ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำใจกับความสูญเสียของคนใกล้ชิดที่ไม่มีวันหวนกลับ แต่สัจธรรมที่ทุกคนรู้อยู่เต็มอกว่าความตายไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์จะหลีกลี้ได้ คงสามารถปลดพันธนาการจากความเศร้าโศกภายในใจได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง หากแต่ใครสักคนถูกบังคับให้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่เพียงคนในครอบครัวยากที่จะทำใจแล้ว ยังมีความคลุมเครือซึ่งยากที่จะปลดพันธนาการออกไปได้ อังคณาและประทับจิต นีละไพจิตร ก็เช่นเดียวกัน ทั้งสองแม่ลูกถูกยัดเยียดให้เป็นเหยื่อของการบังคับสูญหาย หากนับตั้งแต่การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 จนถึงปีนี้นับเป็นเวลา 20 ปีเต็มของการต่อสู้ทวงคืนความเป็นธรรมที่ไม่มีวันหยุดพัก ทุกขณะจิตถูกย้ำเตือนอยู่เสมอ “แต่มันคือการย้ำเตือนครอบครัว มันไม่ได้ย้ำเตือนคนทำผิด” คือสิ่งที่อังคณา ภรรยาทนายสมชายบอกกับเรา
“ตั้งแต่อายุ 21 ปี ตอนที่คุณพ่อหายไปจนตอนนี้อายุ 41 ปีแล้ว เราบอกตัวเองเสมอว่า ไม่ว่าจะอายุเท่าไร เราก็คงต้องตามหาความจริงต่อไปจนถึงวันสุดท้าย” และนี่คือส่วนหนึ่งที่ประทับจิต ลูกสาวทนายสมชายพูดไว้เช่นกัน
ในวันที่เราได้เดินทางไปพูดคุยกับทั้งสอง ยังคงเป็นวันที่ความคลุมเครือยังไม่ถูกไขกระจ่าง ครอบครัวยังคงเดินหน้าค้นหาความจริง ยังคงตั้งคำถามเดิมๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับทนายสมชายในวันนั้น
หลังมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่บังคับใช้มาแล้ว 1 ปีเต็ม หลายคนต่างตั้งความหวังว่าจะเป็นก้าวสำคัญในการนำไปสู่ความจริงและความยุติธรรมแก่ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายในทุกๆ กรณี
-1-
20 ปีของการต่อสู้
เกิดอะไรขึ้นกับการหายตัวไปของทนายสมชาย
อังคณา: มันคงสืบเนื่องมาจากงานที่เขาทำ การเป็นทนายความที่ต้องเข้าไปปกป้องสิทธิลูกความ ทำให้มีเรื่องขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จริงๆ แล้วคุณสมชายทำงานช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนมานานแล้ว ตั้งแต่คดีสมัย 6 ตุลา และอื่นๆ จนประมาณปี 2539-2540 ก็เริ่มไปทำคดีทางภาคใต้อย่างจริงจังมากขึ้น เช่น คดีห้ามนักศึกษาสวมฮิญาบ หรือคดีการขึ้นปราศัยแล้วโดนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความมั่นคง กระทั่งมาถึงคดีปล้นปืน (ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 4 มกราคม 2547) ก็ยังทำต่อเนื่องมาตลอด
หลังเหตุการณ์ปล้นปืน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมชาวบ้าน 5 คน เป็นคนนราธิวาส เขาก็นั่งดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้านนี่แหละ เขาเห็นว่าคนที่ถูกจับเป็นชาวบ้านธรรมดา นุ่งผ้าโสร่ง ไม่น่ามีศักยภาพที่จะบุกเข้าไปปล้นปืนได้ หลังจากนั้นชาวบ้าน 5 คน ก็ถูกนำตัวมาที่กองบังคับการปราบปราม กรุงเทพฯ ทนายสมชายก็เลยเข้าไปเยี่ยมและยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ส่งตัวผู้ต้องหาเข้าไปในเรือนจำเพราะจะปลอดภัยกว่าอยู่กับตำรวจ แล้วก็ทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหนังสือได้ประทับตราวันที่ 11 มีนาคม และถัดมาวันที่ 12 มีนาคม ก็เป็นวันที่ทนายสมชายถูกอุ้ม
ก่อนหน้านั้นทนายสมชายได้ออกมารณรงค์ล่ารายชื่อให้ยกเลิกกฎอัยการศึกด้วย และในวันที่ 15 มีนาคม คุณทักษิณ (นายกรัฐมนตรีขณะนั้น) มีกำหนดการที่จะลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เขาเลยตั้งใจว่าจะเอารายชื่อที่รวบรวมได้ไปยื่นให้ถึงมือคุณทักษิณ แต่วันที่ 12 มีนาคม ก็ถูกอุ้มไปเสียก่อน
20 ปีของการสูญหาย ครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
อังคณา: คดีคนหายมันไม่เหมือนกับกรณีทั่วไป คนหายไม่ใช่คนตาย เพราะฉะนั้นเรื่องการจัดการทรัพย์สิน เรื่องสถานะอะไรต่างๆ ก็ไม่ชัดเจน เราเป็นหม้ายหรือเราหย่า ตอนที่เขาหายตัวไป เราก็ไปแจ้งความ ตำรวจบอกว่า “คงไม่ได้ไปไหนมั้ง ทะเลาะกันหรือเปล่า” เราก็แจ้งความไม่ได้ เพราะตำรวจบอกว่าต้องรอให้ครบ 48 ชั่วโมงก่อน
ชีวิตตอนนั้นมันเหมือนเสียหลักไปเลย รอจนครบ 5 ปี เราถึงมีสิทธิร้องต่อศาลให้เป็นคดีสาบสูญ จำได้ว่าตอนนั้นลูกชายจะต้องเรียน รด. แล้วต้องให้พ่อเซ็นเอกสารบางอย่างด้วย แต่เราไม่มีใบตายไปให้เขาดูเนอะ และมันยากที่จะอธิบายว่าเขาหายไปไหน แล้วเวลาพาลูกไปทำหนังสือเดินทางก็ต้องให้พ่อเซ็นอีก พอไม่มีพ่อ เราก็ต้องพาลูกเข้าไปขอพบเจ้าหน้าที่ระดับสูง เข้าไปเล่า ไปอธิบายให้เขาฟัง กว่าจะได้อนุมัติ อันนี้ก็เป็นผลกระทบทางกายภาพที่เกิดขึ้น ส่วนผลกระทบทางจิตใจอันนี้ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะมันส่งผลกระทบมากอยู่แล้ว
ประทับจิต: ตอนที่พ่อหายไปมันเป็นช่วงที่เราเริ่มโตแล้ว ซึ่งในเรื่องการศึกษาของพวกเรายังโชคดีกว่าคนอื่นๆ แม้ว่าพ่อจะมีรายได้ที่ไม่ค่อยแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แต่แม่ก็สามารถจัดการการเงินในบ้านได้ ซึ่งถ้าเทียบกับกรณีคนหายอื่นๆ โดยเฉพาะชาวบ้านทั่วไป เด็กบางคนยังไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้เลย
แม่เผชิญกับความยากลำบากในการจะอธิบายให้ลูกฟังว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเรามันคืออะไร อีกอย่างหนึ่งที่แบ๋น (ประทับจิต) รู้สึกว่ามันเกิดขึ้นกับครอบครัวเราแล้วแย่กว่าครอบครัวคนอื่นก็คือความเข้าใจผิด เพราะก่อนหน้านี้คนจะเข้าใจว่าคนที่หายไปเป็น ‘คนไม่ดี’ แล้วก็มีข่าวออกมาว่าทนายสมชายเป็นทนายโจร ไปทำคดีให้โจร เพราะตอนนั้นสิทธิของผู้ต้องหายังไม่ได้รับการยอมรับมากนักในสังคม โชคดีที่ว่าพ่อมีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนค่อนข้างชัดเจนมาตลอด แต่ยังไงก็ตามมันก็จะมีความเข้าใจผิดบางอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ เนื่องจากการสูญหายมันคลุมเครือ เหตุผลมันไม่ชัดเจน ไม่มีแม้แต่ร่องรอยอะไรเลย
อีกอย่างที่อยากจะขยายความจากที่แม่พูดในเรื่องความทุกข์ มีประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ เวลาทำให้คนคนหนึ่งหายไป ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนที่หายไปนั้นเรื่องหนึ่ง และศักดิ์ศรีของคนที่ยังอยู่ แต่วันหนึ่งสมาชิกครอบครัวของเราถูกพรากไป เรารู้สึกได้ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรามันถูกพรากออกไปด้วย
ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สร้างผลกระทบด้วยเหมือนกัน ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าการบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญา เรียกได้ว่าเป็นผลกระทบของการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจริงๆ ยิ่งคนที่มีต้นทุนทางสังคมน้อยกว่าเรา การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมก็ยิ่งแย่ ซ้ำร้ายกระบวนการยุติธรรมเองนั่นแหละที่ทำให้เราเจ็บซ้ำเพิ่มไปอีก อย่างคดีปล้นปืน ในที่สุดศาลฎีกาก็ตัดสินยกฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 คน หรือคดีการหายตัวของทนายสมชาย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็บอกว่าเราไม่มีสิทธิ์เป็นโจทก์ร่วม เหตุผลคือยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคุณสมชายเสียชีวิตไปแล้วหรือยัง
อังคณา: สิ่งที่เราเคยพบเจอในครอบครัวที่ถูกรัฐละเมิด ก็คือบางทีเด็กๆ จะโตขึ้นมาโดยมีอคติต่อสังคม หลายคนไม่อยากไปโรงเรียน เพราะไปแล้วต้องเจอกับคำถาม “พ่อไปไหน” “พ่อเป็นโจรจริงไหม” สิ่งเหล่านี้มันยากที่เด็กคนหนึ่งจะอธิบายให้เพื่อนๆ หรือครูฟังได้ ต้องยอมรับเลยว่าผลกระทบทางจิตใจมันมาก และไม่ใช่ส่งผลแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันต่อเนื่องยาวนานไม่สิ้นสุด
และที่สำคัญเวลาที่เรากลายเป็นเหยื่อ สังคมไทยมักจะมองว่าเหยื่อคือบุคคลที่น่าสงสาร น่าเห็นใจ เรามักจะถูกมองแบบนั้น มีคนอยากจะทำบุญให้ อะไรแบบนี้ มันทำให้เรารู้สึกยิ่งต่ำลง สิ่งที่เราพยายามเรียกร้องมาตลอดคือ คืนความยุติธรรมให้เรา บอกความจริงกับเรา เพราะมันเป็นเรื่องเดียวที่เราไม่สามารถทำเองได้ เราสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่เองได้ เราไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย สิ่งเดียวที่ต้องการคือเราอยากรู้ความจริง มันเหมือนการปลดปล่อย
ตลอดระยะเวลา 20 ปี ครอบครัวมีการเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐอย่างไรบ้าง
อังคณา: เยอะแยะเลย แต่คดีคุณสมชายถือว่าโชคดีมาก เพราะเป็นคดีคนหายคดีแรกในประเทศไทยที่นำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ก็ต้องขอบคุณเพื่อนทนายความของเขาที่ช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ อย่างคุณสัก กอแสงเรือง คุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และคนอื่นๆ ที่ตอนนั้นเป็น สว. และมีบทบาทอย่างมากในการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีหรือคุณทักษิณในเช้าวันจันทร์ หลังการหายตัวไปของทนายสมชายในวันศุกร์ และทุกคนมั่นใจเลยว่าถูกอุ้มแน่นอน มันก็เลยทำให้การสืบสวนสอบสวนขณะนั้นรวดเร็วขึ้นมาก
ทนายสมชายหายไปวันที่ 12 มีนาคม พอวันที่ 1 เมษายน ตำรวจก็ออกหมายจับตำรวจ 4 นายที่เป็นผู้ต้องหา หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ ก็ออกหมายจับตำรวจอีก 1 นาย ก็ยอมรับเลยนะคะว่ามันมีเจตจำนงทางการเมือง เลยทำให้การสืบสวนคดีนี้เป็นไปโดยเร็ว อย่างไรก็แล้วแต่ พยานหลักฐานที่ตำรวจหามาก็ไม่ได้มากพอที่จะบอกว่าใครเป็นคนทำ และไม่ได้มากพอที่จะนำไปสู่การลงโทษคนผิด
ประทับจิต: ในด้านการรณรงค์ แม่กับแบ๋นได้รับการช่วยเหลือจากสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมในการช่วยรณรงค์ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 20 นี้ เราได้รู้จักคนใหม่ๆ อยู่เสมอ น้องๆ คนรุ่นใหม่ ศิลปิน นักร้อง ช่างภาพ จะมีคนใหม่ๆ เข้ามาทำความรู้จักช่วยเหลือในการรณรงค์ ต้องเรียกได้ว่า 20 ปีมานี้ เราใช้ทุกกลไกตามกระบวนการ อย่างเดียวที่ไม่เคยคิดจะใช้เลยคือการใช้ความรุนแรง เพราะเรายังคงเชื่อมั่นในสันติวิธี พูดได้เลยว่ากลไกในประเทศและกลไกระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เราใช้มาหมดแล้ว
ที่ผ่านมาคุณแม่ร่วมกับ NGO ไปสังเกตการณ์คดี ตั้งคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ไปรวบรวมกรณีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีสงครามยาเสพติดในภาคอีสาน และกรณีชนเผ่าชาติพันธุ์ลาหู่ทางภาคเหนือ ซึ่งได้เรียบเรียงออกมาเป็นรายกรณีเพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงว่าการบังคับสูญหายในประเทศไทยเป็นอย่างไร เป็นงานที่เราสองคนภาคภูมิใจมาก จนในที่สุดในปี 2554 ประเทศไทยตกลงที่จะลงนามในอนุสัญญาของสหประชาชาติที่จะป้องกันบุคคลสูญหาย และนั่นมาจากบทเรียนที่แม่เจอว่าในประเทศไทยการบังคับบุคคลสูญหายไม่ใช่ความผิดทางอาญา
ตัวแบ๋นเองทำงานวิจัยพบว่า สมัยก่อนความเข้าใจของสังคมไทย คำว่า ‘หาย’ แปลว่า หายไปเอง สมัครใจหาย จะมีคำที่ใกล้เคียงที่สุดที่เขาจะพูดๆ กันตั้งแต่สมัยของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นต้นมาก็คือคำว่า ‘อุ้มหาย’ แต่อุ้มหายก็ยังไม่ได้อธิบายชัดเจนว่ากระบวนการเป็นอย่างไร จนวันนี้มีกฎหมายออกมาแล้ว ทำให้คนในสังคมไทยเข้าใจมากขึ้นว่าเวลาเราพูดถึง ‘การบังคับสูญหาย’ มันหมายถึงอะไร นี่ก็เป็นความตั้งใจอย่างหนึ่งที่เราคิดว่ามันสำเร็จ แต่แน่นอนว่าในที่สุดแล้วแบ๋นและทุกคนอยากรู้ว่าข้อเท็จจริง ความจริงของการสูญหาย และชะตากรรมของเขา หรือแม้ว่าตอนนี้เขามีจุดจบไปแล้ว มันเป็นอย่างไร
การตั้งกระทู้ถามเรื่องการหายตัวไปของทนายสมชายในวันนั้น รัฐบาลทักษิณมีท่าทีตอบสนองอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้
อังคณา: คุณทักษิณก็ตามธรรมชาตินะคะ ปากไว เขาก็ตอบไปว่าทนายสมชายคงทะเลาะกับเมีย แล้วเขาก็โดนสื่อวิพากษ์วิจารณ์เยอะ หลังจากนั้นแม่ก็ได้มีโอกาสพบคุณทักษิณส่วนตัว ซึ่งคุณทักษิณเขาขอพบ เราก็ถามคำถามนี้ว่าทำไมคุณถึงพูดว่าคุณสมชายทะเลาะกับเมียล่ะ มันทำให้เรื่องที่ควรจะจริงจังกลายเป็นเรื่องไร้สาระ คุณทักษิณเขาก็บอกว่า “ผมขอโทษ ผมไม่รู้จริงๆ มีคนรายงานมา”
คือก็ยอมรับนะคะ ว่าการตั้งกระทู้ในวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2547 มันมีผลอย่างมาก สื่อประจำรัฐสภาก็เอามารายงานทันที ก็เลยกลายเป็นแรงกระเพื่อมในสังคม
ภาครัฐให้ทางครอบครัวมีส่วนร่วมและเข้าถึงข้อมูลความคืบหน้าในคดีมากน้อยแค่ไหน
อังคณา: DSI (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) พูดมาตลอดว่าจะเชิญครอบครัวไปฟังว่าเขาทำอะไรไปบ้าง เราก็ถามเขาทุกปีเลยนะคะ จนกระทั่งเขางดการสอบสวนเมื่อปี 2559 เวลาเราไปยื่นสิทธิถามเขา เขาไม่เคยตอบเลย
