ในวาระเกษียณอายุราชการ ของ ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะลูกศิษย์อันประกอบด้วย เจษฎาพัญ ทองศรีนุช, กาญจนา บุญยัง, พัชราภา ตันตราจิน, ปฤณ เทพนรินทร์, เอกสิทธิ์ หนุนภักดี และ อุเชนทร์ เชียงเสน ได้ร่วมกันจัดงาน ‘รัฐศาสตร์สไตล์เกษียร: ครูกับศิษย์เสวนา’ โดยมี ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ภายใต้บรรยากาศเป็นกันเองที่พัชราภาบอกกล่าวในช่วงต้นว่า ไม่ต้องการจัดงานในวาระเกษียณอายุราชการของเกษียรด้วยความเศร้าของการจากลา กระนั้น แม้จะเป็นการเสวนาระหว่างครูกับศิษย์ ทว่าเมื่อเป็นเกษียร จากสายตาและมุมมองของลูกศิษย์ที่เติบโตมากับการศึกษาและอ่านความคิดของอาจารย์ผู้นี้มาตลอด ก่อนจะวางตำแหน่งแห่งที่ในโลกวิชาการได้เป็นผลสำเร็จตามแนวทางความสนใจของแต่ละคน
ความเป็นไทยสไตล์เกษียร
เอกสิทธิ์ หนุนภักดี บอกเล่าทั้งความรู้สึกและความคิดในการมองสังคมไทยที่ได้จากห้องเรียนของเกษียรออกมาเป็นมุมมองที่น่าสนใจ
เอกสิทธิ์บอกว่า เมื่อตนได้รับโจทย์มาว่า รัฐศาสตร์สไตล์เกษียรคืออะไร อย่างปลอดภัยที่สุดคือกลับไปดูงานของเกษียร ซึ่งงานของเกษียรเท่าที่ไปดูมาก็จะเกี่ยวกับความเป็นจีนในสยาม ความเป็นเจ๊กในไทย การนิยามประชาธิปไตย การเมืองและเศรษฐกิจการเมืองไทยและงานเกี่ยวกับปัญญาชน ยังไม่นับกาพย์กลอนโคลงกวีใดๆ ที่เขียนขึ้น เฉพาะเกี่ยวกับด้านรัฐศาสตร์จะอยู่ประมาณนี้
“ชื่อบทความสำคัญของอาจารย์มีอะไรบ้าง? บริโภคความเป็นไทย, นิทานประชาธิปไตยไทย, จินตนาการชาติที่ไม่เป็นชุมชน, เจ๊กและแขกกับสังคมไทย มรดกเตี่ยที่เฮียลืม จากหัวข้อต่างๆ เราจะเห็นว่ามันจะยั่วล้อกับความจริง คุณรักความเป็นไทยมาก คุณเกลียดบริโภคนิยมมากๆ สิ่งที่คุณทำคือคุณบริโภคความเป็นไทย ถ้าคุณคิดว่าประชาธิปไตยไทยมันเที่ยงแท้มากๆ เดี๋ยวเราจะทำให้ดูว่านิทานประชาธิปไตยมันเป็นยังไง หรือถ้าคุณจีนมากเราจะชี้ให้เห็นว่า ขนาดมรดกเตี่ยเฮียยังลืมแล้วคุณจะเป็นจีนได้ยังไง
“การยั่วล้อเหล่านี้มันไม่ได้ทำลายความเป็นจริงอันอื่นทิ้งไป แต่สิ่งที่อาจารย์เกษียรทำคือการหยิบความเป็นจริงอย่างอื่นมายั่วล้อให้ดู เราได้อะไร เราได้ ‘ประเทศกูมี’ นึกออกไหมครับ เราเห็นอย่างอื่นอยู่เต็มไปหมดเลย แต่ถ้าไม่มีใครมายั่วล้อให้เราดู เราจะไม่เห็นว่ามันมีความเป็นจริงอย่างอื่นอยู่ด้วย มันช่วยเบิกตาเรา จากสิ่งที่เรามองเห็น ที่เราใส่แว่นหลายๆ สี
