ให้อภัยเท่ากับให้ความเป็นคน

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / อารยา คงแป้น
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

 

ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก คือสถานควบคุมตัวเยาวชนต้องโทษคดีร้ายแรงอย่างฆ่า โทรม จี้ ปล้น และถ้าเปิดรายชื่อของเด็กที่ยังอยู่และเคยอาศัยอยู่ที่นี่ เราอาจคุ้นหูและตากับ ‘ชื่อแก๊ง’ ของพวกเขา ที่เคยปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์

คดีปาหิน ยิงน้องชายดาราชื่อดัง โทรม ปล้น ฆ่า ข่มขืน และบางคนอาจกระทำเช่นนั้นไม่ต่ำกว่าครั้งเดียว

เมื่อเยาวชนผู้ก่อเหตุตกเป็นจำเลยทางอาญา ว่ากันด้วยความผิด เดินทางตามกระบวนการกฎหมาย เขาอาจถูกพิพากษาให้อยู่ในสถานควบคุม และปลายทางอาจอยู่ที่ ‘บ้านกาญจนาภิเษก’

ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก คือตัวละครหนึ่งในซีรีส์ WAY to Apology เส้นเรื่องของบทความคือการถามหาความหมายของ ‘พิธีกรรมการขอโทษ’ ที่จัดขึ้นทุกปีในวันสันติภาพโลก

พิจารณาจากรูปคดี บุคคลที่เกี่ยวข้องมีใครบ้าง ผู้ถูกกระทำ ญาติของผู้ถูกกระทำ ผู้ถูกกระทำ ญาติของผู้กระทำ สังคม ในฐานะผู้ที่ได้รับผลจากความกลัวสาธารณะ

การอธิบายว่า ‘ทำไม’ เรา/สังคม ในฐานะผู้รับผลกระทบจากความกลัวสาธารณะ จึงต้องพิจารณาเพื่อ ‘ให้อภัย’ เยาวชนผู้กระทำเหล่านั้น และการ ‘อภัยให้’ ของสังคม เป็นเรื่องเดียวกับความรู้สึกของ ‘เหยื่อ’ หรือ ‘ผู้ถูกกระทำ’ หรือเปล่า

คำถามเหล่านี้ดูจะเป็นคำถามชวนอึดอัดที่จะอ่านและรับฟังอยู่บ้าง

พิธีกรรมขอโทษเชิงสัญลักษณ์ที่บ้านกาญจนาฯ จัดขึ้นทุกปีในวันสันติภาพโลก คืออะไร สำคัญอย่างไรและต่อใคร ต่อเหยื่อ หรือต่อผู้กระทำ? พิธีกรรมนี้ต้องการปัจจัยอะไรบ้าง และเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า นี่คือการขอโทษที่มาจากความรู้สึก…ใดๆ ก็ตาม ที่ต้องเกิดจากตัวผู้กระทำ

และคำถามที่ว่า พิธีกรรมการขอโทษเชิงสัญลักษณ์ ขอขมา อันเกิดในเรือนจำส่วนใหญ่ แท้จริงแล้วเป็นการลดทอนพิธีกรรมการขอโทษ และผลักภาระทางจิตใจนั้นไปให้เหยื่อเป็นผู้รับหรือไม่? คำถามคือ พิธีกรรมขอขมาในบ้านกาญจนาฯ เป็นดังคำว่าเช่นนั้นหรือเปล่า?

ในนาทีที่ความเห็นหลากหลายกับเหตุรุนแรงที่เยาวนชนเป็นผู้ก่อเหตุ ถูกบันทึกไว้เป็นตัวอักษร ความเห็นต่างๆ กำลังจะถูกเลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราชวนอ่านกระบวนการที่อาจเกิดขึ้น หากเยาวชนคนหนึ่งถูกจับเข้าคุกหรือสถานควบคุม ปัจจัยอะไรที่จะทำให้เขา ‘รู้สึกผิด’ และได้รับการอภัยจากตัวเองและสังคม

ซึ่งใช่หรือไม่ว่า ความรู้สึกเช่นนี้คือจุดประสงค์ของทุกโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

เกณฑ์ในการรับเด็กเข้าบ้านกาญจนาฯ มีอะไรบ้าง

หนึ่ง-เด็กต้องมีโทษมากกว่าหนึ่งปีครึ่งขึ้นไป และสอง-พ่อแม่เด็กต้องเข้ามาทำงานร่วมกันกับเราอย่างใกล้ชิดในฐานะหุ้นส่วน

เวลาที่เด็กถูกตัดสินเข้ามาจะไม่ได้ถูกตัดสินมาพร้อมๆ กัน และโทษของเด็กแต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน ขึ้นกับว่าเขาถูกจับด้วยคดีอะไร บางคนคำพิพากษาระบุว่าเมื่ออายุครบ 24 ปีก็ให้ปล่อยได้เลยที่บ้านนี้ บางคนคำพิพากษาระบุว่า เมื่อครบอายุ 24 ปีให้ไปอยู่ที่เรือนจำต่อ อีกกี่ปีก็ว่ากันไป จนกว่าจะครบโทษ แต่กรณีแบบนี้ส่วนใหญ่เป็นการก่อคดีที่รุนแรง

นอกจากเกณฑ์การรับ เราต้องประเมินสถานการณ์ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่มีคุกเด็กแห่งแรกจนถึงปัจจุบัน เราพบว่า สถานควบคุมเยาวชนส่วนใหญ่ใช้มาตรการอย่างเดียวกับ ‘คุกใหญ่’ เช่น ให้เยี่ยมอาทิตย์ละครั้งถึงสองครั้ง ครั้งละประมาณครึ่งชั่วโมงรูปแบบการเยี่ยม ระหว่างเยี่ยมก็ใกล้เคียงกับคุกใหญ่ พอครบสามปี ห้าปี ตามที่ศาลกำหนดโทษ ก็ส่งเขาคืนกลับไปยังพ่อแม่ ในขณะที่เราก็รู้อยู่ว่าก่อนที่เขาจะไปก่อคดี ความสัมพันธ์ในครอบครัวของเขามันเปราะบาง ผุพัง ล่มสลาย หรือถ้ามี มันก็ไม่เหนียวแน่น แข็งแรง เขาจึงเดินเข้ามาอยู่ในบ้านแบบนี้ เลี้ยวเข้าสู่ถนนสายมืด จนกระทั่งมาอยู่กับเรา

ดังนั้น ในขณะที่เขาอยู่กับเรา ถ้าเราไม่กู้ ไม่ซ่อม ไม่สร้าง ไม่ปรับ ตัวต้นทุนความสัมพันธ์ของเขากับคนในครอบครัว มันไม่มีหลักประกันอะไรเลยในการคืนสู่ครอบครัว ดังนั้นในบ้านกาญจนาฯ จึงมีข้อตกลงใหญ่ๆ และสำคัญอยู่สองข้อ หนึ่งในนั้นคือ พ่อแม่ต้องเข้ามาทำงานในฐานะหุ้นส่วน

สำหรับข้อนี้อาจจะมีปัญหาบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เช่น เด็กบางคนอาจจะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ของเขาโดยตรง หรืออาจจะไม่มีพ่อแม่เลย ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไม่ได้ ให้เด็กมาก่อน แล้วมาคุยกันต่อว่ามีใครบ้างที่ผมรู้สึกไว้วางใจ จากประสบการณ์ของเราพบว่าเคยมีเด็กบางคนมีพี่วินมอเตอร์ไซค์เป็นหลักยึด เป็นคนที่ผูกพัน แต่ไม่ได้เป็นญาติเลยแม้แต่น้อย พอเราไปพูดคุยกับคนเหล่านั้นเขาก็ยินดี คือในข้อสองนี้เป็นใครก็ได้ที่ช่วยเป็นไม้ค้ำยันชีวิตเขาได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ยังไม่แข็งแกร่ง

ใช้คำว่า ‘ไม้ค้ำยัน’ ไม่ใช่ ‘ค้ำประกัน’ ใช่ไหม?

