60 ปี เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ภาพขาวดำ ใบหน้าผู้ชายอายุมากยืนหันหน้าไปด้านซ้ายของภาพ

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

ภาพ : อนุช ยนตมุติ

จะด้วยเหตุผลหรือข้ออ้างประการใดก็ตาม ข้อเท็จจริงบั้นปลายมีอยู่ว่า เราไปถึงสถานที่นัดหมายเลยเวลาที่ตกลงไว้ 30 นาที

17 นาทีก่อนหน้านั้น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล โทรศัพท์เข้ามาเตือนว่า – พวกคุณมาสาย

เรื่องเล่าทำนองนี้มีอยู่ว่า ราว 20 ปีก่อนเคยมีบรรณาธิการหนุ่มรายหนึ่งนัดหมายคุยธุระเกี่ยวกับต้นฉบับงานเขียน…และเขาไปสายประมาณ 1 ชั่วโมง

คำตะเพิดไล่ออกจากบ้าน ไม่อนุญาตให้แตะต้องกาแฟแม้แต่จิบเดียว คือปฏิกิริยาตอบโต้ฉับพลันต่อการละเมิดกฎ กติกา มารยาท และวัฒนธรรมอันถูกต้อง

20 ปีต่อมา ภายหลังคำขอโทษอ้างเหตุผลของการผิดเวลา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวเบื้องต้นเพียงว่า…ไม่เป็นไร ผมเริ่มชินกับพวกคุณแล้ว

ถัดจากนั้นน้ำเย็นและเครื่องดื่มชั้นดีก็ค่อยๆ ทยอยออกมาต้อนรับ บรรยากาศอบอุ่น เมตตา และเป็นมิตร ข่มกลบประกายรังสีบางประการในอดีตอย่างรู้สึกได้

เพียงแต่ว่าระหว่างนั้น เจ้าของบ้านเล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่วันก่อนเพิ่งนัดพบปะคุยกับผู้คนหลายราย และทุกรายล้วนมาสาย ไม่เว้นแม้แต่คนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่กว่าเขา

“พวกคุณเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ผมก็ต้องนั่งรอเป็นธรรมดา” นั่นเป็นกรรมวิธีอบรมที่ทำให้คนฟังทั้งสะอึกและละอาย

ทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่ตัวอย่างการสาธิตภาพที่ชัดเจนหมดจดครบถ้วน แต่อย่างน้อยมันก็คงช่วยให้มองเห็นวิธีปฏิสัมพันธ์กับโลกและผู้คนในชีวิตช่วงหลังของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่มีทั้งความเยือกเย็น ยืดหยุ่น และเมตตา แต่ก็ไม่ทิ้ง ‘ลาย’ บางอย่างที่เป็นมาตลอดชีวิต

มันเป็นลายที่ทำให้สายตาผู้คนในสังคมจับจ้องสนใจเขาแทบทุกขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านชีวิต นับตั้งแต่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อ 36 ปีก่อน จนถึงคำบอกกล่าวเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า  ชีวิตได้ดำเนินมาถึง ‘วันที่ถอดหมวก’ แล้ว

 

หลังเกษียณอายุราชการ พบความรู้สึกที่แตกต่างจากช่วงชีวิตอื่นบ้างไหมครับ

ผมยังไม่รู้สึกว่ามันมีความต่างอะไร เพราะว่าที่ผ่านมานอกจากเป็นอาจารย์แล้วผมยังทำอย่างอื่นด้วย ส่วนที่เป็นงานรับใช้สาธารณะก็ยังคงเส้นคงวาเหมือนเดิม อีกอย่างคือจังหวะมันพอดีกับปิดเทอม ซึ่งปกติเป็นช่วงที่ไม่ต้องสอนอยู่แล้ว ก็เลยยังไม่รู้สึกว่าชีวิตเปลี่ยนไป

 

เคยได้ยินมาว่าคนวัยเกษียณจะรู้สึกโหวงๆ ในวันแรกๆ นั้น กรณีคุณไม่เป็นแบบนั้น?

ผมคิดว่ามันอาจเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานบริหารหรืออยู่ในโครงสร้างอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน พวกเขาคงสัมผัสความต่างได้มากกว่าคนอย่างผม เพราะว่าเช้าวันที่ 1 ตุลาคม หรือวันไหนก็ตามที่เขาเกษียณอายุงาน พวกเขาจะไม่ได้เข้าออฟฟิศ ไม่ได้ไปสั่งงาน ไม่ได้มีลูกน้องผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามาห้อมล้อม พูดง่ายๆ คือชีวิตจะต่างจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด แต่ชีวิตผมมีด้านที่เป็นปัญญาชนอิสระค่อนข้างมากมาตลอด ในระหว่างที่เป็นอาจารย์อยู่ 20 ปีผมทำหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวกับงานในระบบราชการ เช่นเขียนหนังสือ เดินทาง ถ่ายรูป…สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

 

พูดง่ายๆ ว่าโลกของคุณไม่ได้ผูกติดอยู่กับภาระหน้าที่ราชการเพียงอย่างเดียว จึงไม่รู้สึกอะไรมาก?

ก็อาจจะพูดเช่นนั้นได้ เพราะว่าที่ผ่านมาแม้กระทั่งตอนที่เป็นอาจารย์ผมก็เขียนหนังสือมาก เข้าป่าออกทะเลมาก มีชีวิตนอกมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก โดยไม่ได้ทิ้งงานประจำของตน พอมาถึงวันที่เกษียณอายุราชการ มันจึงไม่รู้สึกว่าชีวิตเหล่านั้นหายไป เพียงแต่เรามีความรับรู้ว่าต่อไปนี้ไม่ต้องสอนปีละ 4 วิชาอีกต่อไปแล้ว แต่ถามว่าความรู้สึกชีวิตเปลี่ยนไปไหม…ไม่รู้สึกอะไรเลย

พูดจริงๆ ก็คือ ระยะ 1 เดือนที่ผ่านมามีงานเข้ามากกว่าตอนเป็นอาจารย์ประจำอีก (หัวเราะเบาๆ) เพราะมีคนขอให้ทำนั่นทำนี่ รวมทั้งเขียนต้นฉบับด้วย ชีวิตของปัญญาชนสาธารณะไม่มีระบบเกษียณอายุหรอก

 

เคยได้ยินมาว่าคุณไม่ได้อยากให้มีคนมาจัดงานอะไรให้เป็นที่เอิกเกริก อันนี้ด้วยเหตุผลอะไรครับ

