Aichi Triennale: เมื่อนิทรรศการที่พูดเรื่องการเซ็นเซอร์ดันเซ็นเซอร์ตัวเอง

แซ่บมากจ้าคุณขา วันนี้มีเรื่องแซ่บๆ มาเล่าให้ฟังจ้า

หลังจากที่มีเหตุลอบวางเพลิงสตูดิโอ ‘เกียวอนิ’ (KyoAni หรือ Kyoto Animation) ได้ไม่นาน ก็มีเหตุขู่วางเพลิงอีกรอบค่ะ เหตุเกิดที่นาโงยะ มีคนโทรศัพท์มาขู่วางเพลิงกับผู้จัดงาน ‘Aichi Triennale’ ซึ่งนับเป็นเทศกาลศิลปะที่นับว่ายิ่งใหญ่มากในญี่ปุ่นเลยค่ะ

เรื่องมันเป็นยังไงมายังไงกันล่ะคะเนี่ย คุณกิตติคะ! ทำไมอยู่ๆ ก็มีคนมาขู่วงการศิลปะที่น่าจะไม่มีพิษมีภัยอย่างนี้ล่ะคะ

งั้นจะเล่าให้ฟังก่อน

งาน Aichi Triennale เป็นงานศิลปะที่จัดขึ้นทุกสามปีที่จังหวัดไอจิ งานเปิดวันแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยนิทรรศการชื่อ ‘After Freedom of Expression?’ เป็นนิทรรศการที่รวบรวมงานศิลปะที่โดนมิวเซียมหรือแกลเลอรีตีกลับ ไม่ได้จัดแสดง หรือถูกปลดจากสาธารณะ เพื่อพูดถึง ‘การเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะในญี่ปุ่น ‘และตั้งคำถามต่อเสรีภาพในการแสดงออกในยุคปัจจุบัน

โดยส่วนหนึ่งในงานจัดแสดงผลงานชิ้นหนึ่งที่ไปสะกิดใจคนญี่ปุ่นหลายคน นั่นก็คือผลงานประติมากรรมสาวน้อยผมบ๊อบหน้าตาจิ้มลิ้มชื่อ Statue of a Girl of Peace โดยศิลปินชาวเกาหลีใต้ คิม ซอ-คยอง (Kim Seo-kyung) และ คิม ยุน-ซุง (Kim Eun-sung) ซึ่งเป็น edition หนึ่งของประติมากรรมชิ้นแรกที่ตั้งในเกาหลีใต้ และเอาแบบมาจาก ‘comfort woman’

Statue of a Girl of Peace, 2011 โดย Kim Seo-kyung and Kim Eun-sung
Statue of a Girl of Peace, 2011 โดย Kim Seo-kyung and Kim Eun-sung

แล้ว comfort woman คืออะไร ทำไมมันไม่คอมฟอร์ทอย่างชื่อมันล่ะ?

เรื่องมีอยู่ว่า ย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกเกาหลี ยกพลขึ้นไปตั้งฐานทัพและครอบครองเกาหลีอยู่เป็นเวลาหลายปี ทหารญี่ปุ่นในตอนนั้นกระทำชำเราคนเกาหลีอย่างเลือดเย็น ไม่ว่าจะสังหารหมู่ ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ไปจนถึงฆ่าข่มขืน

หนึ่งในนั้นที่เป็นรอยแผลของคนเกาหลีมาจนถึงทุกวันนี้คือ comfort woman หรือผู้หญิงที่ทำงานบริการทางเพศ ผู้หญิงหลายคนถูกทหารญี่ปุ่นบังคับใช้ร่วมประเวณีด้วยเช่นกัน

ชาวเกาหลีเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมรับเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่ยอมเสียที มีคนญี่ปุ่นเพียงไม่กี่คนที่รับรู้เรื่องการทารุณกรรมในเกาหลี เพราะญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะบรรจุเหตุการณ์นี้ลงในประวัติศาสตร์ ทำให้ชาวเกาหลีหลายคนประท้วงกันมาอย่างยาวนานมาก