ใช่ ไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน แค่ในระหว่างที่เด็กอยู่ที่นี่ ให้เขามาเยี่ยม ถ้าเขามีปัญหา อ่อนแอ เราจะขอเข้าไปปรึกษา และคุณก็ต้องมานั่งอยู่ด้วย ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่ได้โดดเดี่ยว ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ที่ต้องมีใครสักคนที่พึ่งพิงทางใจได้

เด็กใหม่ที่เข้ามาในบ้านกาญจนาฯ จะเจอกับอะไรบ้าง

ปัจจุบันเรารับเด็กถึงรุ่นที่ 75 แล้ว โดยรับปีละหกรุ่น หมายความว่ากระบวนการจะถูกออกแบบมาค่อนข้างลงตัวระดับหนึ่ง เช่น พอเด็กเข้ามาปั๊บ ก็จะทำพิธีผูกข้อมือ รับขวัญ กอด ในระหว่างนั้นเราก็จะสื่อสารประมาณว่า “มั่นใจ​ว่าถ้าปาฏิหาริย์มีจริง และพาผมกลับไปยังค่ำคืนนั้นอีกครั้งหนึ่ง ป้าเชื่อว่าผมไม่ฆ่า ไม่ปล้น ไม่โทรม ผมจะไม่ทำในสิ่งใดๆ ที่เคยทำในค่ำคืนนั้น”

แน่นอนการสื่อสารแบบนี้ ในช่วงแรกที่ต้นทุนเด็กยังจำกัด เขาจะยังช็อกๆ งงๆ เพราะเขาเพิ่งมาจากบ้านที่มีกำแพงสูง รั้วลวดหนามและไฟฟ้า ผู้คุมเข้มงวดมากๆ อะไรแบบนั้น แต่มาเจอบ้านนี้ที่ไม่มีกำแพงและประตูบ้านเปิดไว้ตลอดเวลา เขาก็คงต้องตั้งหลักสักพัก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้ และไม่คิดว่าเขาต้องเข้าใจทุกสาส์นของเราในขณะนั้น แต่เราจะทำให้เขาเห็นและวางใจในสิ่งแวดล้อมใหม่นี้ให้ได้ เราต้องการให้เขารู้สึกถึงการต้อนรับและคุณค่า ในวันแรกเอาเท่านี้ก่อน ที่เหลือเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่ค่อยๆ ตามมา

และอีกสาส์นหนึ่งที่บ้านกาญจนาฯต้องการสื่อให้ชัดไปเลย คือความเชื่อมั่นว่า ในตัวเราตัวเขาและทุกคนมีด้านสว่างและมืดอยู่ร่วมกัน เพียงแต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้เขาไม่ดูแลคนมืด – คนที่ไม่ดีในตัวผมอย่างเต็มที่ จนมันผลักให้เขามาอยู่ที่นี่ ต้องอยู่ในอำนาจของตำรวจ ของศาล แต่จริงๆ ในตัวเขายังมีใครอีกคน เหมือนที่เราเองก็มีคนอย่างน้อยสองคนในตัวเสมอ แต่คนที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ร่วมกับเสรีภาพได้ก็คือคนสว่าง – คนด้านขาว และคนนั้นต้องแข็งแรงกว่า พร้อมจะออกมาเร็วกว่า และป้าเชื่อว่าคนสว่างในตัวผมมันจะถูกปลุกให้ตื่น และจะต้องถูกดูแลเอาใจใส่อย่างดีในระหว่างที่ผมอยู่กับเรา

อีกประเด็นที่เราคิดว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญของการสนทนากับพวกเขาในวันแรกคือ หลังจากพิธีการต้อนรับ เราจะบอกว่าให้เขาไปยืนหน้ากระจกนานๆ เพราะบ้านที่เขาจากมาหรือสถานควบคุมที่เขาเคยอยู่ เด็กๆ จะต้องตัดผมสั้น แต่ที่นี่เราจะขอให้เขายืนมองตัวเองในกระจกและให้เขาจินตนาการว่า ผมทรงไหนที่มันกอบกู้ความเชื่อมั่นของเขากลับคืนมา ต่างหูคู่ไหนที่ทำให้เขารู้สึกมั่นใจให้เขาเลือกสิ่งนั้นได้เลย

เราไม่มีหน้าที่ต้องอดทนกับทางเลือกของเขา ที่นี่เสื้อผ้าหน้าผมและร่างกายคือสิทธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่เราจะไม่ละเมิดโดยเด็ดขาด ดังนั้นผมเลือกเลย เป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง

ซึ่งทั้งหมดนี้มันเป็นบทสนทนาเบื้องต้นที่ทำให้เขารู้สึกว่า ‘เขามีตัวตนอยู่จริงๆ นะ’ เพราะต้นทุนหลายอย่างของเด็กเป็นสิ่งที่เราต้องรีบเคลียร์ก่อน แต่เป็นแค่ต้นทุนในแง่วิถีวัฒนธรรมเท่านั้น ไม่ใช่พฤติกรรม ประเภทนั่งเป็นแถวตรง ซ้ายหัน – ขวาหัน พร้อมกัน นั่นไม่ใช่แนวทางของเรา วิถีวัฒนธรรมแรกที่เราต้องทำให้เคลียร์ไปเลยก็คือความเป็นมนุษย์ของเขานั้นศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสิ่งที่ใครก็ละเมิดมิได้

วิถีวัฒนธรรมแบบไหน ที่มีผลต่อความคิดของเด็กกลุ่มต้องโทษอาชญากรรมร้ายแรง

ในความเห็นของป้าคือ การทำให้เด็กอยู่ภายใต้การควบคุมของเรา ซึ่งแน่นอนว่าเวลาที่ผู้ใหญ่ทำแบบนี้ ผู้ใหญ่อาจไม่ได้ทำในแง่ที่ว่าเด็กเป็นโจร แต่ทำในฐานะ ‘ผู้ที่มีความรักและความปรารถนาดีอันมากมาย’ และเด็กต้องทำตามคำสั่งผู้ใหญ่ทุกๆ อย่าง

ซึ่งคิดว่าวิถีวัฒนธรรมที่ถูกปลูกฝังมาแบบนี้ เด็กๆ อาจจะอบอุ่นในระยะหนึ่ง แต่เลยไปอีกนิดเด็กจะรู้สึกว่าโคตรอึดอัดกับเงื่อนไขชีวิตแบบนี้น่าดูเลย ป้าคิดว่าจำเป็นมากที่เราต้องทำพื้นที่การอยู่ร่วมกันให้มันหลวมกว่านั้น

เช่น การเคารพสิทธิ์ในเนื้อตัวและร่างกายของเขา คุณก็เป็นใช่ไหม ที่ผมสักเซนต์หนึ่งเราก็ไม่อยากสูญเสียให้กับมนุษย์คนไหนทั้งสิ้น และโดยที่ไม่ให้เด็กๆ ต้องมาทายใจเรา เราก็เป็นคนพูดเสียก่อน ไม่ต้องรอให้เขามาขออนุญาตเรา

สิ่งที่รู้สึกรำคาญใจตอนที่เด็กมาใหม่ๆ (หัวเราะ) คือจะเข้าห้องน้ำก็ต้องมาขออนุญาต เฮ้ย…ไม่ต้องขอสิลูก การเข้าห้องน้ำเป็นเรื่องของผม กับอีกอันก็คือ เวลาพูดกับเราต้องนั่งยองๆ และยกมือไหว้ไปด้วยพูดไปด้วย เฮ้ย…ไม่ต้องลูก ไม่ต้องนั่งยองๆ และไหว้หนเดียวเพื่อเป็นการทักทายพอแล้ว แต่ไม่ใช่ไหว้ทุกครั้งที่เจอ กี่ครั้งก็ต้องไหว้อยู่นั่นแหละ

คิดว่าไม่เฉพาะเด็กในบ้านกาญจนาฯ แต่เป็นวัฒนธรรมของเด็กทั่วไปเลยหรือเปล่า

แต่คิดว่าในสถานควบคุม วัฒนธรรมนี้ทั้งทรงอำนาจและแข็งแรงกว่ามาก (เน้นเสียง) คือเราอาจจะเจอพฤติกรรมหรือการจัดการแบบนี้ข้างนอกบ้าง แต่ในสถานควบคุมมันจะเข้มข้น หนึ่งในเหตุผลนั้น

คือผู้ปฏิบัติงานมักคิดว่าเด็กในสถานควบคุมเป็นตัวร้าย เป็นลูกเสือ ลูกจระเข้ เขาจึงต้องทำให้เด็กกลุ่มนี้สยบยอม เพราะเขาคิดว่าน่าจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยสำหรับทุกๆ คน

จึงใช้วิธีกดข่มด้วยอำนาจ?

