Accountability ตัวลบที่หายไปในสมการคอร์รัปชัน

ภาพประกอบ: antizeptic

วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2560 อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร WAY เข้าร่วมพูดคุย TDRI Talk ในงานเปิดตัวหนังสือ สมการคอร์รัปชัน: แก้โจทย์ บวก ลบ คูณ หาย ในสังคมไทย ณ Multifunction Hall ชั้น 10 อาคารไซเบอร์เวิลด์ ถนนรัชดาภิเษก จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยขาดวัฒนธรรมการรับผิดรับชอบ (accountability) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื้อรังในสังคม

 

ภาพถ่าย: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

 

สวัสดีครับ

การต้องพูดอะไรต่อจากนักวิชาการแบบ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นับเป็นความกดดันอย่างหนึ่งนะครับ

ผมขอพูดในฐานะคนทำสื่อ คนทำหนังสือ เขียนหนังสือก็แล้วกัน

ตอนเราทำนิตยสาร WAY รายเดือน ทุกเดือนเราจะมานั่งประชุมคิดกันว่าประเด็นหรือธีมของเล่มต่อไปที่เราจะทำคืออะไร ประเด็นหนึ่งที่เราคิดกันไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ทำออกมา เนื่องจากสถานการณ์บรรยากาศของสื่อสิ่งพิมพ์ไม่เอื้ออำนวย นั่นคือ เราอยากทำเรื่อง accountability ในสังคมไทย

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เมื่อปีที่แล้วเราพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งออกมาชื่อโซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี เป็นเรื่องของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่แจกใบปลิวต่อต้านนาซี แล้วถูกจับขึ้นศาลทหาร สุดท้ายถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยติน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1943 เป็นช่วงปลายของฮิตเลอร์และนาซีซึ่งเรืองอำนาจระหว่างปี 1933-1943 ก่อนที่จะหมดอำนาจในปี 1945 หลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างที่ทุกท่านทราบ ทุกวันนี้สัญลักษณ์สวัสดิกะ เครื่องแบบทหารนาซี รวมถึงประวัติศาสตร์การเข่นฆ่ามนุษยชาติระหว่างนาซีเรืองอำนาจ เป็นบาดแผลละเอียดอ่อน เป็นตราบาปประทับลึกอยู่ในความรู้สึกของชาวเยอรมัน ขณะที่ชื่อของโซฟี โชล ได้รับการยกย่องให้เป็นสตรีที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนหนุ่มสาว รูปโซฟีและฮันส์ผู้เป็นพี่ชายปรากฏบนแสตมป์ของประเทศเยอรมนี ชื่อพี่น้องสองคนนี้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อโรงเรียน มหาวิทยาลัยแห่งมิวนิค ซึ่งเป็นสถานที่ที่โซฟี โชลและพี่ชายถูกจับขณะโปรยใบปลิว ตั้งชื่อจตุรัสแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยตามชื่อ โซฟี โชล

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เมื่อห้าปีที่แล้ว เราเคยพิมพ์งานมหากาพย์เล่มหนึ่งออกมาชื่อ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี หรือ Bury My Heart at Wounded Knee ความยาวประมาณ 1,000 หน้าตีพิมพ์ เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์การพิชิตตะวันตกและการสร้างชาติอเมริกัน ระหว่างปี 1860-1890 เพียงแต่ ดี บราวน์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้ใช้ทักษะความรู้ของบรรณารักษ์ ค้นคว้าข้อมูลและข้อเท็จจริงจากบันทึกการประชุม บันทึกความตกลง แล้วตีแผ่มันออกมาในแง่มุมใหม่ พูดง่ายๆ ในหนังสือเล่มนี้เป็นปากเสียงของชาวอินเดียนซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยเดิมในดินแดนอเมริกา

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในอเมริกาเมื่อปี 1970 และทันทีที่มวลมหาประชาชนชาวอเมริกันได้อ่าน ได้พบข้อมูลอีกด้านของบรรพบุรุษตนเอง หนังสือเล่มนี้ก็กลายเป็นความอัปยศของชาติ (national disgrace) คนอเมริกาเพิ่งตระหนักว่าเรื่องเล่าที่เคยฟังๆ กันมาว่าปู่ย่าตาทวดเข้ามาบุกเบิกดินแดนแห่งนี้ต้องเผชิญหน้ากับการไล่ล่า ปล้นชิง ขโมย โดยชนเผ่าอินเดียนนั้น เอาเข้าจริงเป็นข้อมูลด้านเดียว แต่ข้อมูลอีกด้านซึ่งน่าจะเป็นด้านหลักด้วยซ้ำ มีอยู่ว่าบรรพบุรุษชาวอเมริกันคือผู้ไล่ล่า คดโกง และใช้ทุกวิธีที่จะกลืนแผ่นดิน รวมถึงวิธีเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองชาวอินเดียนในอเมริกาเหนือ

ผมอยากให้สังเกตอย่างนี้นะครับว่า ถ้านับระยะเวลาระหว่างช่วงปีของการพิชิตตะวันตกคือระหว่างปี 1860-1890 จนมาถึงปีที่หนังสือ Bury My Heart at Wounded Knee ตีพิมพ์เผยแพร่ในอเมริกา มันห่างกันถึง 100 กว่าปี ก่อนที่โลกจะยอมรับข้อมูลใหม่ และจัดวางท่าทีที่ถูกต้องต่อประวัติศาสตร์

กรณี โซฟี โชล และขบวนการนักศึกษากลุ่มกุหลาบขาวที่ถูกกิโยตินบั่นหัวเมื่อปี 1943 ด้วยข้อหาแจกจ่ายใบปลิวต่อต้านนาซีก็เช่นกัน ใช่ว่าหลังการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 ชาวเยอรมันจะตระหนักรู้ หรือบังเกิดความเข้าอกเข้าใจว่าตนเองสำนึกพลาดโดยฉับพลัน เพราะอย่าลืมว่าตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีคือระหว่างปี 1933-1943 ฮิตเลอร์และพรรคนาซีได้รับคะแนนนิยมในหมู่มวลมหาประชาชนชาวเยอรมันเป็นอย่างสูง

เหตุการณ์ประหารชีวิตนักศึกษาโดยดุลพินิจของศาลทหารผ่านไป 10 กว่าปี ล่วงเข้าสู่กลางทศวรรษ 1960 ประเด็นการต่อต้านนาซียังเป็น ‘หัวข้ออ่อนไหว’ หรือเป็น ‘เรื่องต้องห้าม’ ในสังคมเยอรมัน นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ สื่อมวลชน นักศึกษา และชาวบ้านทั่วไป ยังต้องเอ่ยถึงเรื่องนี้ด้วยท่าทีปิดลับ กระซิบกระซาบ แม้ว่ากระแสความสำนึกผิดเริ่มค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

ต้องรอจนกระทั่งถึงวันที่ 7 ธันวาคม 1970 วิลลี บรันดท์ นายกรัฐมนตรีเยอรมันตะวันตก คุกเข่าขอโทษชาวโปแลนด์และเหยื่อกว่า 6 ล้านชีวิต หน้าอนุสาวรีย์วีรชนชาวโปแลนด์ต่อต้านนาซี ณ กรุงวอร์ซอ มันเป็นการขอโทษที่ถูกจดจำ ทรงความหมาย และทรงพลังที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองชาวอินเดียนในอเมริกาก็เช่นกัน กว่าที่รัฐบาลสหรัฐจะแสดงท่าทียอมรับผิดรับชอบก็ล่วงเข้าสู่ปี 2004 วุฒิสมาชิก แซม บราวน์แบ็ค รีพับลิกันแห่งรัฐแคนซัส พยายามผลักดันให้ออกร่างรัฐบัญญัติข้อมติให้รัฐบาลสหรัฐ ‘ออกคำขอโทษ’ (apology) แต่ก็ถูกคณะของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช หน่วงเหนี่ยวเอาไว้มาตลอด กระทั่งถึงยุค บารัก โอบามา จึงมีการลงนามในรัฐบัญญัตินี้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2009 แม้ว่าคำขอโทษนี้จะมีเหตุผลทางการเมืองซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อเมริกาที่รัฐบาลสหรัฐเสนอข้อมติขอโทษ (apology resolution) อย่างเป็นทางการต่อชนพื้นเมือง

