ธเนศ วงศ์ยานนาวา: ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของการขอโทษ

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ / รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

 

มีคนตั้งคำถามกับ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ทุกวัน

ในเฟซบุ๊ค Public Group ชื่อ Thanes Wongyannava มีตั้งแต่คำถามใหญ่ๆ อย่าง “อาจารย์ครับ ถ้าหากไม่เกิดรัฐประหาร 2557 อาจารย์คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างครับ” “อาจารย์คิดยังไงกับเหตุการณ์กรณีตากใบ กรือเซะอะครับ”

ซึ่งถ้าตอบไม่ได้ นักวิชาการผู้นี้จะบอกว่า “no idea”

นอกจากคำถามข้างต้นยังมีคำถามที่สามารถจัดหมวดหมู่ได้ เช่น เรื่องเพศ

“อาจารย์ครับ อาจารย์คิดว่าในอนาคตความสัมพันธ์แบบ incest จะพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับเหมือนเพศทางเลือกในปัจจุบันได้ไหม หรือโอกาสน้อยกว่ามาก ยังไงรบกวนขอเหตุผลด้วยนะครับ” “ถ้าเรามีแฟนแล้ว แต่จินตนาการถึงผู้อื่นขณะสำเร็จความใคร่ จะถือว่าผิดศีลธรรมอันดีงามของศาสนาไหมครับ” “สวัสดีครับ อยากสอบถามว่าอาจารย์ชอบ sex position ไหนมากที่สุด และเพราะอะไรครับ?”

เรื่องวัฒนธรรม

“อาจารย์ครับ อยากทราบเรื่อง การใช้ธูปไหว้สักการะต่างๆ เราเริ่มใช้ธูปยุคสมัยไหน แล้วก่อนหน้าใช้ธูปเราใช้อะไรหรือครับ แล้วทำไมถึงต้องเป็นธูปด้วยครับ?” “มีวัฒนธรรมไหนที่มีนวัตกรรมหวายแช่เยี่ยวบ้างครับ” “อาจารย์คะ การขอลายเซ็นมีที่มาจากอะไรคะ ทำไมเราต้องขอลายเซ็นกันคะ”

หรือแม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนจะไม่เป็นเรื่อง

“คอปกเสื้อนี่มีประโยชน์ไว้ทำไรบ้างครับ” “สงสัยว่าอะไรทำให้คนเราจดจำมากกว่ากัน ระหว่างหนังที่เด่นเรื่องกำกับ กับหนังที่เด่นเนื้อเรื่อง” “ถ้าอาจารย์เป็นหัวหน้า คสช. จะมีนโยบายลดอุบัติเหตุยังไงครับ?”

ซึ่งถ้าตอบไม่ได้ นักวิชาการผู้นี้จะบอกว่า “no idea”

แต่ถ้าตอบได้ เราก็จะได้อ่านคำตอบที่เชื่อมโยงเอาความรู้แบบสหวิชาการมาตอบคำถามที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรให้มีอะไร และวัยรุ่นเรียกว่า ‘ลึกซึ้ง’

สังคมไทยมีวัฒนธรรมการขอโทษหรือวัฒนธรรมการรับผิดรับชอบหรือที่ฝรั่งเรียกว่า accountability หรือไม่ – คือคำถามที่ WAY อยากถามอาจารย์ธเนศ แต่เราไม่ได้ถาม

WAY ชวนอาจารย์ธเนศมองไปยังประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการการขอโทษของมนุษย์ / การขอโทษในโลกโบราณ / การขอโทษในกรอบคิดของศาสนา / การขอโทษในโลกสมัยใหม่ / การขอโทษและความทรงจำ และการขอโทษกับความตาย

เราเดินทางไปยังบ้านทรงโมเดิร์นลอฟท์ของอาจารย์ธเนศ บ้านหลังที่ทารั้วสีเขียว-เหลือง-แดง และภายในบ้านมีหนังสือภาษาอังกฤษเรียงรายเต็มบ้าน และไวน์ที่วางบนเคาน์เตอร์ในครัว

เราเดินเข้าไปในบ้านหลังนั้น พร้อมกับความคาดหวังว่า สังคมไทยจะมีวัฒนธรรมการขอโทษเกิดขึ้นเสียที 

ในประวัติศาสตร์มนุษย์ พวกเราเคยขอโทษอะไรนอกเหนือจากมนุษย์ด้วยกันบ้างครับ

มนุษย์ขอโทษอะไรอื่นๆ มากมายนอกเหนือจากมนุษย์ด้วยกันเอง ประวัติศาสตร์การขอโทษของมนุษย์แสดงความกลัวการตอบโต้หรือแก้แค้น ไม่ว่าจะเป็นพวกที่สูงกว่า มีอำนาจมากกว่า หรือต่ำกว่า มีอำนาจน้อยกว่า เพราะการแก้แค้นย่อมส่งผลในระยะยาว กรอบคิดแบบ ‘ตัดไม้อย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก’ ก็แสดงให้เห็นถึงความกลัวการแก้แค้น เพราะฉะนั้นในสังคมโบราณเมื่อฆ่าแล้วก็ต้องฆ่าให้หมด ทำลายสายพันธุ์ของตระกูลแม้อาจจะไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การล้างบางเป็นตรรกะทางความคิดที่สำคัญในสังคมโบราณ สังคมโบราณจึงเต็มไปด้วยความรุนแรง

ครั้นถ้าไม่ได้มีพลังอำนาจแบบสามารถฆ่าได้ล้างบาง การจะแก้แค้นก็ต้องคิดให้ดีๆ ว่าทำอะไรบางอย่างต่อคนอื่นแล้วจะมีผลลัพธ์ในระยะยาวอย่างไร

ความแค้นในนิยายจีนกำลังภายในไม่มีข้อจำกัดทางเวลา นิยายหมาป่ากับลูกแกะใครทำน้ำขุ่นก็บ่งบอกถึงความแค้นข้ามชาติข้ามรุ่นกันไปเลย ลูกแกะไม่ได้ทำน้ำขุ่นก็ต้องเป็นพ่อลูกแกะทำ เพราะฉะนั้นจะทำอะไรก็จะต้องคิดให้ดีๆ เพราะการแก้แค้นหรือความขัดแย้งกันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น

ในครอบครัวหรือชุมชนเล็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือร่วมมือเพื่อการมีชีวิตรอด เช่น การล่าสัตว์ใหญ่ แต่ถ้าเกิดมีแต่ขัดแย้งแก้แค้นกันกลับไปกลับมา ก็เป็นการทำลายกลไกของการมีชีวิตรอด ทำให้การปรับตัวของมนุษย์และไพรเมท (primate) เป็นไปได้ยากขึ้น เมื่อมีความขัดแย้ง การขอโทษจึงทำให้การคืนดีเป็นไปได้ การช่วยเหลือร่วมมือกันในหมู่ครอบครัวเครือญาติทำให้มนุษย์มีชีวิตรอด การขอโทษช่วยทำให้การร่วมมือกันของมนุษย์ดำเนินต่อไปได้ แน่นอนถ้าเป็นคนในสายเลือดก็ยิ่งง่ายที่จะคืนดีกัน กลไกของความคิด ‘เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ’ ก็สะท้อนให้เห็นถึงการที่จะต้องร่วมมือกันระหว่างคนในสายเลือด นี่อาจจะไล่ไปจนถึงความเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่ใหญ่กว่าครอบครัวเครือญาติจนถึงระดับที่ใหญ่กว่า

