“หลังสมชาย นีละไพจิตร ถูกทำให้หายไป หลายคนยกย่องว่าดิฉันมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้กรณีบังคับสูญหายในประเทศไทยถูกหยิบยกมากล่าวถึงในวงกว้าง และเรื่องราวของผู้ถูกบังคับสูญหายไม่เงียบงันอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ดิฉันก็ไม่เคยละอายที่จะพูดต่อหน้าท่านทั้งหลายว่า ระหว่าง 20 ปีของการทวงถามความยุติธรรม ดิฉันพ่ายแพ้มาโดยตลอด” – ส่วนหนึ่งจากปาฐกถา ‘20 ปีของการต่อสู้กับการลอยนวลผู้กระทำผิด’ โดย อังคณา นีละไพจิตร
ในวันที่ 12 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครอบครัวนีละไพจิตรและภาคประชาสังคมจัดกิจกรรมรำลึก 20 ปี การบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภายใต้ชื่องาน ‘ใช้อำนาจให้เกิดความยุติธรรมแทนการบังคับสูญหาย: 20 ปีทนายและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สมชาย นีละไพจิตร’ โดย อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘20 ปีของการต่อสู้กับการลอยนวลผู้กระทำผิด’
20 ปีของการต่อสู้กับการลอยนวลผู้กระทำผิด
ดิฉันรู้สึกถ่อมตัวอย่างมากที่ได้มายืนต่อหน้ามิตรสหาย และท่านทั้งหลายในวันนี้เพื่อขอบคุณสำหรับมิตรภาพ และกำลังใจ ที่ท่านทั้งหลายมอบให้แก่ดิฉัน และครอบครัวคนหายอีกจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำหรับครอบครัว การบังคับสูญหายย้ำเตือนถึงความอยุติธรรมโดยรัฐที่เกิดขึ้น และยังดำรงอยู่โดยปราศจากความยุติธรรม
ในโอกาสครบ 20 ปีการสูญหายสมชาย นีละไพจิตร ดิฉันขอใช้เวลาในการบอกเล่าเรื่องราวความไม่เป็นธรรม การปกปิดความจริง และปัญหาการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย ผ่านมุมมองของผู้หญิงในฐานะเหยื่อ ดิฉันเชื่อว่าการพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนผ่านประสบการณ์ของผู้หญิงมีนัยยะสำคัญต่อกระบวนการคิด การตัดสินใจ การเผชิญแรงกดดัน การจัดการกับปัญหาการข่มขู่คุกคามในระหว่างเส้นทางของการหาความเป็นธรรม ภายใต้สภาวะจิตใจที่ปวดร้าวและแตกสลาย รวมถึงความหวังที่ไม่เคยหมดสิ้น
ดิฉันหวังว่าเรื่องราวการบังคับสูญหายสมชาย นีละไพจิตร จะอธิบายว่าทำไมดิฉัน และเหยื่ออีกหลายคนจึงมุ่งมั่นถึงภารกิจบางประการร่วมกัน หลายท่านอาจรำคาญ เบื่อหน่ายที่จะฟังเรื่องราวซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายท่านอาจคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพูดเรื่องเก่าๆ แต่ดิฉันอยากบอกทุกท่านว่า เราจะไม่มีวันตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนกว่าเราจะถูกพรากคุณค่าบางอย่างในชีวิตไป
ทุกครั้งเมื่อพูดเรื่องราวของผู้สูญหาย ดิฉันรู้สึกตัวเล็กลงอย่างมากเมื่อเทียบกับหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัวคนหายอีกหลายครอบครัว แม้จะล้มเหลว ถูกเย้ยหยัน แต่ผู้หญิงในครอบครัวคนหายก็ไม่เคยสูญสิ้นความศรัทธา และความเชื่อมั่นว่าสักวันความจริงจะปรากฏ และผู้สูญหายจะกลับคืนสู่ครอบครัว
เมื่อวานมีคนถามดิฉันว่า ดิฉันกับลูกๆ ยังอยู่บ้านเดิมหรือเปล่า สำหรับครอบครัวคนหาย บ้านคือสถานที่ที่มีความทรงจำ ครอบครัวคนหายส่วนมากจึงยังอยู่ที่เดิม ด้วยหวังว่า สักวันคนรักที่หายไปจะกลับมา มีหลายครอบครัวที่จำเป็นต้องย้ายที่อยู่ แต่เด็กๆ ก็มักวนเวียนไปที่บ้านเดิมด้วยความหวังว่า “พ่ออาจกลับมา”
