ทวยที่เคารพ! บันทึกการเดินทางขึ้นศาลคดีประเทศทวย

ศาลที่เคารพ การมีอยู่ของข้าพเจ้าในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ (expert witness) วันนี้เป็นอะไรที่ผิดแผกและไม่ควรเกิดขึ้นเลย คดีที่ข้าพเจ้าเกี่ยวข้องนั้น สืบเนื่องมาจากการกระทำของนายพึ่งบุญ ใจเย็น ศิลปินกราฟฟิตีผู้เขียนข้อความ ประเทศทวย ลงในป้ายจราจรบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เขาถูกดำเนินคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 เรื่องการทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์เสียหาย

เบื้องต้น ข้าพเจ้าสามารถสรุปได้ว่าปฏิบัติการของนายพึ่งบุญเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และการถูกดำเนินคดีนั้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันย้อนแย้งระหว่างปฏิบัติการทางศิลปะและสุนทรียศาสตร์ กับการใช้อำนาจบังคับใช้ทางกฎหมายในสังคมไทย  

ดังนั้น เพื่อสร้างความยุติธรรมให้บังเกิดขึ้นอย่างแท้จริง การวินิจฉัยของศาลในวันนี้จึงจำเป็นต้องรับฟังความคิดและอาศัยมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญเป็นสำคัญ ข้าพเจ้าจึงมีความยินดีที่จะสละเวลาในการสอนและทำงานวิชาการ เพื่อมาสนทนากับผู้พิพากษาผู้ได้รับความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนตัดสินข้อพิพาทและความขัดแย้งในสังคม

ในความเข้าใจทั่วไป สุนทรียศาสตร์กับกฎหมายเป็นสิ่งที่เหมือนจะเข้ากันไม่ได้ สุนทรียศาสตร์อาจเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับการรับรู้ อารมณ์ ความรู้สึก และอาจเป็นเรื่องที่ดูเป็นเรื่องส่วนตัว ขณะที่กฎหมายถูกทำให้เข้าใจในลักษณะที่เป็นวัตถุวิสัย มุ่งเน้นหลักการส่วนรวม และการวินิจฉัยนั้นห้ามมีอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว 

ความย้อนแย้งที่ข้าพเจ้าอยากจะสื่อสารคือ หากทั้งสองเป็นดั่งประหนึ่งขมิ้นกับปูนที่ไม่มีวันเข้ากันได้ ผู้พิพากษาน่าจะมีข้อจำกัดในการพิจารณาปฏิบัติการทางศิลปะอยู่ไม่มากก็น้อย แน่นอน ตำรวจผู้จับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาอาจมุ่งเน้นที่ตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยในแง่ของสุนทรียศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในความคิดและความเชื่อส่วนตัว อาจมีผลในเชิงอัตวิสัยและมีอิทธิพลต่อการตัดสินล่วงหน้าภายในความคิดของศาลเอง โดยเฉพาะในคดีความทางศิลปะที่เกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกับการแสดงออกทางการเมือง  

วันนี้ข้าพเจ้าจะอภิปรายในสามประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง ข้อกล่าวหาว่ากราฟฟิตีไม่ใช่งานศิลปะนั้น เป็นความคิดที่ผิด ขัดต่อหลักวิชาการและการยอมรับของสังคมโดยรวม ศาลควรเข้าใจเสียก่อนว่ากราฟฟิตี (graffiti) เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการบันทึกและสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมทุกยุคทุกสมัย graffiti มาจากคำว่า graffiato ในภาษาอิตาเลียน แปลว่าการขีดเขียนหรือการทำให้เกิดร่องรอย นอกจากนี้ยังเป็นคำที่ถูกใช้ในวงการประวัติศาสตร์ศิลปะที่ศึกษาและให้ความสำคัญกับการออกแบบผ่านวิธีการขีดข่วนลงบนพื้นผิววัสดุ นับย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กราฟฟิตีเป็นทั้งการบันทึกและเล่าเรื่องราว กราฟฟิตีถูกแกะสลักไว้บนผนังด้วยวัตถุมีคม บ้างก็ถูกขีดเขียนด้วยชอล์ก ถ่านหิน หรือเขียนด้วยสีตามลักษณะของภาพเขียนสีโบราณตามเพิงถ้ำและหน้าผาต่างๆ

