6 อิริยาบถต้านทหารหลังรัฐประหาร 1 สัปดาห์

แม้ประเทศไทยจะผ่านการรัฐประหารกว่า 13 ครั้ง เปลี่ยนรัฐธรรมนูญมากกว่า 20 ฉบับ แต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กลับปรากฏสิ่งใหม่ให้เห็นพอสมควร เพราะพ้นไปจากภาพกองกำลังที่เข้ายึดอำนาจ ไม่มีรถถังใหญ่โตตั้งตระหง่านโชว์ตามสถานที่สำคัญ เช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล กรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ แบบในยุคโบราณแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เปลี่ยนสไตล์การรัฐประหารมาสู่การวางกำลังย่อยตามตรอกซอกซอยแทน มีการตั้งซุ้มบังเกอร์ตามจุดต่างๆ ของเมือง รวมถึงมีการบุกค้นบ้านนักการเมือง นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม ข้าราชการที่ใกล้ชิดรัฐบาล ท่ามกลางการออกประกาศคำสั่งต่อเนื่องรายวัน

เพียง 1 สัปดาห์หลังรัฐประหาร (อาจจะพูดให้เคร่งครัดกว่านั้น การรัฐประหารอาจจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 หลัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกประกาศกฎอัยการศึก) ไปจนกระทั่งครบ 100 วัน หลังการยึดอำนาจ มีผู้คนจำนวนไม่น้อยท้าทายอำนาจปืน ด้วยการต่อต้านการรัฐประหาร

ถัดจากนี้ WAY ขอนำเสนอรูปแบบการต่อต้านรัฐประหาร จากประชาชนคนธรรมดา ในยุคที่การกดปราบประชาชนรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย โดยมีทั้งสิ้น 6 รูปแบบ ดังนี้

1. รวมตัวหลวมๆ เล็กๆ

รูปแบบนี้เป็นการชุมนุมที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนธรรมดาที่ไร้สังกัดและการจัดตั้ง ปรากฏขึ้นทันทีหลังการประกาศยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในเย็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทุกๆ วันหลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ประชาชนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารจะแสดงออกผ่านการรวมตัวกันแบบหลวมๆ ในจุดสำคัญต่างๆ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกราชประสงค์ ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย เป็นต้น

ผู้เข้าร่วมจะเขียนข้อความประณามการรัฐประหาร มีการชูป้าย การร้องเพลงร่วมกัน การสวมหน้ากาก แม้กระทั่งกินแมคโดนัลด์เพื่อต้านรัฐประหารก็มี

ตัวอย่างเช่น พี่แดง (นามสมมุติ) เข้าร่วมการชุมนุมต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บอกเล่าว่า ขณะนั้นในพื้นที่การชุมนุมได้มีรถทหารมาคันแรก คนก็วิ่งตาม มีคนตะโกนว่าเขามาจับคนขึ้นรถไปสองสามคน คนก็เฮจะให้ปล่อย พอคันที่สองมาโดนเขวี้ยงด้วยขวดน้ำและยื้อรถไว้ให้ปล่อย เมื่อคนเฮกันไป ก็มีคนเอากระดาษไปติดตามรถ หลังจากนั้นเธอจึงตัดสินใจหยิบปากกามาเขียน ‘คืนอำนาจให้ประชาชน’ ระหว่างที่เขียนอยู่ก็มีคนยื่นกระป๋องสเปรย์ให้ บอก “พ่นเลยๆ” “ก็เลยพ่น” ไม่นานนัก เธอกลายเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับทหาร ต้องขึ้นศาลทหารเพราะพ่นสีสเปรย์ใส่รถฮัมวี่ เรื่องเล่าของพี่แดงสะท้อนให้เห็นว่า การต่อต้านเกิดเพราะความเป็นไปเอง อารมณ์ชั่วขณะของฝูงชน ประกอบกับการตัดสินใจส่วนตัวของตัวปัจเจกบุคคล

