บายไลน์ : อธิคม คุณาวุฒิ
1.
นิตยสาร WAY ฉบับแรก ตีพิมพ์เผยแพร่เดือนตุลาคม 2549 แต่ก่อนหน้านั้น ผมเริ่มก่อตั้งองค์กรเล็กๆ ของตัวเองขึ้นแล้ว และแผนการทำนิตยสารรายเดือนชื่อนี้ก็ติดค้างอยู่ในใจแรมปี
ระหว่างที่ WAY ยังมีสภาพเป็นละอองของเหลวล่องลอยอยู่ในอากาศ มีผู้ยื่นความจำนงเสนอตัวเป็นผู้ลงทุนให้ผมทำนิตยสารอยู่บ้าง แต่จนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่ตัดสินใจด้วยหลายเหตุผล หนึ่งในนั้นเป็นถ้อยคำของ ชาติ กอบจิตติ
ค่ำวันหนึ่ง บนโต๊ะอาหารที่บ้านไร่ปากช่อง พี่ชาติเอียงหน้าขยับเข้ามาใกล้ ให้โอวาทด้วยน้ำเสียงทุ้มนุ่ม “ต่อไป เวลามีใครจ้างให้มึงทำนิตยสาร มึงต้องลงหุ้นด้วย ถ้าเขาถามว่าจะลงกี่บาท มึงก็ตอบเขาไปสิว่า มึงลงหุ้นเป็นตัวมึง เพราะอย่าลืมว่าตัวมึงนั่นแหละคือต้นทุน”
ชาติ กอบจิตติ เป็นรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง ที่ไม่เคยสอนผมว่าควรจะทำหนังสือเขียนหนังสืออย่างไร แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสพบหน้าสนทนา สิ่งที่เขาเพียรตักเตือน สั่งสอน และถ่ายทอดประสบการณ์คือ เหลี่ยมคูวิธีเอาตัวรอดทางธุรกิจ
ยังไม่ทันได้รวบรวมความกล้า สวมบทนักเจรจาต่อรองกับใครอย่างที่พี่เชื้อกำชับ ก็มีแม่ชีเทเรซากลุ่มหนึ่งหยิบยื่นทุนรอนให้ผมทำนิตยสารเล่มนี้อย่างไม่มีเงื่อนไข
หากจะมีเงื่อนไขในใจอยู่บ้าง พวกเขาย่อมคาดหวังว่า อยากเห็นผมทำนิตยสารตามแนวทางเนื้อหาเช่นที่เคยทำ
ทุนก้อนนั้นสามารถผลิตนิตยสาร WAY ได้ราวหนึ่งปี
2.
ช่วงปีแรกของ WAY จำนวนยอดสั่งพิมพ์สูงจนเจ้าของโรงพิมพ์ซึ่งเป็นรุ่นพี่โรงเรียนมัธยมเดียวกันต้องออกปากเตือนให้ลดยอด เนื่องจากมีประสบการณ์และมีตัวเลขเปรียบเทียบกับนิตยสารเล่มอื่นๆ อยู่ในมือ
ผมยืนยันยอดพิมพ์นั้นตลอดหนึ่งปีแรก เพราะวิธีคิดเบื้องต้นคือ ต้องการให้หนังสือปรากฏบนแผงอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างช่องทางเดินเข้าไปคุยกับเจ้าของสินค้าและบริษัทโฆษณา อันเป็นรูปแบบการทำธุรกิจนิตยสารตามขนบทั่วไป
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มเข้าสู่ยุคอัสดงของสื่อสิ่งพิมพ์ อย่าว่าแต่นิตยสารอย่าง WAY เลย กระทั่งนิตยสารทั่วไปที่พร้อมจะแปรสภาพคอนเทนท์ให้เป็นแอดเวอร์ทอเรียลโดยไม่อิดออดก็ยังอยู่ลำบาก
เมื่อสมทบส่วนเข้ากับบรรยากาศทางการเมืองที่เดือดระอุ บวกกับบรรยากาศการสวนหมัดชิงเหลี่ยมทางธุรกิจระหว่างหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งกับร้านหนังสือพี่เบิ้มอีกเจ้าหนึ่ง ส่งผลกระทบอย่างเฉียบพลัน ถึงขั้นเจ้าของสายส่งผู้จัดจำหน่ายนิตยสารต้องเชิญเจ้าของหนังสือทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน
พูดง่ายๆ เราโดนรับน้องชุดใหญ่ด้วยข้อเท็จจริงทางธุรกิจตั้งแต่ปีแรก
เหตุที่เอ่ยเรื่องนี้ให้ท่านรับฟังไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่ต้องการสื่อสารว่า เราเคยทดลองเดินตามโมเดลธุรกิจนิตยสารตามขนบเดิมมาแล้ว ไม่ใช่ไม่เคยทำ
และที่ตัดสินใจทำตามวิถีทางนั้นก็ไม่ใช่อะไรอื่น แต่เพื่อมิให้ WAY สร้างภาระต่อผู้อ่านและญาติมิตรผู้ปรารถนาดีมากจนเกินไป
3.
