เขาอยากอยู่ยาว
ดร.จากฝรั่งเศสท่านหนึ่งได้เคยกล่าวเอาไว้
ย้อนความ
แม้ละครย้อนยุคยอดนิยมบุพเพสันนิวาสจะถึงกาลอวสานอย่างสมบูรณ์แบบ แต่เมื่อย้อนมาพิเคราะห์ถึงซีรีส์ย้อนยุคเรื่องยาวกว่าและเข้มข้นกว่า ที่เรียกว่า ‘การปกครองระบอบประชาธิปไตย’ ในประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2475 แม้จะตะกุกตะกักไปบ้างในระยะแรกจากกระแสความคิดที่ว่า “ราษฎรยังโง่อยู่ ยังไม่พร้อม” แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะไปได้สวย โดยเฉพาะที่ปรากฏหลักฐานความเป็นไปชัดเจนใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 หรือที่ นายปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า ‘ร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่สมบูรณ์’ [1] ทุกสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้วนแล้วแต่มีจุดเกาะเกี่ยวยึดโยงกับประชาชนได้ทั้งสิ้น
ทว่าโชคชะตาทางการเมืองของราษฎรทั้งหลายในประเทศไทยกลับมีจุดพลิกผันเมื่อครั้งการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 แนวคิดที่ว่า “ราษฎรยังโง่อยู่ ยังไม่พร้อม” ได้ค่อยๆ กลับมายึดครองความเป็นใหญ่ จากนั้นมาภาพรวมของประเทศไทยก็ตกอยู่ในภาวะที่เรียกกันแพร่หลายว่า ‘วงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย’ [2]
ร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ ฉีกรัฐธรรมนูญ
ตามคำอธิบายของ อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล บอกว่า บรรดารัฐธรรมนูญที่ใช้ในประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2490 อาจมีแค่สองฉบับ [3] ดังนี้
[table class=”table-striped” colalign=”left|left”]
รัฐธรรมนูญฉบับอำนาจนิยม; รัฐธรรมนูญฉบับกึ่งอำนาจนิยมกึ่งอำมาตยาธิปไตย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว หรือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร; รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ใช้บังคับในระยะเวลาที่คณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจ; ประสงค์จะใช้บังคับเป็นการถาวร…
ยกร่างโดยบุคคลนิรนาม; ยกร่างโดยคณะบุคคลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง
เป็นของคณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารเป็นใหญ่; (ดูเหมือน) เป็นของประชาชน (ประหนึ่ง) ประชาชนจะเป็นใหญ่
ฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารล้วนมาจากคณะรัฐประหาร;ฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
มีบทบัญญัติลักษณะรวบอำนาจเด็ดขาด หรือ ม.44; ไม่มี (เว้นบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2521 และรัฐธรรมนูญ 2560)
เช่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557; เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540, 2550 และ 2560
-; ส่วนใหญ่แล้วปรากฏกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร (เว้นแต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 และ 2540)
[/table]
ทั้งนี้ วงจรซึ่งมีที่มาจากแนวความคิด “ราษฎรยังโง่อยู่ ยังไม่พร้อม” ได้กลายเป็นพล็อตเรื่องหลักและได้ฉายซ้ำไปซ้ำมาหลายต่อหลายครั้งโดยผู้แสดงหลากหลาย ไม่ว่าจะปรากฏขึ้นในชื่อตอนว่าอะไร หากเป็นวัยรุ่นยุค 90 หรือเกิดประมาณ พ.ศ. 2520-2530 ก็จะได้ชมการ remake ถึงสามรอบแล้ว และละครตอน ‘คืนความสุขให้คนในชาติ’ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก็ยังไม่เห็นฉากจบแต่อย่างใด
สำหรับคำตอบว่าละครฉากนี้จะจบเมื่อไรนั้นสิ่งหนึ่งที่จะตอบเราได้ (แต่อาจจะไม่ทั้งหมด) คือ ‘รัฐธรรมนูญ’ เพราะรัฐธรรมนูญคือการทำให้ระเบียบแห่งอำนาจของรัฐปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รัฐธรรมนูญคือภาพสะท้อนของสังคมในความคิดความฝันของผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือรัฎฐาธิปัตย์
ในเบื้องต้น เราอาจตั้งต้นจากคำถามง่ายๆ กับละครตอนปัจจุบันว่า “มาตรา 44 จะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไหร่” โดยพิเคราะห์จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันก็จะเห็นได้ว่าขณะนี้อยู่เราอยู่ในช่วงเวลาไหน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 265 บัญญัติว่า
ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลัง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557…และให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอํานาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป…
