ประวัติศาสตร์ 9/11 ความเปราะบางในแบบเรียนของเด็กอเมริกัน

เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญและน่าสลดใจจากการโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในวันที่ 11 กันยายน 2001

ในวันเกิดเหตุ ความทรงจำของ ลอเรน เฮทริค (Lauren Hetrick) นักเรียนอายุ 16 ปี ของโรงเรียนมัธยมเฮอร์ชีย์ เมืองเฮอร์ชีย์ รัฐเพนซิลเวเนีย ขณะเริ่มเรียนวิชาภาษาฝรั่งเศส เธอกับเพื่อนๆ ก็ได้ยินคำประกาศดังขึ้นจากระบบกระจายเสียงว่า “เรียนคุณครู กรุณาเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วย”

สิ้นสุดคำประกาศ คุณครูจึงเปิดเข้าระบบคอมพิวเตอร์ทันที และหลังจากนั้นก็เริ่มร้องไห้ออกมา 

ภาพผ่านหน้าจอโทรทัศน์ คือภาพของตึก North Tower ตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ อาคารที่สูงที่สุดในกรุงนิวยอร์คกำลังลุกโชนด้วยเปลวเพลิง และขณะเดียวกันก็มีเครื่องบินลำที่ 2 พุ่งชนตึก South Tower ตึกทั้งสองที่กำลังพังทลายลง คือภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้านักเรียนทุกคน

20 ปีผ่านไป เฮทริค กลายเป็นครูในโรงเรียนมัธยมที่นักเรียนเกือบทุกคน คือเด็กที่เกิดช่วงศตวรรษที่ 21 การช่วยให้นักเรียนเข้าใจเหตุการณ์ 9/11 ได้ดีมากขึ้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของงานเธอ แม้เรื่องราวสำหรับเธอจะดูเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน แต่สำหรับนักเรียนของเฮทริค เหตุการณ์ในวันนั้นดูเหมือนจะเป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่ถูกตีพิมพ์ไว้บนหนังสือเรียนเท่านั้น

9/11 กับสิ่งที่อยู่ในตำรา

เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงไม่แปลกที่เนื้อหาสาระ รูปภาพ และเอกสารที่ใช้ในการเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 จะสร้างผลกระทบต่อสภาพจิตใจของครูบางส่วนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น

ด้วยแนวทางการสอนที่ยังไม่ถูกระบุเอาไว้อย่างเป็นทางการว่าต้องปฏิบัติในรูปแบบใด เนื้อหาของแต่ละโรงเรียนจึงแตกต่างกันไป บ้างขึ้นอยู่กับความทรงจำของครูผู้สอน บ้างขึ้นกับเขตพื้นที่การศึกษา 

ปี 2017 มีการวิเคราะห์มาตรฐานการศึกษาวิชาสังคมศึกษาระดับมัธยมปลายใน 50 รัฐ และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของ เจเรมี สต็อดดาร์ด (Jeremy Stoddard) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ระบุว่า มีเพียง 26 แห่งเท่านั้นที่กล่าวถึงการโจมตี 9/11 โดย 9 แห่ง กล่าวถึงการก่อการร้ายหรือสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และ 16 แห่ง ไม่ได้กล่าวถึง 9/11 หรือตัวอย่างกรณีที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายเลย

ความหลากหลายข้างต้นทำให้เขาเริ่มสนใจวิเคราะห์ว่า ครูทั่วประเทศสอนเรื่อง 9/11 อย่างไร

จากการศึกษาของเขาที่สำรวจครูระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายในสหรัฐ จำนวน 1,047 คน พบว่า วิธีการสอนที่เป็นที่นิยมเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 และสงครามการต่อต้านการก่อการร้าย คือการสอนผ่านสารคดีหรือวิดีโอ วิธีที่สองคือ การพูดคุย ถกเถียงกันถึงเหตุการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง และวิธีที่สามคือ การแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัว อย่างที่เฮทริคทำ โดยสต็อดดาร์ดกล่าวว่า ครูที่อายุยังไม่มากมักมุ่งหวังให้เด็ก “รู้สึกเหมือนกับที่พวกเขารู้สึก โดยให้เข้าใจถึงความตกใจและความหวาดกลัวที่ผู้คนต่างรู้สึกในวันนั้น”