ใช่ แต่บ้านกาญจนาฯ ไม่เชื่อเรื่องการใช้อำนาจกับวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เคยใช้ความรุนแรง

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราได้เจอกับ ‘ขาใหญ่’ อยู่บ้าง อย่างมีเด็กรุ่นใหม่ล่าสุด คือรุ่น 75 เข้ามาจำนวน 21 คน ป้าก็บอกว่า ที่นี่เราให้อิสรภาพเสรีภาพกับทุกๆ คน แต่ไม่ใช่เพราะกลัวนะ แต่เพราะเสรีภาพเป็นลมหายใจ เป็นชีวิตของวัยรุ่น และเป็นชีวิตของป้าด้วย และเมื่อเรามอบเสรีภาพ ให้ความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเป็นแนวราบ มันไม่ได้ทำให้บ้านหลังนี้วุ่นวายเลย กลับทำให้เราทุกคนรู้สึกเกรงอกเกรงใจกัน ให้เกียรติกัน ซึ่งมันก็เป็นวิถีชีวิตที่น่าอยู่และปลอดภัยสำหรับทุกคน

วิธีที่จะลดความเป็นขาใหญ่ จึงไม่ใช่การทำตัวเป็นขาใหญ่ที่เหนือกว่า เพราะมันช่วยอะไรไม่ได้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผู้ใหญ่จะใช้อำนาจผลักให้เด็กๆ ต้องไปถึงจุดที่ ‘กูพร้อมจ่ายทุกเมื่อ’ หมายถึงใช้อำนาจกดข่ม โต้เถียงด้วยอารมณ์ หรือการเอาด้านมืดของเราไปปะทะกับด้านมืดของเขา

คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า “บางคนก็เกิดมาเพื่อจะเป็นคนเลวอย่างสุดขั้ว”

มันอาจจะเป็นคำพูดเชิงเปรียบเทียบจากประสบการณ์บางอย่างของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ป้าเชื่อว่าความดีหรือเลวของมนุษย์ทุกคนไม่ใช่เจตจำนงที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในช่วงที่เขาต้องพึ่งพิงผู้อื่น ดังนั้นป้าเชื่อว่ามีลมใต้ปีก มีปัจจัยร่วม มีส่วนผสมหลายอย่างปะปนอยู่ในทุกการกระทำของทุกคน ไม่มีข้อยกเว้นทั้งการกระทำที่ดีและเลว

ที่นี่เรามีกิจกรรมที่พ่อแม่และเด็กทุกครอบครัวต้องทำร่วมกัน นั่นคือการ empower ครอบครัว ซึ่งจัดขึ้นปีละหกครั้ง ช่วงพีคสุดของกิจกรรมก็คือ เด็กและพ่อแม่แต่ละครอบครัวร่วมกันพิจารณาการ์ด 37 ใบ ซึ่งเป็นการ์ดที่เราออกแบบขึ้นมาเอง จากต้นทุนในการทำงานกับพวกเขา เช่น บางการ์ดเขียนว่า แววตาปลาบปลื้มของเพื่อนต่อลูกเรา, มึงเจ๋งว่ะ หรือเพื่อนคือ 7/11 บางการ์ดเขียนว่า บ้านร้อน หรือบ้านที่ขีดเส้นตีกรอบ ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน หรือพ่อแม่ชอบเปรียบเทียบ อะไรแบบนี้

โดยข้อเท็จจริง ถ้าแยกการ์ด 37 ใบ ออกเป็นสองกลุ่ม จะได้กลุ่มปัจจัยผลักไสไล่ส่งเด็กให้ออกจากบ้าน กับกลุ่มปัจจัยที่รอดึงดูดอยู่ข้างนอกบ้าน กระบวนการก็คือให้พ่อแม่และเด็กช่วยกันคิด ช่วยกันคุยเพื่อแยกการ์ดออกเป็นสองกองให้ได้ ซึ่งแทบทุกครั้งไม่มีครอบครัวไหนที่แยกการ์ด 37 ใบไม่ออก เรียกว่าความรู้ – ความไม่รู้ ไม่ใช่อุปสรรค พวกเขาแยกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม

หลังจากการ์ดถูกแยกออกเป็นสองกลุ่มเรียบร้อย เราก็ให้ทุกครอบครัวโฟกัสไปที่การ์ดกลุ่มปัจจัยผลักไสไล่ส่ง พร้อมกับคำถามง่ายๆ นั่นคือ การ์ดใบไหน ที่ถ้ามันถูกหยิบออกไปจากครอบครัวได้ เขาจะรอดแน่ ให้หยิบการ์ดใบนั้นออกมา และอธิบายความรู้สึกต่อการ์ดใบนั้นให้พ่อแม่ฟังด้วย ซึ่งแต่ละบ้าน แต่ละคน แต่ละรุ่น จะเลือกการ์ดไม่เหมือนกัน เพราะเงื่อนไขของชีวิตแต่ละคนต่างกัน

ที่เล่ายาวมาถึงตรงนี้เพื่อจะบอกว่า มันไม่มีสูตรตายตัว แต่เป็นเรื่องที่สมาชิกในครอบครัวต้องผ่านกระบวนการทำความเข้าใจกันเพื่อกลับไปอยู่ร่วมกันอีกครั้งภายใต้การยอมรับ ‘พื้นที่กลาง’ ให้มากขึ้น

กระบวนการที่ออกแบบมาทั้งหมดนี้ เป็นไปเพื่อผลลัพธ์อะไร

แน่นอนว่าเป้าหมายสุดท้ายคือช่วยให้ผู้กระทำผิดได้รับการยอมรับจากครอบครัว เริ่มเห็นคุณค่าของตัวเอง ให้อภัยในความผิดพลาดที่ผ่านมา มีแรง มีพลังที่จะแก้ไขตัวเอง แต่จู่ๆ เราจะพาเขาไปถึงปลายทางสุดท้าย คือ การให้อภัยตัวเองเลยไม่ได้ มันข้ามขั้นตอนไป ขั้นแรกมันต้องเติมส่วนที่ขาดพร่องก่อน ให้เขารู้สึกมีคุณค่า อย่างน้อยที่สุดก็ต่อบ้านหลังนี้ ต่อป้า ให้เล็กๆ แคบๆ ก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ เคลียร์กับครอบครัวของเขาอย่างมีเป้าหมาย มีกระบวนการ และทั้งหมดนี้มันต้องการการออกแบบบนฐานความเข้าใจต่อที่มาของพวกเขา

