เปรมฤดี ดาวเรือง: 8​ ปีที่เงียบงัน เรื่องเล่า​วันสุดท้ายก่อน ‘สมบัด​ สมพอน’ ถูกอุ้มหาย

“ถ้ารู้อย่างนี้ พาอ้ายสมบัดกลับเมืองไทยมาด้วยก็ดี”

เธอเล่าด้วยเสียงที่ราบเรียบ ทว่าอ่อนแรง ‘อ้ายสมบัด สมพอน’ ในความทรงจำของ ‘เอี้ยง’ คือภาพของชายชาวลาว ผมสีดอกเลา เขามีวาจาและท่วงท่าที่สุภาพอ่อนโยน เป็นคนที่มิตรสหายพึ่งพาได้ และใจดีอย่างที่สุด

ภาพอ้ายสมบัดยังคงปรากฏชัดแจ้ง ในทุกครั้งที่เอี้ยงนึกถึง การ ‘ถูกบังคับ’ ให้หายไป อาจลบได้เพียงร่าง – เรื่องราวและคุณูปการที่เขาสร้างยังคงถูกจำ

ย้อนไปยังปี 2536 เอี้ยง-เปรมฤดี ดาวเรือง คือหนึ่งในคนไทยกลุ่มแรกๆ ที่เดินทางเข้าไปทำงานในลาว ในฐานะเอ็นจีโอของโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) เพื่อติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมแถบลุ่มแม่น้ำโขง ในช่วงเวลาหลังจากลาวเปิดประเทศได้ไม่นานนัก ป่าไม้ แหล่งน้ำ แร่ธาตุ ยังคงสมบูรณ์ พร้อมๆ กับกลุ่มทุนใหญ่จากนานาประเทศหลั่งไหลสู่ลาวด้วยความหิวโหยทรัพยากรธรรมชาติอย่างถึงที่สุด

“ปีแรกที่ไปลาว ปี 2535 ก็เจออ้ายสมบัดเลย เป็นงานประชุมเรื่องป่าไม้ของชาวบ้าน อ้ายสมบัดนั่งอยู่ที่นั่น แล้วเรายังจำได้ว่าพอประชุมกันเสร็จ เราไปแซวว่า ‘อ้ายๆ เอี้ยงเห็นนะว่าอ้ายแอบหลับ’ อ้ายสมบัดก็เงยขึ้นมองหน้า แกคงคิดในใจว่า ยัยคนนี้ไม่น่ารักเลย ไม่สุภาพเลย”

เอี้ยงเล่าวีรกรรมพลางหัวเราะร่วน เหตุการณ์นั้นคือจุดเริ่มต้นของมิตรภาพระหว่างเธอและ ‘อ้ายสมบัด’ ที่ต่อมา เธอกลับกลายเป็นเพื่อนร่วมงานต่างชาติคนสุดท้ายที่ได้พูดคุยพบปะ ก่อนอ้ายสมบัดจะหายตัวไปในช่วงเวลาโพล้เพล้แห่งฤดูหนาว ของวันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน

8 ปีที่ยังคงเป็นปริศนา คดีความของเขาไม่เคยคืบหน้า ข่าวคราวที่ประชาชนลาว ครอบครัว มิตรสหาย องค์กรสิทธิมนุษยชน และประชาคมโลกร้องถามต่อรัฐบาลลาว …คำตอบไม่เคยปรากฏ

ในบทบาทการทำงาน สมบัด สมพอน คือนักพัฒนาอาวุโสชาวลาว เจ้าของรางวัลรามอน แมกไซไซ ปี 2548 ผู้ก่อตั้งองค์กรชื่อว่า ‘ปาแดก – Participatory Development Training Centre’ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตร และการพัฒนาการศึกษาของเด็กและเยาวชนในประเทศลาว

