจเหมือนสมัยก่อน ที่อยากจะตัดหัวใครอะไรก็ได้ในสมัยก่อนนะ แต่ว่าตอนหลังนี้ก็มีการมาเปลี่ยนแปลงอำนาจมาให้ประชาชนไป รัฐบาลก็เลยมามีอำนาจ และสั่งนู่นสั่งนี่ได้ประมาณนั้นน่ะ

รู้จักคณะราษฎรไหมครับ
คณะราษฎร รู้จัก เคยอ่านในหนังสือ แต่ว่าเกิดไม่ทัน เราก็ไม่เข้าใจความหมายมากเท่าไหร่ของคำว่าคณะราษฎร แต่ในประวัติศาสตร์ก็มีบันทึกไว้อยู่แล้ว

ความทรงจำชุดที่ 2

สมพร น้อยกาศักดิ์ อายุ 53 ปี พนักงานตัดแต่งสวน กทม.

แนะนำตัวหน่อยครับ
ชื่อ สมพร น้อยกาศักดิ์ ทำงานอยู่ตรงนี้เป็นลูกจ้าง กทม. ดูแลบริเวณบนนี้ทั้งหมด (ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์) แต่ถ้าฝั่งป้อมมหากาฬ ก็จะมีคนของเขาอยู่ ก็หน่วยงานเดียวกันนี่แหละ แต่ของเราดูแลแค่บนนี้

ทำงานตรงนี้มานานหรือยัง
อยู่ตรงนี้มา 20 กว่าปีแล้วค่ะ

มีการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้างตลอด 20 ปี
มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนะ แค่ดูแลต้นไม้เฉยๆ เราดูแลต้นไม้ ตัดหญ้าอะไรแค่นั้นเอง

มีเรื่องเล่าหรืออะไรที่เราผูกพันกับพื้นที่ตรงนี้บ้างไหม
ไม่มีเลย มันก็ไม่มีนะ เพราะเราแค่ทำงาน ก็เราแค่ทำงานก็ไม่มีอะไรอะ ไม่มีอะไรที่มันประทับใจ

แต่ถามว่าผูกพันไหม ก็พอมีบ้าง คือเวลามีเจ้าเสด็จมา เราก็คอยดูแลต้นไม้ ตัดแต่งต้นไม้ แล้วก็เวลาจะมีแขกบ้านแขกเมืองมาเราก็ทำหน้าที่ของเรา

แขกต่างประเทศมาใช้สวนบ่อยไหม
เมื่อก่อนมาบ่อย เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมา เมื่อประมาณ 10 ปี นานมากแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่มาเลย ส่วนใหญ่ก็มาทุกประเทศแหละ เจ้าต่างประเทศ ตอนในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านยังอยู่ บางทีก็พระเทพฯ แล้วแต่ แต่งานที่จัดก็เป็นงานของในหลวงน่ะแหละ ไม่ก็ส่วนมากเป็นงานการท่องเที่ยวอะไรอย่างนี้

เดี๋ยวก็จะมีงานอีกแล้ว งานเฉลิมฉลองประมาณสักช่วงเดือนกรกฎาคมมั้ง

เคยได้ยินว่าที่นี้เคยเป็นโรงหนังมาก่อน
ใช่ แต่เรามาไม่ทัน เพราะมาถึงเขาก็รื้อแล้ว ทุบแล้ว ไม่รู้ไม่เคยเห็นด้วยว่ามันเป็นโรงหนัง ไม่รู้เลยว่ามันเป็นยังไงมายังไง รู้แต่ว่ามันเป็นโรงหนังเฉลิมไทยก็แค่นั้น

ไม่เคยเห็นเลย เพราะเรามาที่นี่มันก็กลายเป็นสวนแล้ว

รู้จักคำว่าอภิวัฒน์สยามไหมครับ
ไม่รู้จัก

รู้จักการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไหมครับ
ไม่เคย ไม่รู้จัก พออยู่นี่ก็มีแค่ม็อบเสื้อแดง กปปส. ก็แค่นั้นนะ ที่เราเคยอยู่ในเหตุการณ์