จากการศึกษาตำราเรียน รวมถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาสอนเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 ช่วง 2-3 ปีแรกหลังเกิดเหตุวินาศกรรม สต็อดดาร์ด และ ไดอานา เฮสส์ (Diana Hess) เพื่อนร่วมงานจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ได้ร่วมกันศึกษาหนังสือเรียน 9 เล่มขายดีที่ใช้สอนในโรงเรียนมัธยม เช่น ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ประวัติศาสตร์โลก และรัฐบาล และตำรากฎหมาย ที่ตีพิมพ์ในปี 2004 และ 2006 โดยเทียบกับอีก 3 เล่ม ที่ตีพิมพ์ในปี 2009 และ 2010 พร้อมสังเกตคำอธิบายการโจมตีว่ามีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

พวกเขาพบว่า หนังสือเรียน 4 เล่ม จาก 9 เล่มข้างต้น กล่าวถึงสงครามในอิรักว่าเป็นส่วนหนึ่งของผลพวงจากเหตุการณ์ 9/11 แต่มีเพียงหนังสือจาก McDougal Littell ที่ชื่อ The Americans (2005) เพียงเล่มเดียวที่กล่าวว่า ไม่พบหลักฐานการมีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงในอิรัก (The Weapons of Mass Destruction) และหนังสือจาก Prentice Hall ชื่อ Magruder’s American Government (2005) กล่าวว่า สภาคองเกรสอนุญาตให้ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ประธานาธิบดีในขณะนั้นใช้มาตรการใดๆ ก็ตามที่ ‘จำเป็นและเหมาะสม’ ต่อการต่อต้านการคุกคามของ ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ประธานาธิบดีเผด็จการของอิรักจากเหตุการณ์ 9/11 และระบุว่า “เป็นที่เชื่อกันอย่างมากว่า รัฐบาลได้รวบรวมคลังอาวุธเคมีและชีวภาพจำนวนมากเอาไว้” แต่ต่อมาฉบับปี 2010 ได้ลบประโยคเกี่ยวกับอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงออกไป 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปหนังสือเรียนบางเล่มยังมีคำอธิบายเกี่ยวกับการโจมตีที่สั้นลงด้วย ตัวอย่างเช่น หนังสือ The Americans ฉบับปี 2005 ที่ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน จากการโจมตี และมีการเจาะจงตัวเลขผู้โดยสารบนเครื่องบิน รวมถึงผู้ที่ทำงาน ผู้ที่กำลังเยี่ยมชมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และผู้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย แต่ในฉบับปี 2010 กลับตัดรายละเอียดของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเหล่านี้ออกไป

“ประเด็นสำคัญที่เราเห็นในหนังสือเรียนปี 2003 คือ วันแห่งความทรงจำที่มุ่งเน้นไปที่ผู้พบเห็นเหตุการณ์ วีรบุรุษประจำวัน และการกระทำที่พวกเขาทำ พร้อมกับการตอบสนองจากทั่วโลกต่อการก่อการร้ายในครั้งนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่เด็กถูกสอนกันเป็นจำนวนมาก

“การเรียนในโรงเรียนมัธยมต้นจะเน้นไปที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ และวีรบุรุษประจำวัน แต่โรงเรียนมัธยมปลายจะเน้นถึงสาเหตุและการโต้ตอบ โดยครูระดับมัธยมปลายจะพูดคุยกันมากเกี่ยวกับรัฐบัญญัติความรักปิตุภูมิ (the Patriot Act) และการเฝ้าระวัง รวมถึงปัญหาระหว่างความมั่นคงของชาติกับเสรีภาพพลเมือง” สต็อดดาร์ดกล่าว 

