นับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณชายฝั่งทะเลในเขตโทโฮคุ ตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 เป็นผลให้เกิดคลื่นสึนามิความสูงกว่า 40.5 เมตร สร้างความสูญเสียกับชีวิตนับหมื่นและความเสียหายในหลายเมืองที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ในเขตฟูบาตะ ที่ระเบิดขึ้นและเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีไปยังบริเวณโดยรอบ เหตุการณ์นี้นับเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดจากพลังงานนิวเคลียร์นับตั้งแต่การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครนเมื่อปี 1986
มิชิโอะ อาโอยามา นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (Meteorological Research Institute) ให้ข้อมูลว่าระดับของกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 บริเวณผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกอาจมีระดับการปนเปื้อนสูงกว่าเมื่อครั้งเชอร์โนบิลราว 10,000 เท่า
หลังเกิดเหตุการณ์ มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สวนสาธารณะฮิบิยะในกรุงโตเกียว ชาวญี่ปุ่นกว่า 5,000 คน ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นทบทวนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีของเหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ
นอกจากการชุมนุมของประชาชนในกรุงโตเกียว ยังมีการชุมนุมของพนักงาน TEPCO (Tokyo Electric Power Company) ที่บริษัทส่งไปยังพื้นที่โรงไฟฟ้าเพื่อจัดการความเสียหายด้วยค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งที่เป็นงานเสี่ยงอันตรายต่อการได้รับสารกัมมันตรังสี นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมกลุ่มเดียวกันยังได้ไปชุมนุมที่หน้าบริษัท Maeda Corporation ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่สัญญากับ TEPCO ในการเข้าไปจัดการพื้นที่โรงไฟฟ้าอีกด้วย
แม้การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ในโรงงานต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นทั้ง 22 แห่งจะชะงักลงเนื่องจากความกังวลต่อเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แต่ชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลมีแผนจะเปิดใช้โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเชิงพาณิชย์อีกครั้ง แต่ขณะนี้อยู่ในกระบวนการลงความเห็นและพิจารณาว่าจะอนุมัติการเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซนได (Sendai Nuclear Power Plant) ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเพื่อผลิตไฟฟ้าอีกครั้งหรือไม่
ที่มา: commondreams.org