“บางทีอาจารย์เกษียรช่วยเราให้ถอดแว่นดูบ้าง หรือใส่แว่นสีอื่นดูบ้าง แล้วเราได้อะไร เราก็จะได้การเลือกเชื่อเป็น ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับความเป็นจริงที่เรามีอยู่ มันสืบต่อเรื่องอะไร มันทำให้เรารับฟังความคิดเห็นแม้กับคนที่เราไม่เห็นด้วยที่สุดอย่างเยือกเย็นได้ ท้ายที่สุดคือเราไม่ต้องเบียดขับคนที่เห็นต่างจากเรา มันไม่มีอะไรที่มันเป็นหนึ่งเดียว”
การเมืองเชิงพื้นที่วัฒนธรรม
ทั้งหมดนี้เอกสิทธิ์บอกเล่าว่าเกษียรทำผ่านพื้นที่เชิงการเมืองของวัฒนธรรม ขณะที่ตัวเกษียรมีรากฐานมากจากมาร์กซิสม์ วัตถุ ฐานเศรษฐกิจกำหนดโครงสร้างส่วนบน ความคิด แต่ถ้าพลิกอีกนิดหนึ่ง ความคิดก็เป็นภาคปฏิบัติการเหมือนกัน ก่อนจะมาเป็นภาคเศรษฐกิจที่บังคับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ถ้าเริ่มจากการคุมส่วนที่ให้ความหมายได้ คุมสัญญะตั้งแต่ต้น คุมคำ คุมความหมายที่ใส่เข้าไป ก็จะสามารถควบคุมความคิดในหัวคนได้
“ในแง่นี้การเมืองแบบเกษียรสไตล์คืออะไร มันคือการเมืองเชิงวัฒนธรรม มันเป็นการต่อสู้ที่มันไม่มีที่สิ้นสุด ความหมายมันลื่นไหล ถ้าเราบังคับความหมายให้มันนิ่ง คุณกำลังกระทำความรุนแรง ฉะนั้นมันไม่มีศึกครั้งสุดท้ายในทางการเมือง มันไปบรรจบกับสิ่งที่เรียกว่าสันติวิธี คือการเมืองแบบไม่ฆ่า พอคิดอย่างนี้แล้วคือ จากปฏิบัติการทางวัฒนธรรมที่อาจารย์เกษียรทำมาทั้งหมด ในทางการเมืองมันคือการเมืองพื้นที่วัฒนธรรม”
โดยการเมืองพื้นที่วัฒนธรรมในความเข้าใจของเอกสิทธิ์ เมื่อมองผ่านสายตาของ เกษียร เตชะพีระ คือการทำความเข้าใจว่า ถ้าเรายั่วล้อกับความเป็นจริงได้ ก็เท่ากับมีความเป็นจริงแบบอื่นๆ ให้นำมาเรียงวางในเชิงวัฒนธรรม และนั่นคือการทำความหมายในระดับใหญ่ของสังคม
ยูโทเปียไม่มีจริง
“ความหมายนั้นคืออะไร ผมตีความเองว่ามันคือ ‘ชาติ’ ที่สุดแล้วในการทำงานรัฐศาสตร์สไตล์อาจารย์เกษียรคือรัฐศาสตร์ที่พยายามทำชาติให้น่ารักขึ้น คือมันเป็นชาติที่มีนิยาม เราไม่สามารถนิยามอะไรบางอย่างไปได้ และเราควรรับได้ในความแตกต่างอื่นๆ เราควรจะรับได้ทั้งเจ๊กจีน แขก เหลือง แดง สลิ่ม มีพื้นที่ที่โอบรับอะไรได้มากกว่าที่มันเป็นอยู่
“สุดท้ายสำหรับผม การเรียนกับอาจารย์เกษียรผมได้รับความรู้สึกว่า ยูโทเปียมันไม่อยู่จริง แต่ถ้าเราไม่ฝันถึงยูโทเปีย เราไม่รู้จะเดินทางไปทางไหน”
