ประสบการณ์, หยดภาพ, และการจดจำ บันทึกการเยี่ยมชมนิทรรศการ f a l l (1)

กว่า 2 ทศวรรษแล้ว เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาภูมิศาสตร์ในช่วงปริญญาตรี ผมจัดอยู่ในกลุ่มที่สนุกกับการออกสนามและมีความสามารถจดจำสภาพภูมิศาสตร์ พรรณพืช และชั้นบรรยากาศได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะการก่อตัวของหมู่เมฆประเภทต่างๆ ผมมีความสุขกับการแหงนหน้ามองไปบนฟ้ากว้างพอกับการเดินขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อมองลงมายังผืนป่าอันกว้างใหญ่ ทั้งนี้ยังไม่นับการออกสำรวจด้วยตัวเองอีกนับครั้งไม่ถ้วน  

ที่เขียนมานี้ ไม่ได้โอ่ถึงความเก่งกาจหรือชำนาญการแต่อย่างใด ในทางกลับกัน เพื่อนส่วนใหญ่มักเปรยให้ฟังว่าผมพาพวกเขาหลงทางตลอด ทั้งที่มีทั้งแผนที่ เข็มทิศ และเครื่องมือทันสมัยอยู่ในมือ ประหนึ่งระบบนำทางของผมมีปัญหาที่พวกเขาและตัวผมเองเองก็ไม่เข้าใจ

เวลาผ่านไปนานพอสมควร ผมจึงพอเห็นร่องรอยของประสบการณ์บางอย่างที่พอจะตอบได้บ้างในตอนนี้

ผมสนุกกับการเดินเสาะหารายละเอียดรายทางหรือในพื้นที่หนึ่งๆ มากกว่าการไปสู่ปลายทาง พูดให้ง่ายขึ้นคือการเดินในสนามคือเป้าหมาย ผมสามารถอยู่กับการเดินและการเดินทางได้อย่างยาวนาน สำหรับผมการเดินและการเดินทางไม่ได้หมายถึงการออกจากสถานที่หนึ่งไปสู่สถานที่อีกแห่งเพียงอย่างเดียว แต่มันคือ ห้วงขณะ (moment) สำคัญในความสัมพันธ์กับพื้นที่ สภาพแวดล้อม และการก่อรูปขึ้นมาของประสบการณ์ชุดต่างๆ ของตัวผมเอง  

ในโลกสมัยใหม่ ‘เวลา’ เป็นสิ่งสำคัญ ประกอบไปด้วยคุณค่าและมูลค่า สังคมสมัยใหม่จึงมักกำหนดช่วงเวลาขึ้นมาเพื่อควบคุมกิจกรรมการสร้างผลิตผลต่างๆ บ้างก็พยายามคิดค้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ขึ้นมา เพื่อสร้างอัตราเร่งและการผลิตมากขึ้นในช่วงเวลาที่เท่าเดิม กระนั้น การเดินและการเดินทางที่ไม่ยี่หระกับช่วงเวลาหรือปลายทางแต่ให้ความสำคัญกับ ‘ห้วงขณะ’ จะเป็นเช่นไร การเดินและการเดินทางที่ปล่อยให้ชีวิตของเราเป็นเสมือนเรือนร่างที่ไหลเวียนไปในพื้นที่ต่างๆ ให้ชีวิตดำรงอยู่ในสถานะชั่วคราวและตัดข้ามผ่านไปในแต่ละพื้นที่ การดำรงอยู่ในการณ์นี้เป็นอย่างไร 

นอกเหนือไปจากลักษณะทางภูมิศาสตร์และชั้นบรรยากาศแล้ว งานแสดงทางศิลปะก็เป็นหนึ่งในปริมณฑลประเภทหนึ่งที่มีส่วนกระตุ้นเร้าให้เกิดห้วงขณะดังกล่าว

วันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมนิทรรศการของ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ที่จริงใจแกลเลอรี เชียงใหม่ นิทรรศการนี้มีชื่อว่า f a l l ผมเลือกไปในช่วงเช้าก่อนเวลาเปิดของแกลเลอรีเล็กน้อย และนั่งรออยู่ข้างหน้าอย่างจดจ่อ ในฐานะผู้ชม ผมไม่ชอบการไปดูศิลปะในวันเปิดงานเท่าไรนัก เนื่องจากมันมีบรรยากาศอื่นที่กระตุ้นเร้าจนไม่สามารถใส่ใจกับผลงานของศิลปินได้ และเท่าที่ติดตามผลงานของนิพันธ์มาระยะหนึ่ง ผมคิดว่างานของเขาเหมาะกับการชมแบบค่อยๆ ละเลียดไปในรายละเอียด โดยเฉพาะตอนแกลเลอรีเปิดใหม่ๆ น่าจะเป็นโมงยามที่ดี เพราะมันเงียบ ไร้คน ไร้นักท่องเที่ยว มีแค่ตัวเรากับงานเผชิญหน้ากัน นี่เป็นความรื่นรมย์ส่วนบุคคลมากๆ ไม่ใช่บรรทัดฐานในการดูงานศิลปะ  

f a l l ของนิพันธ์เป็นนิทรรศการที่ถูกเล่าและนำเสนอผ่าน 4 องค์ประกอบสำคัญ เมื่อผมเปิดประตูเข้าไปภายใน สิ่งแรกที่พบคือลานกว้างขนาดใหญ่ที่ถูกยกพื้นขึ้นมาไม่เกิน 1 ฟุต ปูด้วยแผ่นไม้ขนาดเล็กลักษณะคล้ายแผ่นพื้นบ้านตามชนบททั่วไป หากเราทอดสายตาจากที่ไกลๆ จะเห็นผิวแผ่นไม้เหล่านั้นมีรอยตะปุ่มตะป่ำกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ทว่าเมื่อเราเข้าใกล้มันมากขึ้นและก้มตัวลงเข้าไปดูรายละเอียด ก็พบว่ามันเป็นปุ่มใสๆ ขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร มีภาพถ่ายอยู่ข้างใน 1 ปุ่ม 1 ภาพ กระจายทั่วบริเวณหลายร้อยภาพ คล้ายกับหยดน้ำที่กระจัดกระจายอยู่เต็มพื้น

ด้วยความที่สายตาเริ่มยาว เริ่มมีปัญหาทางการมองเห็น ผมใช้วิธีการคลานดูภาพแต่ละหยด ถอดแว่นดูบ้าง และใช้แอปพลิเคชันแว่นขยายในมือถือช่วยส่องดูบ้าง หยดภาพแต่ละหยดแตกต่างกัน และมีหลากหลายประเภทมาก ทั้งศาลาวัด ตัวอักษรจีน รากไม้ ภูมิทัศน์ พรรณไม้ขนาดเล็ก ดาวแดง ผลไม้นานาชนิด ผู้คนในอิริยาบทและกิจกรรมต่างๆ ภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมือง ตัวอักษรภาษาอังกฤษที่เขียนว่า ‘do it’ หมุดคณะราษฎรหรือหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ และหอนาฬิกา เป็นต้น  

หยดภาพเหล่านี้แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยเพราะน่าจะมาจากต่างบริบทกัน บ้างเป็นขาวดำ บ้างเป็นสี บางภาพน่าจะเป็นภาพเก่าที่สามารถค้นหาได้ทั่วไปในโลกออนไลน์เสียด้วยซ้ำ กระนั้น ผมก็รู้สึกสนุกไปกับการคลานดูภาพแต่หยด และพลันดีใจเมื่อพบกับภาพที่ใช้ซ้ำกัน กระทั่ง เริ่มรู้สึกปวดหลังจึงเหยียดกายลุกขึ้นยืนเพื่อบริหารกาย และเดินไปยังบริเวณส่วนแสดงงานที่ 2 ที่อยู่ถัดไป ขณะที่ยังคงกระหวัดใจคิดถึงหยดภาพต่างๆ อยู่

งานแสดงในส่วนที่ 2 อยู่ถัดจากลานยกพื้น ทว่าตั้งอยู่ในระดับต่ำกว่า จนเรียกได้ว่าต่ำเท่ากับทางเดินทั่วไปในแกลเลอรี ผมยืนเหยียดตรงบริเวณขอบของลานเนื่องจากมีป้ายห้ามเข้าไปในบริเวณของงาน ผู้ชมสามารถยืนและก้มหน้าลงไปดูงานได้อย่างสะดวกสบาย ภาพเบื้องหน้าคือท้องฟ้ากับปุยเมฆสีขาวกางอยู่เต็มพื้นซึ่งมีขนาดย่อมกว่าลานกว้างเล็กน้อย 