อ๋อ ช่วงนั้นเป็นเรื่องของตอนอายุครบ 60 ปี ซึ่งเป็นเดือนมีนาคม ไม่ใช่ช่วงเกษียณอายุราชการ อันที่จริงนั้นช่วงเกษียณอายุราชการทางมหาวิทยาลัยเขาก็มีจัดงานเลี้ยงอะไรต่างๆ ซึ่งผมไม่ได้ไปร่วมสักงานเดียว ไม่ว่าระดับคณะ หรือระดับมหาวิทยาลัย คือผมไม่รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องกินเลี้ยง…ไม่รู้สึกว่าต้องเฉลิมฉลอง

วันอายุครบ 60 ปีของผม ผมถือเป็นเรื่องสำคัญในทางจิตวิญญาณ เพราะเป็นหลักกิโลเมตรที่บอกว่าเราทั้งอยู่รอดมานานพอสมควรและทั้งมีเวลาในโลกน้อยลง ผมจึงต้องการใช้วันครบรอบอายุ 60 ปี ไปในด้านของการภาวนา และสรุปบทเรียนอะไรต่างๆ ในชีวิต ถือศีล อยู่กับตนเองโดยลำพังเพื่อทำจิตให้สงบ ผมไม่ต้องการงานเฉลิมฉลองในลักษณะที่ทำกันอยู่ในสังคม

 

ย้อนกลับมาเรื่องงานประจำ เคยได้ยินว่ามีผู้เสนอแนวคิดจะต่ออายุราชการให้ ทำไมคุณจึงปฏิเสธ

คุณต้องเข้าใจระเบียบการต่ออายุราชการในมหาวิทยาลัย อันดับแรกนั้น เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้เห็นความจำเป็น เห็นความสำคัญของคุณ และอยากให้คุณทำงานต่อเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย อันดับที่สอง คุณจะต้องมีตำแหน่งวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ ซึ่งผมคาดคะเนสถานการณ์มาก่อนแล้วว่า ถ้าผมมีตำแหน่งรองศาสตราจารย์มันก็จะอยู่ในเงื่อนไขที่สามารถต่ออายุราชการได้ โดยส่วนตัวแล้วผมเกรงว่าถ้าผู้คนที่เขารักเขาศรัทธาเรียกร้องให้ต่ออายุ มันจะกลายเป็นแรงกดดันที่ต้านไม่ไหว จึงตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมไม่ขอตำแหน่งวิชาการใดๆ ทำให้ไม่มีใครสามารถมาเรียกร้องกดดันให้ผมต่ออายุราชการในมหาวิทยาลัยได้ เนื่องจากผิดกฎหมาย

กระนั้นก็ตามทั้งทางมหาวิทยาลัยและคณะรัฐศาสตร์ก็ยังเรียกร้องว่า ถึงอย่างไรก็ควรจะมีสัมพันธภาพกันไว้ ขอให้ผมทำงานให้เขาแบบพาร์ทไทม์ เช่น สอนปีละ 1 วิชา โดยเสนอสัญญาจ้างในลักษณะแบบนั้น ซึ่งผมคิดว่าในระดับนี้พอรับได้ เพราะว่ามันไม่ได้มากมายอะไร และผมก็ยังมีอิสรภาพเหลืออยู่ ที่ผมไม่อยากต่ออายุราชการในเบื้องแรกก็เพราะต้องการอิสรภาพนั่นแหละ ผมต้องการใช้วัยชราทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยตารางสอน และแก่เฒ่าอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่เรียกว่าห้องเรียน

แต่ต้องยอมรับเรื่องหนึ่งนะว่า ผมก็มีความลำบากเรื่องการเงินเหมือนกัน หลังเกษียณอายุผมได้รับบำนาญเพียงเดือนละ 1 หมื่นบาทต้นๆ เพราะหนึ่งผมไม่มีตำแหน่งวิชาการ ทำให้ขั้นเงินเดือนก่อนเกษียณค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่เขาเกษียณอายุราชการ ข้อที่สอง อายุราชการผมนั้นจริงๆ แล้วมัน 20 ปี แต่เนื่องจากผมไปขอลาออกในช่วงปี 2535 ออกไป 3 เดือน เขาเลยตัด 3 ปีแรกออก ไม่ได้เอามาบวก ทำให้อายุราชการของผมตามวิธีคิดแบบราชการเหลือแค่ 17 ปี

เมื่อบวกลบคูณหารทั้งหมดแล้วจึงได้บำนาญต่ำมาก อาจจะต่ำกว่าเจ้าหน้าที่ธุรการหลายคน เงินเดือนขั้นสุดท้ายก่อนเกษียณก็อาจจะต่ำกว่าเจ้าหน้าที่ธุรการหลายคน

แน่นอน ในทางจิตใจผมไม่ได้เดือดร้อนกับเรื่องพวกนี้ เพียงแต่ว่ามันเป็นปัญหารูปธรรมที่ต้องแก้ไข พูดสั้นๆ คือผมยังคงต้องทำงานหาเลี้ยงชีพต่อไปในรูปแบบอื่น ซึ่งก็มีให้เลือกไม่มากนัก เพราะมันมีสิ่งที่เราไม่ยอมรับอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนโครงการปริญญาโทปริญญาเอกภาคพิเศษอะไรต่างๆ ซึ่งเขาจ่ายกันแพงๆ ถ้าจะหาเงินด้วยวิธีนั้นผมก็คงทำได้พอสมควร แต่ผมปฏิเสธเรื่องนี้มาตลอด

 

เพราะอะไรจึงปฏิเสธเรื่องนี้

ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยยอมสอนปริญญาโทนะ ผมสอนแค่ปริญญาเอกกับปริญญาตรี ปริญญาตรีนั้นเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นงานหลักของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว แต่ปริญญาเอกถามว่าทำไมผมจึงสอน ข้อที่หนึ่ง เป็นเพราะว่าคนที่มาเรียนปริญญาเอกนั้นไม่ได้มาเรียนเพื่อแสวงหาฐานันดรหรือเงินทอง เพราะมันไม่คุ้ม ต้องใช้เวลาเรียน 5-6 ปี คุณเสียโอกาสในชีวิตไปเยอะ ใจคุณต้องรักวิชาการจริงๆ และข้อที่สอง โดยรูปธรรมนักศึกษาปริญญาเอกของผมนั้นมักจะเป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดหรือมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่ไม่มีโอกาสไปเรียนเมืองนอก ผมจึงอยากจะสนับสนุนพวกเขาในการแสวงหาความก้าวหน้าทางวิชาการ

โครงการปริญญาโทที่ผมรู้สึกไม่ค่อยเห็นด้วยมักจะเป็นภาคพิเศษ เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่ใช้ปริญญาเป็นฐานันดรทางเศรษฐกิจและทางการเมืองในสังคมไทย เป็นระบบวรรณะสมัยใหม่มากกว่าการแสวงหาความรู้จริงๆ