ขณะที่ อุเชนทร์ เชียงเสน มอง เกษียร เตชะพีระ ที่ตนรู้จักออกมาเป็นสามช่วงวัยด้วยกัน โดยเบื้องต้นอุเชนทร์บอกเล่าความรู้สึกส่วนตัวก่อนว่า เกษียรสำหรับตนนั้นเป็น ‘อาจารย์’ เป็น ‘แบบอย่าง’ เป็น ‘ความดี’ ที่ตนทำตามไม่ได้ อุเชนทร์จึงสรุปอย่างยั่วล้อในเชิงขำขันว่า ความดีของอาจารย์ประเมินโดยลูกศิษย์ ดังนั้นอะไรที่ดีจึงถือว่าเป็นผลงานของตน ส่วนอะไรที่ไม่ดีได้จากอาจารย์เกษียรมา
“ผมคิดว่าเกษียรมีฐานะกับผมสามฐานะ ฐานะแรกคือเป็นที่มาแห่งความกลัว ทำให้ผมเรียนจบแล้วมีหนังสือเล่มนี้ (การเมืองภาคประชาชน, 2561. สำนักพิมพ์มติชน) สองคือแรงบันดาลใจ อันที่สามคือทำให้ผมรู้จักยุทธศาสตร์ฝ่ายซ้าย”
เกษียรกับกระบวนการภาคประชาชน
ในที่ทางวิชาการ อุเชนทร์เริ่มทำวิทยานิพนธ์ในช่วงปี 2540 โดยมีโจทย์จากความเริ่มรู้สึกที่มีต่อกระบวนการประชาชนแล้วพยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งการได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ เกษียร เตชะพีระ เรื่อง ‘การเมืองภาคประชาชน’ ทำให้อุเชนทร์มาเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์ โดยตั้งใจไว้ว่า ถ้าจะทำเรื่องการเมืองภาคประชาชนจะต้องได้เกษียรเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น ทว่าอุเชนทร์ไม่มีโอกาสได้เรียนกับเกษียรเลย หากแต่กลับมาเจอกันในตอนปี 2552
“ผมบอกแกว่าผมจำเรื่องนี้ ผมให้อาจารย์เป็นที่ปรึกษา อาจารย์ไม่ต้องตอบผมก็ได้ แต่ผมขอเวลาหกเดือน ผมทำ proposal 52 หน้าเพื่อให้แกรับเป็นที่ปรึกษาผม แล้วแกก็รับตอนปี 2553 ผมเสนอ proposal วันที่ 9 เมษายน 2553 หลังจากนั้นผมส่งข้อความหาแกวันสุดท้ายก่อนที่ผมจะหายไปเลย เราไม่คุยกันหนึ่งปี แล้วมาคุยกันอีกครั้งตอนที่อาจารย์ให้โอกาสผม ก็คือว่าผมได้ทุนของ สกว. ในการทำวิทยานิพนธ์ คนที่ช่วยทำให้ผมได้ก็คืออาจารย์เกษียร สุดท้าย ปลายปี 2554 ผมท้อมาก ผมเขียนหนังสือไม่ได้ ปัญหาชีวิตเยอะ ผมคิดที่จะเลิกทำ แต่อีเมลของอาจารย์เกษียรส่งมาทวงนั้นยาวมาก แล้วผมก็รู้สึกว่า ถ้าผมทำไม่เสร็จ อาจารย์เกษียรจะเลิกคบผม ด้วยความกลัวอาจารย์เกษียรเลิกคบจึงทำเสร็จแล้วมีเล่มนี้ออกมา และมันทำให้ผมมีวันนี้ ได้มานั่งอยู่ตรงนี้”
เมื่อกล่าวจบเสียงปรบมือดังขึ้น อุเชนทร์เล่าต่อถึงประการที่สองว่า เกษียรในฐานะแรงบันดาลใจ เนื่องจากตอนเป็นนักกิจกรรมช่วงปี 2540 โดยเริ่มจากการเข้าห้องสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แล้วไปพบกับกองหนังสือเต็มไปหมด จัดเป็นคลังความรู้ที่ทำให้อุเชนทร์เริ่มรู้จักเกษียรตั้งแต่เกษียรยังไม่รู้จักตนเอง