การหายไปของเขา จึงไม่ได้นำพาเพียงความเศร้าโศกมาสู่ครอบครัวและเพื่อนพ้องเท่านั้น ทว่า ณ วินาทีที่เขาหายไป มันคือความสูญเสียอันใหญ่หลวงของประเทศลาวอย่างไม่อาจประเมิน

WAY ชวน เอี้ยง-เปรมฤดี ย้อนเรื่องราว ในวันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน

เกิดอะไรขึ้นในลาว – เกิดอะไรขึ้นกับ อ้ายสมบัด สมพอน

คุณเข้าไปทำงานอะไรในประเทศลาว

พ.ศ. 2536-2539 เราเป็นตัวแทนของโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคแม่น้ำโขง (Towards Ecological Recovery and Regional Alliance: TERRA) เข้าไปทำงานเรื่องป่าชุมชน ไปติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในลาว เพราะเรารู้ว่าลาวยังไม่มีกฎหมายป่าไม้ ซึ่งประเทศลาวตอนในนั้นยังไม่อนุญาตให้ก่อตั้งเอ็นจีโอ เพราะฉะนั้นจึงมีแต่เอ็นจีโอต่างประเทศ เพราะในรัฐแบบสังคมนิยม เอ็นจีโอไม่เป็นที่ต้องการ การช่วยเหลือประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยไม่จำเป็นต้องมีเอ็นจีโอ

ตอนนั้นมีเพียงองค์กรปาแดก (PADETC-Participatory Development Training Centre) ก่อตั้งโดยอ้ายสมบัด ต้องถือว่าเป็นองค์กรแรกๆ ที่เป็นองค์กรของคนลาวเอง

‘ปาแดก’ เป็นองค์กรแบบไหน

อ้ายสมบัดจดทะเบียนองค์กรเป็น training centre กับกระทรวงศึกษาฯ ของลาว เพราะฉะนั้น แกจะไม่ใช่เอ็นจีโอแบบเรา แต่เป็นเหมือนกับศูนย์การเรียนรู้มากกว่า แต่ว่าอ้ายสมบัดคือกลุ่มแรกๆ ที่จดทะเบียนแล้วทำงานร่วมกับเอ็นจีโออื่นๆ ประหนึ่งเป็นเอ็นจีโอ ตอนที่เราเข้าไปเริ่มทำงาน มีเอ็นจีโอต่างประเทศเยอะมาก เราไปทำงานประสานกับกลุ่มเอ็นจีโอทั้งต่างประเทศ กับเจ้าหน้าที่รัฐคนลาว และรัฐบาลลาว ทำงานร่วมกัน

ในตอนนั้น ทุกองค์กรต่างประเทศที่ทำงานเรื่องป่าไม้มีออฟฟิศของตัวเองตั้งอยู่ในกรมป่าไม้ ทำให้ในปีนั้น กรมป่าไม้มีอิทธิพลมาก เพราะป่าไม้ลาวยังมีเยอะมาก ธรรมชาติสมบูรณ์ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ใหญ่โตมาก

พร้อมๆ กับฝ่ายทุนก็เริ่มไหลเข้าไป แต่ปัญหาใหญ่จริงๆ คือลาวยังไม่ได้ผลิตองค์ความรู้เป็นของตัวเอง ปีนั้นยังไม่มีกฎหมายป่าไม้ ทีมของเรามีหน้าที่เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อทำวิจัย เก็บข้อมูลประมาณ 200 หมู่บ้าน อยากรู้ว่าชาวบ้านใช้ทรัพยากรป่าไม้ยังไง เพราะเวลาเขียนกฎหมายป่าไม้ขึ้นมา รัฐควรอนุญาตให้ชาวบ้านใช้ป่าได้

สุดท้ายพอปี 2539 ลาวมีกฎหมายฉบับแรก ในนั้นก็ยังมีคำที่บอกว่า ‘ยอมรับสิทธิของชนเผ่าในการจัดการป่าไม้’ ตอนนี้ก็ยังมี แต่ถือว่าน้อยมาก เพราะไม่สามารถจะสู้กับแนวคิดที่ใหญ่กว่านั้น คือการเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นทุน เพราะลาวเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก ต้องการเปลี่ยนทรัพยากรทุกอย่างให้เป็นทุน