ในการที่จะคืนดีกัน ความใกล้ชิดผูกพันกันก็เปิดทางให้กับการขอโทษและให้อภัยกันได้มากกว่า เมื่อใกล้ชิดผูกพันกันก็มีความเข้าอกเข้าใจกันจนนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจกัน ความเห็นอกเห็นใจกันก็ช่วยทำให้การขอโทษและการให้อภัยง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเป็นระดับสังคมก็จะยากขึ้น

การตอบโต้กลับในทำนองการแก้แค้นไม่ได้เป็นคุณลักษณะพิเศษของมนุษย์ สัตว์ก็มี การแก้แค้นจึงเป็นกลไกที่ดีแบบหนึ่งในการป้องกันหรือ preventive system เพราะการป้องกันยังมีแบบอื่นๆ ได้อีก การที่จะทำอะไรที่ไม่คิดหน้าคิดหลัง การแก้แค้นจึงทำให้ต้องคิดคำนวณผลได้ผลเสีย การแก้แค้นที่ผ่านการไตร่ตรองผลได้ผลเสีย จึงช่วยทำให้สันติภาพเกิดขึ้นได้ การขอโทษต่อสรรพสิ่งต่างๆ ทั้งเจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่เจ้าทาง ก็ต้องทำ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีอำนาจมากกว่ามนุษย์ ทำอะไรผิดลงไปโดนตอบโต้กลับแล้วโดนหนักกว่าเดิมก็แหลก

เพียงแต่การขอโทษเจ้าป่าเจ้าเขาเหล่านี้ปฏิบัติไม่ได้ในกรอบคิดแบบเอกเทวนิยม (monotheism) เพราะจะต้องบูชาพระผู้เป็นเจ้าที่ถูกต้องแท้จริงเท่านั้น พระผู้เป็นเจ้าแท้ๆ ของแท้ก็มีพระองค์เดียว เพราะพระเจ้าองค์อื่นๆ เป็น ‘ของปลอม’ เป็นของหลอกลวงทำให้ผู้บูชาหลงผิด การทำผิดเพราะไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปลอมๆ ก็จะถูกพระเจ้าลงโทษถึงตาย การบูชาเทวรูปสิ่งศักดิ์ปลอมๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือรูปเคารพก็เป็น fetishism ที่ศาสนาเอกเทวนิยมปฏิเสธ

ตอนโมเสส (Moses) ลงมาจากเขาแล้วเห็นคนอิสราเอลบูชาวัวทองคำก็โกรธมาก ทั้งๆ ที่ในอารยธรรมโบราณการเคารพบูชาวัวในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เป็นวัฒนธรรมสำคัญของดินแดนในตะวันออกกลางไปจนถึงดินแดนแถบอินเดีย การบูชาสัตว์ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องปกติของสังคมดั้งเดิม สัตว์สารพัดชนิดสามารถมีสถานะเป็นเทพได้ อียิปต์โบราณมีสัตว์จำนวนมากที่เป็นเทพ แต่พวกเอกเทวนิยมนั้นห้ามการกระทำดังกล่าว การลงโทษผู้ละเมิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าในกรอบเอกเทวนิยมก็ต้องลงเอยด้วยการฆ่าทิ้ง การละเมิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือข้อห้ามต่างๆ ย่อมนำไปสู่ความพิโรธของพระผู้เป็นเจ้า

พระเจ้าแบบทำลายล้างและฆ่าทิ้งหมดทำให้เมืองพินาศก็น่ากลัวเกินไป เพราะชีวิตที่มีพันธะสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าหรือ ‘covenant’ แบบพลาดไม่ได้นั้นอันตรายเกินไป สำหรับมนุษย์ชีวิตแบบนี้ทารุณเกินไป การทำผิดแล้วขอโทษและพระผู้เป็นเจ้าให้อภัย ก็ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปด้วยดี ไม่ตึงเครียดเกินไป ในทำนองเดียวกันการมีชีวิตร่วมกันกับมนุษย์คนอื่นๆ ที่พร้อมเสมอที่จะล้างแค้น ก็คงเป็นชีวิตที่น่ากลัวเหลือเกิน

ขอโทษนะครับอาจารย์ เอาเข้าจริงๆ แล้วการขอโทษจัดเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคม

การขอโทษอาจจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการให้อภัย ส่วนการให้อภัยก็พอจะถือได้ว่าเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับการแก้แค้น การแก้แค้น การขอโทษ และการให้อภัย จึงเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน

การให้อภัยเป็นการหลีกเลี่ยงการแก้แค้น การแก้แค้นเป็นการต่างตอบแทน (reciprocity) อันเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญของการดำรงชีวิต เพียงแต่คราวนี้เป็นการใช้ความรุนแรง ใครที่ทำร้ายเราก็จะถูกเราทำร้ายกลับคืน นี่คือความยุติธรรมแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ในทำนองให้ตายตกไปตามกัน

แต่การแก้แค้นเป็นการกระทำที่เสี่ยงเกินไป เพราะการที่เราทำร้ายคนอื่น เราอาจจะถูกทำร้ายคืนและก็อาจจะมากยิ่งไปกว่าที่ได้ทำเอาไว้ การแก้แค้นก็ไม่ได้จะต้องประสบความสำเร็จเสมอไป การแก้แค้นที่ไม่สำเร็จจึงเป็นอะไรที่โหดร้ายทารุณมากเสียยิ่งกว่าการไม่ตอบโต้ วงจรของการแก้แค้นก็สามารถดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ในความเข้าใจของจารีตแบบคริสต์ศาสนา การให้อภัยที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลกับบุคคลด้วยกันเป็นผลิตผลของกรอบคิดของคริสต์ศาสนาผ่านพระเยซู ความคิดแบบนี้ปรากฏในงานของนักคิดผู้หญิงยิวอย่าง (ฮันนาห์ อาเรนดท์) Hannah Arendt กรอบความคิดเรื่องการให้อภัยระหว่างบุคคลปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลส่วนพันธะสัญญาใหม่

