เวลาที่หัวใจมีปัญหาและหัวเริ่มหมุนเพราะความเครียด ใครเป็นคนสอนให้คุณจัดการกับความเครียด อดกลั้นพฤติกรรม และปลอบปลงตัวเองด้วยวิธีการคิดและรับมือกับปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ ที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ประสบการณ์ของบุคคล
คำถามต่อมา…เมื่อไหร่กันที่คุณ ‘เริ่ม’ ฝึกทักษะการควบคุมอารมณ์จนทำให้คลี่คลายได้
ต่อมาอีกนิด…คิดหรือไม่ว่าถ้าคุณทำความรู้จักกับอารมณ์ (หรืออย่างที่คนส่วนใหญ่ใช้คำว่า ‘รู้เท่าทันอารมณ์’) ตั้งแต่เด็กๆ #ชีวิตคุณอาจดีกว่านี้
บทความจาก เกรซ รูเบนสไตน์ (Grace Rubenstein) นักสื่อสารมวลชนในวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ พฤติกรรมและปัญหาเรื่องผู้อพยพ รวบรวมงานวิจัยและความเห็นจากนักการศึกษาหลายท่านเขียนอธิบายไว้ด้วยการชวนคิดว่า
‘วิชาอารมณ์ศึกษา ควรถูกสอนและต้องสอนตั้งแต่เริ่มฝึกทักษะการเรียนรู้’
‘อารมณ์’ นั้นสำคัญไฉน
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของทีมมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ชี้ว่า ผู้ที่มี ‘ทักษะ’ (skill) ในการจัดการอารมณ์ มีแนวโน้มจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่า (ก็แน่นอนน่ะสิ) และมีพฤติกรรมด้านสุขภาวะที่ดีกว่าด้วย
แต่การเป็นคนสุขภาพจิตดี จะก่อให้เกิดประโยชน์อะไร (ที่มากไปกว่าการเป็นคนน่ารัก) ได้บ้าง?
รูเบนสไตน์ชี้ว่า เทรนด์งานทุกวันนี้มีแต่เรียกร้องความ ‘อึด-ถึก-ทน’ เยี่ยงเครื่องจักร และการที่มนุษย์จะ ‘อึด-ถึก-ทน’ ได้ จำเป็นต้องเป็นคนอดกลั้น ควบคุมความเครียด และต้องใช้ทักษะการสื่อสารเพื่อการเจรจาต่อรองกับโลกมากขึ้น ซึ่งทักษะที่ว่ามาเหล่านี้ ท้ายสุดก็ต้องวนกลับที่การฝึกทักษะเพื่อบริหาร ‘ตบะ’ ของตัวเองไม่ให้ ‘แตก’ อยู่ดี
เด็กๆ มักถูกสอนให้ ‘ignore-เพิกเฉย ละเลย ไม่สนใจ’ หรือแม้จะ ‘ควบคุม’ ความรู้สึกของตัวเอง
วัฒนธรรมตะวันตกมักเห็นว่า ‘อารมณ์’ เป็นการกระทำความเอาแต่ใจ หมกมุ่น และอาจชี้นำทำให้ตัวเองไขว้เขวไปได้ ซึ่งทำให้เราฝึกฝนและเก่งมากในการกดซ่อนอารมณ์ไว้
คือความเห็นของ โธมัส เชฟฟ์ (Thomas Scheff) ผู้สนับสนุนหลักสูตรอารมณ์ศึกษาในโรงเรียน เขายังตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ด้วยการฝึกซ่อนอารมณ์ที่แท้จริงนั้น คนเรามีแนวโน้มจะซ่อนความอับอายไว้ใต้ความโกรธ ซึ่งนั่นอาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้
เขาแสดงความเห็นต่อว่า ‘นิยาม’ หรือ ‘คำ’ ของอารมณ์นั้นๆ (เช่น คำว่า ‘โกรธ’ คือความขุ่นข้อง โมโห ต่อคนอีกคนหนึ่ง) ไม่ได้แค่ให้ความหมาย แต่ให้คุณค่าและความซับซ้อนบางอย่างแก่คำนั้นๆ แต่เรามักถูกสังคมสอนสั่งไม่ให้ฟังหรือวิเคราะห์ความหมายเบื้องหลังคำเหล่านั้น
สืบเนื่องจากหัวข้อด้านบน มนุษย์เรามักโฟกัสไปที่ความหมายหรือคำศัพท์ แต่ไม่เคยปล่อยตัวเองให้ดำดิ่งเพื่อเข้าใจอารมณ์นั้นอย่างแท้จริง
โรบิน สเทิร์น (Robin Stern) แห่ง Yale Center for Emotion หนึ่งในผู้พัฒนาหลักสูตรของ RULER สถาบันที่เปิดหลักสูตรเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์อย่างจริงจังและมีชื่อเสียงของสหรัฐ อธิบายว่า
เรามักเข้าใจความหมายของคำ เช่น ความหมายของคำว่า ‘ผิดหวัง/disappointment’ ต้องมีตัวแปรเป็นความคาดหวังและไม่เป็นดั่งใจ แต่คำว่า ‘ผิดหวังเชิงคับข้องใจ/frustration’ ให้ภาพว่าอาจเป็นความรู้สึกที่สกัดกั้นเราไปสู่ความสำเร็จ
เธอเสนอว่า ให้ลองสมมุติว่าความรู้สึกของคุณไม่มีความหมายครอบอยู่ ให้ลองจมดิ่งไปกับความรู้สึกที่ไม่มีนิยามนั้น การกระทำเช่นนี้อาจทำให้เราเห็น เข้าใจ และเท่าทันความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น
แม้ว่านักวิชาการ นักการศึกษา จะให้ความสำคัญกับหลักสูตรเรื่องอารมณ์แล้ว แต่พวกเขาก็ยังไม่รู้ว่าอารมณ์ใดบ้างที่ต้องสอน อารมณ์มีกี่ชนิด กี่คำ และคำว่าอะไรบ้าง?
ในพจนานุกรม อาจมีคำศัพท์ที่เกี่ยวกับความหมายของอารมณ์อยู่มากมาย อย่างไรก็ตาม ในหลักสูตรของ RULER ลองรวมรวบคำศัพท์ที่เกี่ยวกับอารมณ์ พวกเขาจำแนกได้ราวหนึ่งร้อยคำ แต่ท้ายที่สุด เชฟฟ์ ผู้สนับสนุนเรื่องการศึกษาด้านอารมณ์ และเป็นผู้ศึกษาความหมายของคำว่า ‘shame’ ก็เสนอว่า
“เหมือนเราจะรู้จักและคิดว่ามีคำศัพท์รองรับความหมายของอารมณ์จำนวนมาก แต่พอศึกษากันจริงๆ แล้วพบว่ามีน้อยมากเลย”
ผู้ปกครองควรเริ่มตั้งคำถามให้เด็กๆ อธิบายว่าวันนี้พวกเขารู้สึกอย่างไร เพื่อให้เด็กๆ ลองจมดิ่งและอธิบายความหมายของอารมณ์ด้วยคำศัพท์ที่ ‘ใช่’ กับความรู้สึกนั้น
“จงอธิบายความรู้สึกพิเศษสุดๆ ที่คุณเคยเจอมาหน่อยได้ไหม” นี่มักเป็นคำถามตั้งต้นที่เชฟฟ์มักใช้กับนักศึกษาวิชาอารมณ์ศาสตร์ของเขา แต่เขาชี้ต่อไปว่า มันจะสายไปไหมถ้าเรามาเริ่มศึกษาอารมณ์กันจริงๆ จังๆ ก็ตอนที่โตแล้ว