โตในอากาศคุณภาพแย่ๆ ไม่แน่อาจเป็นโรคซึมเศร้า

งานวิจัยเผยชีวิตคลุกฝุ่นก็เสี่ยงซึมเศร้าได้ เพราะโรคซึมเศร้าที่ทุกคนรู้จักกันนั้นไม่เพียงแต่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แต่ยังพบว่า ตัวการอีกอย่างของการเกิด ‘โรคซึมเศร้า’ มาจากมลภาวะทางอากาศที่เกินค่ากำหนดมาตรฐานนั่นเอง

อากาศขุ่นมัวมีส่วนทำให้อารมณ์มัวหมองตามกันไปนั้น เป็นผลการสรุปจากวิจัยฉบับหนึ่งของ เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) จากวิทยาลัย Kings College London ประเทศอังกฤษ เธอได้ลงไปสำรวจในกลุ่มตัวอย่างใน ‘วัยเด็ก’ และ ‘วัยรุ่น’ ภายในกรุงลอนดอน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง อากาศและอารมณ์

เด็กๆ กว่า 284 คนในลอนดอนที่เข้าร่วมการสำรวจและทำการวิจัย เนื่องจากความพิเศษของวัยเด็กและวัยรุ่นคือพัฒนาการทางด้านสมองที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ไหนจะโรคซึมเศร้า ไหนจะพฤติกรรมต่อต้านสังคม เพราะปัญหาทางด้านสุขภาพจิตราว 75 เปอร์เซ็นต์มักมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก

เป็นที่ทราบกันดีว่า อนุภาคของมลภาวะทางอากาศนั้นมีขนาดเล็กมากพอที่จะสามารถหลุดลอดเข้าไปยังแนวกันระหว่างเลือดและสมอง (blood-brain barrier) และทำให้เกิดการอักเสบ (inflammation) ในสมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกได้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการถูกทารุณทางกายกับผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศแล้ว มลภาวะทางอากาศดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพจิตมากกว่าเสียอีก แต่แน่นอนว่าการสรุปเช่นนี้ยังคงต้องการหลักฐานสนับสนุนอีกจำนวนมาก

มีการสำรวจเด็กจำนวนหนึ่งที่อาศัยในพื้นที่ที่มีมลภาวะสูงสุด 25 เปอร์เซ็นต์ในลอนดอน ตั้งแต่อายุ 12 ผลที่ออกมาดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าตอนอายุ 18 มากกว่า 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่เติบโตมาในสภาพอากาศที่โปร่งใสและปลอดมลภาวะ นอกจากนี้ในเขตเมืองของลอนดอนยังพบไนโตรเจนออกไซด์ที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ทางองค์การอนามัยโลกกำหนดไปมาก ซึ่งอากาศคุณภาพแย่ๆ นี้ยังคงส่งผลโดยตรงกับการใช้ชีวิตของพวกเด็กๆ และมีส่วนทำให้ชีวิตสั้นลงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

แม้ว่าเรื่องราวจากลอนดอนจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน จนสามารถฟันธงอย่างชัดเจนถึงกรณีการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะจะส่งผลให้คนเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า มลภาวะนั้นคุกคามการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นอันตรายกับประชาชนทุกคนยังคงเป็นเรื่องจริงไม่เปลี่ยนแปลง

“มันก็ยากนะที่จะเลี่ยงพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะ สิ่งที่พวกเราควรทำจริงๆ นั่นก็คือ การส่งเรื่องราวเหล่านี้ไปให้ถึงรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางที่เกี่ยวข้อง ในการควบคุมมลภาวะที่เกิดขึ้น” เฮเลน ฟิชเชอร์ จากทีมวิจัยทิ้งท้าย

 

ที่มา: theguardian.com

 

สนับสนุนโดย

 

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า