แต่ก่อนหน้าพระเยซูมีความคิดเรื่องการให้อภัยหรือเปล่า? ก็มีข้อโต้แย้งว่ากรีกโบราณก็มี เพียงแต่การให้อภัยยังไม่ได้นับเป็นคุณธรรม กรอบความคิดเรื่องให้อภัยไม่เน้นถึงการสารภาพและการขอโทษ แต่เป็นเพียงเรื่องของการปกป้องตนเองกับสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไป นอกจากกรีกโบราณแล้วถ้าย้อนกลับไปดูความคิดเรื่องการคืนดีและการให้อภัยของพระเจ้าก็ปรากฏให้เห็นในความคิดของพวก Akkadian ไปจนถึงพวก Babylonian ไปจนถึงกรอบคิดของพวกที่ใช้ภาษา Armaic ก็แสดงถึงการคืนดี ด้วยการบอกว่าพระเจ้า ‘หวนกลับคืนมา’ การกลับมาของพระเจ้าแสดงถึงการให้อภัย

ส่วนกรอบความคิดการให้อภัยของ เซนต์พอล (St. Paul – Paul the Apostle) หลังจากพระเยซูตายไปแล้วนั้นก็แสดงคุณลักษณะของการให้อภัยรวมหมู่ การให้อภัยที่แสดงลักษณะของชุมชน หมู่บ้าน ที่ให้อภัยกับคนที่ทำบาปหรือทำผิด การให้อภัยแสดงให้เห็นถึงความรักต่อคนที่ทำผิดเพื่อให้ได้มีโอกาสเริ่มต้นกลับตนใหม่

การให้อภัยไม่ใช่เรื่องของหน้าที่ของคนแต่ละคนที่จะต้องทำ เพียงแต่นี่เป็นการกระทำของชุมชนที่ให้อภัยกับคนบาป การให้อภัยแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมของชาวคริสต์ที่มนุษย์เองนั้นก็ได้รับพระหรรษทานจากพระผู้เป็นเจ้า (God’s grace) นี่เป็น ‘ของขวัญ’ ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้

ภายใต้อำนาจของโรมันโบราณพวกยิวชั้นสูงในสมัยช่วงสมัยก่อนพระเยซูและหลังพระเยซู ก่อนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรีกโบราณ เซนต์พอลใช้คำในภาษากรีก ‘charizomai’ คำคำนี้เชื่อมโยงกับคำว่า ‘charis’ ที่หมายถึง ‘ของประทาน’ หรือ ‘gift’ และ ‘grace’ การให้อภัยเป็นของประทานที่ได้มาฟรีๆ ที่ให้กับผู้ทำผิด ในคริสต์ศาสนาก็คือมนุษย์ที่ทำบาปเอาไว้ บาปที่อดัมและอีฟทำไว้จนทำให้มนุษย์ทุกๆ คนมีบาป

เป็นเรื่องที่ดึงออกมาจากพระคัมภีร์ที่ในปัจจุบันก็อาจจะถือได้ว่าเป็นตำนาน แต่พระคัมภีร์ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในโลกตะวันตกมาจนถึงอย่างน้อยๆ ศตวรรษที่ 19 เมื่อเป็น myth ก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ นี่เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่พอบอกว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคม ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นอะไรที่แยกขาดออกจากเงื่อนไขทางธรรมชาติที่มีการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลง

ถ้าการขอโทษคือสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมที่ไม่ได้แยกขาดออกจากเงื่อนไขทางธรรมชาติที่มีวิวัฒนาการ ความรู้สึกรับผิดชอบของมนุษย์ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็น่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่พร้อมจะเปลี่ยนหรือไม่ เช่น คนยุคหนึ่งอาจรู้สึกผิดต่อเรื่องหนึ่ง พอเวลาเปลี่ยนความรู้สึกผิดนั้นก็เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับได้

กรอบความคิดเรื่องอะไรหลายต่อหลายอย่างที่ถูกบอกว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมหรือการเป็นการสร้างทางสังคม (social construction) กับความคิดที่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นผลิตผลตามธรรมชาติ เช่น พันธุกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความคิดว่า ‘ธรรมชาติเป็นขั้วตรงกันข้ามกับการเลี้ยงดู’ หรือ ‘nature v.s. nurture’ กรอบความคิดที่แบ่งขั้วแบบนี้ปรากฏชัดเจนมากขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะความคิดของ เซอร์ฟรานซิส แกลตัน (Sir Francis Galton)

แต่ธรรมชาติกับอารยธรรมหรือวัฒนธรรมไม่ได้แยกขาดจากกันขนาดนั้น เพราะพันธุกรรมหรือสภาวะทางชีววิทยาเป็นอะไรที่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงเข้ากับสภาพแวดล้อม การเป็นสิ่งมีชีวิตไม่ใช่ก้อนหินที่คงทน ก้อนหินเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงแตกสลาย สิ่งมีชีวิตปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม สิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการ

ครั้นถ้าเชื่อว่าการให้อภัยเป็นผลิตผลหรือสิ่งประดิษฐ์ทางสังคม ก็ไม่ได้หมายความว่าในการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์หรือสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์จะไม่มีเปลี่ยนแปลงสภาวะทางชีววิทยา สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาส่งผลต่อธรรมชาติ กรอบความคิดแบบ Anthropocene (ยุคที่พฤติกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อระบบนิเวศ-กองบรรณาธิการ) ก็แสดงพลังอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ อย่างน้อยๆ มนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงธรรมชาติมาตั้งแต่ยุค Neolithic (ยุคหินใหม่) แล้วการให้อภัย การมีความเมตตากรุณาต่อกัน ความเห็นอกเห็นใจ จนถึงอะไรอื่นๆ ที่จะทำให้มนุษย์สามารถที่จะสร้างความร่วมมือกัน คุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่มนุษย์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการของไพรเมทและมนุษย์

การให้อภัยคือกลไกสำคัญในการทำให้มนุษย์ขจัดความบาดหมางใจ ความแค้นที่มีต่อกัน ฯลฯ จนทำให้มนุษย์หันมาคืนดีกัน ย้อนกลับเข้ามาอยู่ด้วยกันได้ในชุมชน เป็นวิถีที่ปรากฏให้เห็นได้ในพวกไพรเมทด้วย ในผลงานหลายต่อหลายชิ้นของพวกศึกษาสัตว์ตอกย้ำความคิดแบบนี้ ผลงานของ ฟรานส์ เดอ วาล (Frans de Waal) แสดงให้เห็นแนวความคิดในทิศทางแบบนี้ เช่น The Age of Empathy: Nature’s Lesson for a Kinder Society เป็นต้น

ถ้าเชื่อในการวิวัฒนาการมนุษย์ก็ทำให้การขอโทษ การให้อภัย หรือแม้กระทั่งการแก้แค้นคงจะต้องดำเนินต่อไป แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าธรรมชาติทางชีววิทยาไม่ได้เป็นอะไรที่ตายตัว ชีววิทยามีการเปลี่ยนแปลงปรับตัว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะให้มนุษย์ที่มีอายุจำกัดและไม่ได้ยืนยาวจะรู้สึกไปกับความคิดแบบนี้

เพราะประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการกินเวลายาวนานกว่าการรับรู้และประสบการณ์ตรงของชีวิตมนุษย์ เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณเชื่อในกรอบคิดแบบใดที่กำหนดอยู่ในโครงสร้างทางความคิดที่แต่ละคนยึดถืออยู่ แต่ cognitive structure ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เปลี่ยนกันได้ง่ายๆ มนุษย์สร้างความสมเหตุสมผลให้กับความเชื่อของเราอยู่เสมอๆ

อาจาย์บอกว่าการให้อภัยในยุคกรีกโบราณยังไม่นับเป็นคุณธรรม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แล้วตอนไหนครับที่การขอโทษและให้อภัยได้กลายเป็นคุณธรรม

ในยุคกรีกโบราณอาจจะไปจนถึงสังคมขุนนาง คุณต้องเข้าใจว่า ความแค้นของชนชั้นนำคือ warrior คุณเป็นชนชั้นนักรบ คุณจะมามัวให้อภัยกันทำไม มันเหยียดหยามเกียรติยศ เพราะฉะนั้นมันก็นำมาซึ่งวิธีคิดที่สำคัญมากของชนชั้นสูงในยุโรปในเวลาต่อมา ‘การดวล’ แล้วคุณก็ไปเห็นในหนังคาวบอย วิถีของการดวล เพราะว่าคนชั้นสูงในยุโรปสมัยก่อนคือชนชั้นที่มีสิทธิ์ที่จะพกพาอาวุธ ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ ฉะนั้นสิ่งนี้ก็คือเกียรติยศของคุณ นี่คือสิ่งที่กลุ่มพ่อค้าเกลียดมาก เกลียดวิถีที่ใช้ความรุนแรง ผมยกตัวอย่างหนังเรื่อง Barry Lyndon ของ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) หรือการดวลดาบก็คือวัฒนธรรมของชนชั้นสูงที่คุณต้องกล้าตายแบบชนชั้นนักรบที่พร้อมจะตายในสนามรบ

แล้วตอนไหนที่การให้อภัยถือเป็นคุณธรรม? คนส่วนใหญ่ของตะวันตกก็จะบอกว่า เมื่อคริสต์ศาสนาขึ้นมามีอำนาจ สำหรับโลกตะวันตกนะ ผมจะไม่พูดเรื่องโลกตะวันออก

ในปัจจุบัน ลักษณะการประนีประนอมหรือความพยายามที่จะคืนดีกัน การคืนดีกันต้องการความร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย ในขณะที่การให้อภัยก็เป็นเรื่องของคนคนเดียวก็ได้ มันเป็นธรรมชาติของไพรเมทอยู่แล้ว ลิงก็มีการปลอบขวัญกัน มันไม่ได้มีเฉพาะแต่ในมนุษย์ เพราะว่ามันเป็นกลไกสำคัญมากในการมีชีวิตรอด และเป็นกลไกสำคัญมากของการปรับตัว คุณนึกออกมั้ยถ้าคุณมีแต่ความโกรธความแค้น มันเป็นยุทธศาสตร์การดำเนินชีวิตที่บ่อนทำลาย เพราะกูจะฆ่ามึงอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว ในอำเภอหนึ่งของภาคกลาง ผมนั่งอยู่ที่เก้าอี้หิน ปรากฏว่ามีรูที่เก้าอี้หิน ผมก็เลยถามว่าเกิดอะไรขึ้น คนที่บ้านเล่าให้ฟังว่าฆ่าล้างแค้นกันไปกันมาจนผู้ชายหมดบ้าน เขาก็ยิงกันฉิบหายวายป่วงจนเหลือแต่ผู้หญิง แล้วคุณจะไปยิงใครอีก ยิงจนต้องเลิกยิงกัน เพราะไม่มีใครจะให้ยิงแล้ว แล้วสิ่งเหล่านี้มันไม่มีประโยชน์ในชุดความคิดทางเศรษฐกิจ มันทำให้คุณตาย สูญเสียทรัพยากร สูญเสียทุกอย่าง คุณเก็บชีวิตเขาไว้ดีกว่า

ถ้าเชื่อว่าการพยายามจะคืนดีกันเป็นกลไกในการปรับตัวเพื่อการมีชีวิตรอดของสิ่งมีชีวิตแล้ว กลไกนี้น่าจะมีมานาน เนิ่นนานเกินกว่าความทรงจำและประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ครั้นถ้าคิดแบบมนุษย์ในฐานะ Rational Agent แล้วมนุษย์น่าจะเรียนรู้การขอโทษจากการปฏิบัติการของการแก้แค้น

ทั้งนี้ การแก้แค้นเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญมากในสังคมโบราณ แต่เมื่อแก้แค้นแล้วไม่คุ้มค่าก็ต้องจัดการความขัดแย้งแบบอื่น เมื่อไม่ต้องการให้มีการแก้แค้น ก็จัดการความขัดแย้งด้วยการขอโทษ แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องเรียนรู้ที่จะให้อภัย ขอโทษแล้วไม่ให้อภัยก็ไม่มีประโยชน์อะไร ความขัดแย้งยังคงอยู่ คิดในแง่ของผลได้ผลเสียแบบ ‘cost-benefit’ แล้วการขอโทษคุ้มค่ากว่ามาก

การขอโทษและให้อภัยก็ทำให้สายสัมพันธ์กลับคืนมา ในการรื้อฟื้นสายสัมพันธ์กลไกด้วยการลืมทำให้สายสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น เพียงแต่คนที่มีประสบการณ์ร่วมที่เจ็บปวดก็ยากที่จะลืมได้ เพราะมนุษย์ดำเนินชีวิตได้ด้วยความทรงจำ เมื่อคนที่มีประสบการณ์ตรงก็ยากที่จะลืมก็ต้องคอยให้คนที่ไม่มีประสบการณ์ตรง คนที่ไม่มีประสบการณ์ร่วมโดยตรงก็ช่วยในการทำให้การร่วมมือกันเป็นไปได้

การร่วมมือกันหลังจากการคืนดีกันได้ประโยชน์มากกว่า พูดง่ายๆ การขอโทษคุ้มค่ากว่าเยอะ การแก้แค้นก็สามารถที่จะดำเนินไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนเสียทรัพยากรมากมาย แบบตามทวงหนี้กันไปตลอดชีวิตมันไม่คุ้มค่า ทำสงครามแก้แค้นกันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะทุกฝ่ายเรียกร้องความยุติธรรมที่ต้องชำระ

