ห่างออกไปจากมหานครสู่ชุมชนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ที่ขณะนี้พวกเขามิเพียงได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้และอาหารดังเช่นประชาชนในเมืองเท่านั้น หากแต่ชาวบ้านยังได้รับผลกระทบจากอคติทางชาติพันธุ์และการบังคับใช้กฎหมายโดยไร้มนุษยธรรมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
ภาคี #Saveบางกลอย ได้รับรายงานว่า อัยการจังหวัดเพชรบุรีได้เตรียมการสั่งฟ้องชาวบ้านบางกลอย 27 คน ในวันที่ 18 สิงหาคม นี้ แม้จะอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยล่าสุดทราบว่าอัยการเลื่อนการสั่งฟ้องออกไปเป็นวันที่ 21 กันยายน 2564
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความผู้ดูแลคดีของชาวบ้านบางกลอยชี้ว่า “จริงๆ แล้วตามหลักข้อกฎหมายที่ชาวบ้านถูกฟ้อง วงเงินประกันคือ 200,000 บาท แต่จากการสอบถามกับเจ้าหน้าที่ เขาก็บอกว่าอาจจะเป็นแค่ 100,000 บาท เรากังวลเรื่องนี้เพราะวงเงินไม่ได้ต่ำเลย เพราะหากเราพูดว่าวงเงินประกัน 27 คน ขั้นต่ำคือ 2.7 ล้านบาท ขั้นสูงก็คือ 5.4 ล้านบาท”
จากตัวเลขวงเงินประกันประกอบกับวันนัดหมายสั่งฟ้องของอัยการเพชรบุรี นำมาซึ่งข้อกังวลหลายประการ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ชาวบางกลอยกำลังเผชิญปัญหาปากท้องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวบ้านจำนวนมากกำลังขาดสารอาหาร ขาดรายได้ในการจุนเจือชีวิตและครอบครัว อีกทั้งที่ดินบางส่วนที่ได้รับการเยียวยาจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็ไม่สามารถทำกินได้ ชาวบ้านทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในสถานะตกงาน การเร่งรัดกระบวนการทางคดีในตอนนี้จึงเป็นที่น่ากังขาอย่างยิ่ง
ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่หากชาวบ้านไม่มีเงินประกัน นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องถูกคุมขังและแบกรับความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 ในเรือนจำอย่างไม่อาจเลี่ยง
จากข้อกังวลข้างต้น ทางทนายความได้ยื่นหนังสือขอชะลอการดำเนินการสั่งฟ้องคดี ซึ่งในวันนี้ (18 สิงหาคม) ทางอัยการจังหวัดเพชรบุรีได้ออกคำสั่งให้เลื่อนการสั่งฟ้องออกไป โดยนัดหมายครั้งต่อไปคือวันที่ 21 กันยายน 2564
การเลื่อนดำเนินการสั่งฟ้องคดีครั้งนี้ ทนาย ส.รัตนมณี ตั้งข้อสังเกตว่า “คดีนี้ชาวบ้านได้ขอให้อัยการสอบสวนเพิ่ม พยานผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งหมด 18 คน แต่ปรากฏว่าทั้ง 18 คน ถูกสอบสวนไปหมดแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นสิงหาคม ใช้เวลาเร็วมาก หากเป็นคดีอื่นคงไม่ได้รีบขนาดนี้ แต่คดีนี้ทำงานรวดเร็วมาก
“ในความรู้สึกของเราจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา คดีนี้ดูเหมือนมีความพยายามเร่งรัดให้มีการสั่งฟ้องชาวบ้านพอสมควรเลย”
7 ข้อหา 3 กฎหมาย
จุดเริ่มต้นของคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้สนธิกำลังตำรวจ-ทหาร และนำเฮลิคอปเตอร์เข้าจับกุมชาวบ้านบางกลอยภายใต้ ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ หลังจากชาวบ้านได้เดินเท้ากลับไปยังพื้นที่ทำกินเดิมที่ ‘บางกลอยบน’ สาเหตุจากปัญหาสะสมเรื้อรัง ทั้งปัญหาปากท้องไปจนถึงศักยภาพของพื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้นั้นสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก
การจับกุมและนำตัวชาวบ้านลงมาจากบางกลอยบนในครั้งนี้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านถูกดำเนินคดี 27 ราย 7 ข้อหา ตามกฎหมาย 3 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายผู้ดูแลคดีได้เล่าถึงที่มาที่ไปของคดีว่า “แต่เดิมทางตำรวจได้ขอออกหมายจับชาวบ้านทั้งหมด 30 คน และเมื่อเจ้าหน้าที่ขึ้นไปจับกุม พบตัวชาวบ้านตามหมายจับเพียงแค่ 23 คน มีเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี 2 คน เยาวชนหนึ่งในนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่เช็คแล้วไม่มั่นใจว่าจับถูกคนหรือไม่ จึงได้รับการปล่อยตัว ส่วนเยาวชนอีกคนถูกจับตัวไป ทำให้ในตอนนั้นชาวบ้านทั้งหมดที่ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำมี 22 คน
“หลังจากนั้นปรากฏว่าศาลได้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยใช้วิธีการให้ชาวบ้านรายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน เมื่อ 22 คนนี้ถูกปล่อยตัว คดีจึงอยู่ในขั้นตอนของพนักงานสอบสวน หลังจากนั้นตามหมายจับแล้วมีอีก 6 คนที่ต้องเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เพราะเขารู้แล้วว่าเขาถูกออกหมายจับ ซึ่งศาลก็ได้ปล่อยตัวเช่นกัน”
กล่าวได้ว่า ชาวบ้าน 22 คนที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำ ประกอบกับ ชาวบ้านอีก 6 คนที่ถูกตั้งข้อหาตามหมายจับ รวมทั้งสิ้น 28 คน ทว่าในภายหลัง เมื่อพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้อัยการ ทางทีมทนายได้โต้แย้งว่า 1 ใน 28 คนนั้นเป็นเยาวชน อัยการจึงรับสำนวนฟ้องไว้เพียง 27 คน
ในส่วนของคดี ทนาย ส.รัตนมณี กลาวว่า การต่อสู้ทางคดีความก็ต้องดำเนินไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทว่าอีกด้าน ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบางกลอยนั้นคือกรณีที่ยืดเยื้อและยาวนาน การจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านจำเป็นต้องอาศัยความจริงใจ และดำเนินการบนหลักการหลายด้าน
“มันเริ่มจากชาวบ้านเขาถูกเอาตัวลงมาจากพื้นที่ หลังจากนั้นภาครัฐก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้เขาได้ เพราะตอนที่ชาวบ้านถูกเอาตัวลงมาครั้งแรก มันคือการตกลงกันว่า ให้ลงมาอยู่ข้างล่างก่อนไหม ถ้าอยู่ได้ก็อยู่ต่อ เพราะถ้าอยู่ข้างบนนั้น สวัสดิการรัฐจะเข้าไปดูแลไม่ได้ ชาวบ้านก็ลงมากัน แต่หลังจากลงมาแล้วปรากฏว่า ชาวบ้านไม่สามารถอยู่ได้ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้ ชาวบ้านยังไม่มีที่ทำกินทั่วถึง มีแต่ที่อยู่อาศัย แถมที่อยู่อาศัยนั้นก็ไม่ใช่ที่ดินของตัวเอง มันคือภาวะที่ชาวบ้านเดือดร้อน”
โดยเฉพาะปัจจุบัน การเตรียมการสั่งฟ้องชาวบ้านบางกลอย 27 คน ในครั้งนี้ ข้อกังวลของทนาย ส.รัตนมณี คือ หนึ่ง – การเดินทางอันยากลำบากจากหมู่บ้านบางกลอยมายังศาลในสถานการณ์โรคระบาด ปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
“การเดินทางมันไม่ง่ายและใช้เวลา สมมุติว่าชาวบ้านต้องมาสืบพยาน 3 วัน ก็เท่ากับว่าชาวบ้านต้องมา 5 วัน ซึ่งช่วงเวลานั้นเขาไม่สามารถทำอะไรได้เลย อีกทั้งคนส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีนี้ เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องหาเลี้ยงดูคนในครอบครัว”
สอง – ในสถานการณ์โควิดและการเมืองที่มีปัญหา คืออุปสรรคสำคัญที่อาจทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง
“ถ้าจะเข้าไปในพื้นที่ เราต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 3 ชั่วโมง จากตัวเมืองแก่งกระจานไปยังหมู่บ้าน มันคือความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นทนายเองที่ต้องปรึกษากับลูกความ หรือการต้องเตรียมคดีร่วมกัน มันก็ทำไม่ได้ในช่วงสถานการณ์โควิด”
