100 ปีแห่งความอยุติธรรมที่ทัลซา เมื่อทุ่งสังหารคนดำถูกแปลงเป็นเขตเศรษฐกิจของคนขาว

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ศาลแขวงทัลซา เคานต์ตี (Tulsa County District Court) รัฐโอคลาโฮมา (Oklahoma) สหรัฐอเมริกา มีคำสั่งยกฟ้องคดีประวัติศาสตร์คดีหนึ่งที่โจทก์ 3 คน เรียกร้องค่าชดเชยในเหตุการณ์ที่พวกเขาถูกกระทำเมื่อ 100 ปีที่แล้ว 

วิโอลา เฟลทเชอร์ (Viola Fletcher) เลซซี เบนนิงฟิลด์ แรนเดิล (Lessie Benningfield Randle) และฮิวส์ แวน อิลลิส (Hughes Van Ellis) มีอายุเพียง 7 ขวบ 6 ขวบ และยังไม่เต็ม 1 ขวบ ตามลำดับ ในปี ค.ศ. 1921 ตอนนั้นย่านกรีนวูด เขตทัลซา ในรัฐโอคลาโฮมาบ้านเกิดของพวกเขา คือเขตเศรษฐกิจที่สำคัญและมั่งคั่งที่สุดของคนดำ หรือรู้จักกันทั่วไปว่า ‘วอลล์สตรีตดำ’ (Black Wall Street) เกิดเหตุการณ์ที่โลกเรียกขานภายหลังว่า ‘การสังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ที่ทัลซา’ (Tulsa Race Massacre) 

เหตุจลาจลเริ่มจากเหตุเล็กๆ เพียงแค่เด็กหนุ่มผิวดำคนหนึ่งสะดุดล้มในลิฟต์ แล้วบังเอิญไปเหยียบเท้าพนักงานประจำลิฟต์ที่เป็นสาวผิวขาวในวันที่ 31 พฤษภาคม และจบลงในวันที่ 1 มิถุนายน ด้วยการที่คนดำถูกสังหารมากถึง 300 ราย และไร้ที่อยู่อาศัยอีกกว่า 8,000 คน (อ่าน หนึ่งศตวรรษการสังหารหมู่ที่ทัลซา, สหรัฐอเมริกา ผู้รอดชีวิตวัย 107 ปี ยังได้กลิ่นความตาย https://waymagazine.org/100-years-tulsa-race-massacre/)

ความพ่ายแพ้ที่เจ็บปวด

เฟลทเชอร์ แรนเดิล และอิลลิส เป็นผู้ที่ประสบกับความรุนแรงของการสังหารหมู่ในครั้งนั้น 3 คนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้ง 3 คนยื่นฟ้องเทศบาลเมืองทัลซา และจำเลยอื่นๆ ในปี ค.ศ. 2020 เพื่อขอให้ศาลสั่งให้จำเลยชดเชยค่าเสียหายที่เป็นตัวเงินให้กับพวกตน จากการได้รับความเสียหายต่อชีวิต อารมณ์ความรู้สึก และทรัพย์สินอันเนื่องด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ที่ทัลซา ในปี ค.ศ. 1921 และความเสียหายนั้นยังคงดำเนินมาถึงปัจจุบัน 

คำฟ้องระบุถึงความเสียหายของทั้ง 3 คน ในลักษณะคล้ายกันว่า ความรุนแรงครั้งนั้นทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวและมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยตลอดเวลา ภาพของศพคนดำที่ถูกวางกองซ้อนทับบนถนน และไฟที่โหมไหม้ละแวกบ้านของพวกเขายังคงแจ่มชัดในความทรงจำ บ้านของครอบครัวแรนเดิลถูกปล้น ข้าวของถูกทำลาย ครอบครัวของเฟลทเชอร์และอิลลิสหนีเอาตัวรอดมาได้พร้อมเสื้อผ้าที่แต่ละคนสวมติดตัวเท่านั้น นอกจากความทุกข์ทรมานทางอารมณ์และจิตใจแล้ว ทั้ง 3 คน ยังต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ต้องใช้ชีวิตอย่างดิ้นรนและแร้นแค้นตลอด 100 ปีที่ผ่านมา 

ปัจจุบัน แรนเดิล อายุ 109 ปี ยังคงพักอยู่ในทัลซา ส่วนเฟลทเซอร์ อายุ 108 ปี พักที่เมืองบาร์ตเทิลส์วิลล์ (Bartlesville) โอคลาโฮมา และอิลลิส ในวัย 102 ปี ใช้ชีวิตที่เดนเวอร์ โคโลราโด 

