รัสเซีย vs ยูเครน: เมื่อสันติไม่ใช่ทางออก ต้องสูญเสียกันอีกเท่าไหร่ท่านผู้นำจึงจะพอใจ

เวลาผ่านไปเกือบ 3 สัปดาห์ ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย วลาดีเมียร์ ปูติน ได้ออกคำสั่ง ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ (special military operation) ในยูเครน จนถึงวันนี้ เสียงปืนในยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะเงียบหายไป ประชาชนในพื้นที่ฝั่งยูเครนยังคงต้องเผชิญกับความสูญเสียอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อสันติไม่ใช่ทางออก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนล ไทยแลนด์ (Amnesty International Thailand) จึงชวนเหล่านักวิชาการมาร่วมกันจับตามอง วิเคราะห์สถานการณ์ในฐานะ ‘ประชากรโลก’ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบ รวมถึงเเนวโน้มสถานการณ์โลกที่อาจจะเกิดขึ้น หากประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยยังไม่สามารถร่วมกันแสดงจุดยืนที่ชัดเจนได้

‘ลี้ภัย’ ทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ ในวันที่คนยูเครนต้องทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง

“การทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้ข้างหลังมันไม่ง่าย เเต่เมื่อถึงวันหนึ่งก็จำเป็นต้องเก็บของทุกอย่างเเล้วจากไป หากลองนึกถึงคนที่ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรเลย มันช่างน่าลำบาก ยังมีชาวเอเชียเเละแอฟริกันที่อาจมีปัญหาในการข้ามพรมแดน รวมไปถึงคนที่มีลูกเล็ก ซึ่งต้องรอข้ามพรมแดนท่ามกลางสภาพอากาศที่ค่อนข้างแย่”

เอเบล โพลีส (Abel Polese) นักวิชาการผู้คลุกคลีกับวงการวิจัยเรื่องสถานการณ์หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตมาเป็นเวลากว่า 20 ปี บอกเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะ ‘ผู้ลี้ภัย’ ในช่วงแรกที่มีการบุกรุกของรัสเซียเข้ามายังยูเครน 

สิ่งเดียวที่เอเบลพอจะทำได้ในตอนนี้คือ การนำเรื่องราวเหล่านี้ออกมาเล่าให้ได้มากที่สุด ในฐานะผู้ที่อาศัยอยู่ในยูเครนมาเป็นเวลานานจนกลายเป็นผู้พำนักถาวร เอเบล เล่าว่า ก่อนรัสเซียรุกราน ยูเครนถือเป็นพื้นที่ที่มีสันติภาพ จนกระทั่งคืนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อรัสเซียประกาศจะบุกยึดยูเครน แน่นอนว่าในขณะนั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีสงครามเกิดขึ้นจริงๆ

เอเบลเล่าว่า ตลอดระยะเวลาในช่วงนั้น เสียงระเบิดยังคงดังขึ้นอย่างต่อเนื่องในบริเวณชายแดน และทวีความรุนเเรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การอพยพในช่วงแรกยังไม่ลำบากมากนัก ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ผู้ลี้ภัยต้องเจอกับแถวที่มีความยาวถึง 5 กิโลเมตร รวมไปถึงการจราจรที่หนาแน่นบนท้องถนน โดยจุดหมายร่วมของทุกคนคือการลี้ภัยข้ามไปยังฝั่งยุโรป 

แม้จะต้องเผชิญกับสภาวะหลับๆ ตื่นๆ บนรถ เนื่องจากต้องรอจังหวะที่รถจะขยับนานถึง 5 ชั่วโมง แต่การลี้ภัยไปยังยุโรปก็ถือเป็นโชคดีสำหรับผู้ที่มีครอบครัวรออยู่ที่นั่นและสามารถใช้ภาษาเดียวกันกับชาวยุโรปได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ สำหรับชาวยูเครนทั่วไป การข้ามไปอยู่ฝั่งยุโรปอาจเป็นเรื่องยากที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่เเละหางานทำในทันที เนื่องจากข้อจำกัดทางภาษา

คำขอโทษเเละยุติการบุกรุก ไม่ได้อยู่ในแผนของปูติน

“ไม่มีใครจะบ้าเท่าปูตินอีกแล้ว เราไม่สามารถจินตนาการออกเลยว่า ปูตินจะพูดว่า ‘โอเค เรามีเงินพอเเล้ว เราจะถอย’ ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะลงโทษรัสเซียได้ในทันที”