การฆ่ากันจนครอบครัวที่ขาดเพศใดเพศหนึ่งไปก็ยุ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมก่อนสมัยใหม่ สงครามในยุโรปก่อนก่อนสงครามโลกครั้งที่สองก็ต้องฝ่ายแพ้ต้องจ่ายเงินไปจนถึงดินแดนให้กับผู้ชนะ เล่นกันจนฉิบหายขายตัวป่นปี้กันหมด สงครามระหว่างรัฐจึงแพ้ไม่ได้ สงครามในฐานะการล้างแค้นเอาคืนกันในนาม ‘just war’ ก็กระทำกันมาหลายร้อยหลายพันปี อย่างน้อยๆ ตั้งแต่ปี 1500-1945 ยุโรปมีสงครามเฉลี่ย 2.5 ปีต่อหนึ่งครั้ง

พูดได้มั้ยว่าในโลกตะวันตก คริสต์ศาสนาสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาว่าการขอโทษคืออารยะ

คุณก็เห็นได้ชัดเจนว่า คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาที่มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งก็คือว่า เอาศาสดาตัวเองไปฆ่า การเรียกร้องให้นำพระเยซูไปประหารคือฝูงชน ไม่ใช่ทหารโรมัน

เหมือนตอนจะฆ่า จอห์น เดอะ บับติสต์ (John the Baptist) มันก็ไม่ใช่เพราะว่ากษัตริย์อยากจะตัดคอ แต่เป็นเพราะสิ่งแวดล้อม ฝูงชน คนอื่นๆ ทั้งนั้นที่อยากจะฆ่า เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงคนเหล่านี้ เรากำลังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คุณ’ กับ ‘ผม’ แต่กลุ่มคนที่กำลังบ้าคลั่งและอยากจะฆ่าคุณ มันก็เป็นอีกคอนเซ็ปต์หนึ่งนะ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะตามมาว่า ผมอาจจะให้อภัย แล้วชุมชนยินดีจะให้อภัยมั้ย เพราะว่าชุมชนเป็นชุมชนที่ต้องการจะฆ่า

ในศาสนาโบราณหรือเรื่องราวต่างๆ ที่คุณได้ยิน มันจะมีปัญหา เช่น กษัตริย์หรือเจ้าชายถูกเนรเทศออกไป แล้วกลับมาคืนดีกับสังคม มันก็เหมือนกับพระเจ้าในดินแดนตะวันออกกลาง ที่พระเจ้าทิ้งเมืองไปเพราะเมืองมีความชั่วร้ายมากอะไรต่างๆ แต่คนมันก็กลับมา ฉะนั้นมันต้องมีความประนีประนอมซึ่งกันและกันมันถึงอยู่ด้วยกันได้

ทีนี้ปัญหาก็จะตามมาว่า แล้วถ้าคุณให้อภัย (forgive) แล้วความแค้นของคุณจะอยู่ตรงไหน คุณก็จะเรียกร้องไอ้สิ่งที่… ผมไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไร justice ผมไม่อยากแปลว่า justice ซึ่งคุณก็อยากจะให้ผลที่เราเรียก ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ตายตกไปตามกัน คุณจะอยู่ในโครงสร้างแบบนี้ไหม เพราะว่าในท้ายที่สุดมันก็ต้องถามว่า ‘ความยุติธรรมของใคร?’ เพราะในท้ายที่สุดคนตัดสินก็เป็นแค่มนุษย์เท่านั้น ในกรอบคริสต์ศาสนาการตัดสินจึงไม่ใช่ฝีมือของมนุษย์ แต่ผู้พิพากษาคือพระผู้เป็นเจ้า เช่น James 4:12 There is only one Lawgiver and Judge, the one who is able to save and destroy. But you–who are you to judge your neighbor?  ถึงแม้ว่าศาสนาจะไม่ต้องการให้ทำ ในท้ายที่สุดก็มนุษย์นั่นแหละที่ตัดสิน

คำถามจึงหลีกเลี่ยง ‘ของใครล่ะ?’ ไปไม่ได้ ของ state เป็นผู้ตัดสิน? เพราะจะได้ยินอยู่ตลอดเวลาว่าคุณไม่ควรเป็นผู้ตัดสินเอง คุณควรให้รัฐในกรอบคิดเสรีนิยมที่วางตัวเป็นกลางเป็นผู้ตัดสิน องค์กรของรัฐก็ทำหน้าที่เป็นพระผู้เป็นเจ้าเสียเอง ขั้นตอนก็มีเพียงแค่ศาลชั้นต่างๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ ในท้ายที่สุดเมื่อถึงตรงนั้นปุ๊บ นั่นคือถือว่ายุติ สิ้นสุด คุณจะไปต่อได้ไหม ก็ไม่ได้สำหรับรัฐ เพราะยุติคือกฎ เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีกลไกอะไรบางอย่างมาบีบบังคับให้การยุตินี้เป็นไปได้ แต่ถามว่าคนที่มันยุติไปแล้วคุณจะรู้สึกแบบนั้นไหม

แน่นอนคนที่ถูกตัดสินอาจรู้สึกว่ามันไม่ fair ผมไม่ใช้คำว่า justice น่ะ ทั้งนี้ justice เป็นเรื่องขององค์กรสถาบัน ในขณะที่ความแค้นของคุณก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป แล้วคุณจะทำยังไง เพราะฉะนั้นในทางจิตวิทยาถึงบอกว่าการให้อภัยเป็นกลไกในการปรับตัวที่สำคัญมากของชีวิตมนุษย์ ที่คุณจะมีชีวิตรอด รวมทั้งการลืม

แต่ถามว่าคุณมีวิถีชีวิตที่แบบเจ็บปวดมาก คุณจะลืมได้ไหม แล้วผมคิดว่าคุณก็จะเห็นสิ่งพวกนี้ได้ในหนังในนิยายต่างๆ ไปจนถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์

กรอบความคิดการสารภาพบาปมาจากไหน?

การสารภาพบาปปรากฏให้เห็นได้เสมอๆ สำหรับในระดับชีวิตประจำวันที่ใช้กับคนทุกๆ คนก็คือ คาทอลิก การสารภาพแสดงให้เห็นถึงความสามารถในสำนึกผิดที่พบเห็นได้ในศาสนาต่างๆ การสารภาพเป็นการเล่าเรื่องตัวเอง การเล่าเรื่องว่าตัวเองได้กระทำผิดและยอมรับผิด การสารภาพเป็นการตรวจสอบจิตสำนึกของตัวเองอันเป็นสิ่งที่ศาสนาต่างๆ นิยมให้กระทำ ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกหรือตะวันตก เช่น กรอบความคิดของจีนก็ต้องการให้เขียนความผิดของตัวเอง เป็นต้น กรอบความคิดเรื่องการสารภาพของจีนน่าจะเป็นอิทธิพลของพุทธศาสนา การตรวจสอบตนเองอยู่บ่อยๆ จะเป็นการสร้างตัวเราให้มีความสมบูรณ์ การเล่าเรื่องทำให้เรื่องส่วนตัวหมดความเป็นส่วนตัว ความลับถูกแบ่งปันให้กับคนอื่น การสารภาพจึงทำให้เกิดความหวาดกลัวไปในเวลาเดียวกัน

