ห้องสมุดกว่า 3,000 แห่ง เม็ดเงินจำนวนมหาศาล และตึกรามอาคารที่สลักชื่อของตัวเอง คือของขวัญที่ชายเคราขาวร่างท้วมมอบให้กับสาธารณะ เขาคือลุงซานต้าผู้เป็นหมุดหมายปลายทางบนถนนแห่งความฝันแบบชาวอเมริกัน
แอนดรูว์ คาร์เนกี (Andrew Carnegie: 1835-1919) อดีตราชาเหล็กกล้าผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก กิจกรรมการกุศลของเขาเปรียบเสมือนนักบุญผู้มาโปรดและชี้ทางสว่างให้แก่บรรดาผู้คนทั้งหลาย (โดยเฉพาะคนรวย)
แต่ในพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ 2 โครินธ์ 11:14 ก็กล่าวไว้ชัดเจนว่า ‘ซาตานเองก็ยังปลอมตัวเป็นทูตสวรรค์แห่งความสว่างได้’ แสงสว่างไสวที่คาร์เนกีสร้างไว้ กลับเป็นความมืดสำหรับผู้คนจำนวนมาก ที่เขาได้สูบกลืนหยาดเหงื่อและหยดเลือด

ชีวิตประหนึ่งเหล็กกล้า
ตำนานชีวิตของคาร์เนกี เริ่มต้นจากการเป็นลูกชายของครอบครัวยากจนชาวสก็อตที่ตัดสินใจละทิ้งแผ่นดินเกิด นั่งเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังดินแดนแห่งโอกาสอย่างอเมริกา แต่เมื่อมาถึงอเมริกา ความยากลำบากก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะค่าแรงอันต่ำเตี้ยที่พ่อแม่ของเขาได้จากการทำงาน ทำให้หนุ่มน้อยคาร์เนกีต้องออกเร่ขายแรงงานไปด้วยเช่นกัน เขาเริ่มต้นทำงานอยู่ในบริษัทโทรเลขอยู่หลายปี กระทั่งความวิริยะอุตสาหะก็ถูกมองเห็นโดยสายตาของ โธมัส สก็อต (Thomas A. Scott: 1823-1881) ผู้คุมบังเหียนบริษัทรถรางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้นอย่าง The Pennsylvania Railroad
สก็อตถ่ายทอดวิชาการทำธุรกิจให้แก่คาร์เนกีมากมาย และด้วยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นทำให้สก็อตได้แนะนำให้คาร์เนกีซื้อหุ้นของ Adams Express บริษัทรถรางที่กำลังทำกำไรมหาศาลจากการเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐเพนซิลเวเนีย การซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายใน (ซึ่งในขณะนั้นยังไม่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย) เป็นครั้งแรกนี้ ทำให้คาร์เนกีได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุน’ และ ‘การสะสมทุน’
การมีทุนและการสะสมทุนทำให้ชีวิตของคาร์เนกีรอดพ้นจากภัยอันตรายด้วยการจ้างให้คนอื่นไปประจำตำแหน่งทหารแทนตัวเองในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกัน (American Civil War: 1861-1865) วิกฤติสงครามยังทำให้เขาได้โอกาสเพิ่มพูนความมั่งคั่ง เพราะเมื่อสิ่งก่อสร้างจำนวนมากได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะพานไม้ถูกเผาทำลาย จึงส่งผลให้ Keystone Bridge Company บริษัทรับก่อสร้างสะพานเหล็กของคาร์เนกีกอบโกยกำไรมหาศาลผ่านโครงการก่อสร้างมากมาย
ณ ขณะนั้น ‘เหล็ก’ กลายมาเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต (ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยพลาสติกในศตวรรษที่ 20) ซึ่งใช้สร้างแทบทุกสิ่งทุกอย่างในอุตสาหกรรมและระบบขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสะพาน รางรถไฟ และรถไฟ สิ่งประดิษฐ์ที่ต้องถูกหลอมขึ้นจากเหล็กเหล่านี้นั้น ล้วนแล้วแต่มีชื่อบริษัทของคาร์เนกีสลักความเป็นเจ้าของจับจองไว้แล้วทั้งสิ้น ในแง่นี้ การเป็นเจ้าของทรัพยากรเหล็กจึงเป็นด่านสุดท้ายในเกมธุรกิจของเขา