อย่างที่นี่เราออกแบบถึงขนาดว่า ต้องให้เด็กกลับบ้านเดือนละครั้งในช่วงวันศุกร์สิ้นเดือน เมื่อพ่อแม่รู้สึกว่าการรับเขากลับบ้านไม่ได้เป็นภาระอันใหญ่หลวง ซึ่งแน่นอน เราต้องทำงานทางความคิดกับเด็กหรือปรับ mind set อย่างจริงจังร่วมกับการทำงานกับพ่อแม่อย่างเข้มข้นด้วย และไม่แปลกที่เราอาจถูกตั้งคำถามจากผู้บังคับใช้กฎหมายเมื่อเราให้เด็กทำผิดกฎหมายกลับบ้านทุกสิ้นเดือน แต่เรามีเหตุผลที่จะบอกท่านเหล่านั้นว่า “การติดคุกสามปีแล้วค่อยออกไป ประเดี๋ยวปลาจะน็อคน้ำนะ และคนที่เดือดร้อนไม่ใช่แค่ตัวเขาแต่คือพวกเราด้วย”

ภารกิจที่สำคัญของบ้านกาญจนาฯ อีกประการหนึ่ง คือเราต้องทำให้เด็กเหล่านั้น หรือผู้กระทำเห็นว่า เหยื่อก็ต้องการความเป็นธรรมเช่นกัน แน่นอน แม้ว่าเหยื่อจะไม่ได้ลูกที่ถูกฆ่ากลับคืนมา แต่คนที่ฆ่าลูกเขาต้องได้รับโทษ ส่วนผู้กระทำก็ต้องการความเป็นธรรมในรูปแบบหนึ่ง

โดยผ่านความเชื่อที่แข็งแรงของเราที่ว่าความเป็นอาชญากรไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยการเกิด และไม่ได้มีใครอยากเกิดมาชั่วให้คนเกลียดชัง การกระทำผิดของเขาจึงมีส่วนผสมหลายอย่างอยู่ในนั้น รวมถึงเราที่เกิดมาก่อน ด้วยวิธีคิดเช่นนี้บ้านกาญจนาภิเษกจึงเลือกใช้ soft power แทนอำนาจแนวดิ่ง กฎเหล็ก ความรุนแรง ตามมาตรฐานคุก เพราะสุดท้ายผู้กระทำทุกคนต้องออกไปอยู่ภายใต้กติกาของสังคม และเป็นส่วนหนึ่งในการหมุนสังคมร่วมกับพวกเรา ฉะนั้นเขาต้องเห็นต้องรู้ว่าความเป็นธรรมทั้งสองขั้วนี้มันไปด้วยกันระหว่างที่เขาอยู่กับเรา

กระบวนการที่ว่าคืออะไร

อย่างตอนปฐมนิเทศเด็กใหม่ เราก็จะถามเขาว่า เขาชอบบ้านกาญจนาฯไหม ซึ่งต้องชอบอยู่แล้ว (หัวเราะ) แต่พวกเขาต้องรู้นะว่ามีคนในสังคมอีกมากเท่าไหร่ที่เขาไม่ชอบบ้านกาญจนาฯ และพอจะนึกออกไหมว่า ใครบ้างที่อาจไม่ชอบ

ทุกครั้งของการปฐมนิเทศป้าจะเล่าว่า วันดีคืนดีมีคนมายืนอยู่หน้าบ้านกาญจนาฯ เขามากันทั้งครอบครัว เมื่อป้าออกไปทักทายและถามว่ามีอะไรให้ช่วยบ้างไหม คำตอบที่ได้ก็คือ “จะมาช่วยอะไรฉัน ก็ลูกฉันตายไปแล้ว และคนที่ฆ่าลูกฉันอยู่ที่นี่” พวกเขามีเหตุผลในการมาที่ชัดเจนนั่นคืออยากถามป้าว่า “คุณเอาหัวหรือเอาตีนคิด ที่ใช้วิธีการแบบนี้กับคนที่ฆ่าคน”

แน่นอนว่าป้าต้องอธิบาย ขอโทษ และรับเอาความเสียใจของครอบครัวผู้สูญเสียมาไว้กับตัวเรา และเราต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกของพวกเขาที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

และนี่เป็นเหตุผลที่ป้าต้องดูแลเด็กๆ ที่เคยทำร้าย เคยฆ่าผู้อื่น อย่างดีที่สุด เพราะป้าเชื่อว่าถ้าเราดูแลลูกหลานของเราด้วยวิธีรุนแรงเทียบเท่าที่เขาเคยเจอมา ท้ายที่สุดมันจะมีคนถูกฆ่าคนที่สองและสาม การฆ่าครั้งแรกอาจเป็นความคึกคะนอง การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่การฆ่าครั้งที่สองจะเป็นเป้าหมาย และถ้าพ่อแม่อนุญาตให้ป้ากราบเพื่อขอโทษแทนลูกหลานป้า ป้าก็ยินดีกราบ

นี่คือบางเรื่องราวที่ต้องบอกเขาในวันแรกที่รับเขาเข้ามา

ความยุติธรรมของผู้กระทำและผู้ที่ถูกกระทำไม่เหมือนกัน คิดว่ามุมมองความยุติธรรมของผู้กระทำ คืออะไร

แน่นอนว่าความยุติธรรมของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำไม่เหมือนกัน

เมื่อปี 47 ป้ามีเด็กในคดีปล้นฆ่ามาอยู่ด้วย หลังจากผ่านขั้นตอนการผูกข้อมือ รับขวัญ กอด ค่ำคืนนั้นเขาเขียนในสมุดบันทึกก่อนนอนประมาณว่า

“วันที่ศาลตัดสินผม ผมรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว เลวร้าย ไม่มีค่าอะไรเลย ผมจึงทำตัวเหมือนกองขยะกองหนึ่งที่ไร้ค่า”

จำได้ว่างานเขียนชิ้นนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานของป้าในเวลาต่อมา โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าวินาทีแห่งความล้มเหลว เลวร้าย ไร้ค่า ของคนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้กระทำ คือวินาทีเดียวกับที่เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำก็รู้สึกว่าโลกนี้ยังมีความเป็นธรรม เพราะผู้กระทำต่อตนได้รับผลระดับหนึ่ง

ส่วนความยุติธรรมของผู้กระทำในทัศนะของป้าก็คือ หลังคำพิพากษา กระบวนการทำงานต้องทำให้ผู้กระทำเห็นคุณค่าในตัวเอง มีความหวัง มีศรัทธาต่อตนเอง และถ้าเป็นไปได้หรือสูงสุดของความต้องการของผู้กระทำก็คือ การได้รับรู้ว่าเหยื่อได้ให้อภัยเขา

ขอยกตัวอย่างให้ฟังอีกเรื่อง ซึ่งอาจจะตอบคำถามนี้ได้บ้าง วันหนึ่ง เรามีเด็กคนหนึ่งเข้ามาที่บ้านกาญจนาฯ ด้วยคดีฆ่า ตอนที่เขามาใหม่ๆ เราก็รู้ได้ว่าเขาเป็นเด็กแรงๆ และคงแรงเพิ่มขึ้นหากเราไม่คลายปมบางอย่างให้เขา ในช่วงใกล้ๆ ปล่อยตัวหลังผ่านสามปีไปแล้ว เขาไปขึ้นพูดที่เวทีสาธารณะกับป้า

วันนั้นเขาเริ่มพูดด้วยคำว่า เขามาจากบ้านที่พ่อใช้ความรุนแรง เป็นเด็กอาชีวะนะครับ และมาด้วยคดีฆ่า แม่ทิ้งเขาและพ่อไป แล้วหลังจากแม่ทิ้งไปความรุนแรงทั้งหมดก็มาลงที่เขา ซึ่งเขาเติบโตมาในบ้านแบบนี้ และสุดท้ายก็ได้ลงเอยที่บ้านกาญจนาฯ ซึ่งบ้านกาญจนาฯก็ทำงานกับพ่อผมโดยไม่ผ่านคนกลาง

