9 ปี น้ำมันรั่วระยอง: ทะเลสีดำกับการเยียวยาที่ยังมาไม่ถึง

เช้าตรู่ของปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 ชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ที่เคยขาวสะอาดตาได้แปรเปลี่ยนเป็นสีดำขมุกขมัว น้ำทะเลที่เคยใสปรากฏคราบน้ำมันข้นคลั่ก ส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ไปทั่วบริเวณ ภาพนั้นกลายเป็นที่น่าตกใจของทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ที่อาศัยอยู่แถวนั้น ทราบภายหลังว่าเกิดจากท่อน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (PTTGC) รั่วไหลบริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบ ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ในช่วงเช้าของวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ก่อนที่คราบน้ำมันจะถูกคลื่นพัดพาเข้าสู่ชายฝั่ง จนเกิดสิ่งที่เรียกขานกันว่า ‘ทะเลสีดำ’

ช่วงที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่เร่งนำเรือออกสำรวจทะเล ส่วนบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด ทำการหยุดจ่ายน้ำมัน รวมถึงใช้ทุ่นและเครื่องมือกักเก็บคราบน้ำมันในทันที แต่ถึงกระนั้นก็ต้องใช้เวลาเก็บกู้อยู่นานนับเดือน เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาล สัตว์น้ำทะเลบาดเจ็บและตายไปนับไม่ถ้วน อ่าวพร้าวถูกประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางทะเล จำต้องปิดตัวลงชั่วคราว ทำให้ภาคธุรกิจเสียหายกันถ้วนหน้า ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะทางกว่า 30 กิโลเมตรระหว่างแท่นรับน้ำมันดิบจนถึงเกาะเสม็ด ยังพบว่ามีน้ำมันกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่รั่วไหล จมอยู่ใต้ทะเลตลอดแนวชายฝั่งมาบตาพุด หาดแม่รำพึง อ่าวพร้าว รวมถึงหาดแม่พิมพ์ ซึ่งสร้างผลกระทบแก่ชาวประมงเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของชาวระยอง

จากวันนั้นถึงวันนี้ กินเวลากว่า 9 ปีมาแล้ว แม้จะมีการฟ้องร้องกันระหว่างผู้ได้รับผลกระทบคือ กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มผู้ค้า ผู้ประกอบการ และบริษัทต้นเหตุ ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2563 ท้ายที่สุดศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ PTTGC จ่ายเงินชดเชยเยียวยาชาวประมงรายละ 3 เดือน รวม 1.5 แสนบาท และกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายละ 1.2 แสนบาท ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด กลุ่มชาวบ้านจึงได้ทำการยื่นฎีกาต่อ เป็นผลให้กระบวนการเยียวยายังไม่แล้วเสร็จ 

หนำซ้ำเมื่อช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันดิบโดยบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) บริเวณทุ่น SPM ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดราว 17 กิโลเมตร แสดงให้เห็นถึงความหละหลวมในมาตรการป้องกันของภาคธุรกิจปิโตรเลียม ซึ่งส่งผลกระทบระยะยาวต่อทั้งระบบนิเวศและปากท้องของคนในพื้นที่

คราบสีดำและน้ำมันรั่วซ้ำรอยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2556 และมกราคม 2565 ที่สร้างผลกระทบในระยะยาวต่อระบบนิเวศอย่างน่าเป็นห่วงนั้น ทำให้เกิดแนวความคิดว่า การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่นี้อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ระยองอีกต่อไป

ทะเลใสในความทรงจำ

“บ้านลุงอยู่ปากน้ำ ติดคลอง ติดทะเล ทำประมงมาตั้งแต่เด็ก”

คำบอกเล่าของ บรรเจิด ล่วงพ้น ชาวประมงเรือเล็กพื้นที่ปากน้ำระยอง พ่วงตำแหน่งรองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง และเป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องการช่วยเหลือเยียวยาจากเหตุน้ำมันรั่ว บรรยายถึงภาพทะเลระยองในอดีตซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก ด้วยตัวหาดที่มีความยาวกว่า 108 กิโลเมตร ตลอดชายฝั่งจึงเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและประมงเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงการเพาะปลูก และการเกษตร เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่รุ่มรวยทรัพยากรอีกหนึ่งแห่งของไทย