การกระโดดเข้ามาในอุตสาหกรรมเหล็กของคาร์เนกี เกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนการเบสเซเมอร์ (Bessemer Process) ที่ถูกคิดขึ้นโดย เฮนรี เบสเซเมอร์ (Henry Bessemer: 1813-1898) นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้พลิกโฉมอุตสาหกรรมเหล็กให้สามารถผลิตเหล็กที่มีความบริสุทธิ์สูงได้ และที่สำคัญที่สุดคือทำให้สามารถผลิตเหล็กออกมาได้ในปริมาณมหาศาล (mass production) ภายในระยะเวลาที่น้อยลง ส่งผลให้ลดต้นทุนลงอย่างมาก
เมื่อมีต้นทุนถูกลงก็หมายถึงการมีกำไรที่มากขึ้น การที่วัตถุดิบต้นทางของอุตสาหกรรมมีราคาถูกลง ก็ส่งผลให้ต้นทุนของบริษัทอื่นๆ ของคาร์เนกีลดน้อยถอยลงตามกันไป และเมื่อพิจารณาประกอบกับการครอบครองอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำนี้ ก็ทำให้คาร์เนมีอำนาจในการกำหนดราคาในตลาดอย่างเบ็ดเสร็จ
แม้คาร์เนกีจะสามารถลดต้นทุนด้านวัตถุดิบลงได้ แต่ต้นทุนอีกอย่างหนึ่งที่เขายังไม่สามารถควบคุมได้ และเป็นต้นทุนที่พร้อมเสมอที่จะเรียกร้องส่วนแบ่งความเป็นเจ้าของ (หรือแย่งความเป็นเจ้าของ) ไปจากเขา นั่นก็คือ ‘แรงงาน’ อันเป็นสิ่งที่ไม่เชื่องเหมือนวัตถุดิบของเขา
มิหนำซ้ำยังพร้อมเสมอที่จะทำให้เครื่องจักรการทำเงินของเขาต้องหยุดชะงักลง โดยหนึ่งในการลุกฮือที่โด่งดังที่สุดของเหล่าแรงงานต่อบริษัทของคาร์เนกี ได้แก่ เหตุการณ์สไตรค์ที่โฮมสเตด (The Homestead Strike) ในปี 1892
The Homestead Strike: รอยด่างของผู้ใจบุญ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้กระบวนการผลิตมีความต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้น ดูจะเป็นความประเสริฐที่เกิดแก่นายทุนอย่างคาร์เนกีเพียงฝ่ายเดียว แต่สำหรับแรงงาน ความต่อเนื่องของเครื่องจักรกลับเป็นเรื่องไม่รู้สิ้นอันแสนสาหัส เพราะเครื่องจักรแบบใหม่ที่ทำให้กระบวนการมีความต่อเนื่องมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานจำเป็นต้องประจำตำแหน่งอยู่ที่เครื่องจักรตลอดเวลาโดยไม่มีเวลาพัก
12 ชั่วโมง คือเวลาที่พวกเขาต้องขังตัวเองอยู่ในโรงงาน และจะเปลี่ยนเป็น 24 ชั่วโมงในทุกๆ 2 สัปดาห์ (มีแหล่งข้อมูลหนึ่งบอกว่าพวกเขาต้องทำงานทั้งหมด 364 วันต่อปี โดยจะหยุดเพียงแค่วันที่ 4 กรกฎาคมซึ่งเป็นวันชาติอเมริกาเพียงเท่านั้น) ภายในโรงงานนี้ก็มิได้มีความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น แรงงานพร้อมเสมอที่จะเป็นลมเป็นแล้งและสลบไปภายในวินาทีที่ย่างก้าวเข้าไปในโรงงาน ครั้นเมื่อออกจากโรงงานเพื่อกลับไปยังที่พัก ก็ยังต้องเผชิญกับสิ่งปฏิกูลในฤดูฝน รวมถึงความเย็นยะเยือกในช่วงฤดูหนาว ที่เลวร้ายที่สุดคือในช่วงหน้าร้อน เพราะอุณหภูมิที่สูงเสียดปรอทมักจะทะลุเสื้อผ้าเข้าไปแผดเผาร่างกาย ถึงขนาดที่ทำให้เหงื่อของพวกเขาท่วมล้นอยู่ภายในรองเท้าที่ใช้ใส่เดิน
ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อค่าแรงเพียงไม่ถึง 2.5 ดอลลาร์ต่อวัน ด้วยความยากลำบากนี้ส่งผลให้ในสายตาของแรงงานแล้ว ผลผลิตที่มากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการทำงานที่เร็วและต่อเนื่องมากขึ้นของพวกเขาด้วย หาใช่เพราะเครื่องจักรรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียวไม่