แคโรลีน วอลล์ (Caroline Wall) ผู้พิพากษาคดีนี้ มีคำสั่งยกฟ้องโดยห้ามฟ้องใหม่ (dismissed with prejudice) ได้ออกแถลงการณ์สั้นๆ เพียงว่า คำพิพากษาของเธอเกิดขึ้นหลังฟังคำแถลงต่อคดีของทนายทั้ง 2 ฝ่ายด้วยความเคารพ 

The Black Wall Street Times สื่อที่เป็นกระบอกเสียงของคนผิวดำในอเมริกา เรียกคำพิพากษาในวันนั้นว่า ‘ความพ่ายแพ้ที่เจ็บปวด’ ของผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางชาติพันธุ์ที่โหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา 

คำพิพากษาของศาลแขวงทัลซา เคาท์ตี สวนทางกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการสืบสวนข้อเท็จจริงการสังหารหมู่ที่ทัลซา ซึ่งสภานิติบัญญัติรัฐโอคลาโฮมาตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1997 ตามคำเรียกร้องของสมาชิกสภานิติบัญญัติคนหนึ่งที่คุณปู่ของเขาเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้น

หลังใช้เวลา 4 ปี ในการสืบสวนสอบสวน ปี ค.ศ. 2001 คณะกรรมาธิการฯ มีมติเป็นข้อเสนอต่อเทศบาลเมืองทัลซา ให้ดำเนินการตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ จ่ายค่าชดเชยโดยตรงให้กับผู้รอดชีวิตและลูกหลานของเหยื่อการสังหารหมู่ในวันนั้น จัดตั้งกองทุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการสังหารหมู่ สร้างเขตเศรษฐกิจในกรีนวูดเดิมที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ สร้างอนุสรณ์สำหรับเหยื่อการสังหารหมู่ และสร้างที่ฝังศพผู้เสียชีวิตที่ไม่มีการทำป้ายหลุมศพซึ่งถูกขุดพบภายหลัง 

20 ปีผ่านไป การจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียชีวิตยังไม่เคยเกิดขึ้น จนผู้รอดชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้ง 3 คนสุดท้าย ตัดสินใจฟ้องศาล ซึ่งคำพิพากษาของศาลที่ ‘ยกฟ้องโดยห้ามไม่ให้มีการฟ้องใหม่’ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นการปิดประตูที่พวกเขาจะได้รับความเป็นธรรมในประเด็นนี้

ในส่วนการตั้งกองทุนการศึกษาพบว่า ปี ค.ศ. 2003 เทศบาลทัลซาได้ตั้งกองทุนการศึกษาเนื่องด้วยการสังหารโหดครั้งนี้ แต่ 20 ปีผ่านไป เพิ่งมีการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน 127 คน คนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยกองทุนดังกล่าวไม่มีการกำหนดเงื่อนไขผู้รับทุนว่าต้องเป็นคนผิวดำหรือเป็นลูกหลานของเหยื่อการสังหารหมู่ในครั้งนั้นแต่อย่างใด 

เขตเศรษฐกิจที่กดทับประวัติศาสตร์

แม้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจในพื้นที่กรีนวูดเดิมจะเกิดขึ้นจริง แต่แทนที่ผู้ได้รับประโยชน์จะเป็นคนดำหรือลูกหลานของเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการสังหารโหดทางชาติพันธุ์ที่ทัลซา กลับเป็นนักธุรกิจผิวขาวที่อยู่ทางตอนเหนือของเมือง เพราะก่อนหน้าที่จะกำหนดให้พื้นที่กรีนวูดเป็นเขตเศรษฐกิจ เทศบาลเมืองทัลซาได้ดำเนินการย้ายคนดำ ผู้ตั้งถิ่นฐานเดิมของกรีนวูดออกไปแล้วเป็นจำนวนมากภายใต้นโยบายหลักของรัฐบาลกลาง 3 นโยบาย ในยุคฟื้นฟูเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกัน ได้แก่ นโยบายขีดเส้นสีแดง (Redlining) นโยบายการฟื้นฟูเมือง (urban renewal) และการสร้างทางหลวง

