สำนักงานกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (The World Cancer Research Fund: WCRF) ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมการดื่มและความเสี่ยงต่อการก่อมะเร็งที่ตับ จากงานวิจัยกว่า 30 ชิ้น ที่มีอาสาสมัครเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 8 ล้านราย และกว่า 24,500 รายเป็นผู้ป่วยด้วยมะเร็งตับ
อแมนดา แม็คลีน ผู้อำนวยการสำนักงาน WCRF ในอังกฤษสรุปตัวเลขสะเทือนใจนักดื่มไว้ว่า เพียง 3 แก้วต่อวันก็เพียงพอจะทำให้คุณเสี่ยงต่อมะเร็งตับ
ขณะที่ ศาสตราจารย์เอียน กิลมอร์ ประธาน Alcohol Health Alliance หนึ่งในแนวร่วมของ WCRF ตั้งข้อสังเกตว่า “แม้เครื่องดื่มแอลกอฮอลจะส่งผลกระทบต่อร่างกายไม่ต่างจากยาสูบและแร่ใยหิน และถูกจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งอันดับต้นๆ แต่สังคมยังไม่ค่อยตระหนักในเรื่องนี้เท่าที่ควร”
ความเสี่ยงในเพศชายถือว่าสูงกว่าฝ่ายหญิง เฉพาะในอังกฤษพบว่า ในผู้ชาย 100 คน พบผู้ป่วยมะเร็งตับ 1 คน ขณะที่ผู้หญิง สัดส่วนของผู้ป่วยอยู่ที่ 200 : 1 ในปี 2012 มีผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยด้วยอาการมะเร็งตับ 4,703 ราย ในบรรดามะเร็ง 200 กว่าชนิดที่พบในมนุษย์ มะเร็งตับถือเป็นอาการที่มีอัตราการรอดชีวิตเกือบต่ำที่สุด
คำแนะนำจาก WCRF ต่อชายหญิงนักดื่มคือ ไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 แก้วสำหรับผู้หญิง ขณะที่ผู้ชายควรจำกัดการดื่มของตนไว้ที่ไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน
ดร.ซาราห์ จาร์วิส ที่ปรึกษาทางการแพทย์ของกลุ่มศึกษาผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอลที่ได้รับทุนอุดหนุนจากอุตสาหกรรมสุรา Drinkaware กล่าวว่า เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ ทางที่ดีคือลดปริมาณการดื่มต่อวันลง
จาร์วิสแนะนำว่า สำหรับผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 2-3 หน่วยต่อวัน เทียบได้กับไวน์แอลกอฮอล 13 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 175 มิลลิลิตร ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 3-4 หน่วยต่อวัน หรือเบียร์ ซึ่งมีแอลกอฮอล 4 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณไพน์ครึ่ง
รายงานจาก WCRF ยังเสนอความเชื่อมโยงระหว่างภาวะโภชนาการล้นเกินกับความเสี่ยงมะเร็งตับ โดยผู้ป่วยมะเร็งร้อยละ 24 หรือเกือบ 1 ใน 4 สามารถป้องกันการลุกลามของมะเร็งด้วยการควบคุมน้ำหนักและงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลควบคู่กันไป
ขณะที่ พอล แฟโรห์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยามะเร็ง มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตั้งข้อสังเกตในรายงานของ WCRF ว่า เขาไม่คิดว่าจะสามารถระบุปริมาณการดื่มที่แนะนำต่อวันเพื่อป้องกันมะเร็งตับได้
ที่มา: alternet.org