การเห็นความสำคัญของตนเองในสายงานการผลิตนี้ ทำให้แรงงานมองความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคาร์เนกีว่าอยู่ในฐานะหุ้นส่วน (partnership) และยังมองถึงขั้นที่ว่า ค่าแรงจะต้องเป็นตัวกำหนดราคาสินค้า ไม่ใช่ราคาสินค้ามากำหนดหรือจำกัดค่าแรง ในขณะที่ฝ่ายคาร์เนกีกลับมองว่า แรงงานเป็นเพียงกลุ่มที่มาอาศัยใบบุญของเขา (และเศรษฐีคนอื่นๆ) เพราะหากไม่มีนายจ้างอย่างเขาแล้ว กลุ่มแรงงานก็จะไม่มีงานทำไปด้วย
ทั้งนี้ กลไกสำคัญที่แรงงานใช้ในการต่อรองกับบรรดานายทุนในขณะนั้นก็ได้แก่ สหภาพแรงงาน แรงงานในโฮมสเตดจะสังกัดอยู่ภายใต้ The Amalgamated Association of Iron and Steel Workers หรือ AA ซึ่งมีวิธีการต่อรองเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องค่าแรง ผ่านการนัดประชุมระหว่างคณะกรรมการแรงงานในท้องถิ่นกับนายทุนเจ้าของโรงงาน ซึ่งระหว่างที่รอให้มีการประชุมดังกล่าว ทางสหภาพฯ จะมีเบี้ยเลี้ยงให้แก่สมาชิกที่หยุดงานจำนวน 4 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดในการต่อสู้ผ่านสหภาพฯ นี้ก็มีอยู่ เนื่องจากสหภาพฯ จะยอมรับสถานะการเป็นสมาชิกเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือซึ่งมักจะเป็นอเมริกัน ขณะที่ 2 ใน 3 ของแรงงานขาดฝีมือ (unskilled) เป็นคนต่างชาติ ข้อจำกัดยังรวมถึงการเลือกตัวแทนภายในกลุ่มโฮมสเตดเอง ที่จำกัดเฉพาะแต่แรงงานที่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลักเท่านั้น ส่งผลให้แรงงานที่ขาดฝีมือและแรงงานที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ เช่น แรงงานที่มาจากยุโรปตอนกลาง ซึ่งมีอยู่จำนวนมากไม่สามารถเข้าไปอิงอยู่กับสหภาพฯ ได้
ครั้นเมื่อถึงวันเจรจาระหว่างแรงงานกับฝ่ายนายทุน คาร์เนกีได้แต่งตั้งให้ เฮนรี เคลย์ ฟริค (Henry Clay Frick: 1849-1919) เพื่อนและหุ้นส่วนของเขาผู้โด่งดังในการประมือกับสหภาพฯ เข้ามาเป็นผู้จัดการกับปัญหาดังกล่าว ส่วนตัวคาร์เนกีกลับหนีไปพักผ่อนที่บ้านเกิดบนเกาะสก็อตแลนด์ (การนำตัวฟริคเข้ามาในครั้งนี้นับเป็นอีกครั้งที่คาร์เนกียืมมือคนอื่นทำเรื่องสกปรก หลังจากที่เคยจ้างคนอื่นไปรบแทนในช่วงของสงครามกลางเมือง หากพิจารณากรณีของฟริคจากจุดจบของเหตุการณ์ก็นับว่าเป็นการจ้างเพื่อให้คนอื่นมา ‘สั่งฆ่า’ แรงงานแทนตน)
ในการเจรจาครั้งนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะตัวแทนจากบริษัทของคาร์เนกีไม่ใส่ใจรับฟังต่อข้อเสนอของฝ่ายแรงงานแต่อย่างใด โดยแผนการที่ฟริคได้วางเอาไว้ในครั้งนั้น คือการปฏิเสธสถานะการเป็นลูกจ้างของแรงงาน (lockout) และจะไม่ต่อสัญญาจ้างให้แก่แรงงานทั้งที่กำลังจะหมดสัญญาและที่ได้หมดสัญญาไปแล้ว ฟริคยังมีความพยายามในการนำแรงงานหน้าใหม่เข้าไปทำงานแทนแรงงานกลุ่มเดิมที่มีปัญหา