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นกับนิตยสารแบบ WAY ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่
ข้อมูลที่ได้รับจากบรรณาธิการอาวุโส เคยผลิตนิตยสารกลุ่มเนื้อหาคล้ายๆ กับ WAY มีอยู่ว่า โดยสภาพข้อเท็จจริงของนิตยสารกลุ่มนี้แทบไม่มีอะไรเคลื่อนเปลี่ยนไปจากอดีต และอดีตก็ไม่ใช่สิ่งหอมหวานอย่างที่คิด หากไม่ใช่บางปกบางฉบับที่เป็นปรากฏการณ์หรือมีปัจจัยภายนอกกระตุ้น สัดส่วนยอดขายยอดพิมพ์โดยเฉลี่ยของนิตยสารแนวนี้ในอดีตเทียบกับปัจจุบันแทบไม่ต่างกัน
กล่าวโดยสรุป อายุขัยของนิตยสารกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก
หนึ่ง เจ้าของทุนยังมีเงินทองล้นมาจากกิจการอื่น จึงพร้อมจะขาดทุนเพื่อความรื่นรมย์ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ
หรือสอง กรณีคนทำเป็นเจ้าของหนังสือเอง ก็ต้องวัดกันที่ความเยือกเย็นและใจถึงในสถานการณ์แลกเช็ค
4.
คงไม่เฉพาะแต่ WAY โจทย์ใหม่ที่ทุกๆ สื่อสิ่งพิมพ์เผชิญอยู่ในช่วง 3-4 ปีหลัง คือการขยายตัวของสื่อออนไลน์ พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารที่เคลื่อนเปลี่ยน การแผ่ขยายอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ขับให้โลกออนไลน์เคลื่อนจากยุค 1.0 สื่อสารทางเดียว สู่ยุค 2.0 ทุกคนสามารถผลิตและส่งคอนเทนท์ได้ด้วยตัวเอง จนกระทั่งมาถึงยุค 3.0 many to many สามารถสื่อสารตรงถึงกันโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อกลางอีกต่อไป
โจทย์ดังกล่าว พลิกเปลี่ยนคำตอบสำเร็จรูปของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไปไม่รอดแล้วหันไปทำเว็บไซต์ในยุค 10 ปีก่อนไปไกล
มันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์ในทุกวันนี้ ต่างก็พยายามกล่าวถ้อยคำเดียวกันโดยไม่ต้องนัดหมายว่า เราไม่ใช่แค่คนทำหนังสือ (publisher) แต่เราคือผู้จัดหาคอนเทนท์ (content provider)
พูดอย่างโง่งม ผมเพิ่งตระหนักเช่นนั้นเมื่อไม่นานนี้เอง
ทั้งที่ในความเป็นจริง เมื่อพ้นหนึ่ง ปีแรก และผ่านการพิสูจน์แล้วว่า เราไม่เหมาะที่จะอยู่ในระบบนิเวศของการผลิตนิตยสารตามโครงสร้างธุรกิจขนบเดิมที่ยึดถือรายได้โฆษณาเป็นตัวตั้ง ผมพบว่าที่เราเอาตัวรอดมาถึงวันนี้ ก็ด้วยการเป็นคอนเทนท์โพรไวเดอร์