อีกกรณีเกิดขึ้นกับนักศึกษารามคำแหง 4 คน ถูกจับในมหาวิทยาลัย พวกเขาถูกพานท้ายปืนกระแทกที่แผ่นหลังพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 10 นายบังคับให้คุกเข่า พวกเขาถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดกรณีมีสติกเกอร์ต้านรัฐประหารอยู่ในครอบครอง และถูกบังคับให้ลงชื่อในเอกสารการห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง การถูกจับกุมดังกล่าวเป็นผลมาจากที่พวกเขารวมตัวกัน 4-5 คน เพื่อคิดข้อความและหากระดาษสติกเกอร์ โดยพิมพ์ข้อความว่า ‘ไม่เอารัฐทหาร ไม่เอารัฐประหาร’

2. สร้างสรรค์ภาษาสัญลักษณ์ขึ้นต่อต้าน

ไม่เคยมีการต่อต้านรัฐประหารครั้งใดจะรุ่มรวยไปด้วยการสร้างสรรค์ภาษาสัญลักษณ์ขึ้นเพื่อแสดงเจตจำนงในการปฏิเสธการยึดอำนาจ ในด้านหนึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่เสรีภาพในการต่อต้านการรัฐประหารหดแคบลงไปอย่างมาก ต่างไปจากรัฐประหาร 2549 ที่นักเคลื่อนไหวผู้ล่วงลับ-ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เคยเล่าไว้ว่า บรรยากาศการต่อต้านรัฐประหาร 2549 เธอสามารถจับโทรโข่งยืนบนลังพลาสติกปราศรัยให้คน 10-20 คน ฟังที่สนามหลวงได้ แต่รัฐประหาร 2557 ต่างออกไป

รูปแบบการสถาปนาความหมายทางการเมืองลงในสิ่งของบางสิ่งหรือบางท่วงท่าโดยใช้อวัยวะของร่างกายของตัวเอง จึงมาปรากฏให้เห็นอย่างมีนัยยะสำคัญ อาทิ กรณีการจัดกิจกรรมกินแซนด์วิชต้านรัฐประหาร ของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษา และกรณีการชูสามนิ้วต้านรัฐประหาร ความเป็นมาของการรับประทานแซนด์วิชต้านรัฐประหารเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลทหารมีการเตรียมพร้อมมากขึ้น ในการรับมือกับการชุมนุมต้านรัฐประหารในที่สาธารณะ และใช้มาตรการที่รุนแรงปราบปรามและจับกุมผู้ต่อต้าน ผู้ต่อต้านจึงหันมา ‘เล่น’ กับสัญญะอื่นๆ ที่ไม่ได้มีนัยยะสะท้อนการต่อต้านการรัฐประหารโดยตรง

ดังจะเห็นได้จากการชักชวนให้คนเข้าร่วมกิจกรรม ‘ปิกนิกใต้ร่มนนทรี อ่านบทกวี ฉายหนังรัฐประหาร’ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ทว่าเมื่อถึงวันจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอความร่วมมือให้นักศึกษายกเลิกการอ่านบทกวีและฉายภาพยนตร์ ผู้ร่วมกิจรรมจึงทำได้แค่รับประทานแซนด์วิช ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน สองอาทิตย์ถัดมา กลุ่มนักศึกษาได้จัดกิจกรรมกินแซนด์วิชต้านรัฐประหารบริเวณห้างสรรพสินค้าพารากอนขึ้น ครานี้ทั้งผู้จัดกิจกรรมและผู้ร่วมกิจกรรมต่างถูกจับกุมและควบคุมตัวไปยังสโมสรทหารบก และถูกค่อนแคะว่า “เอาแซนด์วิชมาเป็นร้อยอันใส่ท้องมึงหมดเหรอ”

ในขณะที่การกินแซนด์วิชต้องอาศัยการเตรียมการและเสียทรัพย์ อีกทั้งแซนด์วิชยังกลายเป็นหลักฐานมัดตัวผู้ต่อต้านภายหลังดังกรณีข้างต้น การใช้อวัยวะของตนอย่างการชูสามนิ้วจึงเป็นอาวุธทางการเมืองราคาถูก ทำได้ง่าย และปลอดภัยกว่าของสามัญชนทั่วไป ฉะนั้นจึงแพร่หลายอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่าการกินแซนด์วิชนับตั้งแต่การชูสามนิ้วต้านรัฐประหารในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ที่หน้าห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 มาจนกระทั่งปัจจุบันยังมีคนจำนวนมากโพสท่าถ่ายรูปด้วยท่วงท่าดังกล่าว ปรากฏการณ์สามนิ้วเกิดขึ้นทั้งในบริเวณรั้วมหาวิทยาลัยห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สวนสาธารณะ พื้นที่โลกออนไลน์ ไปจนถึงหน้าแท่นพิธีของหัวหน้า คสช.