ในคริสต์ศาสนาการยอมรับผิดก็ทำให้การกลับสู่อ้อมอกของพระผู้เป็นเจ้าเป็นไปได้ ในระดับชีวิตประจำวันก็เหมือนกับการปล่อยอะไรที่แน่นอกทำให้คับข้องใจคลายออกไป แต่ในทางกลไกทางสังคมกลไกของมันก็เริ่มจากต้องทำให้ “เอ็งพูดเองนะโว้ย ไม่มีใครบังคับ” การสารภาพก็เป็นการตอกย้ำสิ่งที่ได้ละเมิดเอาไว้ นี่เป็นการตอกย้ำให้ผู้กระทำรู้ว่าตนเองได้ทำผิด ตัวเองจึงบอกกับตัวเองว่า “กูเป็นคนทำผิด” แต่การสารภาพผิดต่อสาธารณชนย่อมหมายถึงการเสียหน้าไปในเวลาเดียวกัน การสารภาพจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เช่น พวกหมอสอนคริสต์ศาสนาที่เข้าไปในจีนในศตวรรษที่ 17 จะพบว่าการสารภาพบาปของคนจีนเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นการเสียหน้า เป็นต้น

ในขณะที่การสารภาพผิดตามกรอบคิดของคริสต์ศาสนาถือว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยเสริมสร้างให้การสารภาพเป็นสิ่งที่มีความพิเศษจนไม่รู้สึกแย่ๆ อะไรที่ไม่ดีถูกทดแทนให้กลายเป็นสิ่งดีๆ ในขณะที่กรอบคิดแบบอื่นๆ ถือว่าการสารภาพเป็นเรื่องของวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันเท่านั้น

วิถีปฏิบัติของการสารภาพแบบบังคับขู่เข็ญก็พบเห็นได้ตลอด แรงกดดันสารพัดแบบทำให้คนพร้อมที่จะยอมสารภาพในสิ่งที่ไม่ได้กระทำก็ได้ การบังคับขู่เข็ญย่อมไม่ถือเป็นการสารภาพที่นำไปสู่ความจริง แต่กลับเป็นของหลอกลวง กระบวนการดังกล่าวไม่สามารถทำให้เกิดสำนึกผิด แต่กลับนำไปสู่ความโกรธเคืองเจ็บแค้น ผลที่ตามมาก็คือความแค้น ถ้าจะกล่าวอีกแบบก็คือความยุติธรรมไม่เกิดขึ้น แต่กลับเกิดความไม่พึงพอใจหรือความแค้น

การสารภาพแสดงให้เห็นถึงการสำนึกผิด การยอมรับผิดยังแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของการกระทำ ตั้งใจไม่ได้ตั้งใจ ถ้าไม่ได้ตั้งใจก็ให้อภัยกันง่ายหน่อย การสารภาพยังเป็นการเล่าเรื่องตัวเองกับสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไป โดยการสารภาพก็เป็นการกระทำผ่านเสียงที่ออกมาจากผู้กระทำ สำหรับในศาสนาก็เป็นเสียงที่ส่งไปถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสียงที่เปล่งออกไปได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องคอยการอ่านออกเขียนได้

การสารภาพเป็นการให้ข้อมูลกับคนอื่นๆ เพื่อจะให้คนอื่นๆ ประเมินการกระทำและตัวตนของผู้กระทำว่าเป็นอย่างไร การสารภาพยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไปแล้วนั้นจะมีโอกาสเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตหรือไม่ ภายใต้กรอบคิดของการแสวงหาความจริงที่แสดงสถานะของสัจธรรม ไปจนถึงพระผู้เป็นเจ้า ก็ทำให้คนสารภาพเผชิญหน้ากับความจริง

“To err is human, to forgive, divine” จึงเป็นกลไกที่สำคัญมาก ถ้าเป็นไปได้มนุษย์ก็ควรจะเลียนแบบพระผู้เป็นเจ้าผู้แสดงความสมบูรณ์แบบ พระผู้เป็นเจ้าไม่สมควรที่จะพิโรธ การหยุดการพิโรธก็ตามมาด้วยการให้อภัย เพราะถ้าพระผู้เป็นเจ้าไม่ให้อภัยแล้วฆ่ามนุษย์ตายหมด อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าก็พังทลาย แม้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะมีอำนาจมากมายฆ่าทิ้งได้หมด แต่การอยู่ของพระเจ้าก็จะโดดเดี่ยวเกินไปที่จะเป็นอาณาจักร

พระผู้เป็นเจ้าจึงต้องยอมอภัยหรือยกโทษให้ พระผู้เป็นเจ้าให้อภัยมนุษย์ที่ทำบาปและมีบาป ก็ทำให้การคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าเกิดขึ้น ความขัดแย้งก็ไม่มี พระผู้เป็นเจ้าให้อภัย ก็ไม่เจ็บแค้นคิดจะเอาคืน เพราะถ้าพระผู้เป็นเจ้าเอาคืนก็แหลก การอยู่ในอ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้าดีกว่าเป็นศัตรูกับพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ยังให้อภัย แล้วมนุษย์ทำไมจะให้อภัยไม่ได้? การให้อภัยของพระผู้เป็นเจ้าในคริสต์ศาสนาหรือการให้อภัยแบบอื่นๆ เป็นการรื้อฟื้นความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อกัน ให้ความเชื่อมั่นว่าจะไม่มีการละเมิดหรือทำร้ายกันขึ้นมาอีก

การคืนดีกันด้วยการรู้สึกผิด สำนึกในบาป การขอโทษ ไปจนถึงการให้อภัยจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ไม่ต้องอยู่ในโลกแบบ Hobbesian ของนักปรัชญาอังกฤษ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ที่ไล่ฆ่ากันตายฉิบหายวายป่วง สภาวะ ‘war of all against all’ จึงเป็นไปได้เพียงแค่ช่วงขณะหนึ่งเท่านั้น

การสารภาพบาปถือเป็นการขอโทษหรือไม่

การสารภาพบาปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางศาสนา จัดเป็นการรับผิดกับสิ่งที่ได้กระทำลงไป ส่วนผู้สารภาพที่แสดงสำนึกผิดก็คาดหวังการให้อภัย การรับผิดเป็นการลดสถานะของผู้กระทำให้กลายเป็นคนนอกที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของชุมชน การทำให้ผู้กระทำผิดตัวเล็กลงไปจนถึงไร้ซึ่งอัตตา เป็นกลไกในการลงโทษและป้องกันหรือป้องปราม (deterrence) ที่สำคัญมาก เพราะอย่างน้อยๆ กรอบคิดศาสนาแบบเอกเทวนิยมมนุษย์เป็นเพียงอะไรเล็กๆ ไม่มีวันที่จะยิ่งใหญ่เท่าพระผู้เป็นเจ้า กลไกของการลดสถานภาพลดชั้นผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การสารภาพบาป สำหรับมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเองก็อาจจะผ่านการลดสถานะเพื่อแสดงความรับผิดชอบ การลงโทษและการเหยียดหยามดำเนินไปในเวลาเดียวกัน