หากพิเคราะห์จากบทบัญญัตินี้จะเห็นได้ว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จะสิ้นผลไปแล้วจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติและอำนาจตามมาตรา 44 ยังคงอยู่ ด้วยผลจากมาตรา 265 นี้ ประเด็นนี้แม้จะมีผู้พยายามอธิบายในช่วงที่มีการรณรงค์ รับ/ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 279 มาตรา จะทำให้เราต้องรับบทบัญญัติที่มีการยกเว้นรัฐธรรมนูญในมาตรา 44 มาด้วย [4] แต่รัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ผ่านการประชามติมาในที่สุด ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญคู่’
โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทั้ง 279 มาตรา และมาตรา 44 ซึ่งโดยเนื้อหาแล้วสามารถยกเว้นรัฐธรรมนูญ 60 ได้ทั้งฉบับได้ดำรงอยู่ ‘คู่กัน’ ส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้มีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งปีเศษแล้ว แต่ภาพรวมของบรรยากาศทางการเมืองในประเทศกลับดูประหนึ่งว่ายังคงปกครองด้วยอำนาจในลักษณะ ‘รัฏฐาธิปัตย์ – ม.44’ เหมือนไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือยังไม่มีกติกาทางการเมืองใช้บังคับกันแต่อย่างใด [5]
หลักฐานอย่างง่ายๆ ของบรรยากาศแห่งการดำรงอยู่ของบ้านเมืองที่ปราศจากรัฐธรรมนูญคือ เมื่อใครสักคนในสังคมตั้งคำถามขึ้นว่า “เราจะเลือกตั้งเมื่อไหร่” สายตาของพวกเขาน้อยครั้งที่จะแสวงหาคำตอบโดยการเปิดดูตัวบทรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่จะสอดส่ายไปที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เจ้าของนิ้วเพชรมาตรา 44 มากกว่า
มนุษย์คิดค้นนวัตกรรมที่เรียกว่ากฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือเหนี่ยวรั้งอำเภอน้ำใจคน แต่มาตรา 44 มีลักษณะตรงข้ามคือ ถือเป็นการให้ค่าบังคับทางกฎหมายแก่อำเภอน้ำใจของบุคคล เช่นที่มาตรา 44 ได้เริ่มต้นด้วยประโยคว่า “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็น…
“Sic Volo, Sic Jubeo, ut leges – เพราะฉันชอบอย่างนี้ เพราะฉันต้องการอย่างนี้ จงไปออกกฎหมายมา” – ริเวียร์ ภรรยาของจูเลียส ซีซาร์ ได้เคยกล่าวเอาไว้ก่อนสาธารณรัฐโรมันจะล่มสลาย
ทั้งนี้ หากพิเคราะห์ถึงแนวทางการปฏิบัติที่อนุญาตให้อำนาจในลักษณะพิเศษดำรงคงอยู่ขณะที่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น ก็ได้เคยปรากฏขึ้นในสังคมการเมืองของประเทศไทยเช่นกันใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 บทเฉพาะการมาตรา 200 แต่ก็ไม่ปรากฏว่า พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลทหารขณะนั้นได้ใช้อำนาจนี้แต่อย่างใด แตกต่างจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังคงมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาแล้วทั้งสิ้น 37 ฉบับ [6] แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะประกาศใช้แล้วก็ตาม [7]
เราจะพ้นจากภาวะนี้เมื่อไหร่? อย่างน้อยต้องมีการจัดการเลือกตั้งก่อน?
หากเรายังไม่พิเคราะห์ถึงระเบียบแห่งอำนาจของ คสช. ซึ่งฝังรากลึกผ่านกลไกหลายประการ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่แค่ลองพิจารณาเฉพาะระเบียบแห่งอำนาจในลักษณะมาตรา 44 ว่าจะดำรงอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไหร่นั้น คำตอบจะอยู่ในมาตรา 265 ซึ่งได้บัญญัติว่า “ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ … ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่”
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เลือกตั้งแล้ว คสช. และอำนาจตามมาตรา 44 จะหายไป ต้องรอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับตำแหน่งหลังจากการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น การดำรงอยู่ของ คสช. และอำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จึงจะสิ้นสุดลง
แต่อุปสรรคคือ กว่าที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่นั้นต้องผ่านขั้นตอนสำคัญอย่างน้อยสองประการ คือ การเลือกตั้ง และการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อที่จะจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
ขั้นตอนการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญมาตรา 268 ได้กำหนดให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสี่ฉบับ (สส. / สว. / คณะกรรมการการเลือกตั้ง / พรรคการเมือง) มีผลใช้บังคับ ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองได้ประกาศใช้แล้ว ส่วนร่าง พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. และการเลือกตั้ง สส. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายสองฉบับนี้อยู่ และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำสั่งรับเรื่องไว้วินิจฉัยแล้ว ซึ่งรายละเอียดจากเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ [8] ปรากฏรายละเอียดดังนี้
[table colalign=”left|left|left”]
-; ร่าง พรป. การเลือกตั้ง สส.; ร่าง พรป. การได้มาซึ่ง สว.
