5 สิ่งที่อุตสาหกรรมแฟชั่นไม่อยากให้คุณรู้

fast-fashion-1

แม้ในสายตาคนทั่วไปจะมีแต่ของสวยงามเจริญหูเจริญตา แต่เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมแฟชั่น อีกมุมที่เล็ดรอดออกมาคือชื่อเสียที่ยังปิดไม่มิด ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานเด็ก และค่าแรงที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ การโฆษณาที่ใช้ประโยชน์จากเรื่องทางเพศ ของเสียจากอุตสาหกรรม ไปจนถึงประเด็นกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

แม้จะทุ่มงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์นับล้านดอลลาร์ในแต่ละปีเพื่อกู้ชื่อเสียง ไปจนถึงการสนับสนุนโครงการที่ดูจริงใจอย่างการออกคอลเล็คชั่นที่ใส่ใจแรงงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริจาคเข้าโครงการช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม แฟชั่นยังถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมมือสะอาดน้อยที่สุดในโลก และนี่คือ 5 สิ่งที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้

 

fast-fashion-6

1. เคยรู้สึกตกเทรนด์ภายใน 1 สัปดาห์ไหม

นี่คือสิ่งที่อุตสาหกรรมแฟชั่นถูกออกแบบมา ก่อนหน้านี้ มีฤดูกาลแห่งแฟชั่นเพียง 2 ครั้งต่อปี นั่นคือ Spring/Summer และ Fall/Winter หรือเสื้อผ้าสำหรับหน้าร้อน กับหน้าหนาว

ขณะที่ในปี 2014 อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นตัวจุดประกายให้เกิด 52 ฤดูกาลแฟชั่นต่อปี นั่นคือ ฤดูกาลใหม่เกิดขึ้นในทุกๆ สัปดาห์ เป้าหมายของ ‘fast-fashion’ คือพยายามกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าให้มากขึ้น และเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อลิซาเบธ ไคลน์ เจ้าของหนังสือ Overdressed: The Shockingly High Cost of Cheap Fashion ให้ข้อมูลว่า แบรนด์เสื้อผ้าดังจากสเปนอย่าง Zara คือหนึ่งในผู้บุกเบิกคอนเซปท์ fast-fashion ด้วยการส่งคอลเล็คชั่นใหม่ๆ เข้าร้าน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วน H&M และ Forever21 ต่างก็มีการจัดส่งสินค้าสไตล์ใหม่ๆ แทบทุกวัน ขณะที่เว็บไซต์ Topshop ก็แนะนำสไตล์การแต่งตัวถึง 400 สไตล์ต่อสัปดาห์แก่ผู้เข้าชม

 

fast-fashion-2

2. แน่ใจได้อย่างไรว่านี่คือการลดราคาจริงๆ

แฟชั่นนิสตาบางคนชอบที่จะเข้าร้าน outlet อย่าง TJ Maxx หรือ Marshall’s เพื่อจะได้ชุดที่มีดีไซน์ในราคาเบาๆ แต่ความจริงแล้ว ป้ายยี่ห้อเหล่านั้นอาจเพิ่งถูกติดเข้าไป

เจย์ ฮอลสไตน์ ผู้เขียนบทความ ‘The Myth of the Maxxinista’ เปิดเผยเรื่องนี้ขึ้นมาว่า จากความเชื่อของเรา เสื้อผ้าตกมาตรฐาน ที่มักเรียกกันว่าเสื้อผ้า outlet ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไปวางขายตามร้านเสื้อผ้าทั่วไป แต่ขณะเดียวกัน ในกระบวนการผลิต ก็แทบจะเรียกได้ว่า แยกสายการผลิตกับเสื้อผ้าปกติด้วยซ้ำ

ความจริงก็คือ ผู้ค้าเสื้อผ้า outlet ตกลงกับดีไซเนอร์บางรายเรียบร้อยแล้วว่า พวกเขาขออนุญาตนำยี่ห้อที่ผู้คนคุ้นเคยไปติดบนเสื้อผ้าที่ผลิตจากโรงงานในคุณภาพต่ำ

บทความในเว็บไซต์ Jezebel ก็ยืนยันในเรื่องนี้ ด้วยการเปิดเผยว่าเสื้อผ้าแบรนด์ดังอย่าง J. Crew, Gap และ Saks’ Off 5th ที่วางขายในร้าน outlet ต่างๆ ไม่ใช่เสื้อผ้าลดราคาจริงๆ เพราะคุณภาพในการผลิตแตกต่างจากของที่วางในร้านอย่างเห็นได้ชัด