ความรู้นอกบทเรียน

การเรียนรู้ที่เปิดกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านโลกออนไลน์หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า หนังสือเรียนไม่ใช่แหล่งข้อมูลหลักแหล่งเดียวในการศึกษาอีกต่อไปในยุคสมัยปัจจุบัน เช่นเดียวกับเหตุการณ์ 9/11 

สาเหตุส่วนหนึ่งคือ แม้ว่าผู้จัดพิมพ์จะปรับปรุงหนังสือเรียน แต่บางโรงเรียนก็อาจไม่มีงบที่มากพอจะซื้อหนังสือฉบับล่าสุดได้ โดย เคย์ลา เทอร์เนอร์ (Kayla Turner) ครูมัธยมที่สอนวิชาสังคมศึกษา ในเมืองราลี รัฐนอร์ธแคโรไลนา กล่าวว่า หนังสือเรียนบางเล่มที่เธอใช้สอนยังเป็นหนังสือตั้งแต่ปี 2001 โดยเธอต้องสอนนักเรียนผ่านประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการก่อการร้าย 9/11

จากการสำรวจของ สต็อดดาร์ด พบว่า ครูระดับมัธยมศึกษาที่เข้าร่วมการสำรวจ จำนวน 71 เปอร์เซ็นต์ ใช้เว็บไซต์ประกอบการสอน, 33 เปอร์เซ็นต์ ใช้หลักสูตรเฉพาะที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและองค์กรการศึกษา, 23 เปอร์เซ็นต์ ใช้ตำราเรียนที่มีอยู่ และ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีหลักสูตรหรือเอกสารในการสอนเหตุการณ์ 9/11 และสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและองค์กรการศึกษาบางแห่ง จัดทำแหล่งข้อมูลออนไลน์ฟรีเพื่อช่วยส่งเสริมความรู้ให้กับนักเรียน ตัวอย่างเช่น อนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ 11 กันยายน หรือ 9/11 Memorial Museum ที่มีแหล่งข้อมูลด้านการศึกษามากมาย ไปจนถึงแผนการสอนที่เหมาะสมกับโรงเรียนอนุบาลที่พูดถึงการเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉิน อีกทั้งแหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่น Teaching Tolerance ซึ่งเป็นการศึกษาออนไลน์สำหรับนักศึกษาศาสต์ที่สนใจประเด็นการหักล้างทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับชาวมุสลิม

อย่างไรก็ตาม เพราะการไม่มีแนวทางของหลักสูตรที่แน่ชัด ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเรียนการสอน อย่างกรณีของเทอร์เนอร์ที่เธอถูกผู้ปกครองนักเรียนตำหนิ เพราะเธอบอกนักเรียนว่าคนมุสลิมหัวรุนแรงที่จี้เครื่องบินในวันที่ 9/11 ไม่ได้เป็นตัวแทนทางความคิดของชาวมุสลิมทั้งหมด และยังมีนักเรียนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดว่า เหตุการณ์ 9/11 ไม่ได้เกิดขึ้นจริงหรือถูกเตรียมการโดยรัฐบาลด้วย

อีกแง่มุมหนึ่งของหลักสูตรที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก คือคำถามว่า รูปภาพจากเหตุการณ์ 9/11 สร้างความสะเทือนใจเกินกว่าจะนำมาใช้ในห้องเรียนหรือไม่ 

ด้านสำนักพิมพ์และนักเขียนกังวลถึงความเหมาะสมในการแสดงภาพอยู่ไม่น้อย ส่วนครูบางคนเห็นว่าการใช้ภาพถ่ายและวิดีโอจะช่วยฉายภาพเหตุการณ์ 9/11 ให้เด็กนักเรียนเข้าใจมากขึ้น ด้วยเหตุผลประกอบว่า การที่ผู้ใหญ่คิดเอาเองว่ามันเป็นเรื่องน่าลำบากใจที่จะเปิดเผยภาพ แต่สำหรับนักเรียนแล้ว พวกเขาอาจจะไม่มีความรู้สึกเศร้าใจ เวทนา หรือสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้นเลยก็ได้

