เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) รวมตัวกันยื่นฟ้องหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้เพิกถอน คำสั่งที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะมีผลให้กิจการที่มีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้รับการยกเว้น และสามารถตั้งในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมได้ ประกอบด้วย กิจการโรงไฟฟ้า กิจการด้านพลังงาน และกิจการกำจัดและจัดการขยะจำนวนหลายร้อยโครงการทั่วประเทศ
ผลจากการออกคำสั่งที่ 4/2559 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนไม่อาจยอมรับได้ เหตุเพราะความไม่ชอบธรรมในการออกคำสั่งที่อาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของหัวหน้า คสช. ภายใต้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชนในระยะยาว เนื่องจากปล่อยให้โครงการด้านพลังงานและขยะสามารถเปิดดำเนินการในพื้นที่ใดก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์และควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
อีกนัยหนึ่งของการออกคำสั่งตามมาตรา 44 นั้น ยังถือเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม หลักการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจและระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ กฎหมายผังเมืองรวมถือเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเชิงพื้นที่ของประชาชน และเป็นกรอบกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละบริเวณให้มีความยั่งยืนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ แต่เมื่อกฎหมายผังเมืองถูกยกเว้นไปเสียแล้ว นั่นเท่ากับว่า รัฐได้ใช้อำนาจอาญาสิทธิ์ข้ามหัวประชาชน โดยไม่เคารพต่อกลไกการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของประชาชนเจ้าของพื้นที่ อีกทั้งจะทำให้เกิดความขัดแย้งในระดับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น สวนทางกับสิ่งที่ คสช. อ้างว่ากำลังทำหน้าที่เพื่อการปฏิรูปคืนความสุขและสร้างความปรองดองให้แก่ประชาชน
นี่คือเหตุผลว่า ทำไมภาคประชาชนจึงต้องลุกขึ้นสู้เพื่อคัดค้านคำสั่งตามอำเภอใจของหัวหน้า คสช.
การยื่นฟ้องหัวหน้า คสช. ครั้งนี้ สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี ได้สรุปสาระสำคัญอันเป็นเหตุแห่งความไม่วางใจของเครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ดังนี้
อะไรคือเหตุผลที่ประชาชนรับไม่ได้กับคำสั่งนี้
ประการสำคัญที่สุด เราต้องการยืนยันหลักการว่า ‘การใช้อำนาจรัฐที่ละเมิดสิทธิประชาชน ต้องถูกควบคุมและตรวจสอบได้’ ดังนั้น การออกคำสั่งที่ 4/2559 แม้จะอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ซึ่งเขียนไว้ว่า การกระทำใดๆ ของหัวหน้า คสช. ถือเป็นความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจนี้ก็ต้องถูกตรวจสอบได้โดยกระบวนการยุติธรรม
คำสั่งที่ 4/2559 จะมีผลอย่างไรบ้าง
คำสั่งนี้จะส่งผลให้เกิดการยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงว่าด้วยผังเมืองรวมในแต่ละพื้นที่ ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ พูดง่ายๆ ว่าคำสั่งนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะปัจจุบันเรามีผังเมืองรวมภายใต้กฎกระทรวงที่ประกาศบังคับใช้จำนวน 176 ผัง ประกอบด้วย ผังเมืองรวมจังหวัด 33 ผัง และผังเมืองรวมเมือง/ชุมชน 143 ผัง ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2559 ที่คำสั่งนี้ออกมา จึงมีผลต่อผังเมืองรวมทั้งประเทศ
สิ่งที่ตามมาก็คือ กิจการแปดประเภทจะได้รับการยกเว้นด้วย โดยเฉพาะกิจการโรงไฟฟ้า พลังงาน และกิจการเกี่ยวกับการจัดการขยะ
นับจากนี้ไป กิจการที่เสี่ยงอันตรายทั้งแปดประเภท จะสามารถตั้งตรงไหนก็ได้ใช่ไหม
กิจการทั้งแปดเป็นกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้ ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดไว้ในกฎหมายผังเมืองเพื่อให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ภายใต้การมีส่วนร่วมแสดงความเห็นของประชาชนในพื้นที่ เช่น กำหนดให้อยู่เฉพาะในเขตอุตสาหกรรม ไม่ใช่ไปตั้งในเขตพื้นที่ที่สงวนไว้สำหรับการเกษตร การอนุรักษ์ การท่องเที่ยว หรือเขตที่อยู่อาศัยของชุมชน แต่คำสั่งที่ 4/2559 พูดง่ายๆ ว่าเป็นการปลดล็อคผังเมืองให้สามารถตั้งอยู่ในพื้นที่ใดก็ได้
อย่างไรก็ดี ต้องคอยติดตามแผน PDP (Power Development Plan หรือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ) ของรัฐด้วยว่า จะลงรายละเอียดในแต่ละโครงการอย่างไร
คาดว่ามีโครงการใดบ้างที่น่าจะเป็นภัยร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน
ขณะนี้รัฐกำลังมีแผนเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะประมาณกว่า 50 พื้นที่ ซึ่งวันนี้มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งและมีตัวแทนมาร่วมฟ้องคดีจากแปดจังหวัด เช่น ฉะเชิงเทรา ลำพูน นครสวรรค์ ปทุมธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช สตูล และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดต่างๆ เหล่านี้กำลังเผชิญปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้า โรงกำจัดขยะ กากอุตสาหกรรม และหลายพื้นที่ก็เกิดปัญหาความขัดแย้ง
จุดประสงค์ในการฟ้องศาลปกครองสูงสุดคืออะไร
ข้อเรียกร้องของเราคือ ขอให้ยกเลิกคำสั่งนี้เสีย เพราะไม่ควรมีอำนาจใดที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะคำสั่งที่ออกมาโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นในระยะยาวอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่อีกมากมาย
การฟ้องหัวหน้า คสช. ครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาร่วมตรวจสอบ และเพื่อเป็นการบอกกับสังคมว่า เราจะไม่ยอมรับการใช้อำนาจแบบนี้อีกต่อไป
การเคลื่อนไหวหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
ขั้นตอนต่อจากนี้ต้องรอให้ศาลพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน นี่เป็นครั้งแรกที่มีการยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดจะถือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีอื่นๆ ต่อไป