มันคือที่อื่น ที่ไหนสักแห่ง: ว่าด้วยความพยายามลบลืมความทรงจำ 6 ตุลา

 

เมื่อเขายืนยันเสียงแข็งว่าโลกไม่ได้สิ้นสุดตรงนั้น พวกคนตาบอดก็บอกว่าความคิดของเขาชั่วร้าย

ดินแดนคนตาบอด: เอช.จี. เวลล์

 

เอาเข้าจริง จดจำไม่ได้แล้วเหมือนกันว่าครั้งแรกที่รับรู้เรื่องราวของ 6 ตุลาคม 2519 นั้นเกิดขึ้นเมื่อใด ยิ่งหวนกลับไปทบทวนกลับยิ่งพบว่า ความทรงจำนั้นยิ่งกว่าพร่าเลือน มันลบเลือนหายไปเลยทีเดียว กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้จะเกริ่นเพื่อให้เข้ากับประเด็นการจัดฉายภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เนื่องในวาระครบรอบเหตุการณ์ล้อมปราบนกพิราบ 6 ตุลา เมื่อ 41 ปีก่อน ภายใต้หัวข้อ ‘ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง’ แต่อย่างใด

ความทรงจำบางความทรงจำ ลืมเสียดีกว่าจำ

ความทรงจำบางความทรงจำ ต่อให้อยากลืมเพียงใด แต่บางสิ่งบางอย่างไม่อนุญาตให้ลืมได้

ความทรงจำเหล่านั้น ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นภาพยนตร์สารคดีสั้น และภาพยนตร์สั้น เพื่อบอกเล่าถึงความทรงจำที่ไม่ควรลืมเหล่านั้น

คงเพราะเหตุนั้น เราจึงเดินเข้าโรงภาพยนตร์ศรีศาลายาเพื่อรับรู้และเข้าใจ ว่าเหตุใด สำหรับบางคนแล้ว บางความทรงจำกลับไม่อาจแม้แต่ลืมเลือน

ฉากที่ 1: จักจำไว้จนวันตาย

ภาพยนตร์สารคดีที่ออกฉายในปี 2520 เพื่อระดมทุนให้ความช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการทหาร เปิดฉากด้วยข้อความภาษาอังกฤษ บอกเล่าที่มาที่ไปเรื่องราวการต่อสู้ของกรรมกรหญิงในโรงงานผลิตกางเกงยีนส์ยี่ห้อ Hara จากความต้องการเพียงได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีสวัสดิการที่ดี นำไปสู่ประท้วงปิดโรงงาน เกิดการรวมตัวในหมู่กรรมกรหญิงเพื่อก่อตั้งโรงงานในชื่อ ‘สามัคคีกรรมกร’ ภายหลังชัยชนะของนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กระทั่ง 19 มีนาคม 2519 ตำรวจเข้าจับกุมกลุ่มกรรมกรหญิง ส่งผลให้เกิดคลื่นความไม่พอใจ ทั้งกรรมกรและนักศึกษาเข้าร่วมชุมนุมประท้วง

24 กันยายน 2519 พนักงานการไฟฟ้านครปฐมสองคน คือ ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา ถูกฆาตกรรมแล้วแขวนร่างประจานที่หน้าประตูเหล็ก ภายหลังการกลับเข้ามาของ สามเณรถนอม กิตติขจร นักศึกษานำเหตุฆาตกรรมมาทำละคร หนังสือพิมพ์ ดาวสยาม กล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มุ่งร้ายต่อองค์รัชทายาท

6 ตุลาคม 2519 ทหารและตำรวจเข้าล้อมปราบนักศึกษา กลุ่มนวพล กระทิงแดง ทำร้ายนักศึกษาบางส่วนที่หลบหนีออกมา ภาพยนตร์สารคดีประมาณผู้เสียชีวิตไว้ราว 300 คน ก่อนจะจบเรื่องด้วยภาพสวนสนามของบรรดาทหาร พร้อมกับตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ในปี 2519 ได้กลับไปเป็นเหมือนเมื่อก่อนปี 2516 มันเป็นเช่นนั้นหรือ?

พร้อมกับคำถามนั้น ภาพตัดสลับระหว่างพิธีสวนสนามกับผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

 

ฉากที่ 2: สองพี่น้อง

ภายใตัโจทย์จากโครงการบันทึก 6 ตุลา ภัทรภร ภู่ทอง กล่าวโดยหยิบยืมคำพูดของ ธงชัย วินิจจะกูล ไว้ว่า “ทางเดียวที่เราจะคืนศักดิ์ศรีให้กับผู้ที่ถูกพรากศักดิ์ศรีไปก็คือ การทำความรู้จักกับเขาในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่” ดังนั้น ภัทรภรและทีมงานจึงตั้งเป้าหมายการถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อบันทึก 6 ตุลา โดยมุ่งไปที่เรื่องราวของ ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา สองพนักงานการไฟฟ้านครปฐมที่ถูกฆ่าอย่างทารุณ และปัจจุบันนี้ผู้ถูกกล่าวหาตามการยอมรับของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ก็ยังไม่เคยได้รับโทษแต่อย่างใด