 

 

ทำไมการรู้จักขอโทษ การเรียนรู้และจดจำความผิดพลาด หรือวัฒนธรรมการรับผิดรับชอบจึงฟังเป็นเรื่องสำคัญนัก

แทนที่ผมจะตอบคำถามนี้เอง ผมอยากแนะนำให้ท่านลองไปหาหนังสารคดีเรื่อง Where to Invade Next เป็นหนังปีที่แล้วของผู้กำกับ ไมเคิล มัวร์ แนวคิดในการทำหนังเรื่องนี้คือ ภายใต้ความสิ้นหวังน่าหดหู่ที่บังเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก เราลองไปสำรวจหน่อยไหมว่า ยังมี ‘ดอกไม้’ ซุกซ่อนอยู่ตรงไหนของโลกบ้าง

สิ่งที่ผู้กำกับเล่าออกมาได้แก่ สวัสดิการและการทำงานอย่างมีความสุขในอิตาลี / วัฒนธรรมและการเรียนรู้ผ่านอาหารในโรงเรียนประเทศฝรั่งเศส / ฟินแลนด์ ต้นแบบของการศึกษาที่ใช้ชั่วโมงเรียนน้อยแต่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด / ทัศนคติและท่าทีต่อยาเสพติดในโปรตุเกส / การปฏิบัติกับนักโทษในนอร์เวย์ / การให้ความสำคัญกับผู้หญิงในตูนิเซีย / และการเผชิญหน้าสบตากับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เรียนรู้ความผิดพลาดของบรรพบุรุษ เพื่อที่คนรุ่นหลังจะไม่ผลิตซ้ำตราบาปในเยอรมนี

พูดง่ายๆ ก็คือ ในบรรดาอารยธรรมใหม่ที่โลกให้ความสำคัญ ตั้งความหวังจะสร้างให้เป็นมาตรฐานอย่างซีเรียส มีสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดรับชอบ accountability รวมอยู่ในนั้นด้วย

การศึกษาของเยอรมันบรรจุเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ให้เด็กๆ ของเขาเผชิญหน้า สบตา คิดอ่านใคร่ครวญผ่านบาดแผลทางประวัติศาสตร์โดยไม่มีการบิดเบือนปิดบัง

ถ้าถามว่าทำไมคนเยอรมันจึงมีบุคลิกจริงจัง ขยันครุ่นคิด ทำงานทุ่มเท หรือแม้กระทั่งทำไมฟุตบอลเยอรมันจึงเล่นกันอย่างทุ่มเท วิ่งไล่บอลจนถึงวินาทีสุดท้ายราวกับว่าร่างกายหล่อหลอมด้วยเลือดและเหล็ก ผมคิดว่าสปิริตทำนองนี้ฝังอยู่ในสายเลือดพลเมืองของเขาด้วยการศึกษา และด้วยการทบทวนบทเรียนทางประวัติศาสตร์

 

กลับมาที่ผมเกริ่นไว้เบื้องต้นว่า เราเคยคิดจะทำ WAY ฉบับ accountability ซึ่งก็ได้ลงมือค้นคว้า สัมภาษณ์ ขอความรู้จากนักประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ รวมถึงนักปรัชญา เพื่อที่จะหาคำตอบเบื้องต้นว่า ตกลงแล้ว สังคมไทยมีวัฒนธรรมรับผิดรับชอบ accountability ไหม

เราพบว่าประเด็น accountability รวมถึงการรู้จักเอ่ยคำขอโทษเมื่อกระทำผิด เป็นประเด็นค่อนข้างซับซ้อน เพราะมันทาบทับอยู่กับวัฒนธรรมทางสังคม ความเชื่อทางศาสนา รวมถึงระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจ

ธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวว่า “ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น การขอโทษจึงแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีความรับผิดชอบ ยอมรับว่าได้กระทำการบางอย่างผิดพลาด”

