‘ทะเลสีดำ’ 4 ปีหลังวิกฤติน้ำมันรั่วอ่าวพร้าว

เรื่อง: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพประกอบ: Shhhh
ภาพ: อิศรา เจริญประกอบ

 

ลองจินตนาการชีวิตในฐานะชาวประมงริมฝั่งที่เช้าตรู่วันหนึ่ง ตื่นขึ้นมา พบว่าชายหาดหน้าบ้านที่ทอดยาวด้วยเม็ดทรายนับล้านๆ ซึ่งเคยขาวสะอาดตาในแสงจันทร์และแสงตะวัน กลับอาบไปด้วยคราบน้ำมันสีดำสนิท และสัตว์น้ำไม่ว่าจะปลา ปู กุ้ง ซึ่งเคยให้ชีวิตของคุณและครอบครัวกลับกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอดเกลื่อนหาดในตะกอนน้ำมันข้นคลั่ก

คำถามคือ แล้วคุณจะทำเช่นไร เมื่อมองผืนน้ำสีครามเบื้องหน้าเปลี่ยนเป็นผืนน้ำสีดำเวิ้งว้างที่เต็มไปด้วยความตาย

คำถามนั้นผุดขึ้นในใจชาวประมงพื้นบ้านเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 หลังจากตะกอนน้ำมันที่หลงเหลือจากการเก็บกู้ถูกพัดเข้าสู่ชายหาดของอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ช่วงเย็นของวันที่ 28 กรกฎาคม ภายหลังเกิดเหตุท่อรับน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว รั่วไหลที่บริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบ (Single Point Mooring) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร เวลาประมาณ 6.50 นาฬิกา

ทันทีที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ได้ทำการหยุดจ่ายน้ำมัน และนำทุ่นมากักคราบน้ำมันไว้ พร้อมทั้งใช้เครื่องมือเก็บคราบน้ำมันหรือ Oil Skimmer ดูดคราบน้ำมันขึ้นไปเก็บในภาชนะบนเรือ จากน้ำมันที่รั่วไหลออกมากว่า 50 ตัน หรือ 50,000 ลิตร ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ ได้เล็ดลอดจากการเก็บกู้และถูกคลื่นโถมซัดเข้าสู่อ่าวพร้าว

นับจากวันนั้น ผ่านมาแล้วสี่ปีเต็ม แม้การเก็บกู้โดย PTTGC จะมีแถลงการณ์ในฉบับที่ 10 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ออกมาว่า “น้ำทะเลและชายหาดเป็นทรายปกติ มีคราบน้ำมันเหลือปริมาณน้อยมาก” ทว่าผลกระทบต่อเนื่องหลังจากนั้นต่างหากที่ก่อให้เกิดความเสียมหาศาลอย่างลึกลงไปใต้ทะเล

เสวนา ‘4 ปี น้ำมันรั่วระยอง บทเรียนจากอดีตสู่ปัจจุบัน’ จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และมหาวิทยาลัยรังสิต

ตะกอนน้ำมัน

“หนูเป็นแม่ค้าอุปกรณ์ตกปลา อยู่ที่ชุมชนชายฝั่ง ตำบลปากน้ำ จังหวัดระยอง แล้วครอบครัวก็ทำอาชีพประมง เป็นประมงพื้นบ้าน หลังจากเกิดเหตุน้ำมันรั่วที่ผ่านมาแล้วสี่ปี สิ่งที่เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ คือ เหตุการณ์ที่มีก้อนคาร์บอนคราบน้ำมันขึ้นมาเกยหาด คราบน้ำมันแบบนี้พบได้หลายหาดมาก”