นักโบราณคดีให้การยอมรับว่าผลงานดังกล่าวสะท้อนจินตนาการถึงสภาวะการดำรงอยู่ของคนในสังคมและจินตนาการที่มีต่ออดีตและอนาคต กราฟฟิตีจึงเป็นงานศิลปะที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการแสดงออกที่เรียบง่ายที่สุด เน้นสปิริตในความเป็นมนุษย์ กราฟฟิตียังมีรากทางความคิดมาจากภาษากรีก γράφειν แปลว่า ‘เขียน’

กล่าวอย่างกระชับที่สุด กราฟฟิตีคือการเขียนเรื่องราวของมนุษย์และความเป็นมนุษย์นั่นเอง

photo: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

กราฟฟิตีเป็นที่รู้จักในสังคมไทยโดยทั่วไปในนามของสตรีตอาร์ต (street art) ซึ่งเป็นงานศิลปะที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมเพื่อการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ศาลอาจจะคุ้นเคยกับกราฟฟิตีในรูปการ์ตูนและภาพวาดวิธีชีวิตต่างๆ ซึ่งเป็นเป็นสิ่งที่ถูกเพียงส่วนเดียว ในแวดวงคนทำงานด้านกราฟฟิตีได้ถกเถียงกันต่อเนื่องว่า การทำงานเช่นนี้คืองานจิตรกรรม (painting) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกราฟฟิตีมากกว่าที่จะเป็นงานกราฟฟิตี ทว่า งานจิตรกรรมมีความต่างตรงที่ไวยกรณ์ทางศิลปะและสิ่งที่กำหนดรูปแบบ (form) นั้นได้ถูกควบคุมและเรียบเรียงภายใต้กรอบความงามซึ่งถูกกำหนดมาตรฐานทางศีลธรรม ระบบอุตสาหกรรม และการควบคุมอนุญาตของรัฐ ความสวยงามที่ศาลอาจเคยเห็นและประทับใจจึงอยู่ในกรอบดังกล่าว ในขณะที่การทำงานศิลปะด้านกราฟฟิตีของนายพึ่งบุญเป็นการกลับไปสู่จิตวิญญาณของการทำงาน และได้รับการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง

การเขียนคำว่า ประเทศทวย ด้วยเทคนิควิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขูดขีด การสร้างร่องรอย และการพ่นสี บนป้ายจราจรหรือพื้นที่สาธารณะ แม้จะเป็นงานที่ระคายตาของคนที่เชื่อว่าศิลปะคือความสวยงามและอยู่ในกรอบศีลธรรม ทว่า นี่คือส่วนหนึ่งของงานศิลปะและการออกแบบตัวอักษรที่แพร่หลายและได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เราควรให้ความสำคัญกับแรงขับเคลื่อนภายในของการศิลปินและเจตจำนงของเขาที่กำลังบอกเล่าเรื่องราวในฐานะส่วนหนึ่งของสมาชิกในสังคมต่างหาก

นักโบราณคดียังให้คุณค่ากับกราฟฟิตียุคก่อนประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจคนในอดีตอันไกลโพ้น คนในยุคปัจจุบันยิ่งต้องให้คุณค่ากับกราฟฟิตีที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกับตนเองมากขึ้น ในฐานะการบันทึกเรื่องราวของสังคมที่จะส่งต่อไปสู่อนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวอักษรที่มีลักษณะลดทอนความยุ่งยากในการเขียนมาสู่ความกระชับและเรียบง่ายแต่แสดงซึ่งความกร้าวไม่ยอมงอทางความคิดอย่าง ประเทศทวย

ประเด็นที่สอง กราฟฟิตีในโลกสมัยใหม่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ทั้งในสถานการณ์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ถูกเก็บกดปิดกั้น และเป็นตัวแทนของการดำรงอยู่อย่างไร้ตัวตนของบรรดาชนที่ไม่ถูกนับรวมในสังคม กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ในสังคมที่ถูกปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม กราฟฟิตีมีบทบาทและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในฐานะปฏิกิริยาตอบโต้การถูกกดไม่ให้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นแตกต่าง ในทางกลับกัน ประเทศซึ่งระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับและมีการเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชน กราฟฟิตีจะถูกยกย่องในฐานะงานศิลปะ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตทางภูมิปัญญาของสังคม

ปรากฏการณ์ ประเทศทวย ในจังหวัดเชียงใหม่สะท้อนอุณหภูมิที่อึดอัดและบรรยากาศทางการเมืองที่มุ่งเน้นควบคุมความได้เป็นอย่างดีของสังคมไทย โดยเฉพาะการควบคุมตรวจตราพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในสื่อกระแสหลักและการใช้พื้นที่ออนไลน์ ประเทศทวย จึงเกิดขึ้นบนพื้นที่กายภาพเพื่อตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนมากกว่าการควบคุมให้ประชนชน การบอมบ์กราฟฟิตีลงบนป้ายจราจรจึงเป็นสัญญาณของประชาชนที่ส่งต่อรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเทศทวย จึงเป็นสัญญาณทางสังคม เป็นจินตนาการของประชาชนที่อยากเห็นสังคมไทยมีความก้าวหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง  

ทวย ในความหมายนี้คือ ทั้งผอง หมู่ และเหล่า ทวย จึงไม่ใช้คำหยาบคาย ทั้งยังเป็นคำที่คุ้นเคยในภาษาไทยมากมาย อาทิ ทวยราษฎร์ ทวยเทพ และทวยเทวา เป็นต้น ในฐานะผู้ศึกษาวิจัยด้านศิลปะ ข้าพเจ้าเคยพูดคุยกับนายพึ่งบุญอยู่บ่อยครั้ง สำหรับเขา ประเทศทวยเป็นทั้งคำประชดเสียดสีและความปรารถนาที่จะเห็นประเทศนี้เป็นของทวยราษฎร์ ความคิดและการกระทำของเขาไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดในเชิงมโนสำนึก น่าเสียดายที่ผู้มีอำนาจในสังคมไทยและผู้สั่งฟ้องมีศักยภาพอันจำกัด ส่งผลให้พวกเขามองไม่เห็นเจตจำนงและไม่ได้ยินข้อเรียกร้องของประชาชน

ความน่าสนใจของ ประเทศทวย อยู่ตรงการใช้พื้นที่ในการดูแลของรัฐ เช่น ป้ายจราจรและป้ายบอกทางเป็นจุดแสดงผลงาน ป้ายเหล่านี้ตั้งอยู่ริมถนน ข้างตลาด และบริเวณเกาะกลางตามแยกไฟแดง พื้นที่เหล่านี้สาธารณชนสามารถพบเห็นได้ง่าย คำถามสำคัญคือ เหตุใดสาธารณชนจึงไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านและรู้สึกขัดตาต่อ ประเทศทวย

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ สาธารณชนไม่ได้รู้สึกว่าพื้นที่ในการดูแลของรัฐเป็นส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบของประชาชน ความรู้สึกร่วมเช่นนี้เกิดขึ้นจากกระบวนการแยกพื้นที่สาธารณะให้ตกอยู่ในการดูแลของรัฐ กีดกันประชาชนออกจากกระบวนการตัดสินใจและมีส่วนร่วมมาอย่างยาวนาน ในแง่มุมนี้ แม้ ประเทศทวย จะเกิดขึ้นจากศิลปินในฐานะบุคคล ทว่า ประเทศทวย ที่เขารังสรรค์ขึ้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกร่วมที่สาธารณชนมีต่อรัฐและการใช้พื้นที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นตัวแทนการใช้อำนาจควรเรียนรู้ว่าคำร้องต่อความไม่เป็นธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่สำนักงานหรือสถานีตำรวจ แต่เกิดขึ้นได้ในพื้นที่ซึ่งประชาชนใช้ชีวิตอยู่จริง  

