3 ปี เผด็จการมินอ่องหล่าย บทสนทนาบนโต๊ะหมูจุ่มกับแรงงานย่าน ‘ลิตเติลเมียนมา’

หลังเงินเดือนออก มนุษย์แรงงานหลายคนคงอยากให้รางวัลกับชีวิต หาอาหารอร่อยๆ รับประทาน หรือไม่ก็สนุกสุดเหวี่ยงกับชีวิตยามคํ่าคืน ผมเองก็เช่นกัน อยากไปหาอาหารดีๆ รับประทานสักมื้อ ก็ลังเลใจอยู่ว่าจะไปร้านหมาล่าหม้อไฟดีหรือหาอาหารแปลกใหม่รับประทานดี เมื่อวนรถไปถึงหน้าร้านหมาล่าสายพานก็เปลี่ยนใจ เพราะคงโดนไปอีกหลายร้อยบาทเป็นแน่แท้ เลยตัดสินใจไปหาอะไรกินแถวที่พักย่านพระโขนงแทน 

ย่านพระโขนงถือเป็นย่านเก่าแก่ย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ ตะวันออก จากย่านเศรษฐีที่เติบโตมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 5 ทศวรรษก่อนหน้า และการมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ย่านนี้เป็นดงคอนโดมิเนียม ทว่า ในซอกหลืบภายใต้ร่มเงาของคอนโดที่ตั้งตระหง่านโดยรอบชุมชนตลาดพระโขนง ชุมชนดั้งเดิมที่ถดถอยเสื่อมโทรมตามกาลเวลา ได้พาให้พื้นที่ตรงนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จากการอยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา จนบริเวณตลาดพระโขนงนี้เองได้รับการขนานนามว่า ‘ลิตเติลเมียนมา’ (Little Myanmar) อันเป็นคอมมูนิตีของคนพม่าและชนกลุ่มน้อยหลากหลายชาติพันธุ์มารวมกัน มีที่พักราคาถูก ร้านอาหาร ร้านค้าที่ขายสินค้าจากประเทศบ้านเกิดให้เลือกซื้อเลือกหา 

เนื่องจากตลาดพระโขนงอยู่ไม่ไกลจากที่พัก ทั้งยังมีความน่าค้นหาอยู่ไม่น้อย ผมจึงเลือกใช้เวลาในช่วงหัวคํ่าที่นี่หลังวันเงินเดือนออก 

ร้านหมูจุ่มพม่ากลางซอย

ร้านหมูจุ่มพม่า กลางตลาดพระโขนง

ตลาดพระโขนงค่อนข้างแออัด มีตรอกซอยตัดผ่านซอกแซกเต็มไปหมด ในความซอกแซกเช่นนี้ล้วนเต็มไปด้วยร้านอาหารพม่าและชาติพันธุ์วรรณนาต่างๆ ทั้งร้านขายของชำ ร้านชา และร้านหมากเต็มไปหมด หลายครั้งก่อนหน้าที่เคยผ่านมาแถวนี้ก็ไม่ทราบว่าร้านไหนน่ากิน ร้านไหนอร่อย เพราะร้านเหล่านี้ตกสำรวจใน Google Map เป็นส่วนมาก สิ่งที่ทำได้คือ การสุ่ม (random) ว่าร้านไหนน่าจะอร่อยก็เลือกร้านนั้น ครั้งนี้ก็เช่นเคย สุ่มร้านกลางซอยพอดิบพอดี เป็น ‘ร้านหมูจุ่ม’ ของชายชาวกะเหรี่ยงจากเมืองเมียวดี ซึ่งเข้ามาทำงานในไทยได้ 8 ปีแล้ว ก่อนรวบรวมเงินทองมาเปิดร้านหมูจุ่มเล็กๆ ที่ลงทุนไม่มาก มีโต๊ะและม้านั่งพอรับลูกค้าได้ 4 คน ขายตั้งแต่เช้ายันคํ่า มีคนแวะเวียนมารับประทานมากมายตลอดวัน

นํ้าซุปใสและนํ้าจิ้มที่ทำมาจากซอสพริกพม่าผสมกับพริกกะเหรี่ยงคั่ว ให้ความเผ็ดร้อนอย่างมีเอกลักษณ์