นิพันธ์เล่นกับสายตาของผู้ชมได้อย่างน่าทึ่ง จากเดิมที่ดวงตาของเรากำลังจดจ่อกับสิ่งเล็กๆ เพื่อค้นหารายละเอียดภายในภาพแต่ละหยด ทว่างานในส่วนถัดไปของเขากลับทำให้เราเห็นภูมิทัศน์ที่ทำให้เราต้องใช้มุมมองที่ต่างกันสิ้นเชิง ปล่อยให้สายตาเป็นอิสระจากจุดเล็กๆ จุดหนึ่ง ท้องฟ้าของนิพันธ์มีความกว้างใหญ่เหลือเกินหากเทียบเทียบกับหยดภาพแต่ละหยด เมฆที่นิพันธ์วาดคล้ายกับเมฆชั้นต่ำ (ลอยต่ำ) ที่มีไอละอองน้ำในปริมาณสูง มีกระแสอากาศปั่นป่วนอยู่ภายใน และมักเกิดขึ้นในช่วงเช้า หากผมเดาไม่ผิดเมฆชนิดนี้เรียกว่า stratocumulus หรือมวลเมฆสามัญในแบบที่เราเข้าใจกัน และท่ามกลางมวลเมฆของนิพันธ์ได้ปรากฏตัวอักษรขนาดเล็กว่า ‘Then one morning they were found dead and hanged (แล้วเช้าวันหนึ่ง พวกเขาถูกพบเป็นศพและถูกแขวนคอ)’

ผมสารภาพได้อย่างเต็มปากว่าอ่านตัวอักษรไม่ชัดเจนในครั้งแรกที่เห็น อาจเป็นเพราะปัญหาทางสายตาหรือไม่ก็เกิดจากการเล่นกับดวงตาของผู้ชมในงานของนิพันธ์ ทว่าเมื่ออ่านจนได้ความพลันนึกย้อนกลับไปยังเหตุการณ์แขวนคอสองช่างไฟฟ้าที่ประตูแดง จังหวัดนครปฐม ในยุค ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ‘เขา’ ที่ถูกพบนี้คือ คุณวิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ คุณชุมพร ทุมไมย งานชิ้นนี้แสดงครั้งแรกในเทศกาลทางศิลปะ Ubon Agenda ในปี 2563 โดยมีถนอม ชาภักดีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก เสียดายที่ครั้งนั้นผมไม่มีโอกาสไปเยี่ยมชม

ในเวิ้งฟ้ากว้างนั้น นิพันธ์จารึกเรื่องราวทางการเมืองเอาไว้ แม้ในความเป็นจริง สภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศจะมีความผันแปรเคลื่อนไหวตลอดเวลา งานศิลปะของเขากลับทำให้ตัวอักษรมั่นทนและไม่ถูกทับโดยเมฆหรือถูกซ่อนไว้ใต้แผ่นฟ้า ในเวิ้งฟ้ากว้างที่แสนธรรมดาและรู้สึกคุ้นเคยนี้ นิพันธ์ทำให้เราสามารถสำรวจ มองลงไปยังเวิ้งฟ้านั้นแทนที่จะแหงนหน้ามอง ระดับของฟ้าที่อยู่ต่ำกว่าฝ่าเท้าของเรา กลับทำให้เราเห็นความเป็นจริงบางอย่างได้แจ่มชัดมากขึ้น

มันไม่ใช่ฟ้าต่ำดอกเพื่อนเอ๋ย
แต่มนุษย์ไม่นิ่งเฉยในศักดิ์ศรี
เมื่อแผ่นฟ้ามีค่าเท่าผองชีวี
เราจึงเห็นรอยราคีบนฟ้านั่น

(จากบันทึกการเยี่ยมชมนิทรรศการของผู้เขียน, 2 เมษายน 2567)