สถานการณ์ของลาวขณะนั้น กำลังเผชิญหน้ากับอะไรบ้าง

ลาว ถือว่าด้อยกว่าคนอื่นในเรื่องวิชาการมาตั้งแต่แรกนะ คุณค่าของลาว ภูมิปัญญาของลาว จริงๆ อยู่ในหมู่บ้าน อยู่กับประชาชน แต่ลาวเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรชนเผ่ามากมาย แล้วมีบทบาทสูงในช่วงการปฏิวัติประเทศด้วย เราอาจจะเคยได้ยินว่าลาวแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ หนึ่ง-ลาวลุ่ม หรือลาวกลาง สอง-ลาวเทิง ที่อาศัยอยู่บริเวณเชิงเขา และสาม-ลาวสูง คือกลุ่มม้งในพื้นที่ภูเขาซึ่งอยู่ภาคเหนือ รัฐบาลลาวในระบบสังคมนิยมเป็นคนกำหนดสามกลุ่มนี้

พอช่วง 1980 (พ.ศ. 2523) ลาวเปิดประเทศ ทีมพวกเราเข้าไปทำงานสองสามปีหลังจากนั้น ในตอนนั้นรัฐบาลลาวยังไม่รู้ว่าควรทำยังไง ยังจับต้นชนปลายอยู่

แสดงว่าช่วงที่ลาวเปิดประเทศ เขายังไม่ได้พร้อมรับมือกับสิ่งที่ไหลเข้ามา

ไม่เลย ในฐานะที่ทำงานในลาวมานาน เราคิดอย่างนั้น

มันเป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียม เพราะเมื่อ 30 ปีก่อน ประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทรัพยากรธรรมชาติหมดแล้ว ประเทศที่อยู่ในกลุ่มก่อตั้งอาเซียน อย่างฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หิวโหยทรัพยากรแล้ว ประเทศที่เปิดใหม่กลายเป็นแหล่งใหม่ที่ใครก็ต้องการ

การขาดองค์ความรู้และกลไกการทำงานของรัฐบาลลาว ส่งผลอย่างไร

ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก คือตอนที่เรานั่งอยู่ในกรมป่าไม้ ทีมกรมป่าไม้ร่วมกับทีมรัฐบาลลาวเดินทางมาที่หนองคายเพื่อเจรจากับกลุ่มไทย ในนั้นมีหอการค้า กลุ่มนักธุรกิจไทย เพื่อเจรจาขอซื้อไม้จากลาว ปรากฏว่าหลังเจรจาเสร็จ ทีมกรมป่าไม้มาถามเราว่า ทำไมนักธุรกิจไทยขอซื้อหมดเลย ซื้อกระทั่งไม้ที่ใหญ่ที่สุดจนถึงกิ่งไม้เล็กๆ กวาดซื้อเรียบ จนลาวต้องบอก “เราขายทั้งหมดไม่ได้ เพราะคนลาวยังใช้ไม้ฟืนทำกับข้าว”

ฝ่ายรัฐลาวไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงอยากซื้อทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าเขาไม่เข้าใจความเป็นทุนนิยม ส่วนตัวเราประเมินว่า ลาวเจอสถานการณ์สองเด้ง คือเปิดประเทศออกมาโดยที่ตัวเองไม่พร้อม แล้วประเทศข้างนอกก็หิวโหย ถ้าให้เปรียบเทียบนะ เรามักพูดว่า เหมือนคนที่ไปยืนแก้ผ้าอยู่กลางป่าแล้วยุงมารุมกัด เราคิดว่าลาวเป็นอย่างนั้นกระทั่งเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นทรัพยากรธรรมชาติของลาวจึงเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

