“ภาวะที่ไม่ปกติถูกทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาจนเราคุ้นชิน และเราอาจต้องอยู่กับมันไปอีกนาน”
ประโยคดังกล่าวเกิดขึ้นบนเวทีเสวนาวิชาการ ‘8 ปีที่ 8 เปื้อน: พินิจประเทศไทยในสภาวะไม่ปกติ’ ณ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อสรุปภาพรวมว่า การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพวกตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สร้างความแปดเปื้อนแก่ประเทศไทยในทุกด้าน ทั้งยังลิดรอนสิทธิและส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในทุกมิติ
เวทีเสวนาในหัวข้อ ‘สิทธิและอัตลักษณ์’ ผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.สุรินทร์ อ้นพรม นักวิชาการอิสระ ดร.สมนึก จงมีวศิน กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิตติกาญจน์ หาญกุล วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การลิดรอนสิทธิ เมื่อสภาวะยกเว้นกลายเป็นสภาวะปกติ
ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว เริ่มต้นเสวนาด้วยประเด็นการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลประยุทธ์
“พยายามคิดว่าจะเล่าเรื่องนี้อย่างไร เพราะที่จริงตั้งแต่การรัฐประหารเกิดขึ้น สิทธิทางการเมืองของพวกเราก็ถูกพรากไปแล้ว ไม่รู้จะเล่าอะไรอีก มันคือการพรากสิทธิของเราไปแล้ว”
เบญจรัตน์ระบุว่า แม้รัฐบาลประยุทธ์ ตั้งแต่ช่วง คสช. และช่วงหลังเลือกตั้ง จะพยายามใช้อำนาจลิดรอนสิทธิอย่างแนบเนียน ไม่เหมือนจีนหรือเมียนมาที่ใช้กำลังปราบประชาชนอย่างโจ่งแจ้ง การลิดรอนสิทธิเช่นนี้จึงทำให้คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกปกติเหมือนไม่ถูกพรากสิทธิ และคิดว่าถ้าไม่ทำผิดก็ไม่ต้องกลัว ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะถูกพรากสิทธิอย่างต่อเนื่อง
เบญจรัตน์เห็นว่า 8 ปีที่ผ่านมา มีคนถูกเรียกปรับทัศนคติ ถูกตั้งข้อหา และดำเนินคดีในศาลทหารจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้ง เราจะเห็นการกลับมาของมาตรา 112 จนมีผู้ถูกดำเนินคดีหลายร้อยคน รวมถึงเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปี ไม่เพียงเท่านั้น สถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่ตั้งคำถามและประท้วงทางการเมืองเท่านั้น แต่ชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิในที่ดิน สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ หรือปัญหาเรื่องปากท้อง ก็โดนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มองเป็นศัตรู
“ภาวะที่ไม่ปกติถูกทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาจนเราคุ้นชิน และเราอาจต้องอยู่กับมันไปอีกนาน”
รัฐทวงคืนผืนป่า บนคราบน้ำตาชุมชน
ดร.สุรินทร์ อ้นพรม กล่าวเสริมเรื่องการลิดรอนและบิดเบือนสิทธิชุมชนในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ โดยเฉพาะสิทธิในการจัดการทรัพยากร สุรินทร์เห็นว่า ชุมชนมีสิทธิอันชอบธรรมในการจัดการทรัพยากร การเข้าถึงที่ดิน ตลอดจนเอามาใช้ในการดำรงชีพ นอกจากนี้ กฎหมายยังระบุว่า ชุมชนมีสิทธิในการมีส่วนร่วมประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาของรัฐ มีสิทธิได้รับการเยียวยาฟื้นฟู ตลอดจนฟ้องร้องหน่วยงานรัฐในกรณีที่ได้รับผลกระทบ
สุรินทร์ยังอธิบายว่า นโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ให้สิทธิเจ้าหน้าที่รัฐในการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างถึงที่สุด ทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แค่เฉพาะปี 2557-2561 มีชาวบ้านโดนฟ้องคดีกว่า 20,000 คดี แม้รัฐบาลจะอ้างว่า ละเว้นคนไม่มีที่ดินทำกินหรือคนยากไร้ แต่คนกลุ่มนี้กลับได้รับผลกระทบโดยตรง ในขณะที่นายทุนขนาดใหญ่ รีสอร์ตเอกชน เครือข่ายในระบบอุปถัมภ์ของทหารหรือผู้มีอำนาจกลับไม่ถูกดำเนินคดี
ระบอบประยุทธ์อ้างว่าได้ออกกฎหมายรับรองสิทธิชุมชน 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ป่าชุมชน กฎหมายอุทยานแห่งชาติ และกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แต่สุรินทร์แย้งว่า รัฐยังมองว่าตนเป็นเจ้าของป่าและมีอำนาจเหนือพื้นที่ ชุมชนเป็นเพียงผู้เข้ามาขออนุญาตในการใช้ประโยชน์เท่านั้น ดังนั้น กฎหมายเหล่านี้จึงไม่ใช่การรับรองสิทธิชุมชนอย่างแท้จริง ยิ่งกว่านั้น รัฐยังพยายามสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเพื่อเอื้อให้ภาคเอกชนและทุนใหญ่ทำธุรกิจหาผลประโยชน์ได้ง่าย
