7 วัน หลังพายุเตี้ยนหมู่ คนไทยขวัญผวามวลมหาอุทกภัย ประยุทธ์ส่งกำลังใจ “นะจ๊ะ”

นับจากพายุเตี้ยนหมู่เคลื่อนสู่ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2564 ทำให้เป็นที่หวาดหวั่นกันว่าจะเกิดมหาอุทกภัยซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงมีความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่รวดเร็วไม่น้อยไปกว่าการเคลื่อนตัวของมวลน้ำที่กำลังไหลบ่าอยู่ในขณะนี้ ท่ามกลางความหวาดวิตกของผู้คนและภาพฝันร้ายจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อครั้งอดีตที่ยังคงหลอกหลอน 

WAY ประมวลเหตุการณ์ในรอบสัปดาห์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และทิศทางข้างหน้าจะมีแนวโน้มเช่นไร รวมถึงติดตามการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับท่าทีและวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการน้ำ 

● 24 กันยายน 2564 กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนพายุ ‘เตี้ยนหมู่’ เคลื่อนตัวจากประเทศลาวมายังไทย ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงขอให้ประชาชนระวังผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

● 26 กันยายน 2564 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานเมื่อเวลา 9.30 น. ว่า เกิดอุทกภัยใน 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิจิตร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี และพระนครศรีอยุธยา รวม 55 อำเภอ มีประชาชนได้รับผลกระทบ 13,930 ครัวเรือน 

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย และกล่าวทักทาย “นะจ๊ะ” กับประชาชน​ตลอดเส้นทาง 

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า ปัญหาน้ำท่วมคือภัยธรรมชาติ ก็ต้องแก้ไขกันไป ปีที่แล้วมีพายุ 5 ลูก แต่ปีนี้มีเพียงลูกเดียว จึงขอให้ช่วยกันสวดมนต์ อย่าให้พายุเข้ามาอีก พร้อมทั้งแนะนำให้ประชาชนปลูกบ้าน 2 ชั้น หรือย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่สูงขึ้น หากตั้งใจฟังรัฐบาลพูดบ้าง ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

● 29 กันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดชัยภูมิ โดยระบุว่า “ต้องเข้าใจว่าปัญหามันเกิดขึ้นทั้งโลก ในวันนี้พวกเราทราบดี ไม่ใช่เฉพาะไทย โลกมีปัญหาแล้วเขาแจ้งเตือนแล้วใช่หรือไม่ ที่ใช้ทรัพยากรโลกสิ้นเปลือง เผาป่าไม้ ใช้พลังงานต่างๆ นี่คือโลกกำลังแจ้งเตือนเรา โดยบอกว่ารังแกฉันต่อไปไม่ได้แล้ว ฉะนั้นรัฐบาลก็ต้องแก้ทุกปัญหา”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งชูป้ายข้อความแสดงความไม่พอใจการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี พร้อมส่งเสียงตะโกน “I here too!” ขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งร้องขอให้รัฐบาลจัดโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ต่อไปนานๆ

● 30 กันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนนทบุรี เพื่อมอบถุงยังชีพให้ประชาชน ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยอมรับว่ามีความกังวลต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ จึงขอให้ติดตามการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา 

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอ้างถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงรับสั่งกับตนเสมอเวลาเข้าเฝ้าฯ ว่าต้องดูแลประชาชนให้มีความสุข ปลอดภัย ให้ประเทศชาติยั่งยืนและเดินไปข้างหน้าอย่างมีเสถียรภาพ 

มีรายงานจากเพจสำนักข่าวราษฎรว่า ตามกำหนดการเดิมนายกฯ ต้องเดินทางลงพื้นที่ที่บริเวณท่าน้ำนนท์ด้วย แต่กลับยกเลิกกลางคัน หลังจากทราบว่ามีประชาชนกลุ่มที่ไม่พอใจมาดักรอและถือป้ายประท้วงที่บริเวณดังกล่าว นายกฯ จึงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า 

ขณะเดียวกัน มีรายงานสถานการณ์สาธารณภัยจาก ปภ. ในภาพรวมตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน จนถึงปัจจุบัน มีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 31 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม รวมทั้งสิ้น 190 อำเภอ 956 ตำบล 6,335 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 227,470 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ได้แก่ ลพบุรี 6 ราย เพชรบูรณ์ 1 ราย และมีผู้สูญหาย 1 ราย ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ 

ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า (30 กันยายน – 6 ตุลาคม) ร่องมรสุมกำลังอ่อนจะพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมชลประทาน ระบุว่า ขณะนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำที่สำคัญของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำถึง 106 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่างแล้ว ส่วนเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 49, 44 และ 89 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า