เร็วที่ว่า คือเร็วขนาดไหน

เร็วขนาดที่เกือบไม่เหลืออะไรแล้ว หลังจากเปิดประเทศมาไม่ถึง 30 ปี ทุกตารางนิ้วในลาวถูกสำรวจหมด อย่างเรื่องเหมืองแร่ ก็โดนออสเตรเลียกับจีนรวบ สวนกาแฟถูกแทนที่ด้วยป่ายูคาลิปตัสกับยางพารา ไม่นับเรื่องโครงการเขื่อนที่ถูกเสนออย่างน้อย 300 เขื่อน ในทุกลุ่มน้ำของลาว ผืนดินทุกหนแห่งมีโครงการเหมืองแร่ ถามว่าแค่กำไรจากโครงการเหล่านี้ คุณน่าจะรวยจนไม่รู้จะรวยยังไงแล้ว แต่คนลาวกลับจนลงทุกวัน

ตอนนี้ลาวจมอยู่ในกองหนี้ประมาณ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มากมายกว่าเงินคงคลังที่ลาวมี เงินของลาวเองมีน้อยกว่าที่ตัวเองต้องจ่าย แล้วหนี้ส่วนมากก็คือหนี้กับจีนและไทย สูงสุดคือเป็นหนี้จีน

ประเทศลาวตกอยู่ในสภาพแบบไหน

การพัฒนามันไม่ได้นำไปสู่ความยั่งยืน แต่ไม่มีใครทักท้วง เช่น ส่งคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไปร่วมกับองค์กรอย่างธนาคารโลก ซึ่งในตอนนั้นธนาคารโลกได้ผ่านยุคสมัยที่โลกประท้วงธนาคารโลกมาแล้ว เพราะธนาคารโลกสร้างเขื่อนไปทั่วโลก จนประชาคมโลกบอกว่า คุณต้องหยุดให้เงินสนับสนุนการสร้างเขื่อนได้แล้ว

ตอนที่ธนาคารโลกเข้าไปมีบทบาทในลาว ไม่ใช่ในรูปแบบให้เงินสดนะ แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า risk guarantee หมายถึงธนาคารโลกเป็นคนประกันความเสี่ยงให้กับธนาคารพาณิชย์ที่จะลงทุนสร้างเขื่อนในลาว “ฉันเป็นคนการันตีให้เธอเอง ไม่ให้เธอเจ๊ง เพราะนี่คือประเทศสังคมนิยม”

ลาวเป็นเพียงผู้รับ ใครเสนออะไรรับหมด ช่วงที่เราทำงานในลาวมีโมเดลเป็นร้อยๆ ซึ่งลาวรับมาแล้วล้มเหลวอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ครอบลาวคือโครงการ ‘Land/Forest Allocation’ คือการจัดสรรที่ดินป่าไม้ทั้งหมดในประเทศ เพื่อแปลงเป็นเงิน โดยรัฐบาลโยกย้ายประชาชนจากที่สูง อย่างลาวเทิงกับลาวสูง ให้ย้ายลงมาที่ราบ ไม่ให้เขาทำเกษตรในที่สูง ทั้งที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเป็นที่สูงกับภูเขา ด้วยความที่ลาวมีความหลากหลายทางชีวภาพของข้าวไร่สูงที่สุดในโลก มันจึงจบสิ้น ประชาชนถูกย้ายลงมาแล้วไม่รู้จะทำอะไร เพราะด้านล่างก็มีคนลาวลุ่มอยู่ก่อนเต็มไปหมด

ภูมิปัญญาของคนลาวมันจึงถูกลบล้างไป ล้มเหลวทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ล้มเหลวทั้งเรื่องการดูแลชีวิตผู้คน อันนี้ต้องถือว่าเป็นโศกนาฏกรรม

ด้วยสถานการณ์เช่นนั้น ประชาชนลาวและคนอย่างอ้ายสมบัด ทำอะไรได้บ้างเพื่อคานงัดกับรัฐ