แรงงานประเภทนี้เรียกกันว่า Strikebreaker ซึ่งมักเป็นแรงงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพฯ หรือไม่ก็เป็นแรงงานคนผิวดำ ที่มีค่าแรงถูกกว่าแรงงานปกติเป็นอย่างมาก ในการส่งพวก strikebreaker เข้าไปในโรงงานนี้จะประกบข้างไปด้วยการคุ้มกันของกลุ่มกองกำลังส่วนตัวอย่างพวก Pinkerton (ที่ในขณะนั้นเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่กว่ากองทัพสหรัฐเสียอีก) จำนวน 300 นาย และแผนการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากคาร์เนกีเรียบร้อยแล้ว โดยคาร์เนกีบอกฟริคผ่านโทรเลขว่า “พวกเราเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่คุณทำ…[และ] จะอยู่เคียงข้างคุณจนกว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้น”
ฟริคได้วางแผนนำพวก strikebreaker และ pinkerton เข้ายึดโรงงานคืนผ่านทางน้ำพร้อมอาวุธและกระสุนอย่างเต็มกำลัง โดยเหตุที่ต้องแทรกซึมผ่านทางน้ำ เป็นเพราะสำหรับในทางภาคพื้นดินนั้น ฟริคได้มีการสั่งตอกรั้วสูงเป็นระยะทางกว่า 3 ไมล์พร้อมพันล้อมลวดหนามไว้อย่างแน่นหนาเพื่อตัดขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกของกลุ่มแรงงาน อย่างไรก็ดี ทางฝั่งแรงงานสังเกตเห็นเรือของพวก pinkerton เสียก่อน ส่งผลให้คนนับพันกรูเข้าล้อมบริเวณริมน้ำ และเมื่อเรือของพวก pinkerton เทียบท่า ก็ต้องยอมจำนนต่อปริมาณคนที่มากกว่าหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม กลับมีเสียงปืนดังขึ้นโดยไม่ทราบที่มา ทำให้มีการยิงต่อสู้กันระหว่างเหล่าแรงงานและ pinkerton เป็นเวลาหลายสิบนาที จนท้ายที่สุดยมบาลได้เข้าทำการสรุปยอดและรับดวงวิญญาณของ pinkerton ไป 3 นาย และเหล่าแรงงานอีก 7 คน ถึงแม้แรงงานจะปกป้องโรงงานไว้ได้ แต่ก็มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่เสียงและเขม่าปืนคละคลุ้งอยู่ตามชั้นบรรยากาศนี้ ผู้คนในเมืองกว่าสี่ถึงห้าพันคนได้เข้าชมการดวลปืนแลกกระสุนของทั้งสองฝ่าย ส่วนฟริคนั้นอยู่ห่างจากจุดปะทะออกไปเพียง 5 ไมล์ ขณะที่เจ้าของบริษัทอย่างคาร์เนกีก็กำลังเตรียมตัวออกไปตกปลาอยู่ที่สก็อตแลนด์
หลังจากทราบข่าวความล้มเหลวในการยึดโรงงานคืนแล้ว คาร์เนกีได้โทรเลขไปหาฟริค โดยสั่งการว่าห้ามให้มีการจ้างกลุ่มแรงงานดังกล่าวอีก และยังคงยืนยันที่จะให้การสนับสนุนฟริคต่อไป “สนันสนุนคุณไม่ว่าจะในรูปแบบไหน” คือสิ่งที่เขาบอกฟริคผ่านโทรเลข
ภายในไม่กี่วันต่อมา มีการนำกองกำลังของรัฐบาลจำนวนกว่า 8,500 นาย มายังเมืองโฮมสเตดเพื่อยึดโรงงานคืน ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและปราศจากการปะทะใดๆ นับว่าเป็นความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของฝ่ายแรงงาน กระนั้น ฝ่ายแรงงานก็ยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณะอยู่
จนกระทั่ง อเล็กซานเดอร์ เบิร์คแมน (Alexander Berkman) บุคคลซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับฝ่ายแรงงาน ได้บุกเข้าไปยิงฟริคถึงในห้องทำงานของ ความพยายามฆ่าฟริคในครั้งนี้ส่งผลให้กระแสที่มีต่อฝ่ายคาร์เนกีและฟริคเปลี่ยนไป จากเดิมที่มีแต่คำก่นด่า กลับกลายเป็นได้รับความเห็นใจภายในชั่วข้ามคืน (แน่นอนว่าสื่อย่อมมีส่วนสำคัญในการบรรยายเหตุการณ์ครั้งนี้) กล่าวได้ว่า เหตุการณ์นี้เป็นการตอกฝาโลงย้ำความพ่ายแพ้ของฝ่ายแรงงาน และยังเป็นการปิดเส้นทางการกลับมาของสหภาพฯ ไปโดยปริยาย