เอเบลเผยอีกว่า แนวคิดการบุกยึดยูเครนครั้งนี้ของปูตินคือ หากไม่ได้ทั้งหมดของยูเครน ได้สักเสี้ยวหนึ่งก็ยังดี ซึ่งประเมินได้จากการที่รัสเซียมีการส่งกองกำลังไปยึดไครเมีย รวมถึงยึด 2 เมืองฝั่งตะวันออกในช่วงก่อนหน้านี้ แม้ว่าพื้นที่ตรงนั้นจะไม่ใช่พื้นที่ของรัสเซียอย่างสมบูรณ์ และการที่ยูเครนเข้าร่วมองค์การนาโต (North Atlantic Treaty Organization: NATO) ยิ่งเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้รัสเซียเคลื่อนไหวโดยการส่งกองทัพไปยังชายแดนเพื่อที่จะเเสดงพลังอำนาจ โดยไม่มีหน่วยข่าวกรองใดทราบมาก่อน แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่คาดคิดว่าจะมีการบุกรุกเกิดขึ้น 

นอกจากนี้ ปูตินไม่ใช่บุคคลที่จะออกมากล่าวคำขอโทษหรือจะหยุดการรุกราน เขาเป็นคนที่ต้องไปสุดทาง ไม่เจรจา รอรับผลเพียงอย่างเดียวว่าจะชนะหรือแพ้ และทางยูเครนในขณะนี้ก็ไม่มีอำนาจต่อรอง รวมถึงไม่มีใครในฝั่งรัสเซียที่จะสามารถจัดการปัญหานี้ได้ แม้จะเห็นต่างจากปูตินมากแค่ไหนก็ตาม 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ จะมีการยกระดับสถานการณ์ให้รุนเเรงขึ้นไปเรื่อยๆ หากจะใช้วิธีการเจรจา ต้องเป็นการเจรจาที่จะเเสดงให้เห็นว่ามีทางออก ไม่ใช่การชี้ทางออก ซึ่งถือเป็นเรื่องยาก รวมถึงท่าทีจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเลือกยืนข้างใคร

นโยบายต่างประเทศของรัสเซียและความขัดเเย้งระหว่างรุ่น คือปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะสงคราม

ดร.คู่บุญ จารุมณี อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้มีความสนใจในประเด็นการเมือง กฎหมาย เเละนโยบายของรัสเซีย ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุการเกิดสภาวะสงครามในครั้งนี้ว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย และส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของผู้คน ซึ่งเป็นความขัดเเย้งทางอัตลักษณ์ของคนเเต่ละรุ่นที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านรัสเซีย

ส่วนแรกที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนโยบาย สามารถอธิบายได้ว่า การตัดสินใจของปูตินในครั้งนี้ คือฟางเส้นสุดท้ายที่ขาดสะบั้นหลังจากที่ยูเครนเข้าร่วมสหภาพยุโรป (European Union: EU) ซึ่งตามนโยบายของรัสเซียจะเห็นได้ว่า ยูเครนถูกจัดให้มีความสำคัญอันดับต้นๆ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโบราณ และรัสเซียมองยูเครนเป็นรัฐกันชน ซึ่งเป็นแนวคิดความมั่นคงที่เชื่อว่าจะไม่มีทางแบ่งแยกกันได้มาโดยตลอด 

ดร.คู่บุญ ย้ำว่า หากมองในมิติผลประโยชน์ทางนโยบายต่างประเทศของรัสเซียก็เพียงพอที่จะสามารถทำความเข้าใจถึงการกระทำในครั้งนี้ได้ แม้การทำสงครามจะไม่ใช่ทางออกสำหรับเรื่องใดเลยก็ตาม อีกกรณีคือ หากการมองภาพกว้างในมิติของอำนาจ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกยังมีประเทศมหาอำนาจอยู่ ซึ่งปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่า เเต่ละรัฐมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง แต่ก็ทำได้เพียงหวังว่า ประเทศมหาอำนาจจะไม่เข้ามาเเทรกแซงประเทศเล็กๆ เหมือนสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และถึงเเม้รัสเซียจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาความเป็นมหาอำนาจ แต่การเมืองโลกในปัจจุบันล้วนให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลขอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ดังนั้น การมุ่งเน้นเพียงเพื่อรักษาความเป็นมหาอำนาจ อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์และภาพรวมทางการเมืองในปัจจุบัน

ประเด็นที่ 2 คือเรื่องความขัดเเย้งของผู้คนเเละการปะทะระหว่างรุ่น โดยสามารถนำเเนวคิดสงครามเย็นเข้ามาอธิบายได้ เช่น กรณีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่นำไปสู่การปิดพรมแดน จะเห็นได้ว่า จากเดิมที่ผู้คนเคยอยู่ในโลกไร้พรมแดน ต้องกลับมาอยู่ในพรมแดนอีกครั้ง ซึ่งจากการพูดคุยกับชาวรัสเซียที่เคยผ่านยุคแห่งการล่มสลายของโซเวียตมาก่อน จะพบว่า กลุ่มคนเหล่านั้นมีมุมมองที่แตกต่างจากคนรุ่นใหม่โดยสิ้นเชิง นั่นคือ การเห็นดีเห็นงามกับการกลับเข้ามาอยู่ในพรมแดนอย่างมีขอบเขต ด้วยเหตุนี้ การพูดถึงผู้คนจึงต้องมองทั้งสองระดับ เนื่องจากรัฐได้สร้างอัตลักษณ์ไว้ในผู้คนแต่ละรุ่นด้วยเช่นกัน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้าง ‘รัฐชาติ’ ในขณะเดียวกัน ชาวยูเครนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาก็ได้มีการสร้างอัตลักษณ์หรือรัฐชาติในแบบของพวกเขาเองในโลกไร้พรมแดน