ไม่คานงัดเลยค่ะ อ้ายสมบัดเป็นคนที่มีทัศนคติเป็นบวกที่สุดนะ คือเป็นคนที่มีความหวังกับรัฐบาล กับสิ่งที่เกิดในลาว เพราะว่างานของอ้ายสมบัดเป็นงานที่ทำกับเยาวชน งานของแกไม่ได้ทำงานการรณรงค์นะ ไม่มีแนวคิดอย่างนั้น อ้ายสมบัดทำเรื่องเกษตร ทำเรื่องเยาวชน เป็นคนที่มีความหวังเสมอว่าลาวจะเดินไปข้างหน้าได้

ทุกคนในรัฐรู้จักอ้ายสมบัดหมด ซึ่งเท่าที่ทราบ ก่อนอ้ายสมบัดจะถูกอุ้มหาย แกเป็นประธานร่วมของมหกรรมภาคประชาชนเอเชียยุโรป ส่วนตัวเราคิดว่าในประเทศลาวไม่มีใครสามารถดำรงตำแหน่งนี้ได้ มีอยู่คนเดียวคืออ้ายสมบัด อันนี้คือเรื่องจริง เพราะฉะนั้น เมื่ออ้ายสมบัดถูกอุ้มถือว่าหมด …อุ้มไปคนเดียวจบ

ครั้งแรกที่ได้เจอกับอ้ายสมบัด เป็นช่วงเวลาแบบไหน

เราเข้าไปลาวปี 1992 ก็เจอเลย เจอกันในวงประชุมเรื่องป่าไม้ชาวบ้าน อ้ายสมบัดก็อยู่ด้วย ปีนั้นยังไม่ได้ตั้งองค์กรปาแดกด้วยซ้ำ อ้ายสมบัดก็นั่งอยู่ที่นั่น แล้วเรายังจำได้ว่า พอประชุมกันเสร็จเราก็ไปแซวแกว่า “เห็นนะว่าอ้ายแอบหลับ” อ้ายสมบัดก็ยังมองหน้าแล้วคงคิดในใจว่า ยัยคนนี้ไม่น่ารักเลย ไม่สุภาพเลย

เราสนิทสนมกันมาก เพราะอ้ายสมบัดเชื่อมั่นในพวกเรามากค่ะ เชื่อว่าเราพยายามเต็มที่ พยายามวิเคราะห์ พยายามช่วย ในลาวตอนนั้นบรรยากาศมันใสๆ คือรัฐบาลเองก็ใส ตอนที่เรานั่งอยู่ในกรมป่าไม้ รัฐบาลลาวเองก็มีวัน One Door Policy คือทุกคนเท่าเทียมกันหมด คุณจะเป็นธนาคารโลก ธนาคารเอเชีย เป็นเอี้ยง เป็น TERRA ทุกคนมีสิทธิ แล้วทุกคนมีฐานะเป็นที่ปรึกษากรมป่าไม้ ปีนั้นเป็นช่วงปี 1992-1996 รัฐบาลลาวยังใช้นโยบายนี้อยู่

แต่หลังจากนั้น อาจพูดได้ว่าลาวก็ถูกครอบงำด้วยแนวคิดของการเปลี่ยนทรัพยากรให้เป็นทุน พวกเราเองก็ไม่ได้ทำงานแบบหลบๆ ซ่อนๆ เรามีความเห็นเต็มที่ แม้กระทั่งการเกิดขึ้นของเขื่อน เราก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา แม้ไม่ล้ำเส้น แต่เราไม่ได้ทำแบบแอบซ่อน เรารักษาความสัมพันธ์ ไม่ไปทำอะไรก้าวก่าย ให้ความนับถือลาว มีเพื่อนฝูงมากมายในลาว คือบรรยากาศการทำงานเป็นมิตรมาก เพราะคนลาวคือคนที่น่ารักที่สุด เป็นคนสุภาพ เพียงแต่ว่าปัญหาอยู่ตรงนั้นแหละ ความที่นโยบายต่างๆ ของลาวถูกครอบงำโดยกลุ่มซึ่งสนับสนุนทุน ซึ่งหมายถึงถูกผลักดันโดยการเป็นทุนนิยมแบบสุดโต่ง ส่วนตัวเราคิดว่านี่ไม่เหมาะกับความเป็นลาว กับสเกลของพื้นที่ ของคน ของทรัพยากรที่ลาวมี แล้วก็ผิดพลาดตรงที่ลาวอาจไม่มีทางเลือกมากนัก