ถ้าไม่นับคนอยากเรียนจริงจำนวนหนึ่ง เราคงต้องยอมรับว่าผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาเรียนปริญญาโทภาคพิเศษเขามาเรียนด้วยเหตุผลอื่น เขาไม่ได้มาเรียนเพราะอยากเป็นนักวิชาการ เขาไม่ได้เรียนเพราะว่าเขาอยากจะเสริมความรู้ให้ตนเอง ส่วนใหญ่เขาต้องการตัวปริญญาโทไปใช้ประโยชน์ กับมาสร้างเครือข่ายเป็นรุ่นเป็นเหล่า มันจึงกลายเป็นตลาดการค้าชนิดหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ประกวดประขันกันในเรื่องของการตอบสนองลูกค้ากลุ่มนี้ อันที่จริงผมก็ไม่ได้ถึงกับต่อต้านอะไร เพียงแต่รู้สึกว่ามันขัดแย้งกับวิธีคิดและวิถีชีวิตของตนเอง

 

ก่อนหน้านี้ดูเหมือนคุณจะบอกกล่าวไว้ในบางที่ว่า ไม่ได้วางแผนอะไรกับวัยหลังเกษียณมากนัก ประเภทว่าพ้นจากนั้นจะทำอะไรต่อ หรือว่าจะดูแลชีวิตในทางรูปธรรมอย่างไร เพราะอะไรจึงมีวิธีคิดแบบนั้น

คุณต้องเข้าใจว่าผมมองโลกแบบไหน คือชีวิตที่ผ่านมา 60 ปีนั้น การไปเป็นนั่นเป็นนี่ตั้งแต่เป็นผู้นำนักศึกษา เป็นนักรบในป่า เป็นนักเขียน มาจนกระทั่งเป็นอาจารย์หรือสิ่งที่เรียกกันว่านักวิชาการ ผมมองมันในฐานะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การที่จะเปลี่ยนจากการเป็นนั่นมาเป็นนี่ หรือไม่เป็นอะไรเลย สำหรับผมจึงไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญเท่ากับการที่เราได้เติบโตข้างในหรือไม่

เราแค่อาศัยการเป็นนั่นเป็นนี่ตามระบบสังคมมาเป็นบทเรียนให้ความกระจ่างแจ้งในเรื่องของชีวิต แน่ละสิ่งที่เราทำเราย่อมต้องเห็นดีเห็นงามและเทใจให้มันจริงๆ แต่ก็ไม่ควรยึดติด เพราะมันจะกลายเป็นความทุกข์ ความคิดแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมไม่มีแผนการหลังเกษียณ ผมอยากใช้ช่วงนี้ฝึกให้ตัวเองอยู่แบบไม่เป็นใครและไม่ต้องการอะไร เพียงแค่ทำสิ่งจำเป็นให้ดีที่สุดในแต่ละวันหรือแต่ละย่างก้าวก็พอแล้ว

พูดอีกแบบหนึ่ง ผมเห็นว่าสิ่งที่เป็นขั้นตอนสำคัญกว่าการเกษียณอายุราชการก็คือการเตรียมตัวตายจากโลกนี้ไป ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของการเกิดมามีชีวิตบนพื้นพิภพนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องของการเกษียณอายุราชการสำหรับผมเป็นเรื่องเล็กมาก ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร ท้ายที่สุดเราก็ต้องเกษียณอายุจากโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องเตรียมพร้อมในทางจิตวิญญาณ เป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ

ที่ผ่านมาผมคิดว่าเราถูกอบรมให้มองโลกจากเงื่อนไขภายนอกมากเกินไป กล่าวคือ หนึ่ง มองการดำรงอยู่ของตนจากฐานะภายนอก สอง มองเรื่องผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก และสามยึดมั่นถือมั่นในทุกอย่างที่คิดว่าเป็นของตน ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ร้อนรุ่มและขัดแย้งกับความจริง อย่างไรก็ดี เป็นเวลาอย่างน้อยๆ ก็ 10 ปีมาแล้วที่ผมไม่ได้คิดอะไรแบบนี้เลย

 

มีวันที่คุณอยากเกษียณตัวเองจากภาระทางสังคมบ้างไหม เช่นสังคมนี้ใช้สอยคุณมามากเกินพอแล้ว ต่อไปนี้จะเกษียณตัวเองจากภาระสังคมล่ะ

โดยนิสัยใจคอแล้ว ผมเป็นลูกผสมระหว่างเถรวาทกับมหายาน ในส่วนที่เป็นเถรวาทมันก็ทำให้เราอยากจะปลีกวิเวก เราอยากจะถอนตัวจากโลกียะ ใช้ชีวิตตามลำพัง และค่อยๆ สาบสูญไปตามลำพัง แต่ในส่วนที่ได้รับอิทธิพลมหายานซึ่งตรงกับจริตเก่าๆ ของเรา ก็ทำให้รู้สึกว่าเมื่อเพื่อนมนุษย์ยังเดือดร้อนเราคงต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเขาเท่าที่จะทำได้ ประเด็นมันอยู่ที่เท่าที่จะทำได้ แต่ก่อนนี้เราวางอุเบกขาไม่เป็น ใครมาขอให้ทำอะไรก็รีบทำ ทำไม่ได้ก็เสียใจอีกต่างหาก นั่นเป็นอัตตาชนิดหนึ่ง คิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนโลกได้ทั้งโลก ซึ่งตอนนี้ผมวางไปได้แล้ว

ฉะนั้นในระยะหลังๆ เมื่อพูดถึงสิ่งที่ผมจะทำให้กับเพื่อนมนุษย์ ผมจะพิจารณาก่อนว่าทำได้หรือไม่ แล้วในทางจิตใจผมอยากจะทำมั้ย ถ้าสมมุติว่ามันเป็นสิ่งที่ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์จริง หรือว่าเราไม่มีแรงพอที่จะทำ ก็จะไม่ทำและไม่ทุกข์ร้อนกับมัน คือไม่เกรงว่าใครจะมาต่อว่าต่อขานอีกต่อไป

 

ตอนแรกเคยสงสัยว่า หากพ้นวาระของการเป็นครูบาอาจารย์ เราจะได้เห็นคุณปาฐกถาแสดงความเห็นเรื่องบ้านเมืองอีกไหม แต่พอได้ยินว่าภายในเดือนสองเดือนนี้มีวาระที่คุณจะต้องไปกล่าวปาฐกถาอีกอย่างน้อยสองงาน คำถามคือคุณพิจารณาจากอะไรว่าวาระไหนจะพูด วาระไหนจะปฏิเสธ

