สองสามปีที่ผ่านมานี้เราเบื่อการถกเถียงและการวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์อะไรนี่มาก
ถึงแม้ว่าจะมีชุดความคิดที่บอกว่าการวิพากษ์สามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคม เปลี่ยนแปลงระบบความคิดความเชื่อไปสู่ความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ทำให้คนที่อยู่ภายใต้อำนาจมีเสียงมากพอที่จะสู้กับความไม่เป็นธรรมของระบบการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม บลา บลา บลา
เราต่างอยู่ในยุคที่คนเรียกร้องหาความแฟร์ ความมั่นคงของชีวิตจิตใจและทรัพย์สินมากจนรู้สึกว่าตัวเองกำลังอาศัยอยู่ในโลกที่รังแกกันด้วยเหตุผลและตรรกะที่ดูมีน้ำหนัก โจมตีกันด้วยถ้อยคำและข้อเขียนที่ดูน่าเชื่อถือเพื่อต้อนให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาเป็นพวกเดียวกัน เหตุผลใครสู้ไม่ได้ก็พ่ายไป อาจไปไกลถึงการเป็นคนตรรกะวิบัติ (ซึ่งตรรกะก็ man-made เนอะ) เรายึดถืออุดมการณ์และความเชื่อชุดต่างๆ เช่น มนุษย์ต้องเท่าเทียม มีสิทธิเสรีภาพ เราต่อต้านการเหยียดเพศ เหยียดผิว ด่ามนุษย์ radical อย่างทรัมป์ หนุนหลักการของเราด้วยหลักเหตุผลทางวิชาการและมนุษยธรรมบางอย่างโดยที่อาจจะยังไม่ได้ตั้งคำถามว่าคนเราต้องเท่าเทียมกันจริงไหม
จริงๆ เราชอบเถียง แต่เรามักจะยอมแพ้เสมอเมื่อต้องเถียงกันเรื่องประเด็นสังคมหรือคุณค่าบางอย่างของมนุษย์ ถ้ายืนกรานว่าเชื่อแบบนั้นมากก็ชนะไปเลย ไม่มีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรใครทั้งนั้น ถ้าเชื่อว่าคนอ้วนคือคนขี้แพ้ เชื่อว่าการศึกษาคือคำตอบของอนาคตสดใส หรือเชื่อว่าเรากำลังลั้ลลาอยู่ในรัฐวันเดอร์แลนด์ก็ตามสบาย
ปล่อยเซอร์มาสักระยะจนมาถึงวันที่ได้ไปค่าย ‘หนาวนี้มีแชร์’ ที่จัดโดยสามองค์กรคือ มูลนิธิสื่อชาวบ้านมะขามป้อม (Makhampom Art Space), ร้านหนังสืออิสระ Book Re: Public และ CAN ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ จัดเวิร์คช็อปแชร์ความคิด, แรงบันดาลใจผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนมุมมองและสำรวจตัวเองในวิถีต่างๆ ระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม
เมื่อนั้น เราถูกบังคับให้เถียง
Age of Anxiety, Inequality, Emotion
หนึ่งคือกิจกกรมหนาวนี้มีแชร์ ไม่ได้หนาวเสียดเนื้อใดๆ ทั้งสิ้น สองคือแดดสายยังสวยอยู่ กลับกัน การเปิดงานของ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าโลกสวยงามเท่าไหร่
“มีคนบอกว่าเราอาจจะอยู่ในยุคสมัยของความวิตกกังวล (age of anxiety) คนทั่วโลกรู้สึกกังวลกับชีวิตตัวเองและทิศทางของสังคมบ้านเมือง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในทิศทางที่กำหนดไม่ได้ พอคนเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงเยอะๆ สิ่งที่จะตามมาคือความวิตกกังวล
“ต่อมาคือมีคนบอกว่าเราอยู่ในยุคที่ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ (age of inequality) งานวิจัยโดยนักเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์หลากหลายสาขาชี้ให้เห็นว่าโลกมันเหลื่อมล้ำขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสองทศวรรษนี้ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเยอะขึ้น