บรรเจิด ล่วงพ้น รองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง

“ทุกพื้นที่ที่มีชายหาด เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวประมงชายฝั่งหมดเลย สมบูรณ์มาก มีพื้นที่เพาะปลูกอีกด้วย บางคนทำอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ทำประมงเสริม บางคนก็ทำประมงเป็นอาชีพหลัก แล้วทำเกษตรเป็นอาชีพเสริมก็มี สมัยก่อนเป็นอย่างนี้ นี่คือความหลากหลายทางด้านทรัพยากรต่างๆ”

ความอุดมสมบูรณ์ของระยองในสมัยนั้น บรรเจิดเล่าว่าชาวบ้านอยากกินอะไรก็ได้กิน อาหารทะเลมีมาก สมัยนั้นเหวี่ยงแหเพียงครั้งเดียวต้องใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมงในการสลัดปูออกจากแหให้หมด เพราะมีมาก ไม่นับรวมสัตว์น้ำทะเลอย่างอื่นที่สมบูรณ์ไม่แพ้กัน

“มีประโยคหนึ่งที่คนชอบพูดถึงความอุดมสมบูรณ์ของระยองว่า ‘ปลาขึ้นจนหมาเห่า’ หมายถึง ปลาขึ้นมาเป็นฝูง มากเสียจนหมาต้องเห่าด้วยความตกใจ”

นี่คือความสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรของระยองในความทรงจำของชาวประมงผู้ช่ำชองพื้นที่ก่อนการคืบคลานเข้ามาของระบบอุตสาหกรรม ซึ่งทำลายภาพความทรงจำเหล่านั้นให้เลือนหายไปราวกับไม่เคยมีอยู่จริงในอดีต

อุบัติการณ์น้ำมันรั่วกับระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป

การเข้ามาของอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษ 2530 ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายต่อพื้นที่จังหวัดระยอง ด้วยความเป็นชาวประมงมาแต่เล็ก ศึกษาภูมิปัญญาและทรัพยากรมาอย่างยาวนาน ทำให้บรรเจิดเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมาโดยตลอด จึงพอจะเข้าใจบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนไปของทะเลบ้านเกิด

“ยุคสมัยนั้น ชาวบ้านไม่ได้สนอะไร อยากได้สิ่งไหนก็ไปหยิบเอา เพราะมันเหลือเฟือ ดังนั้นในช่วงที่อุตสาหกรรมเข้ามา มีแต่วลีดีๆ วาทกรรมดีๆ การสร้างอุตสาหกรรมจะช่วยสร้างอาชีพใหม่ มีการพัฒนา สร้างความเจริญ เสนอเหรียญด้านเดียวเลย ด้วยความเป็นชาวบ้าน นึกอยากกินก็หยิบมา ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร แล้วก็ไม่ได้รู้ว่าผลกระทบจากอุตสาหกรรมมันมีอะไรบ้าง ก็เลยไม่มีใครคัดค้าน”

เมื่ออุตสาหกรรมได้ลงหลักปักฐานที่ระยองในช่วงปีแรกๆ ชาวประมงผู้ขึ้นว่าใกล้ชิดกับทรัพยากรทางน้ำก็เริ่มสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสัตว์ทะเล เนื่องจากปลาที่หามานั้นอยู่ใกล้กับบริเวณที่ตั้งของโรงงาน ปลาที่ควรสดสะอาดกลับส่งกลิ่นเหม็นในเนื้ออย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเกิดจากการสะสมสารต่างๆ จากระบบอุตสาหกรรมที่ไหลลงสู่ทะเล ทำให้ต้องออกหาปลาในพื้นที่ที่ไกลกว่าเดิม 

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วในปี 2556 น้ำมันดิบที่กระจายลงสู่ทะเลมีปริมาณมาก ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งนำโดยสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต คลังน้ํามันปตท. ภูเก็ต และชาวบ้านในพื้นที่ ต้องเร่งเนินการจัดการกับน้ำมันด้วยการใช้ทุ่นกักคราบน้ํามัน (boom) เพื่อจํากัดพื้นที่การแพร่กระจาย ใช้อุปกรณ์ตักคราบน้ํามันไปเก็บรวบรวมไว้ในถังน้ํามันเปล่าขนาด หลังจากนั้นจึงฉีดพ่นสารเคมีขจัดคราบน้ํามัน (dispersant) จํานวน 1,000 ลิตร ลงบนผิวน้ําที่ปนเปื้อนคราบน้ํามัน ส่งผลให้คราบน้ํามันดังกล่าวเกิดการแตกตัวเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ และสลายไปจากผืนน้ำ