เขาใช้คำนี้เลย “บ้านกาญจนาภิเษกทำงานกับพ่อผมโดยไม่ผ่านคนกลาง” ซึ่งป้าไม่เคยใช้มาก่อนเลยนะ เขาเป็นคนใช้ก่อน หลังจากนั้นป้าเลยใช้ตาม (หัวเราะ) เขาบอกว่าเขาคิดว่าพ่อเขาเปลี่ยนไปมากหลังจากทำกลุ่ม empower ครอบครัว

เขาบอกว่า ตอนนี้เขาอายุ 21 ปี ตอนที่พ่อมีเขา พ่ออายุ 20 ปี ซึ่งเด็กกว่าเขาตอนนี้ และอาจจะมีบาดแผลอะไรมาก็ได้ ซึ่งตัวพ่อเขาเองก็ไม่รู้ ไม่เคยมีใครเยียวยา แล้ววันหนึ่งเขาก็มาเป็นพ่อคน และผมก็กลายเป็นผลลัพธ์ของผู้ชายคนนั้น นึกออกไหมคะ เขาไม่รู้ว่าให้อภัยมันต้องทำอย่างไร ต้องมีอะไร แต่เขาไม่โกรธพ่อเขาแล้ว ซึ่งป้าเข้าใจว่าความรู้สึกแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เขาต้องเห็นคุณค่าของตัวเองก่อน จากนั้นพันธนาการอื่นๆ จึงจะคลายตาม

ถ้าได้พูดคุยทำความเข้าใจต่อไป แต่เขายังเลือกเกลียดพ่อตัวเองอยู่ เขารู้สึกได้ไหม

ก็คงได้ เพราะเขาคือมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์ และการพูดคุยของเราเพียงเพื่อจะทำความเข้าใจ เพื่อหาทางเยียวยาหาทางอยู่ร่วมกัน ซึ่งหลังจากเขาเข้าใจพ่อของเขา ถ้าเขาจะยังเกลียดอยู่ มันก็ยังเป็นทางเลือกของเขาอยู่นะ แต่การสื่อสารที่เราได้สื่อไป มันทำให้เขาเห็นทางเลือกที่มากกว่าหนึ่งทาง นั่นคือเขาอาจจะเกลียดพ่อต่อไป แต่เขาเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์มากขึ้น

แต่กรณีที่ว่านั้น เป็นความรู้สึกว่าให้อภัยตัวเอง อันเกิดจากความเข้าใจที่มาที่ไปของตัวเอง แต่ยังไม่ใช่การให้อภัยจากผู้ที่ถูกกระทำ?

ใช่ ในบางเคสจำเป็นต้องสื่อสารกับเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำด้วย แต่ความจริงคือเรามีข้อจำกัดในการเข้าถึงผู้ถูกกระทำ รวมถึงรูปแบบการเข้าถึงผู้กระทำก็สำคัญและละเอียดอ่อนมาก โดยหลักการ

เราไม่สามารถเดินไปบอกกับเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำว่าช่วยมาให้อภัยเด็กของเราที และยิ่งทำไม่ได้เลยถ้าเราไม่ทำงานกับผู้กระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราอย่างหมดจดเต็มที่ เพราะไม่เช่นนั้นเท่ากับเรากำลังซ้ำเติมเหยื่อ แล้วก็เป็นวิธีที่สิ้นคิดมาก และมันก็ไม่ใช่วิธีคิดของเราแน่ๆ ถ้าเราคิดแบบนี้ แสดงว่าเราต้องหลงทาง

อยากจะยกตัวอย่างเคสที่หนักๆ อย่าง คดีปาหิน คุณโจ้ ม๊กจ๊ก (สมชาย จันทร์เจือ) เสียชีวิต กรณีนั้นเป็นข่าวอยู่หลายวัน และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ปาหินไม่ว่าจะเกิดที่ไหน นักข่าวจะเชื่อมโยงกลับมายังคดีนี้ทุกครั้ง เคสนี้เป็นการผลิตซ้ำอย่างไม่เมตตาของสื่อเลยทีเดียว

ซึ่งเคสนี้แม้ว่าวิธีคิดของผู้กระทำที่อยู่กับเราจะแข็งแรง พฤติกรรมก็นิ่งดีแล้ว วุฒิภาวะก็เหมาะสม แต่ความผิดที่รู้กันทั้งเมืองและถูกผลิตซ้ำ ก็ทำให้ผู้กระทำขาดความมั่นใจ ขาดพลังใจที่จะออกจากเงามืด วิธีคิดที่จะคืนผู้กระทำกลับสู่บ้านและสังคมได้อย่างปกติสุขจึงเกิดขึ้น แต่คำชี้ขาดอยู่ที่เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ แน่นอนมันไม่ง่าย เพราะผู้ถูกกระทำแต่ละคนย่อมมีระดับความทุกข์โศกไม่เท่ากัน แต่ในฐานะคนทำงาน เราจะวางเฉยหรืออุเบกขากับเรื่องพวกนี้ง่ายๆ ไม่ได้

สุดท้ายป้าติดต่อไปที่ คุณจอห์น ม๊กจ๊ก (ศุภาพิชญ์ บัวติ๊ก) ภรรยาของผู้ตาย เพื่อแนะนำตัวเองและบอกเล่าที่มาที่ไปของผู้กระทำและขอให้คุณจอห์นพิจารณาเรื่องการพบกับผู้กระทำและทางออกที่ดีต่อทุกคน แรกๆ คุณจอห์นก็ไม่สะดวกใจ ไม่พร้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ สุดท้ายเราไม่ได้พูดเรื่องนี้กันอีก แต่ก็ยังติดต่อกับเธออย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม แต่เป็นหนึ่งปีที่เราไม่พูดเรื่องการพบกับผู้กระทำหรือการให้อภัย เพียงแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามสถานการณ์ ท้ายที่สุดคุณจอห์นส่งเมสเสจมาว่าเขาอยากจะให้อภัยเด็กคนนั้นแล้ว เขาต้องทำอะไรบ้าง

สำหรับผู้กระทำ ผู้ละเมิดชีวิตผู้อื่น ความรู้สึกอิสระ ความรู้สึกเป็นไทที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากคำพิพากษาที่ว่าคุณเป็นอิสระแล้ว แต่มันอยู่ตรงที่เหยื่อของเขา ได้ให้อภัยเขา เมตตาเขา และแน่นอนว่า กว่าที่เราจะพาเขาไปสู่จุดที่เขาได้พบเหยื่อ เราต้องทำงานกับเด็กที่เป็นผู้กระทำอย่างหนัก ไม่งั้นเราเอาเปรียบเหยื่อมาก เราทำเช่นนั้นไม่ได้ เราไม่กล้าทำ

ป้าจำอารมณ์ตัวเองได้ในวันที่เดินไปหา คุณจอห์น มกจ๊ก จำได้ว่าในความกังวลใจมากมายนั้นป้าก็มีความกล้าและมั่นใจมากที่จะพูดว่า หนุ่มน้อยที่อยู่กับเราเขาไม่ใช่เด็กคนเดิมแล้ว เขารู้สึกผิด และเขาต่างจากเด็กคนนั้นคนที่เอาหินปาสามีคุณอย่างมาก เราต้องมั่นใจถึงขนาดนั้นให้ได้เลยนะ

มีไหมที่พยายามแล้ว แต่คู่กรณีไม่สามารถให้อภัยได้จริงๆ

ต้องมีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าผู้ถูกกระทำไม่พร้อมที่จะให้อภัยผู้กระทำ แต่หน้าที่ของเราคือการทำงานกับผู้กระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบให้สุดฤทธิ์สุดเดช สุดไม้สุดมือ ตามหลักคิดและความเชื่อของเรา

