ในน้ำมีปลา ในปลามีพลาสติก

anchovy2
ภาพ: culinarybackstreets.com

 

โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่คิดว่าการกินปลานำมาซึ่งปัญหาสุขภาพน้อยที่สุด แต่ผลการศึกษาของ ศาสตราจารย์ฮิเดชิเกะ ทาคาดะ และทีมงานจากคณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยโตเกียว ชี้ให้เห็นปริมาณมลพิษในทะเลประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งอ่าวโตเกียวเชื่อมต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก) โดยทีมของศาสตราจารย์ฮิเดชิกะได้สุ่มตรวจปลาแอนโชวีที่ทยอยจับในอ่าวโตเกียวตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จำนวน 64 ตัว

จำนวนนี้ พบชิ้นส่วนไมโครพลาสติกหรือเม็ดพลาสติกขนาดเล็กถึง 150 ชิ้น รวมถึงชิ้นส่วนพลาสติก วัดขนาดใหญ่ที่สุดได้ 5 มิลลิเมตร ในระบบย่อยอาหารและลำไส้ทั้งหมด 49 ตัว จากทั้งหมด 64 ตัว ที่สำคัญ ในจำนวนไมโครพลาสติก 150 ชิ้นนี้ วัดขนาด 0.1-1 มิลลิเมตร ได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์

สันนิษฐานว่าเจ้าเม็ดพลาสติกจิ๋วหรือไมโครพลาสติกเหล่านี้มาจากขยะ เช่น ถุงพลาสติก และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่แตกหักเพราะคลื่นลมและรังสีอัลตราไวโอเล็ต และจากไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดบีดส์ ที่ใช้อย่างกว้างขวางในเครื่องสำอางและยาสีฟัน

ทั้งนี้ ขยะไมโครพลาสติกจะดูดซับสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (Polychlorinated biphenyls) หรือ พีซีบี (PCBs) กลุ่มของสารเคมีจำพวกสารอินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบหลัก

พิษของพีซีบี ไม่ใช่แบบเฉียบพลัน แต่จะสะสมในร่างกายทีละเล็กน้อยเป็นเวลานานจนเกิดอาการเรื้อรังในที่สุด อาการเริ่มแรกของการเกิดพิษคือ เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และแขนขาเกิดอาการบวม อาการต่อมาคือ เกิดฝีและตุ่มเล็กๆ ที่ผิวหนัง ผิวหนังและเล็บคล้ำ เปลือกตาบวม นอกจากนี้ยังอาจทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกัน และอาจทำให้เกิดมะเร็ง

 

microbeads1
microbeads

 

ที่ประเทศญี่ปุ่น ใน พ.ศ. 2511 ประชาชนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1,000 คน บริโภคน้ำมันรำข้าวที่มีการปนเปื้อนของสารพีซีบี เป็นเวลานานหลายเดือน การปนเปื้อนเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าว โดยท่อส่งผ่านความร้อนเกิดรั่ว ทำให้พีซีบีซึ่งเป็นสารที่ใช้ในระบบถ่ายเทความร้อน รั่วไหลลงไปในน้ำมัน

ในเหตุการณ์นี้ มีการประมาณว่าประชากรแต่ละคนที่บริโภคพีซีบีประมาณ 1 กรัม อาการพิษที่เกิดขึ้นคือ เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เปลือกตาบวม ผิวหนังและเล็บคล้ำ เกิดฝีและตุ่มเล็กๆ ที่ผิวหนัง ผิวหนังหนาและหยาบกร้าน ในคนไข้บางคน อาการเหล่านี้ยังคงปรากฏอยู่เป็นเวลานานถึงสามปี นอกจากนี้ทารกที่เกิดจากมารดาที่ได้รับสารพีซีบีจะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ และมีอาการทางผิวหนัง เนื่องจากได้รับสารผ่านทางรก

การศึกษาของทีมศาสตราจารย์ฮิเดชิเกะชี้ว่า ครั้งนี้ถือเป็นการตรวจเจอไมโครพลาสติกครั้งแรกในปลาทะเลน่านน้ำญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตรวจพบเจอมานานแล้ว รวมถึงอังกฤษ อินโดนีเซีย เช่นเดียวกับที่เจอในเต่าทะเล วาฬ หอยตลับ และนกทะเล

“นอกจากปลาแล้ว นกทะเลราว 90 เปอร์เซ็นต์ กินไมโครพลาสติกเข้าไป” ศาสตราจารย์ฮิเดชิกะเสริม

 


ที่มา:
japantoday.com

 

logo

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า