คงกฤช ไตรยวงค์ พูดว่า “ในประวัติศาสตร์ เรามีคำว่า account หรือ อธิบาย ในขณะเดียวกัน มันมีคำว่า count อยู่ในนั้น ปอล ริเกอร์ (Paul Ricoeur) บอกว่า เราต้องนับศพเหยื่อไปด้วย และต้อง account เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้แจ่มชัด ทำให้เราไม่ลืมความรุนแรงครั้งนั้น เราจะไม่ทำให้ความสูญเสียนั้นเป็นสิ่งไร้ค่า ปอล ริเกอร์ เชื่อว่า ถ้าเราสามารถจดจำความรุนแรงได้ มันไม่จำเป็นต้องเกิด แล้วมันไม่ใช่เรื่องที่เกิดซ้ำจำเจ หรือ banality ที่มันเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่สามารถป้องกันได้”

เราจะเห็นความพยายามในการทำเรื่องนี้ ในเหตุการณ์วันครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 เมื่อปีที่แล้ว อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล แกอ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตในระหว่างการปาฐกถา ทีละคน…ทีละคน นั่นคือการสาธิตกระบวนการสร้างวัฒนธรรมรับผิดรับชอบครั้งสำคัญในสังคมไทย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ฟันเปรี้ยงลงไปเลยว่า

ในสังคมไทยเราไม่สามารถขอโทษคนที่มีอำนาจน้อยกว่าเราได้ เพราะเป็นเรื่องการเสียเหลี่ยม” และ “คุณมีอำนาจเหนือกว่า ไม่จำเป็นต้องขอโทษมันหรอก” ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่กว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณไปก้มหัวขอโทษมันพัง ความสัมพันธ์ที่คุณอยากจะรักษาไว้มันจะเปลี่ยน ผมจึงคิดว่ามันทำให้วัฒนธรรมการขอโทษจริงๆ ของเราไม่มี

ทั้งหมดนี้เราจะเห็นว่า การรับผิดรับชอบ การขอโทษ หรือกระทั่งการให้อภัย ไม่ใช่แค่พิธีกรรมบีบบังคับอย่างฉาบฉวยตามที่เราเคยชิน อาทิ ผู้ต้องหาเอาธูปเทียนดอกไม้ไปขอขมาญาติเหยื่อ ทั้งที่เพิ่งลงมือสังหารไปไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน และในแง่นี้ การให้อภัย มันก็ไม่ได้กินความเพียงมิติทางศาสนาแบบที่เราชอบพูดว่าขอให้อโหสิกรรม เลิกแล้วต่อกัน

แต่ในเชิงวัฒนธรรมการรับผิดรับชอบนั้น เราต้อง “forgive but not forget” ให้อภัยแต่ไม่ลืม มันคนละวัฒนธรรมกับเราที่ชอบพูดว่า – – เลิกแล้วต่อกันเถิด จะไปรื้อฟื้นทำไม

เท่าที่เราได้พูดคุยสัมภาษณ์ สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ นักปรัชญา หรือนักรัฐศาสตร์เหล่านี้มองเห็นตรงกันก็คือ การรับผิดรับชอบ การขอโทษ หรือกระทั่งการให้อภัย ล้วนต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะจำหลัก ประทับความหมายและคุณค่าทางจริยธรรมลงไปอย่างแท้จริง

ถ้าเรามองเห็นประวัติศาสตร์ร่วมกันว่า กว่าที่คนเยอรมันจะยอมรับข้อผิดพลาดของคนรุ่นก่อน ก็ต้องใช้เวลาหลายสิบปี กว่าที่ชาวอเมริกันจะยอมรับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ใหม่ พวกเขาต้องใช้เวลาร้อยกว่าปี หรือถ้าจะย้อนหลังไปไกลกว่านั้น กว่าที่สำนักวาติกันจะยอมรับว่าการพิพากษากาลิเลโอเป็นเรื่องผิดพลาดก็ต้องใช้เวลาถึง 350 ปี ตอนที่พระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 2 ทรงแถลงว่าการไต่สวน กาลิเลโอ โดยสำนักวาติกันเป็นการกระทำที่ผิดทำนองคลองธรรม เพราะศาสนาไม่ควรตัดสินหรือพิพากษาวิทยาศาสตร์ เมื่อปี 1992