มีอยู่เคสหนึ่งซึ่งเราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะติดต่อกับผู้ถูกกระทำ เพราะเราเห็นว่าเด็กของเรา (นิ่งคิด) จะพูดว่าอะไรดี เขาเหมือนมีภาระในใจบางอย่าง แต่คู่กรณีไม่พร้อมพบ ซึ่งเด็กก็ทราบ และบอกกับป้าว่า ถ้าเขาให้อภัยผมก็ดีครับ แต่ถ้าเขาไม่ให้อภัยผมก็เข้าใจ เพราะว่าสิ่งที่ผมทำนั้นไม่ถูกต้อง และผมก็ไม่มีทางที่จะกลับไปเป็นคนคนนั้นอีก

คือคนนี้เขาเจ๋งมากแล้วตอนนี้ ถึงแม้ว่าครอบครัวของเหยื่อจะไม่ให้อภัยเขา เราก็ต้องทำให้เขาประคองตัวเองข้ามเส้นนั้นจนไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ใจคลีนให้ได้ ป้าคิดว่ามันยังมีช่องทางทำงานอีกมาก การให้อภัยของผู้ถูกกระทำมีผลต่อจิตใจของผู้กระทำค่อนข้างชัดเจน แต่ถ้ามันไม่ได้จริงๆ หน้าที่ของเราคือต้องหาช่องทางที่สอง ต้องมีประตูอีกบานหนึ่งให้เราออกไป เราคงยอมจำนนกับเรื่องพวกนี้ง่ายๆ ไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดเราก็ต้องถ่ายทอดความรู้สึก เหตุผลของเหยื่อเพื่อทำให้หลานชายของเราเข้าใจเงื่อนไขเหล่านี้ให้ได้

บ้านกาญจนาฯ มีพิธีกรรมขอขมาเชิงสัญลักษณ์ในวันสันติภาพ หรือวันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คืออะไร

พิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์นี้เป็นแผนสำรองสำหรับกรณีที่เราไม่สามารถพาผู้ถูกกระทำมาพบกับผู้กระทำได้ ซึ่งมันพัฒนามาจากเรื่องของ ‘ใหญ่’ กับ ‘เล็ก’

จากข้อเท็จจริงที่ว่า เล็กต้องคดีฆ่าผู้ใหญ่ทีเดียวพร้อมกันสองคน จึงเข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯก่อน ต่อมา ใหญ่ ซึ่งเป็นลูกชายของเหยื่อหนึ่งในสองที่เล็กฆ่า ตามเข้ามาในภายหลัง ใหญ่มาด้วยคดีปล้นและเวียนเข้าออกสถานพินิจฯต่างๆ เป็นรอบที่สี่แล้ว ซึ่งตอนที่ใหญ่เข้ามา ป้าไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน มาทราบจากเล็กในวันที่รับใหญ่เข้ามาแล้ว เล็กได้เข้ามาเล่าเรื่องทั้งหมดให้ป้าฟัง ประมาณว่าใหญ่ชี้หน้าเขาและบอกว่า “กูมาเอามึง” ซึ่งเล็กเสนอว่า เขาควรจะย้ายจากบ้านกาญจนาฯหรือไม่ เพื่อไม่ให้บ้านกาญจนาฯเดินเข้าสู่ความรุนแรง แต่ป้ายืนยันว่า น่าจะมีทางออกอื่น

คืนเดียวกันนั้น เพื่อนสนิทของใหญ่ก็เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มว่า “ใหญ่มันเอาแน่นะป้า” เบื้องต้นป้าออกแบบให้เจ้าหน้าที่ดูแลระยะห่างระหว่างเล็กกับใหญ่เป็นพิเศษ เพราะเข้าใจว่าปัญหานี้แก้ไม่ได้ด้วยการบอกหรือสั่งให้เขาอยู่อย่างสงบ มันต้องการกระบวนการอะไรบางอย่าง และต้องรีบทำด้วย แต่ในการปิดห้องคุยกับเด็กใหม่ในรุ่นนี้ ซึ่งมีใหญ่ร่วมอยู่ด้วย ทุกคนรับรู้ถึงจุดดีของบ้านกาญจนาภิเษก โดยเฉพาะความเป็นอิสระ ปลอดภัย การติดต่อกับครอบครัวสะดวกไร้ข้อจำกัด หลังจากนั้นเพื่อนสนิทของใหญ่กลับมาบอกป้าว่า ใหญ่มีท่าทีอ่อนลง แต่ลั่นวาจาไปแล้วว่าแค้นนี้ต้องเอาคืน ซึ่งการรับรู้ท่าทีใหม่ของใหญ่เป็นข่าวดีมากในช่วงเวลาที่จำกัด ทางออกที่จำกัด

เรารับใหญ่และเพื่อนๆ รวม 51 คน ในวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น คือวันที่ 16 สิงหาคม ตามปฏิทินไทยเป็นวันสันติภาพพอดี เราจึงคิดกันว่าเราต้องใช้วันสันติภาพจัดงานให้ใหญ่ลงจากหลังเสือให้ได้ โดยก่อนหน้านั้นเราได้พูดคุยกับพ่อของเล็ก ซึ่งเชื่อมั่นเราเต็มเปี่ยม เนื่องจากเล็กอยู่กับเรามานาน และคุณย่าของใหญ่ที่ยังไม่มั่นใจกับเราเท่ากับพ่อของเล็ก เพื่อขอความร่วมมือกับเป้าหมายตรงๆ ในนาทีร้อนๆ นั้นก็คือ หยุดการล้างแค้นก่อน สุดท้ายพิธีนั้นก็ผ่านไป อาจจะไม่ได้ทำให้ตะกอนในใจของใหญ่หายไปทันที แต่อย่างน้อยมันช่วยให้ใหญ่หยุดจังหวะกระโจนเข้าไปล้างแค้นเล็กตามที่ลั่นวาจาไว้ จากนั้นเราก็ค่อยต่อยอดการทำงานกับทั้งคู่ภายใต้กระบวนการของบ้านกาญจนาฯ ต่อไป

หลังจากงานสันติภาพระหว่างเล็กกับใหญ่จบลง สมุดบันทึกก่อนนอนของเด็กๆ ก็ระงมไปด้วยความต้องการที่จะมีโอกาสขอโทษเหยื่อบ้าง เราเลยยึดค่ำคืนของวันที่ 16 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันขอขมาเหยื่อ เพื่อเยียวยาความผิดพลาดให้กับลูกหลานของเรา ส่วนกลางวันก็เป็นงาน ‘สู่เหย้า’ ของเด็กเก่าที่ปล่อยไปแล้ว

กิจกรรมในคืนนั้น มีอะไรบ้าง

ในวันงานเราจะจุดเทียนให้เต็มบ้านเลย แต่ก่อนเด็กจะเดินตามเทียนเข้าสู่งาน เขาต้องมีการวิเคราะห์กรณีของเล็กกับใหญ่ ต้องอ่านบทความ อ่านอะไรหลายอย่าง จนความรู้สึกกระตือรือร้นของเขาสูงมาก พอเขาเดินเข้ามาที่ลานกิจกรรม เขาจะพบว่าทุกที่นั่งเขามีกะลา พร้อมการ์ดสองใบ เทียน ธูป พอเขานั่งกันพร้อมหน้าพร้อมตา พระสงฆ์จะชวนเขาท่องบทภาวนาประมาณหกนาที บทภาวนานั้นจะพูดถึงด้านมืดในจิตใจมนุษย์ จุดหนึ่งจะพูดถึงผู้เสียหาย และพูดถึงว่า ในนาทีนี้ผู้เสียหายได้มานั่งอยู่ตรงหน้าอย่างสงบ