มีช่วงหนึ่งก่อนที่จะงดการสอบสวน ช่วงปี 2553-2554 DSI แจ้งว่ากลุ่มผู้ประท้วงบุกเข้าไปในกรมสอบสวนคดีพิเศษ แล้วแฟ้มคดีของทนายสมชายก็หายไป ตอนนั้นเราตกใจมาก เข้าไปขอพบปลัดกระทรวงยุติธรรม (ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ) ก็บอกเดี๋ยวจะตรวจสอบให้ พอหลังจากไปพบปลัดได้ 2 วัน ผู้อำนวยการคดีอาญาพิเศษก็ออกมาให้การว่าเจอแล้ว ซึ่งเราเองก็ไม่รู้เลยว่าในแฟ้มนั้นมันมีอะไรบ้าง มันมีสำนวนไหม หรือว่ามันก็ไม่มีอะไรเลย เพราะว่าญาติไม่มีโอกาสเข้าไปรับทราบเลยว่าคดีความมันไปถึงไหน
อุปสรรคของคดีทนายสมชายติดขัดตรงจุดไหน
อังคณา: หลังจากที่เราออกมาบอกกับสังคมว่าทนายสมชายถูกอุ้ม มันก็เริ่มมีการคุกคาม วันที่ไปศาลเราก็ไม่ให้ลูกๆ ไปด้วย เราก็ไปคนเดียว เจอตำรวจนอกเครื่องแบบเต็มไปหมด แต่ก็ยังมีคนลางานมาให้กำลังใจกัน วันที่นั่งรถเพื่อนไปฟังคำพิพากษาปรากฏว่ารถเพื่อนก็ถูกทุบกระจกหน้ารถแตก อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราถูกคุกคาม ซึ่งช่วงแรกมันเยอะมาก มีการฝากบอกกันมาผ่านญาติว่า “ระวังตัวไว้นะ ผู้ใหญ่เขาเตือนมา” เราก็พยายามถามอยู่ตลอดว่าผู้ใหญ่ที่ว่าเนี่ยคือใคร แล้วจะให้ระวังยังไง คือคำพูดอะไรแบบนี้มันบั่นทอนเรา คล้ายกับว่าพยายามที่จะให้เราหยุด
พูดกันตรงๆ เลยนะ วันที่ทนายสมชายหายตัวไป ญาติเขาก็หายไปเลย เพื่อนเขาบางคนก็ไปประเทศเพื่อนบ้านก็มี คือทุกคนกลัวกันหมด วันนั้นเราเพิ่งเข้าใจสิ่งที่เคยถามคุณสมชายว่า “ทำไมคนที่เขาถูกอุ้ม เมียหรือญาติเขาไม่ออกมาพูดอะไรบ้าง” คุณสมชายก็ตอบเราว่า “เขากลัว” ซึ่งพอมันเกิดขึ้นกับเราก็เข้าใจเลย ช่วงนั้นจึงเป็นช่วงสำคัญที่เราต้องตั้งหลักให้ดี หลายครอบครัวต้องเจอแบบนี้จนทำให้เขาต้องถอย ไม่กล้าออกมาพูด ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญเลย
ประทับจิต: แบ๋นอยากจะพูดถึงมิติทางเพศ เพราะมันถือเป็นอุปสรรคหนึ่งเหมือนกัน โดยส่วนมากกลุ่มเป้าหมายของการทำให้หายมักจะเป็นผู้ชาย ดังนั้นเหยื่อหรือญาติผู้สูญหายส่วนมากก็จะเป็นผู้หญิง การจะออกมาเป็นผู้นำอย่างที่แม่ทำ มันไม่ใช่ว่าทุกระดับในสังคมจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้ การจะยอมรับผู้หญิงที่ออกมาส่งเสียงว่าถูกละเมิดสิทธิตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังคงเป็นเรื่องยาก
ในฐานะที่เป็นผู้หญิงและในฐานะที่เป็นมุสลิมด้วย มันทำให้มุมมองที่มีต่อครอบครัวเราหรือการยอมรับผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องมันยังมีน้อยอยู่ ทั้งในแง่มิติทางวัฒนธรรม มิติธรรมเนียมปฏิบัติ ชุมชนศาสนา ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายของผู้หญิง บอกตรงๆ เลยว่าบางครั้งรู้สึกโดดเดี่ยวจากการออกมาต่อสู้ เราต้องแบกรับความเสี่ยงนานาประการที่จะเกิดขึ้นกับเรา เพราะในความเป็นผู้หญิงมันอาจทำให้บางคนรู้สึกว่าต้องอยู่ในสถานะที่ถูกปกป้องดูแลเท่านั้น แต่ถ้าเราไม่ออกมาสู้ ก็คงไม่มีใครมาออกหน้าช่วยเรา
อีกเรื่องที่เป็นอุปสรรคคือเรื่องเกี่ยวกับภาระของเหยื่อ โดยเฉพาะผู้หญิงในสังคมไทย เราจะได้ยินบ่อยเลยว่าจะยุติการสืบสวนจนกว่าญาติจะสามารถหยิบยกหลักฐานเพิ่มเติมหรือมีข้อมูลใหม่มาให้ได้ ตรงนี้เป็นอะไรที่จะต้องตั้งคำถามว่า ทำไมระบบยุติธรรมยังผลักให้เป็นหน้าที่และเป็นภาระบนไหล่บ่าของเหยื่อ แล้วเราที่ไม่ได้มีอำนาจใดๆ เลยจะไปหาหลักฐานเพิ่มเติมมาจากไหน แบ๋นคิดว่าข้อความตรงนี้มันแฝงด้วยนัยยะที่ทำให้รู้สึกเชื่อว่าคนที่หายไปคือผู้กระทำผิด เขาเลยอาจจะคิดว่าครอบครัวอาจจะมีลับลมคมใน มันจะต้องมีเงื่อนบางอย่างที่หายไป แล้วเหมือนกับว่าให้เราค่อยๆ ไปสารภาพกับเขา ซึ่งอันนี้ก็แปลกดีที่ยังมีคำพูดหรือข้อความแบบนี้อยู่ ล่าสุดที่ได้ยินก็คือกรณีครอบครัวคุณวันเฉลิม (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งในกระบวนการยุติธรรมบอกไว้ว่า “จนกว่าครอบครัวจะมีอะไรใหม่ๆ มาให้เรา” แล้วเขาจะไปหาจากไหน
อังคณา: ขยายความเพิ่มเติมก็คือ มันมีการใช้เงื่อนไขทางเพศเป็นเครื่องมือในการคุกคาม ขอย้อนพูดถึงการนิยามคนหายตามหลักสากลของสหประชาชาติ ‘เหยื่อ’ ไม่ได้หมายถึงคนที่หายไปอย่างเดียว แต่หมายถึงครอบครัวของเขาด้วย คนที่ยังอยู่ต้องทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความจริงก็จะถือว่าเป็นเหยื่อหมด ซึ่งเหยื่อที่เหลืออยู่ส่วนมากก็จะเป็นผู้หญิงกับเด็ก แล้วความเป็นผู้หญิงมันก็มักจะถูกใช้เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือ เช่น “ออกมาแบบนี้จะหาผัวใหม่ใช่ไหม” อย่างภรรยาของบิลลี่ (บิลลี่ พอละจี) ตอนบิลลี่หายตัวไปเขาอายุ 29 มีลูก 5 คน หลังจากนั้นเธอแต่งงานใหม่ ถ้านึกถึงผู้หญิงอายุเท่านี้เธอต้องรับภาระเลี้ยงดูลูก 5 คน ทำไมถึงไม่มีสิทธิสร้างครอบครัวใหม่ แม้แต่คนรุ่นราวคราวเดียวกันยังต่อว่าเธอ
คือมันกลายเป็นว่าเมื่อมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ผู้หญิงคนหนึ่งต้องพันธนาการตัวเองไว้ ไม่มีสิทธิในตัวของตัวเองเลย ซึ่งภรรยาของบิลลี่เองก็มีลูกใหม่ด้วย ก็ถูกต่อว่านินทาว่าผัวหายแล้วมีลูกได้อย่างไร ไปท้องกับใคร ข้อความแบบนี้มันเผยแพร่ไปตามโซเชียลมีเดีย แล้วมันกระทบกับจิตใจคนในครอบครัวเหยื่ออย่างมาก ซึ่งตัวเราเองก็โดนอย่างที่บอกไป ภาวะแบบนั้นมันเป็นภาวะที่พยายามจะกดผู้หญิง ทำให้เห็นว่าเราอ่อนแอมาก
ถ้าสังเกตในทุกการชุมนุมประท้วง ชาวบ้านที่ออกมายืนแถวหน้าคือผู้หญิง แต่เวลาเลือกคนเข้าไปนั่งบนโต๊ะเจรจามักจะเป็นผู้ชายเสมอ เรื่องนี้แม้แต่นักกิจกรรมด้วยกันเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือการให้เกียรติทางเพศ ซึ่งส่วนตัวก็รู้สึกได้ถึงการเหยียดเพศ และรู้สึกด้วยว่าการเป็นผู้หญิงของเรามักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการคุกคามเรา
ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมคือความอยุติธรรมด้วยหรือไม่
อังคณา: ใช่ค่ะ ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม แต่ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรให้ความยุติธรรมมันรวดเร็วล่ะ ถ้าจะรวดเร็วแล้วมันต้องมีประสิทธิภาพด้วย ไม่ใช่สักแต่จับ สุดท้ายก็หลุด พอหลุดปุ๊บคดีก็จบเลย แต่ถึงอย่างไรความยุติธรรมมันต้องรวดเร็ว เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยา
ถ้าเราดูตัวอย่างกรณีตากใบที่ปีนี้ก็ครบ 20 ปีแล้ว จะถือว่าคดีสิ้นสุดหมดอายุความแล้ว ฟ้องไม่ได้แล้ว ส่วนคดีทนายสมชาย ถ้าหากตำรวจทำเป็นคดีฆาตกรรมตั้งแต่แรก ปีนี้ก็คงหมดอายุความ ที่ผ่านมา DSI มุ่งที่จะทำคดีคนหายให้เป็นคดีฆาตกรรมมาตลอด พยายามที่จะไปงมหาสิ่งที่หลงเหลืออยู่ ในขณะที่หลักสากลนั้น สิ่งที่ต้องตามหาคือ ‘คน’ ไม่ใช่ไปงมหาสิ่งที่เหลืออยู่