การประท้วงที่ใหญ่หลวงครั้งหนึ่งคือ รูปปั้นทองแดงของสาวน้อย comfort woman ในชุดฮันบกที่ดัดแปลงเพื่อใส่ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 น้องถูกนำมาตั้งให้หันหน้าเข้าประจัญสถานทูตญี่ปุ่นในเกาหลีใต้ในปี 2011 ซึ่งทางการเกาหลีได้วางแผนมาตั้งแต่ปี 1992 เพื่อรำลึกถึงเหยื่อที่ถูกทหารของจักวรรดิญี่ปุ่นทำร้าย

พอรูปปั้นน้องถูกวางไว้ในที่สาธารณะ แถมต่อหน้าสถานทูตญี่ปุ่นอีก ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่พอใจอย่างมาก จึงเรียกร้องให้ทางรัฐบาลเกาหลีเอารูปปั้นของน้องออกไป แต่รัฐบาลเกาหลีกลับเมินเฉยกับข้อเรียกร้องนั้น ก็คนบ้านเขาขอให้ญี่ปุ่นยอมรับประวัติศาสตร์มาตั้งนาน ญี่ปุ่นไม่สนใจ ทีตอนนี้จะมาเรียกร้องให้เกาหลีไม่แสดงออกเรื่องนี้ ใครจะไปยอมล่ะ ประเด็นนี้เลยกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีมายาวนานค่ะ

ผ่านมาแปดปี พอนิทรรศการที่จัดในญี่ปุ่นเอาประเด็นนี้มาจัดแสดง เลยทำให้เปิดงานปั๊บ ก็ได้การตอบรับอย่างรุนแรงเลยค่ะ มีคนโทรศัพท์เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ต่อว่าคณะผู้จัดงานเป็นจำนวนมาก และหลายรายในนั้นขู่ว่า ถ้าแกยังไม่เอาประติมากรรมที่หยามเกียรติของชาวญี่ปุ่นออกไป จะราดน้ำมันเผาพิพิธภัณฑ์ไอจิซะเลย แกกล้าดียังง้ายยยย (เขาไม่ได้พูดแบบนี้เป๊ะๆ นะคะ อันนี้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเฉยๆ)

เข้าใจว่า ด้วยความที่การวางเพลิงในสตูดิโอเกียวอนิเป็นเหตุการณ์น่าสะเทือนใจ มีผู้เสียชีวิตหลายคน รวมไปถึงศิลปินและผู้กำกับอนิเมะด้วย ทางผู้จัด Aichi Triennale คงกลัวจะซ้ำรอยเดิมที่เพิ่งเกิดไปหมาดๆ บวกกับโดนกดดันมาจากทางผู้ว่าฯ จังหวัดด้วย ดังนั้น หลังจากเปิดมาได้เพียงสามวัน นิทรรศการส่วนนี้ก็ถูกปิด เพราะกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นตามที่ขู่กันจริง

เอาล่ะค่ะ มันก็เลยกลายเป็นประเด็นตรงที่ นิทรรศการที่วิพากษ์การเซ็นเซอร์ ดั๊นเซ็นเซอร์ตัวเอง ตลกร้ายมั้ยล่ะคะ

แต่ปิดไปก็ใช่ว่าจะจบ เพราะมีศิลปินที่แสดงในงานนี้ประท้วงกันแหลกเลยค่ะคุณกิตติ!

ศิลปิน 85 คนจาก 100 คนออกแถลงการณ์เพื่อให้นิทรรศการนี้กลับมาเปิดต่อสาธารณะชนโดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ในแถลงการณ์กล่าวว่า

“ในฐานะสถาบันทางวัฒนธรรม Aichi Triennale มีความรับผิดชอบที่จะยืนหยัดเพื่อสิทธิของศิลปินที่เข้าร่วมแสดง และปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของศิลปิน”

นอกจากนั้นนักวิชาการในญี่ปุ่นเองก็ออกมาแถลงการณ์เช่นกัน ว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ยืดเยื้อมายาวนาน คนญี่ปุ่นเองก็ควรยอมรับกับความจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ได้แล้ว ไม่พอค่ะ ศิลปินถึง 10 คนยังเรียกร้องให้ถอดถอนผลงานของเขาออกจากนิทรรศการครั้งนี้ จนกว่าผลงาน Statue of a Girl of Peace จะถูกนำกลับมาจัดแสดง

