The Good Lie: คำโกหกให้ตัวเองเมื่อมองผ่านผู้ลี้ภัย

maxresdefaultเรื่อง: เมธาวี เด่นทรัพย์ไพบูลย์ / ภาพ: ยุทธนา คล้ายสุบรรณ

 

บทสนทนาหัวข้อ ‘ชีวิตผู้ลี้ภัยในเมือง’ เริ่มต้นขึ้นหลังจากเอนด์เครดิตหนังเรื่อง The Good Lie จบลง วงเสวนาจัดโดย เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRS), อไซลัมแอสเซสประเทศไทย (Asylum Access Thailand) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยมี ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวรางวัลสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ดำเนินรายการ สมทบด้วยผู้เสวนาสองท่าน คนแรก อดิศร เกิดมงคล แห่ง อไซลัมแอสเซสประเทศไทย (Asylum Access Thailand) และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติขององค์กรพัฒนาเอกชนชื่อ Migrant Working Group และ สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดีและนักเขียนเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา

 

ถ้าไม่หนีออกมาก็ตาย

ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นผู้ลี้ภัย เพราะไม่มีใครอยากจะจากบ้าน แต่ถ้าไม่จากมาก็ตาย

ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติอย่างอดิสรณ์ กล่าวถึงความรู้สึกของผู้ลี้ภัยที่เขาได้พบเจอ เขาได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ลี้ภัยในไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวม้งหรือชาวกะเหรี่ยง การเดินทางของคนเหล่านี้เริ่มต้นจากเวียดนามผ่านเข้าไปในลาว ระยะเวลาการเดินทางของผู้ลี้ภัยประมาณสองเดือน ได้ผลิตเรื่องเล่าระหว่างทางมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ลี้ภัยพูดเหมือนกัน ไม่มีใครอยากจากบ้านตัวเองมาใช้ชีวิตท่ามกลางสิ่งที่เต็มไปด้วยอุปสรรค สิ่งนี้ทำให้อดิสรณ์รู้สึกว่า ไม่มีใครอยากจะจากบ้านเกิดเมืองนอน เมื่อไม่สามารถอยู่ได้ ก็ต้องจากมา เพราะถ้าไม่จากมา ความตายก็ยืนหายใจรดต้นคอ

The Good Lie เริ่มต้นเรื่องราวในซูดาน ประเทศที่มีอันตรายและสงครามภายในประเทศเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เด็กทั้งสี่หนีตายมาจากหมู่บ้านของพวกเขา ซึ่งครอบครัวและคนอื่นๆ ถูกยิงตายจากคนนอกเผ่าเพื่อแย่งชิงอาหารและทรัพย์สินมีค่า พวกเขาเดินเท้าหนีทหารและเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติ ดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่รอดต่อไป

ในสายตาของช่างภาพอย่างสุเทพ หนังสะท้อนให้เขาเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด อย่างฉากหนึ่งในหนังที่พวกเขาต้องดื่มปัสสาวะตัวเอง เพราะหาน้ำดื่มไม่ได้ระหว่างการเดินทางไปค่ายผู้ลี้ภัยที่เคนย่า พวกเขากล่าวว่า ฉันอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

“ผมคิดว่าการเป็นผู้ลี้ภัยมีสองอย่างที่สำคัญคือ มันเป็นโอกาสและการที่เขาหวังว่าจะมีชีวิตรอดอยู่ต่อ” อดิสรณ์กล่าวเสริม

IMG_2842

อพยพมาตั้งแต่อดีต

จากดัชนีชี้วัดของแอมเนสตี้ ซึ่งถามคนทั่วโลกเกี่ยวกับความยินยอมในการรับผู้อพยพเข้ามาในประเทศ ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเปอร์เซ็นต์ของผู้ยินยอมในการรับผู้อพยพเข้ามาในประเทศต่ำมาก ประมาณ 29 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปัญหาใหญ่ก็คือ เรามองเขาต่างจากพวกเรา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฐปนีย์ตั้งคำถามถึงทัศนคติและความเข้าใจต่อปัญหาของผู้ลี้ภัยที่ต้องมาอาศัยอยู่ชั่วคราว รวมไปถึงคนที่ต้องมาทำงานว่า เราจะมีวิธีปรับทัศนคติของคนไทยอย่างไร