ถ้าเราหาคนหาย เราจะต้องได้รู้ให้ได้ว่าหลังจากที่เขาถูกนำตัวขึ้นรถเขาถูกเอาตัวไปไว้ที่ไหน ในวันนั้นสัญญาณโทรศัพท์สิ้นสุดที่จังหวัดราชบุรี ตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้น มันเป็นเรื่องราวที่เราต้องได้รู้ แต่สิ่งที่รัฐไทยมุ่งมั่นที่จะทำคือ หาชิ้นส่วน หาสิ่งของ การหาชิ้นส่วนมันอาจจะระบุได้ว่ามี DNA ตรงกันกับผู้สูญหาย แต่มันบอกไม่ได้ว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง มันเริ่มที่ไหนแล้วจบลงอย่างไร เพราะฉะนั้นแล้วการสอบสวนเจ้าหน้าที่ต้องมุ่งที่จะหาคน
ในคดีของทนายสมชาย หากมุ่งหาคนแล้วเอาหลักฐานมากางดูมันจะบอกได้ละเอียดยิบเลย จะเห็นเลยว่าในวันนั้นมันไม่ใช่แค่ตำรวจ 5 คนที่ตามเขา ยังมีอีกไม่น้อยกว่า 20 คน แล้วหลักฐานการใช้โทรศัพท์ของตำรวจ 5 คน ที่ให้การว่าไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 วันที่ทนายสมชายหายตัวไปมีการโทรติดต่อกันถึง 72 ครั้ง แล้ววันที่พบรถก็โทรติดต่อกันอีก 30 ครั้ง ซึ่งถ้าให้พูดในฐานะของญาติ เรารู้สึกว่าคำถามมันเยอะ แต่ตำรวจจริงใจที่จะทำแค่ไหน
ประจักษ์พยานก็บอกว่าเห็นจำเลยที่ 2 ขับรถทนายสมชายออกไป พอเอารถมาตรวจพบว่ามีเส้นผมตกอยู่ 20 เส้น เป็นเส้นผมทนาย เป็นเส้นผมทนายฝึกหัด เป็นเส้นผมลูกสาว แต่มี 4-5 เส้นที่ไม่รู้ว่าเส้นผมใคร แต่เจ้าหน้าที่กลับไปเก็บเส้นผมที่บ้านของจำเลยที่ 1 กับ 3 ซึ่งไม่ได้มีประจักษ์พยานยืนยันว่าเป็นคนขับรถออกไป แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเส้นผมที่อยู่ในรถนั้นเกี่ยวข้องกับจำเลยทั้ง 5 คนไหม ยิ่งไปกว่านั้นพนักงานสอบสวนจะขอเก็บ DNA พวกเขาก็ปฏิเสธ อ้างว่าไม่สมัครใจให้เก็บ ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปก็คงถูกบังคับสารพัด แต่พอเป็นตำรวจกลับปฏิเสธได้ ดังนั้นมันเลยไม่สามารถหาพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้เลย
ประทับจิต: ในอีกแง่หนึ่งเรื่องของความล่าช้า พวกเราครอบครัวคนหายอาจไม่ได้ซีเรียสกับผลหรอก แต่เราอยากให้ความล่าช้าในแง่ของกระบวนการมันมีการเร่งรัดที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีเจตจำนง มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหา หาคนให้เจอ
ที่ผ่านมาครอบครัวได้รับการคุ้มครองสิทธิในกระบวนยุติธรรมอย่างไรบ้าง
อังคณา: เราได้รับค่าเยียวยาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย (พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา) ซึ่งตอนที่ไปยื่นขอรับค่าเสียหายตามสิทธิ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่บอกว่าให้ไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานใบมรณะบัตร ไม่มีหลักฐานว่าบาดเจ็บ เราก็บอกว่าก็เป็นที่ประจักษ์ คนทั้งประเทศก็รับรู้ว่าทนายสมชายถูกอุ้มหาย ขอให้เขารับเรื่องไปก่อนแล้วให้คณะกรรมการพิจารณา เราก็อยากฟังว่าคณะกรรมการจะพิจารณาอย่างไร เพราะเราในฐานะผู้เสียหายก็มีสิทธิอุทธรณ์ ถ้าไม่ให้เราก็สามารถที่จะอุทธรณ์ไปถึงรัฐมนตรีก็ได้ สุดท้ายเขาก็ให้เงินเยียวยา
พอถึงช่วงที่มีการเยียวยาให้กับคนเสื้อแดง ก็จะมีการเยียวยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ตอนนั้นส่วนตัวก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการเยียวยาครอบครัวผู้สูญหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็รวมถึงครอบครัวทนายสมชายด้วย แต่ครอบครัวผู้สูญหายในจังหวัดอื่นยังไม่เคยได้รับการเยียวยา
และถึงแม้รัฐจะมีมาตรการเยียวยาเหยื่อหรือครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายด้วยตัวเงิน ซึ่งก็ยังได้ไม่ครบทุกกรณี แต่หากพูดถึงการเยียวยาด้วยการคืนศักดิ์ศรี เช่น การขอโทษ การรับผิด ตรงนี้มีความสำคัญมากนะคะ เรายังหวังอยู่ว่ารัฐบาลจะออกมารับผิด ออกมาขอโทษ แต่ก็ยังไม่มี
คิดเห็นอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 12 เมษายน 2565 ที่คุณแม่อังคณาถูกคุกคาม แต่ศาลกลับยกคำร้องขอขยายเวลาคุ้มครองพยาน
อังคณา: ตอนนั้นมีการรับสมัครคณะผู้ช่วยงานสหประชาชาติ หรือคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายที่เป็นผู้แทนของเอเชียและแปซิฟิก เราก็เขียนใบสมัครส่งไป หลังจากประกาศผลไม่นาน วันที่ 12 เมษายน 2565 ช่วงเวลาประมาณตี 4-5 ก็ได้ยินเสียงแปลกๆ หน้าบ้าน พอลงมาดูก็เห็นว่ามีกรรไกรอยู่ที่กระโปรงหน้ารถ เปิดผ้าคลุมรถดูก็เห็นว่ารถเป็นรอย ประตูบ้านก็เป็นรูจากการถูกกรรไกรเขวี้ยงใส่
พอเปิด CCTV ที่บ้านดูก็เห็นว่ามีคนเดินมาจากไหนไม่รู้ พอเลี้ยวเข้าซอยมาก็มาหยุดอยู่ที่หน้าบ้านแล้วเขวี้ยงกรรไกรใส่เลย มันไม่ใช่ลักษณะของการเขวี้ยงสะเปะสะปะ ไม่ใช่เลย เขาตั้งใจเดินมาหยุดที่หน้าบ้านเรา ก็เลยเดินทางไปแจ้งความซึ่งตำรวจก็ได้เปิดดู CCTV ตามทาง ปรากฏว่าผู้ชายคนนี้ไม่ใช่คนเร่ร่อน ทำงานรับจ้างอยู่แถวปากคลอง เขาเดินมาจากป้อมมหากาฬ ข้ามสะพานพุทธ อ้อมวงเวียนใหญ่ แล้วก็เดินมาเขวี้ยงกรรไกรที่บ้านเรา เราก็ตั้งคำถามกับตำรวจว่าทำไมต้องเจาะจงเขวี้ยงที่บ้านนี้ ตำรวจบอกว่าเขาให้การว่ากินเหล้ากับเพื่อนแล้วก็เดินมาเรื่อยๆ ซึ่งตำรวจก็ได้นำเรื่องนี้ไปฟ้องศาล และเราในฐานะผู้เสียหายไม่รู้เรื่องนี้ รู้อีกทีในวันที่ศาลโทรมาถามว่าคุณอังคณาประสงค์จะให้ทนายเข้ามาที่ศาลหรือเปล่า ซึ่งเราเองก็ประสงค์ที่จะเข้าไปซักถามด้วย และในระหว่างนั้นศาลก็ได้ดำเนินการสืบเสาะประวัติของบุคคลนี้ ปรากฏว่าเคยโดนจับคดียาเสพติด และคดีทำร้ายร่างกายภรรยาตัวเอง รวมทั้งหมด 9 ครั้ง ศาลก็ได้ตัดสินจำคุก 2 เดือน
ส่วนเรื่องการยกคำร้องขยายเวลาคุ้มครองพยาน ศาลก็เชื่อตามพยานหลักฐานของ DSI คือพูดตรงๆ เลยว่า พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน เขียนไว้แบบเพิ่มภาระให้กับพยานมาก อันที่จริงแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นผู้รักษาการ ถ้าจะยกเลิกการคุ้มครอง พยานต้องมีสิทธิอุทธรณ์ต่อกระทรวงยุติธรรม ทีนี้กลายเป็นว่าคนที่ถูกยกเลิกการคุ้มครองพยานตาม พ.ร.บ. ระบุว่าให้ไปอุทธรณ์ต่อศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจศาล แล้วถามว่าใครจะเสียค่าทนายไป ชาวบ้านธรรมดาถ้าถูกยกเลิกการคุ้มครอง ใครจะมีปัญญาไป ต้องเสียค่าทนาย ค่าเดินทาง ต้องเสียเวลาไปศาลอีก เราก็พยายามให้เหตุผลต่อศาล สุดท้ายศาลก็เชื่อเจ้าหน้าที่ที่เห็นว่ามันไม่น่าจะมีอะไรไม่ปลอดภัย หรือถ้ามีปัญหาอะไรก็สามารถที่จะมาขอความคุ้มครองใหม่
มันเหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะคุ้มครอง ไม่ได้ใส่ใจ แล้วก็มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 12 เมษายน 2565 ว่าเป็นเรื่องของคนสติไม่ดี ส่วนตัวก็รู้สึกถึงความไม่จริงใจ