โลกออนไลน์อาจจะถูกมองเป็นตัวอะไรสักอย่างที่เข้ามาทำลายวัฒนธรรมการอ่านการเสพสื่อรูปแบบเดิม แต่คุณูปการอีกด้านหนึ่งที่สำคัญของมัน คือช่วยนำพาผู้คนออกจากโลกที่ห่อคลุมด้วยไสยศาสตร์ มาสู่การหาข้อสรุปด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
ขนบการคุยโม้โอ้อวดของผู้คนในโลกสิ่งพิมพ์ก็เช่นเดียวกัน
ทันทีที่คุณเผชิญหน้ากันในโลกที่ชี้วัดได้ด้วยหลักฐานข้อมูลเชิงสถิติ น้ำหนักของการใช้ถ้อยคำใหญ่โตโฆษณาตัวเองก็กลายเป็นเรื่องรอง และแม้นว่าจะมีช่องทางในการปั่นได้ แต่สุดท้ายการตรวจสอบองคาพยพการทำงานจริงของสื่อในโลกออนไลน์ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
มันออกจะแฟร์กว่ายุคเดิม ที่อาศัยความใจกล้าหน้ามึนคุยโม้กับลูกค้าโฆษณาด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ดี เราก็ยังคงหลงใหลงมงายกับการทำหนังสือ
5.
WAY ฉบับที่ท่านถืออยู่ในมือเล่มนี้ ถือเป็นผลผลิตจากความงมงายดังกล่าว
เริ่มตั้งแต่การระดมสรรพกำลังคนทำหนังสือมือดีทั่ววงการ มาช่วยคัดสรรเนื้อหา ภาพ ศิลปกรรม ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ทั้งกระบวนการ ในส่วนกองบรรณาธิการเอง จากเดิมที่บางคนเคยคิดว่างานฉบับนี้น่าจะเบามือ แต่เอาเข้าจริงกลับหนักหน่วง เนื่องจากมีรายละเอียดให้ตัดสินใจทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการให้เหตุผลระหว่างประชุมคัดสรรเนื้อหา
ด้วยความหนาที่เพิ่มขึ้นหลายเท่า น้องสาวบังเกิดเกล้าคนหนึ่งของผมจึงช่วยเป็นธุระวิ่งหาโฆษณา เพื่อที่จะเอามาทอนต้นทุนการผลิตบางส่วน ประคองไม่ให้ราคาปกหนังสือสร้างภาระแก่ผู้อ่านมากเกินไป
เราอยากให้ท่านอ่านและเก็บ WAY ฉบับนี้ไปนานๆ จึงมีรายละเอียดการผลิตเพิ่มขึ้น อาทิ เข้าเล่มด้วยวิธีเย็บกี่ไสกาว เพื่อเป็นหลักประกันว่า นานแค่ไหนก็หยิบขึ้นมาอ่านใหม่ได้ โดยที่หน้าหนังสือไม่หลุดออกจากกันเป็นแผ่นๆ ตามอายุขัยกาว รวมถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเลือกใช้วิธีเคลือบปกด้วยลามิเนตซอฟท์ทัช สปอตยูวี เพื่อให้เกิดผิวสัมผัสนุ่มมือยามหยิบจับ
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ลุ่มหลงการทำหนังสือ รายละเอียดทางการผลิตเหล่านี้ ฟังแล้วอาจเข้าข่ายจุกจิกไร้เหตุผล
6.