ดังนั้น ประเทศทวย จึงเป็นตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิที่จะมีสิทธิ’ (the right to have rights) ในการแสดงออกทางความคิดภายในสังคมที่มีข้อจำกัดในวิธีคิดเรื่องเสรีภาพทั้งในแง่มุมของกฎหมายและจินตนาการถึงสังคมที่เป็นธรรม ประเทศทวย จึงไม่ใช่แค่รอยขีดข่วนหรือการวาด แต่คือคำถามต่อสังคมไทยว่าเราจะอดทนอยู่ในสังคมที่ปิดกั้นสิทธิของประชาชนไปอีกนานเท่าไร สังคมที่เสรีภาพเป็นเพียงภาพมายาและกรงขังที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นนำ สิทธิที่จะมีสิทธิในความหมายของ ประเทศทวย จึงเป็นการสร้างกรอบจินตนาการใหม่ว่าด้วยเสรีภาพบนพื้นฐานประสบการณ์ของกลุ่มชนต่างๆ ที่ไร้พื้นที่ในการแสดงออก 

เมื่อกางปีกออกมา…
ท้องฟ้าเป็นของเรา!

(บทกวีโดย ชัชชล อัจฯ จากหนังสือ ลุกไหม้สิ! ซิการ์)

ประเด็นที่สุดท้าย ข้าพเจ้าขอให้ศาลสละเวลาสักเล็กน้อยเพื่อรับฟังแง่คิดจากเรื่องสั้นอันมีค่าต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้

สมัยที่ข้าพเจ้าเรียนหนังสือในระดับปริญญาเอก ข้าพเจ้าได้มีโอกาสนั่งเรียนวิชามานุษยวิทยากฎหมายซึ่งมุ่งเน้นค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างความเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมกับหลักพื้นฐานของบรรทัดฐาน (principle normativity) รวมไปถึงคำถามพื้นฐานที่ว่า กฎหมายดำรงอยู่อย่างไรและแสดงตนออกมาอย่างไรในสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ 

วันหนึ่งในชั้นเรียนมีการถกเถียงอย่างจริงจัง ว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมและการเข้าถึงกฎหมายของผู้คน โดยมีเรื่องสั้นฺ Before the Law ของฟรันทซ์ คัฟคา (Franz Kafka) เป็นแกนกลางของบทอ่าน คัฟคาคือนักเขียนคนสำคัญแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผู้สำเร็จการศึกษาทางกฎหมาย เรื่องสั้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1915 ในภาษาเยอรมัน และต่อมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในฐานะส่วนหนึ่งของการศึกษาสถานะของกฎหมาย  ข้าพเจ้าขอสรุปเรื่องสั้นให้ศาลรับทราบดังนี้ และต้องขออภัยล่วงหน้าหากศาลเคยอ่านมาบ้างแล้ว