หนู-นวรัตน์ ธูปบูชา หนึ่งในตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านสะท้อนผลพวงหลังจากสี่ปีผ่านไป ว่าแม้ตัวแทนของ PTTGC จะออกแถลงการณ์ว่าได้เก็บคราบน้ำมันที่หลงเหลือจากการรั่วไหลจนหมดแล้ว แต่ตะกอนน้ำมันก็ยังคงถูกพัดเข้าสู่ชายหาดหน้าบ้านของชาวประมงพื้นบ้าน ไล่มาตั้งแต่ปี 2557 2558 2559 จนมาถึงปัจจุบัน และล่าสุดพบเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2560

นอกจากคราบน้ำมันที่ถูกพัดขึ้นมาเกลื่อนหาดเป็นก้อนตะกอนที่ไม่อาจแตะต้องได้แล้วนั้น เสียงจากชาวบ้านยังสะท้อนอีกว่า ในห้วงปีแรก การจับปูเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล สวนทางกับจำนวนของปลาและหมึกที่ลดน้อยลง กระทั่งจับไม่ได้เลย ส่งผลให้ชาวประมงต้องกู้เงินมาปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือ เพื่อให้เรือมีกำลังมากพอที่จะออกไปหาปลานอกน่านน้ำระยอง ตั้งแต่ตราด จันทบุรี ชลบุรี ไปจนกระทั่งประจวบคีรีขันธ์

“ส่วนชาวประมงที่ยังหากินอยู่ในพื้นที่ ปัญหาที่พบคือ ปลาที่เขาจับมาได้ มันมีความผิดปกติ เช่น ตาบอด เนื้องอก”

นวรัตน์ ธูปบูชา

‘เคย’ มี แต่ ‘เคย’ ไม่มา

นอกจากผลสะท้อนในเรื่องการทำประมงพื้นบ้านที่ประสบความยากลำบาก และได้สัตว์น้ำในสภาพไม่สมบูรณ์แล้ว ‘เคย’ ซึ่งเป็นผลิตผลสำคัญในการทำกะปิระยองที่ขึ้นชื่อก็หายไปจากบริเวณเกาะเสม็ด

“ที่เห็นชัดๆ มากเลยตลอดสี่ปีที่ผ่านมาที่ระยอง ‘เคย’ ไม่เข้ามาเลย ซึ่งจริงๆ แล้วเท่าที่อยู่ระยองมา กะปิระยองจะเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อ เพราะว่าเคยของเราสะอาด แล้วก็สวย ถึงตอนนี้ก็หายไป”

ทั้งสัตว์น้ำและเคยที่ขาดหายไปจากน่านน้ำชายหาดพร้าว ประมงพื้นบ้านหลายครอบครัวถอดใจด้วยการเปลี่ยนอาชีพไปขายแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ไปทำงานรับจ้างต่างๆ ละทิ้งอาชีพดั้งเดิมด้วยการจอดเรือทิ้งไว้ ในขณะที่บางครอบครัวที่ยังต่อสู้กับทะเลก็ใช้วิธีกู้หนี้ยืมสินมาต่อลมหายใจของประมงพื้นบ้านเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป

ตะกอนที่ถูกถมทับ

จากผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้น ชาวบ้านในนามของกลุ่มประมงเรือเล็กจึงรวมตัวเพื่อฟ้องร้อง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล โดย ไพบูลย์ เล็กรัตน์ ในฐานะตัวแทนของกลุ่มบอกเล่าประสบการณ์ว่า ทาง PTTGC พยายามจะบอกกล่าวกับชาวบ้านบริเวณเลียบชายฝั่งนอกอ่าวพร้าวที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาตลอดสี่ปี ว่าเป็นเพราะต้นทางมาจากเกาะเสม็ด ซึ่งเป็นจุดที่น้ำมันหลงเหลือมากที่สุด คือราว 5,000 ลิตร แต่ในข้อเท็จจริง น้ำมันที่รั่วไหลออกมานั้นเกิดขึ้นในทะเลห่างจากชายฝั่งมาบตาพุด 20 กิโลเมตร และจากมาบตาพุดห่างจากเสม็ดกว่า 30 กิโลเมตร บริเวณชายทะเลเลียบฝั่งทั้งหมดนั้นจึงไม่อาจหลีกพ้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากน้ำมันที่รั่วไหล

