Slack, Trello, Asana และ Jira ซอฟต์แวร์ที่ใครหลายๆ คนคงเคยได้ใช้ในการทำงานยุคปัจจุบัน กำลังจะกลายมาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกสบายและย่นเวลาได้มากยิ่งขึ้น เห็นได้จากหลายๆ ตัวอย่างของครอบครัวในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มต้นออกแบบระบบต่างๆ ภายในบ้านให้เหมือนโมเดลธุรกิจมากยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้
ทอนยา พาร์กเกอร์ (Tonya Parker) จากรัฐอิลลินนอยส์ เธอเป็นแม่ที่สอนลูกๆ ทั้ง 4 คน ในวัยตั้งแต่ 9-18 ปี ให้ใช้ Trello ซึ่งเป็นเครื่องมือจัดการโปรเจกต์ต่างๆ ในรูปแบบการ์ดที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้สามารถวางแผน จัดการ ทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ เพื่อจัดระเบียบชีวิตในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการมอบหมาย แบ่งหน้าที่สำหรับการทำงานบ้าน จดรายการสิ่งที่ต้องทำ รวมไปถึงการแจ้งเตือนงาน หรือการบ้านจากที่โรงเรียนของลูก
ฮันนาห์ (Hannah) ลูกสาววัย 15 ปี ของเธอ ได้กล่าวถึงการใช้งาน Trello ว่า “ฉันใช้ Trello ทุกวันเพื่อคอยติดตามว่ามีงานหรือการบ้านอะไรที่ต้องทำบ้าง หรือว่าต้องไปไหน รวมไปถึงรายการของที่ต้องซื้อ”
พาร์กเกอร์อธิบายว่า เธอใช้เครื่องมือเหล่านี้ครั้งแรกในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย เธอจึงอยากฝึกให้ลูกๆ ได้มีโอกาสใช้งานและเรียนรู้เครื่องมือเหล่านี้บ้าง เธอยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การที่ Trello สามารถใช้งานร่วมกับ Gmail ได้นั้นเป็นเหมือนของขวัญที่สวรรค์ส่งมาให้กับครอบครัวของเธอ เนื่องจากมันเป็นตัวช่วยให้เธอสื่อสารและจัดระเบียบให้กับคนในครอบครัวได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยให้เธอตรวจสอบได้ว่าลูกๆ ลืมทำอะไรไปบ้าง โดยเธอสามารถถามลูกๆ ได้ว่าทำตามเช็คลิสต์ไปถึงไหนแล้ว
ช่วงเวลาการเล่นอย่างอิสระของเด็กๆ ได้ลดลงมากว่า 50 ปีแล้ว และการเข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตรของพวกเขาส่งผลให้พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญต่อการจัดตารางเวลาให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็มีงานที่ค่อนข้างยุ่งเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีภาระต้องทำต่อหลังเลิกงาน ซึ่งจากการรายงานของ Pew Research Center ในปี 2015 พบว่าร้อยละ 65 ของพ่อแม่ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัย มีปัญหาในการสร้างสมดุลระหว่างงานและครอบครัว เมื่อเทียบกับพ่อแม่อีกครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้มีวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้บางครอบครัวเลือกที่จะรับมือกับปัญหานี้โดยหันไปใช้ซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อการจัดการงานต่างๆ นอกจาก Slack ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่เป็นที่นิยมแล้ว ยังมี Trello, Asana และ Jira ด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าซอฟต์แวร์หรือ project-management platform เหล่านี้มีประโยชน์ต่อชีวิตส่วนตัวของพวกเขาเป็นอย่างมาก ยิ่งต้องเผชิญความยุ่งวุ่นวายมากเท่าไหร่ ครอบครัวสมัยใหม่ก็ยิ่งหันมารับมือด้วยนวัตกรรมเหล่านี้มากขึ้นเท่านั้น
จูลี่ เบอร์เคน เฟจเกนบาม (Julie Berkun Fajgenbaum) กล่าวในฐานะแม่ผู้ต้องเลี้ยงลูก 3 คน ในช่วงอายุตั้งแต่ 8-12 ปี ไปพร้อมๆ กัน นอกจากเธอจะใช้ Google Calendar หรือปฏิทินออนไลน์ในการจัดการเวลาของลูกๆ แล้ว ยังใช้ Jira ในการติดตามงานต่างๆ ภายในบ้านอีกด้วย
ไรอัน ฟลอเรนซ์ (Ryan Florence) จากรัฐซีแอตเทิล กล่าวในฐานะพ่อว่า เขาได้ตั้งค่าบัญชี Slack สำหรับคนในครอบครัวเพื่อการสื่อสารที่ง่ายขึ้น รวมไปถึงตั้งค่าบัญชีเพื่อเชื่อมไปยังครอบครัวอื่นๆ ในเครือญาติอีกด้วย