อนึ่ง ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ใครเป็นผู้ริเริ่มการชูสามนิ้วเป็นคนแรก อีกทั้งยังไม่มีการบัญญัติความหมายไว้อย่างเป็นทางการ ด้านหนึ่ง มีการนิยามว่าหมายถึง ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ อีกด้านหนึ่ง การชูสามนิ้วก็ เป็นการเลียนแบบภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Game ที่มีเนื้อหาต่อต้านเผด็จการ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ภาพยนตร์ The Hunger Game: Mockingjay Part 1 มีรอบกำหนดฉาย กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาก็ได้จัด กิจกรรม ‘ชูสามนิ้ว หิ้วป๊อปคอร์น เข้าโรงหนัง’ แม้ว่านักศึกษาผู้จัดงานจะถูกกีดกันและควบคุมตัวจนไม่สามารถริเริ่มกิจกรรมได้ ปรากฏว่านักศึกษาคนหนึ่งได้ยกมือชูสามนิ้วท่ามกลางสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ ตำรวจขณะเดินเข้าโรงภาพยนตร์ ที่ห้างสยามพารากอน และหลังจากนั้นเธอชูสามนิ้วอีกครั้งใส่ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อประท้วงต่อการนิ่งเฉยจากการที่คณะรัฐประหารละเมิดสิทธิประชาชน

3. ต่อต้านแบบปัจเจกนิรนาม

นอกจากสองรูปแบบแรกที่กล่าวมา จะพบอีกว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ปฏิเสธ ‘การคืนความสุข’ ตามที่คณะรัฐประหารป่าวประกาศ และสร้างสรรค์วิธีการแสดงออกซึ่งการไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลทหารด้วยตัวของเขาเองที่แตกต่างออกไป ด้านหนึ่งผู้ต่อต้านเหล่านี้มักเหลือไว้เพียงร่องรอยการขีดเขียนหรือผลงานโดยไม่เปิดเผยตัวตนของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนพบข้อความ ‘คสช. รีบๆ แดกและรีบๆ ไปซะ ทหารมีหน้าที่อะไร?’

นอกจากนี้ มีผู้พบเห็นธนบัตรที่มีสัญลักษณ์ขีดสาม ขีดเล็กๆ พิมพ์อยู่ ซึ่งคาดว่าดัดแปลงมาจากสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว

การต่อต้านในลักษณะนี้ ทำได้ยากเนื่องจากเกิดขึ้นในปริมณฑลกึ่งสาธารณะ/กึ่งส่วนตัว อีกทั้งยังไม่สามารถระบุตัวผู้ทำการได้ อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ต่อต้านนิรนามเหล่านี้มีส่วนไม่มากก็น้อยในการสืบสานและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสรรค์สร้างภาษาแห่งการต่อต้านให้มีความหลากหลาย และแพร่กระจายในทุกอณูของสังคม อีกด้านหนึ่ง วิธีการต่อต้านเช่นนี้ก็ไม่ได้ประกันความปลอดภัยของผู้ต่อต้านเสมอไป สะท้อนให้เห็นการสอดส่องของคณะรัฐประหารในระดับลึกลงไปถึงชีวิตประจำวัน

ลุงโอภาส สามัญชนวัย 67 ปี ใช้ปากกาเคมีขีดเขียนข้อความระบายความไม่พอใจของตนต่อคณะรัฐประหารลงบนประตูห้องน้ำของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แม้เป็นการกระทำที่แทบจะเล็ดลอดจากการสอดส่องตรวจตราของรัฐ แต่ภายหลังเขาก็ถูกจับกุม ศาลทหารได้ตีความว่าข้อความส่วนหนึ่งเข้าข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และตัดสินจำคุก 1 ปี 6 เดือน