ความทรงจำชุดที่ 3

บันทึกอื่นๆ

ศาลาเฉลิมไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงมหรสพที่ฉายภาพยนตร์ชื่อดังมากมายหลายเรื่อง

แต่เดิม ศาลาเฉลิมไทยตั้งอยู่ที่มุมถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนมหาไชย และถูกสร้างขึ้นราวๆ พ.ศ. 2483 แต่หยุดบริการไปช่วงหนึ่งเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนเปิดอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492

นักวิชาการปัจจุบันบางส่วนมองปรากฏการณ์ในการเกิดขึ้นของศาลาเฉลิมไทย โดยวิเคราะห์ว่า ศาลาเฉลิมไทยเกิดขึ้นจากเป้าประสงค์ที่ต้องการให้เป็นหนึ่งในเครื่องมือลดความศักดิ์สิทธิ์ ความสำคัญและวัฒนธรรมจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะหากพิจารณาแล้ว ศาลาเฉลิมไทยสร้างขึ้นสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองที่ต้องการเชิดชูวัฒนธรรมใหม่ตามแนวทางของคณะราษฎร

ดูจากลักษณะสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นสมัยใหม่ และสอดคล้องกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของอาคารที่สร้างบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งจุดที่ตั้งยังตั้งอยู่ด้านหน้าวัดราชนัดดาฯ บดบังโลหะปราสาทอันสร้างขึ้นครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงไม่แปลกที่เมื่อหมดยุคของคณะราษฎร จึงเริ่มมีเสียงวิพากษ์เกี่ยวกับจุดที่ตั้งและลักษณะทางสถาปัตยกรรมซึ่งสร้างขึ้นในช่วงนั้น

กระทั่งวันที่ 17 มกราคม พุทธศักราช 2532 คณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้รื้อศาลาเฉลิมไทย ด้วยเหตุผลเพื่อเปิดทัศนียภาพของวัดราชนัดดาราชวรวิหาร และโลหะปราสาท

ถือเป็นจุดสิ้นสุดของศาลาเฉลิมไทย

 

วันที่ 31 มกราคม 2482
สถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ของหอประชุมจุฬาฯ

อภิวัฒน์สยาม

ความทรงจำชุดที่ 1

สังวาลย์ มลิทอง อายุ 49 ปี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ของศูนย์ รปภ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลั

รู้จักหอประชุมจุฬาฯไหมครับ
รู้จักดี หอประชุมจุฬาฯ ส่วนมากจะเป็นการเอาไว้เพื่อสำรอง หรือจัดงานของคณะต่างๆ ที่มีการจัดแสดงละคร หรือว่างานของพระเจ้าแผ่นดิน ใช้ภาษาง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าในหลวงหรือพระเทพฯ จะมีกิจกรรมอะไร ก็ใช้หอประชุมเป็นสถานที่จัดงานหรือรับรองพระองค์ท่าน

หรือคณะไหนที่มีละคร ส่วนมากก็จะใช้หอประชุมเรา เป็นสถานที่จัด เพราะว่าห้องโถงมีสถานที่กว้าง และสวยงามมากเลยข้างใน

แล้วหอประชุมฯ สำคัญยังไงกับตัวคุณ
คือทุกคนมีส่วนร่วมที่จะให้เกียรติหอประชุมแห่งนี้อย่างเท่าเทียมกันทั้งหมด เพราะว่าทุกคนถือว่าเป็นส่วนกลางของจุฬาลงกรณ์ ถ้ามีกิจกรรมอะไร ทางหน่วยงานต่างๆ ก็จะเรียกใช้หน่วยงานของ รปภ. เราเป็นหน่วยงานหลัก เป็นตัวยืนหลัก มารับผิดชอบความปลอดภัย มาอำนวยความสะดวก