ขั้นตอน; ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยในวันที่ 11 เมษายน 2561; ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยในวันที่ 28 มีนาคม 2561
ประเด็นที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ; 1. การจำกัดสิทธิในการได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการและพนักงาน ตลอดจนลูกจ้างของรัฐบางตำแหน่ง ของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอาจเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินกว่าเหตุ ~~ 2. การอำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือคนพิการ ผู้ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ในการเลือกตั้งอาจเป็นการขัดต่อหลักการเลือกตั้งโดยตรงและโดยลับ; การกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัคร วิธีการเลือกวุฒิสภา ในช่วงระยะเวลาที่ใช้บทเฉพาะกาล อาจขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาในมาตรา 107
[/table]
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอาจทำการวินิจฉัยคำร้องทั้งสองได้สามแนวทางด้วยกันคือ
- วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายในส่วนที่ สนช. เสนอไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีนี้นายกรัฐมนตรีจะทำการนำ พรป. ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
- วินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ข้อความดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญให้ตกไปเฉพาะข้อความนั้น และนายกรัฐมนตรีจะนำ พรป. ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
หากเป็นไปในแนวทางที่ 1-2 จะถือเป็นการทำให้การเลือกตั้งมาถึงเร็วขึ้นกว่าการวินิจฉัยไปในแนวทางที่ 3 ที่จะกล่าวถึงถัดไป
อย่างไรก็ตามในมาตรา 2 ของร่าง พรป. สส. ได้กำหนดว่า ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับภายในระยะเวลา 90 วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะทำให้กำหนดระยะเวลาเลือกตั้งขยายออกไปจากเดิมรวมทั้งสิ้นประมาณ 240 วัน (90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา พรป. จึงมีผลบังคับ + จะต้องจัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลา 150 วัน) ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้การเลือกตั้งน่าจะเป็นช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ตามที่รัฐบาล คสช. ได้แจ้งไว้กับประชาชนในช่วงต้นปี 2561
- วินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญของร่าง พรป. ศาลจะวินิจฉัยให้ พรป. ตกไปทั้งฉบับ
หากพิจารณาตามทางเลือกที่ 3 แล้ว ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นการยากที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ พรป. สส. ตกไปทั้งฉบับ เพราะเรื่องการตัดสิทธิการทำงานกับหน่วยงานรัฐของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กับการอำนวยความสะดวกให้ผู้เลือกตั้งที่ทุพพลภาพ ไม่ว่าจะพิเคราะห์ในแง่ไหน ก็ไม่น่ากระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของการเลือกตั้ง สส. ตาม พรป.การได้มาซึ่ง สส. แต่ส่วน พรป.การได้มาซึ่ง สว. นั้น หากศาลเห็นว่าหลักการการได้มาซึ่ง สว. ในห้าปีแรก ขัดกับรัฐธรรมนูญ กรณีดังกล่าวนี้ถือว่ามีแนวโน้มสูงที่ศาลอาจวินิจฉัยให้กฎหมายตกไปทั้งฉบับได้
ที่สำคัญคือ หากศาลวินิจฉัยให้ พรป. ฉบับหนึ่งฉบับใดตกไป ก็จะกลายเป็นประเด็นปัญหาขึ้นทันทีว่าจะจัดทำร่าง พรป.ฉบับใหม่กันอย่างไร ซึ่งมีอยู่อย่างน้อยสองแนวทางความเห็นคือ [9]
แนวทางแรก จะต้องมีการจัดทำร่าง พรป. ใหม่ตามกระบวนการใน บทเฉพาะกาล มาตรา 267 เช่นเดิม ซึ่งกินระยะเวลาเพิ่มอีกประมาณกว่า 300 วัน (กรธ. ร่างใหม่ภายใน 240 วัน + สนช. พิจารณาภายใน 60 วัน + ส่งให้ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญและ กรธ. พิจารณา หากไม่เห็นพ้องต้องกันระยะเวลาก็จะเพิ่มไปอีก) จึงจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อ พรป. มีผลบังคับใช้ การเลือกตั้งก็จะต้องถูกจัดให้มีขึ้นในอีก 150 วัน