เมลานี แพลต (Melanie Platte) จากรัฐยูทาห์ กล่าวในฐานะแม่ว่า Trello ได้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตครอบครัวของเธอไปเลยอย่างสิ้นเชิง หลังจากที่เธอได้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้ในที่ทำงาน เธอจึงตัดสินใจนำมาใช้กับคนในครอบครัวตั้งแต่ปี 2016 และเธอได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราจะมีการประชุมครอบครัวในทุกวันอาทิตย์เพื่อทบทวนเป้าหมายในสัปดาห์นั้นๆ รวมถึงทบทวนรายการสิ่งที่ต้องทำ และกิจกรรมที่กำลังจะมีขึ้น” นอกจากนี้ เธอยังได้กล่าวว่า เธอมีลูกชายคนโตที่เพิ่งจะเริ่มเข้าวัยมัธยมเมื่อปีที่ผ่านมา หากไม่มีเครื่องมืออย่าง Trello เธอเองก็คงนึกภาพไม่ออกเช่นกันว่าจะจัดการงานและคอยติดตามงานหรือการบ้านของลูกได้อย่างไร
เอมิลี ออสเตอร์ (Emily Oster) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ เจ้าของหนังสือ Cribsheet: A Data-Driven Guide to Better, More Relaxed Parenting, From Birth to Preschool หรือคู่มือว่าด้วยการใช้ข้อมูลเพื่อการเลี้ยงลูกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนวัยเรียน เล่าว่า สามีของเธอเริ่มใช้ Asana ในการจัดการงานต่างๆ ภายในบ้านมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นในช่วงที่เริ่มซื้อบ้านและเธอได้ตั้งครรภ์ จนเธอรู้สึกว่ามีเรื่องราวให้ต้องจัดการเต็มไปหมด ออสเตอร์เล่าว่า Asana ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยก้าวข้ามจากซอฟต์แวร์ที่ใช้ในชีวิตการทำงานมาสู่ชีวิตคู่ในที่สุด
จากกรณีของครอบครัวออสเตอร์ จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่วุ่นวายสำหรับการเตรียมตัวเพื่อที่จะเป็นพ่อแม่มือใหม่ แพลตฟอร์มอย่าง Asana กลับกลายเป็นหนทางที่จะช่วยจัดการภารกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกการนอนหลับและการแบ่งหน้าที่ในการดูแลลูก สามารถกล่าวได้ว่าแพลตฟอร์มนี้ช่วยแบ่งเบาภาระงานพวกเขาได้จริงๆ และถึงแม้ในตอนนี้ลูกทั้งสองของเธอจะไม่ได้อยู่ในวัยหัดเดินอีกต่อไปแล้ว แต่ทั้งคู่ก็ยังคงใช้ Asana สำหรับจัดการงานอื่นๆ ในบ้านต่อไป
นอกจากนี้ ออสเตอร์ยังได้กล่าวในฐานะนักเขียนประจำ The Atlantic ว่า เธอได้ใช้แนวทางในเชิงธุรกิจกับการจัดการงานต่างๆ ในบ้านด้วยเช่นกัน โดยหลังจากที่เธอและสามีตัดสินใจร่วมกันในฐานะพ่อแม่ว่าจะต้องมีคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ในการส่งอีเมลเพื่อสรุปเกี่ยวกับเรื่องที่พวกเขาได้พูดคุยกัน แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ ซึ่งการเขียนสรุปตรงนี้ยิ่งเป็นการช่วยลดการสื่อสารที่ผิดพลาดและความสับสนจากการที่ต้องรับผิดชอบงานหลายๆ อย่างพร้อมกันของทั้งคู่ได้
“เราคิดว่า Trello เป็นเครื่องมือที่คุณสามารถใช้ได้ทั้งในการทำงานและชีวิต โดยตัวอย่างที่เรามีมานานแล้วในหน้าแรกของแพลตฟอร์ม เช่น การปรับปรุงห้องครัวใหม่ การวางแผนวันหยุดพักผ่อนในฮาวาย ฯลฯ เนื่องจากเรารู้ว่าผู้ใช้งานมีวัตถุประสงค์หลายประเภท ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องงานเท่านั้น” สเตลลา การ์เบอร์ (Stella Garber) หัวหน้าฝ่ายการตลาดของบริษัทได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การใช้งานของ Trello ที่ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่เรื่องงาน
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าซอฟต์แวร์หรือแพลตฟอร์มเหล่านี้ถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์กับชีวิตส่วนตัวและช่วยสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก โดย บรูซ ไฟเลอร์ (Bruce Feiler) ได้กล่าวเพิ่มเติมในฐานะพ่อและผู้เขียน The Secrets of Happy Families ว่า “เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่ระบบเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับการสร้างทีม เพื่อการแก้ปัญหา เพื่อประสิทธิภาพและการสื่อสารในที่ทำงาน จนสามารถขยายการใช้งานไปยังพื้นที่ในครอบครัวได้ในที่สุด”