หลังจากยึดคืนโรงงานสำเร็จแล้ว โรงงานที่โฮมสเตดจึงกลับมาดำเนินการเต็มกำลังอีกครั้ง โดยสถานการณ์ภายในโรงงานดูจะเลวร้ายมากกว่าแต่ก่อน แรงงานที่เข้าไปทำงานใหม่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่แรงงานเดิมเคยได้ ส่วนแรงงานที่มีส่วนร่วมกับการประท้วงก็ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ทางฝ่ายคาร์เนกีได้ยื่นข้อเสนอว่า ผู้ที่จะเข้ามาทำงานในโรงงานต้องไม่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยิงปะทะกันระหว่างแรงงานกับกลุ่ม pinkerton และที่สำคัญที่สุดต้อง ‘ไม่เป็นสมาชิกสหภาพฯ’ การยื่นเงื่อนไขเช่นนี้ย่อมเป็นการทำลายสหภาพฯ ไปในตัว ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่คาร์เนกีแสดงออกในทางสาธารณะว่าเขาให้ความสนับสนุนการมีสหภาพแรงงานอย่างเต็มที่

คำโป้ปดในพระวจนะของผู้มั่งคั่ง
ในสายตาของคริสต์ศาสนานั้น การเป็นคนรวยนับว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ เพราะความมั่งคั่งที่คนรวยมีย่อมได้มาจากการขูดรีดคนจนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ศาสนาคริสต์จึงเป็นศาสนาของคนจน สวรรค์ของคริสต์ศาสนาจึงเป็นดินแดนที่มีแต่ผู้ยากไร้ ดังที่ปรากฏใน มัธธิว 19:24 ที่ว่า ‘เราบอกท่านทั้งหลายอีกว่า ตัวอูฐจะลอดรูเข็มก็ง่ายกว่าคนมั่งมีจะเข้าในอาณาจักรของพระเจ้า’ คำกล่าวนี้เป็นคำสาปที่ตีตราคนรวยมานับพันปี และแน่นอนว่าเศรษฐีอย่าง แอนดรูว์ คาร์เนกี ก็จะไม่มีวันเล็ดลอดเข้าไปในอาณาจักรของพระเจ้าได้
อย่างไรก็ดี คริสต์ศาสนาในฐานะศาสนาที่ยึดพระคัมภีร์เป็นหลัก การจะเข้าถึงพระคัมภีร์ย่อมเป็นไปไม่ได้หากขาดทักษะในการอ่าน การอ่านจึงกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในโลกตะวันตกนับตั้งแต่เกิดการปฏิรูปศาสนา
ทักษะการอ่านออกเขียนได้ดูจะเป็นสิ่งที่ แอนดรูว์ คาร์เนกี ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยหนึ่งในการกุศลหลักของเขาคือการสร้างห้องสมุด แต่การกระทำเช่นนี้ย่อมนำมาสู่คำถามที่ว่า เขาสร้างห้องสมุดไว้ให้ใครอ่าน? เพราะการทำงานกว่าวันละ 12-24 ชั่วโมง ของเหล่าชนชั้นแรงงานก็คงทำให้พวกเขาไม่มีเวลามานั่งอ่านหนังสือ
ยังไม่ต้องพิจารณาไปถึงขั้นที่ว่า ชนชั้นแรงงาน (ในขณะนั้น?) เองก็ไม่ได้มีทักษะในการอ่านออกเขียนได้แต่อย่างใด โดยหากพิจารณาจากงานเขียนอันโด่งดังที่ตั้งชื่อล้อไปกับคัมภีร์ทางศาสนาของคาร์เนกีอย่าง ‘The Gospel of Wealth’ หรืออาจแปลไทยได้ว่า ‘พระวจนะของผู้มั่งคั่ง’ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เขาเขียนออกมาเป็นการสื่อสารกับ ‘คนรวย’ ซึ่งภายในข้อเขียนดังกล่าวยังบอกอะไรมากมาย เช่น วิธีการปฏิบัติตัวของคนรวย (ในลักษณะสั่งสอน) ตั้งแต่การชี้ให้เห็นหน้าที่การเป็นพ่อแม่ การจัดการทรัพย์สิน การแต่งกายของคนรวย ตลอดจนถึงการตีความคริสต์ศาสนาใหม่

ใน The Best Fields for Philanthropy หัวข้อย่อยหนึ่งของ The Gospel of Wealth เขาได้กล่าวว่า การมีอยู่โดยธรรมชาติของ ‘กฎแห่งการแข่งขัน การสะสมทุน และการกระจายทรัพย์สิน’ เป็นสิ่งที่สมควรได้รับการยอมรับและยึดถือปฏิบัติ โดย ‘ภายใต้การมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้จะทำให้อภิมหาความมั่งคั่งไหลหลากเข้าไปอยู่ในมือของผู้วิเศษเพียงไม่กี่คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้’ เขากล่าวต่อไปอีกว่า ‘คำถามสำคัญใน The Gospel of Wealth ก็คือ ‘เหล่าผู้วิเศษเหล่านี้จะทำอย่างไรกับส่วนเกินความมั่งคั่งที่เขามี?’