เขตเศรษฐกิจพิเศษ เอื้อทุนต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี
ดร.สมนึก จงมีวศิน เสริมว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าคือความพยายามในการฟอกเขียวหรือ Green Washing ของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งขณะนั้นโดนกดดันจากความตกลงปารีส (Paris Agreement)
“รัฐบาลไม่รู้จะเอาผืนป่าจากไหน ก็ต้องทวงคืนจากประชาชน ตัวเลขที่เขาต้องการตอนนั้นคือ 27 ล้านไร่ จึงต้องทวงคืนปีละ 2.7 ล้านไร่ เป็นเวลา 10 ปี”
แม้จะพยายามทวงคืนผืนป่า แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับไปจับมือกับกลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครคบค้านอกจากรัฐบาลจีนที่มีนโยบาย One Belt One Road เชื่อมโยงการค้าและการคมนาคม จนมีการเอาพื้นที่ชายแดน 10 จังหวัด มาสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ซึ่งต้องออกคำสั่ง คสช. เพื่อจะไล่ยึดที่ชาวบ้าน
เช่นเดียวกับเมื่อรัฐบาลประกาศเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ก็มีการเพิ่มสิทธิพิเศษไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะพื้นที่เขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออกอย่างชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เช่น สิทธิประโยชน์จาก BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ที่ยกเว้นภาษีสูงสุด 15 ปี หากเป็นเอกชนที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง หรือคำสั่ง คสช. ที่ 9/2559 ถ้าเป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ไม่ต้องรอประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือผลกระทบสุขภาพ (EHIA) ซึ่งประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) ขณะนั้นคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยิ่งกว่านั้น ที่ดินทหารซึ่งเป็นที่ราชพัสดุหรือที่ดิน สปก. ก็สามารถกลายเป็นพื้นที่ EEC ได้
สมนึกเห็นว่า พื้นที่ EEC Promotional Zone เหล่านี้เอื้อให้ทุนต่างชาติอย่างมาก กล่าวคือ ให้เช่าที่ดินสูงสุด 99 ปี (50 ปี และต่ออายุได้อีก 49 ปี) สามารถเอาคนต่างชาติเข้ามาทำงานได้ในทุกระดับ จำกัดภาษีเงินได้ให้ไม่เกิน 17 เปอร์เซ็นต์ แต่นโยบายเหล่านี้กลับไม่เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านท้องถิ่นแต่อย่างใด
“คราวนี้ฉลาด ให้เอกชนไปแย่งยึด ไปกดราคาบ้าง หรือหาซื้อจาก landlord (เจ้าของที่ดิน) ซึ่งพอเห็นราคาสูงๆ เขาก็ขาย ส่วนเกษตรกรรายย่อยที่เช่าเขาอยู่ก็ไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย ที่ดินหลุดมือ ค่าเยียวยาก็ไม่ได้”
เมื่อทหาร=รัฐ ละเมิดสิทธิคนชายแดนใต้ ในนามของความมั่นคง
ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ กล่าวถึงปัญหาชายแดนใต้ที่สภาวะยกเว้นได้กลายเป็นภาวะปกติ เพราะคนในพื้นที่ถูกละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อย่างน้อยก็ 19 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ ‘ความรุนแรงระลอกใหม่’ หลังเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี ชลิตาเห็นว่า 8 ปีของรัฐบาลประยุทธ์กลับยิ่งขยายปัญหาชายแดนใต้ให้ยืดเยื้อ แม้รัฐไทยจะใช้งบประมาณไปแล้วเกือบ 500,000 ล้านบาท แต่กลับยังมีปัญหาการพัฒนา ความยากจน ยาเสพติด การแบ่งแยกระหว่างผู้คน ประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นพลเมืองชั้นสอง ตลอดจนมีการล้อมปราบอย่างรุนแรงจากรัฐ
ชลิตากล่าวว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมักใช้ปัญหาชายแดนใต้ในการสร้างความชอบธรรมและสร้างเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่ตน ที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์พยายามอ้างว่า ปัญหาชายแดนใต้ดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วกฎหมายพิเศษยังคงดำรงอยู่และใช้บังคับชีวิตของผู้คนในพื้นที่ ตั้งแต่กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2521