เมลิสซา แมซเมเนียน (Melissa Mazmanian) ศาสตราจารย์ด้านสารสนเทศแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวว่า “วิธีที่ที่เราจะสามารถจินตนาการถึงงานประเภทต่างๆ รวมถึงการค้นพบความรู้ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ได้นั้น จริงๆ แล้วล้วนมีพื้นฐานมาจากการประสานงานและการทำงานร่วมกันระหว่างคนที่อยู่ต่างสถานที่ และมีเวลาแตกต่างกัน รวมไปถึงตัดสินใจว่าใครควรจะทำอะไรและเมื่อไร” เธอยังกล่าวอีกว่า “รูปแบบการทำงานในแพลตฟอร์มเหล่านั้น คล้ายกับการทำงานในชีวิตครอบครัวเป็นอย่างมาก บางทีลูกๆ ของเราก็ไม่ต่างไปจากผู้ที่มีหน้าที่รายงานเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละวันเท่าไหร่นัก” นอกจากนี้ แมซเมเนียนยังกล่าวถึงแพลตฟอร์มเหล่านี้ว่า เป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างมีคุณค่า โดยสามารถช่วยเหลือครอบครัวที่พ่อแม่ต้องทำงานทั้งสองคนได้ด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกัน เธอยังได้ข้อสังเกตว่า Asana อาจจะช่วยได้แม้กระทั่งในเรื่องของการแบ่งภาระงานบ้านที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคู่รัก โดยแพลต์ฟอร์มนี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือชี้วัดให้พวกเขาเห็นว่าแต่คนละกำลังทำอะไรอยู่และทำอะไรไปแล้วบ้าง
บางครั้งความต้องการที่จะปรับปรุงชีวิตในบ้านก็อาจเป็นผลจากการตั้งคำถามของนายจ้างที่มักตั้งคำถามเพื่อทดสอบความรู้ของพนักงานในองค์กร โดย เอริน เคลลี (Erin Kelly) ศาสตราจารย์แห่งโรงเรียนธุรกิจและการจัดการแห่งสโลน (Sloan School of Management) ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT: Massachusetts Institute of Technology) และผู้เขียนร่วมของหนังสือ Overload: How Good Jobs Went Bad and What We Can Do About It ได้กล่าวว่า “ฉันได้เห็นถึงการใช้งานซอฟต์แวร์ภายในครอบครัวที่ช่วยให้พ่อแม่รับมือกับความรู้สึกตึงเครียดในที่ทำงานได้ดียิ่งขึ้น” ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าการนำเครื่องมือที่ใช้ในระบบการทำงานมาใช้ในการจัดระเบียบชีวิตในบ้าน สามารถช่วยลดเวลาและลดความตึงเครียดจากการทำงานได้
ในทางกลับกัน การใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์เหล่านี้อาจไม่ได้ราบรื่นเสมอไป อย่างกรณี เพียเดอร์ เฟียลสตรอม (Peder Fjällström) อดีตนักออกแบบแอปพลิเคชันซึ่งอาศัยอยู่ในสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ได้กล่าวว่า เขารู้สึกตื่นเต้นกับการที่ได้ใช้ซอฟต์แวร์ในบ้านเมื่อ 2-3 ปีหลังจากการนำไปใช้ในที่ทำงาน นอกจากนี้ เขายังได้สร้างเครื่องมือเล็กๆ ขึ้นมาเองภายในโปรแกรมที่จะช่วยให้สมาชิกในครอบครัวสามารถเพิ่มรายการสินค้าลงในรายการของที่ต้องการจะซื้อได้ รวมไปถึงสามารถที่ระบุตำแหน่งปัจจุบันของลูกๆ ของเขาได้ด้วย โดยดึงข้อมูลจากแอปพลิเคชัน Find My iPhone และในบางครั้ง Slack ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือที่เขาและภรรยาใช้เรียกลูกทั้งสองคนให้กลับมาทานอาหารเย็น
แต่สุดท้าย เขากลับค้นพบว่าการทดลองใช้ รวมถึงการวางระบบเพื่อใช้ซอฟต์แวร์อย่าง Slack นั้น สามารถดึงความสนใจเด็กๆ ได้เพียง 3-4 เดือนเท่านั้น ในไม่ช้าเด็กๆ ก็จะหันไปสนใจแอปพลิเคชันที่ให้ความสนุกมากกว่านี้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้ข้อสรุปว่าการใช้งาน Slack กับครอบครัวนั้นทำให้ชีวิตในบ้านมีบรรยากาศที่เหมือนกับการทำงานมากขึ้น ซึ่งซอฟต์แวร์เหล่านี้สามารถเข้ามาช่วยได้ในเวลาที่รู้สึกว่าชีวิตค่อนข้างยุ่งเหยิงได้ดีเลยทีเดียว แต่ในความเป็นจริงนั้น ชีวิตคนเราควรจะมีความยุ่งเหยิงเป็นเรื่องธรรมชาติ และเขายังตระหนักได้ว่า จริงอยู่ที่ซอฟต์แวร์สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมขนาดนั้น ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ซอฟต์แวร์ยังไม่สามารถทำได้ เช่น การปล่อยเวลาให้เด็กๆ ได้สัมผัสถึงอารมณ์ทั้งหมด ณ ขณะนั้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เขาตั้งเป้าหมายไว้ ไม่ใช่เพียงการกำหนดโครงสร้างและแบ่งหน้าที่การทำงานในครอบครัวเพียงอย่างเดียว