ขณะที่ในฐานะนักกิจกรรม อุเชนทร์บอกกล่าวว่าตนไม่ค่อยชอบพวก 14 ตุลา 2516 เพราะเป็นคนที่ชนะ ประสบความสำเร็จ เวลาคนรุ่นนั้นมองตัวเองจึงเป็นสายตาที่แตกต่างจากคนรุ่น 6 ตุลา 2619 ซึ่งพ่ายแพ้ คนเหล่านี้คือคนที่ดูแล ใส่ใจ ไม่มีอารมณ์แบบพวก 14 ตุลา
“ที่พูดๆ อย่างโน้นอย่างนี้ แล้วผมคิดว่าอาจารย์เกษียรเป็นพวก 6 ตุลาคม หลังจากนั้นผมรู้จักพี่มด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) เวลาสมัชชาคนจนจะทำอะไร สิ่งที่เขาทำคือเดินหาอาจารย์เกษียร ผมเจอเขาครั้งแรกเพราะเดินมากับพี่มด เขาคุยว่า ธรรมศาสตร์กำลังจะจัดชุมนุม อาจารย์ว่าอย่างไร ขอคำแนะนำ สิ่งที่เกษียรให้คือสิ่งที่เป็นจริงกับกระบวนการตลอดเวลา แม้กระทั่งในช่วงที่ผมมาที่นี่แล้วเวลาผมมีปัญหาอะไรผมก็ปรึกษากับอาจารย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เรื่องประชาธิปไตยเป็นยุทธศาสตร์ที่พวกผมยึดถือมานานมาก ในช่วงปี 2543 เราเริ่มสนใจว่ายุทธศาสตร์นี้มันใช่หรือเปล่า ตอนนั้นผมยังไปเคลื่อนไหวกับชาวนาอยู่ อาจารย์บอก กรรมกรก็กรรมกร”
ประเด็นสุดท้ายที่อุเชนทร์ตั้งใจบอกเล่าคือ ความคิดที่มองเกษียรเป็นสามช่วง ช่วงแรกคือช่วง Code PCP ช่วงที่สองก็คือช่วง Illiberal Politic ช่วง 2535-2549 และช่วงที่สามคือช่วง Uncivil Movement คือช่วงหลัง 2549 จนถึงปัจจุบัน ในสามช่วงนี้ อุเชนทร์มองว่าตนชอบช่วงเกษียรยุคหนุ่มมากที่สุด เพราะมีความเป็นฝ่ายซ้าย เป็นช่วงที่เกษียรให้ความรู้ ความเข้าใจต่ออุเชนทร์อย่างมาก
“ช่วงที่ผมชอบมากที่สุดคือช่วง Illiberal Politic ผมจึงขออนุญาตพูดเฉพาะเรื่องนี้ เพราะเกษียรหนุ่ม หลังจากป่าแตก สิ่งที่มีการพูดถึงกันเยอะมากคือประชาธิปไตยของประชาชนที่เป็นอิสระจากรัฐและนายทุนแล้วก็ช่วงหลังๆ ช่วงสารภาพบาป อาจารย์เอาบทความนี้ลง มติชนสุดสัปดาห์ สามสัปดาห์จบ ผมคิดว่าเขาโชคร้าย เพราะว่าเขาจับใจบทความนี้และตีความบทความนี้อย่างขาดบริบท บทความประชาธิปไตยของประชาชนที่เป็นอิสระจากรัฐและนายทุนถูกเสนอขึ้นมาเพื่อบดขยี้คนยุคประชาธิปไตยไปแล้ว คือเพื่อเสนอว่า ภายใต้สภาวะใหม่ของชนชั้นนายทุน ฝ่ายก้าวหน้าควรจะต่อสู้อย่างไรและประเด็นอะไร”
หลังป่าแตกกับทางเลือกไม่ซ้าย
หลังจากนั้น อุเชนทร์เล่าถึงกรณีการโต้เถียงสำคัญที่อาจารย์เกษียรมีคุณูปการอย่างมากในการมองยุทธศาสตร์ฝั่งซ้าย คือช่วงหลังป่าแตก สำหรับคนที่ไม่เลือกเป็นฝ่ายซ้ายจะเผชิญหน้ากับระบบรัฐสภาที่เปิดกว้างขึ้น และภายใต้การโต้เถียงนี้ก็จะมีอีกประเด็นคือ ภายใต้ประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน เราจะเลือกสนับสนุนพรรคการเมืองของชนชั้นนายทุนเพื่อต่อสู้กับเผด็จการ หรือสนับสนุนเผด็จการทหารเพื่อต่อสู้กับนายทุน