เพราะฉะนั้น ตามสมการคอร์รัปชัน C=M+D-A* นั้น เราจะเห็นว่า หากสังคมเรายังขาดกลไกวัฒนธรรมรับผิดรับชอบ ซึ่งเป็นตัวแปรตัวลบเดียวในสมการนี้ ในขณะที่เรามีอำนาจการผูกขาด (M-monopoly) เรายังต้องอาศัยดุลพินิจคนคนเดียวให้มาพูดอะไรก็ไม่รู้ทุกวันศุกร์ หรือใช้อำนาจตัดสินใจตามลำพังพร่ำเพรื่อ (D-discretion) แต่เราไม่เคยมีตัวแปร A-accountability เพราะฉะนั้นก็ไม่เห็นต้องแปลกใจว่า เวลามีผลสำรวจจัดอันดับประเทศคอร์รัปชัน ทำไมประเทศไทยจึงไม่เคยแพ้ชาติใดในโลก เราอยู่ลำดับต้นๆ เสมอ

ในทัศนะผม accountability นอกจากจะเป็นตัวแปรสำคัญในสมการคอร์รัปชันแล้ว ยังมีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างสำนึกอื่นๆ ที่สำคัญและจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ อาทิ

  •  เคารพข้อมูล / ข้อเท็จจริง / ความรู้
  •  เคารพข้อตกลง / ระเบียบ / กฎหมาย
  •  รู้จักใช้ดุลพินิจอย่างเป็นเหตุเป็นผล
  •  รับผิดชอบในการกระทำ
  •  ทำผิดแล้วรู้จักขอโทษ
  •  เปิดโอกาสให้กฎหมายทำงาน

ถามว่า แล้วเมื่อไหร่สังคมไทยจึงจะตระหนักและรู้จักเรียนรู้วัฒนธรรมการรับผิดรับชอบ

คำถามนี้ผมเองก็ตอบไม่ได้ครับ

ที่ผมพอจะตอบได้มีอยู่สองสามเรื่อง

หนึ่ง ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เราสร้างได้ เมื่อ 30-40 ปีก่อนตอนที่ผมเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯใหม่ๆ ยืนโหนรถเมล์ยังเห็นคนแกะส้มแกะเงาะกินแล้วทิ้งเปลือกโยนลงหน้าต่างเป็นเรื่องปกติหน้าตาเฉย แต่ทุกวันนี้ผมคิดว่าสังคมไม่อนุญาตให้ทำแบบนั้นแล้ว ใครยังขืนทำอย่างน้อยก็ต้องถูกคนรอบข้างส่งสายตาตำหนิ

สอง ผมคิดว่าเหตุผลหนึ่งที่เรายังต้องทะเลาะบาดหมางกันไม่เลิก พัวพันต่อเนื่องมาเกิน 10 ปี จนต้องมีกรรมการเสนอหน้ามาจัดเวทีปรองดอง ก็เนื่องจากเราขาดแคลนวัฒนธรรมการรับผิดรับชอบ ผิดแล้วไม่รู้จักสำนึกยอมรับว่าผิด เรื่องนี้เป็นกันทุกฝ่ายและทุกตัวละคร ตั้งแต่ระดับหัวโจกจนถึงระดับลูกหาบกองเชียร์

สาม ผมรู้แต่เพียงว่าหากเรายังจำเป็นต้องอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก accountability เป็นกติกาข้อบังคับพื้นฐานที่จะทำให้เราพูดจาภาษาเดียวกันกับมนุษยชาติเผ่าพันธุ์อื่นๆ ต่อให้เราจะไม่ได้เห็นมันเกิดในชั่วอายุขัยของเรา เราก็ต้องหวังว่าคนรุ่นถัดไป คนรุ่นลูก คนรุ่นหลาน จะต้องมีบรรทัดฐานนี้อยู่ในลมหายใจและวิถีชีวิตปกติของพวกเขา มิเช่นนั้นสังคมเราและประเทศเรา ก็จะมีฐานะเป็นสิ่งแปลกปลอมในสายตาประชาคมโลกเช่นนี้ต่อไป

ขอบคุณครับ


หมายเหตุ: ทฤษฎีสมการคอร์รัปชัน C=M+D-A โดย Robert Klitgaard ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัย Claremont Graduate University (CGU) สหรัฐอเมริกา จากหนังสือ สมการคอร์รัปชัน: แก้โจทย์ บวก ลบ คูณ หาย ในสังคมไทย
 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า