ในหกนาทีนั้นมันเงียบมาก ได้ยินเพียงเสียงพระกับบทภาวนา ซึ่งพอจบหกนาทีนั้น พระจะชวนเด็กๆ หยิบการ์ดหนึ่งใบ แล้วให้เขียนสิ่งที่อยู่ในใจต่อเหยื่อ เอาการ์ดใบนั้นเสียบใส่กะลา แล้วนำไปลอย เมื่อเรียบร้อย พระท่านจะชวนเด็กสวดบทภาวนาที่สอง พูดถึงจิตวิญญาณที่เป็นเสรี พูดถึงความฝันของวันพรุ่งนี้ แล้วเขาจะเขียนมันลงไปในการ์ดอีกไปที่เป็นรูปหัวใจ แล้วนำการ์ดไปแขวนไว้ที่เครื่องปฏิมากรรมที่เตรียมไว้ ฉากสุดท้ายคือ เด็กๆ ลอดซุ้มที่เราเตรียมไว้ เราจะโปรยดอกไม้ในซุ้มเพื่อต้อนรับจิตวิญญาณที่เกิดใหม่ของพวกเขา กิจกรรมจะจบลงที่การผูกข้อไม้ข้อมือ

เด็กจะขึ้นนอนตอนตีหนึ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะไปลากเอากะลาที่ลอยไว้นั้นมาเก็บไว้ ทำไปด้วยสองเหตุผล คือ หนึ่ง-เราไม่อยากให้เขาตื่นเช้ามาแล้วเห็นว่าการ์ดนั้นมันเป็นขยะที่ลอยอยู่ในน้ำ สอง-เราอยากรู้ว่าเด็กๆ พูดถึงใคร และจะพบว่าทุกใบของเด็กๆ มีชื่อที่เขาเคยฆ่า เด็กบางคนเขียนถึงว่า

“ทุกครั้งที่หลับตา ผมเห็นแต่ภาพวันนั้นนะครับ ได้โปรดให้อภัยผมด้วย”

พิธีกรรมนี้แม้จะไม่มีเหยื่อตัวจริงมานั่งตรงหน้าและบอกให้อภัย แต่เราเห็นว่าสำหรับผู้กระทำ เขารอคอยวันนี้อย่างมาก เห็นได้ชัดว่าหลังจากกิจกรรมนี้ เด็กๆ ดูจะอ่อนลงอย่างมาก สำคัญก็คือ วันนั้นเราจะชวนพ่อแม่ของเด็กๆ มาด้วย เพื่อที่จะเข้าใจว่าเด็กๆ กำลังล้างใจนะ และคุณต้องไปคู่กับเขา ไม่ใช่การหยิบเรื่องราวในอดีตมาซ้ำในรูปแบบอื่นๆ ไม่ได้โดยเด็ดขาด มันถึงจะไปสู่ทางออกของทุกคน

เคยมีเด็กที่ผ่านพิธีกรรมนี้ แต่รู้สึกว่าภาระความผิดบาปในใจยังไม่ถูกชำระไหม

มีเคสหนึ่งเด็กเขียนการ์ดหลังฟังบทภาวนาจบลงว่า “ทุกครั้งที่ผมหลับตา ผมเห็นแต่ภาพวันนั้นนะครับ ได้โปรดให้อภัยผมด้วย” ป้ากับเด็กคนนี้เคยไปเวิร์คช็อปด้วยกัน ในวันนั้นเขาพูดกับผู้ฟังในวงเล็กๆ ของเขาว่า “ถ้าผมโตกว่านี้ ผมจะทำอะไรเพื่อพวกเขาให้มากกว่านี้”

ป้าคิดว่าเขาอาจจะยังไม่สามารถรวบรวมคำพูดได้ครบถ้วน ว่าเขารู้สึกอย่างไรนะ แต่ในสายตาของป้า เขายังอยู่ในพันธนาการและยังแบกความรู้สึกผิดเอาไว้

ป้าคงไม่สามารถทำได้กระจ่างทุกกรณี แต่เชื่อมั่นว่าพิธีกรรมขอขมาเหยื่อเพื่อเยียวยาความผิดพลาดสามารถขัดเกลาความผิดพลาดในใจของเขาให้บางลงได้ และส่วนใหญ่มีขวัญ มีพลัง ที่จะเดินทางต่อไป แต่…เด็กบางคนยังต้องรับผลจากการกระทำในวัยเยาว์นั้นต่อไปอีกนาน

แต่ความเข้าใจและรู้สึกผิด ได้เกิดขึ้นแล้ว?

แน่นอน (เน้นเสียง) ป้าจะบอกกับเด็กเสมอว่า ป้าไม่เชื่อว่าเขาอยากเป็นแบบนี้

แต่สิ่งที่เขาต้องรู้ คือเหยื่อของเรา ครอบครัวของเขา ต้องเผชิญกับความทุกข์โศกอันยาวนาน เพราะชีวิตหนึ่งคนถูกพรากไปจากครอบครัวของเขา เพื่อให้เขาทราบว่าความทุกข์ของเหยื่อมีอยู่จริง ย่อยสลายยาก และไม่ใช่หน้าที่ป้าเท่านั้นที่จะไปเที่ยวเดินบอกขอให้ใครมาให้อภัยพวกเขา

แต่เป็นหน้าที่ของพวกเขาด้วยเหมือนกัน ที่สำคัญการสื่อสารกับเหยื่อก็ทำได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ซึ่งป้าคิดว่านั่นเป็นวิธีการหนึ่งในการเยียวยาเหยื่อ ไม่อย่างนั้นการให้โอกาส การสร้างพื้นที่ที่มีความหมายก็มีค่าไม่ต่างจากสปอยล์เขา ขณะที่เขาก่อคดีอายุของเขายังน้อย เขายังไม่รู้ผิดชอบชั่วดีมากพอ หรือถูกบ่มเพาะให้ต้องผลักด้านร้ายๆ ออกมา แต่ถ้าเราเอาแต่พูดว่าเพราะเขายังเด็ก จึงมีความชอบธรรมในการทำเรื่องแบบนี้ ป้าคิดว่าวิธีการนี้ถูกเพียงครึ่งเดียว และจะส่งผลต่อสำนึกต่อระบบคิดของเขาในระยะยาว ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีคิดของเรา

ในความคิดของป้ามันต้องสื่อสารทั้งสองอย่าง และรักษาสมดุลให้ได้ ระหว่างที่เราสะท้อนความเข้าใจในตัวเขา ไม่ซ้ำเติม ไม่ตัดสินเขา เราก็ต้องพูดให้ชัดถึงความทุกข์ของเหยื่อด้วย ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ที่นี้เรามักนำกรณีศึกษา อาจเป็นข่าวหรือเรื่องของใครสักคนในพื้นที่สาธารณะ กางออกมาพิจารณาดูและเราจะพูดคุยกันอย่างระมัดระวังมากๆ โดยเฉพาะการไม่ซ้ำเติมผู้กระทำ ร่วมกับความสูญเสียและทุกข์โศกของผู้ถูกกระทำ

ในพื้นที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นร้อนๆ เราจะกำหนดกติกากันว่า เราจะพูดคุยและแสดงความคิดเห็นกันอย่าง “จริงใจต่อความรู้สึกของตัวเอง แต่ไม่ทำให้ด้านมืดแข็งแรง” กระบวนการนี้ โดยเฉพาะผ่านการเขียน มันจะทำให้เขาพิถีพิถันและมีจังหวะฉุกคิดมากขึ้น ซึ่งจากเดิมอาจโพล่งออกมาด้วยความคิดของตัวเองล้วนๆ และเป็นความคิดในเชิงตัดสิน ความคิดดิบๆ หยาบๆ ซึ่งก็จะถูกขัดเกลาตามวันเวลา และบนหลักคิดที่ชัดเจนว่าต้องไม่ให้ด้านมืดของเราแข็งแรง