อันดับแรกคุณต้องเข้าใจก่อนว่าผมไม่ได้ไปพูดในที่ต่างๆ ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไปพูดในฐานะผมเป็นผม ซึ่งครุ่นคิดเรื่องบ้านเรื่องเมืองห่วงใยเรื่องบ้านเรื่องเมืองมาตั้งแต่อายุน้อยๆ ผมอยู่ในฐานะที่ถูกเชิญไปพูดตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ ซึ่งมองย้อนหลังไปแล้วก็ยังรู้สึกละอายแก่ใจว่าไม่รู้เรื่องอะไรสักนิดดันไปพูดอะไรมากมาย

แต่พออายุ 50-60 คำเชิญเหล่านี้ก็ไม่ได้น้อยลง ว่าไปแล้วก็มีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงมาพิจารณาว่าเรากำลังจะกลายเป็นคนชรา บทบาทหน้าที่ของคนแก่ท้ายที่สุดแล้วมันก็อยู่ตรงนี้เอง คือเราไม่มีเรี่ยวแรงเหลือมากแต่ผ่านโลกผ่านชีวิต ศึกษาหาความรู้มาพอสมควร เราควรทำให้มันเกิดประโยชน์กับชนรุ่นหลัง ด้วยการถ่ายทอดบทเรียนเหล่านั้น

ในสังคมโบราณบทบาทของผู้สูงอายุมันจะอยู่ตรงนี้ พอแก่ลงก็เป็นผู้อาวุโสประจำเผ่า เขาอาศัยการส่งทอดภูมิปัญญาจากรุ่นเก่าไปสู่รุ่นใหม่ ทำให้มนุษยชาติอยู่รอดมาได้ ผมคิดว่าในยุคปัจจุบันเราก็ยังจำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่ ผมก็จะเป็นคนแก่คนหนึ่งที่คอยบอกลูกบอกหลานว่า ชีวิตที่ถูกที่ควรเท่าที่เราเห็นมา เท่าที่เราคิดออกนั้นมันเป็นอย่างไร

แต่ถึงอย่างไร เราก็คงต้องเลือก เหตุเพราะว่า ข้อที่หนึ่ง เราไม่มีปัญญาไปพูดทุกครั้งที่คนเชิญ ข้อที่สองเราไม่รู้ทุกเรื่อง เรารู้เฉพาะบางเรื่อง ถ้าเป็นหัวข้อที่เราพอจะพูดได้และจัดสรรเวลาแรงงานได้ เราก็จะไปช่วย

อย่างไรก็ดี ถึงไม่มีใครเชิญเลยเราก็ไม่ทุกข์ร้อน เพราะว่าการเป็นคนแก่ในสังคม บางทีมันไม่จำเป็นต้องไปพูดในที่ประชุมสาธารณะ เจอรุ่นน้องๆ รุ่นลูกๆ หลานๆ บางทีเราก็นั่งคุยกัน ถ่ายทอดบทเรียนให้เขาฟัง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คาดหวังว่าจะต้องมีคนไม่ลืมเรา หรือว่ามาเชิญเราไปแสดงตัวในที่สาธารณะอยู่ทั้งปีทั้งชาติ ผมไม่มีความต้องการเหล่านั้นเลย

ประสบการณ์จริงที่ผ่านมาในระยะหลังๆ ก็คือว่า คำเชิญมันล้นเกินจนต้องปฏิเสธ เนื่องจากต้องยอมรับว่ามันเป็นภาระหนัก ไม่สามารถเดินขึ้นไปพูดอะไรก็ได้บนเวที แต่ต้องเตรียมเนื้อหา บางทีเตรียมเป็นอาทิตย์ เตรียมเป็นเดือน แต่อย่างต่ำที่สุดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนพูด ผมไม่ทำอย่างอื่นเลย ต้องร่าง ต้องเตรียม ต้องหาข้อมูล สรุปแง่คิดมุมมองของตัวเองต่างๆ เรียบเรียงอย่างดีที่สุดเพื่อนำเสนอ มันเป็นภารกิจประหลาดอย่างหนึ่งของผม (หัวเราะเบาๆ)

 

เราเคยพูดกันว่า การแสดงปาฐกถาของคุณ แท้ที่จริงมันคือการอ่านงานเขียนของตัวเองให้สาธารณชนรับฟังอย่างได้อรรถรส วิธีทำงานแบบนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่วิธีปกติของคนในสังคมเราหรือเปล่าครับ

คนอื่นผมไม่ทราบ แต่ตัวผมเองต้องทำแบบนั้น

ผมพูดแบบนี้ดีกว่า มันเป็นงานที่หนักกว่าการเขียนลงหนังสือ ลงนิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ เพราะโดยแก่นแท้แล้วมันก็เป็นงานวิชาการในอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากมันสั่งสมมาจากการศึกษาเรียนรู้ การค้นคว้า รวมถึงประสบการณ์ชีวิต ซึ่งข้อดีที่ผมได้จากการรับคำเชิญเหล่านี้คือ ตัวผมเองมีโอกาสประมวลความคิดในประเด็นต่างๆ อย่างเป็นระบบมากขึ้น บางทีเราไม่ทันได้เคยนั่งลงคิดในประเด็นเหล่านี้ พอเขาเชิญให้ไปพูด จึงต้องนั่งลงถามตัวเองว่าจริงๆ แล้วเราคิดอย่างไร

แน่นอน ปาฐกถาทั้งหลายนั้นมันไม่ได้เป็นเรื่องของการวิจัยอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการแสดงทัศนะด้วย เพราะฉะนั้นมันจึงมีด้านที่เป็นอัตวิสัย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ ในแง่หนึ่งก็เท่ากับว่าผมได้ไปบอกกล่าวแก่โลกว่าเราคิดอย่างไร และเราก็เชื่อในสิ่งที่เราคิดว่ามันน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาของสังคมของมนุษย์ได้บ้าง ตรงนี้ผมเป็นฝ่ายได้รับในส่วนของความพึงพอใจอยู่

 

ลึกๆ แล้วเวลาที่คุณไปแสดงความเห็นตามที่ต่างๆ นั้น คุณต้องการสื่อสารกับใคร หมายถึงว่าสื่อสารกับคนแค่ในที่ประชุมนั้น หรืออยากจะส่งสารไปถึงคนที่เขามีหน้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโดยตรง

ลำดับแรกก็คงต้องจำกัดวงอยู่เฉพาะผู้ที่มาฟังในสถานที่ประชุม ว่าเขาได้รับอะไรจากเรา อันดับต่อมาจึงเป็นการโยนความคิดลงไปในสังคมที่กำลังมีปัญหาต่างๆ นานา ซึ่งตรงนั้นเราตามไม่ได้ว่าใครเขาไปอ่านบ้าง ใครเขาได้รับผลจากปาฐกถาของเราบ้าง แต่เราก็เชื่อกว้างๆ ว่ามันน่าจะมีสักจำนวนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์ แล้วก็ทำให้มันเป็นทางเลือกหนึ่งในการพิจารณาปัญหาต่างๆ ในประเทศนี้
ก็เหมือนกับเวลาเราทำบุญนะ จะบอกว่ามันได้อะไรขึ้นมานั้นคงตอบยาก แต่มันเป็นความรู้สึกว่า เออ…เราได้ทำในสิ่งที่มันเป็นความดีงามแล้วก็พอใจ

 

ทั้งหมดนี้ต้องมีการฝึกฝนซักซ้อมก่อนมั้ยครับ

ไม่มีครับ เพราะมันไม่ใช่การแสดงบนเวที ผมแค่เตรียมเนื้อหาเท่านั้นเอง ในสมัยหนุ่มๆ เป็นผู้นำนักศึกษาที่ร้อนแรงนั้น ผมจะพูดสด ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามันมาจากไหนอย่างไรนะ แต่ว่าสถานการณ์มันทำให้เรามีความรู้สึก มีอารมณ์ร่วมกับหัวข้อ กับความคิดที่เราแสดงออกมาก คงเป็นเรื่องคอขาดบาดตายแล้วก็เอาเป็นเอาตายในยุคนั้น แต่ในระยะหลังๆ ความเป็นนักเขียนมันมีอยู่ในตัวเรามาก เวลาร่างปาฐกถาโดยธรรมชาติของนักเขียนนั้นจะไม่ใช่แค่ไปเสนอข้อมูล มันต้องมีการเรียงร้อยข้อมูลให้มันเกิดความงาม ให้เกิดความสมดุลของโครงสร้างเนื้อหาของปาฐกถา ซึ่งเป็นเรียงความชนิดหนึ่ง จะพูดไปแล้วก็เป็นงานเขียนอีกแบบหนึ่งที่ผมไปอ่านให้คนเขาฟัง (หัวเราะ)

แต่ก็อีกนั่นแหละ คุณคงเห็นอยู่แล้วว่านักเขียนที่แสดงปาฐกถามีไม่กี่คน ผมก็คล้ายๆ มีเวรมีกรรมในเรื่องพวกนี้ คือมันมีคนชวนไปพูดเรื่องบ้านเรื่องเมืองค่อนข้างมาก แต่ในแง่วิธีนำเสนอนั้นพวกเขาอาจไม่ทันสังเกตว่ามันมาจากส่วนที่เป็นนักเขียนของผม

 

คุณเคยรู้สึกว่าเบื่อหน่ายอยากจะแตกหักกับอาการที่คนเขาเหมือนกับฟังคุณแต่ไม่ได้เข้าใจ หรือต่อให้เข้าใจก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติจริงจังบ้างไหม

ผมยังไม่เข้าใจคำถาม

 

หมายถึงว่าชั่วชีวิตคุณตั้งแต่วัยหนุ่มถึงวัยปัจจุบัน คุณก็มีภารกิจที่จะต้องแสดงความเห็น แสดงทัศนะที่เชื่อว่าถูกต้องมาโดยตลอด แต่โลกก็ไม่ได้ใส่ใจจริงจังกับสิ่งที่คุณพูดสักเท่าไหร่ คำถามคือ คุณเคยคิดแบบว่า…ต่อไปนี้กูไม่เอากับพวกมึงแล้ว บ้างไหม

ก็มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกอย่างนั้น… โดยเฉพาะวัย 40 ปลายๆ มีความรู้สึกว่าต่อไปนี้ขอใช้ชีวิตในฐานะเอาท์ไซเดอร์ เป็นคนนอกสังคม ไม่สนใจเลยว่าจะสื่อกับใครได้หรือไม่ อยู่กับคนกลุ่มน้อยที่พูดกันรู้เรื่องก็พอแล้ว แต่ในระยะหลังเราจะค่อนข้างปล่อยวางในเรื่องพวกนี้ คิดว่ามันมีคนจำนวนหนึ่งที่มีศรัทธาเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราคิด เราก็จะพูดกับคนเหล่านั้น คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย หรือยังตามไม่ทัน หรือกระทั่งคัดค้านเรา เราก็ต้องมีความนอบน้อมยอมรับว่าบางทีสิ่งที่เราพูดอาจจะผิดก็ได้ หรือว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะไปกำหนดได้ว่าเขาจะมาเข้าใจเราหรือไม่ ก็จะไม่ไปเดือดร้อน หรือในกรณีเราไม่อยากพูด ก็ไม่ได้เกิดจากการเคียดแค้นขมขื่นอะไร ไม่อยากพูดคือไม่อยากพูด อยากอยู่เงียบๆ ก็เท่านั้นเอง

ผมคิดว่าส่วนที่ผมพูดหรือเขียนอะไรไว้มันก็ค่อนข้างมากนะ ความคิดเหล่านั้นก็คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปมากนัก ถ้าวันไหนบังเอิญมีใครเขาเติบใหญ่ขึ้นมา ชนรุ่นหลังเขามาอ่านมาศึกษาแล้วเห็นด้วย ก็ถือว่าเป็นบุญที่เราได้แสดงความคิดเห็นเหล่านั้นเอาไว้

ทั้งหมดมันพัฒนามาจากวัยหนุ่มที่อยากจะพูดทุกเรื่อง อยากให้คนเห็นด้วยทุกอย่าง แล้วในวัยกลางคนก็โกรธแค้นที่คนเขาไม่เห็นด้วย โกรธแค้นที่เขาไม่เข้าใจ โกรธแค้นที่เขาไม่ฟัง เมื่อมาถึงวัยชราผมเลิกฝันแล้วว่าจะให้คนส่วนใหญ่มาเห็นด้วย…คือผมเข้าใจ แล้วก็เลิกโกรธแค้นด้วย กระทั่งเผื่อไว้ด้วยว่าตัวเองอาจจะคิดผิดได้