งานของอ้ายสมบัดคืออะไร

อ้ายสมบัดแกก็ฝึกอบรมเด็กๆ ใช้เรื่องเกษตรเป็นเครื่องมือ ให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของการใช้ชีวิต แล้วอ้ายสมบัดถนัดเรื่องงานพัฒนาชนบท ไม่ใช่ในแง่ของการสร้าง แต่เป็นในมิติการฝึกอบรม เพราะว่าตัวแกมีภูมิหลังเรื่องเกษตรเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าแน่นอน คนที่มีลักษณะแบบอ้ายสมบัดก็ต้องเป็นศูนย์กลางของผู้คนอยู่แล้ว ทุกคนไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องวิ่งไปหาอ้ายสมบัด เพราะแกเป็นผู้มีอาวุโส แล้วก็เป็นผู้ที่พึ่งพาได้สำหรับทุกคน

photo: https://www.sombath.org

อ้ายสมบัดไม่เคยหลีกเลี่ยงที่จะใกล้ชิดกับเอ็นจีโอไทยอย่างพวกเรา แม้กระทั่งในช่วงที่เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเอ็นจีโอแบบพวกเราวิจารณ์ลาว หรือว่ากำลังบ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยการคัดค้านการสร้างเขื่อน มันก็เริ่มมีกระแสพวกนั้นตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา

เราคิดว่า บทบาทของอ้ายสมบัดถือเป็นภาวะตามธรรมชาติของแกนะ เนื่องจากคนอื่นไม่สามารถจะนำได้ บทบาทนำโดยธรรมชาติของอ้ายสมบัดจึงเด่นชัดมาก ซึ่งพวกเราก็วิเคราะห์ว่าคงเป็นต้นเหตุของการที่อ้ายสมบัดถูกอุ้ม

ครั้งสุดท้ายที่ได้เจออ้ายสมบัด วันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

หนึ่งอาทิตย์ก่อนหน้านั้น ผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นหัวหน้าองค์กร HELVETAS ชื่อ ‘แอนโซฟี’ ถูกรัฐบาลลาวสั่งให้ออกนอกประเทศภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในช่วงที่เราทำงานในลาว เป็นเคสเเรกที่เคยเจอ …เกิดอะไรขึ้น

หรือเป็นเพราะเรื่องที่ดิน เพราะในช่วง 5-6 ปีก่อนหน้านั้น ปัญหาเรื่องที่ดินหนักหน่วงมาก ชาวบ้านถูกย้าย ที่ดินถูกฮุบ ด้วยความที่ลาวเป็นสังคมนิยม คนลาวจึงไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนโดนเอาที่ดินไปทำเป็นสวนป่า การเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินจึงเริ่มร้อน ชาวบ้านมาร้องเรียนที่สภา

เราไปลาว ไปเพื่อถามอ้ายสมบัดว่าเกิดอะไรขึ้น ไปเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพื่อที่จะไปนั่งคุยกับอ้ายสมบัด เราก็ไปถึงในวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2555 เราคุยกันตลอดวันนั้น อ้ายสมบัดยังเชื่อมั่นว่า ปัญหาแบบนี้น่าจะคุยได้ เพราะคนอย่างแอนโซฟี เอ็นจีโอจาก HELVETAS ไม่มีเจตนาจะทำร้ายประเทศลาวหรอก เขาแค่ต้องการช่วยเท่านั้น อ้ายสมบัดแกเชื่อว่ายังแก้ปัญหานี้ได้

เราคุยกันจนถึง 5 โมงเย็น อ้ายสมบัดก็เรียกแท็กซี่ให้มารับเราแล้วก็ร่ำลากัน พอวันรุ่งขึ้น แกก็ถูกอุ้มเลย

วันที่อ้ายสมบัดถูกอุ้ม คุณกลับมาประเทศไทยแล้ว?