ชายคนหนึ่งจากบ้านนอกแสวงหา ‘กฎหมาย’ และปรารถนาที่จะเข้าไปทางประตูที่เปิดไว้ แต่คนเฝ้าประตูบอกชายคนนั้นว่าเขาไม่สามารถผ่านได้ในขณะนี้ ชายบ้านนอกถามว่าเขาจะผ่านเข้าไปได้ไหม และคนเฝ้าประตูบอกว่ามีความเป็นไปได้ ‘แต่ไม่ใช่ตอนนี้’ ชายบ้านนอกพยายามก้มลงเพื่อมองผ่านประตูเข้าไปด้านใน คนเฝ้าประตูก็พลันหัวเราะพร้อมกับเปรยกับชายบ้านนอกว่าหากด้านในนั้นมันดึงดูดเย้ายวนขนาดนั้นก็เข้าไปได้เลย แต่โปรดสังวรณ์ไว้ด้วยว่าเขาเป็นคนที่มีอำนาจต่ำต้อยที่สุดและข้างในยังมีคนเฝ้าประตูอย่างเขาแต่มีอำนาจมากกว่าเขาอีกมาก ชายบ้านนอกคนนั้นรออยู่ที่ประตูเป็นเวลาหลายปี มีครั้งหนึ่งที่เขาติดสินบนคนเฝ้าประตูด้วยทุกสิ่งที่มี คนเฝ้าประตูยอมรับสินบนนั้น แต่บอกชายบ้านนอกว่า “ฉันรับสิ่งนี้เท่านั้น เพื่อที่คุณจะได้ไม่คิดว่าคุณล้มเหลวในการทำอะไรเลย” ตลอดระยะเวลาของการรอคอย ชายบ้านนอกผู้นี้ไม่ได้พยายามที่จะเข้าไปโดยใช้กำลัง เขาเฝ้าดูคนเฝ้าประตูเกือบตลอดเวลา เขาลืมคนเฝ้าประตูคนอื่นๆ ไปเสียสิ้น คนเฝ้าประตูด่านแรกนี้ดูเหมือนเป็นอุปสรรคเดียวในการเข้าสู่กฎหมายสำหรับเขา เขาสาปแช่งต่อโชคชะตาของตนเองในปีแรกๆ ต่อมาเมื่อชายบ้านนอกแก่ตัวลง เขาก็ยังพึมพำกับตัวเอง เขามีสภาพที่เริ่มแยกไม่ออกระหว่างความจริงกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ บางทีเขาขอให้ตัวหมัดบนปกเสื้อของเขาให้ช่วยโน้มน้าวใจคนเฝ้าประตูเสียด้วยซ้ำ ในที่สุดสายตาของเขาก็อ่อนแอลงและเขาไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวมืดลงจริงๆ หรือโลกที่เห็นผ่านดวงตาเป็นเพียงการหลอกลวง สุดท้าย ชายบ้านนอกตระหนักว่าในความมืดมีภาพลวงอันสว่างไสวซึ่งแยกตัวเขาออกจากประตูสู่กฎหมายอย่างไม่จบสิ้น ก่อนที่ชายบ้านนอกจะเสียชีวิต เขาถามคนเฝ้าประตูสั้นๆ ว่าทำไม แม้ทุกคนจะแสวงหากฎหมายแต่ก็ไม่มีใครมาเลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนเฝ้าประตูตอบว่า “ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้มาที่นี่อีก เพราะประตูนี้สร้างมาเพื่อแกเท่านั้นและฉันจะปิดมันแล้ว”

ศาลที่เคารพ เรื่องสั้นของคัฟคานี้มีความสอดคล้องกับปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยเสียเหลือเกิน ข้าพเจ้าอยากถามทุกท่านที่นั่งบนบัลลังก์ว่าผู้เฝ้าประตูคือใครกัน และผู้เฝ้าประตูดังกล่าวนั้นทำงานให้กับใคร ตามปรัชญาและอุดมคติที่ร่ำเรียนกัน กฎหมายเป็นเสมือนประตูที่เปิดทิ้งเอาไว้สำหรับทุกคนก็จริง ทว่า ผู้เฝ้าประตูต่างหากเป็นคนคัดกรองว่าใครสามารถเข้าถึงกฎหมายและความเป็นธรรมได้ เนื้อหาของกฎหมายโดยแท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงข้อความที่สร้างรอยแปดเปื้อนบนหน้ากระดาษ และตำรากฎหมายก็สามารถแปลงสภาพเป็นถุงกล้วยแขกหรืออาหารปลวกได้โดยตัวของมันเอง การตีความต่างหากที่ทำให้กฎหมายมีพลังและอำนาจในการดำเนินการบังคับใช้  

ปัญหาสำคัญก็คือ อำนาจในการตีความนั้นมิได้ยืนอยู่บนความเป็นธรรมต่อประชาชนและเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจเสมอมา ชายบ้านนอกผู้รอคอยอยู่ด้านหน้าของประตูเป็นตัวแทนเชิงอุปมาอุปมัยถึงสภาวะเปลือยเปล่าของผู้ไม่ถูกนับรวมในสังคม มิใช่เพียงการเข้าไม่ถึงกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอุปสรรคอีกนานับในการเข้าไม่ถึงสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างเท่าเทียมกันกับผู้อื่น ประตูและผู้เฝ้าประตูเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีตั้งแต่แรกสำหรับพวกเขา

ข้าพเจ้าอยากถามศาลด้วยระดับของดวงตาที่เสมอกันว่า หลังจากการรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา มีผู้คิดต่างทางการเมืองกี่คนแล้วที่ถูกจับกุมและถูกคุมขัง คนเหล่านี้ถูกคนเฝ้าประตูวินิจฉัยและตัดสินโทษผ่านการตีความกฎหมายที่มุ่งประโยชน์ซึ่งไม่ได้เป็นของประชาชน พิจารณาในแง่มุมนี้ การกระทำของนายพึ่งบุญในกรณี ประเทศทวย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์เสียหายนั้นยังดูมีความสะอาดและน่าเคารพกว่าการตีความกฎหมายและกล่าวหานายพึ่งบุญเสียอีก