เช่นเดียวกับหนุ่มโรงงาน วัย 22 ปี เขาอาศัยความมืดยามวิกาลโปรยใบปลิวต่อต้านเผด็จการ และติดใบปลิวตามผนังและม้านั่งหินหลายแผ่นที่จังหวัดระยอง หลังจากถูกจับกุม หนุ่มโรงงานผู้นี้ก็ได้ยืนกรานว่าเขากระทำการดังกล่าวด้วยตัวเอง น่าสังเกตว่าการโปรยใบปลิวหรือการติดป้ายตามสะพานลอยโดยบุคคลหรือกลุ่มคนนิรนามกลายเป็นหนึ่งในรูปแบบการต้านรัฐประหารที่กระทำอย่างแพร่หลาย ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ เช่นที่ขอนแก่นในช่วงเช้าตรู่ของวันหนึ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ พบว่ามีการโปรยใบปลิวด้วยคำว่า ‘อีสานไม่ต้อนรับเผด็จการ’ จนนำมาสู่การสั่งย้ายนายตำรวจระดับสูงในพื้นที่ถึง 5 นาย

4. การปฏิเสธไม่ไปรายงานตัว

มาตรการป้องปรามการต่อต้านหลังการรัฐประหารของ คสช. อย่างหนึ่งคือการออกคำสั่งให้กลุ่มบุคคลเข้า ‘รายงานตัว’ ต่อ คสช. ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักการเมือง แกนนำ นักกิจกรรมเคลื่อนไหว นักหนังสือพิมพ์ และนักวิชาการ แม้ทาง คสช. จะระวางโทษบุคคลที่ไม่เข้ารายงานตัวจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท อีกทั้งยังมีการออกหมายจับผู้ไม่มารายงานตัวในเวลาต่อมา แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของ คสช. อันได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง, สมบัติ บุญงามอนงค์, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, วัฒน์ วรรลยางกูร, จรัล ดิษฐาอภิชัย ฯลฯ

การไม่ไปรายงานตัวจะแตกต่างจากการออกไปแสดงออกซึ่งการต่อต้านรัฐประหารรูปแบบอื่นๆ เพราะมีลักษณะ ‘ตั้งรับ’ (passive) มากกว่า แต่เราก็ควรนับรวมให้การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง และสามารถเรียกได้ว่าเป็นการต่อต้านเชิงตั้งรับ (passive resistance) ซึ่งเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลที่จะไม่ยอมรับความชอบธรรมของผู้ยึดอำนาจ

วิธีการปฏิเสธอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ดังกรณีของ สมบัติ บุญงามอนงค์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัวหลังจากมีประกาศเรียกตัวเขาว่า

ชีวิตเคยไปรายงานตัวตอนสอบเข้าเรียนเท่านั้น นอกจากนั้นไม่เคยไปรายงานตัวเลย…ผมไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร การออกประกาศเหล่านี้จึงไม่สามารถบังคับจิตใจผมได้

ขณะที่ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ซึ่งขณะนั้นไม่ได้อยู่ในประเทศไทยก็ได้แจ้งทางเฟซบุ๊คของเขาว่าจะส่งสุนัขที่ตนเลี้ยงไปรายงานตัวกับ คสช. แทน

ในขณะที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกจับกุมในภายหลังและต้องถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนคนสำคัญเลือกที่จะเดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีอะไรจะเสียเพราะเราเสียไปหมดแล้ว” โดยอธิบายสาเหตุที่ไม่ไปรายงานตัวของตนว่า

เขา (คณะทหารผู้ยึดอำนาจ) ไม่มีสิทธิที่จะมาเรียกเราไปรายงานตัว เขาเป็นโจร ที่มาปล้นบ้านเราพร้อมด้วยอาวุธ…เราคือคนที่ถูกปล้น

เช่นเดียวกับ จอม เพชรประดับ ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ออกแถลงการณ์แจ้งว่า ตนมิได้ “โกรธแค้นหรือชิงชังกับคณะ คสช.” หากแต่จำเป็น “ต้องยืนหยัดในหลักการของสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ความเสมอภาคและความเท่าเทียม”