เรื่องพวกนี้ผมคิดว่าผมผ่านขั้นตอนต่างๆ มาถึงจุดที่ไม่ทุกข์ ไม่ร้อนอะไรกับมันแล้ว เชิญไปพูดก็จะไปพูด ไม่เชิญก็ไม่เดือดร้อน พูดแล้วไม่เข้าใจไม่ฟังก็ไม่เดือดร้อน เราคิดต่างจากผู้อื่นมาตั้งแต่อายุน้อยๆ เราก็ต้องมองโลกตามความจริงในด้านนี้ คือว่า หนึ่ง เราอาจจะคิดผิดก็ได้ โลกเขาถึงไม่ยอมรับ สอง ถ้าเราคิดถูก การจะมามองเห็นหรือเข้าใจสิ่งที่เราคิด ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยฉับพลัน สิ่งที่ถูกมันก็คือถูก วันหนึ่งเขาก็อาจจะมองเห็น

 

กรณีการปาฐกถาล่าสุดในวาระ 60 คณะเศรษฐศาสตร์ ก็ยังมีการวิจารณ์ในลักษณะผิดๆ ถูกๆ หรือวิจารณ์บนพื้นฐานความเกลียดชัง ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะคุณก็เจอเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่วัยหนุ่ม คำถามคือมันพอจะมีคำอธิบายที่ครอบคลุมกว่าพฤติกรรมระดับปัจเจกบุคคลไหม หรือมันเป็นสภาพจิตแบบหนึ่งของสังคมเราใช่หรือไม่

สังคมก็เป็นอย่างนี้มานาน ผมคิดว่าคนหมู่มากอยู่ร่วมกันนั้นมันก็ต้องมีโง่มีฉลาด มีคนที่มีธรรมะ คนที่ใฝ่ไปในทางเสื่อมปนกันเต็มไปหมด การที่เราคิดอะไรแล้วถูกเข้าใจผิดนั้น มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักคิดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นแบบนี้ทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก โสกราตีสถูกเอาตัวไปประหารชีวิต กาลิเลโอถูกกักบริเวณตลอดชีวิต ผมเข้าใจว่าช่วงที่พุทธศาสนาสถาปนาขึ้นใหม่ๆ ก็ถูกชิงชังรังเกียจจากนิกายอื่นๆ ที่มีมาก่อน ศาสนาคริสต์ช่วงแรกก็ถูกกวาดล้างอย่างทารุณ มีนักคิดในอดีตมากมายที่ต้องทุกข์ทรมานกับการลงทัณฑ์ของสังคม

ถ้ามองในแง่นี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ในส่วนของผมนั้น …ด้านที่ผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมผมก็ต้องแสดงความห่วงใยสังคมด้วยการแสดงความคิดเห็น แต่ในด้านที่ผมเป็นปัจเจกบุคคลนั้น สังคมยังไม่เห็นด้วยผมก็ต้องวาง ต้องยอมรับว่ามันเป็นโลกของเขา เขาอยากอยู่อย่างนั้นก็ต้องให้เขาอยู่ในโลกของเขาไป ผมไม่ต้องไปเดือดร้อนด้วย

 

หมายถึงกับคนที่แสดงเจตนาอยากจะเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นด้วย?

คุณต้องเข้าใจวิธีทำงานของอัตตา…ในสังคมของปุถุชนความไม่เข้าใจผู้อื่นหรือไม่อยากเข้าใจผู้อื่นมันช่วยผลิตอาหารป้อนอัตตา เพราะมันเปิดโอกาสให้เราได้ด่าทอคนตามใจชอบ เพราะฉะนั้นเมื่อสังคมมีจริตในความคิดเชิงลบ มีจริตในเรื่องที่จะด่าทอ การด่าผู้อื่นเพื่อให้ตนเองรู้สึกสูงส่งจึงเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นอาหารป้อนอัตตา ซึ่งก็เหมือนอาหารทางกายคือต้องกินเป็นประจำ ตราบใดที่คนเรายังไม่หลุดพ้นจากวงวัฏแบบนั้น มันก็จำเป็นต้องหาคนชั่วมาให้ตนเองประณาม เมื่อประณามเสร็จแล้วก็รู้สึกดี หนึ่ง รู้สึกว่าตนเองสูงส่ง สอง รู้สึกตนเองไม่ต้องแก้ไขตัวเองเพราะมีคนชั่วกว่าตนเองเยอะแยะ อันนี้เป็นจริตของมนุษย์จำนวนมาก

ผมถูกด่าโดยบางกลุ่มบางฝ่ายมาตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ จนถึงอายุมากๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ว่าในระยะแรกนั้นผมอาจจะอดทนกับมันไม่ค่อยได้ ผมก็อาจจะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่โต้ตอบด้วยความรุนแรง แต่ในระยะหลัง ผมรู้สึกว่ามันไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นผมหรือเป็นคนอื่นเขาก็ต้องหาคนมาเป็นเป้าหมายในการด่า เพื่อที่จะทำให้เขามีความสุขไปวันๆ need ที่จะเข้าใจผิด need ที่จะด่าทอผู้อื่นนั้นมันเป็นจริตของคนที่ยังไม่ตื่นรู้ เขายังหมุนวนอยู่กับสิ่งที่พระท่านเรียกว่า ทวิภาวะ หรือ ทวิลักษณะ แบ่งโลกเป็นขาวเป็นดำแล้วก็จับคู่ขัดแย้งกัน

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราก็ปลงได้ว่าปุถุชนนั้นต้องการสิ่งที่ตนเองเกลียดพอๆ กับสิ่งที่ตนเองรัก เพื่อจะได้ป้อนอัตตา

คุณสังเกตสิ…การนินทาก็ดี การด่าพ่อล่อแม่คนอื่น โยนความผิดทุกอย่างให้คนอื่นโดยที่ไม่ต้องมองตัวเองเลย มันเป็นกระแสหลักในทุกวงการ เพราะว่ามันได้ถนอมตัวตนของตัวเองไว้ แล้วก็คงความเป็นตัวกูของกูไว้โดยที่ไม่ต้องไปแก้ไขปรับปรุง ซึ่งในทางพุทธปรัชญานั้นมันตรงข้ามกันเลย

นักดาบญี่ปุ่นที่เขาถือนิกายเซน เขาไม่เคยเกลียดคู่ต่อสู้ เพราะทั้งหมดถือว่าเขาสู้กับตัวเอง อย่างวันนี้ไปแข่งเคนโดแพ้มา เขาก็ต้องกลับมาวิจารณ์ตัวเองว่าวันนี้เขาทำพลาดเรื่องอะไร เขาไม่บอกว่าเป็นเพราะคู่ต่อสู้มันเลว คู่ต่อสู้มันใช้วิธีสกปรกวิธีอะไรก็ตาม เขาไม่มอง…เพราะมันไม่ช่วยให้เขาพัฒนา สิ่งที่ช่วยให้เขาพัฒนาคือมามองว่าวันนี้เราพลาดตรงไหน เราขาดสติตรงจุดไหน เปิดช่องโหว่ยังไง ในระยะหลังนี่คือปรัชญาชีวิตของผม ผมไม่ไปเสียเวลากับการด่าทอคน ยกเว้นว่าวิจารณ์ในเชิงโครงสร้างที่ผมยังคงต้องทำอยู่ บางครั้งเห็นใครข่มเหงคนทุกข์คนยากผมก็ต้องแตะต้องบ้าง แต่โดยทั่วไปแล้ว ผมไม่ได้ไปโกรธไปเกลียดใครทั้งสิ้น