เรื่องราวในสองพี่น้องแนะนำให้รู้จัก ‘พี่ชาย’ ของทั้งชุมพรและวิชัย คือ ชุมพล ทุมไมย และ ประยูร เกษศรีพงศ์ษา ทั้งสองต่างมีมุมมองต่อน้องชายผู้จากไปเหมือนกัน คือต่างเป็นคนร่าเริงและจริงใจ เป็นคนตรงไปตรงมา และเป็นความคาดหวังของครอบครัวที่น่าจะพาคนอื่นๆ ไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้

แต่ทำไงได้ บุญเขามีแค่นี้

ชุมพลพูดกับรูปของน้องชาย และความรู้สึกนั้นก็เป็นเช่นเดียวกันกับประยูร ก่อนภาพยนตร์จะพาเรากลับไปยังจุดที่ร่างของทั้งสองถูกแขวนไว้ บานประตูเหล็กสีแดงเขรอะด้วยสนิมกลางที่ดินรกร้าง ที่กาลเวลาเมื่อ 41 ปีมาแล้วอาจไม่ได้เคลื่อนผ่านไปไหน

 

ฉากที่: 3 พิราบ

งานเพื่อส่งธีสิสก่อนจบการศึกษาของ ภาษิต พร้อมนำพล นำเสี้ยวส่วนของประสบการณ์ชีวิตของพ่อมาบอกเล่าเป็นเรื่องราวของ รัฐ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ถูกจับพร้อมกับนักศึกษาคนอื่นๆ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ก่อนได้รับการประกันตัวเพื่อกลับมาพบความหวาดระแวงว่าจะถูกจับได้ตลอดเวลาจากตำรวจที่นึกอยากจะมาตรวจค้นเมื่อไหร่ก็ได้ สิ่งนี้ผลักดันให้รัฐ – ที่ต่อต้านการจับปืนด้วยเหตุผลว่า “หากเราทำเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับพวกเขา”

แต่รัฐต้องทำเพื่อปกป้องทั้งน้องสาวและแม่ เพื่อปกป้องทั้งแม่และครอบครัวของผู้ทุกข์เข็ญอีกจำนวนมากในประเทศ เพื่อถมเต็มช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนให้น้อยลงกว่าที่เป็น แม้สักเพียงน้อยก็ยังดี

ภาพยนตร์จบลงที่รัฐได้พบ สหายเช ที่กล่าวต้อนรับเขาเข้าสู่ ‘เขตจัดตั้งที่ 30’ ภาพพร่าเลือน ทิ้งไว้เพียงแต่ด้านหลังของนักศึกษาที่เปลี่ยนไปเป็นนักรบเพื่อปลดแอกประชาชน

จากวันนั้นถึงวันนี้ เราคงเห็นกันชัดแล้วว่าอุดมการณ์ของรัฐนั้นพ่ายแพ้อย่างชนิดที่เรียกว่า ยับเยินเพียงไร ทั้งรัฐในฐานะ ‘บุคคล’ และรัฐในฐานะแผ่นดิน ‘แม่’ ของพวกเรา

อโนชา สุวิชากรพงศ์

End credit

คำถามหนึ่งที่มีต่อ อโนชา สุวิชากรพงศ์ คือ ความหมายของคำว่า ดาวคะนอง หนังที่มีเส้นเรื่องซ้อนทับกันไปมาระหว่างหญิงสาวชนชั้นแรงงาน ผู้กำกับสาว และนักเขียนหญิงที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลามา คำตอบที่น่าสนใจสำหรับตัวเองในฐานะคนดูคือ การที่อโนชาบอกว่า คำว่าดาวและคะนองมารวมกันมันดูมีอะไรดี

ขณะเดียวกัน ‘ดาวคะนอง’ ยังเป็นชื่อของป้ายสถานที่ที่เธอมักจะพบเห็นแทบทุกจุดบนทางด่วน ซึ่งถ้าไม่ใช่คนดาวคะนอง ก็จะรับรู้ว่ามันเป็นสถานที่หนึ่ง เป็นสถานที่ที่ไหนสักแห่ง เป็นสถานที่ที่เราไม่รู้จัก

‘ดาวคะนอง’ กับ เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 สำหรับเรา เหมือนกันตรงจุดนี้ เรารับรู้การมีอยู่ของความเลวร้ายที่เกิดขึ้น เรารับรู้การพยายามกลบเกลื่อนของอำนาจภาครัฐ

เรารับรู้ว่ามีคนตาย คนหาย ที่ยังไม่เคยถูกสะสาง ด้วยการคืนความจริง

6 ตุลาจะยังคงเป็นดาวคะนองทีลอยเคว้งคว้างตลอดประวัติศาสตร์ชาติ และในปีครบรอบที่ 41 ก็คงไม่ใช่ปีสุดท้ายที่เราจะต้องมารำลึก ตราบที่ความจริงยังไม่เคยถูกพูดถึง ตราบที่พวกเรายังคงพยายามลืมความทรงจำ ว่า เมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เกิดอะไรขึ้น

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า