ความลับดำมืดของเม็ดบีดส์

bead01

กลางปีที่ผ่านมา ประเทศแคนาดาประกาศห้ามผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายใช้ไมโครบีดส์เป็นส่วนผสม และเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว สภาคองเกรส สหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติห้ามใช้ไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย เพื่อให้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ลงนาม แต่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2018

‘ไมโครบีดส์ (Microbeads)’ หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘เม็ดบีดส์’ ที่มักเป็นส่วนผสมสำคัญของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลร่างกายกว่า 10 ประเภท อาทิ ยาสีฟัน ครีม/โฟมล้างหน้า, โลชั่น, ครีมอาบน้ำ ฯลฯ

จริงๆ แล้วไมโครบีดส์เหล่านี้คือเม็ดพลาสติกประเภทโพลีเอทิลีนขนาดเล็ก และปัญหาของเจ้าพลาสติกเม็ดจิ๋วเหล่านี้  จะเกิดขึ้นหลังจากถูกชะล้างและไหลไปรวมกันที่แหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ทั้ง ทะเลสาบ แม่น้ำ และทะเล

ลิซ่า เออร์เดิล นักชีววิทยาชาวแคนาดา ทำงานให้กับ Ontario Streams กลุ่มเคลื่อนไหวและทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ใช้เวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมาเก็บตัวอย่างน้ำจากทะเลสาบออนแทริโอที่มีพื้นที่อยู่ในประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา

ลิซ่า เออร์เดิล เก็บตัวอย่างผิวน้ำหรือน้ำชั้นบนโดยใช้ตาข่ายขนาดเล็กกรอง  นอกจากจะได้สิ่งสกปรกต่างๆ ในน้ำแล้ว และเมื่อเทน้ำออก ก็จะพบสารแขวนลอยที่มีสิ่งสกปรก ข้น เหนียวต่างๆ ในนั้นมีเม็ดบีดส์อยู่ด้วย

ด้วยขนาดที่เล็กเทียบเท่าเม็ดทรายของไมโครบีดส์ ทำให้มันเป็นปัญหา เพราะสามารถเล็ดลอดผ่านตัวกรองทุกชนิดของโรงงานบำบัดน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำได้

“ผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่าง ครีมล้างหน้า, สบู่ล้างมือ, เครื่องสำอาง อาจไม่คิดว่าจะมีเม็ดพลาสติกอยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้”  เชอร์รี่ เมสัน ซึ่งศึกษาด้านไมโครบีดส์ที่ State University of New York at Fredonia ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวอย่างน้ำที่ลิซ่า เออร์เดิล เก็บมาจากทะเลสาบออนแทริโอ  ว่า นอกจากผู้บริโภคส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตัวเองปล่อยเม็ดพลาสติกลงแหล่งน้ำแล้ว  ไมโครบีดส์จำนวนมหาศาลเหล่านี้ยังไหลลงไปรวมตัวกันที่ The Great Lakes กลุ่มทะเลสาบน้ำจืดที่สะอาดและมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่ สุพีเรีย มิชิแกน ฮูรอน อิรี และออนแทรีโอ  ในเขตทวีปอเมริกาเหนือ

fish

เชอร์รี่ เมสัน ให้ข้อมูลว่าในแต่ละปี  แค่นิวยอร์กรัฐเดียว ก็ผลิตไมโครบีดส์ถึง 19 ตันลงสู่แหล่งน้ำ และเมื่อเม็ดบีดส์เหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำ  มันก็จะไปดูดซึมสารเคมีเป็นพิษต่างๆ โดยเฉพาะ PCBs หรือ โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (Polychlorinated biphenyls) คือ กลุ่มของสารเคมีจำพวกสารอินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบหลัก ในทางอุตสาหกรรมใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุต่างๆ เช่น กาว สี สารกันรั่วซึม พลาสติก น้ำมันหล่อลื่น ฯลฯ

สาร PCBs เป็นสารที่ทนต่อความร้อน สลายตัวได้ยากในธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะต่อวงจรอาหาร และสามารถเข้าสู่ร่างกายคนโดยการกิน เช่น เนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่กินอาหารที่มี PCBs ปนเปื้อน

“สารเคมีเหล่านี้จะส่งผลต่อร่างกายโดยไปขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ และมีแนวโน้มเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งไมโครบีดส์ทำหน้าที่เหมือนเป็นพาหะ นำพาสารเคมีจากแหล่งน้ำเหล่านี้มาเสิร์ฟถึงร่างกาย” เชอร์รี่ เมสัน อธิบาย

นอกจากจะขนาดเล็กจนแทบจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ปลาชนิดต่างๆ ก็อาจจะเห็นเม็ดบีดส์ว่าเป็นไข่ปลาและกินเข้าไป เช่นเดียวกับหอยชนิดต่างๆ ห่วงโซ่อาหารอันตรายจึงเริ่มขึ้นตรงจุดนี้

จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลประเทศแคนาดาประกาศห้ามใช้ไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายทุกชนิดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากพิจารณาผ่านงานวิจัยกว่า 130 ชิ้นที่ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรเพิ่มไมโครบีดส์เข้าไปในรายการสารพิษของประเทศ

“การตระหนักว่าน้ำสัมพันธ์กับทุกอย่างเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าสารพิษเหล่านี้อยู่ในแหล่งน้ำก็จะส่งผลกระทบต่อทุกคน ไม่ว่าจะคุณจะอยู่ในบังคลาเทศ ซิมบับเว หรือนิวยอร์คก็ตาม” เชอร์รี่ เมสัน ชี้

toothpaste

ขณะนี้มีบางรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ออกกฎหมายห้ามใช้ไมโครบีดส์แล้ว แต่การออกเป็นพระราชบัญญัติหรือกฎหมายทั่วประเทศจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2018 เป็นต้นไป ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะห้ามใช้ไมโครบีดส์บางชนิดและอนุญาตให้ใช้พลาสติกชนิดย่อยสลายได้ทดแทน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พลาสติกก็ยังคงเป็นพลาสติก ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเม็ดบีดส์จะย่อยสลายได้หรือไม่เมื่อจมอยู่ใต้แหล่งน้ำ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายต่างๆ ก็มีแนวโน้มลดการใช้ไมโครบีดส์ลงเรื่อยๆ

 

ที่มา : pri.org

image

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า