“ระยะทางจากแท่นน้ำมันไปถึงเสม็ด เวลามันเคลื่อนไป เขาจะใช้สารเคมีฉีดให้มันจมไปเฉพาะทาง เพราะฉะนั้นน้ำมันที่เกาะเสม็ดจะเหลืออยู่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเรามองตามนี้จะเห็นว่า ปัญหาส่วนใหญ่มันอยู่ในทะเลระหว่างทาง”

ไพบูลย์ เล็กรัตน์

4 ปีของปัญหาที่ยังอยู่

ตลอดรายทางระหว่างแท่นรับน้ำมันดิบไปถึงเกาะเสม็ด กินระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร แต่ภาครัฐกลับมุ่งแก้ปัญหาโดยเน้นไปที่เกาะเสม็ดในฐานะพื้นที่ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว โดยไม่มองปริมาณน้ำมันอีกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่รั่วไหลออกมา ซึ่งจมอยู่ใต้ทะเลตลอดชายฝั่งจากมาบตาพุด หาดแม่รำพึง อ่าวพร้าว มาจนถึงหาดแม่พิมพ์ ปัญหาที่แท้จริงและสาหัสจึงยังคงอยู่ และรอวันซาซัดกลับเข้าฝั่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือ ชาวบ้านและกลุ่มประมงพื้นบ้านอย่างไพบูลย์

ถึงแม้ว่าภาครัฐและ PTTGC จะพยายามแก้ไขฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยการสร้างปะการังเทียมเพื่อหวังว่าสัตว์น้ำต่างๆ จะกลับมา แต่ทว่าสี่ปีแล้ว กลับยังไม่เห็นผลที่ดีขึ้นใดๆ แม้แต่เล็กน้อย ทั้งหมดทั้งมวลนี้นำไปสู่การรวมตัวกันฟ้องร้อง PTTGC โดยที่ไพบูลย์ให้เหตุผลในการฟ้องร้องว่า ไม่ใช่เพื่อจะชี้นิ้วหาตัวผู้กระทำผิด แต่เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันระหว่าง PTTGC กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

“เพราะฉะนั้นการที่เราฟ้องคดี เวลาเราแถลงกับศาล เราถึงบอกว่าขอให้เรื่องฟื้นฟูเป็นประเด็นหลักเลย เพราะเรามีวิถีชีวิตอยู่กับทะเล ถ้าทะเลยังไม่ดีขึ้น หลักประกันในอาชีพของเราและลูกหลานจะไม่มี”

สุเมธา วิเชียรเพชร

ข้อเท็จจริงคนละมุม

ในขณะที่ สุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีการดำเนินการแก้ไขมาโดยตลอด ทั้งการติดตามและการวิจัยระบบนิเวศทางธรรมชาติในบริเวณมาบตาพุดต่อเนื่องไปจนถึงเกาะเสม็ด เพื่อตรวจสอบผลกระทบจากน้ำมัน และได้ผลจากรายงานที่ระบุออกมาว่า ระบบนิเวศทางทะเลที่ระยองกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ชาวบ้านนำเสนอ

“นั่นเป็นการมองคนละมุมครับ” สุเมธากล่าว ก่อนจะอธิบายว่า การวิจัยที่ภาครัฐทำ ไม่ได้ดูที่ปริมาณรั่วไหล แต่ดูปริมาณการรอดชีวิตของสัตว์น้ำนับจากวันที่เกิดเหตุจนมาถึงปัจจุบัน