ถือว่าเรามีความรู้สึกดีกับหอประชุมจุฬาฯ คือลุงกับแฟนถือเป็นบุญวาสนามาก ที่ได้มาทำงานตรงนี้ เหมือนเรามีความสัมพันธ์กับเสด็จปู่ (รัชกาลที่ 5) คือความรู้สึกที่เกี่ยวกับหอประชุมจุฬาฯ เหมือนแม้ว่าจะอยู่กันคนละช่วงแผ่นดิน แต่เรารู้สึกผูกพัน เหมือนเคยอยู่ร่วมช่วงเดียวกันกับเสด็จปู่

พอจะทราบไหมครับว่าใครสร้างหอประชุมจุฬาฯ
บอกจริงๆ เลยก็คือไม่ทราบ ถึงลุงจะอยู่ตรงนี้ก็ยังไม่ได้ศึกษาลึกขนาดนั้น

รู้จักคำว่าอภิวัฒน์สยามไหมครับ
อภิวัฒน์สยาม อืม ลุงไม่รู้จักความหมายของคำคำนี้นะ ไม่รู้ว่าเขาจะแปลความหมายว่ายังไงบ้าง

แล้วรู้จักการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไหมครับ
ถึงมันจะนานมาแล้ว ถึงอาจจะคงได้เรียนแต่ก็ลืมไปบ้างแล้วล่ะ แต่ก็คงเป็นการปฏิวัติการปกครอง เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนะ ก็จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็พยายามจะเปลี่ยนให้มันเป็นเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มใบ แต่ก็เข้าใจดีอยู่ ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ส่วนมากก็ดีขึ้นมา ไม่ได้อยู่ในระบบแบบในสมัยก่อนๆ

ความทรงจำชุดที่ 2

เรืองลดา สันธิวาส อายุ 20 ปี นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ สาขาธรณีวิทยา

หอประชุมจุฬาฯ สำคัญกับคุณยังไง
มันเหมือนเป็นที่รวมค่ะ คือเข้ามาครั้งแรกก็เหมือนเป็นที่รวมปฐมนิเทศ พวกการใช้ชีวิตต่างๆ เหมือนเป็นครั้งแรก ที่เราได้รู้เรื่องราวของจุฬาฯ มากขึ้น เข้ามาครั้งแรกเราก็ไม่ค่อยรู้จักใคร แต่พอเข้าที่หอประชุม ก็รวมหลายๆ สาขาแล้วก็รู้จักเพื่อนสาขามากขึ้น

มีความรู้สึกยังไงกับหอประชุมจุฬาฯ
เป็นสถานที่ขลังดีค่ะ แล้วก็พอเข้าไปแล้วบรรยากาศก็ดีค่ะ มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นลูกพระเกี้ยวจริงๆ

หนูเคยเข้าไปครั้งเดียว คือตอนที่ปฐมนิเทศค่ะ

พอทราบประวัติเรื่องของการอภิวัฒน์สยามไหมครับ
ไม่ค่ะ

รู้จักการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไหมครับ
รู้จักค่ะ

เรารู้อะไรเกี่ยวกับคณะราษฎร์บ้างครับ
ก็รู้ว่าเป็นพวกใต้ดิน หนูรู้ไม่ค่อยละเอียดนะคะ แต่ว่าเหมือนเป็นพวกเดียวกับสัมพันธมิตรใช่ไหมคะ

เคยได้ยินเรื่องราวของ 2475 ในรูปแบบไหนครับ
เคยอ่านมาบ้างค่ะ ที่เรียนประวัติศาสตร์มา

ความทรงจำชุดที่ 3

บันทึกอื่นๆ

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นคู่มหาวิทยาลัยมายาวนาน

หอประชุมฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2482 ซึ่งบรรดานิสิตและบุคลากรของจุฬาฯ ทุกคนล้วนผูกพันและมีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีกรรมและกิจกรรมอันหลากหลายที่อาคารแห่งนี้