เคยมีพรรคพวกรายหนึ่งมาเยี่ยมเยือนที่ออฟฟิศ เพื่อนพอรู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับการทำหนังสืออยู่บ้าง หลังจากกราดสายตาไล่ปกนิตยสาร WAY ที่แปะเรียงรายอยู่บนผนังหลังโต๊ะทำงานผม จึงปรากฏรอยยิ้มมุมปาก เอ่ยสั้นๆ อย่างจงใจยั่วยุอวัยวะใช้เดินว่า “เงินที่หล่นไป น่าจะซื้อเพนท์เฮาส์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้สักห้องล่ะสิมึง”
“กูไม่ได้อยากมีอะไรแบบที่มึงว่านี่ ทำแบบนี้มันกว่า…คุ้มกว่า” จำได้ว่าผมตอบไปแบบนั้น – ตอบอย่างที่คิด
เหตุผลความคุ้มที่ว่า อยู่ที่ข้อ 7 ถึง 9
7.
ทันทีที่แจ้งข่าวไปใน WAY ฉบับ 89 ว่า เราจะทำฉบับพิเศษซึ่งราคาปกจะเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่คงสิทธิ์ให้สมาชิกได้รับตามปกติ มีสมาชิกจำนวนหนึ่งถามไถ่เข้ามาว่า ราคาปกเล่มพิเศษอยู่ที่เท่าไหร่ จะได้โอนส่วนต่างมาให้
สมาชิกบางท่านไม่ถามไม่ไถ่สักคำ โอนเงินเพิ่มมาให้ล่วงหน้าโดยไม่ลังเล
เรื่องเล่าทำนองนี้มีเข้ามาไม่รู้จบ…
ผู้อ่านบางท่านมีตำแหน่งหน้าที่การงานสามารถตรวจสอบบัญชีธนาคารได้ เคยโทรศัพท์เข้ามาด้วยความปรารถนาดี ขอให้แจ้งว่าสามารถช่วยอะไรได้อีกบ้าง เนื่องจากเห็นตัวเลขบัญชีที่เปิดให้โอนค่าสมาชิกแล้วร้อนใจแทน บางท่านใช้วิธีซื้อ WAY แจกคนรอบข้าง บางท่านขยันสมัครสมาชิกอุปถัมภ์ให้ห้องสมุดจนเรารู้สึกเกรงใจ รวมถึงหลายต่อหลายท่านที่เรารู้สึกคุ้นเคยแม้ไม่เคยเจอหน้า เนื่องจากเห็นชื่อซ้ำๆ ว่าสั่งซื้อทุกอย่างที่เราทำ
นี่คือ ยังไม่ต้องนับผู้อ่านที่แสดงน้ำใจ ส่งขนมนมเนยมาให้โดยไม่รอวาระโอกาสเทศกาลใดๆ หรือบางท่านไม่ได้ส่งมาเป็นของกิน แต่เล่นส่งเป็นเก้าอี้เหล็กงานไอเดียมาให้ใช้สอยในสำนักงาน
ฯลฯ
บรรยากาศดังกล่าวเหมือนการอยู่ร่วมกันของชนกลุ่มน้อยในสังคม เราหวงแหนวิถีชีวิต ลักษณะเฉพาะ และภูมิประเทศของเรา
การแสดงออกบางอย่าง มันไม่ใช่แค่แสดงตนเป็นแฟนคลับ อยากได้ชื่อเป็นผู้อุปถัมภ์ หรือเป็นคนดีมีรสนิยม แต่มันเป็นการแสดงออกเพื่อรักษาพื้นที่โลกของตนเอง
8.