ความแตกต่างของหมูจุ่มสูตรกะเหรี่ยงนี้คือ นํ้าซุปที่ใส เผ็ดพริกไทย และนํ้าจิ้มที่เผ็ดกว่าของมอญ (คนไทยมักคุ้นเคยกับหมูจุ่มพม่าที่สังขละบุรี) ส่วนตัวรู้สึกว่าความเผ็ดแบบนี้ทำให้รสชาติรสจัดจ้านกว่าที่สังขละบุรี และแม้จะเป็นหมูจุ่มสูตรกะเหรี่ยง แต่ลูกค้าของร้านกลับกลายเป็นคนเมียนมาที่มาจากหลายพื้นที่และมีชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน หนึ่งในนั้นคือ พี่แรง (แดง, ในภาษาปะโอไม่มีตัวสะกด ด แต่เป็น ร) ชาวปะโอ (Pa-o) จากเมืองตองจี (Taunggyi) รัฐฉาน 

ผมกับพี่แรงนั่งข้างกันและไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พวกเราเริ่มบทสนทนาบนความฉงนสงสัยในความแปลกแยก พี่แรงและพ่อค้าชาวกะเหรี่ยงถามผมเพื่อความชัวร์ว่า เป็นคนพม่าหรือเปล่า เพราะดูเหมือน แต่ก็ไม่ใช่ เลยตอบกลับไปว่าเป็น ‘คนไทย’ ก็ยิ่งทำให้พวกเขาสงสัยไปใหญ่ว่า มาทำอะไรแถวนี้ และมากินหมูจุ่มที่นี่ได้อย่างไร เพราะน้อยนักที่จะมีคนไทยแวะเวียนมากิน ผมจึงตอบไปว่า เคยกินหมูจุ่มพม่ามาก่อนที่สังขละบุรี ไปสังขละบุรีแต่ละครั้งก็นับไม้ได้อย่างน้อย 30 ไม้เป็นอย่างตํ่า เพราะหมูจุ่มพม่าถือเป็นอาหารโปรดปรานของผม เวลาไปสังขละบุรีทีไร ก็จดจ่อจะไปกินให้หนำใจ เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ไปสังขละบุรีแล้วไม่ได้กิน และรู้สึกว่าทริปนั้นมันดูง่อยไปเลย ไปถึงที่แต่เพื่อนดันไปกินหมูกระทะ มันก็เหมือนไปไม่ถึงสังขละบุรี แต่คราวนี้เป็นการเปิดโลกใหม่ด้วยหมูจุ่มสูตรกะเหรี่ยงแทน 

ระหว่างที่รับประทานไปนั้นก็ชวนถามไถ่พูดคุยกับพี่แรงว่ามาอยู่เมืองไทยนานหรือยัง เขาบอกว่ามาเมืองไทยหลายรอบแล้ว เริ่มจากเป็นช่างทาสี ก่อนจะผันตัวมาทำงานเป็นช่างตกแต่งภายใน เพราะรายได้ดี เลี้ยงครอบครัวได้ เจ้านายก็ดี เลยอยู่มาเรื่อยๆ จนปีนี้ขึ้นปีที่ 6 และยังไม่ได้กลับบ้าน 

“เมื่อ 4 ปีก่อน ผมเขียนจดหมายลางาน 2 เดือน เจ้านายก็อนุมัติแล้วด้วย แต่เกิดโควิดเสียก่อน เลยไม่ได้กลับบ้าน” พี่แรงเล่าต่อว่า การจะกลับบ้านนั้นต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน เลยต้องลางานยาวๆ เพราะแต่ละเส้นทางใช้เวลาต่างกันมาก เช่น หากเดินทางจากแม่สอด ข้ามไปยังเมียวดี จากเมียวดีไปกรุงเนปิดอว์ กว่าจะถึงตองจี ก็ล่วงไปทั้งอาทิตย์ แต่หากไปทางแม่สาย ข้ามไปท่าขี้เหล็ก ต่อไปเชียงตุง และจากเชียงตุงไปตองจีก็แค่วันเดียว 

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงและเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่พี่แรงก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อไปเยี่ยมพ่อกับแม่ได้ เพราะ ประเทศของเขายังอยู่ในภาวะ ‘สงครามกลางเมือง’ 