อย่างไรก็ตาม บรรเจิดกล่าวว่าในช่วงที่น้ำมันรั่วปี พ.ศ. 2556 เป็นช่วงฤดูกาลจับ ‘เคย’ ซึ่งสำหรับชาวระยองนั้นถือว่าเป็นห่วงโซ่หลักที่จะนำไปสู่กระบวนการแปรรูปอาหารต่อ แต่เคยที่ชาวประมงจับได้หลังจากเกิดน้ำมันรั่วกลับมีแต่กลิ่นเหม็น เครื่องมือประมงล้วนแต่ปรากฏคราบน้ำมัน รวมถึงสัตว์ทะเลไม่ว่าจะปู หมึก หอย ต่างได้รับผลกระทบทั้งสิ้น จึงนำมาสู่คำถามว่าแท้จริงและน้ำมันที่หายไปจากผิวน้ำนั้นอาจยังไม่ได้สลายไปจากท้องทะเล

“เคยที่เราได้มาเหม็นน้ำมัน กินไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องทิ้ง ทรัพยากรและเครื่องมือมีแต่คราบน้ำมัน ปูมีน้ำมันอยู่ในกระดอง สัตว์น้ำตายยกครัวยกฝูง อย่างหมึกกระดองตายตั้งแต่กระดองเล็กจนกระดองคืบหนึ่งก็ตายหมด หอยทุกขนาดก็ตาย การท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจเราเจ๊งเลย เพราะคนเขาขาดความเชื่อมั่น

ในหลักฐานความเสียหายทางทะเลดังกล่าว ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นไว้ในวงเสวนา “น้ำมันรั่วระยอง 9 ปี การเยียวยายังไม่แล้วเสร็จ” ซึ่งจัดขึ้นในวันนี่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เพื่อทบทวนถอดและบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วปี 2556 ว่าในน้ำมันมีความเป็นพิษสูง อุดมไปด้วยสารก่อมะเร็ง สารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ รวมไปถึงสารที่มีพิษต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เพราะการใช้สารกดน้ำมันลงสู่ทะเลไม่ได้ทำให้ความเป็นพิษของน้ำมันหายไป พิษนั้นยังคงส่งต่อไปยังห่วงโซ่อาหารสู่สัตว์ทะเลและนำมาสู่คน ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของบรรเจิดที่ระบุว่ามีการตรวจพบสารตกค้างในร่างกายของคนในพื้นที่ ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับสารพิษจากทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม

“ด้านสุขภาพของคนพื้นที่ มีการสุ่มตรวจสุขภาพคนในชุมชนแม่รำพึง สำรวจแค่ 8 คน แต่ใน 8 คนนั้นเจอมะเร็งในเม็ดเลือดขาวไปแล้ว 7 คน”

เมื่อประมงไม่สามารถออกทะเลหาปลาได้ตามปกติ การดำรงชีพของคนพื้นที่จึงสั่นคลอน ท้ายสุดชาวบ้านจึงออกไปเรียกร้องขอความเป็นธรรม และเข้าไปพึ่งพาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิในการดำรงชีวิตและสิทธิในการประกอบอาชีพ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้ชดเชยความเสียหายในทะเลของพี่น้องท้องถิ่นระยองตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีอะไรคืบหน้าแม้จะล่วงเข้า 1 ทศวรรษแล้วก็ตามที

“ประมงอย่างเราถ้าขยันทำงานก็ได้เงินวันละเป็นหมื่น แต่ตอนเราเรียกร้อง เราขอต่ำสุดแค่ 2,000 บาทต่อวัน ในช่วง 2 เดือน แต่เขาไม่ให้ เขาจะให้แค่ 1,000 เดียว ทั้งหน่วยงานรัฐ ทั้งเอกชน ยกมือเห็นด้วยกันหมด แต่เราไม่ยอมรับหลักการนี้ เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะเสียหายเกิน 1-2 เดือนหรือเปล่า และเอาเข้าจริง การต่อสู้ขับเคลื่อนนี่ก็ 9 ปีแล้ว ผลกระทบยังคงอยู่ ไม่มีอะไรกระเตื้องขึ้นเลย

“เป้าหมายของเราที่เรียกร้องกันมา บอกตามตรงเราไม่ได้นึกถึงเลยว่าต้องจ่ายให้เราเท่าไหร่ เราต้องการให้เขารับผิดชอบต่อทะเล สิ่งแวดล้อม เพราะรายได้เราอยู่ในนั้น เป็นความยั่งยืนของเรา ถ้าคุณทำให้มันกลับคืนมาได้สัก 70 เปอร์เซ็นต์ก็ยังดี เรามีความสามารถพอที่จะหาปลาได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันคือ ไม่มีปลาให้เราหา หรือไม่มีปลาให้เราจับด้วยซ้ำ”