เวลาที่เราใช้ชีวิตกับเด็กด้วยลีลาแบบนี้ มันทำให้เด็กรู้สึกได้ว่าเราไม่ตัดสินใครง่ายๆ นั่นหมายถึงเขาก็จะไม่ถูกตัดสินด้วยเช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้ โดยไม่รู้ตัวทำให้เขาไม่รู้สึกว่าเขาผิดจนถอนตัวไม่ได้ คือจะมีสมดุล รู้ผิดชอบชั่วดี เข้าถึงกติกาของสังคม มีวิจารณญาณ มี self-control ขณะเดียวกันก็มั่นใจว่าผู้ใหญ่ไม่มีทางซ้ำเติมเขา ซึ่งเส้นแบ่งตรงนี้มันค่อนข้างบาง

กระบวนการนี้สำคัญมาก เพราะจากประสบการณ์ที่เคยไปช่วยเด็กในสถานควบคุมที่ไม่มีกระบวนการเปลี่ยน mind set และปกครองด้วยอำนาจอย่างเข้มข้น เด็กจะมองเหยื่อเป็นคู่อาฆาต ถ้าเราลองชวนคุยถึงชีวิตของเหยื่อ เขาก็จะมีคำโต้แย้งประมาณว่า “ก็เพราะเหยื่อเป็นอย่างโน้น เป็นอย่างนี้ เขายั่วผม มันทำผม”

แต่เด็กบ้านกาญจนาฯ ที่ผ่านกระบวนการทำงานที่ไม่เน้นอำนาจแนวดิ่ง แต่เปลี่ยน mind set  เขาจะไม่พูดแบบนี้ เขาจะรู้ว่าต่อให้มีโอกาสอย่างไรก็ไม่มีใครมีสิทธิ์ทำให้ใครตาย

คนที่เป็นผู้กระทำ มีสิทธิ์ให้อภัยตัวเองไหม

ป้าขอตอบด้วยเคสนี้นะ วันหนึ่งป้าไปพูดให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งผู้ฟังเกือบ 300 คน จากนั้นไม่กี่วันมีจดหมายฉบับหนึ่งส่งมาถึงป้า เธอบอกว่า เธอคือผู้ฟังหนึ่งในนั้น เธอเคยถูกละเมิดทางเพศตอนเป็นนักศึกษาโดยเพื่อนนักศึกษา

เธอเคยไม่ชอบตัวเอง โกรธตัวเอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แย่มาก แต่เมื่อเธอลองให้อภัยตัวเอง หามุมดีมุมงามของตัวเอง เธอรู้สึกมีเรี่ยวแรง มีกำลังใจ เธอบอกว่าวิธีของป้าที่ให้เด็กๆ ที่เคยก่อคดีเห็นมุมดีมุมงามของตัวเอง และยังไปถึงการเห็นความทุกข์ ความเศร้าโศกของเหยื่อ นั้นใช่เลย ลงตัวมาก

คุณจอห์น ภรรยาของ คุณโจ๊ ม๊กจ๊ก พูดอยู่คำหนึ่งในรายการ คนค้นฅน ในฐานะผู้ถูกกระทำ และเคลื่อนย้ายตัวเองสู่ผู้ให้อภัย คุณจอห์นเขาส่งคลิปมาให้ป้า และบอกว่าอยากให้ป้าดู ในคลิปพิธีกรถามเธอว่า รู้สึกอย่างไรที่ให้อภัยคนที่ฆ่าสามี คุณจอห์นบอกว่า หลังจากที่เราให้อภัยเขาได้แล้ว เราพบว่าการก้าวเดินมันเปลี่ยนไป มันไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่เหมือนเดินอยู่ในโคลนตม มันเหนื่อย  มันหนัก แต่วันนี้เป็นก้าวที่เบาและสบายขึ้น

คือเราอาจใช้อธิบายในทุกกรณีแบบเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่สำหรับเรา การที่เหยื่อได้ไปถึงการให้อภัยเท่ากับได้ปลดปล่อยความคิดผูกพยาบาทของตัวเราเอง หรือนำมันไปเก็บไว้ในอีกที่หนึ่ง แล้วเดินจากไป ส่วนผู้กระทำจะได้รับผลอะไรจากการให้อภัยของเรา หรือจะได้หรือไม่ได้ ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้กระทำ แต่ผู้ถูกกระทำที่ได้เป็นผู้ให้อภัยได้แน่ๆ หลังจากเคยสูญเสีย และจมอยู่กับความสูญเสียจนเกือบเสียศูนย์

กระบวนการส่วนหนึ่งได้ชำระภาระนั้นกับผู้กระทำและผู้ถูกกระทำแล้ว จะมีวิธีการชำระความผิดกับสังคมอย่างไร เพราะเหตุการณ์ทางสังคมบางอย่าง อาจถูกจัดเป็นประเด็นสาธารณะ

เราคงแก้ทั้งหมดระหว่างที่เด็กอยู่กับเราปีครึ่งถึงสามปี ห้าปี ไม่ได้ แต่กระบวนการทำงานของบ้านกาญจนาฯ เอื้อให้เด็กเห็นทุกห่วงโซ่ชัดเจน เช่น เรามีการนำข่าวมาพูดคุยแลกเปลี่ยน รวมถึงประเด็นผู้กระทำความผิด ที่ไม่ได้รับการให้อภัยจากสังคม หรือสังคมยังไม่ให้พื้นที่ ทั้งหมดนี้เรากลับมาตั้งคำถามกับเด็กๆ ว่า ในฐานะผู้มีอดีตร่วมกัน เขาคาดหวังอะไร หรือเขาจะเชื่อมั่นไปกับบ้านกาญจนาฯ ที่ว่า เราพร้อมจะพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง โดยผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ

เช่น จิตอาสาในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ  อบต.บางม่วง  บ้านน้ำเค็ม โคลนถล่ม อำเภอลับแล ปลูกถั่วบนภูหลง เล่นดนตรีเปิดหมวก ช่วยคนพม่าตอนพายุถล่ม และการกลับบ้านทุกสิ้นเดือน ครั้งละสองวันสามคืน ซึ่งต้องกลับไปเจอกับคนข้างบ้านเดิมๆ สิ่งแวดล้อมเดิมๆ เช่น

เคยมีเด็กเขียนบันทึกก่อนนอนว่า ครั้งที่เขากลับบ้าน คนข้างบ้านตะโกนให้ได้ยินว่า “โจรมาแล้ว ระวังกันนะ” นึกภาพออกใช่ไหมคะแต่สิ่งที่เขาผ่านและเขียนก็คือ ถ้าเป็นเมื่อก่อน ป้าคนนี้คงโดนเหมือนกัน แต่ตอนนี้ผมคิดว่าผมเลือกจะพิสูจน์ตัวเองดีกว่า 

การทำงานทางความคิดหรือการเปลี่ยน mind set ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนพฤติกรรมแบบใช้อำนาจภายนอกไปควบคุม บังคับ มันช่วยหยุดตัวเองได้ระดับหนึ่ง คือเด็กจะไม่รีบกระโจนเข้าไปในเหตุการณ์ที่ยั่วยุอารมณ์ ไม่รีบผลักด้านมืดของตัวเองออกมา mind set ที่เปลี่ยนไปจะทำให้เด็กเชื่อว่าการถอยคือ ความสง่างาม นั่นหมายความว่า เด็กๆ มีความพร้อมต่อแรงกดดันของสังคม ด้วยการ empower ตัวเอง แต่นี่คือการพูดเฉพาะการให้อภัยจากสังคมในเชิงจิตใจใช่ไหมคะ เพราะกลไกทางสังคมในเชิงระบบ หรือเงื่อนไขกฎหมายก็เป็นอีกปมหนึ่งที่สำคัญหรือจะเรียกว่า dead lock ก็ได้ เช่น การลบประวัติอาชญากรรม การพิจารณาจ้างงานจากทะเบียนประวัติอาชญากรรม อย่างนี้เป็นต้น และหนึ่งในนั้นคืองานในภาคราชการเองที่ยังปิดตายสำหรับผู้กระทำที่พลัดหลงเข้าไปในกระบวนการยุติธรรม

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า