สภาวะพิเศษทางกฎหมายดังกล่าวเอื้อให้เกิดการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย บุกค้น ปิดล้อม ล้อมปราบ หรือวิสามัญฆาตกรรม ตลอดจนลิดรอนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้คนในพื้นที่จำนวนมาก ยิ่งกว่านั้น ชลิตาเห็นว่า รัฐไทยให้อำนาจและบทบาทของกองทัพอย่างมาก โดยเฉพาะหน่วยงาน กอ.รมน. ซึ่งมีอำนาจควบคุมกำกับส่วนราชการอื่นๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยในพื้นที่แทบจะเบ็ดเสร็จ และขยายบทบาทเข้าไปแทบทุกมิติชีวิตของประชาชน
“ในสามจังหวัดภาคใต้ เมื่อพูดถึงรัฐหรือทหาร เราอาจจะพูดแทนกันจนแทบเป็นคำเดียวกันได้เลย”
ม็อบตุ้งติ้ง เมื่อสมาคมชาวสีรุ้งโต้กลับการลิดรอนสิทธิของรัฐไทย
ผศ.ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ เห็นว่า ตลอดช่วง 8 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ มีความพยายามในการลิดรอนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นระบบ ซึ่งขัดต่อหลักการประชาธิปไตย
ติณณภพจ์อธิบายว่า ความพยายามต่อสู้เพื่อสิทธิในเพศสภาพเกิดขึ้นในไทยมานานแล้ว แต่ช่วงปี 2563 รัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ พยายามฟอกสีชมพู หรือ Pink Washing ตนเอง และโฆษณาว่าเป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQ+ ในตอนนั้นมีร่างกฎหมายเกี่ยวกับ LGBTQ+ หลายร่าง อาทิ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับ ครม. พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล หรือกฎหมายที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม วันอัปยศของชาวสมาคมสีรุ้งมาถึง เมื่อร่างกฎหมายเหล่านั้นถูกปัดตกและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า ครอบครัวและการสมรสควรเป็นเรื่องของชายหญิง เพราะผูกติดกับความสามารถในการสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’
ติณณภพจ์อธิบายว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำตัดสินดังกล่าวคือ การทำงานของวาทกรรมว่าด้วยความเป็นธรรมชาติของรักต่างเพศ และทำให้คนรักเพศเดียวกันหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็นสิ่งผิดปกติหรือเป็นเพียงส่วนเสริม ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลพยายามเตะตัดขาขบวนการเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ มาโดยตลอด
แต่ขณะเดียวกัน ติณณภพจ์กล่าวว่า ประชาชนไม่ได้งอมืองอเท้าให้รัฐลิดรอนสิทธิแต่ฝ่ายเดียว หลังคำวินิจฉัยออกมาจึงเกิดแฮชแท็ก #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ และการรณรงค์ลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมออนไลน์ ได้รายชื่อเกิน 100,000 คน ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง แต่การเคลื่อนไหวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโลกออนไลน์ ติณณภพจ์ยกตัวอย่าง ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะรัฐบาล’ ที่มีบทบาทสำคัญตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ม็อบดังกล่าวใช้มุกตลกในสื่อ pop culture เป็นเครื่องมือในการล้อเลียนรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ
แม้จะมีผู้ค่อนขอดว่าม็อบของ LGBTQ+ เป็นเพียงการแสดงสีสันเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีพลังอำนาจกดดันอะไร แต่ติณณภพจ์อธิบายว่า นี่คือตัวอย่างของการต่อรองและบ่อนเซาะอำนาจนำของรัฐ และยังทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐที่ดูจะแตะต้องไม่ได้ ต้องลดลงด้วยการป้ายสีเป็นสีรุ้ง
ติณณภพจ์อ้างถึง เจมส์ ซี. สก็อต (James C. Scott) นักรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยา ผู้อธิบายเรื่องการต่อต้านอำนาจนำและการแสดงพลังของผู้อ่อนแอ (Weapons of the Weak) ว่า ในสถานการณ์ที่ผู้ถูกกดขี่ลุกขึ้นมาปฏิวัติไม่ได้ เพราะจะเกิดการเสียเลือดเสียเนื้อ ไม่ได้แปลว่าการต่อต้านจะไม่เกิดขึ้น หรือพวกเขายอมจำนนต่อโครงสร้างอันฉ้อฉลเสมอไป และม็อบตุ้งติ้งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการต่อต้านลักษณะนี้
“ถ้าวันนั้นตำรวจตอบโต้ผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง คุณจะหมดความชอบธรรมโดยทันที เพราะใช้ความรุนแรงปราบผู้ชุมนุมที่มาสันทนาการ แต่ขณะเดียวกัน ณ โมเมนต์ที่เขาไม่ตอบโต้ผู้ชุมนุมเลย แล้วปล่อยให้มีการล้อเลียนต่อไป นั่นก็ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นแปดเปื้อนไปโดยปริยายเช่นกัน”