“สุดท้ายคือเราอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของคน (age of emotion) เพราะคนในยุคสมัยปัจจุบันมีเครื่องมือในการแสดงออกได้มากขึ้น พูดง่ายๆ คือโซเชียลมีเดียเปลี่ยนโลกทั้งในทางที่ดีและไม่ดี เมื่อก่อนต่อให้เราโกรธเกลียดใครยังไง เครื่องมือในการแสดงออกมันมีจำกัด แต่ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่เราทุกคนเป็นสื่อในตัวเอง เมื่อเรารู้สึกอะไร เราสามารถแสดงออกได้ทันที การเกิดขึ้นของภาวะแบบนี้มันเปลี่ยนทุกอย่าง มันส่งผลกระทบในด้านของสังคม วัฒนธรรมและการเมืองด้วย”
เราไม่ได้อยู่ในยุคแห่งความสับสนเท่านั้น แต่ยังเป็นยุคที่ลำบากที่สุดและตื่นเต้นที่สุด เพราะไม่มีคำตอบสำเร็จรูปอีกต่อไปแล้ว ประชาธิปไตยถูกตั้งคำถาม โลกาภิวัตน์ไม่ได้สวยหรู ประชาชนเริ่มออกมาเรียกร้องหลากหลายรูปแบบมากขึ้นและเป็นอิสระต่อกัน เรามีทั้งขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน LGBT และขบวนการเหยียดผิว นีโอนาซี หรือเคร่งศาสนาสุดโต่ง
อาจารย์ประจักษ์บรรยายต่อว่าเราอาจจะอยู่ในยุคแห่งความสับสนเคว้งคว้างเพราะความขัดแย้งสูงมากทั้งในสเกลใหญ่และเล็ก มันกดดันให้คนจำนวนมากบอกกันและกันว่าให้ ‘อยู่เป็น’
“พอทุกคนอยู่เป็นหมดสังคมจะหยุดนิ่ง เพราะเหมือนว่าคุณยอมรับสภาพที่เป็นอยู่แล้ว เลิกหาคำตอบหรือพยายามค้นหาสิ่งที่ดีกว่า
“ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหนก็ตามความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากคนส่วนน้อยเสมอ ไม่ใช่ว่าคน 90 เปอร์เซ็นต์ในสังคมเห็นอะไรตรงกันแล้วออกไปขับเคลื่อน เหตุการณ์ 14 ตุลา ก็เกิดจากคนกลุ่มน้อย แต่เป็นคนส่วนน้อยที่มีจิตใจแน่วแน่ มีอุดมการณ์ กล้าฝันถึงสังคมที่ดีกว่าแล้วมารวมกัน
“ในยุคสมัยที่มีความสับสนทางความคิด อุดมการณ์ ความเชื่อมากที่สุด การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดเริ่มต้นจากไอเดีย มันยากที่เราจะฝันถึงการปฏิวัติที่เป็นขบวนการใหญ่ที่เปลี่ยนสังคมแบบขุดรากถอนโคน ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจากกลุ่มคนที่ไม่เยอะ แต่จริงจังในการหาคำตอบ และมีความมุ่งมั่น นั่นแหละที่จะผลักดันความเปลี่ยนแปลงได้ถ้าคุณมีคอนเทนต์ มีไอเดียว่าจะเปลี่ยนอะไร”
จากนั้นก็อยู่ในช่วงถามตอบของประเด็นที่ว่าไป มีหลายเสียงแลกเปลี่ยนและตอบคำถาม กว่าจะหมดเวลาเราก็เริ่มรู้ตัวว่าที่หวังอยากจะมาปล่อยสมองให้โล่งปลอดโปร่ง จิบกาแฟและปั่นจักรยานดูยอดดอยหลวงชิวๆ คงจะต้องพับเก็บไปก่อน
เถียงกันทำไม
กิจกรรมมีอยู่ด้วยกันสามห้องคือ คิดแล้วดี (เบต) โดย Book: Re Public, Personal Mapping โดยมะขามป้อม และเกมสามัญชน ชามัญแชร์โดย CAN และเถื่อนเกม เราเลือกไปอยู่ห้องดีเบตก่อนทั้งๆ ที่ไม่ได้ชอบเถียง แต่เพราะบรรยากาศของคนที่มาเข้าร่วมมีความสบายๆ ไม่ได้ปัญญาชนอะไรขนาดนั้น คงไม่ได้ซีเรียสอะไรมาก
ซึ่งผิดหมด
สตาฟเริ่มเกมด้วยการดีเบตซิกแซก ตั้งญัตติง่ายๆ ว่าเราควรพักแยกเพศหรือไม่แยกเพศในการเข้าค่ายครั้งนี้ ต่อด้วยการแบ่งกลุ่มดีเบตอย่างจริงจัง กดดันเราแบบยิ้มๆ ซึ่งเราดันได้หัวข้อ ‘เราควรมีสิทธิในการฆ่าตัวตายหรือไม่’ และต้องเป็นฝ่ายค้าน อะไรจะแย่กว่าการไม่ชอบเถียงแล้วต้องมาเถียง แถมเถียงในเรื่องที่เราเองก็เห็นด้วยกับฝ่ายเสนอ!