การลดสถานะเพื่อทำให้ฝ่ายกระทำผิดตัวเล็กลง จึงเป็นเรื่องของการจัดการความขัดแย้งที่สำคัญมากของฝ่ายผู้ถูกละเมิด ไปจนถึงฝ่ายผู้ที่มีอำนาจมากกว่า แต่กระบวนการดังกล่าวถ้ามากเกินไปก็พร้อมเสมอที่จะหวนกลับคืนไปสู่การแก้แค้น เพราะสำนึกเรื่องเกียรติยศศักดิ์ศรีหน้าตาเมื่อถูกละเมิด ก็มักจะจบลงด้วยการแก้แค้นและความตาย เมื่อเป็นแบบนี้ก็กลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม ความแค้นก็ต้องชำระกันต่อไป

การขอขมาในสังคมตะวันออกต่างไปจากคอนเซ็ปต์การขอโทษในโลกตะวันตกอย่างไร

การขอขมาและขอโทษทำหน้าที่ในการแก้ไขความขัดแย้งจนทำให้คนเชื่อใจและร่วมมือกันได้อีกครั้ง แต่จะขอขมาหรือขอโทษในการละเมิดเรื่องอะไรเป็นเรื่องที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม ความขัดแย้งความโกรธที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากเรื่องศักดิ์ศรีหน้าตาไปจนถึงเรื่องสิทธิไปจนถึงผลประโยชน์เงินทอง

เวลากล่าวถึงการขอโทษต่อสิ่งที่ผิดพลาดลงไป ก็จะเห็นธุรกิจแบบญี่ปุ่นมากกว่าพวกธุรกิจตะวันตก ญี่ปุ่นจะออกมาขอโทษและเสียใจกับสิ่งที่ได้กระทำลงไป ถ้าเกิดอะไรผิดพลาดญี่ปุ่นก็จะขอโทษแหลก เมื่อขอโทษก็ต้องแสดงความเสียใจ เมื่อเสียใจก็ต้องเศร้าจะมาแสดงหน้ายิ้มไม่ได้

การขอโทษในตะวันตกโดยเฉพาะในพวกโลกภาษาอังกฤษก็จะเป็นในระดับปัจเจกชนหรือ ‘individual’ มากกว่าองค์กร ปัจเจกชนมีสถานะที่เหมือนอะตอมที่แยกขาดออกจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ การรับผิดชอบและความผิดก็เป็นระดับปัจเจกชนมากกว่าระดับองค์กรหรือสังคม เมื่อเป็นระบบสังคมที่เน้นปัจเจกชนสิ่งที่ต้องโทษกันก็คือปัจเจกชน การโทษก็แสดงว่า ปัจเจกชนหรือบุคคลคนหนึ่งจะต้องมีความสามารถที่จะ ‘ต้องรู้’ ว่าเมื่อกระทำสิ่ง X ลงไปแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร

ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอโทษต่ออะไรที่เกิดขึ้น การขอโทษจึงแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีความรับผิดชอบ เพราะได้ทำอะไรผิด

สำหรับในสังคมที่นิยมการฟ้องร้องเรียกเงิน ก็ทำให้การขอโทษเป็นเรื่องที่จะมีผลลัพธ์ตามมาทางด้านอะไรอื่นๆ ด้วย ในส่วนของสังคมเมื่อผิดก็ทำให้ด่าได้โจมตีได้ พูดง่ายๆ หาที่ลงได้ โดยไม่ต้องลงโทษในระดับสังคมหรือกลุ่มที่ทำได้ยากกว่า การลงโทษระดับสังคมย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งขนาดใหญ่ การให้ใครคนหนึ่งรับผิดชอบต่อความผิดจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากว่า

‘การโทษ’ ไปจนถึง ‘การลงโทษ’ ใครคนใดคนหนึ่งเป็นอะไรที่จับต้องได้มากกว่าการโทษสังคมหรือโทษระบบที่มีความเป็นนามธรรมสูง ดังนั้นถ้าจะหาใครรับผิดชอบกล่าวโทษสักคนก็คือจะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งจำเป็นที่จะต้อง ‘สละ’ ชีพในกระบวนการบูชายัญ (sacrifice) ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำผิดหรือเป็นผู้ถูกก็แล้วแต่ เช่น พระเยซูกับการตายบนไม้กางเขน เป็นต้น การถูกบูชายัญผู้กระทำผิดหรือจะเป็นแพะก็ตามทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการ ‘เสียสละ’ การสละชีพของใครคนใดคนหนึ่งแสดงความยิ่งใหญ่ โอกาสที่จะพัฒนาไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ ‘สละชีพ’ หรือ ‘เสียลสะ’ ก็เป็นไปได้

ในขณะที่การขอโทษตามกรอบคิดแบบปัจเจกชนคือการตอกย้ำตัวตนอันยิ่งใหญ่ ตัวตนที่มีความรับผิดชอบแบบที่อดัมและอีฟต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้นจากการล่อลวงของปีศาจผู้มีอำนาจมากมายเหนือมนุษย์ ปัจเจกชนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในประวัติศาสตร์ก็น่าเชื่อถือว่าจะทำให้ไม่ผิดหวัง

โลกที่เป็นพหุเทวนิยม (polytheism) รับผิดหรือขออภัยได้จากทุกๆ สิ่ง จากสิ่งมีชีวิตจนถึงสิ่งไม่มีชีวิต แต่ปัญหาใหญ่ก็คือว่าฝ่ายหนึ่งก็พร้อมเสมอที่จะคิดว่าตนเองไม่ผิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งคิดว่าผิด เมื่อไม่ผิดทำไมจะต้องขอโทษ เพราะเมื่อขอโทษก็แสดงถึงภาระรับผิดชอบ ในที่สุดการล้างแค้นก็คือวงจรสำคัญที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ความแค้นคือความทรงจำที่ทรงพลังที่ยากจะลืม การจะลืมความเจ็บปวดก็เป็นอะไรที่ยาก ยกเว้นเสียแต่ว่า ‘episodic memory’ ถูกทำลาย