‘ขีดเส้นสีแดง’ หมายถึงการจัดโซนพื้นที่ต่างๆ ตามสีผิวของรัฐบาลกลาง ซึ่งประกาศใช้ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยกำหนดให้ชุมชนคนผิวดำเป็นพื้นที่สีแดงหรือเขตอันตราย ประชาชนในเขตเส้นสีแดงจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของรัฐได้ ชาวกรีนวูดในทัลซาจำนวนมากจึงตัดสินใจย้ายออกเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของรัฐได้

‘การฟื้นฟูเมือง’ หมายถึงกระบวนการที่รัฐสามารถบังคับซื้อที่ดิน รวมทั้งสิ่งก่อสร้างของประชาชนเพื่อส่งต่อที่ดินนั้นให้นักลงทุนนำไปพัฒนาเพื่อประโยชน์ของเมืองต่อไป บ้านของแรนเดิล 1 ใน 3 เหยื่อเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ยังคงมีชีวิตและร่วมเป็นโจทก์ในการฟ้องคดีครั้งนี้ ก็ถูกเทศบาลทัลซาบังคับขายภายใต้โครงการนี้เช่นกัน ซึ่งเรนเดิลมองว่าเป็นนโยบายการพัฒนาที่เหยียดสีผิว

‘การสร้างทางหลวง’ คือการบังคับเวนคืนที่ดินของประชาชนเพื่อสร้างทางด่วน 7 สาย ในทศวรรษ 1950 โดยเงินค่าเวนคืนที่ดินส่วนหนึ่งได้รับจากรัฐบาลกลาง 

เมื่อเทศบาลทัลซาประกาศนโยบายเขตเศรษฐกิจในพื้นที่กรีนวูดเพื่อฟื้นฟู ‘วอลสตรีตดำ’ ในปี ค.ศ. 2010 การถือครองพื้นที่ในวอลสตรีทดำจึงถูกเปลี่ยนมือไปมากแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพื้นที่เขตเศรษฐกิจกรีนวูดใหม่ในปัจจุบันจึงเป็นนักธุรกิจผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีทั้งสนามกีฬาอเนกประสงค์ มีมหาวิทยาลัยรัฐโอคลาโฮมา (Oklahoma State University) มีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยแลงสตัน (Langston University) คอนโดหรู ไปจนถึงซูชิบาร์ รวมถึงสนามกีฬาผาดโผนที่ BMX เป็นเจ้าของ แม้ในย่านวอลสตรีตดำส่วนหนึ่งจะถูกสงวนไว้ให้เป็นพื้นที่ของคนดำ แต่การจะทำธุรกิจในพื้นที่นั้นได้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้เทศบาลในอัตรา 6.5 เซ็นต์ต่อตารางฟุต เป็นเวลา 30 ปี

สำหรับคนดำในกรีนวูดในปัจจุบัน นโยบายเขตเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นตามมติของคณะกรรมาธิการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของการสังหารหมู่ในครั้งนั้น คือการบิดเบือนเจตนารมณ์ที่ต้องการให้กรีนวูดได้กลับมามีชีวิต (Greenwood rising) ของกรรมาธิการ เป็นการลดพื้นที่ของกรีนวูด (ในมิติพื้นที่ของคนดำ) และขยายพื้นที่ความมั่งคั่งให้คนขาว บนพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดของของบรรพบุรุษของพวกเขา

การสร้างอนุสรณ์สถานสำหรับการสังหารหมู่ตามมติคณะกรรมาธิการฯ ก็ไม่รอดพ้นจากการถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ แม้เทศบาลเมืองทัลซาและรัฐโอคลาโฮมาจะสนับสนุนงบประมาณและดำเนินการก่อสร้างจริง แต่ด้วยงบประมาณที่น้อยกว่าที่คณะกรรมาธิการฯ กำหนดไว้ ตามมติกรรมาธิการปี 2001 รัฐโอคลาโฮมาระบุถึงการสร้างอนุสรณ์สถานด้วยงบประมาณ 18 ล้านดอลลาร์ โดยให้มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและหอจดหมายเหตุด้วย เพื่อดึงผู้ชมจากทั่วโลกให้เข้ามาเรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1921 ชาวกรีนวูดเองก็วาดหวังว่าอนุสรณ์สถานแห่งนี้จะทำให้โลกได้เห็นความจริงอันโหดร้ายที่บรรพบุรุษของพวกเขาได้ประสบมา แต่ในปี 2008 การก่อสร้างอนุสรณ์สถานเกิดขึ้นด้วยงบประมาณจากรัฐบาลโอคลาโฮมาเพียง 3.7 ล้านดอลลาร์ และจากเทศบาลเมืองทัลซา 500,000 ดอลลาร์ ที่สำคัญมันไม่ใช่อนุสรณ์สถานสำหรับระลึกถึงเหยื่อและความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวกรีนวูดอย่างที่ควรจะเป็น