ซึ่งคาร์เนกีให้คำตอบว่า ‘ส่วนเกินของความมั่งคั่ง ควรจะถูกรับรู้ในฐานะของความเชื่อมั่นอันศักดิ์สิทธิ์ (a sacred trust) ซึ่งจะถูกบริหารจัดการในระหว่างที่เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ โดยพวกเขาจะอยู่ในฐานะของผู้จัดสรรผลประโยชน์ (trustees) เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชุมชน’
ในแง่นี้ การคืนทรัพย์สินให้ชุมชนดูจะไม่ต่างอะไรกับการทำบุญใหญ่ของคนรวย คาร์เนกียังกล่าวต่อไปอีกว่า การที่คนรวยให้เงินขอทานนับว่าเป็น ‘การทำบาป’ เพราะเป็นการส่งเสริมให้ขอทานไม่ทำงาน โดยการทำงานจะเป็นหัวใจสำคัญของคนทั่วไป ส่วนการตัดสินใจว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะกับพวกเขาจะขึ้นอยู่กับผู้มีหน้าที่ในการบริหาร (ที่เป็นคนรวย)

คำอธิบายดังกล่าวของคาร์เนกีดูจะเป็นการแก้ปัญหาทางศีลธรรมให้แก่คนรวยอย่างชัดเจน โดยเขายังกล่าวต่ออีกว่า ‘ในยุคสมัยที่พระเยซูมีชีวิตอยู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรดาผู้ปฏิรูปทั้งหลายนั้นได้ต่อต้านต่อเหล่าผู้มั่งมี กระนั้นก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ในทุกวันนี้ พวกเราได้เข้าไปอยู่ในสถานะนั้นเรียบร้อยแล้ว’
สะท้อนว่าในสายตาของคาร์เนกี ชนชั้นล่างหรือคนจนนั้นได้สูญเสียสถานะในการเป็นชนชั้นผู้ปลดปล่อยไปเรียบร้อยแล้ว โดยชนชั้นที่จะเข้ามาปลดปล่อยมนุษยชาตินั้นก็ได้แก่ เหล่าบรรดาชนชั้นผู้ร่ำรวย
เขาสรุปในตอนท้ายว่า ‘The Gospel of Wealth มิใช่อะไรอื่น หากแต่เป็นเสียงสะท้อนวจนะของพระเยซูเจ้า ที่เรียกร้องให้คนรวยขายทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด และมอบให้คนจนในรูปแบบที่ดีและสูงส่งที่สุด’ การกล่าวเช่นนี้ดูจะคล้ายกับที่พระเยซูพูดกับเศรษฐีหนุ่มในมัธธิว 19:21 ที่ว่า ‘ถ้าท่านต้องการจะเป็นคนดีพร้อม จงไปขายทรัพย์สิ่งของที่ท่านมีอยู่แจกจ่ายให้คนยากจน แล้วท่านจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ และจงตามเรามา’ อย่างไรก็ดีในวรรคต่อมาก็ปรากฏว่า ‘เมื่อชายหนุ่มได้ยินถ้อยคำนั้นก็ออกไปเป็นทุกข์ เพราะเขามีทรัพย์สินจำนวนมาก’
จึงกล่าวได้ว่า การที่คาร์เนกีสรุปใน The Gospel of Wealth ว่า วิธีที่ดีที่สุด (จากทั้งหมด 3 วิธี) ในการจัดการกับส่วนเกินความมั่งคั่งของเหล่าผู้มั่งมี คือการแจกจ่ายทรัพย์สินของตนออกไปในยามที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างถาวร จากความมั่งคั่งที่เขาหามาได้ด้วยความสามารถของตนเอง ในแง่นี้ จึงเสมือนการเรียกร้องให้ทำในสิ่งที่เศรษฐีหนุ่มที่เข้าพบพระเยซูทำไม่ได้ อาจกล่าวอย่างง่ายได้ว่า คาร์เนกีกำลังทำตัวเป็น ‘คนมั่งมีที่พยายามลอดรูเข็ม’
แม้การตีความเช่นนี้ดูจะเป็นสิ่งที่ดี ประกอบกับการบริจาคทรัพย์สินของคาร์เนกีก็เป็นสิ่งที่เขากระทำจริงอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่สิ่งที่ยอมรับได้ยากอย่างมากในสายตาของคริสต์ศาสนา ก็คือการที่เขากล่าวว่า ‘การสะสมทุนเป็นสิ่งที่ดี’ ซึ่งย่อมขัดกับคริสต์ศาสนาอย่างร้ายแรง ถึงขนาดที่ ฮิวจ์ ไพรซ์ ฮิวส์ (Hugh Price Hughes: 1847-1902) นักการศาสนาชาวเวลส์บอกว่า พระวจนะ หรือ Gospel ของคาร์เนกี ‘เป็นการเปลี่ยน [กรอบคิด-ผู้เขียน] แบบสังคมของคนนอกรีตให้กลายเป็นสังคมของคริสเตียน’ (from social heathenism to social christianity)