อาจารย์มองอย่างไรกับคนที่รับผิดชอบด้วยชีวิตตัวเอง เช่น กรณีคนขับเรือ USS Indianapolis ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ถ้าคุณไม่ได้ถูกสร้างมาเป็น killing machine หรือชนชั้นนักรบ ผมคิดว่าเราทุกคนต้องมีความรู้สึกกับสิ่งเหล่านี้ อย่างน้อยๆ ก็ยากที่ใครจะหลุดพ้นจากอิทธิพลทางสังคมเมื่อเกิดมาแล้ว ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เรือ USS Indianapolis ในปลายเดือนกรกฎาคม 1945 ถูกตอร์ปีโดจากเรือดำน้ำญี่ปุ่นจม จากทหารประมาณ 1,100 คน ทหารประมาณ 900 คนต้องลงไปลอยคออยู่ในน้ำ โดยไม่มีใครมาช่วย ทหาร 900 กว่าคนถูกฉลามกิน กระหายน้ำ น้ำหมดตัว ไม่มีอาหาร หลังจากลอยน้ำอยู่สี่วัน ทหารเหลือรอดเพียงแค่ 317 คน ผู้บังคับการเรือก็ถูกสอบสวน จนถึงปี 1968 เขาก็ยิงตัวตาย เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ผิดอย่างเป็นทางการ แต่ครอบครัวคนตายกลับคิดว่าเป็นความผิดอยู่ดี

แต่ถ้าคุณจะรับผิดชอบจริงๆ คุณต้องอยู่ คุณต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป การฆ่าตัวตายจะต่างอะไรกับการหนีปัญหา

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องปกตินะ คนที่ถูกแรงกดดันขนาดนั้น คุณจะทรมานตัวคุณเองไปทำไม ก็ตายไปน่ะดีแล้ว สำหรับผมการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ดีเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่คุณกำหนดชะตาชีวิตของคุณได้ คุณชอบพูดว่าคุณกำหนดชะตาชีวิตคุณเองไม่ได้ – ไม่ใช่เหรอ? แล้วทำไมเราไม่กำหนดความตายล่ะ เรากำหนดว่าเราขอตายตอนไหนได้มั้ย ในท้ายที่สุดถ้าคุณควบคุมความตายได้มันจะเป็นสิ่งน่ากลัวมาก เพราะถ้ามนุษย์ไม่กลัวความตาย มึงฉิบหายแน่ คุณจะคุมใครไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นคุณจึงประสาทกับระเบิดพลีชีพทั้งหลาย เพราะอะไร เพราะถ้าคนที่ไม่กลัวตายก็ไม่มีใครเอาอยู่แล้ว ถ้าคนเราไม่กลัวตายสิ่งแรกที่จะเจ๊งคือโรงพยาบาล เพราะหมอจะไม่มีงานทำ นึกออกมั้ย สูบบุหรี่ก็สูบไป ตายก็ไม่กลัว เจ็บก็ไม่กลัวเจ็บ  นี่คือสิ่งเดียวสำหรับผมที่เล่นหรือควบคุมมนุษย์ตลอดเวลา นั่นก็คือความกลัวตาย

ถ้าคุณไม่กลัวตายเสียอย่าง ฉิบหายเลยนะ เราจึงชื่นชมนักรบที่ไม่กลัวตาย และนี่คือสิ่งที่พิเศษมากสำหรับคริสต์ศาสนา ในช่วงโรมันมีการโยนคนให้สิงโตกิน แล้วคุณต้องยืนให้สิงโตกิน คนพวกนี้ไม่ยอมเปลี่ยน ยอมตาย ผมถามว่า เวลามองคนเหล่านี้คุณชื่นชมเขามั้ย?

เพราะฉะนั้นศาสนาสร้างคนให้มีความมั่นใจมากๆ กูยอมตายเพื่อสิ่งนี้ คุณถึงเรียกร้องว่าคุณต้องมีอุดมการณ์ ลองนึกดูสิ คุณลงไปยืนในสนามศุภชลาศัยแล้วตะโกน “มา ไอ้สัตว์มา มาแดกกูเลย กูไม่กลัวตาย” แล้วคุณก็ชื่นชมเขา คนหลายๆ คนก็ถูกยกย่องให้เป็น Saint คนจำนวนหนึ่งอยากเลียนแบบเขา มันน่ากลัวนะครับ ถ้าคุณปล่อยให้โครงสร้างแบบนี้อยู่ มันจะไม่มีใครคุมใครได้

แต่มนุษย์จำนวนมากไม่เคยทำได้ขนาดนั้น ถ้าทุกคนทำได้ขนาดนั้น ฉิบหายเลยนะครับ เขาจึงบอกว่าอย่าไปทะเลาะกับคนบ้าเพราะมันไม่กลัวตาย ความกลัวตายทำให้มนุษย์มีสติหรืออาจจะเรียกว่ามี rationality แต่สมองส่วนที่ควบคุมความกลัวกลับทำงานอัตโนมัติยากที่จะควบคุม

ขอโทษอาจารย์ครับที่ต้องถามเรื่องโลกตะวันออก คอนเซ็ปต์ในโลกตะวันออกที่บอกว่า พอเราตายจากกันเราจึงควรให้อภัยเขา มาจากไหน

การอโหสิกรรม…สมมุติ เรามีหลายภพหลายชาติ คุณจะแฮปปี้มั้ยถ้าผมไม่ให้อภัยคุณ แล้วผมจะตามล้างผลาญคุณไปทุกชาติ ฉิบหายเลย ต่างคนต่างเหนื่อยถูกมั้ย…ไม่ได้ ตัดปัญหา ยุติ จะเป็นธรรมะหรืออะไรก็แล้วแต่

แต่มันเป็นการขอโทษที่เงียบงัน เขาตายไปแล้ว เราทำได้เพียงบอกกับตัวเองอย่างเงียบงันว่า อโหสิกรรมให้นะ

เพราะอย่างน้อยๆ คุณต้องจัดการกับความทรงจำของคุณ การให้อภัยเป็นกิจกรรมที่เรากระทำกับตัวเราเองเป็นหลักอยู่แล้ว ไม่ต้องการคนอื่นก็ได้ เอริค แคนเดล (Eric Kandel) ผู้รับรางวัลโนเบิลด้านการแพทย์บอกว่า มนุษย์เป็น memorial being มีความทรงจำในชีวิต คุณไม่รู้ว่าความทรงจำเหล่านี้จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเมื่อไหร่ เหมือนคนใกล้ตายก็จะคิดนู่นคิดนี่ เรื่องราวต่างๆ ผุดขึ้นมา คุณต้องการสงบ คุณต้องเข้าใจนะว่าเวลาคนแก่ทุกอย่างมันจะช้าลง โดยทางกายภาพของคนแก่ก็ต้องพยายามทำใจให้ต้องยอมรับสังขารตัวเอง แต่สิ่งที่สำคัญของมนุษย์ก็คือความอยากที่จะเป็นอมตะ แต่ความตายคือข้อจำกัด

คุณเคยฟังเพลงที่มีประโยค “I wanna live forever” แต่เราไม่ live forever ศาสนาและปรัชญาจึงสอนให้ทุกคนต้องมี memento mori คุณก็จะเห็นว่าสังคมโบราณและวิธีคิดของตะวันออกก็จะมีสิ่งนี้ นี่คือข้อจำกัดอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ แต่ความตายก็เป็นอะไรที่ผลักดันให้มนุษย์ทำอะไรต่ออะไรอีกมากมาย

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า