“อย่างไรก็ตาม การวิจัยอาจเป็นการมองคนละมุมกับชาวบ้าน เพราะไม่รู้ว่าเดิมทีพื้นที่เป็นอย่างไร แต่ดูว่าปัจจุบันค่าต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐาน จึงจำเป็นที่เราควรต้องมีการเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ ดิน อากาศ ไปจนถึงสถานะสุขภาพของคนก่อนเริ่มโครงการต่างๆ ว่าในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร เมื่อเกิดเหตุการณ์จึงสามารถหยิบขึ้นมาดูได้ทันที และนำข้อมูลเข้าไปสู้ในศาลได้ เพราะหากเราไม่สามารถหาข้อมูลความเชื่อมโยง พยานหลักฐานก็อ่อนที่จะสู้กับผู้ก่อเหตุ”

สำทับด้วยการยกกรณีตัวอย่างการฟ้องร้องในสหรัฐอเมริกาที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะมีการเรียกร้องค่าเสียหายสูงถึงสี่เท่า ขณะที่ไทยเกิดความเสียหายเท่าไรก็เรียกเท่านั้น ถ้าบริษัทที่ก่อเหตุบอกจะไม่รับผิดชอบ หน่วยงานของรัฐก็จะรับไปดำเนินการแทน แล้วเรียกเก็บค่าเสียหายกับบริษัทอีกที ซึ่งส่งผลให้บริษัทที่ก่อมลพิษไม่มีความเกรงกลัว อันเป็นจุดอ่อนของกฎหมายไทย

อาภา หวังเกียรติ

คำถามที่ยังไร้คำตอบ

ในมุมมองของ อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งติดตามเรื่องผลกระทบกรณีน้ำมันรั่วที่มาบตาพุดของ PTTGC มาอย่างต่อเนื่อง มองว่า “ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องผลกระทบ เราควรต้องมาทบทวนประเด็นสำคัญสองสามเรื่อง เพื่อจะมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ด้วย อย่างเช่นขอบเขตของน้ำมันรั่ว”

อาภาชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วจนมาถึงเย็นวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งปริมาณน้ำมันที่หลงเหลือได้เริ่มพัดเข้าสู่ชายหาดอ่าวพร้าวนั้น PTTGC ได้แถลงอย่างจริงใจมากน้อยเพียงไร ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล ปริมาณน้ำมันที่จมใต้ทะเลและเก็บกู้ได้ ตลอดจนองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันดิบที่รั่วไหลว่าประกอบไปด้วยสารอันตรายใดบ้าง

สอดคล้องกับข้อสังเกตของไพบูลย์ อาภากล่าวว่า บริษัท PTTGC มีการใช้สารเคมีในการกำจัดน้ำมันดิบที่บริเวณหาดพร้าว ซึ่งจากคำแถลงการณ์ระบุว่าเป็นจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณน้ำมัน 50,000 ลิตร ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดู ‘บันทึกข้อมูล ข้อถกเถียง กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลสู่อ่าวไทย พ.ศ. 2556’ กลับพบตัวเลขที่น่าเคลือบแคลง อาศัยข้ออ้างอิงจากผลการคำนวณของ สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ระบุตัวเลขจากการคำนวณพื้นที่ตารางกิโลเมตรของทะเลกับขอบเขตกว้างคูณยาวของคราบน้ำมันนั้น กลับพบผลลัพธ์ที่สูงกว่าปริมาณในแถลงการณ์ของ PTTGC กว่าเท่าตัว คือ 108,000 ลิตร

ประเด็นสำคัญของอาภา คือ ไม่ว่าปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมาจะมีจำนวนเท่าไหร่ หากที่อ่าวพร้าวคือปริมาณที่หลงเหลือจากการเก็บกู้ 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก 90 เปอร์เซ็นต์ก่อนถึงอ่าวพร้าวนั้น ใช่หรือไม่ คือ ระบบนิเวศทางทะเลทั้งหมดของจังหวัดระยองรับไปเต็มๆ