คิดว่าอะไรคือเหตุผลที่แท้จริงในการยุติการคุ้มครองพยาน
อังคณา: ปี 2559 DSI ส่งหนังสือเป็นทางการมา แล้วเราก็ได้เข้าไปพบ ซึ่งสิ่งที่เขาพูดกับเราคือ การที่เขารับคดีทนายสมชายเป็นคดีพิเศษตั้งแต่ 19 กรกฎาคม 2548 มาจนถึง ตุลาคม 2559 เป็นเวลา 11 ปี แล้วเขาไม่สามารถสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดได้ มันกระทบต่อตัวชี้วัดของ DSI อันนี้คือสิ่งที่เขาพูดกับเรา มันก็ทำให้เห็นเลยว่าตัวชี้วัดนี้มันสำคัญกว่าชีวิตของมนุษย์เนอะ การที่คุณจะงดการสอบสวนเพราะเหตุผลอื่นมันอาจจะดีกว่าหรือเปล่า แล้วเขาก็บอกอีกว่า “ถ้าคุณอังคณามีหลักฐานก็เอามาให้เรา” วันนั้นเราก็เลยพูดไปว่า ถ้าแต่งตั้งเราเป็นพนักงานสอบสวนและให้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.คดีพิเศษ ป่านนี้ก็คงหาหลักฐานได้แล้ว
หลังจากที่ DSI ยุติการสอบสวน ก็ถูกตั้งคำถามจากองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งเขาก็มักจะตอบว่าเขางดการสอบสวน แต่ก็ยังให้การคุ้มครองพยานอยู่ แล้วหลังจากนั้นปี 2565 เขาก็ยุติการคุ้มครองพยาน โดยให้เหตุผลว่ามันไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่จะต้องคุ้มครองแล้ว แต่ส่วนตัวคิดว่าการที่เขายุติการคุ้มครองพยานมันเหมือนกับเขาสะบัดคดีสมชายให้ออกไปจากความรับผิดชอบเขาได้สำเร็จแล้ว เรื่องของสมชาย นีละไพจิตร จะไม่เป็นอะไรที่เกี่ยวพันกับ DSI หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว
ประทับจิต: เรื่องนี้แบ๋นคิดว่าต้องถามกลับไปว่า การคุ้มครองพยานในประเทศไทยมันหมายถึงอะไร จริงๆ ในต่างประเทศการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมันออกแบบร่วมกันได้ คือมันมีหลายระดับ แต่ว่าของเรามันไม่ค่อยมีความยืดหยุ่น การคุ้มครองพยานมันต้องมีคนมาประกบ ต้องมีรถให้ อะไรแบบนี้ ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่ได้ขอความคุ้มครองถึงขั้นนั้นด้วยซ้ำ DSI เองก็บอกว่ามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและอะไรอีกหลายอย่าง
ที่สำคัญน่าจะต้องตั้งคำถามว่าการคุ้มครองพยานมันหมายถึงอะไร แบ๋นได้ยินเหตุผลหนึ่งที่บอกว่า “ถ้าคุณอังคณาจะต้องเจอสถานการณ์เสี่ยงหรือถูกคุกคาม ถ้ามันไม่ใช่การแรนด้อม แต่เป็นการเจาะจงคุกคาม ก็น่าจะเป็นเพราะงานที่คุณอังคณาเข้าไปทำเอง” มันเหมือนเป็นการเบลมผู้หญิงอีกว่า เพราะคุณออกมาทำแบบนี้ไง เพราะคุณมาเป็นกรรมการสิทธิฯ คุณตั้งคำถามเรื่องสิทธิมนุษยชนในเรื่องนั้นเรื่องนี้ไง คุณก็เลยต้องเจอความเสี่ยงของคุณเอง ในฐานะที่แบ๋นเป็นลูก เป็นคนในครอบครัว ตอนนั้นเราหลอนกันไปเลย กุญแจล็อกบ้านกลายเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งที่จริงเราอยู่ในชุมชนตลอด แล้วชุมชนนี้ก็ค่อนข้างดูแลพวกเราดีพอสมควร
อังคณา: คือการคุ้มครองพยานของ DSI แทนที่จะให้พยานใช้ชีวิตได้ตามปกติก็กลายเป็นเอาไปอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ในอพาร์ตเมนต์ แล้วคุณก็ต้องอยู่แต่ในห้อง มีเจ้าหน้าที่ 2-3 คน นั่งเฝ้าอยู่ใต้ถุนอพาร์ตเมนต์ ห้ามออกไปไหน หรือถ้าจะออกไปต้องมีเจ้าหน้าที่ตามไปด้วย ลูกเจ็บ เมียป่วยก็ไปไม่ได้ อันนี้คือวิธีการคุ้มครองพยานลูกความทนายสมชาย 5 คน กระทั่งมีคนทนไม่ไหว เขาก็หนีออกมา เพราะเขามีลูกเล็ก 2 คน และเขาก็ตั้งคำถามว่าในคดีของทนายสมชาย เขาจะต้องสละ ละทิ้งครอบครัวเขาเลยเหรอ อีกคนก็หนีไปประเทศเพื่อนบ้านเลย แล้วก็มีอีกคนที่บอกเลยว่าไม่ประสงค์ที่จะได้รับการคุ้มครอง
ในคดีทนายสมชายยังมีประจักษ์พยานเป็นผู้หญิงอายุ 20 ต้นๆ สิ่งที่เราเห็นเวลาเขามาศาล เขามาคนเดียว ไม่มีการคุ้มครองพยาน และอัยการทำการสืบพยานต่อหน้าจำเลย 5 คนที่เป็นตำรวจ ในคำพิพากษาก็เขียนไว้เลยนะคะว่า ‘พยานมีอาการหวาดกลัวอย่างเห็นได้ชัด พยานมีอาการตาแดงๆ และไม่กล้าหันไปชี้จำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ’ แล้วเขาก็เล่าให้ฟังว่าบางทีกลางคืนมีรถติดไซเรนวิ่งผ่านหน้าบ้านแล้วก็บีบแตรใส่ เขาก็กลัว มีคำหนึ่งที่เขาพูดแล้วเราก็สะเทือนใจ เขาบอกว่า “คนเห็นกันทั้งถนน ตอนนั้นก็รถติด คนเป็นร้อย คนบนรถเมล์ก็เห็นกันเยอะ ทำไมถึงมาถามหนูคนเดียว”
ส่วนตัวก็บอกเขาไปว่าถ้าไม่ไหวก็ไม่เป็นไร เพราะเราก็รู้สึกว่าการที่คนในบ้านเราหายไปมันกระทบต่อครอบครัวคนอื่น มันกลายเป็นชีวิตเขาถูกทำลายไปเลย แล้วมันไม่ใช่คนคนหรือสองคน หลายคนที่เข้ามาเป็นพยานเผชิญชะตากรรมต่างๆ กันหมด อย่างลูกความคนหนึ่งที่เอามาอยู่อพาร์ตเมนต์ สุดท้ายเขาทนไม่ไหว ต้องหนีกลับบ้าน แต่เขากลับบ้านไม่กี่วันเขาก็หายตัวไป
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราค่อนข้างบอบบาง สะเทือนใจมาก มันไม่ใช่เฉพาะเราแล้ว คนเล็กคนน้อยที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องเลย แล้วเขามีบุญคุณกับคดีเรามากเลย แต่กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านี้ต้องมาเผชิญการคุกคามแบบนี้
ประทับจิต: กลายเป็นว่าวิธีการคุ้มครองพยานคือ คุณต้องไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย สำหรับนักปกป้องสิทธิมันลำบากมาก แล้วแบ๋นถามจริงๆ ว่ามันจะไม่ยิ่งทำให้คนที่ถูกคุ้มครองมี mental health แย่ลงเหรอ มันจะยิ่งทดท้อในการจะเข้าร่วมกับกระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า ดังนั้นหัวใจของเรื่องนี้คือการปรึกษาหารือ ซึ่งในต่างประเทศวิธีการคุ้มครองของเขาจะไม่มีใครรู้ว่าเรามีจุดเปราะบางตรงไหน หรือความเสี่ยงของเราจะเกิดจากอะไร จะไม่มีใครรู้ดีที่สุดเท่าตัวเรา แต่ในระบบที่เรามีอยู่มันจำกัด มันออกแบบมาแล้ว ล็อกมาแล้ว ทุกสถานการณ์ต้องใช้รูปแบบนี้เท่านั้น
ในวันนั้น DSI บอกว่าความเสี่ยงของคุณอังคณาลดลงมากแล้ว เพราะไม่มีการสืบสวนคดีแล้ว จึงจะขอยุติการคุ้มครอง แต่ถามจริงๆ มันควรจะประเมินจากอะไร มันควรจะประเมินจากการที่ผู้กระทำผิดยังลอยนวลอยู่ไม่ใช่เหรอ มันไม่ใช่เพราะหยุดการสอบสวนแล้ว ผู้กระทำผิดคงไม่โกรธเราแล้ว เขาก็เลยจะไม่มาปิดปากเราแล้ว อย่างนั้นเหรอ?อังคณา: อันที่จริงวันนี้เรามีกฎหมายออกมาแล้ว ในกฎหมายก็เขียนไว้เลยว่าจะต้องมีการสืบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่ หรือทราบว่าบุคคลนั้นเสียชีวิตและรู้ตัวผู้กระทำผิด แต่ผ่านมาครบ 1 ปีแล้ว ไม่เห็นมีใครพูดถึงเลย คณะกรรมการระดับชาติตาม พ.ร.บ. ก็ไม่เคยเชิญครอบครัวผู้สูญหายเข้าไปถามเลย ยังไม่ริเริ่มในการดำเนินการหรือช่วยเหลือเลย
-2-
พ.ร.บ.อุ้มหาย ปลดพันธนาการของความคลุมเครือ?
หลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นเวลา 1 ปีแล้ว มีแนวโน้มความคืบหน้าในคดีที่เกี่ยวข้องบ้างหรือไม่
อังคณา: ไม่มีเลยค่ะ และส่วนใหญ่ในงานครบรอบปีของคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่มีใครพูดเลยว่าในเรื่องการบังคับสูญหายเขาจะทำอะไร คณะกรรมการระดับชาติที่มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ จะเริ่มทำอะไร ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มทำอะไรก็เริ่มจากการเข้าไปคุยกับญาติก่อนก็ยังดี ควรจะประสานความร่วมมือกับญาติ เพราะว่ากรณีบังคับสูญหายตามกฎหมายระหว่างประเทศ ญาติจะต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันเหมือนกับเป็นอะไรที่รัฐก็ยังไม่เต็มใจ
อย่างคดีทนายสมชายหรือคดีคนหายอื่นๆ เราก็ยังเห็นคนที่มีชื่ออยู่ในสำนวนคดี ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังออกทีวีไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะคดีทนายสมชายหรือคดีบิลลี่ คนเหล่านี้ก็ยังได้รับการส่งเสริมให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะกดเหยื่อให้ซ่อนตัวเอาไว้ไม่ต้องออกมา
ครอบครัวมีความคาดหวังอย่างไรหลังมี พ.ร.บ. ฉบับนี้
อังคณา: คือตัวเองก็เข้าเป็นกรรมาธิการร่างด้วย ก็ถกเถียงเรื่องแนวคิดกันจนสุดท้ายมันออกมา ก็ต้องบอกเลยว่า 80 เปอร์เซ็นต์ถือว่าพอใจ แต่รัฐเองก็พยายามที่จะทำเป็นไม่เข้าใจว่าคดีคนหายมันต้องเป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง หลายคนก็จะถามว่ากฎหมายย้อนหลังไหม ย้อนหลังไปถึงกรณีที่หายก่อนหน้านี้ไหม อันที่จริงแล้วกฎหมายมันไม่ได้ย้อนหลัง แต่เนื่องจากการกระทำให้สูญหายมันเป็นการกระทำต่อเนื่อง คนที่หายไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้ยังหายอยู่ ในเมื่อวันนี้ยังหายอยู่ การกระทำให้สูญหายก็ยังกระทำอยู่ มันก็ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ญาติไม่จำเป็นต้องเข้าไปร้องเรียน แต่ถ้ารัฐไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนก็ไปเริ่มจากตัวเลขคนหายของสหประชาชาติทั้ง 77 กรณี แล้วเอามาดูทุกกรณีว่าจะเริ่มการสืบสวนอย่างไรบ้าง
อยากให้ช่วยขยายความว่า 77 กรณีคนหาย มีที่มาอย่างไร และ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะส่งผลต่อทั้ง 77 กรณีนี้อย่างไรบ้าง
อังคณา: ทางสหประชาชาติจะมีรายชื่อเหล่านี้อยู่ เท่าที่จำได้ก็จะมี 30 กว่ากรณีที่เป็นกรณีคนหายช่วง ‘พฤษภา 2535’ กรณีทนง โพธิ์อ่าน กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร แล้วก็มีคนหายช่วง ‘สงครามยาเสพติด’ กับเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงหลังปี 2545-2546 ทั้งหมดก็จะประมาณ 70 กว่ากรณี นอกจากนี้ก็จะมีคนต่างชาติที่หายตัวในประเทศไทย ทีนี้ในแง่ของกฎหมายก็คือ เมื่อมีคนหายใหม่เกิดขึ้น รัฐจะต้องรีบเร่งในการสืบสวนสอบสวนโดยทันที คือจะต้องไม่รีรอ ที่บอกว่าให้เรารอ 48 ชั่วโมง ไม่ต้องแล้ว เพราะว่าทุกวินาทีที่ผ่านไปมันมีค่าต่อชีวิต
กรณีของผู้ลี้ภัยอะไรต่างๆ จะต้องไม่มีการผลักดันเขาออกนอกประเทศ เพราะเขาอาจจะได้รับอันตราย ซึ่งก็จะเป็นการคุ้มครองไม่ใช่แค่เฉพาะกับคนไทย แต่หมายถึงคนทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้ การที่มันเป็นการกระทำผิดต่อเนื่อง มันก็ทำให้กรณีที่คนหายทั้งหมดเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบ
อย่างกรณีของบิลลี่ก็เชื่อว่าทุกคนก็รู้ เพียงแต่ว่าจะทำหรือไม่ทำ มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะเอาคนผิดมาลงโทษไหม คือเจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีอคติว่าคนบางคนพอเจ้าหน้าที่จับกุมได้ปุ๊บ ก็จะไม่สันนิษฐานก่อนว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่มองว่าคนที่ตัวเองพุ่งเป้าไปต้องเป็นคนผิดอยู่แล้ว และพอเป็นคนผิด เป็นคนไม่ดี คุณจะทำอะไรกับเขาก็ได้ มันก็เลยย้อนแย้ง ในขณะที่รัฐธรรมนูญหรือสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษา
อย่างที่บอกว่าวันนี้เราก็ยังเห็นคนที่เกี่ยวข้องออกทีวีไม่เว้นแต่ละวัน ถามว่าทำไมคนเหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมให้รับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่การงานสูงๆ อยู่ เพียงแค่มีคำชี้แจงง่ายๆ ว่าไม่มีหลักฐาน หรือบางทีหากญาติให้ความเห็นเชิงวิจารณ์ เราก็อาจจะถูกฟ้อง คือมีการใช้กฎหมายเพื่อคุกคามเราหรือเพื่อปิดปากเราอีกก็ได้ ก็เลยทำให้ญาติบางคนกลัว
กฎหมายจะเป็นประโยชน์กับทุกคน ให้อำนาจกับคณะกรรมการในการเรียกเอกสารมาดู ไม่ว่าจะเป็นการทำงานสืบสวนสอบสวน ให้คำแนะนำ และให้มีการเยียวยาเบื้องต้น การดูแลเบื้องต้นก็สำคัญมากเพราะเมื่อหัวหน้าครอบครัวหายไป ถามว่าคนที่ยังอยู่ เขาต้องเลี้ยงลูก มีภาระอื่นๆ เขาจะเอาเงินจากไหน เพราะฉะนั้นการให้เงินชดเชยเยียวยาก็ยังมีความสำคัญ
เวลาเราไปทำงานในระดับสากลจะเห็นเลยว่า ในแต่ละปีญาติคนหายก็อายุมากขึ้นๆ ล้มตายไปทีละคน สังคมก็ควรที่จะรับช่วงต่อเพื่อติดตามกรณีคนหายต่อไป เคยรู้จักกับญาติคนหายกรณีพฤษภา 35 ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุแล้ว แต่ละปีเราก็ได้ข่าวว่าเขาเสียชีวิตลงไป แล้วใครที่จะเป็นคนทวงถามความเป็นธรรมให้เขา ไม่ใช่ว่าพอญาติไม่อยู่แล้วก็ถือว่าจบ เพราะว่าศักดิ์ศรีความเป็นคนไม่ว่าเขาจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตแล้ว เขาก็มีสิทธิในการที่จะได้รับการคืนศักดิ์ศรี
คดีการสูญหายของทนายสมชายจะมีก้าวต่อไปอย่างไร
อังคณา: ตอนนี้มีกฎหมาย (พ.ร.บ.อุ้มหาย) แล้ว เราก็อยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการทำให้บุคคลสูญหายมันส่งผลกระทบต่อจิตใจ ไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนคนเดียว หลายคนต้องป่วยเป็นโรค PTSD มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่
ประเทศไทยในปีนี้ พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็อยากจะให้มีความจริงใจในการทำคดี เพราะว่าเวลา 20 ปีมันแป๊บเดียวเอง สงครามยาเสพติดที่บอกว่ามีคนตาย 3,000 กว่าคน หมดอายุความแล้ว กรณีตากใบที่ภาคใต้ก็จะหมดอายุความเดือนตุลาคมนี้แล้ว แต่คดีอุ้มหายเนื่องจากเป็นการกระทำต่อเนื่อง แล้วตามกฎหมายสากลจะต้องไม่มีอายุความ แต่ทางวุฒิสภาเห็นว่าจะต้องกำหนดอายุความไว้ 30 ปี แต่เวลา 30 ปี เริ่มจาก ‘เมื่อเริ่มรู้ว่าชะตากรรมเป็นอย่างไร รู้ว่าเสียชีวิตหรือยังอยู่’ อายุความจึงเริ่มนับ
ประทับจิต: แน่นอนว่าไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือไม่มี แบ๋นก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รู้ความจริงในช่วงเวลาที่ตัวเองจะยังมีชีวิตอยู่บนโลกนี้หรือเปล่า เพียงแต่บอกตัวเองแค่ว่านับตั้งแต่อายุ 21 ปี ตอนที่คุณพ่อหายไป จนตอนนี้อายุ 41 ปีแล้ว ก็ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็คงทำไปจนวันสุดท้าย เพราะความจริงเกี่ยวกับคนหายมันสำคัญ มันสำคัญไม่ใช่แค่กับเฉพาะครอบครัวเรา แต่มันสำคัญกับสังคม