วิลเฮล์ม ดิลธีย์ (Wilhelm Dilthey, 1833-1911) นักปรัชญาสายปรากฏการณ์วิทยาและการตีความยุคบุกเบิกชาวเยอรมันให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า การมีอยู่ของความเป็นจริงนั้นมาจากจิตสำนึกซึ่งก่อรูปและได้รับมาจากประสบการณ์ (Dilthey, 1976: 161)  ในแง่นี้ มันน่าครุ่นคิดเรื่องการเห็นและไม่เห็นบางสิ่งภายในสังคมของเราซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องของการปิดบังหรือซ่อนเร้นใดๆ แต่เป็นเพราะชุดของประสบการณ์ที่บุคคลนั้นๆ ได้รับและสร้างขึ้นภายในโลกแห่งชีวิตต่างหาก ที่มีส่วนช่วยทำให้เกิดการเพิกเฉยหรือมองแต่ไม่เห็นสิ่งใด แม้กระทั่งความตายหรือความไม่รู้สึกทุกข์ร้อนในความระทมของผู้อื่น 

ประสบการณ์ หรือ Erlebnis ในความหมายของดิลธีย์มีแนวโน้มไปสู่การดำรงอยู่ของชีวิตผ่านสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ เวลา หรือเรื่องราว (lived through) ประสบการณ์จึงเป็นฐานที่มั่นสำคัญของเขาในการทำความเข้าใจปรัชญาแห่งชีวิต (Lebensphilosophie) ฐานะที่เป็นมุมมองที่มีต่อโลกหรือโลกทัศน์ (Weltanschauung) ประสบการณ์มิใช่สิ่งที่ทำให้เราเข้าใจหรือรับรู้โลกเพียงอย่างเดียว แต่มันยังดำรงอยู่ในฐานะการทลายระยะห่างที่เรามีต่อโลก ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในโลกอันเคลื่อนไหว มีลมหายใจ รับรู้ และถูกรับรู้ ควบคู่ไปกับการแยกตัวตนของเรากับโลกเพื่อการตีความและทำความเข้าใจมัน รวมไปถึงการผลักดันโลกให้เคลื่อนที่

สำหรับดีลธีย์ ประสบการณ์มิได้อยู่ในขั้วใดขั้วหนึ่งในคู่ตรงข้ามระหว่างความรู้สึกและเหตุผล แต่มันเป็นเสมือนเหตุผลที่ถูกทำให้เจือจางลงและประกอบไปด้วยความรู้สึก อารมณ์ การระลึกรู้ รวมไปถึงความคาดหวังที่มีต่ออนาคต 

ดังนั้น ประสบการณ์ของมนุษย์จึงเป็นเสมือนการดำรงอยู่ของชีวิตที่เกิดขึ้นผ่านสิ่งต่างๆ และมีบ้างที่ขอบฟ้าของประสบการณ์จะเป็นสิ่งที่จำกัดเงื่อนไขของการแสดงออกซึ่งความเป็นมนุษย์ของเรา ดีลเธย์มีความเห็นว่าการก้าวข้ามหรือสลายขอบฟ้าประสบการณ์ที่คับแคบนั้น สามารถกระทำได้โดยการตีความการแสดงออกเสียใหม่ (Dilthey, 1976: 30) 

งานศิลปะของนิพันธ์ก็กระทำในสิ่งที่คล้ายคลึงกัน งานของเขามีส่วนนำทางเราไปสู่การรับรู้ถึงประสบการณ์ชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการก้มมองแผ่นฟ้าหรือก้มคลานดูหยดภาพแต่ละหยดบนพื้นอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าใจชีวิตธรรมดาของผู้คนที่กระจัดกระจายอยู่เต็มพื้น การกระทำที่แลดูกลับตาลปัตรเช่นนี้มีส่วนช่วยให้เราตั้งคำถามถึงการรับรู้และความเชื่อมโยงของตัวเรากับสิ่งอื่นมากยิ่งขึ้น 

การสลายขอบฟ้าแห่งประสบการณ์ชุดเดิมเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะประสบการณ์ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ตัดข้ามผ่านและซึมซับอุดมการณ์นานับชนิด เป็นทั้งสิ่งที่ผลิตซ้ำความเชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตา และสะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม 