แปลกดีที่การดีเบตผ่านไปด้วยเสียงหัวเราะและความน่ารักทั้งๆ ที่ประเด็นเครียดมาก สำเนียงและท่าทางของแต่ละคนที่ยกเหตุผลขึ้นมาทั้งน่าเชื่อถือ และข้างๆ คูๆ ไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งมันไม่ใช่ภาวการณ์ถกเถียงไฟลุกที่เราคุ้นเคย สุดท้ายเราก็ค้นพบแง่มุมประหลาดว่าเรามีศักยภาพที่จะเถียงในเรื่องที่ตัวเองไม่เห็นด้วยได้ด้วยการลองเป็นคนอื่น inception มากๆ การระดมสมอง ลองมองมุมที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิงเพราะสถานการณ์บังคับ และไม่ได้มีมายาคติ (ที่ตัวเองสร้างขึ้นเสมอ) ว่าต้อง critical ต้องฉลาด หรือมีน้ำหนักอะไรขนาดนั้น
การสวมหมวกลองเป็นตัวเองที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเองมันปลดล็อคการละเลยที่จะโต้แย้งของเรา ยิ่งพูดมากแล้วเจอสีหน้าการฟังที่สบายตา การพยักหน้าที่ไม่มีอคติตัดสิน ยิ่งทำให้เรากล้าพูดมากขึ้น นานมากแล้วที่เราไม่ได้เจอการถกเถียงที่ไม่มีใครหวังชัยชนะที่เด็ดขาด ทุกคนเพียงต้องการฟัง หัวเราะ คิดตาม เห็นต่างก็แค่แย้ง ทำให้เริ่มตกตะกอนว่าที่ผ่านมาเราอาจจะคิดเรื่อง hidden agenda หรือมองการถกเถียงในมุมที่กลัวดราม่าจนเกินไป
รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเราก็มีศักยภาพที่จะคิดต่าง คิดค้าน หรือคิดเชิงวิเคราะห์แยกแยะ พออยู่ในกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์การเปลี่ยนแปลงคล้ายๆ กันเลยเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มันมาได้ด้วยการฝึกฝนและลงไปคลุกอยู่กับปัญหามากพอที่จะคิดว่ามันเฮงซวยมากๆ แล้ว แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้มานั่งตัดสินคนที่ไม่ลุกออกไปเปลี่ยนแปลงสังคมว่าเป็นคนไร้จิตสำนึก
“เราหวังว่าคนที่มาเข้าร่วมเวิร์คช็อปครั้งนี้จะเป็นคนที่หลากหลาย เราอยากได้คนที่จะบอกว่า ไม่ได้นะ เราต้องต่อสู้เพื่อความถูกต้อง และอยากได้คนที่ร้องเพลงไป เมามายไป ไม่ได้ใส่ใจประเด็นแล้วรู้สึกว่าตัวเองต้อง safe space อยากได้คนทุกๆ แบบ ไม่รู้เรื่องอะไรก็มา เพราะเราเชื่อว่าความหลากหลายเหล่านั้นเมื่อมันเจอกระบวนการ มันจะทำให้เป็นส่วนหนึ่ง เห็นกัน รู้สึกถึงกันได้มากกว่า”
แอ๊ป-ปิยฉัตร สินพิมลบูรณ์ ผู้ประสานงานฝ่ายต่างประเทศของมะขามป้อมนอนเล่าให้เราฟัง เราเลยนอนถามต่อเสียเลยว่าจัดกิจกรรมหนาวนี้มีแชร์ขึ้นมาทำไม
“ไอเดียแรกสุดคือการรวมพลคนร้ายๆ เพราะสามองค์กรโดนแรงกดดันทางสังคมหลายอย่างเพราะทำงานที่เชื่อในความหลากหลาย ความแตกต่าง ในสภาวะที่สังคมไม่สามารถตอบถูกผิดได้ทั้งๆ ที่สังคมควรจะมีพื้นที่ให้ความหลากหลาย แต่ช่วงหลังเริ่มคิดว่าเราเดินคนเดียวไม่ได้แล้ว ปัญหาสังคมที่เยอะขึ้นทำให้เรารู้สึกว่าต้องหาเพื่อนแล้ว เลยทำร่วมกันกับอีกสององค์กรคือ CAN กับ Book Re: Public
เราผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนแบบนี้ค่อนข้างเยอะ เราเลยรู้ว่ามันเสริมแรงจริงๆ ที่จะไปเจอกับแรงต้านของสังคม เลยช่วยกันลงขันจัดงานขึ้นมา แต่ละองค์กรก็ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด มะขามป้อมมีพื้นที่ มีกระบวนการ CAN มีประเด็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย Book Reฯ ก็มีเรื่องมีเดียอาร์ตที่เข้ามาเสริมให้ประเด็นมันย่อยง่าย”
นั่นคงเป็นที่มาของกิจกรรมอันน่าปวดหัวสำหรับคนไม่ชอบคิดชอบเถียงแบบเรา
The Voice
“ผมไม่คิดว่าทุกวันนี้คนแฮปปี้กับภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตอนนี้มันก้าวข้ามเรื่องการเมืองเสื้อสีไปแล้ว ถ้าอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องสร้างพลังร่วมกัน แบบที่ลืมสีไป จะสีอะไรมาก่อนในอดีตไม่สำคัญ แต่อนาคตที่ฝันร่วมกันมีไหม ถ้ามีก็มาจับมือกันได้ ไม่งั้นอีก 20 ปีข้างหน้าเราจะอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ในสังคมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับคนแก่ อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ผู้นำอายุมากที่สุดในโลก ในขณะที่หลายประเทศในโลกผู้นำอายุ 31 ก็ยังมี เป็นเรื่องธรรมดาเลย ในแง่นี้ความเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเราไม่รวมกันทำอะไรบางอย่าง”
แค่คิดภาพสังคมที่ถูกยึดกุมไปด้วยคนแก่ในโมเดลเช่นทุกวันนี้ก็เหี่ยวเฉา
ถ้าจำลองตัวเองเป็นนักศึกษา นี่คือห้องเรียนที่สนุกลุกนั่งอย่างมีเหตุผล การเลคเชอร์อ่อนๆ ของอาจารย์ประจักษ์เป็นส่วนผสมที่ดีประกอบละครถกแถลงเรื่อง The Voice จากมะขามป้อม
ตัวละครสี่ตัว พิ้งกี้ กาก้า น้องคนเล็กหัวก้าวหน้า เป็นเพศทางเลือก เต็มไปด้วยความฝันที่จะออกไปจากขนบเก่าๆ ของบ้าน แต่ก็ยังไม่รู้จะต้านทานเปลี่ยนแปลงระบบอย่างไร, พจมาน พี่คนกลางที่วันๆ เอาแต่เมามายและชื่นชมเครื่องเพชรที่สามีหามาให้ เลือกที่จะเงียบและไม่สนใจการเมืองในบ้าน, พิม พี่คนโตผู้ออกกฎควบคุมความเป็นไปต่างๆ เรียกแบบไม่ PC (Political Correctness) ว่าหัวโบราณสุดๆ ต้องการให้น้องเชื่อฟังคำสั่งโดยการผูกขาดอำนาจในบ้านไว้ที่ตัวเอง และคำฟ้า คนใช้ที่ไต่เต้าฐานะทางสังคมและความเป็นอยู่ด้วยการเป็นชู้กับคุณผู้ชายในบ้านเพราะคิดว่าไม่มีทางที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้เลยจากข้อจำกัดที่ตัวเองมีอยู่
คณะมะขามป้อมใช้เครื่องมือละครในการสื่อสารถึงโมเดลบางอย่างที่เรากำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ระบบที่กดหัวเราให้จมอยู่ในน้ำและเงยหน้าขึ้นเมื่อได้รับอนุญาตเท่านั้น ไม่แปลกที่เราจะอินกับพิ้งกี้ กาก้ามากที่สุดเพราะเราเองก็เห็นต่าง แต่ก็ไม่มีหนทางที่จะงัดข้อกับท้องฟ้าอำนาจเพราะลำพังชีวิตที่ต้องดำรงอยู่ในปัจจุบันก็ลำบากจะแย่
When you feel like doing something, just do it.