อยากให้กฎหมายฉบับนี้เป็นหมุดหมายที่สำคัญอันหนึ่ง ได้เบิกความรู้ของสังคมไทย ตัวเองได้เรียนรู้ในทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องคนหายเยอะมากเลย แล้วก็รู้สึกว่าการทำให้คนหายมันมีความซับซ้อน เพราะอย่างกรณีของทนายสมชาย มีการติดตามตั้งแต่กิจวัตรประจำวันก่อนการอุ้มหาย จนถึงวันที่ทำให้หาย หลังจากนั้นก็ปิดบังชะตากรรมซึ่งมันยากมาก เราเคยเชื่อกันว่าสสารจะต้องไม่หายไปจากโลก แต่อยู่ดีๆ ทำให้หายไปเลย แสดงว่ากระบวนการการทำให้หายไปอย่างไร้ร่องรอย ลงทุนเสียยิ่งกว่าการอุ้มหายไปตอนแรกเสียอีก
ความคลุมเครือของการสูญเสียมันก็ยิ่งทำให้คนกลัว แล้วมันกระทบต่อสังคม ซึ่งวิธีการแบบนี้นิยมมากในแถบลาตินอเมริกา เพราะมันทำให้เงียบได้ทีเดียวเลยทั้งสังคม และมันทำให้คนในสังคมสงสัยกันเองว่า คนนี้หายไปเพราะทำอะไรผิดหรือเปล่า
ในต่างประเทศใช้เวลา 40-50 ปี กว่ากฎหมายจะเวิร์ก กว่าจะหาคนเจอ แต่ว่าในระดับสากลก็เพิ่งออกมาเป็นอนุสัญญาเมื่อปี 2006 ซึ่งจริงๆ ก็ไม่กี่ปีเอง ตอนที่ออกกฎหมาย ญาติๆ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ (ซึ่งเชื่อมโยงกับประเทศไทยด้วย) ผลักดันจนกระทั่งมันออกมาเป็นกฎหมาย
แบ๋นยังหวังว่าจะมีการปกป้องคนที่รายงานเกี่ยวกับการบังคับบุคคลสูญหาย และเวลา 1 ปี ยังดูสั้นเกินไปที่จะไปตัดสินถูกผิด มันอาจจะไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไร เพราะว่ามันคือการปรับองคาพยพที่มันเหนือจินตนาการมาก
ส่วนตัวได้ยินมาว่าเจ้าหน้าที่บางท่านมีข้อกังวล เขาตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้เกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิของผู้กระทำผิด แต่ว่าไม่ได้ปกป้องสิทธิของผู้ใช้กฎหมาย ถ้าใช้เวลาอีกสักหน่อยเจ้าหน้าที่จะมองเห็นว่าจริงๆ แล้ว พ.ร.บ. ฉบับนี้จะช่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปกป้องตัวเองด้วย ช่วยคนทั้งสังคมด้วย เพราะใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งเราอาจจะถูกทำให้หายไปก็ได้
หวังว่าการมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะไม่ทำให้เราได้ยินเรื่องการอุ้มหายอีก ทุกครอบครัวพูดแบบเดียวกันหมดเลยว่า ขอให้คนในครอบครัวฉันเป็นคนสุดท้ายได้ไหม ทุกครั้งเวลาเราได้ยินว่ามีเคสใหม่ๆ เราจะตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่า เฮ้ย กรณีทนายสมชายไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลยเหรอ เขาไม่ได้เป็นคนสำคัญ เขาเป็นแค่คนคนหนึ่งที่หายไป มันไม่ได้ทำให้คุณระมัดระวัง หรือทำให้คุณอยากจะปกป้องอีกคนหนึ่งเลยเหรอ มันยิ่งทำให้เราถูกลากให้ตกต่ำลงไปทุกครั้ง
พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการนำไปสู่กการค้นหาความจริงและความยุติธรรมได้มากขึ้นหรือไม่
อังคณา: ตามหลักการมันต้องเป็นแบบนั้น มันต้องตรวจสอบ ต้องสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะรู้ความจริง รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน อยู่ในสภาพไหน มีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่ รู้ว่าใครทำผิด อันนี้เป็นหลักประกันขั้นต่ำเลยที่กฎหมายรับรองไว้ แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้กฎหมายนี้ปฏิบัติได้จริง อย่างคดีทนายสมชายก็พูดได้อย่างไม่ปิดบังเลยว่า ที่จับผู้ต้องหาซึ่งเป็นตำรวจทั้ง 5 นายได้ก็เพราะมีเจตจำนงทางการเมือง ในทางการเมืองมีไฟเขียวเลยว่าให้จับ ซึ่งมันก็แค่ให้รู้ว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง แต่มันไม่ได้มากพอที่จะนำคนผิดมาลงโทษ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็ต้องอาศัยสังคมช่วยกันกดดัน
เราคงเห็นว่าตอนช่วงประท้วงมีการถือรูปคนที่ถูกอุ้มหายและนักกิจกรรมทางการเมืองเต็มไปหมดเลย แต่ตอนนี้ก็ลืมๆ กันไปแล้ว และบางครอบครัวก็ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะออกมาพูด อย่างเช่นคนที่โดนมาตรา 112 บางครอบครัวอยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้เลย เพราะเขากลัวกันหมด และในทุกๆ กรณีถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคนผิดแค่ไหน เขาก็จะต้องไม่ถูกทำให้หายไป เหรืออย่างน้อยคืนศพให้เขาก็ยังดี คืนสิ่งที่ยังเหลืออยู่ให้เขาก็ยังดี
ประทับจิต: ส่วนตัวเรียนรัฐศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็จะไม่ได้คิดว่ากฎหมายเป็นอย่างเดียวที่จะเสกทุกอย่างได้ เคยพูดมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า เราเชื่อว่าโครงสร้าง เชื่อว่าวัฒนธรรมเนี่ยแหละที่เป็นส่วนสำคัญ เรารู้ว่ากฎหมายสามารถที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ หรือปรับเปลี่ยนได้ แต่ส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและอธิบายว่าทำไมไม่มีการเอาคนผิดมาลงโทษ ทำไมการลอยนวลคนทำผิดเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะอะไร เพราะในที่สุดแล้วรัฐไม่อยากจะปฏิรูป ไม่อยากแตะโครงสร้างที่มันยังเป็นปัญหา อันนี้คือโจทย์สำคัญเลย
ส่วนตัวคิดว่าสังคมไทยเริ่มแล้ว เริ่มที่จะตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน เราเข้าใจสภาพของการเคลื่อนไหวเรื่องคนหายว่าคนอาจจะลืม หรือน้องๆ บางคนอาจจะไม่รู้จักทนายสมชายด้วยซ้ำ เพราะตอนที่หาย เขาเพิ่งเกิด แต่เรายินดีที่จะทำหน้าที่แนะนำให้ทุกคนรู้จักอยู่ทุกๆ ปี เขาคือคนของเรา เป็นหน้าที่ของเรา เพียงแต่ว่าหน้าที่ของทุกคนคือการปกป้องตัวเอง ปกป้องบ้านของตัวเอง เพราะวันหนึ่งเราไม่รู้เลยว่าเราไปพูดอะไรผิดทางเฟซบุ๊ก แล้วเราถูกอุ้มไป ใครจะรับประกันได้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับเรา ส่วนตัวก็คงอยากขอแรงทุกคนว่าใช้มัน (พ.ร.บ.) ในแง่ที่ว่ามันต้องปกป้องเราด้วย ไม่ใช่แค่เฉพาะคนอื่น
-3-
สิทธิมนุษยชนในกำมือรัฐ
การบังคับให้สูญหายของทั้งทนายสมชายและกรณีอื่นๆ สะท้อนความล้มเหลวของรัฐในด้านสิทธิมนุษยนอย่างไรบ้าง
ประทับจิต: ยังไม่อยากจะพูดว่าล้มเหลว แต่ว่ามันเป็นวิธีการที่เขาใช้มายาวนานแล้ว เพื่อปิดปากคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง คนที่ออกมาตั้งคำถาม และสหประชาชาติมองว่าถ้ามันทำเป็นระบบ การบังคับให้สูญหายเทียบเท่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) เพราะว่ามันใช้องคาพยพ มันใช้เครื่องมือของรัฐเต็มไปหมด
รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ณ ตอนนี้มีโซเชียลมีเดีย ทุกคนสามารถที่จะได้รับข้อเท็จจริงเท่าๆ กันแล้ว เพราะฉะนั้นคิดว่ากฎหมายฉบับนี้น่าจะมีนัยยะให้รัฐปรับตัว คุณไม่สามารถที่จะปิดปากใครได้ด้วยวิธีนี้อีกแล้ว แค่อยากจะส่งเสียงว่าวิธีนี้ไม่คุ้มทุน ไม่คุ้มจริงๆ สำหรับผู้กระทำ คุณไม่สามารถที่จะทำให้คนในสังคมกลัวได้อีกต่อไปแล้ว
หลายครอบครัวที่ไม่ได้ออกมารณรงค์ แต่พอเวลาเจ้าหน้าที่ DSI ลงไปถามเขาในพื้นที่ว่าอยากจะยุติคดีไหม ทุกคนบอกเหมือนกัน “ไม่ ช่วยหาให้หน่อย ยังอยากรู้” คือทุกคนยังคงมีความต้องการอยู่ เพราะฉะนั้นมันน่าจะเป็นโอกาสที่รัฐจะเรียนรู้ว่าที่ผ่านมาวิธีการนี้มันไม่เวิร์ก มันไม่เหมาะสม มันไม่เป็นไปตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเราดีขึ้นในสายตาสังคมนานาชาติ
เมื่อพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนกับคดีการบังคับสูญหาย อะไรคือสิ่งที่ญาติหรือครอบครัวของผู้สูญหายจะต้องพบเจอร่วมกัน