ยาแก้กลับเป็นยาทำลาย

ไม่เพียงแต่ผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศทางทะเลจากปริมาณน้ำมันดิบเท่านั้น อาภายังชี้อีกว่า การที่ PTTGC ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันโดยระบุในแถลงการณ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 ว่าเป็น “…ที่นิยมใช้กันทั่วโลก ความเป็นพิษต่อระบบนิเวศน้อยจนถึงไม่มีพิษ” เหตุใดจึงพบกรณีสัตว์น้ำกลายพันธุ์เช่นที่ตัวแทนจากกลุ่มประมงพื้นบ้านบอกเล่า เหตุใดสัตว์น้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมึก เคย ปู ปลาอินทรี กลับสูญหายไปจากบริเวณที่เกิดน้ำมันรั่วไหล

ปัจจัยสำคัญที่ทาง PTTGC ไม่ได้กล่าวถึงไว้ก็คือ แม้การใช้สารขจัดคราบน้ำมันจะย่อยสลายคราบน้ำมันดิบได้จริง ทว่าในกระบวนการย่อยสลายดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการเผาผลาญสูงมาก ซึ่งส่งผลให้ปริมาณก๊าซออกซิเจนในน้ำทะเลบริเวณนั้นลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ และชีวิตทุกชีวิตบนโลกล้วนต้องพึ่งออกซิเจน

“นักวิชาการจากศูนย์ชายฝั่งระยอง อ่าวไทย เคยออกมาพูดในรายการของไทยพีบีเอส เขาพูดว่าสิ่งที่เจอคือ ปูม้าหายไปหมด ลูกปูไม่เจอเลย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะสำหรับปูม้า ถ้าเขาสมบูรณ์เต็มที่ เขาจะออกไข่แปดหมื่นถึงสามล้านฟองต่อตัว หนึ่งตัวออกไข่ได้เกือบถึงสามล้านฟอง ถ้าไม่เจอลูกปูเลย ก็แสดงว่าระบบนิเวศมันน่าจะมีปัญหา หรืออ่าวน่าจะมีปัญหา”

ก้าวต่อไปของการฟื้นฟู

อาภาเห็นพ้องกับตัวแทนจากกลุ่มชาวประมงเรือเล็กที่มองว่า การฟ้องร้องจะไม่เกิดขึ้นเลย หากภาครัฐทำหน้าที่ของตนเองในการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม และปกป้องสิทธิของประชาชนในฐานะของเกษตรกรประมงพื้นบ้าน เมื่อภาครัฐไม่ทำหน้าที่ ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องฟ้องภาครัฐด้วย แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ชาวบ้านระยองต้องการในอนาคต ไม่ใช่การต่อสู้ในศาลที่นำไปสู่การเสียเวลาและเสียเงินทองของชาวบ้านที่วิถีชีวิตของพวกเขาคือ การทำประมง

“เราอยากคุยกันให้เร็วที่สุดเพื่อฟื้นฟู โดยชาวบ้านต้องการให้มีการสำรวจใหม่ให้ชัดเจน ถ้าสมมุติฐานยังเป็นการสำรวจที่เน้นหนักเฉพาะอ่าวพร้าว ควรมีการสำรวจใหม่เพื่อเคลียร์พื้นที่ใต้อ่าวให้ชัด ว่ามันมีอะไรหลงเหลืออยู่อีกไหม ถ้าชาวบ้านคิดว่ายังมีอะไรหลงเหลืออยู่ ปล่อยปูปล่อยปลาไปก็เท่านั้น คือมันไม่มีผล มันต้องจัดการเคลียร์ก่อน จะเคลียร์อย่างไร จะทำแบบไหน นั่นมาว่ากันอีกทีหนึ่ง แล้วจากนั้นจึงจะสามารถฟื้นฟูอ่าวระยองให้ยั่งยืนได้ และประเด็นสำคัญคือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม”

บทสนทนาจบลงด้วยคำถามที่ยังไร้คำตอบจากผู้รับผิดชอบ

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า