สุเทพยกตัวอย่างกรณีของ จีนก๊กมินตั๋ง ซึ่งเกาะกลุ่มรวมกันอยู่มากที่เชียงราย ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และบุคคลที่มีชื่อเสียงบางส่วนก็เป็นลูกหลานของผู้อพยพเช่นกัน ที่กลับมาสร้างประโยชน์ให้สังคม ซึ่งสังคมไทยส่วนหนึ่งไม่เปิดใจยอมรับว่า ปัญหาของผู้ลี้ภัยไม่ใช่แค่เรื่องของการช่วยเหลือกัน แต่เป็นการให้โอกาสคนที่เจอกับปัญหา และมอบความหวังให้แก่พวกเขาเพื่อเริ่มต้นใหม่และสร้างสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม

“ประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านมานาน จึงอาจทำให้เรามีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีนักกับผู้ลี้ภัย” อดิสรณ์พูดถึงทัศนคติส่วนหนึ่งที่มีต่อผู้ลี้ภัย ทั้งๆ ที่เราประสบปัญหาผู้ลี้ภัยมาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน ในสมัยสงครามอินโดจีนจนมาถึงปัญหาของชนกลุ่มน้อยพม่า กระทั่งเป็นชาวโรฮิงญาในปัจจุบัน

“ซึ่งในกรณีของประเทศไทยผมก็เข้าใจนะ เพราะเราประสบปัญหาเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลานาน จึงทำให้มีทัศนคติที่ไม่ดีแม้แต่ตัวรัฐบาลเอง แต่ก็อยากให้เข้าใจว่า บางครั้งเมื่อถึงคราวที่คุณเป็นผู้ลี้ภัยเอง ก็คงไม่มีใครอยากจากบ้านมาหรอก”

ผู้ลี้ภัยอาจไม่ได้มาจากสงคราม

ฐปนีย์เปิดประเด็นนี้ด้วยคำถามในเรื่องของการเป็นผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้มาจากสงคราม แต่ในอนาคตเราจะมีผู้ลี้ภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและทางศาสนา เช่น ชาวโรฮิงญา และอาจจะสับเปลี่ยนจากผู้ให้ที่พักพิงกลายเป็นผู้ลี้ภัยเสียเอง

“ในทศวรรษหน้า ผู้ลี้ภัยมันจะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นผลมาจากสงคราม แต่รวมไปถึงปัญหาทรัพยากรและศาสนา”

สุเทพกล่าวถึงสภาพอาการเปลี่ยนแปลงที่อาจสอดคล้องกับแนวโน้มของการเป็นผู้ลี้ภัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว ปัญหาดังกล่าวจะกลายเป็นปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรพื้นที่เพื่อที่จะไม่ให้ใครเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรของเราไป ตรงนี้นี่เองที่เป็นอีกสาเหตุสำคัญ เพราะเรากลัวว่าคนนอกจะเข้ามาแย่งชิง จึงพยายามกีดกันพวกเขาออกไป

IMG_2646

ผู้ลี้ภัยที่แท้จริง

ปัจจุบันผู้ลี้ภัยไม่ได้อยู่แต่เพียงในค่ายเท่านั้น

อดิศรบอกก่อนจะแจกแจงประเภทของผู้ลี้ภัยในไทยเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ หนึ่ง-ผู้ลี้ภัยที่มาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 100,000 คน และสอง-ผู้ลี้ภัยในเมือง โดยส่วนนี้มักมีปัญหามาจากการขออยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ที่มีเครือข่ายอยู่ในประเทศไทย แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้รับรองอยู่ในภาคีว่าด้วยผู้ลี้ภัย ทำให้ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรับผู้ลี้ภัย ส่งผลไปยังขั้นตอนในการขอสถานะ เพราะต้องใช้เวลา 5-6 ปีเป็นอย่างน้อย หากถูกปฏิเสธก็ต้องรอไปอีก 2-3 ปี ในการที่จะยื่นขออีกครั้ง รวมเวลาแล้วก็ 8-10 ปี ทำให้พวกเขาต้องอาศัยอยู่ด้วยความหวาดกลัว และต้องยอมรับสถานะของการเป็นคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

อดิสรณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า การไม่มีสถานะทำให้ประสบปัญหาในการดำรงชีวิต แต่ประเทศไทยก็มีนโยบายที่น่าสนใจอยู่บ้าง เช่น การให้สิทธิ์สำหรับบุคคลที่ไม่ใช่คนไทยสามารถซื้อสิทธิการรักษาและสวัสดิการในราคา 2,000 บาทต่อปี แต่ปัญหาก็ยังคงมีอยู่เกี่ยวกับโรงพยาบาลรัฐบางแห่งที่ไม่ยอมขายสวัสดิการนั้นให้แก่ผู้ลี้ภัย เพียงเพราะพวกเขาไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย

“คำถามก็คือว่า ในกรณีของคนที่เขาไม่มีสวัสดิการนั้น จะรอให้ตัวเองป่วยหนักก่อน พอป่วยหนักค่ารักษาก็ขึ้นราคาตามไปด้วย ดังนั้น การที่เราไม่มีนโยบายที่ชัดเจนก็จะทำให้พวกเขาไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว”

ความเข้าใจที่จะอยู่ต่อ

ถ้าใครได้ดูหนังเรื่องนี้จะเห็นว่าอีกหนึ่งตัวดำเนินเรื่องสำคัญก็คือ ผู้หญิงที่ชื่อว่า แคร์รี เธอรับหน้าที่ในการดูแลหางานให้แก่ผู้ลี้ภัยทั้งสี่ แคร์รีคิดว่าหน้าที่ของเธอจบลงเมื่อหางานให้พวกเขาได้ ต่อมาเมื่อได้เริ่มทำความเข้าใจและเริ่มเห็นใจพวกเขา เธอก็พบว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่ทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ ไม่ใช่แค่การมาอเมริกา แต่เป็นเรื่องการทำความเข้าใจ เห็นใจ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

แต่ในส่วนของสังคมไทยที่มีความคิดเห็นและทัศนคติค่อนข้างลบกับผู้ลี้ภัย บวกกับรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีนโยบายหรือการรับรองผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน อาจจะต้องเริ่มสร้างจากความเข้าใจก่อน

“ผมมองอยู่สองประเด็น” อดิศรบอกก่อนจะอธิบายเพิ่มว่า หนึ่งคือ สังคมไทยโดยรวม สองคือ รัฐบาลไทย “คนทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ลี้ภัย ต่อให้คุณเป็นชาวบ้านถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คุณก็อาจจะได้รับการคุกคามจากรัฐได้ โอกาสมันเกิดขึ้นตลอดเวลา”

ทั้งนี้ประเทศไทยมีขั้นตอนในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยดั้งเดิมสามขั้นตอนคือ หนึ่ง-การส่งตัวกลับเมื่อเหตุการณ์สงบ ซึ่งเราก็ได้ทำกับผู้ลี้ภัยชาวจีน สอง-การส่งไปยังประเทศที่สาม โอกาสนี้เริ่มหายไป เพราะซีเรียและผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางมีมากขึ้น และสุดท้ายคือการยอมรับเขาเป็นส่วนหนึ่งของไทย ซึ่งเราเรียกพวกเขาว่าเป็นคนกลุ่มน้อย ทั้งหมดที่ว่ามา สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดก็คือวาระทางการเมืองที่ชัดเจน

“เราไม่ได้ตระหนักว่าเราก็มีศักยภาพมากเพียงพอที่จะรองรับพวกเขา ผมอยากจะบอกคนในประเทศให้ตระหนักว่า เราเป็นเจ้าของอำนาจและให้พวกเราร่วมกันแสดงอย่างชัดเจนต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือ”

สุเทพเน้นเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างโรฮิงญาว่า การที่เราจะมีน้ำใจต่อกันมันก็เป็นเรื่องที่สมควรต่อกัน สำคัญที่สุดก็ควรที่จะสร้างความเข้าใจก่อนที่จะมาตั้งคำถาม หรือเริ่มต้นรังเกียจว่าพวกเขาเป็นมุสลิมตัวดำ และทิ้งท้ายเป็นคำถามได้น่าสนใจทีเดียว

“ปีที่แล้วที่เกิดปัญหาแผ่นดินไหวที่เนปาล และมันตลกมากที่คนไทยต่างพร้อมใจกันส่งกำลังใจกันอย่างล้นหลาม และตั้งกองบริจาคกันอย่างใหญ่โต แต่พอเป็นเรื่องของชาวโรฮิงญา คนไทยทำไมถึงมีการแสดงออกในมุมมองตรงกันข้าม ซึ่งผมมองว่า ถ้าเกิดชาวเนปาลนั่งเรือมาไทย ผมยังจะคงถามว่าคนไทยจะยังคงต้อนรับพวกเขาอยู่หรือเปล่า”

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า