“ซึ่งสมัยนั้น ท้ายที่สุดมีคนตีความว่าเราควรจะสนับสนุนเผด็จการทหารเพื่อต่อสู้กับชนชั้นนายทุน อาจารย์เกษียรวิจารณ์ว่าความคิดเช่นนี้มาจากความคิดซ้ายสุด พวกนี้เขาจะเข้าใจว่ารัฐเป็นเครื่องมือกดขี่ทางชนชั้นของชนชั้นปกครอง ตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาลต้องคุมด้วยชนชั้นปกครองล้วนๆ แล้วพอมาเจอทหาร เราคิดว่าทหารมันต่อสู้กับนายทุนนี่ เพราะฉะนั้นคิดว่าไม่มีทางที่ทหารจะสามัคคีกับนายทุนได้
“อาจารย์เกษียรเสนอว่า รัฐเป็นรัฐของสังคมที่ถูกแบ่งออกเป็นชนชั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนภาพความเป็นจริงของรูปธรรมของประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางชนชั้นในสังคม เวลาเราบอกว่ารัฐนั้นเป็นตัวแทนของชนชั้นไหน ไม่ใช่ดูว่าใครปกครอง เราต้องดูแบบนี้ รัฐนั้นเป็นสถาบันการผลิตซ้ำแบบวิถีการผลิตและสถาบันทางชนชั้นที่เอื้อให้ชนชั้นใดขึ้นมาเป็นชนชั้นหลัก ในสภาพที่ดึงกำลังของชนชั้นในสังคม เป็นไปได้ที่จะมีผู้เผด็จการมาปกครอง โดยรัฐอาจจะทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นนายทุนบางกลุ่ม แต่ไม่ใช่ปฏิปักษ์กับชนชั้นนายทุนทั่วไป
“และอาจารย์เกษียรก็ยังเสนอว่า นักสังคมนิยมต้องทำอะไร ต้องวางเป้าหมายหลักแห่งการโจมตีไว้ตรงศัตรูที่คุกคามเราอย่างเร่งด่วน และเฉพาะหน้ากว่าอย่างสอดคล้องกับกำลังของเราที่เป็นจริง ในสภาพที่เรายังไม่มีตัวแทนที่เป็นจริงของชนชั้นกรรมกร เกษียรคิดเรื่องสังคมนิยมนะครับ เราจึงควรร่วมมือกับพลังสังคมที่กว้างขวางที่สุด มาโจมตีศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด และนั่นคือเผด็จการทหาร อันนี้เป็นข้อเสนอในยุทธศาสตร์เชิงซ้อนประชาธิปไตย ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐทุนนิยมที่กำลังก้าวสู่รัฐประชาธิปไตยรัฐสภา ภาวะระยะสั้น ระยะใกล้ และไกล อยู่ที่การเข้าร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้อย่างเป็นฝ่ายกระทำเพื่อตระเตรียมเงื่อนไขแก่การก่อสร้างกระบวนการกรรมกรที่เป็นอิสระ ที่เป็นของตัวเองในอนาคต
“ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนคือ ด้านหนึ่ง ขยายการต่อสู้ในประชาสังคม พยายามช่วงชิงความเป็นใหญ่เหนือประชาสังคม รักษาที่ทางในประชาสังคมที่เรามีส่วนเอาไว้ ขยายที่ทางนั้นออกไป รวมพลังการเมืองกับทุกกลุ่มทุกฝ่าย ร่วมกันปกป้องพิทักษ์ประชาสังคมจากการโจมตี และพยายามกลับมาควบคุมระบบราชการ เสนอคำขวัญว่า ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการปกครองตามกฎหมายที่เป็นธรรม ต่อต้านทหาร ต่อต้านการคุกคามของระบบอำนาจนิยม ปกป้องและขยายสิทธิเสรีภาพทางวัฒนธรรม และปราศจากอาวุธ
“อีกด้านหนึ่งคือ เร่งสร้างกระบวนการแรงงานทั้งด้านความคิด การเมือง และการแต่งตั้งที่เป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเอง ปฏิบัติการนี้ ไม่เป็นไปเพื่อกำลังคัดค้านการถอดกลับไปสู่เผด็จการทหาร แต่ยังเป็นการตระเตรียมเพื่อก้าวข้ามพ้นมายาจอมปลอมของสังคมกระฎุมพีในอนาคต”
ผมจะกางร่มให้คุณแล้วเดินจากไป
เมื่อเป็นวาระเกษียณอายุราชการ หากไม่มีคำกล่าวปิดท้ายจากตัวเกษียรก็คงดูเป็นการปิดงานที่ไม่สมบูรณ์นัก โดยเกษียรกล่าวว่า ในรอบปีที่ผ่านมามีเรื่องที่น่ายินดีใหญ่ๆ อยู่สองเรื่อง คือ การได้เข้าสู่ความสัมพันธ์ของครูกับลูกศิษย์ กับเรื่องที่สองคือการที่น้ำหนักลดลงไป 15 กิโลกรัมภายในระยะเวลาหกเดือน
เกษียรมองย้อนบทบาทตนเองกลับไปตลอดระยะเวลา 30 ปีของการได้เป็นอาจารย์ แล้วบอกเล่าว่าทำไมความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์จึงมีความสำคัญ เพราะการเป็นครูหรืออาจารย์คือการให้อย่างไม่หวังผลตอบแทน ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข ให้ในสิ่งที่ดีที่สุด โดยหวังว่าผู้รับจะไปได้ไกลที่สุด
“มันคืออุดมคติครับ ในชีวิตจริงเราอาจจะทำไม่ได้บ้าง ย่อหย่อนบ้าง แต่ตราบใดที่อุดมคตินี้ยังมีชีวิตอยู่ และคนที่สอนยังมีอุดมคตินี้ ผมคิดว่าสถาบันการศึกษานี้ยังมีอนาคต คนมักจะเปรียบอุดมคตินี้กับเรือจ้างนะครับ ผมมีข้อสงวนนิดหนึ่ง เพราะว่าผมว่ายน้ำไม่เป็น ดังนั้น อุดมคติผมจึงเป็นอีกแบบ ตอนที่ผมนั่งประชุมวิชาการอยู่ที่เชียงใหม่ และฝนตกตลอดอยู่ข้างนอก ผมก็เปรียบนะครับว่าความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์นี้ว่าเป็นอะไร ถ้าฝนตก แล้วเราต้องแยกย้ายกันไป ผมจะกางร่มออกยื่นให้คุณ แล้วเดินจากไป ผมเข้าใจว่าอันนี้คือการให้อย่างไม่มีเงื่อนไข คือการให้อย่างไม่หวังผลตอบแทน คือการให้ในสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณมี เพื่อหวังว่าคนที่รักจะไปได้ไกลที่สุดที่เขาหวัง”