เราไม่รู้จริงๆ ว่าคำตอบคืออะไร สิ่งที่เราทำได้บางครั้งจึงเหมือนเป็นการยอมจำนนต่อมนตร์ดำและหมอกควันแห่งการโดนกดขี่ เราก่อนหน้านี้จึงปฏิเสธการถกเถียงอย่างจริงจัง เพราะทุกครั้งมักจะนำมาซึ่งปัญหาและความขัดแย้งกับคนรอบข้าง อีกอย่างเราไม่มีทางแก้ให้กับสิ่งที่เราโต้ เรายังไม่ถึงจุดที่จะออกไปไขว่คว้าทางออกให้สังคมแล้วบอกว่าชีวิตของเราเอาไว้ก่อนก็ได้
เราไม่รู้เฉลย
แต่เราไม่ต้องรู้ก็ได้ การเข้าค่ายแบบ intensive course ครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เราผ่อนคลายทางความคิดก็จริง แต่มันเปิดพื้นที่ให้เราทำงานได้กว้างขึ้น เป็นวัตถุดิบที่ดีในการต่อยอดจินตนาการเพราะสาระมีทั้งเชิงศิลปะและความคิด ไม่มีใครมีเฉลยว่าจะเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมที่เหมือนรอยต่อของสงครามโลกครั้งที่ 1 กับ 2 นี้อย่างไร สิ่งที่เราทำได้คือการทำงานและขับเคลื่อนในวิถีของตัวเอง ทำสวนของเราไปสิ จะเขียน จะวาดรูป จะดูนก จะประท้วงหรือจะอะไรก็ทำไป
ถ้าเราไม่อยากเถียงเราก็ไม่ต้องเถียง ถ้าเราไม่อยาก PC ในบางอารมณ์เราก็ไม่ต้องเค้นความถูกต้องยุติธรรมต่อทุกฝ่ายออกมาตลอดเวลา เราเรียนรู้ที่จะจัดการพื้นที่การดำเนินชีวิตของตัวเอง สักวันที่เราทุกข์ร้อน วันที่เรารู้สึกถึงความห่วยแตกของการปกครองเราจะทำอะไรสักอย่างแน่นอนเพราะระบบแบบนี้มันจะกระทบชีวิตประจำวันของเราเข้าสักวัน
มันไม่มีทางที่จะปลุกระดมให้ทุกคนในสังคมลุกฮือขึ้นมาล้มล้างระบบที่ไม่เป็นธรรมเพราะไม่ใช่ทุกคนที่คิดอย่างนั้น และมันเป็นสิทธิของเขาด้วย อย่างที่อาจารย์ประจักษ์บอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มันมาจากคนกลุ่มน้อยทั้งนั้น แต่เป็นคนกลุ่มน้อยที่เข้มแข็งและแน่วแน่มากพอ
สุดท้ายเราเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมาเพราะมันเป็นงานที่อยากทำ เราไม่ได้ต้องการเถียงอะไรกับใครทั้งนั้น เราประทับใจแสงแดดจากยอดดอยหลวงและความท้าทายที่เป็นกันเองในค่าย เราอยากใช้ความสามารถเชิงวรรณศิลป์, ประสบการณ์เท่าที่มีและความไม่อยากแคร์อะไรเท่าที่เคยเป็นเขียนมันขึ้นมา
นี่คือสิ่งที่เราทำได้ สิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่เขียนไม่ได้