5. สวมเสื้อสีแดง

หลังรัฐประหาร คนเสื้อแดงกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐประหารไปโดยปริยาย กลุ่มคนเสื้อแดงขยับตัวหรือทำการเคลื่อนไหวเช่นเดิมไม่ได้ และง่ายต่อการถูกจับกุมหากมีการแสดงการต่อต้านเพียงเล็กน้อย หลายกรณีพบว่าคนเสื้อแดงได้พยายามดิ้นรนเปิดพื้นที่เสรีภาพใหม่ๆ เพื่อยืนยันในอัตลักษณ์ทางการเมืองของตนท่ามกลางความพยายามของรัฐในการ ‘สลาย’ ความเป็นคนเสื้อแดง งานบุญ งานศพ คอนเสิร์ตการกุศล ไปจนถึงเรือนจำ

ดังที่พ่อค้าขายปลาหมึกทอดในจังหวัดเชียงราย ที่สวมใส่เสื้อแดงสกรีนภาพ จตุพร พรหมพันธ์ุ ทำมาหากินตามปกติ ก็ถูกทหารออกคำสั่งให้ถอดเสื้อดังกล่าวออก

ปฐพี (นามสมมุติ) และเพื่อนทำกิจกรรมปั่นจักรยานในนามกลุ่มเส้นทางสีแดง เพื่อมอบเงินให้ชาวบ้านในการช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม และครอบครัวของคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบในการชุมนุมปี 2553 เมื่อเกิดการรัฐประหาร กิจกรรมที่ดำเนินมาหลายปีต้องหยุดลง วันหนึ่งได้มีทหารและตำรวจประมาณ 20 นาย บุกไปที่บ้านของเขา เพื่อขอความร่วมมือในการหยุดการแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหาร และนำรถมารับที่บ้าน แจ้งให้เก็บเสื้อผ้าและนำตัวขึ้นรถ โดยใช้ถุงผ้าสีเขียวเข้มคลุมศีรษะ สายพลาสติกรัดที่นิ้วทั้งสองข้าง พาไปสอบสวนที่ค่ายกองพลที่ 26 รักษาพระองค์ โดยอ้างว่าเป็นผลมาจากการที่เขาโพสต์ข้อความต้านรัฐประหารในเฟซบุ๊คเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 เขาถูกคุมตัวกว่า 12 ชั่วโมง จากการมอบเสื้อให้กับชาวต่างชาติที่มาวางดอกไม้รำลึกเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 ที่ราชประสงค์ และมีการยึดเสื้อยืดระดมทุนช่วยนักโทษการเมืองจำนวน 200 ตัว ซึ่งเขาพิมพ์ข้อความลงบนหน้าอกเสื้อ ซึ่งเป็นบทกวีที่ชื่อว่า Invictus (ผลงานของ วิลเลียม เออร์เนส เฮนลีย์ กวีชาวอังกฤษ) ที่แปลว่า ‘ผู้ไม่ยอมแพ้’

โรส (นามสมมุติ) เป็นคนเสื้อแดงในจังหวัดอุบลราชธานี ถูกเชิญตัวไปถึง 3 ครั้งจากการที่เธอออกมาต้านรัฐประหารตั้งแต่วันแรกของการยึดอำนาจ เจ้าหน้าที่ติดตามเธออย่างใกล้ชิด แม้กระทั่งสติกเกอร์คนเสื้อแดงที่ติดบนถังผักในร้านอาหารของเธอ ก็ถูกเจ้าหน้าที่แกะออกไป ตามมาด้วยการรบกวนชีวิตประจำวันอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งมีหนังสือเรียกตัวครั้งที่ 3 ครั้งนี้เธอปฏิเสธไม่ไปรายงานตัว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ยังมาหาที่บ้านเธอสัปดาห์ละ 2 ครั้งเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว ในบางครั้งแม่ของเธอไม่สบาย เธอต้องไปเฝ้าที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ก็โทรหาและตามไปที่โรงพยาบาล จนสามีเธอด่าทหารไปว่า “มันจะละเมิดสิทธิเกินไปแล้ว แม่ป่วยก็เพราะพวกคุณ”