 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มันมีเหตุผลสำคัญอะไรที่คุณจะต้องพยายามสื่อสารกับผู้คนว่า…บัดนี้เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้ถอดหมวกแล้ว

อะไรทำให้คุณคิดว่าผมพยายาม…อันที่จริง ผมไม่ได้มีความอยากจะสื่อสารในสิ่งเหล่านั้นเลย แต่ว่าเนื่องจากอาชีพของผมมันต้องเขียนหนังสือ งานเขียนมันผูกติดอยู่กับการเจริญเติบโตของตัวเรา มันก็ออกไปอย่างเป็นธรรมชาติ งานปาฐกถาก็เช่นเดียวกัน คนเขามาเชิญไปพูดเรื่องธรรมะผมก็ต้องพูดเรื่องธรรมะ แต่ผมไม่เคยไปเสนอตัวเองว่าอยากจะพูดที่นั่นที่นี่ ความจริงผมสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องไปบอกใครว่าผมเดินทางธรรม เพราะว่าเรื่องข้างในนั้นชี้ขาดที่สุดมันอยู่ตรงสันติภาพที่เราทำกับตัวเอง

อันนี้ ผมต้องขอยืนยันว่าผมไม่ได้พยายามสร้างจุดขายใหม่ ไม่ได้อยากแสดงออกซึ่งความคิดเหล่านี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ เพียงแต่ภาระหน้าที่ทางสังคมมันกำหนดให้ผมต้องไปพูดไปเขียน ผมก็ต้องพูดและเขียนเฉพาะสิ่งที่ผมรู้สึกจริง มันจึงออกมาในงานต่างๆ จนกลายเป็นข้อสังเกตแบบที่คุณว่า

แล้วที่ผมปฏิบัติของผมนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องทำไปเงียบๆ อย่างช่วยคน ช่วยสัตว์ แผ่เมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในโลก ส่วนใหญ่ผมไม่เคยเอาไปเขียน แต่ว่ามันทำให้ผมมีความสุขใจ มีความสุขสงบในชีวิต เช่น ช่วยกิ้งกือข้ามถนน หรือช่วยคางคกที่ถูกหมาไล่ฟัด หรือกับเพื่อนกับฝูงที่เดือดร้อน ช่วยใครได้ก็ช่วย คือให้มันเป็นชีวิตประจำวันของเราไปเลย รวมทั้งการถือศีลวันพระ การนั่งวิปัสสนาคนเดียวอย่างนี้ มันเป็นงานรูทีนสำหรับผมไปแล้ว

พูดก็พูด ระหว่างที่ผมต้องใช้ชีวิตอยู่กับความทุกข์นั้นสังคมก็ไม่ได้มาดูดำดูดี ผมจึงต้องหาทางดับทุกข์ให้ตัวเอง ฉะนั้นในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปีที่ผ่านมาในระยะที่ไม่ต่ำกว่า 5-7 ปีนี้ ผมจะต้องแก้ไขชีวิตตัวเองให้ได้ ต้องปฏิบัติธรรมจริงให้ได้ ไม่อย่างนั้นผมก็จะจมปลักอยู่กับความทุกข์เก่าๆ ตรงนี้ต่างหากที่มีผลกับชีวิตผมมาก เพียงแต่ว่าระยะหลังคนมาไต่มาถาม เราก็เอาประสบการณ์เล่าให้เขาฟัง

ขอพูดตรงๆ เลยนะ ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับสังคมนั้นเป็นเรื่องของผู้อื่นคิดเองเออเองเป็นส่วนใหญ่ มีน้อยคนที่จะรู้จักตัวจริงของผม

 

ในเชิงสัญลักษณ์นามธรรม ที่ผ่านมาการมีหมวกมันก่อให้เกิดความทุกข์อะไรบ้าง

อันที่จริงคุณต้องเข้าใจหมวกในความหมายที่รูปธรรมก่อน ในช่วงที่ผมยืนต้านสังคม เป็นคนนอกสังคม บางครั้งความที่ยังมีอัตตาเหลืออยู่เราก็จะปรุงแต่งตัวเองให้แตกต่าง ซึ่งรวมทั้งการแต่งกายด้วย ช่วงนั้นผมไม่ได้ใส่หมวกอย่างเดียวนะ ใครที่รู้จักผมในช่วงอายุ 40-50 ปีจะเห็นว่าผมใส่กำไลมือ ใส่แหวน แขวนลูกปัด พูดง่ายๆ คือผมทำอะไรที่มันแตกต่างจากกระแสหลักทุกเรื่องในส่วนของภาพลักษณ์ ผมไม่อยากแต่งตัวแบบที่อาจารย์เขาแต่งกัน

แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าทั้งหมดนี้มันเป็นการปรุงแต่งอัตตา เราใช้อัตตาตัวเองไปสู้กับอัตตาของสังคม แต่พอเราวางอัตตาลง ไม่เพียงหมวกเท่านั้นที่ผมถอด ทั้งแหวนทั้งสร้อยถอดหมด หนวดก็เลิกย้อม จะขาวก็ปล่อยให้มันขาว ผมก็เลิกตัดเลิกแต่ง ปล่อยมันไปตามเรื่องตามราว รำคาญก็รวบเข้ามามัดไว้ข้างหลัง

นอกจากนี้เสื้อผ้าก็เปลี่ยนไป มันไม่ใช่แค่ถอดหมวก คุณจะสังเกตว่าระยะหลังเวลาปรากฏตัวในที่ประชุมสาธารณะผมใส่เสื้อขาวตัวเดียว นักข่าวถ่ายรูปมากี่หนเสื้อผ้าก็เหมือนเดิมทุกประการ พูดง่ายๆ คือ ผมได้ลดละการปรุงแต่งลง

ต้องยอมรับว่าในช่วงหนึ่งเราก็มีตัณหา ในเมื่อแตกต่างจากสังคม ก็อยากจะยืนยันความต่างคล้ายๆ เป็นชนเผ่าอะไรสักอย่าง ในด้านสังคมเราอาจจะไม่ได้ทำอะไรผิดหรอก เพราะว่าเรามีตัวตนที่แตกต่างจากเขาอยู่แล้ว แต่ในทางธรรมถือว่ายังไปไม่ถึงไหน