วันนี้หลายท่านอาจถามว่า สมชาย นีละไพจิตร คือใคร? ทำไมจึงต้องพูดถึงเรื่องของเขา สำหรับครอบครัว สมชายเป็นทนายความธรรมดาๆ เกิดในครอบครัวชาวนา ไม่ร่ำรวย มีชีวิตที่พอกินพอใช้ สมชายทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ผิดพลาด ในการทำงานช่วยเหลือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม สมชายใช้เงินที่หามาได้ในการช่วยเหลือผู้อื่น เขาสอนให้ลูกๆ รู้จักอดออม เพื่อแบ่งปันช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่า เขาไม่เคยเรียกตัวเองว่า “ทนายสิทธิมนุษยชน” เขาอาจแตกต่างจากทนายความคนอื่นตรงที่เขารู้สึกทนไม่ได้เมื่อเห็นคนไร้อำนาจถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เขาทุ่มเททุกอย่างที่มีเพื่อปกป้องคนที่ถูกรังแก โดยไม่กลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เวลาว่าความ สมชายไม่เคยคิดว่าลูกความของเขาถูกทั้งหมด แต่เขาเชื่อว่าคนที่ทำผิดก็ควรได้รับโทษตามความผิดที่กระทำ และพวกเขาไม่ควรถูกใส่ร้ายป้ายสี ไม่ควรถูกทรมาน หรือถูกทำให้สูญหาย … ไม่น่าเชื่อว่าการทำงานอย่างไม่กลัวเพื่อปกป้องหลักกฎหมายและความยุติธรรม การตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้ สมชาย ถูกทำให้หายไปจากชีวิตของคนหลายๆ คน
มีหลายคนถามดิฉันว่าถ้าสมชายรู้ว่าความยุติธรรมที่เขาพยายามเรียกร้องจะทำให้เขาต้องเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน พลัดพราก เขาจะยังคงทำสิ่งที่เขาทำอยู่ไหม ในฐานะที่ใช้ชีวิตร่วมกับเขามา 24 ปีก่อนที่เขาจะหายไป ดิฉันเชื่อว่าไม่ว่าจะอย่างไรเขาจะไม่ล้มเลิกความเชื่อมั่นและอุดมการณ์ และเขาจะไม่มีวันเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้น
20 ปีที่แล้ว หลังสมชายหายไป บรรยากาศในบ้านเงียบเหงาและปกคลุมด้วยความกลัว คงยากที่จะอธิบายความรู้สึกในวันนั้น วันที่เพื่อนสนิท และญาติพี่น้องหลายคนหายไปจากชีวิตเรา เพียงเพราะความกลัว เหลือไว้ในบ้านที่มีผู้หญิงและเด็กอยู่กันตามลำพัง วันที่ทำให้ดิฉันต้องตั้งคำถามแก่ทุกคนว่า “ทำไมการทำให้ใครสักคนหายไป ทำให้เราหวาดกลัวได้มากขนาดนั้น”
ประสบการณ์ของดิฉัน การบังคับสูญหายเกิดขึ้นในทุกยุคสมัย ไม่ว่าในรัฐบาลประชาธิปไตย หรือเผด็จการ เพราะการบังคับบุคคลสูญหายไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนโยบายบางประการของรัฐเพียงอย่างเดียว หากแต่เบื้องหลังรัฐบาลยังมีระบบโครงสร้างสถาบันองค์กรที่แฝงตัวหยั่งรากลึก อยู่เบื้องหลัง และควบคุมสังคมไทย ดังที่นักวิชาการหลายคนใช้คำว่า “รัฐพันลึก” หรือ Deep State คือรัฐซ้อนรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจ มีอาวุธ และพวกเขาไม่กลัวที่จะใช้มัน โดยเฉพาะกับคนที่ท้าทายอำนาจของพวกเขา โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิด ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปกี่คน แต่เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดกลับสามารถลอยนวลได้ทุกยุคสมัย เติบโตในหน้าที่การงาน ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ ในขณะที่เหยื่อกลับมีชีวิตอยู่กับความไม่ปลอดภัย และการถูกข่มขู่คุกคาม
ก่อนสมชาย นีละไพจิตร จะถูกทำให้หายตัวไป เจ้าหน้าที่ตำรวจมักเรียกเขาว่า “ทนายโจร” ไม่ต่างจากผู้ถูกบังคับให้สูญหายอีกหลายๆ คนที่ถูกกล่าวถึงว่า เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ก่อการร้าย หรือผู้เป็นภัยต่อรัฐ … และคนไม่ดีก็สมควรที่จะหายไป
