รัฐธรรมนูญสเปนมาตรา 155 ‘มาตรการนิวเคลียร์’ ยึดอำนาจคาตาลุญญา

คาร์เลส ปุยเดอมองต์ ร่วมชุมนุมร่วมกับชาวคาตาลัน

ผู้นำคณะบริหารคาตาลุญญาแถลงว่า ชาวคาตาลันจะไม่ยอมรับแผนการของมาดริดในการประกาศใช้กฎเกณฑ์ปกครองโดยตรงในแคว้น หลังนายกรัฐมนตรีสเปนประกาศดำเนินการตามอำนาจที่ระบุไว้ในมาตรา 155 ของรัฐธรรมนูญเข้าควบคุมการบริหารภายในแคว้นปกครองตนเองแห่งนี้

ก่อนหน้านั้นคาดหมายกันว่า ผู้นำแคว้นคาตาลุญญา คาร์เลส ปุยเดอมองต์ (Carles Puigdemont) จะประกาศความเป็นอิสรภาพของแคว้น หลังจากจัดให้มีการลงประชามติที่รัฐบาลสเปนไม่ยอมรับและถือว่าผิดกฎหมาย

ปุยเดอมองต์อธิบายว่า มาตรการของรัฐบาลกลางครั้งนี้เป็นการโจมตีแบบเลวร้ายสุดขั้วที่กระทำต่อสถาบันการเมืองทั้งหลายของคาตาลุญญา นับตั้งแต่สเปนอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบเผด็จการของนายพลฟรังโก ระหว่างปี 1939 – 1975 ได้ที่งดเว้นอำนาจปกรองตนเองส่วนภูมิภาคไปช่วงหนึ่ง

นายกรัฐมนตรี มารีอาโน ราฮอย (Mariano Rajoy) แห่งสเปนประกาศเมื่อเช้าวันเสาร์ว่า เขาใช้อำนาจตามมาตรา 155 ของรัฐธรรมนูญ ยกเลิกคณะผู้บริหารแห่งแคว้นคาตาลุญญาชุดปัจจุบัน เริ่มกระบวนการปกครองโดยรัฐบาลกลางในกรุงมาดริด เข้าควบคุมการบังคับบัญชากำลังตำรวจในภูมิภาค ศูนย์ควาบคุมโทรคมนาคม และจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในหกเดือน ในส่วนของรัฐสภาคาตาลันนั้นจะยังคงดำรงสถานภาพไปตามปกติ

นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสเปนประกาศเข้าควบคุมการบริหารของหนึ่งใน 17 แคว้นแห่งภูมิภาคของตน และเป็นครั้งแรกที่ผู้นำประเทศได้ใช้ข้อความแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเครื่องมือที่ให้อำนาจครอบคลุมอย่างกว้างขวางโดยอ้างว่าเพื่อปกป้อง “ผลประโยชน์ทั่วไปโดยรวม” ของประเทศชาติ

คาดกันว่าขั้นตอนต่อไปปุยเดอมองต์อาจตอบโต้มาตรการใช้อำนาจของสเปนโดยการประกาศเอกราชเพียงฝ่ายเดียวขึ้นมาตอนไหนก็ได้

เมื่อบ่ายวันเสาร์ผู้นำแคว้นที่กำลังเผชิญวิกฤติแห่งนี้ได้เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนมหาศาลที่กำลังแสดงความไม่พอใจต่อการที่มาดริดประกาศใช้อำนาจควบคุมการบริหาร

มวลชนนับแสนออกมาร่วมชุมนุมในเมืองบาร์เซโลนาแล้วพากันเปล่งเสียงตะโกนกระหึ่ม “อิสรภาพ” ด้วยความขุ่นเคืองอย่างหนักต่อคำประกาศของรัฐบาลมาดริด รวมทั้งกล่าวหาว่าตำรวจใช้มาตรการโหดร้ายระหว่างพยายามขัดขวางการลงคะแนนเสียงประชามติ แม้จะถูกห้ามโดยศาลรัฐธรรมนูญของสเปนก่อนหน้านั้น

ปุยเดอมองต์กล่าวว่า รัฐบาลสเปนกำลังทำผิดต่อเจตจำนงแห่งประชาธิปไตยของชาวคาตาลัน หลังจากมาดริดปฏิเสธข้อเสนอเพื่อการเจรจาทั้งหมด “นี่คือการที่ราฮอยลงมือทำร้ายคาตาลุญญา” ใน “การโจมตีประชาธิปไตย”