บทสนทนา 3 ปีหลังรัฐประหาร บนโต๊ะหมูจุ่มพม่า

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือวันครบรอบ 3 ปี การรัฐประหารเมียนมา โดยพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซานซูจี เมื่อปี 2021 เมียนมากลับเข้าสู่สงครามกลางเมืองครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังประเทศเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยแบบลุ่มๆ ดอนๆ ได้เพียงทศวรรษเท่านั้น และเมื่อล่วงเลยมา 3 ปี รัฐบาลเผด็จการมินอ่องหล่ายก็เริ่มส่งสัญญาณสั่นคลอน หลังกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA) และพันธมิตรกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ สามารถยึดครองพื้นที่จากกองทัพเมียนมา (ตั๊ดมะด่อ) ได้ในหลายภูมิภาคโดยเฉพาะทางตอนเหนือของรัฐฉาน 

เมื่อพูดถึงสงครามกลางเมืองในเมียนมา พี่แรงกล่าวว่า “ครอบครัวของผมสูญเสียบ้านที่อยู่อาศัยไป พ่อแม่ต้องระหกระเหินไปอยู่ในป่ากับพี่น้อง อาศัยถํ้าเป็นที่พักพิง” เขาเล่าต่อไปว่า “แต่ยังไงผมก็ยังส่งเงินไปให้ครอบครัว เพราะสถานการณ์เช่นนี้ถ้าครอบครัวไม่ได้รับเงินผมก็ไม่มีอะไรจะกิน เพราะที่นาก็ถูกทำลายด้วยเช่นกัน”

พี่แรงติดตามข่าวสารในประเทศบ้านเกิดอยู่เนืองๆ และทราบว่ากองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ สามารถเอาชนะตั๊ดมะด่อได้ โดยเฉพาะในรัฐฉานซึ่งเป็นรัฐที่เมืองตองจีตั้งอยู่ เขาภาวนาว่า “ผมอยากให้ชนะทหารสักที” เขาจะได้กลับไปเยี่ยมบ้าน อยากให้เมียนมามีการเลือกตั้ง เพราะในช่วงที่พี่แรงมาทำงานที่ไทย ตรงกับช่วงรัฐบาลของพลเอกเต็งเส่ง ที่เมียนมาเปิดประเทศเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นในปี 2011 

เขารื้อฟื้นความทรงจำได้ว่า “หลังจากอยู่เมืองไทย 2 ปี ผมกลับไปบ้าน เห็นแต่ความเจริญมากขึ้น” จากสมัยก่อนหน้าที่มีการเลือกตั้ง ต่อมาได้พรรคของอองซานซูจี แต่แล้วมันก็จบที่ทหารอีกเช่นเคย 

ผมถามเขากลับไปว่า แล้วประเทศไทยก็เคยอยู่ใต้รัฐบาลทหารมานาน ทนไหวหรือ พี่แรงแกขำ พร้อมกล่าวว่า “ยังดีกว่าพม่า แต่คนที่ได้รับเลือก ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ นี่ ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าพม่า” ผมได้แต่ยิ้มแห้งๆ ก่อนจะถามต่อว่า แสดงว่าติดตามการเมืองไทยอยู่ใช่ไหม พี่แรงบอกว่าพอจะติดตามข่าวจาก Facebook อยู่บ้าง แต่ก็ “พูดอะไรไม่ได้” ขอแค่อย่างเดียว ขอให้คนพม่าอยู่ดีมีสุข ทำงานได้ก็พอแล้ว 

หากรัฐบาลทหารพม่าล่มสสายลงไป ถามว่าพี่แรงต้องการรัฐบาลใหม่แบบไหน ผู้นำแบบไหน พี่แรงตอบแบบต้องไม่คิดเลยว่า “อองซาน” และขอให้การเลือกตั้งมีความเป็นประชาธิปไตย ผมเลยเย้ากลับไปว่า “อองซานแก่เเล้วนี่” แกบอกว่า “ใช่ แต่ขอให้เป็นใครก็ได้ที่มาจากฝั่งนี้” หรืออาจเป็นคนรุ่นใหม่ก็ได้ เหมือน ‘พิธา’ ผู้ที่แกบอกว่าได้รับเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เป็นนายกฯ

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า