ส่วนนักเขียนชาวญี่ปุ่น ฮิโรกิ อาซึมะ (Hiroki Azuma) ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาการวางแผนนิทรรศการ หลังจากศิลปินต่างชาติหลายคนได้ถอนตัวออกจากนิทรรศการ

ส่วนของนิทรรศการ ‘After Freedom of Expression’
ส่วนของนิทรรศการ ‘After Freedom of Expression’

ตัดภาพมาที่ นายไดซึเกะ สึดะ (Daisuke Tsuda) ผู้อำนวยการนิทรรศการ ออกมาแถลง สรุปได้ว่า “งานนิทรรศการ Aichi Triennale จัดแสดงผลงานที่ไม่ได้รับการจัดแสดง หรือถูกถอดถอนออกจากสถาบันสาธารณะ ควบคู่กับการจัดแสดงข้อมูลสถานะของผลงานที่โดนเซ็นเซอร์ เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงเสรีภาพในการแสดงออก และนำไปสู่การพูดคุยถึงเรื่องนี้ ทางผู้จัด Aichi Triennale ไม่ได้เห็นด้วยหรือกล่าวหาผลงานที่จัดแสดงทั้งหมดนี้ ผลงานและธีมของนิทรรศการ ได้รับการคัดเลือกและตกลงกันในหลายภาคส่วน

“โลกนี้ไม่ได้เป็นเพียงสีขาวหรือดำ แต่ส่วนใหญ่เป็นสีเทา เราจัดนิทรรศการที่ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกด้วยความหวังว่าจะสามารถจับภาพพื้นที่สีเทาตรงนี้เอาไว้ ถึงกระนั้น เนื่องจากมีโทรศัพท์จำนวนมากที่ขู่จะก่อการร้ายกับนิทรรศการ เราจึงต้องปิดนิทรรศการส่วนนี้ไปเพื่อความปลอดภัย

การตอบรับเช่นนี้ เป็นคำตอบให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นและต่อโลกว่า ญี่ปุ่นยังไม่อยู่ในสภาวะที่พร้อมจะพูดคุยถึงสถานะของตนในอดีต และหวังว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยจะตระหนักถึงเรื่องนี้ และพิจารณาผลของการกระทำครั้งนี้

Aichi Triennale จะจัดต่อไปอีกจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2019 และตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่านิทรรศการจะกลับมาเปิดให้ชมอีกรอบตามที่ศิลปินเรียกร้องกันไหม แต่ที่แน่ๆ เหตุการณ์ครั้งนี้ได้กลายเป็นตัวอย่างและบททดสอบให้ผู้จัดนิทรรศการศิลปะในอนาคตว่า เราจะกล้าจัดแสดงประเด็นที่อ่อนไหวไหม และมีมาตรการจัดการอย่างไร

รวมทั้งตั้งคำถามต่อสังคมญี่ปุ่นว่า เมื่อไหร่กัน ที่พวกคุณจะยอมรับ และสามารถพูดคุยถึงการกระทำในอดีตได้เสียที

ส่วนผลงานตอนนี้เหรอคะ? ตอนนี้นางขายออกแล้วจ้า

ผลงาน Statue of a Girl of Peace ถูกซื้อไปอย่างรวดเร็วโดย แท็กซ์โท เบเนต์ (Taxto Benet) นักสะสมชาวสเปนที่มักจะสะสมงานโดนเซ็นเซอร์ และน้องผมบ๊อบก็จะไปแสดงในนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์ที่แท็กซ์โทกำลังสร้างชื่อ Freedom Museum ในเมืองบาร์เซโลนา โดยพิพิธภัณฑ์จะเน้นจัดแสดงเฉพาะผลงานที่ถูกเซ็นเซอร์จากทั่วโลก และคาดว่าจะเปิดภายในปีหน้า น้องสะบัดบ๊อบไม่สนใจพวกคนที่มาวอแวกับนางที่ญี่ปุ่น ประมาณว่า ไม่แสดงที่ญี่ปุ่นก็ได้จ้า ฉันมีที่ที่ดีกว่า อยู่ตลอดไปเลย

ส่วนหล่อนที่จะเผาฉันเหรอ? งั้นก็หาทางมาเผาที่สเปนให้ได้ละกันนะจ๊ะ บ๊ายบายจ้า

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า