ใช่ เรากลับมาวันศุกร์ อ้ายสมบัดโดนอุ้มวันเสาร์ ถือว่าเราเป็นเพื่อนร่วมงานนอกประเทศคนสุดท้ายที่ได้เห็นแก นอกเหนือจากคนในปาแดกและครอบครัว ซึ่งตอนที่อ้ายสมบัดถูกอุ้ม สถานการณ์คือ อ้ายสมบัดกำลังขับรถ แกขับคันหลัง ภรรยาอ้ายสมบัดขับคันหน้า ขับตามกันมา แล้วสักพัก ภรรยาก็มองอ้ายสมบัดจากกระจกหลัง แล้วอยู่ดีๆ รถอ้ายสมบัดก็หายไป อยู่ดีๆ ก็ไม่เห็นแล้ว

เอื้อยซุย เม็ง – ภรรยาของอ้ายสมบัดซึ่งเป็นคนสิงคโปร์ ก็คิดว่าอ้ายสมบัดคงขับรถมากินข้าวกับเรา เพราะอ้ายสมบัดบอกแกว่า “เอี้ยงมา” เอื้อยซุยเม็งคิดว่าคงจะไปกินข้าวเย็นกับเอี้ยง แกไม่รู้ว่าเรากลับไทยแล้ว แกก็เลยไม่ได้สนใจ กลับไปบ้านกินข้าวกินปลา …จนกระทั่งดึก อ้ายสมบัดก็ยังไม่มา เอื้อยซุยเม็งก็เริ่มตาม โทรไม่ติด ไปตามที่โรงพยาบาล ตามที่โรงพักก็ไม่มี เงียบ

คุณรู้ตอนไหนว่าอ้ายสมบัดหายตัวไป

วันอาทิตย์ (16 ธันวาคม 2555) มีคนโทรมาบอกจากลาวว่า ‘อ้ายสมบัดหายตัวไป’ เราก็เลยเริ่มคุยกับเอื้อยซุยเม็งว่า… ถ้ารู้อย่างนี้ พาอ้ายสมบัดกลับเมืองไทยด้วยก็ดี

วันอังคารถัดมาเราแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่กรุงเทพฯ มี อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ และ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ร่วมด้วย ส่วนเราเป็นพิธีกร

แล้วสถานการณ์ในลาว ตามหาอ้ายสมบัดอย่างไรบ้าง

ทางปาแดกเขาได้ไปที่หน่วยงานของตำรวจ ขอดูฟุตเทจกล้องวงจรปิด ซึ่งแต่ไหนแต่ไรลาวไม่เคยมีกล้องวงจรปิด แต่ประจวบกับก่อนหน้านั้น ลาวเป็นเจ้าภาพจัดซีเกมส์เลยต้องมีกล้องวงจรปิด เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติลาว เอื้อยซุยเม็งก็ไปขอดูวิดีโอตรงนั้นเลย ตรงสี่แยกที่แกเห็นอ้ายสมบัดหายไป เป็นช่วงเวลา 6 โมงเย็น พอขอดู ก็เจอเลยนะ