สาม – ชาวบ้านไม่สมควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก
“แม้จะไม่ใช่สถานการณ์โควิด เขาก็ไม่ควรถูกดำเนินคดี การแก้ปัญหาเรื่องนี้ควรจะต้องแก้ด้วยการใช้หลักทางปกครอง หลักทางสังคมศาสตร์ หลักทางประวัติศาสตร์ มากกว่าการใช้หลักทางนิติศาสตร์เพียงอย่างเดียวมาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้”
ทนาย ส.รัตนมณี ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านบางกลอยคือ ปัญหาการไร้ที่ดินทำกิน เพราะที่ทำกินดั้งเดิมถูกยึดโดยรัฐ อีกทั้งเมื่อรัฐอพยพชาวบ้านลงมาพร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะจัดหาที่ดินทำกินและอำนวยการเพื่อให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี นั่นหมายความว่า รัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้ชาวบ้านดำรงชีวิตอยู่ได้ และเมื่อรัฐไม่สามารถทำได้ รัฐต้องยอมให้ชาวบ้านบางกลอยกลับไปอยู่ที่เดิม
“รัฐต้องไม่ใช้กฎหมายที่มีอยู่ไปดำเนินคดีกับเขา หาว่าเขาไปแผ้วถางป่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน มันคือเรื่องมนุษยธรรม เรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน รัฐต้องให้ความเคารพต่อความเป็นชุมชนดั้งเดิม และความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่ต้องให้ความเคารพ รัฐต้องยุติการใช้กฎหมายมาคุกคามเขาด้วยการดำเนินคดี”
ข้อสังเกตอีกประการสำคัญ นั่นคือ การดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดพชรบุรี โดยมี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานกรรมการ ประกอบกับการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 5 ชุด ประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการศึกษาประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานชุมชน และผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติ และการอพยพชุมชน
2. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากฎหมาย
3. อนุกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความ
4. คณะกรรมการศึกษาแนวทางและผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา สัตว์ป่า และการให้การบริการทางนิเวศ กรณีการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินที่บางกลอยบน
5. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านบางกลอยล่าง
“เราพบว่า ไม่มีความจริงใจจากรัฐบาลนี้ คือตั้งขึ้นมาเฉยๆ แล้วไม่มีการดำเนินการใดๆ ไม่มีความคืบหน้าจากคณะกรรมการที่แต่งตั้ง ไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการที่แต่งตั้งใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นรัฐต้องแสดงความจริงว่าต้องการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าพอชาวบ้านออกมาชุมนุม ก็ไปรับปากเขาว่าจะตั้งคณะกรรมการให้ พวกคุณกลับไปนะ พอตั้งกรรมการเสร็จ ก็ตั้งไว้ลอยๆ ไม่ได้ทำอะไรต่อ ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ทั้งสิ้น รัฐต้องไม่ทำแบบนี้ ต้องไม่หลอกลวงประชาชนแบบนี้
“รัฐควรต้องชะลอการดำเนินคดีกับชาวบ้านกลุ่มนี้ รอให้สถานการณ์โควิดดีขึ้น และรอให้มีการประชุมแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างจริงจังเสียก่อน แล้วค่อยมาดูกันว่า ต้องดำเนินคดีกับพวกเขาต่อหรือไม่ ตอนนี้เราจึงขอเรียกร้องให้มีการชะลอการดำเนินคดีไปก่อน”