สำหรับข้าพเจ้า ปฏิบัติการ ประเทศทวย หรือกราฟฟิตีทางการเมืองอื่นๆ ที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทยหลังการรัฐประหารนั้น คือการเปล่งเสียงของความไม่ยินยอมอย่างอหิงสาที่เขย่าหลักพื้นฐานของบรรทัดฐานที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมโดยรวม สำนึกของประชาชนว่าด้วยการนิยามความเป็นเจ้าของประเทศและการมีส่วนร่วมในการกำหนดชีวิตของตนเองได้แปรเปลี่ยนไปแล้ว ในขณะที่กฎหมายและการตีความยังคงล้าหลัง  การบังคับใช้ทางกฎหมายต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะเป็นการก่ออาชญากรรมต่อประชาชน  สถานการณ์เช่นนี้ ประตูสู่กฎหมายและคนเฝ้าประตูยังมีความสำคัญอยู่หรือไม่ หรือเราควรรื้อประตูไปเสียและสร้างพื้นที่ใหม่ให้ประชาชนได้สนทนาอย่างเท่าเทียมกับคนเฝ้าประตู ให้คนเฝ้าประตูได้เรียนรู้ว่าสังคมนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยผู้คนมากมาย  

ศาลที่เคารพ สิ่งที่ข้าพเจ้าอภิปรายมาทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนความสัมพันธ์อันย้อนแย้งระหว่างปฏิบัติการทางศิลปะและสุนทรียศาสตร์กับการใช้อำนาจบังคับใช้ทางกฎหมายในสังคมไทย ในห้วงยามนี้ ผู้คิดต่างทางการเมืองในสังคมของเรา หากไม่ถูกข่มขู่ด้วยอำนาจมืดก็ถูกปิดปากด้วยกฎหมายและการถูกฟ้องร้องคดีความทางการเมือง ปฏิบัติการทางศิลปะจึงเติบโตขึ้นเพื่อสนทนากับอำนาจและสื่อสารความหวังของผู้คน สุนทรียศาสตร์ของกราฟฟิตีมิได้อยู่ที่ความสวยงาม แต่ดำรงอย่างสง่างามภายใต้การเป็นปากเป็นเสียงและเป็นตัวแทนของการดำรงอยู่ของผู้คนที่ไม่ถูกนับรวมอีกมากในสังคม

ศาลจะตีความคดีนี้อย่างไรก็สุดแต่ความสามารถและมโนสำนึกในความเป็นธรรมของศาลเอง ข้าพเจ้ามั่นใจว่ากระบวนการวินิจฉัยในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกทางประวัติศาสตร์ทั้งในมิติของกฎหมายและศิลปะ

*หมายเหตุ

บทความนี้เรียบเรียงขึ้นมาจากสาระสำคัญที่ผู้เขียนได้ร่างและเตรียมเอาไว้สำหรับการเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในศาลให้กับคดีของนายพึ่งบุญ ใจเย็น ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565  คดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 สิงหาคม ปีเดียวกัน โดยให้ต้องโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 60,000 บาท  สุดท้ายศาลลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 40,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติ 1 ปี นอกจากนี้นายพึ่งบุญจะต้องทำกิจกรรมบริการสังคม ด้านทำความสะอาดหรือซ่อมแซมป้ายสัญญาณจราจร หรือทำความสะอาดทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 48 ชั่วโมง

Author

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
อาจารย์ด้านมานุษยวิทยาว่าด้วยสื่อ ผัสสะ และการทัศนา ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผลงานการวิจัยและตีพิมพ์เกี่ยวกับสังคมมลายูในสามจังหวัดภาคใต้และคาบสมุทรมาเลย์ รวมไปถึงผลงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมทัศนาและจิตเวช ปัจจุบันสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในเชิงสุนทรียศาสตร์กับการเมือง กวีนิพนธ์ และการนิพนธ์เรื่องราวผ่านภาพและเสียง ในสังคมไทยและอาณาบริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า