การสร้างภาพลวงต่อสังคมก็เพื่อให้ไม่ต้องรู้สึกผิดหากคนคนหนึ่งต้องหายไป ซึ่งอาจทำให้ผู้กระทำผิดคิดว่าเป็นชัยชนะ แต่อาจไม่มีใครรู้ว่าการกล่าวหาเช่นนี้ได้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้แก่ครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ อย่างมาก ผู้หญิงและเด็กหลายคนที่ต้องเผชิญภาวะเช่นนี้มักต้องแอบซ่อนตัว ไม่กล้าออกมาทวงถามความเป็นธรรมเพื่อคนที่เขารัก เนื่องจากไม่อาจทนต่อการถูกตีตราจากสังคมได้ เด็กหลายคนปฏิเสธการไปโรงเรียนเนื่องจากถูกเพื่อล้อเลียน หรือบางคนเติบโตเป็นคนที่ต่อต้านสังคม … การสูญหายของคนคนหนึ่งจึงหมายถึงความสูญเสียของอีกหลายชีวิตที่ไม่อาจประเมินได้
แม้เจ้าหน้าที่บางคนอาจเชื่อว่า ปัญหาจะหายไปหากคนบางคนหายไป แต่การอุ้มหายสมชาย นีละไพจิตร ได้ทำให้เรื่องราวการอุ้มฆ่าในประเทศไทยถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวางและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย เหยื่อหลายคนได้ลุกขึ้นมาทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ และรัฐไม่สามารถปิดบังความจริงได้อีกต่อไป
สำหรับครอบครัว การบังคับสูญหายสร้างความคลุมเครืออย่างมาก ความคลุมเครือระหว่างการมีอยู่กับการไม่มีอยู่ ความคลุมเครือจึงเสมือนคำสาปที่ตรึงชีวิตของครอบครัวผู้สูญหาย … ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ ในขณะที่ถอยหลังกลับก็ไม่ได้เช่นกัน ความคลุมเครือที่ปกคลุมชีวิตทำให้เหยื่อหลายคนไม่สามารถเชื่อมโยงตนเองกับสังคมและวัฒนธรรมที่พวกเขาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความคลุมเครือของการมีชีวิตกับความตาย ผู้หญิงหลายคนที่สามีสูญหายไม่สามารถจัดวางสถานะของตัวเองระหว่างการเป็นหม้าย หรือสมรส เด็กๆ ไม่สามารถระบุสถานะของพ่อ สิ่งต่างๆ เหล่านี้รัฐไม่เคยรับรู้ แม้คนของรัฐจะเป็นผู้กระทำผิด แต่รัฐปิดหูปิดตาต่อการก่ออาชญากรรมนี้มาโดยตลอด เมื่อไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รับรู้ จึงหลอกตัวเองว่า … ไม่มี
ผลกระทบเชิงลึกเช่นนี้ส่งผลให้เหยื่อประสบปัญหากับการไม่สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับสังคม ทำให้การดำเนินชีวิตต่อของเหยื่อเป็นเรื่องยากลำบากและซับซ้อน อีกทั้งยังทำให้เหยื่อประสบปัญหาและเกิดความกดดันในการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง เหยื่อบางคนอาจต้องเผชิญกับอาการ Post-traumatic stress disorder (PTSD) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากทางจิตใจ
20 ปีที่ผ่านมา ดิฉันพยามถามหาความจริงมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 5 เดือนตุลาคม 2559 – 11 ปีหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีสมชายเป็นคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษมีมติงดการสอบสวนคดีสมชาย นีละไพจิตร โดยแจ้งเหตุผลด้วยวาจาต่อดิฉันว่า “เนื่องจากไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด และหากไม่งดการสอบสวน จะส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัดของกรมสอบสวนคดีพิเศษ” อย่างไรก็ดี กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งว่า หากดิฉันมีพยานหลักฐานใหม่ ก็สามารถเริ่มการสอบสวนใหม่ได้ นอกจากงดการสอบสวนคดีสมชาย กรมสอบสวนคดีพิเศษยังยุติการคุ้มครองพยานแก่ดิฉัน ด้วยเหตุผลว่าชีวิตของดิฉันไม่อยู่ในอันตรายใดที่ต้องให้ความคุ้มครอง ความรู้สึกของดิฉันในวันนี้ คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษพยายามสลัดคดีสมชาย ให้พ้นไปจากความรับผิดชอบ