มาตรการเยียวยาที่ผู้เสียหายไม่เคยได้เป็นผู้กำหนด

วีระศักดิ์ คงณรงค์ ชาวประมงผู้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง กล่าวถึงประเด็นการเยียวยาผู้เสียหายที่ผ่านมาในช่วง 9 ปีว่า การเยียวยาเบื้องต้นนั้น ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่เคยได้เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดมาตรการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นในปี 2556 หรือปี 2565 บุคคลที่เป็นผู้ออกมาตราการนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทผู้ก่อเหตุเป็นคนกำหนดเท่านั้น

“ถามว่าวันนี้บริษัทเข้าใจหรือรู้เรื่องอะไรบ้างจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านจริงๆ พวกเราและประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่เคยเข้าไปมีบทบาทตรงนั้นเลย การแก้ไขปี 2556 และปี 2565 เป็นรูปแบบเดิม ซึ่งการเยียวยาที่เราต้องการ มันไม่ใช่แค่เงิน”

วีระศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง

เจตจำนงที่แท้จริงในการเรียกร้องของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบคือ ความมั่นคงทางอาชีพอย่างที่เคยเป็นในอดีต ภายหลังจากการเข้ามาของอุตสาหกรรมจนกระทั่งเกิดเหตุน้ำมันรั่วแล้ว การประกอบอาชีพโดยเฉพาะกับชาวประมงก็ได้แปรเปลี่ยนไป เมื่อระยะไมล์ทะเลเดิมไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ก็ต้องเดินเรือให้ไกลขึ้น ขณะเดียวกันทุนเริ่มต้นของการออกเรือแต่ละครั้งก็เพิ่มสูงตามสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าน้ำมัน ค่าจ้างลูกเรือ รวมไปถึงค่าซ่อมแซมเรือ ทำให้จากเดิมที่เคยออกเรือทุกวันก็ต้องเปลี่ยนเป็นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง และเพิ่มเวลาที่ใช้ในการจับสัตว์น้ำในแต่ละครั้งให้นานขึ้นกว่าเมื่อก่อน หากบางคราวโชคไม่ดี ก็ไม่สามารถออกทะเลได้เพราะมลพิษทางน้ำ ก็ทำให้สัปดาห์นั้นขาดรายได้ไปโดยปริยาย ดังนั้นการเยียวยาที่ควรจะเป็นจึงไม่ใช่เพียงแค่ชดเชยเบื้องต้นแล้วจบไป แต่เป็นการทวงคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายโดยอุตสาหกรรม

“เราต้องการด้านความมั่นคงทางอาชีพ อนาคตที่เราจะกอบกู้มันขึ้นมาได้คือการฟื้นฟูทรัพยากรอย่างถูกต้อง เช่น วันนี้น้ำทะเลต้องใส ห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำต้องมีมากพอ ต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรที่ถูกต้อง มีการควบคุมป้องกันเพื่อไม่ให้ใครปล่อยมลพิษหรือละเมิดพื้นที่ทะเลในอ่าวระยองอีก”

ทะเลระยอง หายนะที่รอวันฟื้นฟู

นอกเหนือจากความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีในอดีต บรรเจิดได้อธิบายถึงอีกหนึ่งความโชคดีของภูมิทัศน์หาดระยอง เนื่องจากอ่าวระยองมีรูปเป็นตัว E โค้งเว้า มีความลึกต่างระดับที่เหมาะสมสำหรับการสร้างทรัพยากรทดแทน เพราะสัตว์น้ำวัยอ่อนมักจะอาศัยอยู่ในน้ำตื้น เพื่อหลบภัยจากสัตว์นักล่าตัวใหญ่กว่า การที่อ่าวระยองมีลักษณะเว้าและความลึกต่างระดับที่เหมาะสมทำให้สามารถดึงดูดทรัพยากรต่างๆ เข้ามาได้ เช่น มีสัตว์น้ำวัยอ่อนเข้ามาอาศัยอยู่ตามแก่งหินธรรมชาติ ป่าโกงกาง เป็นต้น ซึ่งจุดนี้จะส่งผลดีต่อระบบนิเวศทางทะเลตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย

“สังเกตไหมว่าทำไมภาคใต้ไม่จับเคยพร้อมเรา ทำไมภาคใต้ต้องรอให้ตราดจับก่อน จันทรบุรีจับก่อน ระยองจับก่อน แล้วค่อยถึงคิวเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพราะสัตว์น้ำจะมาตามวงรอบของมัน ตามวงรอบฤดูกาลกำหนด ดังนั้น ถ้าต้นทางถูกทำลายด้วยมลพิษต่างๆ มันก็จะส่งผลกระทบต่อหาดอื่นๆ ด้วย”