แต่เมื่อวางตรงนั้นมันเหมือนยกออกทั้งกระบิเลย เราไม่ได้สนใจเรื่องพวกนั้นอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหมวก ไม่ว่าจะเป็นแหวน ไม่ว่าจะเป็นกำไลมือ หรือกระทั่งหน้าตาตัวเอง คือเราแค่มีชีวิตอยู่แบบง่ายๆ เท่านั้นเอง

ชีวิตผมส่วนใหญ่น่ะ คุณรู้หรือเปล่าไม่ได้ใส่เสื้อด้วยซ้ำ ทุกวันนี้ผมนุ่งกางเกงเลตัวเดียวอยู่กับบ้าน (หัวเราะ)

 

แต่พอถอดหมวกแล้ว ก็คล้ายๆ กับว่าคุณก็มีเครื่องแบบชุดใหม่ เช่น ต้องเป็นเสื้อขาวแขนยาวไม่มีปก ต้องไว้ผมยาว หรือพูดง่ายๆ มันเป็นการออกแบบอาภรณ์นักบวชอย่างหนึ่ง?

ผมอาจจะเคยผิดพลาดมาหลายเรื่อง แต่ไม่เคยมีประวัติเป็นคนฉาบฉวยและลวงโลก แน่นอน ถ้าใครคิดแบบอกุศลก็อาจจะมองอย่างนั้นได้ แต่ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ว่าผมผ่านความทุกข์มามากเกินไปและไม่มีเวลาเหลือพอที่จะมาเล่นกับเปลือกนอกของชีวิต

เพราะฉะนั้นเวลาจำเป็น ผมหยิบเสื้อผ้าตัวไหนมาใส่ก็ได้ เพียงแต่ว่าเวลาสอนหนังสือหรือปรากฏตัวในที่สาธารณะนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการใส่สูทผูกไท ผมก็ใส่เสื้อขาวตัวหนึ่งซึ่งบางครั้งเป็นเสื้อเชิ้ต บางครั้งก็เป็นเสื้อที่ไม่มีปกแบบอินเดีย ซึ่งเป็นของมือสองจากตลาดนัดจตุจักร พ้นจากนี้เวลาไปไหนมาไหนส่วนตัวผมก็มักนุ่งกางเกงขาสั้นใส่รองเท้าแตะ ยกเว้นเวลาแคมปิ้งอาจจะต้องใช้เสื้อผ้ามากหน่อย เพราะมันหนาว เวลานั่งกรรมฐานอยู่กับบ้านก็นุ่งกางเกงเลตัวเดียว เสื้อไม่ใส่ ไม่ได้นุ่งขาวห่มขาวอะไร

พูดอีกแบบคือผมเปลี่ยนจากการแต่งกายมาเป็นแค่สวมใส่เครื่องนุ่งห่มเท่าที่จำเป็นในแต่ละสถานการณ์  แต่คุณต้องยอมรับว่าผมก็ยังมีรสนิยมทางศิลปวัฒนธรรมเหลืออยู่บ้าง จะให้ใส่เสื้อสีชมพูหรือนุ่งกางเกงหูรูดลายดอกมะเขือก็คงไม่ไหวเหมือนกัน

ผมเข้าใจประเด็นที่คุณถาม เพราะเป็นประเด็นที่ผมก็ถามตัวเอง ผมคุยกับตัวเองอยู่ตลอดว่า สิ่งที่ถูกที่สุดนั้นไม่ใช่ว่าใส่เสื้อขาวหรือเสื้อสี ใส่สูทผูกเนกไทหรือไม่ใส่สูทผูกเนกไท แต่สิ่งที่ถูกที่สุดในทางธรรมก็คือว่า มีอะไรใส่ก็ใส่ไป ฉะนั้นในยามที่มันจำเป็นหยิบอะไรขึ้นมาได้ก็แต่งไป แต่ตราบใดที่เรามีเสื้อผ้าอยู่จำนวนหนึ่งเราก็ทำให้มันเรียบง่ายที่สุด นุ่งเจียมห่มเจียม ประเด็นสำคัญคืออย่าไปสร้างอุปาทานเกี่ยวกับมัน ลำพังเสื้อขาวไม่ได้ทำให้ใจขาว

ในเวลานี้บางวันผมก็ใส่หมวกถ้าแดดมันร้อน แต่ใส่โดยไม่ติดหลงกับมัน

 

ถ้าหมวกเป็นอัตลักษณ์เดิม อันมีนัยยะของความเป็นคนนอก ความเป็นนักรบ หรือการมีรังสีฆ่าฟันอำมหิต พอคนได้ยินว่าบัดนี้เสกสรรค์ได้ถอดหมวกแล้ว เพราะฉะนั้นสามารถทำอะไรกับคุณก็ได้ กรณีนี้ถือเป็นความเข้าใจผิดไหม

เข้าใจผิดแน่นอน (ตอบรวดเร็ว) เพราะผมได้คุยเรื่องนี้กับตัวเองไว้เรียบร้อยแล้วว่า ผมยังไม่ได้เจริญในทางธรรมถึงขั้นที่เรียกว่ายอมทุกเรื่องได้ เพียงแต่ว่ายอมได้มากกว่าเดิม แต่ถึงขีดสุดแล้ว ผมคิดว่ายังต้องขัดขวางการกระทำที่ผิดของคนบ้าง ถ้ามันจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการที่ไม่ใช่ทางธรรม…ก็อาจจะต้องยอมบาปบ้างเป็นครั้งคราว

แน่นอน ถ้าคุณบรรลุอรหันต์คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องคิดอะไรแบบนี้ คุณเป็นนักบวชที่แท้จริงไปเลย ใครละเมิดล่วงเกินก็ยอมได้หมด แต่ผมยังไม่ใช่ ผมรู้ตัวว่าผมยังไม่ใช่ มันยังเป็นขั้นตอนที่ผมจะต้องก้าวข้ามไป แต่วันนี้ยังข้ามไม่พ้น

 

ในยุคที่คุณยังต้องบำบัดข้างในตัวเองด้วยการออกไปตกปลาล่าสัตว์ พูดไปแล้วมันเป็นขั้นตอนที่จำเป็นอย่างหนึ่งไหมครับ หมายความว่าต้องผ่านขั้นตอนนั้นก่อน จึงจะพบขั้นตอนใหม่ในเวลานี้

สำหรับผมถือว่าจำเป็น เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าผมไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผมเพียงแต่โตขึ้น

Author

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า