เขากล่าวว่าจะเรียกร้องให้รัฐสภาคาตาลันเปิดประชุมในสัปดาห์หน้าเพื่ออภิปรายถึงมาตรการตอบสนองต่อแผนการของราฮอย เขาเสริมว่า “เพื่อที่ตัวแทนอำนาจอธิปไตยของประชาชนจะได้สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับความพยายามของมาดริดที่ยุบคณะบริหารและระบอบประชาธิปไตยของเรา”

แต่ปุยเดอมองต์ไม่ยอมเปิดปากพูดโดยตรงว่าเขามีแผนการจะเสนอวาระให้รัฐสภาของแคว้นประกาศอิสรภาพในการประชุมดังกล่าวหรือไม่

ส่วนหนึ่งของคำปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ ปุยเดอมองต์ส่งสารตรงถึงนักการเมืองและพลเมืองของยุโรป โดยชี้ให้เห็นว่า “ค่านิยมพื้นฐานของยุโรปตกอยู่ในความเสี่ยงอันตราย” ในข้อพิพาทกับมาดริด “การตัดสินใจต่ออนาคตของประเทศด้วยวิธีการประชาธิปไตยไม่ใช่อาชญากรรม” เขากล่าว

นายกรัฐมนตรีราฮอยแถลงหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินเมื่อวันเสาร์ ว่าเขากำลังหยิบยกมาตรา 155 แห่งรัฐธรรมนูญสเปนขึ้นมาใช้กับแคว้นคาตาลุญญา ซึ่งอนุญาตให้มีการบังคับใช้การปกครองโดยตรงในภาวะวิกฤติใดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคกึ่งอิสระของประเทศ

นอกจากประกาศมาตรการควบคุมการบริหารอิสระด้านต่างๆ ยกเว้นเพียงการยุบสภาของแคว้น แล้วเสนอแผนการเลือกตั้ง ราฮอยยืนยันว่ามาตรการทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าการปกครองของคาตาลันจะถูกระงับไปชั่วคราว เขาอธิบายว่า แผนนี้คือการมุ่งกำจัดกลุ่มคนที่ได้ “นำพาเอาการปกครองตนเองออกไปอยู่นอกขอบเขตกฎหมายและรัฐธรรมนูญ”

มาตรการของรัฐบาลมาดริด ซึ่งได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากฝ่ายค้าน ยังจะต้องได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภาของสเปนในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

ชาวคาตาลันชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัว จอร์ดี ซานเชซ และ จอร์ดี คุยชาร์ต สองนักกิจกรรมในคาตาลุญญา

รายงานข่าวระบุว่า กระทรวงมหาดไทยของสเปนกำลังเตรียมพร้อมเพื่อเข้าควบคุมกองกำลังตำรวจ Mossos d’Esquadra ของคาตาลุญญา รวมทั้งถอดถอนผู้บัญชาการตำรวจ โฮแซป ลุยส์ ตราเปโร (Josep Lluís Trapero) ซึ่งกำลังเผชิญข้อการปลุกระดมให้แตกแยกอยู่ก่อนแล้ว

หนังสือพิมพ์ El País ของสเปนรายงานว่า รัฐบาลยังพิจารณาที่จะเข้าควบคุมการแพร่ภาพสาธารณะของโทรทัศน์คาตาลุญญา TV3 อีกด้วย

การใช้มาตรา 155 ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในแคว้นคาตาลุญญา ซึ่งหลายคนกล่าวว่า มาตรการเหล่านี้ชัดเจนว่าเป็นการระงับอำนาจของรัฐบาลปกครองตนเองในส่วนภูมิภาค

โฆษกของรัฐสภาคาตาลัน การ์เม ฟอร์กาเดล (Carme Forcadell) เรียกมาตรการนี้ว่า “เสมือนเป็นการรัฐประหาร” (de facto coup d’etat)

“เป็นการรัฐประหารโดยอำนาจเผด็จการภายในรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป” เธอกล่าวเพิ่มว่า ราฮอยตั้งใจที่จะ “ยุบรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย”

รองประธานคณะบริหารคาตาลัน โอริโอล ฮุนเกราส (Oriol Junqueras) กล่าวในทวิตเตอร์ว่า ราฮอยกับพันธมิตรของเขา “ไม่เพียงแต่ระงับการปกครองตนเอง พวกเขาระงับระบอบประชาธิปไตยด้วย” นอกจากนี้เขายังกล่าวชักชวนให้ชาวคาตาลันเข้าร่วมชุมนุมประท้วงมในบาร์เซโลนาเพื่อ “ต่อต้านอำนาจเผด็จการ” เมื่อเช้าวันเสาร์ด้วย