ซึ่งอันนี้แปลกประหลาดมาก เพราะในวิดีโอเห็นชัดๆ เลยว่าตำรวจออกมาจากป้อมยาม มาเรียกอ้ายสมบัดให้จอดรถ อ้ายสมบัดก็จอด แต่ไม่ได้ปิดไฟหน้ารถนะ ตอนนั้นคือช่วงโพล้เพล้ของฤดูหนาวเดือนธันวา แกจอดรถ ไม่ได้ปิดไฟ ตำรวจก็ไปบอกให้ลงมา แกก็เลยปิดไฟหน้ารถแล้วลงไปหาตำรวจ จากนั้นตำรวจให้แกเข้าไปในป้อม แป๊บเดียวเท่านั้นแหละ ก็มีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งวิ่งมาแล้วมาจอดหน้ารถจี๊ปของอ้ายสมบัด คนขับมอเตอร์ไซค์วิ่งเข้าไปในป้อมแล้วกลับออกมาอีกครั้งเพื่อขับรถอ้ายสมบัดหนีไป มอเตอร์ไซค์คันนั้นยังจอดอยู่ตรงนั้น

…สักพักก็มีคนออกมาทำท่าสัญญาณมือเรียกจากป้อมตำรวจ แล้วก็มีรถปิคอัพสีขาววิ่งมา อ้ายสมบัดเดินออกมา มีผู้ชายสองคนขนาบข้างแก แล้วพาแกขึ้นรถคันนั้นขับออกไปเลย สักพักตำรวจในป้อมยามก็ออกมาขยับรถมอเตอร์ไซค์ที่จอดทิ้งไว้ นี่แสดงว่าเขาทำงานกันเป็นขบวนการ มันเป็นเรื่องสุดยอดมากที่เราได้เห็นคลิปอันนั้น

เมื่อได้คลิปมาแล้วทำอย่างไรต่อ

เป็นเรื่องใหญ่โตเลย ฮิลลารี คลินตัน ก็ออกมาประท้วงลาวในตอนนั้น จนถึงเดี๋ยวนี้ EU ก็ยังถามลาวในที่ประชุมทุกครั้งว่า ‘สมบัดล่ะ เรื่องสมบัดไปถึงไหน’ แต่รัฐบาลลาวไม่เคยตอบ ดื้อแพ่ง

แน่นอนว่ามีข่าวลือมากมาย ‘สมบัดไม่ได้ถูกอุ้มหรอก หนีไปอยู่เมืองไทยกับเมียน้อย หอบเงินหอบทองหนี’ สารพัด สำหรับพวกเราที่ทำงานในลาวมาตลอด เราเข้าใจได้ว่ามันมีการบอกให้อุ้มอ้ายสมบัดจริงๆ คนที่เป็นผู้อนุมัติอาจจะไม่ได้รู้จักอ้ายสมบัดเลยก็ได้ เพราะว่าความสับสนของกระบวนการทั้งหมด

หลังจากอ้ายสมบัดหายไป ปฏิกิริยา บรรยากาศในลาวเป็นยังไงบ้าง

เหมือนมีคนเอาน้ำร้อนราดลงไปในอะไรสักอย่างหนึ่ง องค์กรของเราอย่าง TERRA ก็ประกาศบอยคอตทันที เราไม่ไปเหยียบประเทศลาวอีกเลย 3 ปีเต็ม ไม่ไปอีกเลย โครงการทั้งหมดที่เราทำอยู่ในลาว เช่นที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยทางใต้ของลาว เราทิ้งหมด

แล้วก็ไม่มีใครถามเราอีกเลยนะ พวกที่เราทำงานอยู่ด้วยในลาว ไม่มีใครถามเราเลยว่า ‘อ้าวหายไปไหน งบยังไม่หมด’ อะไรอย่างนี้ ไม่มีเลย มันมหัศจรรย์มาก (หัวเราะ) มาคิดตอนนี้ก็รู้สึกว่า เออ มันแปลก

…ทุกคนทำเหมือนว่ายอมรับในสิ่งนี้ ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และมันจำต้องเกิด นี่คือเรื่องแปลก

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

พิศิษฐ์ บัวศิริ
เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า