การกล่าวหาเช่นนี้เป็นข้อหาที่รุนแรงอย่างมากในสังคมตะวันตก โดยคาร์เนกีแก้ต่างไว้ในข้อเขียน The Advantages of Poverty ว่า ความร่ำรวยจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า ซึ่งในการสร้างความร่ำรวยนี้จะเป็นหน้าที่โดยธรรมชาติของบรรดาเศรษฐีทั้งหลาย

ธรรมชาติกลายเป็นสิ่งที่คาร์เนกีนำมาอ้างอิง ความมั่งคั่งหรือการเป็นคนรวยจึงเป็นเรื่องโดยธรรมชาติของผู้ที่เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ที่จะสร้างผลกำไร ‘ธรรมชาติไม่อาจถูกสร้างขึ้นด้วยวิถีหนึ่งใด แต่ธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่สร้างวิถีใดหนึ่งขึ้นมาเอง’
การอ้างอิงธรรมชาติเป็นวิถีสำคัญของกรอบคิด Social Darwinism ที่มีหัวหอกสำคัญอย่าง เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer: 1820-1903) นักปรัชญาชาวอังกฤษและเพื่อนสนิทของคาร์เนกี สเปนเซอร์ได้สร้างแนวคิด ‘Survival of the Fittest’ หรือ ‘การรอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด’ ขึ้นมา เขาเสนอว่ารัฐจะต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวใดๆ ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง แต่ควรปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินไปตามกระบวนการธรรมชาติ
สเปนเซอร์ยังตีความแนวคิด ‘การคัดเลือกโดยธรรมชาติ’ (Natural Selection) ไปไกลถึงขั้นที่ว่า การตายของคนจนนั้นเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ ที่ผู้แพ้ก็ต้องตายตกกันไป เพราะ ‘ถ้าพวกเขาไม่สมควรที่จะมีชีวิตอยู่ พวกเขาก็ตาย และการตายคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา’
กรอบคิด Social Darwinism ของสเปนเซอร์ ยังมีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่คาร์เนกีมีชีวิตอยู่ โดยระบบเศรษฐกิจแบบ Laissez-faire (ซึ่งเป็นคำในภาษาฝรั่งเศสที่อาจแปลได้ว่า let do, let it be หรือ ปล่อยให้มันเป็นไป) เป็นการปล่อยให้กลไกตลาดเสรีทำงานไปด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์ โดยหนึ่งในตัวจักรสำคัญในระบบ Laissez-faire ได้แก่กรอบคิดปัจเจกนิยม (Individualism)
ด้วยการประสานกรอบคิดต่างๆ นี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่รัฐจะไม่มีกฎหมายควบคุมธุรกิจเอกชน และธุรกิจเอกชนจะไม่มีสวัสดิการหรือความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของแรงงานหรือผู้บริโภคแต่อย่างใด ทุกคนจะต้องดูแลชีวิตของตัวเอง การที่แรงงานยอมเซ็นสัญญาเข้ามาทำงานกับบริษัท หรือการที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าไปจากบริษัท เป็นการกระทำที่อยู่บนหลักเสรีภาพในการทำสัญญา (freedom of contract) ที่แต่ละคนยอมรับเงื่อนไขนี้เอง ดังนั้นการที่คาร์เนกีไม่ปรับปรุงโรงงานให้มีความปลอดภัย ตลอดจนไม่ยอมขึ้นค่าแรงให้แก่แรงงานจึงเป็นการกระทำที่เป็นไปตามกรอบคิดนี้