อังคณา: มันคือเรื่องของการไม่รู้ชะตากรรม เรื่องของความคลุมเครือ อย่างที่ลูกสาวพูดไปแล้วว่าเรื่องของการอธิบายต่อเด็กๆ หรือการอธิบายต่อตัวเราเอง หรือการที่เราจะกรอกข้อความในเอกสาร เราก็ยังไม่รู้เลยว่าควรจะกรอกว่าอะไร พ่อเสียชีวิตหรือยัง ตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าเราจะกรอกข้อความว่าสามียังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิต ตรงนี้มันก็เป็นความคลุมเครือ ทุกครั้งเวลาที่เราจรดปากกาลงไปมันจะเตือนตัวเรา
ทุกวันนี้ชื่อสมชายก็ยังอยู่ในทะเบียนบ้าน แล้วเวลาที่มีการแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ชื่อสมชายก็จะยังเป็นชื่อหนึ่งที่ยังอยู่ในบ้านมาตลอด ถึงแม้ว่าวันหนึ่งสมาชิกในครอบครัวจะไม่อยู่ แต่ชื่อสมชาย นีละไพจิตร มันก็จะยังอยู่ไปเรื่อยๆ พอเราไม่มีหลักฐานที่จะไปแจ้งว่าเขาเสียชีวิต หรือย้ายไปอยู่ที่อื่นอะไรแบบนี้ ชื่อของคนหายก็จะยังอยู่ในทะเบียนราษฎร์ไปเรื่อยๆ มันก็จะย้ำเตือน แต่มันคือการย้ำเตือนครอบครัว มันไม่ได้ย้ำเตือนคนทำผิด มันไม่ได้บอกกับเจ้าหน้าที่รัฐให้ตระหนักว่ามันจำเป็นที่จะต้องสืบหา
ประทับจิต: การบังคับสูญหายมันกระทบถึงสิทธิที่สำคัญที่สุดในหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เรียกว่า absolute rights คือห้ามละเมิดเด็ดขาด ไม่ว่าจะในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐไม่มั่นคงขนาดไหน ห้ามทำให้คนตาย ห้ามฆ่า ห้ามอุ้มหาย อันนี้คือที่สุดของที่สุดของสิทธิที่เราเสียไป
อย่างที่เห็นเลยว่าสิทธิหลายอย่างถูกตัดออกไป เด็กบางไม่ได้รับการศึกษา ถูกกันออกไปจากสังคม มีสิทธิหลายประการมากที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกับมิติที่เป็นผู้หญิง อย่างในสังคมเอเชียใต้ ผู้หญิงต้องไปผูกพันสถานะความเป็นมนุษย์กับสามีตัวเอง อย่างเช่น มีจุดอยู่กลางหน้าผาก วันหนึ่งสามีหายไปโดยที่จุดยังอยู่กลางหน้าผาก ในหนังสือวิชาการหลายชิ้นบอกว่า มีคนฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถ locate ตัวเองกับสังคมได้ว่าฉันอยู่ตรงไหนแล้ว เพราะคนที่เชื่อมโยงกับฉัน คนที่เป็นผู้ปกครองรับรองสถานะไม่อยู่แล้ว
และในสังคมมุสลิมมันก็รู้สึกได้นิดหนึ่งแบบอ่อนๆ ด้วยเหมือนกัน มีความเชื่อที่ว่าผู้ชายเป็นผู้ปกป้องผู้หญิง น้องชายของเราเองตอนนั้นเขาเด็กมาก แต่เขาจำเป็นต้องรีบพัฒนาบุคลิกภาพตัวเอง เพราะฉันจะต้องเป็นผู้ปกป้องครอบครัวตัวเอง แล้วก็ในแง่สังคมด้วย สังคมมุสลิมโดยเฉพาะในสังคมไทย ด้วยความเคารพเลยก็คือยังไม่รู้ว่าจะรับมือกับสถานการณ์ครอบครัวแบบนี้อย่างไร ไม่รู้จะดีลกับเขาอย่างไร ไม่รู้จะเข้าไปช่วยได้ขนาดไหน ก็เลยอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้เห็นสังคมมุสลิมมาร่วมกับขบวนการเท่าไรนัก เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าตรงนี้มันส่งผลต่อสิทธิเยอะไปหมด แล้วนี่คือเหตุผลว่าทำไมเขาถึงได้เลือกใช้วิธีนี้กันเยอะ เพราะว่ามันไม่ได้ฆ่าแค่คนเดียว แต่มันฆ่าทั้งครอบครัว
คิดว่าอะไรคือความท้าทายของรัฐในการเปิดเผยความจริงและเดินหน้าเพื่อยุติการบังคับสูญหายในสังคมไทย
อังคณา: อันที่จริงแล้วรัฐกลัว เพราะความกลัวเลยต้องทำลายทั้งหมด เขากลัวว่าเขาจะต้องรับผิด ก็เลยต้องใช้วิธีการทำร้าย ทำให้หายหมดไม่เหลือ ก็จะเป็นวิธีเดียวที่ทำให้ตัวเองไม่ต้องรับผิด แล้วก็ยังเป็นวิธีการที่รัฐใช้ เจ้าหน้าที่บางคนใช้อยู่
รัฐไม่ได้มีความตระหนักเลยว่า สิ่งเหล่านี้มันส่งผลกระทบต่อคนมากมายขนาดไหน เราอยู่มาจนถึง พ.ศ. นี้แล้ว จริงๆ แล้ววงการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็รู้ว่าใครทำ หรือเจ้าหน้าที่บางคนก็อาจจะคิดว่าก็ดีแล้ว คนตายไป 3,000 คน ช่วงสงครามยาเสพติด หรือคนหายไปแล้วมันก็ดีเพราะยาเสพติดลดลง แท้จริงแล้วมันก็ไม่ลดลง มันก็กลับมาอีก เพียงแต่ว่ารัฐเองมองเห็นและเรียนรู้ความผิดพลาดของตัวเองหรือเปล่า ซึ่งจากประสบการณ์ของตัวเองก็ไม่ค่อยรู้สึกว่าเขาเรียนรู้ เพราะว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาเราก็ยังปฏิรูปตำรวจไม่ได้ การปฏิบัติหน้าที่มิชอบก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ และสุดท้ายมันก็จะจบลงที่ความเงียบ และประชาชนเองก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปถามหามัน
ในกรณีการบังคับสูญหายมีหลายครอบครัวที่เก็บตัว ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ เก็บความคับแค้นไว้ในใจ แล้วก็ฝากความหวังไว้กับพระเจ้าอย่างเดียว ตายไปโดยที่ไม่รู้ความจริง คือมันเป็นชีวิตที่เหลืออยู่ที่ทุกข์ทรมานมาก ก็อยากให้หน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถึงจะมีกฎหมายแล้ว แต่สิ่งที่ยุ่งยากมากกว่าคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม
ประทับจิต: ก็ชัดเจนว่าเราก็รู้กันอยู่ ความท้าทายในการเปิดเผยความจริง และจะเดินหน้าเพื่อทำอะไรสักอย่าง แต่ทำไม่ได้ มันก็คือการ keep status quo คือการให้อำนาจยังอยู่กับชนชั้นนำ ในที่สุดมันคือการพยายามที่จะรักษา status quo คือทำให้โครงสร้างที่เป็นแบบนี้ ยังคงเป็นแบบนี้ตลอดไป
ก็อยากจะชี้ชวนให้เห็นว่าที่ยังทำให้มีความหวังได้ทุกวันนี้ จากที่ตอนแรกไม่มีความหวัง แต่พอรู้ว่าในต่างประเทศบนโลกใบนี้มันมีอนุสัญญาก็มีความหวังขึ้นมา ล่าสุดมีงานวิจัยในลาตินอเมริกาเปิดเผยความจริงได้เมื่อ 40-50 ปีผ่านไปแล้ว เพราะการบังคับสูญหายโดยรัฐ มันต้องมีหลักฐานมีใบเสร็จ เขาไปพบเจอโดยบังเอิญจากการปรับปรุงสถานที่ราชการแล้วมันมีเอกสารสั่งเซ็นอุ้มหาย
เรายังคิดเลยว่าอำนาจมันจะไม่เป็นแบบนี้ไปตลอดหรอก หลายๆ คนก็คงจะมีความรู้สึกเดียวกันคืออาจจะสิ้นหวัง หมดหวังกันไปบ้าง แต่วันหนึ่งเราเชื่อว่ามันจะต้องเปลี่ยนขั้ว มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และยังหวังเสมอเลยว่า วันหนึ่งหลักฐานกระดาษชิ้นเดียวที่บอกว่าทนายสมชายมีชะตากรรมอย่างไรมันจะ pop-up ขึ้นมา นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะให้ไปถึงในที่สุด ซึ่ง status quo มันคงทลายยาก แต่เรามีหน้าที่ต้องทำเรื่องนี้ต่อจนกว่าเราจะเสียชีวิตอังคณา: ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการตามหาคนหายเขาใช้เวลาหลายสิบปี บางทีก็จนกว่าผู้กระทำผิดตายไปแล้ว หรือหมดอำนาจไปแล้ว คนที่อยู่จึงจะสามารถกล้าพูด อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่เราต้องขอบคุณก็คือครอบครัว เรื่องการหาแนวทางการป้องกันและยุติการบังคับสูญหายเริ่มมาจากผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ คนที่เป็นเหยื่อทั้งหลายที่ได้ออกมาเรียกร้อง ออกมายื่นเรื่อง ปี 1980 ก็มีญาติคนหายกลุ่มหนึ่งไปที่กรุงเจนีวา ไปเรียกร้องว่าสมาชิกสหประชาชาติต้องดำเนินการอะไรสักอย่างเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้คนหายอีก มันเริ่มมาจากญาติ จากคนตัวเล็กๆ กฎหมายดีๆ มันไม่เคยเริ่มมาจากรัฐหรอก มันเริ่มมาจากคนที่ไร้อำนาจ เริ่มมาจากคนที่สูญเสียด้วยซ้ำไป เขาผลักดันจนกระทั่งรัฐต้องมีกลไกที่จะคุ้มครอง ฉะนั้นก็อยากจะให้กำลังใจกับทุกคน
และในเรื่องของการทำงานร่วมกัน การมีเครือข่ายก็จะยิ่งทำให้เสียงของเราดังยิ่งขึ้น ไม่ต้องสู้อย่างโดดเดี่ยว แทนที่จะพูดคนเดียว แทนที่จะทำคนเดียว ก็จะกลายเป็นว่ามีคนมาร่วมกับเรามากขึ้น มีคนพูดแทนเรามากขึ้น รวมถึงช่วยกันปกป้องคุ้มครอง ซึ่งกับครอบครัวเราเองก็ได้รับสิ่งนั้น