หลายท่านที่มีโอกาสสังเกตการณ์คดีสมชาย หรือได้อ่านเอกสารในคดีอย่างละเอียดจะเห็นชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายถูกกล่าวถึงในสำนวน ดิฉันจึงเชื่อว่า หากกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเต็มใจในการสืบหาตัวสมชาย ก็คงไม่เกินความสามารถในการที่จะนำคนผิดมาลงโทษอย่างแน่นอน การงดการสอบสวนด้วยเหตุผลเพียงกระทบตัวชี้วัด จึงเสมือนเป็นการให้ความสำคัญกับชื่อเสียง หน้าตาของหน่วยงานราชการ มากกว่าการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ
วันนี้ ด้วยการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของเหยื่อ ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่ความท้าทายคือ แล้วที่ประกาศใช้ครบ 1 ปี จะช่วยเหลือเหยื่อได้อย่างไร กฎหมายจะคืนความเป็นธรรม รวมถึงจะเปิดเผยความจริงเพื่อให้ครอบครัวหลุดพ้นจากความคลุมเครืออย่างไร และกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีท่าทีในการสืบหาความจริงคดีสมชาย และคดีอุ้มหายรายอื่นๆ อย่างไร
ที่ผ่านมาเราได้เห็นความพยายามของหลายหน่วยงานทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด ในการใช้ พ.ร.บ.นี้ เพื่อยุติการทรมาน แต่เรายังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานเหล่านี้ในการตามหาคนหาย และคืนสิทธิที่จะทราบความจริงแก่เหยื่อตามที่ระบุไว้ในมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. คือ ให้สืบสวนจนกว่าจะทราบชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด
วันนี้เรามีคณะกรรมการ/อนุกรรมการ ระดับชาติ ตาม พ.ร.บ. ที่มีอำนาจมากมาย แต่เรายังไม่เห็นความพยายามของคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบังคับสูญหาย หรือการบรรเทา ให้ความหวัง หรือการให้ความช่วยเหลืออื่น โดยเฉพาะการบรรเทาความทุกข์ทรมานทางจิตใจเหยื่อและครอบครัว
หลายคนถามดิฉันว่า กฎหมายจะมีผลย้อนหลังได้อย่างไร ดิฉันขอตอบว่า การตามหาคนหาย ไม่ใช่การใช้กฎหมายย้อนหลัง แต่ตาม พ.ร.บ. รวมถึงปฏิญญา และอนุสัญญาฯ สหประชาชาติระบุชัดเจนว่า การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง ดังนั้นผู้สูญหายเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หากปัจจุบันยังไม่มีใครทราบที่อยู่และชะตากรรมของเขา กฎหมายก็ถือว่าเขายังผู้สูญหาย และการกระทำผิดยังดำเนินอยู่ และรัฐมีหน้าที่ต้องติดตามค้นหาจนกว่าจะทราบที่อยู่ และชะตากรรมของพวกเขา
สิ่งที่ปรากฏทำให้เห็นว่า แม้วันนี้ประเทศไทยจะมีกฎหมาย แต่ข้อท้าทายที่สำคัญ คือ กฎหมายจะถูกนำไปปฏิบัติได้อย่างไร หนึ่งปีของการบังคับใช้กฎหมาย ไม่มีข่าวคราวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามหาคนหาย ไม่มีคำมั่นสัญญา ไม่ให้ความหวัง ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีสมชายยังคงลอยนวล มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น และปรากฏตัวต่อสื่อสาธารณะ โดยไม่มีความละอายต่อการกระทำผิด ในขณะที่เหยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ คือครอบครัวที่ส่วนมากคือผู้หญิงและเด็ก เราถูกทำให้อยู่กับความหวาดกลัว ถูกทำให้สูญเสียอัตลักษณ์ สูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเพศถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของเรา
มีหลายคนถามดิฉันว่า คุณทักษิณกลับมาแล้ว พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ดิฉันและครอบครัวคนหายจะไปพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรมไหม ถ้าจะให้ตอบอย่างตรงไปตรงมา ดิฉันลังเลใจอย่างมาก ประการแรก ตั้งแต่รับตำแหน่ง ดิฉันไม่เคยได้ยินท่านนายกฯ พูดถึงกรณีคนหายในประเทศไทย ประการที่สอง เมื่อมองไปที่เหยื่อ ดิฉันทราบว่าทุกครอบครัวอยู่กับความทุกข์ทรมานมายาวนาน มันสมควรไหมที่เราจะให้พวกเขาไปขอความเมตตาจากผู้ที่ไม่เคยเห็นความทุกข์ยากของเขา มันสมควรไหมที่เราจะขอให้ผู้ทรงสิทธิไปร้องขอให้ผู้มีอำนาจเคารพสิทธิและคุณค่าของพวกเขา แล้ววันนี้เราจะมีกฎหมายไว้ทำไม เราจะมีคณะกรรมการระดับชาติตามกฎหมายไว้ทำไม และแทนที่จะให้ผู้ทรงสิทธิไปร้องขอ ทำไมผู้มีอำนาจจึงไม่โน้มตัวไปหาพวกเขา คณะกรรมการ/อนุกรรมการ จะร่างกฎระเบียบต่างๆ ได้อย่างไร หากไม่เคยรับฟังปัญหาจากเหยื่อ
สำหรับครอบครัวคนหาย การอุ้มหายจึงไม่ใช่เพียงการพรากใครบางคนไปตลอดกาล แต่การอุ้มหายทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ทุกคนต้องการคือ “ความจริง” เด็กๆ หลายคนพูดว่า “เขาเอาพ่อเราไปแบบมีชีวิต เราก็อยากได้พ่อคืนแบบมีชีวิต หรืออย่างน้อยคืนศพให้เราก็ยังดี” พวกผู้หญิงต่างหวังที่จะเจอลูกๆ และสามีที่ยังมีชีวิต แต่ถ้าพระเจ้าไม่ประสงค์ พวกเธอก็คงทำอะไรไม่ได้ สำหรับครอบครัวคนหายแล้วพวกเราเหมือนถูกพันธนาการด้วยอดีตที่เจ็บปวด และมองไม่เห็นอนาคต
ในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้หญิงในฐานะเหยื่อมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกด้อยค่า ถูกทำให้เป็นคนไม่ดีในทุกครั้งที่พวกเธอออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนในครอบครัว ในหลายกรณี ความทรงจำของเหยื่อจะถูกทำลายโดยการสร้างความทรงจำใหม่ขึ้นมาทดแทน เพื่อทำลายอัตลักษณ์และความชอบธรรมของพวกเธอ
หลังสมชาย นีละไพจิตร ถูกทำให้หายไป หลายคนยกย่องว่าดิฉันมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้กรณีบังคับสูญหายในประเทศไทยถูกหยิบยกมากล่าวถึงในวงกว้าง และเรื่องราวของผู้ถูกบังคับสูญหายไม่เงียบงันอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ดิฉันก็ไม่เคยละอาย ที่จะพูดต่อหน้าท่านทั้งหลายว่าระหว่าง 20 ปีของการทวงถามความยุติธรรม ดิฉันพ่ายแพ้มาโดยตลอด
ดิฉันเคยถามกับตัวเองว่า คุ้มไหมกับการที่เราจะต้องแลกทุกสิ่งที่มีอยู่ในชีวิต เพียงเพื่อความจริงและความยุติธรรม ซึ่งสุดท้ายแล้ว จนวาระสุดท้ายดิฉันอาจไม่มีโอกาสได้พบเลยก็เป็นได้ แต่สิ่งซึ่งเป็นเสมือนกำลังใจที่ทำให้ดิฉันยังคงยืนอยู่ได้ในวันนี้ คือความรัก กำลังใจ รวมทั้งน้ำใจไมตรี และมิตรภาพจากผู้คนร่วมสังคม ความอาทรห่วงใยจากบรรดากัลยาณมิตร รวมถึงความกล้าหาญ เสียสละ อดทน และอหิงสาของลูกๆ ทุกคน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่หล่อเลี้ยงหัวใจของดิฉันให้เข้มแข็ง และสามารถยืนหยัดอยู่ได้
ดิฉันเชื่อมั่นว่าการต่อสู้ของผู้หญิงในฐานะครอบครัว จะสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจมีผู้ใดพรากไปได้ และคุณค่านี้เองที่จะนำมาซึ่งการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงทั้งตำรวจและกองทัพ และประชาชนจะสามารถวางรากฐานของหลักนิติธรรมได้อย่างยั่งยืนในสังคมไทย … ดิฉันเชื่อว่าสังคมที่เราอาศัยอยู่จะหนักแน่นอดทนกับความจริงที่เกิดขึ้น จะต่อต้านผู้อธรรม และโอบกอดผู้ถูกกดขี่ และจะก้าวทันรูปแบบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อนมากขึ้น กฎหมายที่บังคับใช้จะต้องไม่มีไว้เพื่อข่มเหงคุกคามผู้เปราะบาง และผู้เห็นต่าง กระบวนการยุติธรรมจะต้องไม่ยอมนิ่งเฉยให้คนดีถูกข่มเหงรังแก โดยผู้กระทำผิดยังคงลอยนวลเหมือนเช่นที่ผ่านมา และที่กำลังดำเนินอยู่