 

fast-fashion-3

3. เสื้อผ้าผสมสารตะกั่ว

ข้อมูลจากศูนย์คุณภาพสิ่งแวดล้อม (Center for Environmental Health) ระบุว่า Charlotte Russe, Wet Seal, Forever21 และอีกหลายแบรนด์ fast-fashion ยังคงจำหน่ายสินค้าที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าสตางค์ เข็มขัด หรือรองเท้า ทั้งที่พวกเขาลงนามในข้อตกลงจำกัดการใช้โลหะหนักและสารเคมีในผลิตภัณฑ์แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ การปนเปื้อนสารตะกั่วอาจเกิดขึ้นได้ตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่การใช้สารฆ่าแมลงและปราบศัตรูพืชในแปลงปลูก ไปจนถึงการผสมสารทนไฟในช่วงผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป

สำนักข่าว New York Times รายงานเรื่องนี้โดยเสนอว่า ศูนย์คุณภาพสิ่งแวดล้อมพุ่งเป้าไปที่การลดปริมาณสารตะกั่วปนเปื้อนในสินค้าสำหรับหญิงสาวเป็นสำคัญ เนื่องจากตะกั่วที่สะสมในกระดูกจะสามารถปล่อยออกมาได้ระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับทั้งแม่และทารก

การมีประวัติสัมผัสสารตะกั่วยังส่งผลต่อภาวะการมีบุตรยาก และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง และความดันโลหิตสูง นักวิทยาศาสตร์ยังยืนยันว่า ไม่มีระดับของสารตะกั่วที่ปลอดภัยในร่างกายมนุษย์

 

fast-fashion-4

4. ดีไซน์ให้พังไว ใช้แล้วรีบทิ้ง

ยักษ์ใหญ่ของ fast-fashion อย่าง H&M, Zara และ Forever21 โมเดลทางธุรกิจของพวกเขาขึ้นอยู่กับความต้องการเสื้อผ้าใหม่ๆ ของลูกค้า ฉะนั้น เมื่อย้อนไปถึงการออกแบบ ก็ต้องพยายามทำให้เนื้อผ้าเปลี่ยนไปภายในครั้งแรกที่ซัก

อลิซาเบธ ไคลน์ เพิ่มเติมข้อมูลว่า แบรนด์ขวัญใจสาวๆ อย่าง H&M ผลิตเสื้อผ้าหลายร้อยล้านชิ้นต่อปี ขณะที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ทิ้งเสื้อผ้า 68 ปอนด์ต่อปี ตัวเลขนี้ไม่รวมการบริจาคเสื้อผ้าหรือการขายให้กับร้านเสื้อมือสอง แต่คือน้ำหนักเสื้อผ้าที่ลงถังขยะแล้วจบลงที่หลุมฝังกลบขยะประจำเมือง เพราะเสื้อผ้าทุกวันนี้ส่วนใหญ่มีส่วนผสมของเส้นใยสังเคราะห์จากปิโตรเลียม ซึ่งต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการย่อยสลาย

 

fast-fashion-7

5. เลื่อมและลูกปัดคือสัญลักษณ์ของแรงงานเด็ก

ลูซี ซีเกิล ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือของเธอ To Die For: Is Fashion Wearing Out the World? ว่าแม้จะมีเครื่องจักรที่สามารถปักเลื่อมและลูกปัดจนดูเหมือนงานทำมือ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าค่อนข้างมาก ซีเกิลบอกว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่โรงงานจะมีเครื่องปักนี้ในการป้อนสินค้าให้กับวังวนการผลิตแบบ fast-fashion

สถิติระบุว่า ร้อยละ 20-60 ของกระบวนการผลิตเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เกิดขึ้นตามบ้านจากแรงงานไม่ประจำ จากการสืบค้นต่อด้วยตนเอง ซีเกิลพบว่าแรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้านับล้านในประเทศด้อยพัฒนา ที่ต้องรับงานไปทำที่บ้าน อาศัยอยู่ในสลัมร่วมกับครอบครัวที่มีเพียงห้องเดียว ซึ่งต้องอาศัยแสงสว่างธรรมชาติในการทำงาน รวมถึงต้องระดมเด็กๆ ในครอบครัวมาช่วยกันปักชิ้นงานเพื่อส่งให้ทันตามกำหนด

 

กลับมาที่ตัวผู้บริโภค เราจะเป็นผู้บริโภคที่มีจิตสำนึกและใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้าได้อย่างไรบ้าง บางครั้งอาจเริ่มต้นง่ายๆ ที่การหาความรู้รอบด้าน ลองอุดหนุนร้านเสื้อผ้าที่รู้ที่มาและให้กำลังใจแก่ผู้ออกแบบอิสระในพื้นที่ ซื้อเท่าที่จำเป็น หรือหากไม่คิดมากเรื่องการใช้ของต่อจากคนอื่น การซื้อเสื้อผ้ามือสองก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

 

ที่มา: huffingtonpost.com

logo

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า