ในบรรดาคณะบรรณาธิการคัดสรร 9 คน และนักอ่านอีก 1 คนนั้น มีที่ผมพอจะกล้าพูดว่าใกล้ชิดสนิทสนมอยู่เพียงไม่กี่คน
บางคน เคยเห็นแต่ชื่อไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวด้วยซ้ำไป
แต่ทั้ง 10 คนที่ได้รับการเอ่ยปากทาบทามให้ช่วยเข้ามาเป็นคณะบรรณาธิการคัดสรร WAY ฉบับนี้ ไม่มีใครสร้างเงื่อนไขบ่ายเบี่ยงแม้แต่คนเดียว แม้นว่าทุกคนล้วนแล้วแต่มีงานล้นมือ
พวกเขาเหมือนคนที่อยู่ปลายยอดหรือปลายทาง เพราะยังมีคนที่อยู่ต้นทาง ระหว่างทาง ข้างทาง รวมถึงผู้อยู่เบื้องหลังคอยหยิบยื่นช่วยเหลืออีกจำนวนมาก
ที่เราเดินทางไกลมาได้จนเข้าสู่ปีที่ 10 นอกจากเราจะมีผู้อ่านแล้ว เรายังมีเพื่อน
เวลาพูดถึงเพื่อน เราไม่ควรใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย
9.
โจทย์ช่วง 4-5 ปีแรกของ WAY คือการหาวิธีอยู่รอด แต่ในช่วง 3-4 ปีหลัง แม้นว่าทักษะการดำรงชีวิตจะพอกพูนขึ้น แต่มีคำถามกวนใจเสมอว่า สิ่งพิมพ์รายเดือนยังมีฟังก์ชั่นทางการอ่านจริงหรือไม่
แทนที่จะจมอยู่กับคำถามที่เราไม่อยากรู้คำตอบ กองบรรณาธิการ WAY เริ่มขยับตัว เรียนรู้ทักษะ ค้นหาเครื่องมือการเล่าเรื่องใหม่ๆ ต่อยอดจากต้นทุนทิศทางเนื้อหาที่เราสนใจอยู่เดิม
ที่นี่ไม่มีใครเป็นดารานักแสดงเดี่ยว แต่ละคนจะมาจากต่างพื้นฐาน แต่เราทำงานเป็นทีม และทำงานหนัก
ปกป้อง จันวิทย์ เคยเอ่ยกับผมมากกว่าหนึ่งครั้งว่า เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องกระตุ้นลูกทีม เขาจะชี้ให้ดูการทำงานของ WAY เพื่อเป็นตัวอย่างสาธิตว่า คนทำงานหนักเขาทำกันอย่างไร
เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้ ต่อให้ผมจะนั่งอยู่หัวโต๊ะประชุม แต่ในการตัดสินใจทุกครั้ง ผมแทบไม่เคยรวบรัดตัดหัวใช้คำว่า “เชื่อพี่เถอะ” อย่างพร่ำเพรื่อ แต่จะใช้เหตุใช้ผลในการโน้มน้าวชักแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบาย หรืออย่างมากก็ใช้ประสบการณ์ที่มากกว่ามาช่วยสนับสนุน
ตรงกันข้ามกับพวกเขา ที่พร้อมจะเสียดสี เย้ยหยัน ถากถางเมื่อมีโอกาสถกเถียง โดยเฉพาะจังหวะนาทีทองที่เกี่ยวข้องกับความร่วมสมัย – “คนรุ่นใหม่วัยรุ่นเขาต้องทำอย่างนี้ พี่น่ะแก่แล้ว”
เจอแบบนี้ ผมได้แต่เออๆ ออๆ กลับไปนอนจิกหมอนน้ำตาไหลพราก ซาบซึ้งในความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของหนังสือของพวกเขา
+1
ผมเชื่อว่าผู้อ่าน WAY เข้าใจร่วมกันในเรื่องเล่าเป็นสาระบ้างไม่เป็นสาระบ้างทั้ง 9 ข้อ ในฐานะที่ว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องการทำหนังสือ หากแต่สาระสำคัญคือ เป็นการปฏิบัติต่อชีวิต ทั้งชีวิตตนเองและชีวิตคนรอบข้าง
ขอให้พลังแห่งสติปัญญาและความกล้าหาญ อยู่คู่กับพวกท่านครับ
*******************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับ 90, ตุลาคม 2558)