ครั้งหนึ่งเธอเล่าว่า ตอนที่ทหารบุกมาที่บ้าน มีการถืออาวุธครบมือจนทำให้แม่เธอช็อก และไม่นานนัก แม่เธอได้เสียชีวิต การควบคุมที่เข้มงวดดังกล่าวขยายลามไปถึงพื้นที่ส่วนตัว เช่น งานศพของแม่เธอ เจ้าหน้าที่วางกำลังตามจุดต่างๆ ภายในวัด ในวาระของการรวมตัวที่เศร้าโศกของครอบครัว จึงกลายเป็นพื้นที่ในการแสดงการต่อต้านรัฐประหารของเธอและเพื่อนที่เข้าร่วมอาลัยต่อแม่ที่เพิ่งจากไป ด้วยการสวมเสื้อสีแดงในงานศพที่เขียนว่า ‘เสื้อแดงเสรีชน อุบล’

6. ใช้เสรีภาพพื้นฐาน

ในรูปแบบสุดท้ายมีความแตกต่างออกไปจาก 5 รูปแบบที่กล่าวมา คือ กลุ่มคนที่ต่อต้านในรูปแบบนี้เพียงแต่ใช้เสรีภาพพื้นฐานเกี่ยวกับปากท้องของตัวเอง หากแต่ปฏิบัติการของคณะรัฐประหารเองที่สร้างให้ประชาชนกลุ่มนี้กลายเป็นผู้ต่อต้าน เพราะหนึ่งในความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร คือ มีชาวบ้านในหลายพื้นที่ถูกดำเนินคดีจากแผนแม่บทพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ของรัฐบาล คสช. ตามประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ซึ่งกระทบไปกว่า 23 พื้นที่ กว่าหลายร้อยครัวเรือน ใน 4 ภูมิภาค

ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำชี ซึ่งชาวบ้านได้ประสานงานขบวนเดินเพื่อสายน้ำ เพื่อคัดค้านการขับไล่ชาวบ้านด้วยการอ้างกฎอัยการศึก ชาวบ้านเล่าว่าตามกำหนดเดิมขบวนชาวบ้านจะเดินลัดเลาะตามเส้นทางน้ำและทุ่งนา แต่เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาสั่งให้หยุดกิจกรรมการเดิน กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ว่าด้วยการตีความสัญลักษณ์ของชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่ ก็ทำให้การใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานกลายเป็นการต่อต้านรัฐประหารไปด้วย

เช่นเดียวกับกรณีหมู่บ้านนามูล จังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านคัดค้านการขุดเจาะปิโตรเลียมในพื้นที่มานานหลายเดือนก่อนรัฐประหาร แต่ทันทีหลังการยึดอำนาจ รัฐบาลทหารก็เดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม จนชาวบ้านเริ่มก่อตัวคัดค้านในลักษณะของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อาทิ การใช้สีเขียวเพื่อสื่อถึงการอนุรักษ์ การระบุตัวเองเป็นผู้ปกครองของนักศึกษาที่ถูกจับกุมจากการต้านรัฐประหาร เป็นต้น นอกจากการไม่สามารถพึ่งพารัฐบาลและองค์กรสิทธิในประเทศได้ ภาวะที่สร้างความกังวลให้กับชาวบ้านว่าจะมีการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะปิโตรเลียมเข้าไปในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากชุมชนก็มาถึง เพียงชั่วข้ามคืนสัญลักษณ์ต่างๆ ก็ถูกปลดออกโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

จากรูปแบบการต่อต้านรัฐประหารทั้ง 6 ประเภทที่กล่าวมา เป็นส่วนหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในด้านหนึ่งหากเรายอมรับตามประกาศฝ่ายเดียวของทางการว่าการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คือการคืนความสุขให้กับประชาชน ข้อเท็จจริงจากรายงานชิ้นนี้ก็บอกข้อเท็จจริงอีกมุมว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ต้องการการ ‘คืนความสุข’ เช่นกัน

 

อ้างอิง

อิทธิพล โคตะมี และ กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์. “ภาษาของผู้ต่อต้านหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557.” ชุมทางอินโดจีน: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์ 4, 7 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2558), 592 – 607.

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า