บรรเจิดเล่าว่า ประมงพื้นบ้านที่จับสัตว์น้ำแต่ละครั้งจะใช้เครื่องมือแยกประเภทตามฤดูกาล ใช้อวนตาห่างจับปลาใหญ่ ปลาเล็กรอด และไม่ได้จับครั้งเดียวพร้อมกันทุกชนิด ขึ้นอยู่กับฤดูขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำตามวงรอบที่ธรรมชาติกำหนด ทำให้ทรัพยากรมีระยะว่างเว้น และมีโอกาสเกิดขึ้นทดแทนได้เสมอ

“เครื่องมือประมงทุกอย่างทุกขนาดที่หน่วยงานราชการมักโทษเราว่าจับเกินกำหนด ที่จริงแล้วเครื่องมือของเราไม่ได้ทำลายทรัพยากรเลย เพราะเราจับตามฤดูกาล แต่เราถูกวาทกรรมสร้างความแตกแยก ทำให้ต้องมาทะเลาะกัน ทั้งๆ ที่ทะเลนั้นทุกคนเป็นเจ้าของ แต่มันมีสาเหตุหนึ่งที่ทำลายทรัพยากรไม่ว่าจะสัตว์หรือพืช นั่นคือ มลพิษ”

ชาวประมงผู้ประสบปัญหามาอย่างช้านานอย่างบรรเจิด ทิ้งท้ายไว้ว่าอาชีพประมงนั้นเป็นอีกหนึ่งอาชีพสำคัญที่จะทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนแก่ทุกองคาพยพ สามารถสร้างรายได้ให้กับหลายภาคส่วน เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอาหาร เพราะทะเลเปรียบเสมือนครัวของโลกที่ทุกคนจำเป็นต้องพึ่งพา การลด ละ เลิกอุตสาหกรรมและปล่อยให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเองนั้นไม่จำเป้นต้องอาศัยต้นทุนที่สูง และเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐควรเข้ามาให้ความสนใจอย่างจริงจัง

“เพียงแค่คุณสร้างมาตรการการฟื้นฟูที่ถูกต้อง มีมาตรการควบคุม ลด ละ เลิก แล้วปล่อยให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง การแก้ปัญหาที่ต้นทุนสูง มันได้แค่ภาพ แต่ไม่ได้ผลหรอก

“มาตรการป้องกันอย่างปิดอ่าวเพื่อศึกษา ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ให้โรงงานกำจัดน้ำเสียก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล เรื่องแบบนี้ชาวบ้านสั่งโรงงานไม่ได้ คนที่จะทำได้คือหน่วยงานรัฐเท่านั้น”

ขณะที่ วีระศักดิ์มองว่าเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาของอ่าวระยองเป็นเหมือนหายนะในด้านสิ่งแวดล้อม ตัวเขามองเห็นการล่มสลายของอาชีพประมง และการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นได้ยากหากมาตรการฟื้นฟูทะเลยังไม่ดีพอ ดังนั้นจึงหวังแต่เพียงให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกลับไปทบทวนเสียใหม่ เพื่อให้นโยบายฟื้นฟูนั้นสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านมากกว่าที่เป็นอยู่

“ถ้าเกิดทำได้ มันจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพประมงในอนาคตต่อไป แต่ถ้าหากว่ารัฐยังไม่เล็งเห็น ทางบริษัทยังละเมิดอยู่ ยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมาย ผมบอกได้เลยว่าอาชีพเราล่มสลายแน่นอน”

แม้กระแสคลื่นบนทะเลระยองจะยังคงทำหน้าที่ของมันต่อไป ไม่ต่างจากเครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรมบนชายฝั่งระยองที่ยังคงหมุนอยู่ตลอด แต่สิ่งที่ค่อยๆ หายไปคือความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ จิตวิญญาณของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งล้วนจมอยู่กับคราบน้ำมัน กลิ่นมลพิษ พร้อมกับการทวงคืนความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ยังคงไร้ซึ่งคำตอบมาเกือบ 1 ทศวรรษ

เจียระไน ซองทอง
นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ ผู้หลงใหลในของเก่า เมืองเก่า ภาษาจีน หนังสือ และหมูกระทะ รักการอ่านตั้งแต่เด็กจนมีความฝันว่าอยากเป็นนักเขียน แต่ชอบตอบครูแนะแนวว่าอยากเป็นหมอ

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า