พลังเชิงสุนทรียศาสตร์ในนิทรรศการนี้จึงมิใช่เรื่องของความสวยงาม และ/หรือภาพสะท้อนความจริงแต่อย่างใด มันคือความพยายามปรับเปลี่ยนวิถีแห่งการรับรู้ขึ้นมาใหม่ ให้ผู้ชมมีโอกาสต่อเติมส่วนเว้าแหว่งและทลายกำแพงในขอบฟ้าของตนเองไปสู่การค้นพบประสบการณ์ชุดใหม่ แน่นอน เราไม่อาจคาดหวังว่านิทรรศการหนึ่งๆ  จะมีส่วนช่วยในการผลัดเปลี่ยนประสบการณ์หรือเบิกเนตรผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทว่า อย่างน้อย การทลายขอบฟ้าของตนเองนั้น เป็นกระบวนการสำคัญทำให้สามารถข้ามพ้นกรงของของความเป็นส่วนตัว และเชื่อมต่อไปยังประสบการณ์ของผู้อื่น กระทั่งประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนมีลักษณะร่วมกันและเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนที่ก่อรูปขึ้นมาจนสามารถกำหนดรูปแบบของการกระทำและปฏิกริยาหนึ่งๆ ได้ (Dilthey, 2002: 216-217) เอกภาพของประสบการณ์ชีวิตเช่นนี้ เป็นแรงปรารถนาหนึ่งที่ถูกบอกเล่าในงานนิทรรศการศิลปะของนิพันธ์

ในฐานะผู้สนใจในชั้นบรรยากาศ งานหยดภาพและงานเวิ้งฟ้ามีความเชื่อมโยงกันไม่น้อย แต่ปรากฏออกมาในลักษณะแปลกประหลาด โดยปกติแล้ว ฝนซึ่งเป็นหยาดน้ำฟ้า (precipitation) ประเภทหนึ่ง จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์แนวดิ่งกับชั้นบรรยากาศเหนือพื้นดินและตกลงสู่พื้น กระทั่งความระเหยเป็นไอน้ำและก่อตัวใหม่อีกครั้งบนชั้นบรรยากาศ เวิ้งฟ้าของนิพันธ์กับอยู่ในแนวระนาบ ขณะที่หยดภาพแต่ละหยดก็ช่างคล้ายกับเม็ดฝนเสียเหลือเกิน  

ผมอดคิดไม่ได้ว่าหยดภาพเหล่านี้ตกมาจากไหนกัน ประสบการณ์และชีวิตของสามัญชนร่วงหล่นมาจากที่ใด หากนิพันธ์ไม่ผนึกรักษาเอาไว้มันจะระเหยและหายจากไปหรือไม่ และหากเราไม่เริ่มต้นเก็บรวบรวมกระทั่งประสบการณ์ชีวิตของตนเอง ตัวตนของเราก็อาจสาปสูญไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บรรยากาศที่ไม่เคยสว่างไสวในสังคมไทย

หากหยดภาพร่วงลงมาจากชีวิตของสามัญชน ขอบคุณนิพันธ์ที่ช่วยรักษาหยาดเหงื่อและน้ำตาเอาไว้ในห้วงขณะที่ประสบการณ์เหล่านั้นร่วงหล่นลง

อ้างอิง:
  • Dilthey, Wilhelm. 1976. Dilthey: Selected Writing. Ed. H.P. Rickman. Cambridge: Cambridge University Press.
  • Dilthey, Wilhelm. 2002. Selected Works, Volume III: The Formation of the Historical World in the Human Sciences. Princeton and Oxford: Princeton University Press.

Author

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
อาจารย์ด้านมานุษยวิทยาว่าด้วยสื่อ ผัสสะ และการทัศนา ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผลงานการวิจัยและตีพิมพ์เกี่ยวกับสังคมมลายูในสามจังหวัดภาคใต้และคาบสมุทรมาเลย์ รวมไปถึงผลงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมทัศนาและจิตเวช ปัจจุบันสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในเชิงสุนทรียศาสตร์กับการเมือง กวีนิพนธ์ และการนิพนธ์เรื่องราวผ่านภาพและเสียง ในสังคมไทยและอาณาบริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า