นอกจากนี้ ภายใต้กรอบคิดวิวัฒนาการของ Darwinism ก็ทำให้คาร์เนกีมองว่าแรงงานเป็นสิ่งที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ย่อมด้อยกว่า ‘ทุน’ (capital) อันเป็นผลผลิตของโลกสมัยใหม่และยุคอุตสาหกรรม ดังนั้นแรงงานจึงจำเป็นต้องโอนอ่อนหรือถูกเฆี่ยนตีให้เดินไปตามแนวทางที่ทุนต้องการ แน่นอนว่า การอธิบายว่าทุนและแรงงานจำเป็นต้องเดินไปด้วยกันนั้น เป็นสิ่งที่คาร์เนกีกล่าวถึงอยู่เสมอๆ
ความพยายามในการสลายสำนึกเรื่องความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจน เป็นสิ่งที่ปรากฏในข้อเขียนของคาร์เนกีอยู่ตลอดเวลา จนอาจกล่าวได้ว่าแท้จริงแล้วการกุศลอาจไม่ใช่ประเด็นหลักในข้อเขียนของเขา แต่เป็นการประสานให้ระบบชนชั้นดำเนินต่อไปได้ และแน่นอนว่ากรอบคิดที่เน้นเรื่องความขัดแย้งทางชนชั้นที่ทรงพลังที่สุดนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ก็ได้แก่ สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์
พลังของสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับชนชั้นนำและคนรวยเสมอมา โครงการเพื่อสาธารณะต่างๆ เช่น โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม (social housing) ที่ได้รับความนิยมมากในช่วงสงครามเย็น หรือระบบเศรษฐกิจ New Deal ที่เข้ามาแก้ปัญหาความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจแบบ Laissez-faire ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในปี 1929 (Great Depression) หลังจากที่ระบบเศรษฐกิจแบบ Laissez-faire เองก็ได้รับการสังคายนามาแล้วในช่วง Progressive Era (1896–1916) ก็เป็นกลไกสำคัญที่ชนชั้นนำใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการลุกฮือของมวลชน
การเป็นเศรษฐีใจบุญ (philanthropist) ของบรรดาเศรษฐีทั่วโลกจึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ก่อนที่จะเข้าไปกล่าวชื่นชมหรือเห็นดีเห็นงามด้วย เพราะนั่นอาจเป็นการสร้างความชอบธรรมให้สิ่งเลวร้ายบางอย่างโดยไม่รู้ตัว ในแง่นี้ สิ่งสำคัญที่สุดในการขอพรจาก ‘Santa’ อาจไม่ใช่การลิสต์รายชื่อสิ่งของที่อยากได้ แต่เป็นการตรวจสอบให้แน่ใจว่าบุคคลที่ได้ขอพรด้วยนั้นไม่ได้เป็น ‘Satan’
อ้างอิง
- Andrew Carnegie. 2006. The Gospel of Wealth Essays and Other Writings. New York: Penguin Classics.
- Edward W. Bemis 1894. “The Homestead Strike.” Journal of Political Economy (The University of Chicago Press). P. 369-396.
- Linda Schneider. 1982. “The Citizen Striker: Workers’ Ideology in the Homestead Strike of 1892.” Labor History. P. 47-66.
- Colin Woodard. 2016. American Character: A History of the Epic Struggle Between Individual Liberty and the Common Good. New York: Penguin Books. P. 111-146
- 10 Days That Changed America: The Homestead Strike
- Andrew Carnegie: Robber Baron or America’s Greatest Philanthropist?
- How Andrew Carnegie Became The Richest Man In The World
- Andrew Carnegie
- Andrew Carnegie Claimed to Support Unions, But Then Destroyed Them in His Steel Empire
- 10 Things You May Not Know About the Pinkertons
- THE BATTLE OF HOMESTEAD