นายกเทศมนตรีบาร์เซโลนา อดา โคเลา (Ada Colau) กล่าวว่าเป็น “การโจมตีอย่างรุนแรงต่อสิทธิและเสรีภาพของทุกคนทั้งที่นี่และที่อื่น”

ประธานคณะบริหารแห่งแคว้นบาสก์ อิญญิโก อูกุลยู (Iñigo Urkullu) เขตปกครองตนเองกึ่งอิสระของสเปนซึ่งเคยมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อแยกดินแดนเป็นอิสรภาพแบบนองเลือดมาก่อนเป็นเวลาหลายปี กล่าวว่า การใช้มาตรา 155 เป็น “ความสุดโต่งและไม่สมส่วน” และสิ่งนี้เป็นการ “วางระเบิดทำลายสะพานที่เชื่อมต่อไปสู่การเจรจา”

อย่างไรก็ตาม อิเญส อาร์ริมาดาส (Inés Arrimadas) หัวหน้าพรรค Ciudadanos แนวสายกลางในคาตาลุญญาซึ่งต่อต้านการประกาศอิสรภาพกล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะ “คืนคุณค่าแห่งมิตรไมตรีและประชาธิปไตย” ให้แก่ภูมิภาคนี้

หากปุยเดอมองต์ทำสิ่งใดที่แข็งขืนต่อต้านแผนการของราฮอย ศาลยุติธรรมของสเปนอาจเข้าแทรกแซงด้วยอำนาจแยกต่างหาก แล้วออกคำสั่งให้จับกุมเขากับนักอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนรายอื่น ในข้อหาปลุกระดมหรือแม้แต่ข้อหากบฏ ในการที่คนพวกนี้พยายามประกาศอิสรภาพ

ข้อหาก่อกบฏมีระวางโทษจำคุกสูงสุด 30 ปี เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้พิพากษาของศาลสเปนสั่งให้ควบคุมตัวผู้นำแยกดินแดนสองคนไว้ในตะรางโดยไม่ให้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีปลุกระดมให้แตกแยก

หลายฝ่ายคาดการณ์อยู่ก่อนแล้วว่า ในที่สุดราฮอยจะประกาศใช้มาตรา 155 ของรัฐธรรมนูญสเปน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จึงยังคงมีข้อสงสัยคาค้างอยู่มากกว่าอำนาจเช่นนี้สามารถตีความได้อย่างไรและครอบคลุมกว้างไกลแค่ไหน

แม้ราฮอยยืนยันว่าเขาไม่ได้ยกเลิกสถานภาพการปกครองตนองของแคว้นคาตาลุญญา แต่คนจำนวนมากไม่ได้คิดตามครรลองนั้น การถอดถอนคณะบริหารแล้วให้รัฐมนตรีของรัฐบาลมาดริดทำการแทน มีผลเสมอกันกับการตัดลดอำนาจนำทั้งหมดของผู้ได้รับเลือกตั้งภายในท้องถิ่นคาตาลุญญา

ราฮอยกล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า การใช้มาตรา 155 ไม่ได้เป็นสิ่งที่ปรารถนาหรือความตั้งใจของเขา แต่นั่นเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้คาตาลุญญากลับมาสู่ความถูกต้องตามกฎหมายและคงไว้ซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสเปน “ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้อันตรายที่ชัดเจน การตัดสินใจตามอำเภอใจและเพียงฝ่ายเดียว” ของคณะบริหารแนวทางแยกดินแดนชาวคาตาลัน

ราฮอยระบุว่า การตัดสินใจของเขาได้ให้ความสำคัญถึงกรณีที่บริษัทชั้นนำในคาตาลุญญากว่า 1,000 แห่ง ได้ยกย้ายสำนักงานใหญ่และหน่วยนิติบุคลของตนออกไปตั้งนอกแคว้นแล้ว เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างที่แคว้นนี้มุ่งหน้าจะแยกตัวออกไปพ้นจากร่มธงสเปน

ชาวคาตาลันจำนวนหนึ่งที่ก้ำกึ่งและเคยแสดงความประสงค์ต่อการคงอยู่ร่วมกับราชอาณาจักรสเปน อาจเห็นด้วยกับการใช้มาตรการเด็ดขาดลักษณะนี้ว่าเป็นทางออกเพื่อแก้ปัญหา แต่บรรดาผู้คนที่ใฝ่หาอิสรภาพของดินแดนดูเหมือนกำลังเพ่งเล็งว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการท้าทายเสียมากกว่าการผ่อนบรรเทา


อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.co.uk
express.co.uk
nytimes.com

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า