อีกด้านหนึ่งก็สามารถจำแนกคนรัสเซียออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือผู้ที่สนับสนุนปูตินอย่างเต็มที่ และมองยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มต่อต้านสงคราม ในขณะเดียวกันก็สามารถยอมรับนโยบายของรัสเซียได้ ส่วนกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ต่อต้านวิธีคิดของปูติน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คนกลุ่มนี้อาจถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หากมีการแสดงความคิดเห็นที่ชัดเจนหรือเปิดเผยมากเกินไป

ดร.คู่บุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้คนบางกลุ่มต้องเลิกเเนวคิดแบบสงครามเย็นเสียก่อน ไม่ใช่เพียงการหาคำตอบว่าใครผิดใครถูก และหากกลับมามองถึงเรื่องความแตกต่างของอัตลักษณ์ในแต่ละรุ่น จะพบว่า เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งสถานการณ์นี้ทำให้เห็นได้ว่าผู้คนมีบรรทัดฐานและความเชื่อที่ต่างกัน แต่การต่อต้านสงครามจะเป็นจุดร่วมของผู้คนทุกกลุ่มได้

การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่รัสเซียเป็นผู้ก่อ

บรูซ มิลลาร์ (Bruce Millar) ผู้จัดการฝ่ายงานรณรงค์ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนล นำเสนอภาพกว้างในด้านของสิทธิมนุษยชน โดยสามารถแบ่งส่วนที่รัสเซียละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

  1. การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ: ในสถานการณ์ความขัดเเย้งนี้ รัสเซียใช้กำลังทางทหารที่ไม่เพียงเเต่พุ่งเป้าหมายไปยังสถานที่ทางทหารยูเครนเท่านั้น เเต่ยังสร้างความเสียหายแก่อาคารก่อสร้างของพลเมือง รวมถึงสถานศึกษา สถานพยาบาล เเละเเทบไม่มีการคุ้มครองพลเมืองเลย นอกจากนี้ยังมีการใช้อาวุธที่ไม่มีการพุ่งเป้าอย่างเฉพาะเจาะจงและการใช้ระเบิดพวง (cluster bomb) ในสถานที่ต่างๆ ทำให้ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของพลเมืองได้ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ทั้งสองฝ่ายต้องมีการคุ้มครองพลเมืองไว้ให้ได้มากที่สุด และพลเมืองไม่ควรจะตกเป็นเป้าหมายทางทหาร
  2. กรณีผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย: หากความขัดเเย้งทวีความรุนเเรงขึ้นจนขยายไปยังฝั่งตะวันตก อาจเกิดการเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัยมากถึง 4 ล้านคน โดยทางแอมเนสตี้ได้เรียกร้องให้มีการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ว่าทุกคนควรได้รับความช่วยเหลือไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ไม่ใช่เพียงชาวยูเครนเท่านั้น เห็นได้จากสถานการณ์ที่เอเบลได้บอกเล่าว่า มีชาวเอเชียเเละแอฟริกันที่ประสบปัญหานี้ในการลี้ภัยไปยังฝั่งยุโรป ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นในสภาวะฉุกเฉินเช่นนี้
  3. การละเมิดสิทธิการแสดงออกในรัสเซีย: จากสถานการณ์ความขัดเเย้งที่เกิดขึ้น พบว่าชาวรัสเซียที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจถูกลงโทษจำคุกนานถึง 5 ปี รวมไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างสันติในรัสเซียด้วยเช่นกัน

บรูซ กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่อนข้างไม่มีหวังกับรัสเซียในขณะนี้ เนื่องจากมีเยาวชนถูกควบคุมเเละจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอด เพียงแค่เห็นต่างก็มีสิทธิ์ที่จะถูกฟ้อง เมื่อผู้เห็นต่างบางส่วนต้องหนีออกจากประเทศ ก็ยิ่งทำให้มีจำนวนผู้เห็นต่างที่น้อยลง ด้านแอมเนสตี้ก็พยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้บุคลากรในองค์กรปลอดภัย เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ท่าทีการโต้ตอบของรัฐบาลรัสเซียได้ และสภาวะสงครามนี้อาจขยายไปยังประเทศอื่นได้ 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทั้งโลกอาจต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดเเย้ง ภาคีระหว่างรัสเซียเเละจีน ซึ่งอาจส่งผลให้องค์การนาโต (NATO) ต้องลุกขึ้นมาแสดงบทบาท เนื่องจากสถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อประชากรโลก ทั้งในด้านพลังงาน ความมั่นคง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือเเย่ลง 

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า