แนวทางที่สอง กระบวนการจัดทำร่าง พรป. ตามบทเฉพาะกาลถือว่าสิ้นผลไป ต้องดำเนินการตามบทถาวรมาตรา 131 และ 132 แทน ซึ่งกินระยะเวลาอีกประมาณกว่า 180 วัน (เสนอโดย 1 ใน 10 ของ สนช. หรือ ครม. ตามข้อเสนอแนะของ กกต. ต่อ สนช. โดย สนช. ต้องทำการพิจารณาภายใน 180 วัน + ส่งให้ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาภายใน 15 วัน หากไม่เห็นพ้องต้องกันระยะเวลาก็จะเพิ่มไปอีก) จึงจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อ พรป. มีผลบังคับใช้ การเลือกตั้งก็จะต้องถูกจัดให้มีขึ้นในอีก 150 วัน
ไม่ว่าจะตีความตามแนวทางแรกหรือแนวทางที่สอง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรป. สส. หรือ สว. ขัดรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งตามโรดแมปก็มีแนวโน้มสูงที่จะถูกเลื่อนออกไปอย่างยากที่จะกำหนดวันได้ (คณะร่างรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า Convention of Philadelphia ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาประมาณสี่เดือน คณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของพม่า ใช้ระยะเวลาการร่างทั้งสิ้น 16 ปี)
ทั้งนี้ ตามรายงานข่าวที่ 5/2561 ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ที่จะถึงนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณากำหนดประเด็นและอภิปราย ว่า พรป.สส. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และที่สำคัญคือในวันเดียวกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะทำการลงมติว่า พรป.การได้มาของ สว. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งผลของการลงมติดังกล่าวจะทำให้เราเห็นแนวโน้มได้ชัดเจนขึ้นว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีกหรือไม่
และที่กล่าวมานี้ทั้งหมดคือขั้นตอนการกำหนดวันเลือกตั้งเท่านั้น
ยังไม่ได้พิเคราะห์ถึงการเลือกตั้งที่จะมาถึงดังกล่าวจะเสียไปเป็นโมฆะเหมือนการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษา 2549 และ 2 กุมภาพันธ์ 2557 หรือไม่
และยังไม่ได้พิเคราะห์ถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมารับตำแหน่ง เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ คสช. พ้นจากตำแหน่งและอำนาจตามมาตรา 44 จะสิ้นสุดลงแต่อย่างใด ซึ่งจะได้ทำการกล่าวถึงในบทความต่อไป
เขาอยากอยู่ยาว
ดร.จากฝรั่งเศสท่านหนึ่งได้เคยกล่าวเอาไว้
เชิงอรรถ:
[1] ผู้สนใจสามารถรับชมเสียงบทสัมภาษณ์ ปรีดี พนมยงค์ ที่ให้ไว้แก่สำนักข่าว BBC ประเทศไทย เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยสั้นได้ที่ youtube.com
[2] ลิขิต ธีรเวคิณ, วิวัฒนาการการเมืองการปกครองของไทย, พิมพ์ครั้งที่ 10, กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554, หน้า 157
[3] สมชาย ปรีชาศิลปะกุล, อภิรัฐธรรมนูญไทย, พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพ: สภาบันปรีดี พนมยงค์, 2550, หน้า 15-26
[4] แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ สืบค้นจาก ndmth.org
[5] ปิยบุตร แสงกนกกุล, 1 ปีรัฐธรรมนูญ 2560 1 ปีรัฐธรรมนูญคู่ ในเว็บไซต์อนาคตใหม่ เพื่อประเทศไทยที่มีอนาคต สืบค้นจาก thefuturewewant.today
[6] สำหรับคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งหมดสามารถสืบค้นได้จาก เว็บไซต์ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิขาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ library2.parliament.go.th
[7] ผู้สนใจรายละเอียดสามารถสืบค้นได้จาก ทวีศักดิ์ เกิดโภคา, ประกาศใช้ รธน. ได้ 1 ปี แต่ คสช. ยังใช้อำนาจตาม ม.44 ใน รธน.ชั่วคราว 57 อีก 34 ครั้ง สืบค้นจาก prachatai.com
[8] ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2561 วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561 สืบค้นจาก constitutionalcourt.or.th
และข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2561 วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2561 สืบค้นจาก constitutionalcourt.or.th
[9] วรศักดิ์ อุวรรณโณ, คำบรรยายเนติบัณฑิตสมัยที่ 70 วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 6 วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เล่ม 8 หน้า 8-9