รัฐโอคลาโฮมาและเทศบาลเมืองทัลซา สร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘สวนสาธารณะจอห์น โฮป แฟรงคลิน เพื่อความสมานฉันท์’ (John hope Franklin Reconciliation Park) ในพื้นที่กรีนวูด โดยระบุว่าเพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ ‘จลาจลทางชาติพันธุ์’ (race riot) ที่ทัลซา แทนการใช้คำว่า ‘การสังหารหมู่’ (massacre) และมีการผนวกวัตถุประสงค์อื่นเพิ่มเข้าไป คือเพื่อให้เป็นที่ระลึกถึงบทบาทของคนผิวดำในการสร้างรัฐโอคลาโฮมา โดยมีสิ่งก่อสร้างสำคัญ 2 สิ่ง ได้แก่ อนุสาวรีย์ของแฟรงคลิน ชาวผิวดำที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักประวัติศาสตร์และนักการศึกษาคนสำคัญของอเมริกา และหอคอยแห่งความสมานฉันท์ที่มีนิทรรศการบอกเล่าการต่อสู้ดิ้นรนของทาสชาวแอฟริกันตั้งแต่ยังใช้ชีวิตในแอฟริกา จนมาร่วมเป็นผู้สร้างเมืองในโอคลาโฮมา มากกว่าจะกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี 1921 

ส่วนข้อเสนอสุดท้ายของคณะกรรมาธิการฯ ที่ให้สร้างสุสานฝังศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นและถูกฝังหมู่ก่อนหน้านี้โดยไม่มีการทำป้ายหลุมศพ ก็ยังไม่มีการก่อสร้าง และเทศบาลเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการค้นหาสถานที่ฝังศพผู้เสียชีวิตเท่าที่ควร 

เฟลทเชอร์, แรนเดิล และอิลลิส ผู้รอดชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้ง 3 คน มองว่าสิ่งที่เทศบาลเมืองทัลซา รวมถึงรัฐโอคลาโฮมาทำ คือการพยายามหาผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองจากการสังหารหมู่ เหตุผลที่พวกเขาตัดสินใจฟ้องคดีเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 100 ปี ก็เพื่อกู้คืนพื้นที่ของกรีนวูดที่ถูกทางการนำไปแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบธรรม แต่แล้วความพยายามของพวกเขาก็ไม่เป็นผล 

ภาพเหยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้ง 3 คน ในวันฟังคำพิพากษา จากซ้ายไปขวา อิลลิส, เฟลทเชอร์ และแรนเดิล

สำหรับทั้ง 3 คน รวมถึงชาวผิวดำที่เป็นลูกหลานของกรีนวูด คำพิพากษาของศาลในวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นดั่งเครื่องเตือนใจอันแสนเจ็บปวดที่แสดงให้เห็นว่าความยุติธรรมยังคงหลบเลี่ยงพวกเขา เป็นเครื่องเตือนใจที่แสดงให้เห็นว่าสมาชิกขององค์กรที่มีหน้าที่ผดุงความยุติธรรมกลับถูกขับเคลื่อนดัวยความเกลียดชังและอคติ บทบรรณาธิการของ The Black Wall Street Times ที่เผยแพร่หลังจากศาลมีคำพิพากษาระบุว่า “เรารู้แต่แรกแล้วว่า ผู้พิพากษาวอลล์จะไม่ยอมจำนนต่อหลักการทางกฎหมาย แต่ยอมจำนนต่อบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมตนเองมา” 100 ปีแห่งการรอคอยความยุติธรรมที่ทัลซา จบลงอย่างเจ็บปวดด้วยคำตัดสินของผู้พิพากษาเพียงคนเดียว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ลูกหลานกรีนวูดยอมจำนนในชะตากรรมของตัวเอง พวกเขารู้ว่าจะต้องสู้ต่อไป จนกว่าจะได้รับชัยชนะ ดังคำของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King) ที่ The Black Wall Street Times อ้างถึงว่า “สุดท้ายเราจะชนะ เพราะแม้ส่วนโค้งของจักรวาลทางศีลธรรมจะยาว แต่มันก็โค้งเข้าหาความยุติธรรม”

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า