จากการสนทนากันบน Twitter ผ่าน #ssch ในปี 2019 ของครูสอนวิชาสังคมศึกษา บางคนกล่าวว่า เวลาที่เขาสอนถึงเหตุการณ์ 9/11 เขาต้องใช้รูปและบันทึกเหตุการณ์ที่น่าดึงดูดใจประกอบการสอน และบอกเด็กนักเรียนด้วยว่าปัจจุบันหน่วยงานรัฐบาล เช่น กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (the Department of Homeland Security) หรือกระบวนการรักษาความปลอดภัย อย่างการเช็คอินที่ละเอียดถี่ถ้วนในสนามบิน ก็เป็นผลผลิตจากเหตุการณ์ 9/11 

“เดี๋ยวนี้คนดูขี้เบื่อ ผมเคยคุยกับนักเรียน พวกเขาบ่นว่าเบื่อประวัติศาสตร์ พวกเขาต้องการเรียนอะไรที่มันเร้าอารมณ์และเร้าใจ การใส่สิ่งที่สะเทือนอารมณ์เข้าไปในเนื้อหาจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด” ดอน ริทชี (Don Ritchie) ผู้ร่วมเขียนหนังสือ United States History & Geography (2018) ของ McGraw-Hill กล่าว

สุ้มเสียงของเด็กอเมริกัน

เลียม เคอร์ ฟิงเกอร์ (Liam Kerr Finger) เด็ก ป.5 วัย 10 ขวบ จากเมืองเบอร์ลิงตัน รัฐนอร์ธแคโรไลนา ที่มาเที่ยวกรุงนิวยอร์คกับครอบครัว กล่าวว่า เขาเคยดูสารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปีที่แล้ว แต่พี่สาวฝาแฝดของเขา เอเลนอร์ ฟอร์ด เคอร์ ฟิงเกอร์ (Eleanor Ford Kerr Finger) ไม่ได้เห็นภาพการโจมตีก่อนจะไปพิพิธภัณฑ์ และพยายามทำความเข้าใจถึงความสำคัญของเหตุการณ์ในครั้งนั้น ว่า 9/11 เปลี่ยนแปลงโลกอย่างไร 

เชลลี เคอร์ (Shellie Kerr) แม่ของพวกเขาจึงพยายามอธิบายให้ลูกๆ ฟังว่า ความจริงแล้วผลกระทบจากเหตุการณ์ 9/11 มีให้เห็นผ่านชีวิตประจำวัน เช่น การรักษาความปลอดภัยที่พวกเขาต้องต่อแถวก่อนจึงจะเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น

“จริงๆ แล้วมันไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก” เสียงจาก เช โรส (Che Rose) เด็กชายวัย 14 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 10 จากเมืองเจอร์ซีย์ซิตี รัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่เล่าว่าเขามีความรู้สึกว่าครูอึดอัดใจที่จะพูดถึงเรื่องนี้

ส่วนน้องสาวของเขา จอร์ดานา อายุ 12 ปี นักเรียนประถมศึกษาที่เพิ่งอ่านนวนิยาย Towers Falling นวนิยายเกี่ยวกับการก่อการร้าย 9/11 บอกว่า “เราได้รับข้อเท็จจริงมากขึ้นจากที่บ้าน” เพราะพ่อของเธอเคยทำงานที่ใจกลางเมืองมาก่อนในวันที่ 11 กันยายน 2001

โจชัว เปอติท-เดย์ (Joshua Petit-Day) อายุ 10 ขวบ เมืองลินเดน รัฐนิวเจอร์ซีย์ กล่าวว่า เขาเคยเรียนเกี่ยวกับการโจมตีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พ่อแม่พาเขาไปที่พิพิธภัณฑ์ในช่วงวันครบรอบเหตุการณ์ และเขาได้เรียนรู้รายละเอียดใหม่เพิ่มเติมเกี่ยวกับ 9/11 ทุกเดือนกันยายน ซึ่งสำหรับเขา เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นการย้ำเตือนว่าโลกอันตรายเพียงใด “เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่” 

อ้างอิง

https://time.com/5672103/9-11-history-curriculum/

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า