ในบางโอกาส หอประชุมยังใช้เป็นที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในวาระสำคัญต่างๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับชาติอีกหลายกิจกรรม

การก่อสร้างอาคารหอประชุมริเริ่มโดยอธิการบดีในขณะนั้นคือ ‘พันเอกหลวงพิบูลสงคราม’ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยพบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนิสิตและมีกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น หากแต่ยังไม่มีอาคารหอประชุมเพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทลัยมากพอ

การดำเนินการสร้างรูปแบบของสถาปัตยกรรมของหอประชุมจุฬาฯ เน้นการสร้างเอกลักษณ์ของคนไทย และเน้นสุนทรียศาสตร์แบบไทยสมัยใหม่ตามเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปะในยุคสมัยคณะราษฎร โดยลดทอนรายละเอียดบางส่วนเพื่อให้อาคารดูเรียบง่าย

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่ประยุกต์ให้สอดคล้องกับการก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และได้รับอิทธิพลมาจากพระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร ซึ่งออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์


อ้างอิงข้อมูลจาก:
ความล้มเหลวของ การสื่อความในงานสถาปัตยกรรมคณะราษฎร Political Meaning of the People’s Party Architecture and Its Failure โดย โดม ไกรปกรณ์ และ ธนสิษฐ์ ขุนทองพันธ์
– หนังสือ เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ โดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย
การเมืองการปกครอง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย สถาบันพระปกเกล้า
การอภิวัฒน์ 2475 กับเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมยุคใหม่ (ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ในโอกาสครบรอบ 72 ปีประชาธิปไตยไทย 24 มิถุนายน 2547) โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ
85 ปี การอภิวัฒน์ 2475: ทัศนะทางประวัติศาสตร์กฎหมาย โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล เข้าถึงได้จาก the101.world
“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” สัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เข้าถึงได้จาก mgronline.com
85 ปีปฏิวัติสยาม: มองนิยาม “ประชาธิปไตย” ผ่านอนุสาวรีย์ฯ โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ เข้าถึงได้จาก bbc.com
สถาปัตยกรรมคณะราษฎร ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๒๗) เข้าถึงได้จาก tamagozzilla.blogspot.com
ร้อยเรื่องราวจากรั้วจามจุรี เข้าถึงจาก cu100.chula.ac.th จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยสร้างชาติ/ศาลาเฉลิมไทย: วัฒนธรรมใหม่ที่ไม่อาจบดบังพลังเก่า เข้าถึงจาก cu100.chula.ac.th
ศิลปินดังเทียบรื้อ ‘เฉลิมไทย’- ชุมชนป้อมมหากาฬ ถาม คนไทยมีสิทธิอยู่ในที่เกิดและเติบโตหรือไม่ เข้าถึงจาก www.matichon.co.th
ตึกศาลฎีกา อาคารประวัติศาสตร์ “คณะราษฎร” ที่ระลึก “เอกราชทางศาล” ของไทย เข้าถึงจาก museum-press.com
บางเหตุผลที่สังคมไม่ควรยอมให้ “รื้อ-สร้าง” ศาลฎีกาใหม่ โดย อ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้าถึงจาก winnews.tv
Design & Representation of Power: “รื้อทิ้ง-สร้างใหม่” ศาลฎีกาปี 2551: สถาปัตยกรรมนี้ของใคร? ตอนที่ 1 เข้าถึงจาก tcdc.or.th

Author

พชรกฤษณ์ โตอิ้ม
WAY Team Junior นิสิตจากรั้วจามจุรีผู้ชื่นชอบการเขียน แม่นยำเรื่องภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ยอดเยี่ยมเมื่อโอบกอดกีตาร์ แต่อย่าให้เปล่งเสียงร้องออกมาจะดีที่สุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า